กองทัพพม่าห้าม ‘ฮุน เซน’ พบ ‘อองซานซูจี’ เหตุติดคดีในชั้นศาล หวังคุยกับ 'มินอ่องหล่าย' ราบรื่น

‘ฮุน เซน’ นายกรัฐมนตรีกัมพูชาและประธานอาเซียนคนปัจจุบัน เดินทางเยือนพม่าตามกำหนดการแล้วในวันนี้ (7 ม.ค. 65) โดยมีกำหนดเข้าพบ ‘มินอ่องหล่าย’ ผู้นำทหารของพม่า แต่ไม่มีรายงานว่าจะเข้าพบตัวแทนรัฐบาลเงา NUG ของพม่าหรือไม่ ขณะที่กองทัพพม่าประกาศชัด ห้าม ‘ฮุน เซน’ เข้าพบ ‘อองซานซูจี’ อ้างติดพิจารณาคดีในชั้นศาล ขัดเงื่อนไขตัวแทนพรรคการเมืองในการเข้าพบผู้นำต่างประเทศ ด้านประชาชนพม่าร่วมประณามการเยือนครั้งนี้ ชี้ เป็นการสนับสนุนรัฐบาลทหารชัดเจน

7 ม.ค. 2565 ฮุน เซน นายรกัฐมนตรีกัมพูชา ผู้ดำรงตำแหน่งประธานอาเซียนคนปัจจุบัน เดินทางเยือนพม่าตามกำหนดการแล้วในวันนี้ ก่อนหน้านี้ นายกรัฐมนตรีกัมพูชาเคยให้คำมั่นว่าจะสนับสนุนแผนสันติภาพในพม่าและจะเร่งรัดให้ความรุนแรงในพม่ายุติโดยเร็ว การเดินทางเยือนพม่าในครั้งนี้ นายกรัฐมนตรีกัมพูชาจะเข้าพบผู้นำระดับสูงของกองทัพพม่าอีกด้วย

ฮุน เซน ถือเป็นผู้นำต่างประเทศคนแรกที่เดินทางเยือนพม่าอย่างเป็นทางการนับตั้งแต่กองทัพพม่านำโดยพลเอกอาวุโสมินอ่องหล่าย ก่อนการรัฐประหารขึ้นในวันที่ 1 ก.พ. 2564 เพื่อยึดอำนาจจากอองซานซูจี หัวหน้าพรรค NLD ซึ่งชนะการเลือกตั้งครั้งล่าสุดที่จัดขึ้นเมื่อเดือน พ.ย. 2563 การรัฐประหารครั้งนี้ เป็นสาเหตุให้ประชาชนและกองกำลังติดอาวุธของกลุ่มชาติพันธุ์หลายกลุ่มในพม่าลุกฮือขึ้นมาประท้วงต่อต้านรัฐประหารและกองทัพเป็นเวลานานเกือบครบ 1 ปีแล้ว

ปัจจุบัน ผู้นำกัมพูชาก้าวขึ้นมาดำรงตำแหน่งประธานอาเซียนต่อจากผู้นำบรูไนที่สิ้นสุดวาระไปเมื่อวันที่ 31ธ.ค. 2564 ตำแหน่งประธานอาเซียนนั้นมีวาระ 1 ปี โดยผู้นำแต่ละประเทศในขณะนั้นจะผลัดเปลี่ยนขึ้นมาเป็นประธาน เวียนตามลำดับตัวอักษรในชื่อประเทศ ก่อนหน้านี้ เมื่อช่วงเดือน เม.ย. 2564 ประเทศสมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ รวมถึงพลเอกอาวุโสมินอ่องหล่าย ผู้นำทหารของพม่าได้เข้าร่วมประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนวาระพิเศษ ในกรุงจาการ์ตา เมืองหลวงของอินโดนีเซีย ซึ่งที่ประชุมมีมติเห็นชอบฉันทามติ 5 ข้อเพื่อหาทางออกให้กับวิกฤตการณ์ความรุนแรงในพม่า ได้แก่

  1. หยุดยั้งการใช้ความรุนแรงในประเทศพม่าโดยทันที และขอเรียกร้องทุกฝ่ายให้ใช้ความยับยั้งชั่งใจขั้นสูงสุด
  2. ขอให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องใช้กระบวนการเจรจาอย่างสร้างสรรค์ ในการแก้ปัญหาวิกฤติพม่าอย่างสันติ เพื่อประโยชน์ของประชาชน
  3. ผู้แทนพิเศษของประธานอาเซียนจะทำหน้าที่เป็นคนกลางประสานงานการเจรจา โดยมีผู้ช่วยเลขาธิการอาเซียนให้ความช่วยเหลือ
  4. อาเซียนจะให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม ผ่านศูนย์ประสานงานเพื่อการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมเกี่ยวกับการจัดการภัยพิบัติ หรือ AHA
  5. สุดท้าย ผู้แทนพิเศษ  และคณะผู้แทน จะเดินทางเยือนประเทศพม่า เพื่อพบปะกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในวิกฤตการณ์ครั้งนี้

สมาชิกอาเซียนบางประเทศ รวมถึงอินโดนีเซียแสดงท่าทีไม่พอใจต่อคณะรัฐประหารพม่าที่ล้มเหลวในการดำเนินการตามแผนสันติภาพ ขณะเดียวที่ในพม่า ผู้นำกลุ่มต่อต้านกองทัพออกมาบอกว่าการเดินทางเยือนพม่าของฮุน เซน เป็นการแสดงออกว่ากัมพูชาสนับสนุนกองทัพพม่า

เมื่อวันที่ 5 ม.ค. ที่ผ่านมา ฮุน เซน แถลงการณ์ขอให้ทุกฝ่ายในพม่ายุติความรุนแรงและเรียกร้องให้ดำเนินการตามแผนสันติภาพ

“พี่น้องชาวพม่า คุณอยากเห็นประเทศของคุณกลายเป็นสงครามกลางเมืองจริงๆ หรืออยากให้ปัญหาได้รับการแก้ไขกันแน่ ฉันทามติข้อแรกเรียกร้องให้ทุกฝ่ายยับยั้งชั่งใจและยุติความรุนแรง นี่คือเป้าหมายที่เราต้องการ” นายกรัฐมนตรีกัมพูชากล่าว

นอกจากนี้ โจโค วิโดโด ประธานาธิบดีอินโดนีเซียได้โทรศัพท์หานายกรัฐมนตรีกัมพูชาก่อนการเดินทางเยือนในครั้งนี้ หลังการพูดคุย ประธานาธิบดีอินโดนีเซียโพสต์ข้อความผ่านทวิตเตอร์ว่าหากไม่มีความคืบหน้าที่ชัดเจนใดๆ ตามแผนฟื้นฟูสันติภาพในพม่า ผู้แทนพม่าที่มีบทบาททางการเมืองจะไม่ได้รับเชิญให้เข้าร่วมการประชุมใดๆ ของประชาคมอาเซียน

เครือข่ายประท้วงหยุดงานต้านรัฐประหารในพม่า ซึ่งมีผู้ประกอบการและบริษัทเข้าร่วมมากกว่า 260 แห่ง ออกแถลงการณ์ผ่านโซเชียลมีเดีย ประณามการเดินทางเยือนพม่าของผู้นำกัมพูชา และระบุว่าการกระทำเช่นนี้เท่ากับการสนับสนุนกองทัพพม่าที่ทำรัฐประหาร ด้าน เอเมอร์ลีนน์ จิล ผู้ช่วยผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชันแนล ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีกัมพูชายกเลิกการเดินทางเยือนพม่า และแนะนำให้ฮุน เซน “นำอาเซียนไปสู่การกระทำที่เข้มแข็งเพื่อจัดการสถานการณ์สิทธิมนุษยชนที่เลวร้ายในพม่า”

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของกัมพูชากล่าวว่าผู้นำกัมพูชาจะเข้าพบมินอ่องหล่าย ผู้นำทหารของพม่า แต่ไม่ได้พูดถึงการเข้าพบอองซานซูจี ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาคดีและคุมขังที่บ้านพัก โดยหลังเกิดรัฐประหาร อองซานซูจีโดนคดีไปมากกว่า 10 คดีและมีโทษสูงสุดเป็นการจำคุกรวมกันมากกว่า 100 ปี

กองทัพพม่าประกาศ ห้าม 'ฮุน เซน' พบ 'อองซานซูจี'

