‘ซิติเซนนิวส์’ สื่ออิสระฮ่องกงปิดตัวอีกราย หลังมีกระแส จนท.ปราบสื่อที่วิจารณ์ทางการหนัก

‘ซิติเซนนิวส์’ สื่ออิสระจากเกาะฮ่องกง ประกาศปิดตัว เหตุกังวลความปลอดภัยของนักข่าว หลัง ตร.จับกุมคนทำงานจากสื่อโปรประชาธิปไตย ‘สแตนด์นิวส์’ จนทำให้ต้องยุติกิจการ ด้านสื่อต่างชาติมองเสรีภาพสื่อกำลังหายไป 

โลโก้ Citizen News (ภาพจาก www.hkcnews.com)

‘ซิติเซนนิวส์’ (Citizen News) สื่ออิสระจากเกาะฮ่องกง ประกาศว่า พวกเขาจะหยุดทำการตั้งแต่วันที่ 4 ม.ค. 65 เป็นต้นไป เพื่อความปลอดภัยของนักข่าว โดยการตัดสินใจครั้งนี้จะทำให้ฮ่องกงสูญเสียสื่อออนไลน์ที่เป็นอิสระและต่อสู้กับอำนาจทางการไปอีกแห่งหนึ่ง 

ก่อนหน้านี้ เมื่อ 29 ธ.ค. 64 สแตนด์นิวส์ สื่อออนไลน์ไม่แสวงหาผลกำไรจากเกาะฮ่องกง ถูกตำรวจบุกตรวจค้นสำนักงาน และจับกุมนักข่าวและพนักงานจำนวนหนึ่ง พร้อมแจ้งข้อหา ‘ยุยงปลุกปั่น’ จนสุดท้ายต้องประกาศปิดตัว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'สแตนด์นิวส์' สื่อประชาธิปไตยฮ่องกง ประกาศปิดตัวหลังถูก ตร.บุกค้นและจับกุม

คริส หยาง (Chris Yeung) ผู้ก่อตั้งและเป็นหัวหน้านักเขียน ‘ซิติเซนนิวส์’ กล่าวว่า พวกเขาประกาศปิดตัวลง เนื่องจากเหตุการณ์การจับกุมคนทำสื่อของ ‘สแตนด์นิวส์’ ทำให้คนที่ถูกทางการจีนมองว่าเป็นผู้ที่วิจารณ์พวกเขา หรือเป็น ‘ผู้ก่อปัญหา’ มีความเสี่ยงถูกเจ้าหน้าที่คุกคาม 

เดซี หลี่ (Daisy Li) หัวหน้ากองบรรณาธิการ (บ.ก.) ของซิติเซนนิวส์ กล่าวด้วยว่า พวกเขารู้สึกว่าไม่มีความแน่นอนเรื่องการบังคับใช้กฎหมาย อะไรที่ถือว่าเข้าข่ายการละเมิดกฎหมายความมั่นคงจากจีนที่บังคับใช้กับฮ่องกง ซึ่งออกมาในปี พ.ศ. 2563 

ล็อกแมน ซุย (Lokman Tsui) อดีตผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านวารสารศาสตร์จากมหาวิทยาลัยไชนิสแห่งฮ่องกง กล่าวว่า ในตอนนี้นักศึกษาที่เคยเรียนกับเขาหลายคนตกงาน นับว่าเป็นเรื่องน่าเศร้าสำหรับฮ่องกงที่พยายามจะเป็นเมืองระดับโลก พวกเขาเคยมีสื่อที่เสรีและคึกคักมาก่อน แต่ในตอนนี้มันยากที่จะบอกว่าสื่อของพวกเขาเสรีเหมือนเดิม

ซุย มองว่า สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นส่วนหนึ่งของแผนการใหญ่ที่รัฐบาลฮ่องกง ซึ่งเป็นหุ่นเชิดของพรรคคอมมิวนิสต์จีนกำลังทำลายสื่ออิสระที่วิพากษ์วิจารณ์พวกเขา

นอกจากกรณีของซิติเซนนิวส์ และสแตนด์นิวส์แล้ว ในปีที่ผ่านมา ยังเคยมีกรณีที่สื่อสายประชาธิปไตยที่ใหญ่ที่สุดในฮ่องกงอย่างแอปเปิลเดลี ปิดตัวลงในเดือน มิ.ย. 2564 หลังจากที่ทางการฮ่องกงเล่นงานพวกเขา รวมถึงจับกุมผู้ก่อตั้งสื่ออย่าง จิมมี ไล (Jimmy Lai) 

ทั้งนี้ สื่อซิติเซนนิวส์ เป็นสื่อออนไลน์ที่เริ่มทำการมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2560 มีนักข่าวอยู่ประมาณ 40 ชีวิต ส่วนใหญ่เพิ่งจะเข้าทำงานที่บริษัท การที่สื่อแห่งนี้ถูกปิดทำให้ในตอนนี้ฮ่องกงเหลือเพียง Hong Kong Free Press ซึ่งเป็นสื่อภาษาอังกฤษ และ inmediahk.net ซึ่งเป็นสื่อภาษาจีน เป็นสื่ออิสระขนาดใหญ่ที่เหลืออยู่เพียง 2 แห่งเท่านั้นในฮ่องกง

ขณะที่อดีตนักข่าวสแตนด์นิวส์ ตัดพ้อว่าอะไรทำให้ฮ่องกงถดถอยลงไปอย่างรวดเร็วในระดับที่ "แม้แต่สื่อธรรมดาๆ ก็มีอยู่ไม่ได้"

จอห์น ลี (John Lee) เลขาธิการใหญ่ของคณะรัฐมนตรีฮ่องกง กล่าวอ้างในช่วงที่มีการปราบปรามสื่อในสัปดาห์ที่แล้วว่า สื่อที่ "ทำลายความมั่นคงของชาติ" เป็นแค่ "ปลาเน่าไม่กี่ตัว" 

ขณะที่ เหลา ซิว ไค (Lau Siu Kai) รองประธานสมาคมจีนแห่งฮ่องกงและมาเก๊าศึกษาที่มีฐานในจีน อ้างว่ายังคงมีพื้นที่ให้สื่อรายงานในเชิงวิจารณ์รัฐบาลได้อยู่

อย่างไรก็ตาม คีธ ริชเบิร์ก (Keith Richburg) ประธานสมาคมผู้สื่อข่าวต่างชาติในฮ่องกง กล่าวด้วยว่า พื้นที่ของสื่ออิสระที่จะดำเนินการในฮ่องกงนั้นมีอยู่จำกัดน้อยลงเรื่อยๆ จนชวนให้คนจำนวนมากกังขาว่าจะมีพื้นที่ให้เหลือวิจารณ์รัฐบาลอยู่จริงหรือไม่ 

"สังคมที่มีความคึกคักและรัฐบาลที่ดีนั้นต้องอาศัยสื่อเชิงวิพากษ์ที่มีการตั้งคำถามต่อนโยบายต่างๆ" ริชเบิร์ก กล่าว

 

เรียบเรียงจาก

Hong Kong free press faces collapse as second news site announces closure, Financial Times, 03-02-2022
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท