สุรพศ ทวีศักดิ์: ปรัชญากับสามัญสำนึก

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ที่มาภาพ: https://twitter.com/hippoyayee/status/1416726736826372099/photo/1

 

 

“ ทว่ามีการแบ่งแยกสำคัญกว่าอีกประการหนึ่ง

ซึ่งไม่มีเหตุผลทางศาสนาหรือเหตุผลตามธรรมชาติที่แท้จริงอธิบายได้เลย

นั่นคือ การแบ่งแยกมนุษย์ออกเป็น กษัตริย์ กับ ราษฎร ...

เป็นไปได้อย่างไรที่มนุษย์เผ่าพันธุ์หนึ่งอุบัติมาบนโลก

พร้อมกับความสูงส่งเหนือมนุษย์คนอื่น

และแตกต่างออกไปราวกับเป็นสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์ใหม่ ”

 

- โธมัส เพน –

ข้อความข้างบนคัดมาจากหน้า 57 ในหนังสือ “สามัญสำนึก” (Common Sense) ของโธมัส เพน (แปลโดยภัควดี วีระภาสพงษ์) คาร์ล มาร์กซ์มองว่างานวิชาการของเขา ก็คือ “งานทางการเมือง” แบบหนึ่ง ซึ่งเราย่อมจะเห็นด้วยว่างานของมาร์กซ์คืองานวิเคราะห์ประวัติศาสตร์ชนชั้น และเสนอทางเลือกเพื่อสลายระบบชนชั้น ขณะที่งานปรัชญาการเมืองเสรีนิยมยุคเรืองปัญญาเป็นต้นมา ก็คืองานที่วิพากษ์แกนกลางปัญหาเผด็จการของระบบกษัตริย์และศาสนจักร เพื่อแสวงหารูปแบบของรัฐที่สามารถให้หลักประกันสิทธิและเสรีภาพของเราได้ดีขึ้น งานของโธมัส เพนก็เช่นกัน

อันที่จริง แม้แต่หนังสือเรื่องทองแดง, พระมหาชนก (เป็นต้น) ของกษัตริย์ภูมิพล ก็เป็น “งานทางการเมือง” แบบหนึ่ง นั่นคือ “งานทางการเมืองวัฒนธรรม” ที่สอดคล้องกับปรัชญาการเมือง “ระบบพ่อปกครองลูกแบบพุทธ” ที่ถือว่าธรรมราชานอกจากจะปกครองโดยธรรมแล้ว ยังเป็นแบบอย่างทางศีลธรรม และสอนศีลธรรมแก่ราษฎรด้วย (แนวคิดนี้มีใน “จักกวัตติสูตร” เป็นต้น)

ในยุค ร. 9 “คำสอนของพ่อ” ในเวอร์ชั่นต่างๆ ที่มาพร้อมกับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง, โครงการพระราชดำริหลายพันโครงการ และพระราชกรณียกิจที่สะท้อน “การทรงงานหนัก” เพื่อราษฎร จึงมีความเป็นการเมืองวัฒนธรรมที่ทรงอิทธิพลสูงมาก โดยเฉพาะคำสอนที่เราทราบกันทั่วไปว่า

“ในบ้านเมืองนั้นมีทั้งคนดีและคนไม่ดี ไม่มีใครจะทำให้คนทุกคนเป็นคนดีได้ทั้งหมด การทำให้บ้านเมืองมีความปกติสุขเรียบร้อย จึงมิใช่การทำให้ทุกคนเป็นคนดี หากแต่อยู่ที่การส่งเสริมคนดี ให้คนดีได้ปกครองบ้านเมือง และควบคุมคนไม่ดีไม่ให้มีอำนาจ ไม่ให้ก่อความเดือดร้อนวุ่นวายได้”

ความเป็นการเมือง (the political) ของคำสอนของพ่อ ไม่ใช่เพียงเพราะสอดคล้องกับปรัชญาการปกครองโดยธรรมแบบพุทธเท่านั้น หากแต่ยังเป็นคำสอนที่ถูกทำให้แพร่หลาย และทรงอิทธิพลเหนือความรู้สึกนึกคิดของประชาชน ผ่านเครือข่ายอำนาจตามอุดมการณ์ราชาชาตินิยม เช่น นักบวชในระบบศาสนจักรพุทธราชาชาตินิยมนำคำสอนของพ่อไปเทศนาสอนประชาชน กองทัพ สถาบันการศึกษา หน่วยงานราชการทั่วไป รวมทั้งหน่วยงานเอกชน ศิลปินแห่งชาติ การแสดงกิจกรรมด้านศิลปวัฒนธรรม วงการบันเทิง ดารา นักร้อง สื่อมวลชน ฯลฯ ล้วนแต่ร่วมแรงแข็งขันเผยแพร่และผลิตซ้ำคำสอนของพ่อให้แพร่หลายไปทั่วทุกอณูของแผ่นดิน

เราจึงปฏิเสธไม่ได้ว่า อิทธิพลการเมืองวัฒนธรรมใน “แพ็คเก็จคำสอนของพ่อ” คือพลังทางความคิด และอุดมการณ์ในการต่อสู้ทางการเมืองของฝ่ายขวา ผ่านกระบวนการ พธม., กปปส. ที่ผลักดันให้เกิดรัฐบาล คสช. ที่สร้างรัฐธรรมนูญไม่เป็นประชาธิปไตย, วางยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เพื่อรองรับรัฐบาลประยุทธ์สืบทอดอำนาจต่อจาก คสช. และการบัญญัติกฎหมายอื่นๆ ที่กำหนดทิศทางให้ระบบอำนาจนำทางการเมืองย้อนยุคสู่ความเป็นสมบูรณาญาสิทธิราชย์มากขึ้น ดังที่เห็นชัดเจนในปัจจุบัน

ทุกวันนี้อิทธิพลการเมืองวัฒนธรรมตามแพ็คเก็จคำสอนของพ่อ ยังคงทำงานอย่างเข้มข้นผ่านกลไกอำนาจรัฐ เช่น “เหตุผล” ในการปลดสุชาติ สวัสดิ์ศรีจากตำแหน่งศิลปินแห่งชาติ ช่วงก่อนสิ้นปี 2564 ที่ว่า

 

“ตามบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ได้บัญญัติไว้ในมาตรา 6 องค์พระมหากษัตริย์เป็นที่เคารพ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ เรื่องนี้ถือเป็นวัฒนธรรมในสังคมไทยที่สำคัญ ซึ่งศิลปินแห่งชาติจะต้องเคารพในหลักวัฒนธรรมไทย และศิลปินแห่งชาติจะต้องมีคุณสมบัติที่เหมาะสม ประพฤติปฏิบัติโดยแสดงออกทางกาย วาจา และจิตใจที่ไม่ส่งผลให้ผู้อื่นได้รับความเสียหาย และมีความประพฤติที่เป็นแบบอย่างที่ดีของสังคม...”

(ที่มา: https://www.facebook.com/VoiceOnlineTH/photos/a.131804224847/10162490781884848/)

จะเห็นว่า หลักการที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญว่า “พระมหากษัตริย์ทรงเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะล่วงละเมิดมิได้” ถูกอ้างเป็น “หลักวัฒนธรรมไทย” ที่ต้องเคารพ โดยพระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นที่เคารพสักการะนั้น ก็คือพระมหากษัตริย์ที่ทรงปกครองโดยธรรมตามความเชื่อแบบพุทธศาสนาไทย และความประพฤติที่ดีทาง “กาย วาจา และจิตใจ” ก็คือกรอบคิดความดีตามคำสอนแบบพุทธศาสนาไทย ซึ่งเป็น “พุทธราชาชาตินิยม” ที่อยู่ในแพ็คเก็จเดียวกับคำสอนของพ่อ

