Skip to main content
sharethis

นับตั้งแต่มีคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 72/2559 เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2559 โดยให้ระงับการทำเหมืองทองและประกอบโลหกรรม และฟื้นฟูเหมืองตามรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ตั้งแต่ 1 มกราคม 2560 เป็นต้นไป บริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดเต็ด ลิมิเต็ด (คิงส์เกต) ได้พยายามเจรจากับรัฐบาลไทยเรื่อยมา โดยยื่นข้อเสนอให้รัฐบาลไทยชดใช้เป็นจำนวนเงินประมาณ 750 ล้านเหรียญสหรัฐฯ แต่ก็ไม่เป็นผล จึงทำให้คิงส์เกตตัดสินใจยื่นฟ้องร้องต่ออนุญาโตตุลาการเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2560 เพื่อเข้าสู่กระบวนการแก้ปัญหาข้อพิพาทกับรัฐบาลไทยภายใต้ข้อตกลงเขตการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย หรือ TAFTA ที่ไทยและออสเตรเลียลงนามกันตั้งแต่ปี 2548 ซึ่งเป็นข้อตกลงให้ความคุ้มครองนักลงทุนในรัฐภาคี เพื่อฟ้องเรียกร้องค่าเสียหายจากรัฐบาลไทย

ซึ่งคิงส์เกตมีความมั่นใจมาตลอดมาว่าจะชนะคดี จะเห็นได้จากหลังจากที่คิงส์เกตออกข่าวเผยแพร่สู่สาธารณะฉบับวันที่ 18 มีนาคม 2562 และฉบับวันที่ 11 เมษายน 2562 (ข่าวก่อนการนัดไต่สวนข้อพิพาทครั้งแรกตามกระบวนการอนุญาโตตุลาการเมื่อ 19 พฤศจิกายน 2562 ที่ฮ่องกง) ว่า บริษัท ซูริก อินชัวรันซ์ ออสเตรเลีย ลิมิเต็ด (Zurich Insurance Australia Limited) ที่รับประกันภัยเตรียมจ่ายเงินชดเชยจากกรมธรรม์ประกันภัยคุ้มครองความเสี่ยงทางการเมืองประมาณ 82 ล้านเหรียญออสฯ (ประมาณ 1,843 ล้านบาท) ให้คิงสเกต และทางบริษัทซูริกฯก็ได้ตกลงทำงานร่วมกันกับคิงส์เกตเพื่อดำเนินคดีกับรัฐบาลไทยภายใต้คำร้อง TAFTA จนกว่าจะถึงที่สุด ยิ่งทำให้ KG มั่นใจมาก

ตรงนี้หมายเหตุเอาไว้ด้วยว่า คิงส์เกตเก่งมากในการทำสงครามจิตวิทยาข่าวสาร คือเอาการจ่ายเงินประกันภัยคุ้มครองความเสี่ยงทางการเมืองมาลดทอน/หักล้างความเสี่ยงด้านผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนไทย เป็นการโน้มน้าว/สร้างสถานการณ์/สร้างน้ำหนักให้อนุญาโตตุลาการได้เชื่อว่าเกิดความเสี่ยงทางการเมืองขึ้นมากกว่าความเสี่ยงด้านผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนไทยอย่างได้ผลดีทีเดียว ซึ่งก็ต้องโทษกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) บริษัทกฎหมายระหว่างประเทศที่รัฐบาลไทยจ้าง และอนุญาโตตุลาการที่รัฐบาลไทยเลือก ที่ดูอ่อนหัด หรืออาจจะไม่อ่อนหัด แต่สู้คดีอย่างไม่สมค่าจ้าง เพราะแทบไม่เอาเรื่องงานศึกษาวิจัยของคณะกรรมการ 5 ฝ่าย ไปใช้ต่อสู้คดีในชั้นอนุญาโตตุลาการเลย

