Skip to main content
sharethis

คนทำงานแบบกิ๊ก อิโคโนมี(Gig Economy) หรือคนที่ทำงานรับจ้างชั่วคราวแบบยืดหยุ่นอย่างเหล่า "ไรเดอร์" ที่รับส่งของตามคำสั่งจากแอพฯ กำลังเป็นประเด็นในยุโรปเมื่อสหภาพยุโรปเสนอให้มีการกำหนดให้พวกเขาเป็นพนักงานที่ต้องได้รับสวัสดิการและการคุ้มครองแรงงานรวมถึงค่าแรงขั้นต่ำ ซึ่งเรื่องนี้ในยุโรปหลายประเทศก็เคยออกกฎหมายคุ้มครองเรื่องนี้มาก่อนแล้ว ขณะที่ในลาตินอเมริกาก็มีขบวนการเรียกร้องในเรื่องนี้

ที่มาภาพประกอบ: shopblocks (CC BY 2.0)

"พวกเขามีอยู่ทุกที่ ...จากลอสแองเจลิส ลอนดอน ไปจนถึงเซาเปาโลและมอสโก อยู่บนรถจักรยานและจักรยานยนต์ของพวกเขา ในสภาพอากาศที่ร้อนอบอ้าวหรือหนาวไปจนถึงกระดูก พวกเขาเป็นกุญแจผีที่เปิดให้ผู้กักตัวโดดเดี่ยวจากโรคระบาดได้เข้าถึงโลกโดยการส่งสิ่งของจำเป็นและของที่ปลอบประโลมใจให้กับครอบครัวต่างๆ ทั่วโลก"

"แต่สิ่งที่กลุ่มคนขับรถทำงานรับจ้างชั่วคราวแบบกิ๊กอิโคโนมีเหล่านี้ก็มีอะไรอีกอย่างหนึ่งที่มีร่วมกัน คือการที่พวกเขามักจะต้องปากกัดตีนถีบเพื่อให้มีกินมีใช้ พวกเขาส่วนใหญ่ขาดสวัสดิการพื้นฐานที่พวกเขาควรจะได้รับอย่างค่าแรงขั้นต่ำ ประกันสุขภาพ การหยุดงานแบบยังได้รับค่าจ้าง หรือสิทธิในการอุทธรณ์ต่อรองเมื่อพวกเขาถูกไล่ออก"

สื่อคริสเตียนไซเอนซ์มอนิเตอร์รายงานถึงปัญหาสภาพการทำงานของกลุ่มคนทำงานรับจ้างชั่วคราวที่มีความยืดหยุ่นด้านเวลาสูงแบบที่เรียกว่า "กิ๊ก อิโคโนมี" (Gig Economy) อย่างคนขับรถรับส่งสินค้าหรืออาหารหรือที่เรียกว่า "ไรเดอร์" ในบ้านเรา กลุ่มคนเหล่านี้ต้องเผชิญกับปัญหาเดียวกันคือความไม่มั่นคงทางรายได้และการขาดสวัสดิการ

แต่เรื่องเหล่านี้กำลังจะเปลี่ยนไปอย่างน้อยก็ในกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป 27 ประเทศโดยช่วงต้นเดือนธันวาคม2564 สหภาพยุโรปได้เสนอแผนการที่จะทำให้กลุ่มคนทำงานรับจ้างเหล่านี้ได้รับสิทธิแบบเดียวกับพนักงานประจำที่ทำงานในธุรกิจแบบออฟไลน์

การเปลี่ยนแปลงนี้กลายเป็นสิ่งที่ท้าทายโมเดลทางธุรกิจของกลุ่มที่สร้างกิ๊กอิโคโนมีแบบนี้ขึ้นมา เช่น UberEats, Grab หรือ FoodPanda ที่จัดวางให้ตัวเองเป็นแค่ "ตัวกลางผู้จับคู่ให้" ระหว่างลูกค้ากับผู้ทำงานให้บริการที่อยู่ในลักษณะแบบ "ผู้รับจ้างเหมาช่วงอิสระ" การนิยามเช่นนี้ทำให้บริษัทหลีกเลี่ยงความรับผิดชอบต่อชีวิตผู้คนในการให้ค่าจ้างและสวัสดิการต่างๆ แบบที่บริษัทดั้งเดิมมีความรับผิดชอบต้องจัดหาให้

