Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

คําวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเรื่องสมรสเท่าเทียม ย่นย่อความเป็นจริงมาให้เหลือแค่ภาพบิดเบี้ยว ที่ห่างไกลจากชีวิตความเป็นจริงอย่างไม่มีใครจำมันได้เลย

เพศอันมีอยู่หลากหลายและทุกคนก็ได้สัมผัสมาตลอดชีวิต อย่างใกล้ชิดบ้าง ห่างๆ บ้าง ถูกลดให้เหลือเพียง 2 คือหญิงและชาย ผิดจากนี้ถือว่าพิกลพิการ คือไม่ (ควร) มี ไม่ (ควร) จริง ไม่ (ควร) ยอมรับ ไปหมด

คนเราเลือกจะแต่งงานกันเพราะอะไร ลองไปถามคนที่อยู่ในชีวิตจริงดูเถิด จะพบว่ามีเหตุผลหลากหลายซึ่งไม่ตรงกันเลย และแต่ละคู่ก็มีเหตุผลเกินหนึ่ง จนไม่อาจตัดสินเรียงลำดับได้ว่าอะไรมาก่อนอะไรมาหลัง แต่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า เป้าหมายในการแต่งงานมีเพียงหนึ่งเดียวคือ เพื่อสืบพันธุ์

เป้าหมายข้อนี้คงเป็นหนึ่งในเหตุผลที่คนเลือกจะแต่งงานกันในปัจจุบัน แต่จะเป็นเหตุผลอันดับหนึ่งหรือไม่ผมไม่แน่ใจ ถอยกลับไปสมัยที่ถูกญี่ปุ่นยึดครองอยู่ นายกฯ สมัยนั้นยุให้คนไทยมีลูกมากๆ เพื่อไทยจะได้เป็นมหาอำนาจ (พูดอยู่ท่ามกลางจีนที่สมัยนั้นถือกันว่าเป็นยักษ์หลับด้วยนะครับ… แน่จริงๆ)

ฉะนั้น นอกจากจอมพล ป.พิบูลสงคราม, หลวงวิจิตรวาทการ และศาลรัฐธรรมนูญแล้ว ผมคิดว่าเหตุผลการแต่งงานเพื่อสืบเผ่าพันธุ์ คงเป็นเพียงหนึ่งในเหตุผลที่คนไทยปัจจุบันแต่งงานกัน และความสำคัญของอันดับคงลดหรือเพิ่มขึ้นได้ตามสถานการณ์ของครอบครัวซึ่งแปรเปลี่ยนไปอย่างไม่เคยหยุด

อันที่จริง ศาลรัฐธรรมนูญใช้ “สายตา” ของรัฐในการมองเรื่องเพศและการแต่งงานเท่านั้น รัฐมักมองทุกอย่าง – ทั้งคนในบังคับและทรัพยากรในความควบคุม – ซึ่งมีความหลากหลายและลักษณะเฉพาะที่แตกต่างกันในแต่ละรายมากเสียจนรัฐมองไม่เห็น รัฐจึงทำให้ทุกอย่างภายใต้รัฐ “ง่าย” ขึ้น ด้วยการจัดประเภทให้เหลือน้อยอย่างที่สุดบ้าง ด้วยการสมมติให้ทุกอย่างเหมือนกันหมดบ้าง ป่าไหนๆ ก็ป่าทั้งนั้น คนไหนๆ ก็คนทั้งนั้น เช่นเดียวกับควาย, ถนน, เมือง, ไฟฟ้า, บัตรคนจน ฯลฯ

ทำให้ง่ายก็เพื่อรัฐจะได้ “อ่าน” ออก เช่น ขึ้นบัญชีได้ เรียกเก็บภาษีได้ เรียกเกณฑ์ได้ ระดมสิ่งเหล่านั้นมาเป็นประโยชน์แก่รัฐได้ ฯลฯ เมื่อ “อ่าน” ได้ ก็ควบคุมได้ ฉะนั้น “อ่าน” ให้ออกจึงสำคัญแก่รัฐมาก ตรงไหนที่มันโด่เด่ออกมาพ้นกรอบที่รัฐวางไว้ ก็ยัดมันกลับลงไปในกรอบให้ได้ อย่างที่ศาลรัฐธรรมนูญทำนั่นแหละครับ