ยิ่งหลังไต่สวนข้อพิพาทครั้งแรกที่สิงคโปร์ในช่วงวันที่ 3 – 12 กุมภาพันธ์ 2563 (เลื่อนมาจากฮ่องกงเมื่อ 19 พฤศจิกายน 2562) ยิ่งมั่นใจมากขึ้นไปอีก เพราะอนุญาโตตุลาการสั่งให้คู่พิพาทไปเจรจาเพื่อไกล่เกลี่ยข้อพิพาทกันว่าจะมีข้อยุติหรือไม่ อย่างไร โดยมีกำหนดออกคำตัดสินชี้ขาดในเดือนเมษายน 2564 แต่ก็ถูกขอให้เลื่อนออกไปด้วยข้ออ้างว่าการเจรจาเพื่อหาข้อยุติระหว่างคู่พิพาทยังไม่เสร็จสิ้น

ต่อมาคิงส์เกตก็ได้ออกข่าวเผยแพร่สู่สาธารณะฉบับวันที่ 23 กันยายน 2564 ว่าคู่พิพาทได้เจรจาตกลงกันว่าจะขอยืดระยะเวลาให้อนุญาโตตุลาการออกคำตัดสินชี้ขาดในวันที่ 31 ตุลาคม 2564 เพื่อที่คู่พิพาทจะได้เจรจาหาข้อยุติหรือประนีประนอมข้อพิพาทที่สองฝ่ายพึงพอใจร่วมกันเสียก่อน แล้วนำข้อยุตินั้นไปแจ้งต่ออนุญาโตตุลาการเพื่อเขียนลงไปในคำตัดสินชี้ขาด

ซึ่งข้อยุติที่แถลงไว้ในข่าวเผยแพร่สู่สาธารณะฉบับวันที่ 23 กันยายน 2564 ระบุว่าข้อเสนอของคิงส์เกตจะได้รับการตอบสนองจากรัฐบาลไทยทุกข้อโดยไม่มีข้อจำกัด หรือทำให้กระบวนการอนุมัติ/อนุญาตเป็นไปโดยรวดเร็ว ลัดขั้นตอนของกฎหมายแร่และกฎหมายที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ โดยมีประเด็นสำคัญทั้งที่อยู่ในและนอกข่าวเผยแพร่สู่สาธารณะฉบับวันที่ 23 กันยายน 2564 ดังนี้

(1) จะได้รับอนุญาตให้กลับมาทำเหมืองใหม่ในพื้นที่เดิม คือ ‘แหล่งชาตรี’ ที่ยังเหลืออีก 1 แปลง (จาก 5 แปลง 1,259 ไร่) และในพื้นที่ ‘แหล่งชาตรีเหนือ’ ที่ยังเหลืออีก 8 แปลง (จาก 9 แปลง 2,466 ไร่)

และอาจจะขยายเวลาอายุประทานบัตรแหล่งชาตรีที่หมดอายุประทานบัตรไปเมื่อปี 2563 หรือต่ออายุประทานบัตรให้กับแหล่งชาตรีไปอีก 20 – 30 ปี และขยายเวลาอายุประทานบัตรแหล่งชาตรีเหนือที่หมดอายุประทานบัตรปี 2571 ให้ด้วย เนื่องจากเสียโอกาสไม่ได้ทำเหมืองมาหลายปีจากคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 72/2559 ที่สั่งปิดการทำเหมืองทองคำทั้งหมด

(2) จะได้รับอนุญาตให้ทำเหมืองในพื้นที่ใหม่นอกเหนือจากข้อ (1) ซึ่งเป็นคำขอประทานบัตรค้างคามาเนิ่นนานหลายปีแล้ว

ซึ่งจากข้อมูลที่ได้ติดตามเหมืองทองแห่งนี้มาหลายปี คาดเดาว่าน่าจะเป็น ‘แหล่งสุวรรณ’ อยู่ห่างจากแหล่งชาตรีขึ้นไปทางเหนือ 6-10 กิโลเมตร อยู่บนพื้นที่ประมาณ 20 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 12,500 ไร่ คาดว่าน่าจะอยู่ในเขตตำบลวังโพรง อ.เนินมะปราง จ.พิษณุโลก และ ‘แหล่งโชคดี’ อยู่ห่างจากแหล่งชาตรีขึ้นไปทางเหนือ 20 กิโลเมตร บนพื้นที่ประมาณ 30 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 18,750 ไร่ คาดว่าน่าจะอยู่ในเขตตำบลบ้านมุงและวังยาง อ.เนินมะปราง จ.พิษณุโลก ซึ่งเป็นแหล่งทองคำที่ทับลงบนพื้นที่ทั้งในและนอกเขตอุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวงและป่าสงวนแห่งชาติป่าลุ่มน้ำวังทองฝั่งซ้าย