คริสเตียนไซเอนซ์มอนิเตอร์ระบุว่าในตอนที่บริษัท Uber เริ่มทำธุรกิจตัวกลางผ่านแอพฯ เมื่อราว 10 ปีที่แล้ว พวกเขาทำเหมือนมันเป็นข้อเสนอที่ดูเหมือนจะได้ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย จากการที่ฝ่ายลูกค้าหรือผู้ใช้บริการจะได้รับความสะดวกและจ่ายน้อยลง และทำให้คนทำงานเช่นคนขับรถ Uber หรือไรเดอร์ส่งอาหารมีโอกาสในการเลือกชั่วโมงทำงานของตัวเองและมีรายได้เสริมบ้าง

รูปแบบธุรกิจนี้ใช้ได้กับคนที่ทำงานกิ๊กอิโคโนมีเพื่อเป็นงานเสริมรายได้จากงานหลักอื่นๆ ที่มีอยู่แล้ว แต่ในช่วงไม่นานนี้ก็มีข้อทักท้วงจำนวนมากจากกลุ่มคนที่ทำงานที่ต้องอาศัยรายได้จากงานแบบกิ๊กอิโคโนมีในการหาเลี้ยงตัวเองและครอบครัว การเรียกร้องในเรื่องนี้มีมากขึ้นเรื่อยๆ ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาจากการที่ไรเดอร์ทั้งหลายไม่เพียงแค่ต้องเสี่ยงกับอุบัติเหตุเท่านั้นแต่ยังต้องเสี่ยงกับโรคระบาดด้วย

สำหรับในสหรัฐฯ ยังคงมีการรอคำตัดสินในเรื่องสวัสดิการของคนทำงานกิ๊กอิโคโนมีอยู่ ถึงแม้ว่ารัฐบาลกลางของสหรัฐฯ ส่งสัญญาณในเชิงสนับสนุนเพื่อสิทธิของคนทำงานที่ดีขึ้นแต่คนตัดสินใจหลักๆ ก็ยังคงอยู่ที่ในระดับแต่ละรัฐ เท่าที่ผ่านมาจนถึงตอนนี้ก็มีกรณีของรัฐแคลิฟอร์เนียพยายามออกกฎหมายที่ให้สิทธิคนทำงานกิ๊กอิโคโนมีมากขึ้นแต่ก็ถูกโหวตคว่ำและในตอนนี้อยู่ในขั้นตอนการต่อสู้ในชั้นศาล

ในที่อื่นๆ อย่างลาตินอเมริกาก็เริ่มมีการเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิแรงงานคนทำงานกิ๊กอิโคโนมีบ้างแล้ว เช่นมีการนัดหยุดงานประท้วงทั่วลาตินอเมริกาหลังจากที่ในบราซิลมีกรณีที่ไรเดอร์คนหนึ่งไปส่งของช้าเพราะรถของเขายางแบนทำให้เขาถูกปิดกั้นจากการใช้งานแอพฯ ของบริษัทตัวกลาง ซึ่งเทียบได้กับการถูกไล่ออกจากการทำงาน

กรณีใกล้เคียงกันนี้ยังมีปรากฏอยู่ในศาลต่างๆ ทั่วโลก ที่ส่วนใหญ่แล้วตั้งอยู่บนเรื่องของข้อถกเถียงว่าจริงๆ แล้วคนทำงานรับจ้างแบบกิ๊กอิโคโนมีไม่ได้นับเป็น "คนรับจ้างอิสระ" แต่ถูกปฏิบัติเหมือนลูกจ้างที่ต้องขึ้นกับนายจ้างแบบในธุรกิจรูปแบบอื่นๆ ในความเป็นจริงแล้วพวกเขาอาจจะยิ่งมีอิสระน้อยกว่าลูกจ้างในบริษัททั่วไปด้วยซ้ำเพราะการตัดสินใจว่าจะส่งตัวพวกเขาไปที่ไหนหรือจะไล่เขาออกหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับระบบการจัดลำดับข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่เรียกว่าอัลกอริทึ่มเท่านั้น