ปัญหาก็คือ ภายใต้กรอบคิดการเมืองวัฒนธรรมเช่นนี้ สุชาติ (หรือใครก็ตาม) ก็อาจ “ถูกลงโทษ” ในข้อกล่าวหาว่ามีการกระทำใดๆ อันหมิ่นเหม่ต่อการไม่เคารพหลักวัฒนธรรมไทย หรือ “หมิ่นเบื้องสูง” ได้ โดยปราศจากการไต่สวนตามกระบวนการยุติธรรมที่ชอบธรรมตาม “หลักนิติรัฐ” (ซึ่งเป็นหลักการพื้นฐานที่ขาดไม่ได้ของประชาธิปไตยสมัยใหม่)

การอ้างเหตุผลประกอบข้อกล่าวหาในกระบวนการลงโทษดังกล่าว ยังเห็นได้ในคำตัดสินของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่ว่าการปราศรัยสาธารณะเสนอปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ คือการใช้สิทธิและเสรีภาพเพื่อล้มลางการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และการสมรสเท่าเทียมตามข้อเรียกร้องของคนหลากหลายทางเพศย่อมขัดกับวัฒนธรรมประเพณีของสังคมไทยและศีลธรรมอันดีของประชาชน รวมทั้งกระบวนการขังลืม “นักโทษทางความคิด” ด้วยมาตรา 112 เป็นต้น

ทว่าข้อเขียน “สามัญสำนึก” ของโธมัส เพน ไม่ใช่คำเทศนาทางศีลธรรมที่ชี้ชวนให้เราเป็นคนประพฤติดีทางกาย วาจา ใจตามหลักศาสนาใดๆ และไม่ใช่การชี้นำให้เรามองหา “คนดี” มาเป็นผู้ปกครอง แต่ชวนให้เรามองเห็น “ความเป็นคนเท่ากัน” ของทุกคน และชี้ให้เห็นว่าเป็นความผิดพลาดทางประวัติศาสตร์ที่ศาสนายิวสถาปนากษัตริย์ขึ้นมา และเป็นความผิดพลาดของคริสต์ศาสนจักรยุคกลางที่สถาปนา “อำนาจเทวสิทธิ์” ของโป๊ปและกษัตริย์ขึ้นมา

ที่ว่าเป็นความผิดพลาด ก็เพราะไม่มีหลักการทางศาสนารองรับการแบ่งแยก “กษัตริย์” กับ “ราษฎร” ว่ากษัตริย์คือเผ่าพันธุ์มนุษย์ผู้สูงส่งเหนือมนุษย์เผ่าพันธุ์อื่นที่เหลือ กฎธรรมชาติก็ไม่ได้แบ่งแยกเช่นนั้น และความจริงคือสภาวะการเป็นกษัตริย์นั้นมี “ความขัดแย้งในตัวเอง” เพราะสถานะของกษัตริย์กีดกันตัวเขาจากโลกภายนอก แต่ภาระหน้าที่ในการปกครองที่รวบอำนาจเบ็ดเสร็จไว้ที่คนคนเดียวกลับเรียกร้องให้เขารอบรู้ความจริงของปัญหาทุกอย่าง ขณะที่กษัตริย์ต้องมาจากการสืบสายเลือด แต่กลับไม่มีหลักประกันใดๆ ว่าความเป็นกษัตริย์ที่ดีสามารถส่งผ่านทางสายเลือดได้ และขณะที่ราษฎรถูกปลูกฝังให้จงรักภักดีและเสียสละชีวิตเพื่อกษัตริย์ของพวกเขา แต่พวกเขากลับไม่มีสิทธิใดๆ ในการเลือกกษัตริย์ที่ตนเองควรเต็มใจจงรักภักดี

ถึงที่สุดแล้ว สภาวะความเป็น “ราษฎร” ภายใต้ระบบกษัตริย์สมบูรณาญาสิทธิราชย์ ก็ย่อมเป็นราษฎรที่มีสภาวะ “ขัดแย้งในตัวเอง” เช่นกัน เพราะขณะที่พวกเขาไม่มีสิทธิเลือกกษัตริย์ที่ดีและควรค่าแก่การจงรักภักดีได้ พวกเขากลับถูกเรียกร้องให้จงรักภักดีต่อกษัตริย์โดยปราศจากการตั้งคำถาม และการตรวจสอบใดๆ

ดังนั้น ทั้งสภาวะของกษัตริย์ และสภาวะของราษฎรที่ “ขัดแย้งในตัวเอง” ย่อมขัดกับ “สามัญสำนึก” ของมนุษย์ทั่วไปโดยพื้นฐาน เพราะสามัญสำนึกย่อมยึดโยงอยู่กับความมีเหตุผล และการมีเสรีภาพในการตรวจสอบความสมเหตุสมผลในเรื่องใดๆ ก็ได้

ตัวอย่างที่โธมัส เพนชวนให้เราคิดอะไรแบบมีเหตุผลตรงไปตรงมา ซึ่งสอดคล้องกับ “สามัญสำนึก” ของเรา ก็เช่น ถ้าเราทุกคนทำตามมโนธรรมเคารพสิทธิกันและกัน และอยู่ร่วมกันในความสัมพันธ์ทางสังคมที่เอื้ออาทรต่อกันและกัน ก็ไม่จำเป็นต้องมีใครมาบัญญัติกฎหมายควบคุมเรา แต่เพราะความจริงเราทุกคนไม่ได้ทำตามมโนธรรมเช่นนั้น มีบางคนละเมิดคนอื่น เราจึงจำเป็นต้องมีการปกครองเพื่อประกันความปลอดภัยจากการละเมิดของคนอื่น และจากศัตรูภายนอก

โธมัส เพนเขียนว่า “รัฐบาลรูปแบบใดก็ตาม ที่ประกันความมั่นคงปลอดภัยให้เรามากที่สุด โดยมีค่าใช้จ่ายน้อยที่สุด และยังประโยชน์สูงสุด ย่อมเป็นที่พึงปรารถนาแก่คนทั้งปวง” แต่หากเปรียบเทียบระหว่างรัฐบาลสมบูรณาญาสิทธิราชย์กับรัฐบาลประชาธิปไตย รัฐบาลแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ย่อมสิ้นเปลืองค่าใช้จ่าย และยังประโยชน์แก่ประชาชนน้อยกว่ารัฐบาลประชาธิปไตยอย่างไม่ต้องสงสัย

การยอมรับ “ความจริง” ว่าระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์สิ้นเปลืองมากกว่าและเกิดประโยชน์ต่อประชาชนน้อยกว่าระบอบประชาธิปไตย ก็คือการยอมรับความจริงที่มีเหตุผลสนับสนุนหนักแน่น และสอดคล้องกับ “สามัญสำนึก” ปกติของคนทั่วไป การปฏิเสธความจริงนี้ ก็เสมือนปฏิเสธสามัญสำนึกของตนเอง

แต่นอกจากเราควรจะมีสามัญสำนึกยอมรับความจริงดังกล่าว ยังจำเป็นต้องมีสามัญสำนึกขั้นต่อไปคือ สามัญสำนึกในการต่อสู้เพื่อเปลี่ยนแปลงระบบการปกครองแบบเผด็จการอำนาจนิยมใดๆ สู่ระบบการปกครองที่สามารถให้หลักประกันสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ได้จริง นี่ไม่ใช่ “สามัญสำนึกเฉพาะ” ของชาวอเมริกันที่ควรมีในประวัติศาสตร์การปฏิวัติอเมริกาเท่านั้น แต่มันคือสามัญสำนึกของมนุษย์ทุกสังคมในโลกที่ต้องการมีเสรีภาพจากการปกครองแบบเผด็จการอำนาจนิยมทุกรูปแบบ

ในบ้านเราปัจจุบัน สามัญสำนึกที่ยอมรับความจริงว่า ระบอบประชาธิปไตยเป็นการปกครองที่สิ้นเปลืองน้อยกว่าและเกิดประโยชน์แก่ประชาชนมากกว่าระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และสามัญสำนึกในการต่อสู้เพื่อสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ย่อมเห็นได้ชัดเจนในขบวนการเคลื่อนไหวของมวลชนที่ต่อสู้เพื่อ “ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์” ให้อยู่ใต้รัฐธรรมและถูกตรวจสอบได้ตามหลักการประชาธิปไตย