เมื่อวันที่ 5 ม.ค. 2565 สำนักข่าวอิระวดีของพม่ารายงานว่าโฆษกกองทัพพม่ากล่าวเมื่อวันก่อนหน้านี้ว่ากองทัพไม่อนุญาตให้นายกรัฐมนตรีกัมพูชาเข้าพบอองซานซูจีในระหว่างการเยือนครั้งนี้ โดยให้ให้เหตุผลว่าอองซานซูจีกำลังถูกดำเนินคดีในชั้นศาล ซึ่งผิดเงื่อนไขการเข้าพบและพูดคุยกับผู้นำจากต่างประเทศที่เดินทางเยือนพม่า เพราะกองทัพอนุญาตเฉพาะตัวแทนจากพรรคการเมืองที่ไม่ถูกดำเนินคดีอยู่ในขณะนี้ สามารถเข้าพบผู้นำต่างประเทศได้ ทั้งนี้ ไม่มีรายงานว่าตัวแทนจากรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติพม่า (NUG) จะเข้าพบฮุน เซน ด้วยหรือไม่

ด้าน ฮุน เซน ให้สัมภาษณ์กับ AKP ซึ่งเป็นสื่อของรัฐบาลกัมพูชาว่าการเดินทางเยือนพม่าในครั้งนี้จะนำความสันติสุขมาสู่พม่าและอาเซียน และหากผลการพูดคุยออกมาน่าพอใจ เขาอาจจะเลื่อนแผนการเดินทางกลับกัมพูชาจากเดิมเล็กน้อย

หลังจากที่ฮุน เซน และโจโค วิโดโด ประธานาธิบดีอินโดนีเซีย พูดคุยกันทางโทรศัพท์เรียบร้อยแล้ว กระทรวงการต่างประเทศกัมพูชาออกแถลงการณ์ ระบุว่าผู้นำทั้งสองประเทศแลกเปลี่ยนมุมมองต่อสถานการณ์ในพม่าว่ามีความคืบหน้าอย่างไรบ้าง และเน้นย้ำเรื่องความต้องการที่สำคัญของอาเซียน นั่นคือความพยายามช่วยเหลือพม่าให้เจอทางออกที่เหมาะสม เพื่อบรรลุเป้าหมายการปรองดองภายในชาติ สันติภาพที่ยั่งยืน การมีเสถียรภาพ และการพัฒนา

“พี่น้องชาวพม่า คุณอยากเห็นประเทศของคุณกลายเป็นสงครามกลางเมืองจริงๆ หรืออยากให้ปัญหาได้รับการแก้ไขกันแน่ ฉันทามติข้อแรกเรียกร้องให้ทุกฝ่ายยับยั้งชั่งใจและยุติความรุนแรง นี่คือเป้าหมายที่เราต้องการ” - ฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา

ขณะที่ Ro Vannak นักวิชาการชาวกัมพูชาผู้ร่วมก่อตั้งสถาบันเพื่อประชาธิปไตยแห่งกัมพูชา ให้ความเห็นว่าการพูดคุยระหว่างผู้นำกัมพูชาและอินโดนีเซียนั้นเป็นรูปแบบหนึ่งของวิธีทางการทูต ที่แสดงให้เห็นว่าประชาคมอาเซียนยังมีความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันต่อวิกฤตการณ์ในพม่า นอกจากนี้ Vannak ยังเห็นว่าฮุน เซน ให้ความสำคัญมากกับทุกๆ ความคิดเห็นของอินโดนีเซียไม่ว่าจะเป็นการประชุมหารือครั้งใด เพราะอินโดนีเซียมีบทบาทสำคัญในฐานะบุคคลที่เป็นกลางและผู้อำนวยความสะดวกเรื่องการแก้ปัญหาภายในภูมิภาคมาตั้งแต่อดีต แน่นอนว่าการพูดคุยทางโทรศัพท์กับผู้นำอินโดนีเซียครั้งนี้ จะช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์ของฮุน เซน ในการเยือนพม่าให้เป็นไปในทิศทางบวกมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ประชาชนชาวพม่ากังวลว่าการมาเยือนของผู้นำกัมพูชาจะสร้างความชอบธรรมให้กับรัฐบาลทหารพม่า เพราะเขาเป็นผู้นำต่างประเทศคนแรกที่เดินทางเยือนพม่าและเข้าพบผู้นำทหารของพม่าอย่างเป็นทางการ ในขณะที่ผู้นำประเทศอื่นๆ ต่างประณามรัฐบาลทหารพม่าที่ใช้ความรุนแรงและฆ่าประชาชนที่ลุกขึ้นมาต่อต้านกองทัพไปมากกว่า 1,300 คน

ที่มา:

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท