Skip to main content
sharethis

คุยกับ 2 นักเคลื่อนไหวในพื้นที่ชายแดนใต้/ปาตานี ตั้งแต่ปมปัญหาและเหตุผลของความไม่เข้าใจกันระหว่างเจ้าหน้าที่กับประชาชน เทียบข้อขัดแย้งระหว่างกระบวนการชันสูตรพลิกศพกับหลักศาสนบัญญัติ พร้อมข้อเสนอแนะต่อเจ้าหน้าที่ต้องปฏิบัติต่อการจัดการศพวิสามัญฆาตกรรม รวมทั้งข้อเสนอต่อประชาชน ชี้ความไม่เข้าใจอาจจะนำไปสู่ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย

หลังจากกรณีเหตุการณ์วิสามัญฆาตกรรมกลุ่มผู้ก่อเหตุพื้นที่หมู่ 3 บ้านไอร์แยง ต.ศรีสาคร อ.ศรีสาคร จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 3 ธ.ค. 2564 ที่ผ่านมาจึงมีเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 2 ราย ซึ่งหนึ่งในผู้เสียชีวิตนั้นเป็นชาวมุสลิมเสียชีวิตจากการถูกวิสามัญฆาตกรรมจากเจ้าหน้าที่ทหาร หลังจากการเสียชีวิตของกลุ่มผู้ก่อเหตุมีความขัดแย้งระหว่างประชาชนและญาติผู้เสียชีวิตกับเจ้าหน้าที่ทหารขึ้น 

โดยประเด็นปัญหาเกิดขึ้นจากความไม่สอดคล้องและขัดกันระหว่างกระบวนการพิสูจน์ศพกับหลักศาสนบัญญัติของศาสนาอิสลามซึ่งถือเป็นความเชื่อหลักของคนมลายูมุสลิมในพื้นที่นี้ จึงชวนผู้อ่านคุยกับสองนักเคลื่อนไหวในพื้นที่ปาตานีทั้ง อัญชนา หีมมิหน้ะ ตัวแทนจากกลุ่มด้วยใจในฐานะผู้ที่เคลื่อนไหวประเด็นปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน และอาร์ฟาน วัฒนะ เลขาธิการฯ The Patani ในฐานะผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์การกรณีพิพาทที่ ต.ศรีสาคร เมื่อวันที่ 3 ธ.ค. 2564 อีกทั้งยังเป็นนักเคลื่อนไหวทางการเมืองที่มีบทบาทต่อชุมชนในพื้นที่ ต่อประเด็นข้อพิพาทดังกล่าว เพื่อสอบถามถึงมุมมองความเห็นและข้อเสนอจวบจนถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาข้อพิพาทดังกล่าว 

ปมปัญหาและเหตุผลของความไม่เข้าใจกันระหว่างเจ้าหน้าที่กับประชาชน 

อัญชนา หีมมิหน้ะ

ตัวแทนกลุ่มด้วยใจ อธิบายว่าด้วยเหตุผลหลายปัจจัยที่นำไปสู่ปัญหาของการเกิดความขัดแย้งระหว่างเจ้าหน้าที่ทหารและประชาชนในพื้นที่จนนำไปสู่ปัญข้อพิพาทระหว่างหลักศาสนบัญญัติและเรื่องของการชันสูตรพลิกศพของผู้ที่ถูกวิสามัญฆาตกรรมจากเจ้าหน้าที่รัฐนั้น 

  1. ความเข้าใจของหน่วยงานความมั่นคงหรือเจ้าหน้าฝ่ายปฎิบัติการในเรื่องหลักความเชื่อและวัฒนธรรมประเพณีของประชาชนในพื้นที่ 
  2. การขาดการสื่อสารและการชี้แจงอย่างตรงไปตรงระหว่างเจ้าหน้าที่ทหารและประชาชนหรือญาติผู้เสียชีวิตถึงเหตุผลและหลักการหรือขั้นตอนการปฎิบัติงานของเจ้าหน้าที่ตามกระบวนการยุติธรรม 
  3. เจ้าหน้าที่ทหารนั้นขาดการยืดหยุ่นในขั้นตอนการปฎิบัติงานว่าด้วยการผ่อนปรนหรือลดขั้นตอนบางอย่างเพื่อให้ตอบสนองหรือเหมาะสมกับบริบทสังคมและความเชื่อตามหลักศาสนบัญญัติของคนในพื้นที่ 
  4. กฎหมายพิเศษนำไปสู่การลดสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนในพื้นที่เนื่องด้วยในพื้นที่นั้นรัฐบังคับใช้กฎหมายพิเศษต่างๆ ทั้งกฏอัยการศึก พรก.ฉุกเฉิน พรบ.ความมั้นคง เมื่อมีการบังคับใช้กฎหมายพิเศษกระบวนการมีส่วนร่วมหรือการร้องเรียนของประชาชนก็ถูกลดทอนและหายไป 
  5. การไม่ปรับเปลี่ยนวิธีการทำงานหรือการไม่เรียนรู้ถึงบทเรียนที่ผ่านของหน่วยงานความมั่นคงหรือเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการระดับพื้นที่ นำไปสู่การกระทำผิดพลาดซ้ำๆ จนนำไปสู่ปัญหาความขัดแย้งระหว่างกัน 

“เจ้าหน้าที่ก็มักจะอ้างถึงการปฏิบัติหน้าที่ตามหลักกฎหมาย แต่ในความพิเศษในพื้นที่พิเศษที่ถูกบังคับใช้กฎหมายพิเศษ ทางญาติจะไม่ได้รับอนุญาติในกรณีใดๆ เลยที่จะเข้าไปตรวจสอบร่วมตามกฎหมายที่กำหนดไว้ มันจึงทำให้เกิดความไม่เข้าใจและความคาดแคลงใจระหว่างกัน” อัญชนา กล่าว

ด้านเลขาธิการฯ The Patani ให้ความเห็นว่า ปัญหาเรื่องการชี้แจงทุกครั้งที่มีการปฎิบัติหน้าที่จากเจ้าหน้าที่ ไม่ว่าจะเกิดจากการปะทะ ปิดล้อมตรวจค้น ไม่มีเจ้าหน้าที่ที่จะมาชี้แจง จึงทำให้เราในฐานะประชาชนที่ถูกเจ้าหน้าที่รัฐกระทำนั้นมีความรู้สึกว่ามันไม่ยุติธรรม เจ้าหน้าที่ก็อ้างเรื่องกฎหมายพิเศษต่างๆ เหตุผลคล้ายๆ กันกับเหตุการณ์ล่าสุดที่ อ.ศรีสาคร จ.นราธิวาสที่ผ่านมา มันก็เลยทำให้ประชาชนรู้สึกคับค้องใจและไม่พอใจต่อการทำงานของเจ้าหน้าที่ 

“ประเด็นสำคัญก็คือหน่วยงานที่ปฏิบัติงานต่อกรณีที่เกี่ยวข้องกับการวิสามัญฆาตกรรมจำเป็นต้องเรียนรู้และมีกระบวนการทำความเข้าใจต่อวิถีชีวิต ความเชื่อ และหลักศาสนบัญญัติของคนในพื้นที่ให้มากกว่านี้ เพราะจำเป็นต้องเข้าใจจึงสามารถที่จะทลายกำแพงของข้อพิพาทนี้ได้ สิ่งที่สำคัญก็คือการชี้แจง เพราะเมื่อไม่มีใครออกมาชี้แจงหรือหน่วยงานใดออกมาแสดงความรับผิดชอบต่อความผิดพลาดก็จะยิ่งสร้างความไม่เข้าใจและความไม่สบายใจของประชาชนต่อเจ้าหน้าที่ที่ปฎิบัติงานในพื้นที่ ซึ่งอาจจะนำไปสู่ความขัดแย้งที่เพิ่มขึ้น” เลขาธิการฯ The Patani กล่าว

 

ตารางเทียบ กระบวนการชัญสูตรพลิกศพกับหลักศาสนบัญญัติ และข้อเสนอ

กระบวนการชัญสูตรพลิกศพ

หลักศาสนบัญญัติ

ข้อเสนอจาก 2 นักเคลื่อนไหวในพื้นที่

มาตรา 148 เมื่อปรากฏแน่ชัด หรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าบุคคลใดตายโดยผิดธรรมชาติ หรือตายในระหว่างอยู่ในความควบคุมของเจ้าพนักงาน ให้มีการชันสูตพลิกศพ เว้นแต่ตายโดยการประหารชีวิตตามกฎหมาย (ที่มา : หลักกฎหมายเกี่ยวกับการชันสูตรพลิกศพ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา)

มาตรา 150 ในกรณีที่จะต้องมีการชันสูตรพลิกศพ ให้ พนักงานสอบสวน แห่งท้องที่ ที่ศพนั้น อยู่กับ แพทย์ทางนิติเวชศาสตร์ ซึ่ง ได้รับวุฒิบัตร หรือ ได้รับหนังสืออนุมัติ จากแพทย์สภา ทำการชันสูตรพลิกศพ โดยเร็ว 

ในกรณีที่มีความตายเกิดขึ้นโดยการกระทําของเจ้าพนักงานซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่หรือตายในระหว่างอยู่ในความควบคุมของเจ้าพนักงานซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่ให้พนักงานอัยการและพนักงานฝ่ายปกครองตําแหน่งตั้งแต่ระดับปลัดอําเภอหรือเทียบเท่าขึ้นไปแห่งท้องที่ที่ศพนั้นอยู่เป็นผู้ชันสูตรพลิกศพร่วมกับพนักงานสอบสวนและแพทย์ (ที่มา ป.วิฯ อาญา หมวด 2 การชันสูตรพลิกศพ)

การชันสูตรศพของมุสลิมที่เสียชีวิตตามปกติตามหลักศาสนาอิสลามย่อมทำไม่ได้ เพราะตามหลักศาสนาตั้งบนพื้นฐานการให้เกียรติและคุ้มครองคุณค่าอันสูงส่งของความเป็นมนุษย์เว้นเสียแต่จำเป็นทางการแพทย์หรือเพื่อความยุติธรรมต่อคดีความ ซึ่งหลักศาสนบัญญัติระบุว่าด้วยเรื่องจัดการศพนั้นจำเป็นต้องฝังศพให้เร็วที่สุดหรือหากช้าที่สุดก็ไม่สามารถเกิน 24 ชม. 

ต้องลดหย่อนบางขั้นตอนในกระบวนการชันสูตรพลิกศพที่ไม่จำเป็นเพื่อให้สอดคล้องกับหลักศาสนบัญญัติและไม่ให้เกินเวลาตามที่หลักศาสนบัญญัตินั้นได้กำนหดไว้คือ 24 ชม. หรือน้อยกว่านั้นจะเป็นการดีที่สุด 

มาตรา 151 วรรคสาม. บัญญัติว่า “ในเมื่อมีความจําเป็นเพื่อพบเหตุของการตาย เจ้าพนักงานผู้ชันสูตรพลิกศพมีอํานาจสั่งให้ผ่าศพเพื่อแยกธาตุส่วนใดหรือจะให้ส่งทั้งศพหรือบางส่วนไปยังแพทย์หรือพนักงานแยกธาตุของรัฐบาลก็ได้”

อนุญาตให้ขุดศพ เป็นทัศนะส่วนใหญ่ของนักวิชาการมุสลิมร่วมสมัยว่า การขุดศพเพื่อชันสูตรศพที่ได้ฝังไปแล้ว แม้เป็นสิ่งต้องห้ามตามมติของปวงปราชญ์ แต่หากมีความจำเป็นก็สามารถทำได้โดยอนุโลม

(ที่มา : หนังสือแนวทางการตรวจชันสูตร หน้า 25 ข้อ 2.2 อ้างถึงใน คลอดแล้วแนวชันสูตรศพมุสลิม ผู้นำศาสนาชี้เป็นสิทธิผู้ดูแลศพ โดย โรงเรียนนักข่าวชายแดนภาคใต้ (DSJ) 12 พ.ค. 2555

ต้องมีกระบวนการพูดคุยอธิบายเพื่อทำความเข้าใจถึงหลักการและเหตุผลจนถึงการมีกระบวนการขออนุญาตจากญาติผู้เสียชีวิตอย่างเป็นระบบและสามารถตรวจสอบได้อย่างโปร่งใสและเป็นธรรม

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 153 ถ้าศพฝังไว้แล้ว ให้ผู้ชันสูตรพลิกศพจัดให้ขุดศพขึ้นเพื่อตรวจดู เว้นแต่จะเห็นว่าไม่จำเป็นหรือจะเป็นอันตรายแก่อนามัยของประชาชน 

ไม่สามารถกระทำได้เว้นเสียแต่มีเหตุจำเป็น อาทิเช่น การขุดศพขึ้นมาเพื่อผ่าท้องของศพเนื่องด้วยศพของหญิงสาวนั้นมีทารกอยู่และเพื่อปกป้องชีวิตทารกจึงเป็นที่อนุโลมให้กระทำได้ แต่หากไม่เกี่ยวกันก็ไม่สามารถกระทำได้ ( ที่มา: ตอบคำถามการ “ชันสูตรศพ” ที่ชายแดนใต้ | DeepSouthWatch.org)