แต่จนวันนี้ เรายังได้ยินคำสอนแบบเดิม ๆ จากบรรดานักบวช นักวิชาการ นักเขียน และนักอื่นๆ กระทั่ง “เวทีวิชาการต่างๆ” ที่พูดกันมากว่าสิบปีว่า “หากแต่ละฝ่ายละอคติ ไม่เอาแต่ฟังความเห็นในฝ่ายตนเท่านั้น เปิดกว้างรับฟังความเห็น และข้อเท็จจริงรอบด้านจากทุกฝ่าย ปัญหาขัดแย้งทางการเมืองย่อมสามารถแก้ได้” แม้คำแนะนำเช่นนี้จะมีเหตุผล และจริงด้วยว่าในความขัดแย้ง มีคนในแต่ละฝ่ายมีอคติ ไม่เปิดใจรับฟังเหตุผล และความจริงของฝ่ายอื่น แต่มันก็มีความจริงที่สำคัญกว่านั้นที่บรรดาผู้เสนอคำสอนเช่นนี้ละเลยที่จะพูดถึงคือ ความจริงที่ว่าสังคมนี้ไม่มี “เสรีภาพที่เท่าเทียม” (equal liberty) ให้ทุกฝ่ายได้พูดความจริงครบถ้วนทุกด้าน และความจริงที่ว่าการต่อสู้ทางการเมืองยกระดับมาถึงการเสนอปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ เพื่อให้มีเสรีภาพที่เท่าเทียมในการพูดความจริงทุกด้านแล้ว ความจริงสองประการนี้จึงย้อนศรมาตั้งคำถามต่อ “สามัญสำนึก” ของบรรดาผู้สอนทุกฝ่าย

นั่นคือ ความจริงสองประการย้อนศรมาตั้งคำถามต่อนักวิชาการ นักเขียน นักบวชและนักอื่นๆ ที่แนะนำให้ทุกฝ่ายละอคติ เปิดกว้าง รับฟังความเห็นของฝ่ายอื่นๆ ว่า ตัวคุณเองมี “สามัญสำนึก” ร่วมต่อสู้เพื่อให้มีเสรีภาพที่เท่าเทียมในการพูด “ความจริงทุกด้าน” ร่วมกับมวลชนที่เรียกร้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์หรือไม่

ถ้าไม่ โดยที่คุณกำหนดสถานะตนเองให้ “ลอยตัว” จากขบวนการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย เสมือนสมมติตนเองให้นั่งอยู่บนที่สูงมองลงมาเห็นอคติ เห็นปัญหาของความคิด ความเชื่อ ความยึดมั่นอุดมการณ์ ความคับแคบ ไม่ฟังเหตุผลกันและกันของทุกฝ่าย กระทั่งตัดสินว่าคนเหล่านั้นไม่รู้ว่าประชาธิปไตยคืออะไร ไม่เหมือนคุณซึ่งเป็นหนอนหนังสือ หรืออ่านคัมภีร์การเมือง สังคม เศรษฐกิจ ศาสนา วัฒนธรรมอย่างแตกฉานที่เป็นผู้นั่งดู สังเกตการณ์ และแนะนำสั่งสอนคนอื่นๆ ถ้าเป็นเช่นนี้แล้ว คำแนะนำให้ทุกฝ่ายละอคติ รับฟังความเห็นรอบด้านของคุณมันก็ “ปลอม” มากๆ และสำหรับคนที่แนะนำคุณอื่นได้เช่นนี้ โดยไม่ตระหนักว่าสังคมนี้ไม่มีเสรีภาพที่เท่าเทียมให้ทุกฝ่ายพูดความจริงได้รอบด้าน และไม่มีสามัญสำนึกร่วมสู้เพื่อให้มีเสรีภาพที่เท่าเทียม สถานะของผู้แนะนำสั่งสอนคนอื่นๆ ของคุณมันก็ยิ่งปลอมและหลอนมากๆ เลย