สำหรับในยุโรปนั้นดูเหมือนว่าทิศทางจะเป็นไปในเชิงที่เอื้อต่อคนทำงานกิ๊กอิโคโนมีมากขึ้น เช่นในช่วงต้นปี 2564 ศาลสูงสุดของอังกฤษก็คงคำตัดสินเดิมให้คนขับรถ Uber ได้รับการันตีค่าแรงขั้นต่ำและจัดประเภทให้พวกเขาไม่นับเป็นผู้รับจ้างอิสระเพราะการที่บริษัทใช้เครื่องมือหลายอย่างในการควบคุมคนทำงาน นอกจากนี้ยังตัดสินให้ Uber ต้องให้คนทำงานสามารถลาหยุดได้แบบยังได้รับค่าจ้างด้วย

ประเทศฝรั่งเศสก็มีการเสนอให้กลุ่มคนทำงานขับรถรับส่งผ่านแอพฯ สามารถเลือกตั้งตัวแทนสหภาพของตัวเองได้เพื่อเจรจาหารือให้ได้สภาพการจ้างงานที่ดีขึ้น ในอิตาลีมีข้อตกลงให้บริษัทต้องใช้งบในการส่งเสริมสภาพการทำงานและความปลอดภัยในการทำงานของกลุ่มคนทำงานเหล่านี้มากขึ้นแต่ทว่าก็ยังไม่ถึงขั้นรับรองสถานะพวกเขาเป็นลูกจ้างเต็มรูปแบบ

ในเดือน ส.ค. 2564 ที่สเปนมีการผ่านร่างกฎหมายให้เหล่าคนทำงานกิ๊กอิโคโนมีรวมถึงคนขับ Uber และเหล่าไรเดอร์ทั้งหลายนับเป็นลูกจ้าง

ทั้งนี้ ข้อเสนอจากคณะกรรมาธิการยุโรปก็เสนอในเชิงที่จะรับรองสถานะความเป็นลูกจ้างของไรเดอร์เหล่านี้ โดยกำหนดให้ฝ่ายบริษัทเองต้องเป็นผู้เสนอหลักฐานที่พิสูจน์ให้เห็นว่าพวกเขาเป็นแค่ "ตัวกลางผู้จับคู่ให้" อย่างที่อ้างไว้จริง ขณะที่ลูกจ้างกิ๊กอิโคโนมีในอียูประมาณไว้ว่ามีอยู่ราว 4 ล้านคน จะต้องได้รับสิทธิและการคุ้มครองแบบเดียวกับลูกจ้างบริษัทโดยทั่วไป

หนึ่งในเจ้าของธุรกิจแบบกิ๊กที่ใหญ่ที่สุดในยุโรปคือ Just Eat บอกว่าพวกเขาจะเคารพต่อการตัดสินใจของอียู แต่ธุรกิจอื่นๆ โดยส่วนใหญ่แล้วต่อต้านข้อเสนอนี้ของอียู ทาง Uber อ้างว่ามันจะเป็นการทำลายงานของคนหลายพันคนและไม่ดีต่อลูกค้าที่ต้องพึ่งพาคนเหล่านี้ อย่างไรก็ตาม Uber เสนอว่าอาจจะมีหนทางที่จะยังคงกิ๊กอิโคโนมีที่มี "ความยึดหยุ่น" ไว้ได้ ทำให้อยู่ภายใต้โมเดลธุรกิจแบบเดิมไปพร้อมๆ กับการที่เจ้าของกิจการจะ "เสนอการคุ้มครองและสวัสดิการให้มากขึ้น"

ข้อเสนอของคณะกรรมาธิการอียูจะต้องผ่านกระบวนการของสภานิติบัญญัติของอียูก่อนที่จะมีการโหวตลงมติโดยสภายุโรปเป็นขั้นตอนสุดท้ายอย่างไรก็ตามในช่วงเวลานี้ก็ยังไม่รู้ว่าเหล่าบริษัทต่างๆ จะมีการล็อบบีหรือมีการเจรจาต่อรองอะไรบ้าง และจากกระบวนการดังกล่าวทำให้ข้อเสนอนี้อาจจะต้องใช้เวลาถึง 1-2 ปี กว่าจะมีการตัดสินว่าจะบังคับใช้หรือไม่ อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่าทิศทางลมจะพัดมาในทางที่เอื้ออำนวยให้กับคนทำงานเหล่านี้มากขึ้น

 

เรียบเรียงจาก

 

Gig contractor or employee? Delivery drivers seek rights worldwide, Christian Science Monitor, 16-12-2021

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net