ผมจำเป็นต้องย้ำตรงนี้ไว้ด้วยว่า ในบรรดาองค์กรแขนขาของรัฐทั้งหลาย ศาล (ทุกประเภท) น่าจะเป็นองค์กรเดียวที่อ่อนไหวต่อความแตกต่างหลากหลายและความเปลี่ยนแปลง ที่ทำให้การ “อ่าน” แบบรัฐกลายเป็นเรื่องตลก เพราะศาลเป็นองค์กรเดียวของรัฐที่พิจารณาคดีต่างๆ เฉพาะราย คนนี้ฉ้อโกงหรือไม่ คนนั้นเป็นหนี้เขาหรือไม่ จึงทำให้กรอบง่ายๆ ที่รัฐใช้ในการ “อ่าน” ไม่สามารถทำงานได้ต่อไป การพิจารณาของศาลจึงมักโอนอ่อนต่อความแตกต่างหลากหลายและความเปลี่ยนแปลงทางสังคมได้มากกว่าองค์กรรัฐประเภทอื่น เช่น ศุลกากรหรือสรรพากร

นั่นคือเหตุผลที่เรามักพบว่า ในหลายสังคมทั่วโลก ความก้าวหน้าในด้านมาตรฐานความสัมพันธ์ทางสังคมเกิดจากคำพิพากษาเปิดทางให้เสมอ เช่น การเหยียดผิว, สิทธิทางเพศ, สิทธิพลเมือง ฯลฯ อย่างที่เขาพูดกันแหละครับ เพียงแค่ศาลไม่รับรองว่าคณะรัฐประหารถืออำนาจรัฐเพียงครั้งเดียว บ้านเมืองก็ไม่ต้องถอยหลังเข้าคลองอีกเลย

เมื่อผมจำเป็นต้องไปขอใบปริญญาบัตรที่สำนักเลขาธิการมหาวิทยาลัย ก็ต้องกรอกแบบฟอร์มชุดหนึ่ง ในตอนนั้นผมยังไม่เชื่อในศาสนาอะไรเลย ในช่องศาสนา ผมจึงขีดว่างไว้ บังเอิญเพื่อนรุ่นเดียวกันเป็นเจ้าหน้าที่ เขาพยายามขอร้องเกลี้ยกล่อมผมอยู่นานว่า จะเชื่อหรือไม่เชื่อศาสนาใดก็ตาม ไม่ควรเว้นว่างช่องนี้ไว้ เพราะอาจเป็นอันตรายต่อตนเอง เนื่องจากในช่วงนั้น คนไม่มีศาสนาถูก (รัฐ) จัดไว้ในกรอบ “คอมมิวนิสต์” ในที่สุดผมก็ต้องยอมระบุไปว่าผมนับถือพุทธ

เท็จหรือจริง รัฐไม่สนใจหรอกครับ แต่คนเราต้องอยู่ในช่องหรือกรอบอะไรที่รัฐสร้างขึ้นอย่างง่ายๆ เพื่อจะได้ “อ่าน” ออก

ศาสนาเป็นส่วนหนึ่งของอัตลักษณ์บุคคลนับตั้งแต่เราเริ่มทำทะเบียนราษฎร์ ไม่ใช่อัตลักษณ์จริงในชีวิตนะครับ แต่เป็นอัตลักษณ์ที่รัฐจัดเป็นกล่องๆ ไว้ เพื่อง่ายแก่การ “อ่าน” ประชากรของตนเอง และระบบทะเบียนราษฎร์ซึ่งทำกันแทบจะทุกประเทศทั่วโลกนั่นแหละครับ ที่แสดงให้เห็นวิธีการของรัฐที่จะทำความสลับซับซ้อนในความเป็นจริงให้ “ง่าย” จนไร้ความหมาย เพื่อให้รัฐ “อ่าน” ออกและควบคุมได้

คุณบอกรัฐว่าคุณชื่ออะไรแล้ว คุณต้องชื่ออย่างนั้นจนตาย หากอยากเปลี่ยนเมื่อไรก็ต้องทำเรื่องแจ้งให้รัฐทราบว่า ได้เปลี่ยนไปใช้ชื่อใหม่แล้วนะ ทีหลัง “อ่าน” ผมใหม่ในชื่อใหม่นะครับ

ในหลายวัฒนธรรม ชื่อไม่ใช่เสียงเรียกประจำตัวของบุคคลเท่านั้น แต่มันกำหนดบุคลิกภาพและชะตาชีวิตของเขาเลยทีเดียว เหตุดังนั้นจึงจำเป็นต้องเปลี่ยนชื่อเสียงเรียงนามในกรณีที่จำเป็น (เช่น ในวัฒนธรรมไทย เป็นต้น) ในอีกหลายวัฒนธรรม ชื่อเปลี่ยนไปตามอายุและสถานภาพ ไม่มีใครใช้ชื่อเดียวจนตาย มีอะไรบางอย่างคล้ายๆ กับคนไทย เพราะชื่อของเราจะถูกเรียกขานตามความสัมพันธ์ ในวงคนใกล้ชิดชื่ออย่างหนึ่ง (มักเป็นชื่อเล่น หรือชื่อจริงที่ถูกย่อเหลือพยางค์เดียว หรือบางครั้งคือชื่อพ่อ) ในวงคนที่ห่างหน่อยและเป็นทางการก็มีชื่ออีกอย่างหนึ่ง พอมีตำแหน่งทางราชการก็กลับถูกเรียกตามตำแหน่งไปเสียอีก