(3) จะได้รับการขยายเวลาหรือต่ออายุอนุญาตใบอนุญาตต่าง ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับการทำเหมืองทองตามประทานบัตรแหล่งชาตรีและแหล่งชาตรีเหนือ อาทิเช่น ใบอนุญาตประกอบโลหกรรม ใบอนุญาตจัดตั้งสถานที่เพื่อการเก็บขังน้ำขุ่นข้นหรือมูลดินทรายนอกเขตเหมืองแร่ เป็นต้น

ซึ่งข้อนี้เกี่ยวข้องกับการทำผิดให้เป็นถูกด้วย กล่าวคือ โรงประกอบโลหกรรมส่วนขยายที่ขยายการถลุงแร่ทองคำเพิ่มไปอีกสามเท่า จาก 8,000 ตัน/วัน เป็น 24,000 ตัน/วัน ที่สร้างก่อนได้รับใบอนุญาตโรงงานและก่อนที่ EHIA จะผ่านความเห็นชอบ ที่คดียังอยู่ในชั้นศาลปกครองสูงสุด ซึ่งศาลปกครองชั้นต้นมีคำพิพากษาให้คล้องโซ่ปิดโรงประกอบโลหกรรมส่วนขยายเอาไว้ไม่ให้ใช้งาน จึงมีนัยยะว่ารัฐบาลไทยจะให้ความช่วยเหลือคิงส์เกตอย่างเต็มที่ในการสู้คดีนี้

(4) จะได้รับการลดหย่อนค่าภาคหลวงแร่ และผลประโยชน์พิเศษที่ต้องมอบให้แก่ กพร. เมื่อได้ประทานบัตร และภาษีรายการต่าง ๆ จากการประกอบกิจการเหมืองทองและโลหกรรม

(5) นำบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทลูกสัญชาติไทยที่รับผิดชอบดำเนินการเหมืองทองดังกล่าว เข้าตลาดหลักทรัพย์ไทยโดยไม่ต้องทำตามขั้นตอนของกฎหมายเพิ่มเติม

(6) จะได้รับอนุญาตอาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่ทองคำไม่ต่ำกว่า 1 ล้านไร่

ซึ่งพบข้อเท็จจริงว่า (6.1) คิงส์เกตน่าจะได้รับอาชญาบัตรพิเศษไปแล้วก่อนคำตัดสินชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการจำนวน 44 แปลง พื้นที่ประมาณ 4 แสนไร่ ในเขตจังหวัดเพชรบูรณ์ ทั้งที่อยู่รอบเหมืองทองชาตรีและชาตรีเหนือและไกลออกไป ซึ่งเป็นผลจากการประชุมของคณะกรรมการแร่เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2563

และ (6.2) รัฐบาลไทยโดย กพร. รออนุญาตอาชญาบัตรพิเศษหลังคำตัดสินชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการอีกประมาณ 60 แปลง พื้นที่ประมาณ 6 แสนไร่ ทั้งที่อยู่ในเขตรอยต่อสามจังหวัดพิจิตร เพชรบูรณ์และพิษณุโลก ที่อยู่รอบเหมืองทองชาตรีและชาตรีเหนือและไกลออกไป และในพื้นที่จังหวัดชลบุรี ลพบุรี สระบุรี จันทบุรี

(7) ได้รับอนุญาตให้บริษัทฯขนสินแร่ทองคำและเงินคงค้างในระบบผลิตเดิมก่อนถูกคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 72/2559 ระงับยับยั้งไว้ เข้าสู่กระบวนการถลุงโลหะทองคำและเงินในโรงถลุงภายในประเทศได้ตั้งแต่เดือนกันยายน 2563 แล้ว