หากไม่มีเหตุผลจำเป็นทางการแพทย์ก็ย่อมไม่สามารถกระทำได้โดยอิงตามหลักศาสนบัญญัติที่คนในพื้นที่ยึดถือ หรือหากจำเป็นก็จำเป็นต้องอธิบายถึงเหตุผลให้ญาติผู้เสียชีวิตนั้นรับทราบอย่างตรงไปตรงมาและต้องมีกระบวนการขออนุญาตก่อนการชันสูตรพลิกศพทุกครั้งไม่สามารถกระทำได้โดยพลการ 

ข้อเสนอแนะต่อเจ้าหน้าที่ต้องปฏิบัติต่อการจัดการศพวิสามัญฆาตกรรม

ตัวแทนกลุ่มด้วยใจ อธิบายว่ามีข้อเสนออยู่หลายข้อที่ต้องการเสนอแนะต่อรัฐบาลโดยมีข้อเสนอดั่งนี้ 

  1. การสื่อสารและการชี้แจงถึงหลักการและเหตุผลอย่างตรงไปตรงมาระหว่างกันจะทำให้สามารถไกล่เกลี่ยความขัดแย้งนี้ได้ 
  2. การทำความเข้าใจถึงเหตุผลของทั้งสองฝ่ายทั้งหลักการหรือขั้นตอนการชันสูตรพลิกศพของเจ้าหน้าที่กับหลักศาสนบัญญัติของประชาชนหรือญาติผู้เสียชีวิตนั้นจะสามารถลดเหตุความไม่เข้าใจกันระหว่างทั้งสองฝ่ายได้ 
  3. กระบวนการของเจ้าหน้าที่นั้นจะต้องโปร่งใสและสามารถที่จะตรวจสอบได้โดยประชาชน และการสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมต่อกระบวนการต่างๆ ของเจ้าหน้าที่ต่อผู้ที่เกี่ยวข้องหรือญาติผู้เสียชีวิตจะสามารถทำให้ประชาชนนั้นสบายใจและลดความวิตกกังวลได้มากพอสมควร 
  4. การอบรมเพิ่มองค์ความรู้เพื่อสร้างความเข้าใจต่อขนบธรรมเนียมประเพณีหรือหลักความเชื่อของคนในพื้นที่ต่อเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานในพื้นที่ 
  5. สร้างพื้นที่ที่ปลอดภัยแก่ประชาชนเพื่อสามารถรับเรื่องร้องเรียนหรือชี้แจงถึงเจตจำนงค์ที่ตนต้องการได้ตามกระบวนการที่เหมาะสม

“ญาติผู้เสียชีวิตจะต้องมีส่วนร่วมและได้เข้าไปสู่กระบวนการพิสูจน์หลักฐานตามกฎหมายอาญาด้วย ซึ่งมันควรที่จะต้องมีกระบวนการที่ครอบครัวหรือญาติผู้เสียชีวิตนั้นสามารถที่จะมีโอกาสเข้าไปในกระบวนการร่วมพิสูจน์หลักฐานหรือพิสูจน์ศพด้วย มันสำคัญมากที่จะทำให้ประชาชนโดยส่วนใหญ่นั้นเข้าใจและยอมรับถึงกระบวนการยุติธรรมที่เท่าเทียมของรัฐนี้” ตัวแทนกลุ่มด้วยใจ กล่าว 

อาร์ฟาน วัฒนะ

อาร์ฟาน ให้มุมมองต่อประเด็นเดียวกันนี้ว่าในฐานะ The Patani นั้นเป็นหนึ่งในองค์กรที่เคลื่อนไหวประเด็นทางการเมืองในพื้นที่ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาเราเคยเสนอประเด็นปัญหาให้แก่หน่วยงานความมั่นคงที่เกี่ยวข้อง ซึ่งประเด็นที่มองว่าเกี่ยวข้องและเป็นผลสืบเนื่องมาจากเหตุการณ์นี้ด้วยนั้นก็คือ ประเด็นที่ชาวบ้านจะเข้าไปหาของป่าในพื้นที่ป่าเขา ต้องกำหนดพื้นที่ป่าให้ครอบคลุมเพื่อกำหนดว่าในเขตไหนที่สามารถที่จะอนุญาติให้ไปหาของป่าได้ เพราะกลัวว่าอาจจะเข้าไปในพื้นที่หรือฐานที่มั่นของกลุ่มขบวนการติดอาวุธและอาจจะนำไปสู่การปะทะจนนำไปสู่การสูญเสียซึ่งมันก็เกิดขึ้นจริงอย่างกรณีที่ศรีสาครที่ผ่านมา