ชื่ออย่างนี้รัฐ “อ่าน” ไม่ออก ทะเบียนราษฎร์จึงมีอยู่ชื่อเดียว และอาจเป็นชื่อที่เจ้าตัวไม่เคยใช้เลยก็ได้ แต่ไม่เป็นไร เพราะรัฐหมายหน้า, เพศ และที่อยู่ได้อยู่แล้วในบัตรประชาชน

เพศในทะเบียนราษฎร์ก็อย่างที่กล่าวแล้วในตอนต้น เพศที่เป็นจริงของผู้คนอันมีหลากหลายนั้น รัฐ “อ่าน” ไม่ออก จึงย่นย่อให้เหลือเพียงสอง เพื่อทำให้รัฐ “อ่าน” ได้ และควบคุมได้

ที่อยู่ในทะเบียนราษฎร์ยิ่งเห็นได้ชัดว่ามีไว้เพื่อการ “อ่าน” ของรัฐโดยแท้ มีคนที่ขอฝากชื่อไว้ในทะเบียนบ้านของคนอื่นจำนวนไม่น้อยทั่วประเทศ และมีคนอีกจำนวนมากซึ่งไม่สามารถขอบ้านเลขที่ได้ รัฐก็รู้ว่าเขาน่าจะไม่อยู่ในบ้านนั้นจริง แต่ไม่เป็นไร เพราะรัฐรู้ความสัมพันธ์ของเขากับคนที่เป็นเจ้าของทะเบียนบ้านแล้ว

เช่น ผู้ตั้งบ้านเรือนในพื้นที่สาธารณะ ไม่ว่าในเมืองหรือในป่า ในสมัยก่อน คนเหล่านี้ไม่ปรากฏชื่อในทะเบียนราษฎร์เลย ซึ่งเท่ากับว่าเขาเป็นคนที่รัฐ “อ่าน” ไม่ออก คือไม่ใช่พลเมืองของรัฐ ในปัจจุบันรัฐใช้วิธีโอนอ่อนให้เขาสามารถทำบัตรประชาชนได้ ก็เท่ากับทำให้เขาเข้ามาอยู่ในทะเบียนราษฎร์และกลายเป็นคนที่รัฐ “อ่าน” ออกและควบคุมได้นั่นเอง

ความสัมพันธ์ของบุคคลก็เป็นส่วนสำคัญในทะเบียนราษฎร์อีกอย่างหนึ่ง ดังที่กล่าวแล้วในเรื่องที่อยู่ซึ่งบอกความสัมพันธ์ได้มากและชัด ในสมัยเมื่อผมเป็นเด็ก นอกจากต้องบอกแก่รัฐว่าพ่อแม่ชื่ออะไรแล้ว ยังต้องบอกเรื่องอื่นๆ อีกหลายอย่าง เช่น การศึกษา, ศาสนา, “เชื้อชาติ” (ตามสัญชาติของบิดา), คู่สมรส ฯลฯ เพื่อระบุถึงความสัมพันธ์ของบุคคล

แต่ก็นั่นอีกแหละครับ ความสัมพันธ์ในชีวิตจริงหลากหลายและซับซ้อนกว่านั้นมาก รัฐจึงต้องย่นย่อความสัมพันธ์ให้เหลือแคบๆ เพื่อจะได้สามารถ “อ่าน” ออก

 

ปัญหาในปัจจุบันคือ เทคโนโลยีดิจิตอลเปิดโอกาสให้รัฐสามารถเก็บข้อมูลพลเมืองของตนได้ละเอียดกว่าเดิมอย่างมาก ทั้งเทคโนโลยีดิจิตอลยังช่วยให้สามารถ “อ่าน” ได้ง่ายขึ้น แม้ข้อมูลจะหลากหลายและสลับซับซ้อนขึ้นกว่าเดิมก็ตาม แม้กระนั้นก็ยังจำเป็นต้องทำให้ข้อมูลที่จะเก็บมีความ “ง่าย” กว่าความเป็นจริงอยู่นั่นเอง เพราะรัฐมีงานอื่นต้องทำมากกว่ามานั่งเก็บข้อมูลพลเรือนอย่างละเอียดเพียงอย่างเดียวเหมือนนักวิจัย