จึงเห็นได้ว่าที่คิงส์เกตมั่นใจมากว่าจะชนะคดี ไม่ว่าจะอ่านคำตัดสินชี้ขาดให้รัฐบาลไทยแพ้ หรืออ่านคำตัดสินชี้ขาดให้รัฐบาลไทยดำเนินการโดยเคร่งครัดตามที่ได้ไปเจรจาไก่เกลี่ยข้อพิพาทเพื่อให้ได้ข้อยุติมาก็ตาม มั่นใจถึงขั้นร้องขอให้อนุญาโตตุลาการชะลอคำตัดสินชี้ขาดต่อไปอีกรอบหนึ่งเป็นวันที่ 31 มกราคม 2565 จากที่จะต้องอ่านคำตัดสินชี้ขาดในวันที่ 31 ตุลาคม 2564 ซึ่งก็เลื่อนมาจากเดือนเมษายน 2564 รอบหนึ่งแล้ว เพื่อที่จะให้ทั้งสองฝ่ายได้มีเวลาเพียงพอในการร่างรายการเหล่านี้อย่างรอบคอบ และต้องให้สัตยาบันเอกสารข้อตกลงอย่างเป็นทางการด้วย ก็เพราะคิงส์เกตได้ยกประเด็นสู้ในชั้นอนุญาโตตุลาการ ดังนี้

(1) การใช้มาตรา 44 ของรัฐบาลไทยเป็นกฎเกณฑ์ที่เหนือกฎหมายสากลทั่วไปที่ไม่ยอมรับการใช้อำนาจแบบนี้ ถือเป็นกฎหมายพิเศษที่ใช้เฉพาะกับเมืองไทย และเป็นกฎหมายที่เกิดขึ้นในเวลาที่ไม่ปกติ

(2) คิงส์เกตทวงบุญคุณว่าได้ตัดสินใจเข้ามาลงทุนตามคำเชิญชวนของรัฐบาลไทยโดยคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ตั้งแต่ก่อนปี 2540 ที่เริ่มเข้ามาสำรวจแร่ พอปี 2540 ประเทศไทยเกิดวิกฤติต้มยำกุ้ง คิงส์เกตก็ไม่ทอดทิ้งประเทศไทยโดยตัดสินใจตั้งโรงงานถลุงแร่ทองคำและเงินถึงแม้จะเกิดความเสี่ยงก็ตาม ซึ่งเป็นไปตามการร้องขอของรัฐบาลไทยที่อยากให้ภาคเอกชนลงทุนและเร่งส่งออกเพื่อปลุกเศรษฐกิจที่กำลังวิกฤติในช่วงดังกล่าว

(3) คิงส์เกตไม่ได้เป็นต้นเหตุของปัญหากรณีที่ถูกอ้างว่าเหมืองเป็นต้นเหตุในการสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพต่อชาวบ้านรอบเหมือง เนื่องจากผลการตรวจสอบพบว่าไม่มีคนป่วยที่เกิดจากโลหะหนัก โดยคิงส์เกตได้นำผลการรายงานของบริษัท แบร์ โดแบร์ อินเตอร์เนชั่นแนล ลิมิเต็ด (Bhere Dolbear International Limited) มายืนยัน ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการตรวจสอบและประเมินมาตรฐานการปฏิบัติงานของเหมืองแร่ทองคำทั่วโลกที่ กพร. เลือกมาทำการศึกษาเอง โดยมีผลบ่งชี้ว่าบริษัทอัคราฯได้ดำเนินการได้ตามมาตรฐานของการทำเหมืองแร่ทองคำ และก็อ้างอะไรที่ง่ายมาก ๆ ในชั้นอนุญาโตตุลาการ เช่น ในช่วงที่ผ่านมาระหว่างที่บริษัทอัคราฯดำเนินธุรกิจอยู่ กระทรวงต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงสาธารณสุข กรมควบคุมมลพิษ รวมถึงตัวบริษัทอัคราฯเอง ได้ร่วมมือกันมีจุดมอนิเตอร์ตรวจสอบมลพิษจากเสียง ฝุ่น แรงสั่นสะเทือนและน้ำในแหล่งใกล้รัศมีโรงงาน เพื่อดำเนินการเก็บข้อมูลทุกวัน และยังมีการเข้ามาตรวจสอบจากภาครัฐอย่างสม่ำเสมอ โดยไม่พบความผิดปกติใด ๆ หรือมีความผิดปกติก็อยู่ในระดับที่แก้ไขร่วมกันได้ตลอดมา, บริษัทอัคราฯมีโครงการตรวจสุขภาพประจำปีของพนักงาน เนื่องจากมองว่าถ้าจะมีความเสี่ยงเกิดขึ้น คนที่อยู่ในโรงงานจะได้รับความเสี่ยงก่อนเป็นลำดับแรก และต่อมาก็ได้มีการขยายการดูแลสุขภาพให้กับชุมชนรอบเหมือง โดยในระยะแรกที่ได้ตรวจให้กับ 27 หมู่บ้านรอบเหมือง ก็พบว่าไม่เจอสิ่งที่บ่งบอกว่าโรงงานเป็นสาเหตุ เป็นต้น

ซึ่งอีกด้านหนึ่ง รัฐบาลไทยโดย กพร. ก็ได้ตั้งคณะกรรมการ 5 ฝ่าย ขึ้นมาศึกษาวิจัยเรื่องนี้ และก็มีผลออกมาหลายประการว่าเหมืองเป็นต้นเหตุก่อให้เกิดผลกระทบ แต่ก็มีความพยายามไม่มากพอจาก กพร. บริษัทกฎหมายระหว่างประเทศ และอนุญาโตตุลาการฝ่ายไทยที่ไม่ได้นำข้อเท็จจริงเหล่านั้นไปสู้ในชั้นอนุญาโตตุลาการเท่าที่ควร

คำถามคือทำไม กพร. ถึงเล่นเกมสองหน้า และทำไมบริษัทกฎหมายระหว่างประเทศและอนุญาโตตุลาการฝ่ายไทยถึงดูอ่อนหัด หรือแสร้งอ่อนหัด ?

ทั้งหมดนี้นำมาถึงจุดสุ่มเสี่ยงที่สุด ก็คือ ผลประโยชน์ที่คิงส์เกตได้ หรือข้อยุติที่ทำให้คิงส์เกตได้ประโยชน์อย่างมหาศาลนั้นเป็นสิ่งที่อยู่นอกเหนือข้อพิพาท

ซึ่งเป็นไปไม่ได้เลยที่คิงส์เกตจะได้ผลประโยชน์ตอบแทนแลกกับการให้อนุญาโตตุลาการไม่อ่านคำตัดสินชี้ขาดให้รัฐบาลไทยแพ้คดีด้วยการดำเนินการตามกฎหมายปรกติ

สิ่งที่เกิดขึ้นจากกระบวนการอนุญาโตตุลาการ ก็คือคิงส์เกตฟ้องไทยว่าใช้ ม.44 ปิดเหมืองทอง ซึ่งไม่ใช่กฎหมายปรกติที่สากลจะยอมรับได้ และได้ทำลายข้อตกลง TAFTA โดยกลั่นแกล้งนักลงทุนในประเทศภาคีให้ได้รับความเสียหาย แต่คิงส์เกตกลับกำลังบังคับให้รัฐบาลไทยใช้อำนาจพิเศษเปิดเหมืองทอง บวกกับผลประโยชน์ตอบแทนพิเศษที่เกินไปกว่าข้อพิพาทอีกด้วย

แน่นอนว่ารัฐบาลประยุทธ์เองมีสภาวะ ‘โรคใช้อำนาจเหนือกฎหมาย’ อย่างเป็นปรกติวิสัย ใช้กฎหมายปรกติเพื่อบริหารบ้านเมืองไม่เป็น หรือไม่ได้ใช้อำนาจเหนือกฎหมายภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉินอย่างแท้จริงใด ๆ แต่ใช้โดยปรกติวิสัย มีลักษณะเป็นเผด็จการ การเจรจาเพื่อไกล่เกลี่ยข้อพิพาทระหว่างรัฐบาลไทยกับคิงส์เกตเพื่อจะให้คิงส์เกตได้กลับมาทำเหมืองทองใหม่ บวกกับผลประโยชน์ตอบแทนพิเศษอื่น ๆ อีกมหาศาลที่จะส่งผลต่อความไม่ปลอดภัยและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สังคมและสุขภาพของชีวิตประชาชนไทยจำนวนมาก จึงมีลักษณะเสมือนการใช้ ม.44 รอบสอง

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net