ประชาชนควรปฎิบัติอย่างไรต่อกรณีเช่นนี้หากเกิดขึ้นอีกในอนาคต  

อัญชนา ให้ความเห็นต่อประเด็นนี้ว่า 1. ประชาชนหรือญาติผู้เสียชีวิตต้องรับทราบถึงกระบวนการทำงานของเจ้าหน้าที่ในเบื้องต้นเพราะจะสามารถรับรู้ถึงเวลาที่เหมาะสมของการจัดการชันสูตรพลิกศพของเจ้าหน้าที่ และสามารถที่จะเจรจาต่อรองหากมันเลยเวลาหรือมันไม่สอดคล้องตามกระบวนการที่ถูกต้องและเหมาะสม 2. ต้องมีการร้องเรียนต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ขับเคลื่อนในเรื่องนี้อย่างรวดเร็ว อย่างเช่น องค์กรสิทธิมนุษยชน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ หรือองค์กรที่ทำงานช่วยเหลือสังคมในพื้นที่ เพื่อสอบถามติดตามเสาะหาข้อมูลให้หรืออาจจะเรียกร้องให้แก่เจ้าหน้าที่เพื่อให้เกิดช่องทางการสื่อสารในหลายๆ ช่องทาง

เลขาธิการฯ The Patani ให้ความเห็นต่อประเด็นเดียวกันนี้ว่า ตนเห็นว่าบทบาทของผู้นำชุมชนนั้นสำคัญมากต่อการเป็นตัวกลางหรือตัวแทนของประชาชนในการเจรจรหาทางออกระหว่างความขัดแย้งที่เกิดขึ้น จำเป็นที่จะต้องมีการเสริมสร้างและมีกระบวนการเพิ่มองค์ความรู้ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านกฎหมายหรือหลักสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน ซึ่งในแต่ล่ะชุมชนนั้นจำเป็นที่จะต้องมีกระบวนการเสริมสร้างองค์ความรู้อย่างเป็นระบบ

หลักศาสนบัญญัติกับหลักการชันสูตรพลิกศพ

เลขาธิการ The Patani ให้ความเห็นต่อประเด็นหลักศาสนบัญญัติว่า

  1. ตามหลักศาสนบัญญัติของศาสนาอิสลามต่อประเด็นการจัดการศพนั้น เมื่อได้มีผู้เสียชีวิตด้วยสาเหตใดก็แล้วแต่ กระบวนการจัดการศพนั้นถือว่าต้องรีบทำให้รวดเร็วที่สุดโดยใช้เวลาเพียง 2-3 ชม. เท่านั้นหรือจำเป็นที่จะต้องเกินไปกว่านั้นก็ไม่ควรที่จะต้องเกิน 10 ชม. ด้วยเหตุผลด้านเวลาจึงจำเป็นที่จะต้องเร่งรีบในการจัดการเพื่อให้อยู่ในเวลาตามที่หลักศาสนบัญญัตินั้นได้ระบุไว้ 
  2. ผู้เสียชีวิตจากกรณีวิสามัญฆาตกรรมนั้นส่วนมากจะไม่เสียชีวิตในพื้นที่ที่เป็นบ้านเกิดของตัวเองแต่จะเสียชีวิตในพื้นที่อื่นๆ อาทิเช่น ชุมชนอื่นหรือในพื้นที่เทือกเขาแทน ฉะนั้นกระบวนการมันจึงต้องใช้เวลาทั้งการเดินทางและการจัดพิธีกรรมตามหลักศาสนา 

ตัวแทนกลุ่มด้วยใจให้ความเห็นต่อหลักการชันสูตรพลิกศพว่า 

  1. กระบวนการชันสูตรพลิกศพของเจ้าหน้าที่ต่อการวิสามัญฆาตกรรมนั้นจำเป็นที่จะต้องมีกระบวนการที่มีขั้นตอนที่มากยิ่งขึ้นไปจากปกติ อาจจะด้วยในเรื่องของความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่หรือการพิสูจน์หลักฐานตามกระบวนการยุติธรรม 
  2. ด้วยสภาพแวดล้อมและบริบทในที่เกิดเหตุของผู้ที่เสียชีวิตจากการถูกวิสามัญฆาตกรรมที่ส่วนมากจะเป็นป่าเขาหรือเทือกเขาจึงอาจจะเป็นอุปสรรค์ต่อกระบวนการทำงานของเจ้าหน้าที่ 
  3. กฎหมายพิเศษในพื้นที่พิเศษจึงเพิ่มอำนาจการทำงานแก่เจ้าหน้าที่ในการทำงานและลดขั้นตอนหรือกระบวนการพิสูจน์จวบจนถึงการมีส่วนร่วมจากประชาชน

ชี้ความไม่เข้าใจอาจจะนำไปสู่ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย

บทเรียนปัญหาข้อพิพาทระหว่างกรณีวิสามัญฆาตกรรมที่ผิดปกตินั้นจะส่งผลให้เพิ่มขั้นตอนในกระบวนการชันสูตรพลิกศพ อีกทั้งการอยู่ภายใต้กฎหมายพิเศษในพื้นที่พิเศษจึงนำไปสู่การเพิ่มขั้นตอนในกระบวนการทำงานและปิดกระบวนการการมีส่วนร่วมของประชาชนไป ซึ่งหลายต่อหลายครั้งกระบวนการชันสูตรพลิกศพจากความผิดปกติของการวิสามัญฆาตกรรมนั้นจึงอาจจะต้องใช้เวลาที่มากพอสมควรจึงอาจจะนำไปสู่การขัดกันและไม่สอดคล้องกับหลักศาสนบัญญัติของคนในพื้นที่ซึ่งถือเป็นหลักความเชื่อหลักอยู่แล้ว จึงนำไปสู่ความไม่เข้าใจและความขัดแย้งระหว่างประชาชนและเจ้าหน้าที่อยู่บ่อยครั้ง 

“ญาติผู้เสียชีวิตไม่สามารถที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมกับการชันสูตรพลิกศพได้ โดยมีหน้าที่เพียงแค่รอกระบวนการทำงานของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเท่านั้นซึ่งจะไม่สามารถเข้าไปมีส่วนร่วมได้อย่างพื้นที่อื่นๆ ตามที่หลักกฎหมายนั้นได้ระบุไว้ มันแตกต่างกันระหว่างพื้นที่ใช้กฎหมายพิเศษกับพื้นที่อื่นๆ ” อัญชนา กล่าวย้ำ 

อาร์ฟาน ให้ความเห็นว่า การไม่ปรับตัวหรือสร้างความเข้าใจของเจ้าหน้าที่รัฐต่อหลักความเชื่อและขนบธรรมเนีนบประเพณีของคนปาตานีจะนำไปสู่การก่อเกิดปัญหาซ้ำแล้วซ้ำเล่า สิ่งที่กังวลคือความไม่เข้าใจเหล่านี้หากไม่รีบที่จะทำความเข้าใจผมกังวลว่ามันอาจจะนำไปสู่สภาวะที่อาจจะก่อเกิดความรุนแรงมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม

“เหตุการณ์ในวันนั้นอาจจะนำไปสู่การเกิดประวัติศาสตร์ซ้ำรอยกับเหตุการณ์ดุซงญอในปี พ.ศ. 2491 การปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับชาวบ้านที่ดุซงญอ จังหวัดนราธิวาส ทำให้ทั้งสองทั้งฝ่ายประชาชนและเจ้าหน้าที่ทหารบาดเจ็บและเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก หรือเหตุการณ์ตากใบ ในปี พ.ศ. 2547 ซึ่งก็นำไปสู่ความขัดแย้งระหว่างประชาชนกับเจาหน้าที่เช่นกัน ซึ่งจุดเริ่มต้นจาก็มากความไม่เข้าใจกันและไร้ซึ่งการสื่อสารอย่างตรงไปตรงมาจากเจ้าหน้าที่ต่อประชาชนอาจจะนำไปสู่การเกิดความขัดแย้งจนนำไปสู่ความรุนแรงอย่างเหตุการณ์ที่ผ่านมาได้ ซึ่งผมไม่อยากให้เป็นอย่างนั้น” อาร์ฟาน กล่าว

สำหรับ มูฮัมหมัดอานัส หลงเดวา ผู้เขียนรายงานชิ้นนี้ เป็นนักศึกษาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ม.อ. ปัตตานี ปัจจุบันร่วมฝึกงานกับกองบรรณาธิการประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net