ไม่ใช่ว่าเราไม่มีเสรีภาพที่จะเลือก “เป็นกลาง” (?) หรือเลือกไม่ยุ่งเกี่ยวกับความขัดแย้งทางการเมือง หรือเลือกที่จะใช้ชีวิตส่วนตัวแบบสุขสบายและสงบสุข โดยกำหนดระยะห่างจากชีวิตทางการเมืองอย่างชัดเจน เรามีเสรีภาพทั้งนั้นแหละครับ แต่จริงหรือที่ใน “ความเป็นคน” ของเราจะไม่มี “สามัญสำนึก” ได้เลย การที่เราสอนให้ทุกฝ่ายละอดคติ รับฟังความจริงและเหตุผลจากอีกฝ่าย ก็ชัดเจนอยู่แล้วว่าสามัญสำนึกเรียกร้องให้เราทำเช่นนั้น แต่การต่อสู้ของมวลชนเพื่อปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ เพื่อให้มีเสรีภาพพูดความจริงทุกด้านได้ ก็กลายเป็นคำถามที่ย้อนศรต่อคำแนะนำเช่นนั้น ซึ่งเป็นการเรียกร้องต่อสามัญสำนึกอีกระดดับหนึ่งดังกล่าวแล้ว

พูดอีกอย่างคือ บุคคลสาธารณะที่แนะนำให้คนอื่นละอคติ เปิดกว้างรับฟังความจริงทุกด้าน แต่ไม่มี “สามัญสำนึก” เรียกร้องเสรีภาพที่เท่าเทียมให้สามารถพูดความจริงรอบด้านได้ ก็คือคนที่ “เสมือนแกล้งหลับ” ที่พยามปลุกให้คนอื่นตื่นขึ้นท่ามกลางผู้คนที่ตื่นแล้วด้วยข้อเสนอปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ เพื่อให้มีเสรีภาพพูดความจริงทุกด้านได้อย่างเท่าเทียม

ทำไมการเรียกร้อง “สามัญสำนึก” จึงดูเหมือนจะเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ มีคำพูดหรือข้อเขียนของคนมีชื่อเสียงที่เราเห็นผ่านตาบ่อยๆ เช่นว่า “ผมไม่อยากดัง อยากเป็นฮีโร่ เพราะเราต่างรู้ว่าการต่อสู้กับเผด็จการมีต้นทุนที่ต้องจ่ายสูงมาก เป็นเรื่องที่แต่ละคนจะตัดสินใจเอง” ซึ่งก็ถูกที่ว่าแต่ละคนควรตัดสินใจเอง แต่ไม่ได้หมายความว่าการเรียกร้องสามัญสำนึกในการร่วมสู้เพื่อเสรีภาพเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ โดยเฉพาะการเรียกร้องต่อบุคคลสาธารณะที่ทำมาหากินกับสาธารณชนใน “ตลาดความคิด” ซึ่งโดยหลักการทั่วไป ตลาดความคิดก็ควรมีเสรีภาพทางความคิดเห็น เสรีภาพในการพูด การแสดงออกเป็นพื้นฐาน

ดังนั้น บุคคลสาธารณะในตลาดความคิด ไม่ว่าจะเป็นนักวิชาการ นักเขียน ศิลปิน สื่อมวลชนและอื่นๆ ถ้าพวกเขาเพิกเฉยต่อเพื่อนร่วมสังคมที่ถูกละเมิดเสรีภาพด้วย 112 และอำนาจเผด็จการแบบอื่นๆ ก็ชัดเจนว่าเขาไม่มี “สามัญสำนึก” ในการปกป้องตลาดความคิดให้เป็น “ตลาดเสรีทางความคิด” ได้จริง เขาแค่เป็นนักขายความคิด ทำมาหากินไปวันๆ เท่านั้น