เพราะฉะนั้น รัฐจึงเลือกเก็บข้อมูลละเอียดเฉพาะบางคนที่รัฐเห็นว่ามีภัยต่อรัฐ ในปัจจุบันหรืออนาคต และเจาะจงไปยังบางประเด็นเท่านั้น เช่น มีความโน้มเอียงทางการเมืองไปทางใด, มีพฤติกรรมที่ผิดแปลกน่าสงสัยหรือไม่, ฐานะทางเศรษฐกิจเป็นอย่างไร, สัมพันธ์เชื่อมโยงในแวดวงอะไร ฯลฯ

ทั้งหมดเหล่านี้ไม่ปรากฏในทะเบียนราษฎร์ซึ่งในแง่หนึ่งก็เป็นเอกสารสาธารณะ แต่เก็บในเอกสารลับของหน่วยงานบางหน่วยงานที่มีหน้าที่นี้โดยเฉพาะ

 โดยสรุปก็คือ เทคโนโลยีดิจิตอลทำให้รัฐมีสมรรถนะในการขึ้นบัญชีดำพลเมือง (บางคน) ได้ดี ผมอยากเตือนด้วยว่าเทคโนโลยีนี้อาจถูกใช้ไปในทางเพิ่มสมรรถภาพในการให้บริการประชาชนก็ได้ เช่น มีข้อมูลแหล่งที่อาจเกิดเพลิงไหม้ได้ง่าย หรือแหล่งที่เป็นอันตรายในวงกว้างเมื่อเกิดไฟไหม้ หรือครอบครัวที่อาจมีปัญหาสุขภาพฉุกเฉิน หรือครอบครัวเลี้ยงเดี่ยวที่เด็กอาจถูกทอดทิ้งบางเวลา ฯลฯ รัฐที่เอาเทคโนโลยีไปใช้อย่างนี้ก็มีบ้าง แต่ส่วนใหญ่แล้วรัฐเอาไปใช้ในทางสร้างบัญชีดำพลเมืองมากกว่า โดยเฉพาะรัฐเผด็จการ และโดยเฉพาะเผด็จการโง่ๆ

ขอย้ำอีกครั้งนะครับว่า บัญชีดำที่รัฐมีอยู่ ก็ยัง “ง่าย” กว่าความหลากหลายซับซ้อนของความเป็นจริงอยู่นั่นเอง แค่มนุษย์ย่อมเปลี่ยนความคิดและการกระทำไปได้แทบจะทุกวัน แต่บัญชีดำของรัฐก็จำเป็นต้องแช่แข็งมนุษย์ไว้อย่างนั้นเสมอ ไม่อย่างนั้นก็ทำบัญชีไม่ได้

เมื่อเปรียบเทียบกับวงการธุรกิจ เทคโนโลยีดิจิตอลกลับช่วยเพิ่มสมรรถภาพของเขาในการเดาใจลูกค้าได้แม่นยำขึ้นอย่างมาก นอกจากรู้ฐานะทางเศรษฐกิจของลูกค้าแล้ว เขาแทบจะรู้ว่าลูกค้าแต่ละคนกำลังมองหาสินค้าอะไร ในราคาประมาณเท่าไร เพื่อเอาไปใช้ทำอะไร ข้อมูลเหล่านี้ได้จากการประมวลพฤติกรรมการจับจ่ายใช้สอยของลูกค้าแต่ละคน ซึ่งสะท้อนให้เห็นทั้งความต้องการโดยรวม และความต้องการในบางวาระโอกาสของเขา ทำให้ธุรกิจสามารถจัดร้าน, สื่อสาร, ยั่วยุ ฯลฯ ให้ลูกค้าบริโภคตามประสงค์ของฝ่ายธุรกิจได้ ทั้งลูกค้าโดยรวมหรือลูกค้าเฉพาะราย

ในทุกวันนี้ ธุรกิจอาจรู้ความคิดอ่านในใจของเรามากกว่าคู่สมรสของเราเสียแล้ว

จริงอย่างที่เขาพูดครับว่า ความรู้คืออำนาจ แต่เป็นอำนาจในสองทาง คือความรู้ทำให้รัฐนิยามคุณให้เป็นอะไรก็ได้ตามใจรัฐ (เช่น เป็นได้แต่ผู้หญิงหรือผู้ชายเท่านั้น) แล้วรัฐก็มอบบทบาทให้คุณตามนิยามของรัฐเอง

ในทางที่สอง ความรู้เกี่ยวกับตัวคุณเองในหลายซอกมุม ทำให้คุณต้องควักกระเป๋าจ่ายเงินให้แก่ผู้มีความรู้นั้น


(ผมคงเขียนทั้งหมดนี้ไม่ได้ ถ้าไม่ได้ความรู้และความคิดจาก Seeing Like a State ของ James C. Scott)

 

ที่มา: มติชนสุดสัปดาห์ www.matichonweekly.com/column/article_501217

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net