อย่างที่เราเห็น บางคนเป็นศาสตราจารย์เขียนหนังสือและแปลหนังสือปรัชญาการเมืองที่เชิดชู “เสรีภาพ” แต่ตนเองกลับไปเป็นพยานโจทก์ฟ้องหนังสือวิชาการ และอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ของนักวิชาการอีกฝ่ายที่เสนองานวิชาการรื้อถอนอำนาจนำทางการเมืองของศักดินา และยังมีตัวอย่างอื่นๆ ทำนองเดียวกันนี้อีกมาก

บางคนอาจบอกว่า ตนเองเลือกแสดงความเห็นที่ “มีประโยชน์” เท่านั้น มันจะมีประโยชน์อะไรกับการโพสต์ พูด เขียน หรือยืนถือป้าย “ปล่อยเพื่อนเรา” ทุกวันๆ เพราะถึงยังไงผู้มีอำนาจเขาก็ไม่ปล่อยอยู่ดี แต่ความจริงแล้ว ถ้าคนเป็นแสนเป็นล้านพูด เขียน ชูป้ายให้ปล่อยเพื่อนเรากันจริงๆ มหาวิทยาลัยทุกมหาวิทยาลัยขึ้นป้ายปล่อยเพื่อนเรา บุคคลสาธารณะที่มีชื่อเสียงทั้งหลายส่งเสียงเรียกร้องให้ปล่อยเพื่อนเราในวิถีทางต่างๆ มันจะไม่มีประโยชน์เลยจริงๆ หรือ ที่ผ่านมามันคือปรากฏการณ์ตรงกันข้าม คือปรากฏการณ์เพิกเฉยของบุคคลสาธารณะ คือการปลดป้ายปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ของเพื่อนเรา โดยบรรดาผู้บริหารมหาวิทยาลัยต่างๆ ที่กระตือรือร้นร้นตอบสนองผู้มีอำนาจไม่ใช่หรือ

แล้วทำไมสามัญสำนึกจึงมีคุณค่ามาก ขอให้เรา “มอง” ภาพ “ใบหน้าของอานนท์” ข้างล่างนี้ และ “อ่าน” คำบรรยายเรียบง่ายของวาด รวี ใต้ภาพ

ภาพนี้ผมถ่ายด้วยกล้องฟิล์ม ที่หน้าศาลทหาร วันที่ 16 มีนาคม 2558 กลุ่มพลเมืองโต้กลับถูกจับขึ้นศาลทหารด้วยข้อหาชุมนุมเกิน 5 คน ตอนนั้นสถานการณ์ดูมืดมนมาก ผมอยู่ที่หน้าศาลทหาร พวกอานนท์อยู่ข้างในและอาจจะไม่ได้กลับออกมา แสงแดดยามเย็นส่องแยงตามาจากทางวัดพระแก้ว แล้วพวกเขาก็ปรากฏตัวขึ้น นักศึกษากลุ่มหนึ่ง เดินขบวนมาจากทางนั้น ทิศทางเดียวกับแสง ทำให้ภาพที่เห็นเป็นภาพย้อนแสง เสียงของพวกเขามาก่อน และดังเข้าไปในศาล นั่นเป็นรุ่นของพวกโรม บาส ตูน ลูกเกด โตโต้ และวันนั้นคือการเคลื่อนไหวครั้งแรกของพวกเขา วันนั้นถึงแม้พวกเขาจะไม่ได้มีกันเยอะมาก แต่มันก็สร้างกำลังใจให้พวกเราที่อยู่ทั้งหน้าศาลและในศาลกันอย่างยิ่ง ในที่สุดศาลก็ไม่อนุมัติการฝากขัง และกลุ่มพลเมืองโต้กลับได้ออกมา ไม่ต้องติดคุก และนี่คือใบหน้าของอานนท์ หลังจากที่พวกเขาได้รับการปล่อยตัวเมื่อนักศึกษายกขบวนมา...

(ที่มา https://www.facebook.com/photo/?fbid=3164634813781154&set=a.2487012204876755)

ความประหลาดในบ้านเราที่กลายเป็นเรื่องปกติคือ ด้วยอิทธิพลการเมืองวัฒนธรรมแบบไทย ได้ทำให้ศาสนาเป็น “เรื่องส่วนรวม” ดังคำสอนศาสนาที่อยู่ในแพ็คเก็จเดียวกับคำสอนของพ่อถูกทำให้เป็นเรื่องสาธารณะหรือส่วนรวมที่ภาครัฐและเอกชนต้องร่วมกันเผยแพร่ ทั้งในแบบสมัครใจ กึ่งบังคับ และบังคับโดยรัฐธรรมนูญและกฎหมายอื่นๆ แต่กลับมองการต่อสู้เพื่อเสรีภาพและประชาธิปไตยในฐานะพลเมืองเสรีและเสมอภาคเป็น “เรื่องส่วนตัว” หรือเป็นเรื่องของคนที่ยึดมั่นอุดมการณ์บางคน บางกลุ่ม ที่ถูกมองเป็นพวกหัวรุนแรงหรือตัวปัญหามาตลอด 

การมองเช่นนั้น ย่อมเป็นการมองแบบ “กลับหัวกลับหาง” เพราะการมี “สามัญสำนึก” ปกป้องเสรีภาพและประชาธิปไตยตามที่โธมัส เพนเสนอ หมายถึง การทำให้ศาสนา (และความภักดีต่อกษัตริย์) เป็นเรื่องส่วนตัว หรือเป็นความเชื่อ รสนิยมส่วนบุคคล แต่การปกป้องคุณค่าสาธารณะหรือปกป้องหลักสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องส่วนรวมที่พลเมืองเสรีและเสมอภาคทุกคนควรมี “สามัญสำนึก” ร่วมกันในการปกป้องรักษาคุณค่าหลักดังกล่าว ดังข้อความสรุปจบของ “สาส์นถึงกลุ่มชนอันมีนามว่าเควกเกอร์” ของเพน (ใน “สามัญสำนึก” หน้า 151) ว่า

“...ขอให้พวกท่านได้รับสิทธิพลเมือง และสิทธิทางศาสนาอย่างเต็มที่และต่อเนื่องตลอดไป และในทางกลับกัน ขอให้พวกท่านทำคุณประโยชน์ด้วยการช่วยธำรงรักษาสิทธินั้นแก่ผู้อื่น ในส่วนที่พวกท่านประพฤติเป็นตัวอย่างเบาปัญญาไว้นั้น กล่าวคือ การพยายามนำศาสนามายุ่งเกี่ยวกับการเมือง ขอให้ไม่ได้รับการยอมรับและเป็นที่ตำหนิติฉินจากพลเมืองทุกคนในอเมริกา

กล่าวโดยสรุป การเรียกร้องสามัญสำนึกของตนเองและจากกันและกันในฐานะพลเมืองเสรีและเสมอภาค จึงไม่ใช่เรื่องผิดแปลก หรือเป็นเรื่องที่ผู้ถูกเรียกร้องควรโกรธคนที่เรียกร้อง หากเป็นเรื่องปกติที่มีเหตุผลพึงกระทำ

มิเช่นนั้นการอภิปรายสาธารณะ การชุมนุมทางการเมือง เพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยและอื่นๆ ที่มุ่งโน้มน้าวให้คนส่วนใหญ่เห็นด้วย หรือมีสามัญสำนึกรับผิดชอบปกป้องรักษาคุณค่าสาธารณะร่วมกันก็ย่อมไร้ความหมาย และคนที่บาดเจ็บล้มตาย ถูกอุ้มหาย และถูกขังคุกเป็น “นักโทษทางความคิด” ก็ย่อมถูกลืมอย่างง่ายดายจากพลเมืองที่ไร้สามัญสำนึก ซึ่งยิ่งจะเป็นการสนับสนุนให้เผด็จการย่ามใจ และกระหายอำนาจมากขึ้นอย่างไม่รู้จักพอ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท