สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 1-7 ม.ค. 2565

ก.แรงงาน ปรับเงื่อนไขโครงการช่วย SMEs หลังสถานประกอบการเสียสิทธิ์รับเงินอุดหนุนรับ 3 พันบาท/เดือน

นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน เปิดเผยว่าตามที่กระทรวงแรงงานได้เชิญชวนนายจ้างภาคเอกชนที่มีกิจการขนาดเล็ก – กลางเข้าร่วมโครงการส่งเสริมและรักษาระดับการจ้างงานในธุรกิจ SMEs เพื่อรับเงินอุดหนุนจากรัฐบาล ในอัตรา 3,000 บาท ต่อลูกจ้างสัญชาติไทย 1 คนต่อเดือน เป็นระยะเวลา 3 เดือน ในเดือนพฤศจิกายน 2564 - มกราคม 2565 ด้วยมีเป้าหมายช่วยเหลือนายจ้าง สถานประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ให้กลับมาแข็งแรงประสบผลสำเร็จดั่งในอดีตก่อนมีโรคโควิด-19 ตามความตั้งใจของรัฐบาลโดยการนำของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม และพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งกำกับดูแลกระทรวงแรงงาน ที่ห่วงใยธุรกิจในกลุ่ม SMEs

โดยผลการลงทะเบียนในทุกรอบมีสถานประกอบการลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการถึง 246,099 ราย ช่วยรักษาระดับการจ้างงานลูกจ้างสัญชาติไทย 3,274,018 คน แต่ช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมามีการร้องทุกข์จากนายจ้าง/สถานประกอบการที่เข้าร่วมโครงการ ผ่านสำนักงานจัดหางานทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค เนื่องจากไม่ได้รับเงินอุดหนุนในเดือนธันวาคม 2564 เพราะไม่ได้ส่งข้อมูลเงินสมทบฯ ผ่านระบบ e - Service ของสำนักงานประกันสังคมภายในกำหนด เพื่อขอให้ทบทวนเงื่อนไขดังกล่าว ให้ได้รับเงินอุดหนุนบรรเทาความเดือดร้อนในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และเป็นทุนหมุนเวียน เสริมสภาพคล่อง หากเกิดการระบาดในระลอกใหม่ของสายพันธ์โอไมครอน

ทั้งนี้ในฐานะ รมว.แรงงาน เข้าใจความเดือดร้อนของผู้ประกอบการเป็นอย่างดี กิจการเล็กๆหลายแห่งยังมีความไม่เข้าใจเงื่อนไขและขั้นตอนการใช้บริการภาครัฐผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ โดยไม่ได้มีเจตนาที่จะไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขแต่อย่างใด กระทรวงแรงงานจึงได้ปรับเงื่อนไขโครงการเสนอต่อคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้พิจารณา ซึ่งคณะกรรมการมีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 5 ม.ค.65 และจะดำเนินการเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติในวันที่ 11 มกราคม 65 เพื่อให้นายจ้าง/สถานประกอบการที่เสียสิทธิ์ไป มีโอกาสได้รับเงินอุดหนุนในเดือนธันวาคม 64 และมกราคม 65 ดังนี้ 1.นายจ้างที่เข้าร่วมโครงการหากเคยนำส่งข้อมูลเงินสมทบผ่านระบบ e-Service ของสำนักงานประกันสังคม ตั้งแต่เดือนม.ค.64 จนถึงก่อนวันที่ 16 ธ.ค.64 จะได้รับเงินอุดหนุน จำนวน 2 เดือน (ธ.ค.64 – ม.ค. 65) 2.นายจ้างที่เข้าร่วมโครงการแต่มีการนำส่งข้อมูลเงินสมทบผ่านระบบ e-Service ของสำนักงานประกันสังคม หลังวันที่ 15 ธ.ค.64 ที่ได้นำส่งข้อมูลฯ ภายในวันที่ 17 มกราคม 65 จึงจะได้รับเงินอุดหนุน จำนวน 2 เดือน (ธ.ค.64–ม.ค.65)

นายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า การสมัครใช้งาน e - Service และนำส่งข้อมูลเงินสมทบ ผ่านระบบ e - Service ของสำนักงานประกันสังคม เป็นเงื่อนไขสำคัญข้อหนึ่งของโครงการฯ โดยมีวัตถุประสงค์ให้ประชาชนหันมาใช้บริการภาครัฐผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ตามเจตนารมณ์ของคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ ซึ่งจากการตรวจสอบข้อมูลนายจ้างที่ไม่ได้นำส่งข้อมูลเงินสมทบผ่านระบบ e-Service ในงวดเงินสมทบเดือนพ.ย.64 พบว่ามีนายจ้างปฏิบัติตามเงื่อนไขดังกล่าว และได้รับเงินอุดหนุน จำนวน 194,977 แห่ง เป็นลูกจ้างสัญชาติไทย จำนวน 2,904,414 คน เป็นเงินอุดหนุน จำนวน 8,713,242,000 บาท (แปดพันเจ็ดร้อยสิบสามล้านสองแสนสี่หมื่นสองพันบาทถ้วน) และมีนายจ้างไม่ได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขการนำส่งข้อมูลเงินสมทบฯ และไม่ได้รับเงินอุดหนุน จำนวน 49,117 แห่ง ลูกจ้างสัญชาติไทย จำนวน 380,574 คน ซึ่งข้อมูลย้อนหลัง 10 เดือน ตั้งแต่เดือนม.ค.-ต.ค.64 มีนายจ้างใช้บริการ e - Service เพียง 19,284 ราย ขณะที่เดือนพฤศจิกายน 64 ที่กำหนดให้นายจ้างปฏิบัติตามเงื่อนไขเพื่อรับเงินอุดหนุนจากรัฐ เพียงเดือนเดียวมีการส่งข้อมูลผ่าน e-Service ถึง 194,997 ราย เพิ่มขึ้นคิดเป็น 10.11 เท่าของที่ผ่านมา ถือว่าสอดคล้องตามวัตถุประสงค์โครงการฯทั้งด้านการช่วยเหลือสถานประกอบการขนาดเล็ก – กลาง และการปรับเปลี่ยนการใช้บริการภาครัฐสู่ระบบอิเล็กทรอนิกส์

ที่มา: สยามรัฐ, 7/1/2565

เตรียมฉีดวัคซีนเข็ม 3 ให้ผู้ประกันตน ม.33 ใน 10 จังหวัดนำร่อง

สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน เผยว่า ด้วยรักและห่วงใย พี่น้องผู้ประกันตน ม.33 กระทรวงแรงงามพร้อมฉีดวัคซีนเข็ม 3 ให้ผู้ประกันตน ที่ลงทะเบียนในระบบ e-service 10 จังหวัดนำร่อง ได้แก่ กทม. ฉะเชิงเทรา นนทบุรี พระนครศรีอยุธยา ชลบุรี สมุทรปราการ นครปฐม สงขลา ระยอง ปทุมธานี สมุทรสาคร ทั้งนี้ จะเริ่มฉีดวัคซีนในวันที่ 17 ม.ค. 2565

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 6/1/2565

ก.แรงงาน ย้ำมีลูกจ้าง 10 คนขึ้นไป ต้องยื่นแบบ คร.11 ภายใน ม.ค. 2565

นายนิยม สองแก้ว อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) เปิดเผยว่า พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 กำหนดให้นายจ้างที่มีลูกจ้างรวมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ต้องยื่นแบบแสดงสภาพการจ้างและสภาพการทำงาน (คร.11) ภายในเดือน ม.ค. ของทุกปี ซึ่งขณะนี้เหลือระยะเวลาดำเนินการไม่มาก จึงขอตือนมายังนายจ้างให้เร่งดำเนินการจัดเตรียมข้อมูลและยื่นแบบ คร.11 ภายในระยะเวลาที่กำหนด

สามารถยื่นแบบได้ 2 ช่องทาง คือนำส่งด้วยตนเองที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 หรือสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดที่สถานประกอบกิจการตั้งอยู่ หรือยื่นออนไลน์โดยการกรอกข้อมูลผ่านเว็บไซต์กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (www.labour.go.th) ช่องทาง E-service (https://eservice.labour.go.th) เพื่ออำนวยความสะดวกให้นายจ้างดำเนินการได้ตลอด 24 ชั่วโมง

ทั้งนี้ หากตรวจพบว่าสถานประกอบกิจการใดฝ่าฝืนไม่ยื่นแบบแสดงสภาพการจ้างและสภาพการทำงานภายในระยะเวลาที่กำหนด ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท

อธิบดี กสร. กล่าวต่อว่า ในส่วนของสถานประกอบกิจการที่มีลูกจ้างลดลงไม่ครบ 10 คน หรือไม่มีลูกจ้าง หรือเลิกกิจการขอให้กรอกแบบฟอร์มดังกล่าวด้วย เพื่อให้พนักงานตรวจแรงงานนำไปปรับปรุงฐานข้อมูลให้เป็นปัจจุบัน สำหรับสถานประกอบกิจการที่เพิ่งมีลูกจ้างครบ 10 คน ก็สามารถยื่นแบบ คร.11 ได้เช่นเดียวกัน

โดยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 หรือสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดทุกจังหวัด หรือโทรศัพท์สายด่วน 1506 กด 3 และ 1546

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 6/1/2565

ก.แรงงาน หวั่นโอมิครอนกระจายแคมป์ก่อสร้าง ส่งเจ้าหน้าที่ตรวจสอบ แนะนำเฝ้าระวังการแพร่ระบาด

นายสุชาติ ชมกลิ่นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานเปิดเผยว่า ด้วยความห่วงใยของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พร้อมทั้งพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ที่กำกับดูแลกระทรวงแรงงาน ที่ให้ความสำคัญต่อความปลอดภัย และสุขภาพอนามัยของนายจ้าง และลูกจ้าง ในสถานการณ์ปัจจุบันที่มีการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด –19) สายพันธุ์โอมิครอนที่เริ่มทวีความรุนแรงในหลายประเทศทั่วโลก และพบการติดเชื้อในกลุ่มผู้เดินทางเข้ามาในประเทศไทยเพิ่มขึ้น ประกอบกับเป็นวันหยุดยาวในช่วงเทศกาลวันปีใหม่ที่ลูกจ้างส่วนใหญ่เดินทางกลับภูมิลำเนาซึ่งอาจจะทำให้เกิดการแพร่ระบาดของสายพันธุ์โอมิครอนภายในประเทศไทยมีความรุนแรงมากขึ้นได้ กระทรวงแรงงานจึงได้มอบหมายให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานออกประกาศกรม เพื่อขอความร่วมมือสถานประกอบกิจการ แคมป์ก่อสร้างให้ดำเนินการตามมาตรการควบคุมโรคของกระทรวงสาธารณสุข DMHTT ด้วยการหลีกเลี่ยงการสัมผัสผู้อื่น สวมใส่หน้ากากอนามัย หมั่นล้างมือ ตรวจวัดอุณหภูมิร่างกายและตรวจหาเชื้อ และใช้งานแอปพลิเคชันไทยชนะพร้อมทั้งเข้าตรวจเยี่ยมสถานประกอบกิจการแคมป์ก่อสร้าง เพื่อตรวจสอบ และประชาสัมพันธ์แนวปฏิบัติในการเฝ้าระวัง การป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด – 19) ในสถานประกอบกิจการเพื่อให้สถานประกอบกิจการใช้เป็นแนวทางในการป้องกัน และควบคุมไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด – 19)

นายนิยม สองแก้ว อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกล่าวเพิ่มเติมว่า หลังเทศกาลวันปีใหม่หากพบลูกจ้างมีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อ หรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าจะติดเชื้อ จำเป็นต้องไปรับการตรวจรักษาให้นายจ้างอนุญาตให้ลูกจ้างใช้สิทธิลาป่วย หรือใช้สิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีตามกฎหมายหรือตามที่ตกลงกัน ทั้งนี้ หากสถานประกอบกิจการ นายจ้าง และลูกจ้าง มีข้อสงสัยเกี่ยวกับสิทธิหน้าที่และการปฏิบัติตามแนวทางนี้ ให้ติดต่อสอบถามได้ที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองจังหวัดทุกจังหวัด หรือสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานครทุกพื้นที่ หรือโทรศัพท์สวยด่วน 1546 หรือ 1506 กด 3

ที่มา: กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน, 5/1/2565

'ประยุทธ์' สั่งหน่วยงานปรับมาตรการ เน้นรัฐ-เอกชน ทำงานที่บ้าน

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม สั่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจับตาดูสถานการณ์กลุ่มผู้ติดเชื้อโอไมครอนเข้มข้น ป้องกันการไม่ให้เกิดรูปแบบคลัสเตอร์ที่แพร่กระจายเชื้อ ถอดบทเรียนจากคลัสเตอร์กาฬสินธุ์ ที่มีผู้ติดเชื้อโอไมครอนคลัสเตอร์นี้แล้ว 244 ราย จำกัดวงลดการแพร่กระจายเชื้อในภายประเทศให้มากที่สุด

สำหรับรายงานยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 วันอาทิตย์ที่ 2 มกราคม 2565 พบยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 รวม 3,112 ราย จำแนกเป็น ผู้ป่วยจากระบบเฝ้าระวังฯ 2,896 ราย ผู้ป่วยจากการค้นหาเชิงรุก 65 ราย ผู้ป่วยภายในเรือนจำ/ที่ต้องขัง 2 ราย ผู้ป่วยมาจากต่างประเทศ 149 ราย ผู้ป่วยสะสม 2,200,695 ราย (ตั้งแต่ 1 เมษายน) หายป่วยกลับบ้าน 2,921 รายหายป่วยสะสม 2,147,304 ราย (ตั้งแต่ 1 เมษายน) ผู้ป่วยกำลังรักษา 33,108 ราย และเสียชีวิต 12 ราย ในส่วนของภาพรวมยอดฉีดวัคซีน วันที่ 1 มกราคม 2565 ยอดฉีดสะสม 104,661,310 โดส แบ่งเป็น เข็มที่ 1 รวม 51,272,838 ราย เข็มที่ 2 รวม 46,147,413 ราย เข็มที่ 3 รวม 6,998,205 ราย

นายธนกร กล่าวอีกว่า สำหรับผู้ที่เดินทางกลับเข้ากรุงเทพฯ ณ สถานีหมอชิตและสถานีหัวลำโพง สามารถรับการตรวจคัดกรองโรคโควิด-19 ด้วย ATK โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย โดยเป็นความร่วมมือระหว่าง กระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงคมนาคม ตามข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี ถึงวันพรุ่งนี้ (3 มกราคม 2565) เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดและสร้างความมั่นใจให้กับประชาชน หลังเดินทางกลับมาทำงานต่อที่กรุงเทพฯ อย่างปลอดภัย

ขั้นตอนการปฏิบัติ 1) ลงทะเบียนผ่าน QR Code ICN Tracking มาจากบ้าน หรือ Walk In หน้างาน 2) ยื่นบัตรประชาชน และรหัสลงทะเบียน 4 หลัก ที่ได้จากการลงทะเบียนสำเร็จ 3) รับอุปกรณ์ Swab จากเจ้าหน้าที่ 4) เข้ารับการ Swab (NPS) ที่รถเก็บตัวอย่างชีวนิรภัย 5) รับทราบผลตรวจผ่าน 2 ช่องทาง ออนไลน์ หรือสแกน QR Code โดยใส่ เลขบัตรประชาชน เบอร์โทรศัพท์ กรณีตรวจพบผลบวก ทีมกรมควบคุมโรคจะให้คำปรึกษา และตรวจ RT-PCR ซ้ำ

ทั้งนี้ รวมทั้งขอความร่วมมือหน่วยงานราชการ-เอกชน ให้ข้าราชการ/พนักงาน ปฏิบัติงานที่บ้าน (WFH) ในช่วง 14 วัน เมื่อเปิดทำการหลังหยุดเทศกาลปีใหม่ด้วย

“นายกรัฐมนตรียังเตือนประชาชน ในช่วงวันหยุดเทศกาลปีใหม่นี้ หากสงสัยว่าตนเองจะติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ขอให้งดเดินทางเข้าไปในพื้นที่ งดร่วมกิจกรรมทันที กักตัวเอง ไม่สัมผัสกับผู้อื่น และรีบเข้าสู่กระบวนการรักษาทันที ปรึกษาแพทย์ เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อไปยังผู้อื่นในสถานที่ต่าง ๆ ร่วมกันรับผิดชอบต่อตนเองและสังคม” นายธนกร กล่าว

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 2/1/2565

เปิดสาระสำคัญ ‘พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานนอกระบบ’ หลักประกัน 20 ล้าน คนทำงาน’

"แรงงานนอกระบบ"ถือเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยมาอย่างยาวนาน ผลการสำรวจภาวการณ์มีงานทำของประชากรไทย โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่าในปี 2564 แรงงานนอกระบบของไทยมีจำนวนกว่า19.6 ล้านคน หรือคิดเป็น 52% ของแรงงานทั้งหมดโดยแรงนอกระบบมากสุด คือ อาชีพเกษตร และประมง รวมทั้ง พ่อค้า แม่ค้า แผงลอย คนขับแท็กซี่ ปัจจุบันยังไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายเกี่ยวกับการส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตและคุ้มครองแรงงานนอกระบบไว้อย่างชัดเจน

ปัจจุบันแรงงานนอกระบบซึ่งเป็นกำลังแรงงานกลุ่มใหญ่ของประเทศ ไม่สามารถเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานในการทำงานหรือการประกอบอาชีพดังกล่าว ดังนั้น เพื่อให้แรงงานนอกระบบได้รับการส่งเสริมการประกอบอาชีพ และพัฒนาสู่คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย จึงจำเป็นต้องตรา พระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตและคุ้มครองแรงงานนอกระบบ พ.ศ. …. เพื่อให้แรงงานนอกระบบสามารถรวมตัวกันจัดตั้งกลุ่มอาชีพ จัดตั้งองค์กรแรงงานนอกระบบ เพื่อสร้างอำนาจต่อรองให้เกิดความเป็นธรรมในการทำงาน และได้รับโอกาสในการกู้ยืมเงินจากกองทุนส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตและคุ้มครองแรงงานนอกระบบ เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการประกอบอาชีพ อันจะทำให้แรงงานนอกระบบมีหลักประกันทางสังคม มีความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน

โดยที่ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ได้กำหนดให้มีการจัดตั้งกองทุนส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตและคุ้มครองแรงงานนอกระบบ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นทุนหมุนเวียนสำหรับใช้จ่ายเกี่ยวกับการส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิต และการคุ้มครองแรงงานนอกระบบ

ล่าสุดที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 28 ธ.ค.ที่ผ่านมาได้เห็นชอบร่างกฎหมายสำคัญที่จะใช้เป็นหลักประกันให้กับคนกลุ่มนี้เป็นการเฉพาะภายใต้ชื่อว่า “ร่างส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตและคุ้มครองแรงงานนอกระบบ พ.ศ. ….” ตามที่กระทรวงแรงงาน เสนอซึ่งรอเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรตามขั้นตอนต่อไป ทั้งนี้ร่างกฎหมายฉบับนี้มีสาระสำคัญที่น่าสนใจดังนี้

1.กำหนดให้แรงงานนอกระบบหมายความถึงคนทำงานสัญชาติไทยที่มีอายุตั้งแต่สิบห้าปีบริบูรณ์ขึ้นไป ซึ่งไม่ได้เป็นลูกจ้างตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน หรือไม่ได้เป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 แห่งกฎหมายว่าด้วยการประกันสังคม รวมถึงผู้ที่คณะกรรมการประกาศกำหนด แต่มิให้หมายความรวมถึงเจ้าหน้าที่ของรัฐและของรัฐวิสาหกิจ ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญหรือตามกฎหมาย

2.กำหนดให้มีการขึ้นทะเบียนแรงงานนอกระบบ (แรงงานนอกระบบ หมายถึง คนทำงานสัญชาติไทยที่มีอายุตั้งแต่สิบห้าปีบริบูรณ์ขึ้นไป ซึ่งไม่ได้เป็นลูกจ้างตามฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน หรือไม่ได้เป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 แห่งกฎหมายว่าด้วยการประกันสังคม) การขึ้นทะเบียนกลุ่มแรงงานนอกระบบตามลักษณะของอาชีพ และการรวมกลุ่มเพื่อจัดตั้งองค์กรได้ กำหนดให้มีคณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตและคุ้มครองแรงงานนอกระบบแห่งชาติ กำหนดให้มีกองทุนส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตและคุ้มครองแรงงานนอกระบบ กำหนดให้มีคณะกรรมการบริหารกองทุนส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตและคุ้มครองแรงงานนอกระบบ กำหนดให้มีพนักงานตรวจแรงงานนอกระบบ และกำหนดให้มีช่องทางการยื่นคำร้องและการพิจารณาคำร้อง บทกำหนดโทษ และบทเฉพาะกาล

3.กำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานมีอำนาจออกประกาศกำหนดหลักเกณฑ์การส่งเสริมการมีงานทำหรือการพัฒนาฝีมือแรงงาน ออกประกาศกำหนดหลักเกณฑ์ และสนับสนุนการดำเนินการสร้างหลักประกันทางสังคมให้กับแรงงานนอกระบบ กลุ่มแรงงานนอกระบบ และองค์กรแรงงานนอกระบบ รวมถึงออกกฎกระทรวงกำหนดสภาพการทำงาน ค่าตอบแทน หรือสิทธิประโยชน์อื่น ๆ รวมทั้งรูปแบบหรือเงื่อนไขในการทำสัญญา เพื่อคุ้มครองแรงงานนอกระบบบางกลุ่มหรือบางประเภทซึ่งมีการจ้างทำงานหรือให้บริการระหว่างแรงงานนอกระบบกับผู้จ้างทำงาน

4.กำหนดให้แรงงานนอกระบบมีสิทธิขึ้นทะเบียนแรงงานนอกระบบ และกำหนดให้แรงงานนอกระบบตั้งแต่ 5 คนขึ้นไปขึ้นทะเบียนกลุ่มแรงงานนอกระบบตามลักษณะของอาชีพ รวมทั้งกำหนดให้แรงงานนอกระบบตั้งแต่ 15 กลุ่มขึ้นไปขึ้นทะเบียนเพื่อจัดตั้งองค์กรแรงงานนอกระบบได้ รวมทั้งกำหนดให้องค์กรแรงงานนอกระบบมีสิทธิเสนอความเห็นต่อคณะกรรมการฯ เพื่อพิจารณาให้หน่วยงานของรัฐจัดให้มีการส่งเสริมการมีงานทำ การเข้าถึงแหล่งทุนและสิทธิประโยชน์อื่น ๆ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานนอกระบบ

5.กำหนดให้มี "คณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานนอกระบบแห่งชาติ" ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการ โดยมีหน้าที่และอำนาจในการกำหนดนโยบายและแผนปฏิบัติการด้านการส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตและคุ้มครองแรงงานนอกระบบ และเสนอแนวทางในการแก้ไข ปรับปรุง กฎหมาย กฎกระทรง หรือประกาศที่เกี่ยวกับการส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตและคุ้มครองแรงงานนอกระบบต่อคณะรัฐมนตรี

6.กำหนดให้มีกองทุนส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตและคุ้มครองแรงงานนอกระบบ ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นทุนหมุนเวียนสำหรับใช้จ่ายเกี่ยวกับการส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิต และการคุ้มครองแรงงานนอกระบบ โดยกำหนดให้เงินและดอกผลที่กองทุนได้รับ ได้แก่ ค่าปรับที่ได้รับจากการลงโทษผู้กระทำความผิดเงินค่าสมาชิก เงินหรือทรัพย์สินที่มีผู้บริจาคหรืออุทิศให้ เงินที่ได้รับจากต่างประเทศหรือองค์การระหว่างประเทศ ดอกผลและผลประโยชน์ที่เกิดจากกองทุน เงินที่ได้จากการขายทรัพย์สินของกองทุนหรือที่ได้จากการจัดหารายได้ เงินหรือทรัพย์สินที่ตกเป็นของกองทุนหรือที่กองทุนได้รับจัดสรรจากกฎหมายอื่น ไม่ต้องนำส่งกระทรวงการคลังเป็นรายได้แผ่นดิน

7.กำหนดให้คณะกรรมการบริหารกองทุนส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตและคุ้มครองแรงงานนอกระบบ โดยมีหน้าที่และอำนาจในการกำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์กำกับดูแลการบริหารจัดการ และติดตามการดำเนินงานให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของกองทุน กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขของการใช้จ่ายเงินให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของกองทุน และพิจารณาอนุมัติแผนการดำเนินงานประจำปีงบประมาณ

8.กำหนดให้พนักงานตรวจแรงงานนอกระบบมีอำนาจในการเข้าไปในสถานที่ทำงานของแรงงานนอกระบบ หรือสำนักงานของผู้จ้างทำงาน หรือสถานประกอบกิจการที่เกี่ยวข้องกับแรงงานนอกระบบในเวลาทำงาน เพื่อตรวจสภาพการทำงานของแรงงานนอกระบบ สอบถามข้อเท็จจริง และมีหนังสือสอบถามหรือเรียกผู้จ้างทำงาน เจ้าของสถานประกอบกิจการมาชี้แจงข้อเท็จจริงหรือให้ส่งสิ่งของหรือเอกสารที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งมีคำสั่งเป็นหนังสือให้ผู้จ้างทำงาน เจ้าของสถานประกอบกิจการที่เกี่ยวข้องกับแรงงานนอกระบบ

9.กำหนดให้มีบทกำหนดโทษ ได้แก่

- กำหนดให้ผู้ใดขัดขวางหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานนอกระบบต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองหมื่นบาท

- กำหนดให้ผู้จ้างทำงานผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

- กำหนดให้ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานนอกระบบที่สั่ง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

- กำหนดให้บรรดาความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ ถ้าเจ้าพนักงานดังต่อไปนี้ เห็นว่าผู้กระทำผิดไม่ควรได้รับโทษจำคุกหรือไม่ควรถูกฟ้องร้อง ให้มีอำนาจเปรียบเทียบ ดังนี้

ปลัดกระทรวงหรือผู้ซึ่งปลัดกระทรวงมอบหมาย สำหรับความผิดที่เกิดขึ้นในกรุงเทพมหานคร ผู้ว่าราชการจังหวัดหรือผู้ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดมอบหมาย สำหรับความผิดที่เกิดขึ้นในจังหวัดอื่น

กำหนดให้มีบทเฉพาะกาล ได้แก่

- กำหนดให้คณะกรรมการประกอบด้วยกรรมการโดยตำแหน่ง ปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ไปพลางก่อนจนกว่าจะมีการแต่งตั้งกรรมการ ทั้งนี้ ต้องไม่เกินหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ

- กำหนดให้กองบริหารการคลัง สำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน ทำหน้าที่สำนักงานบริหารกองทุนไปพลางก่อน จนกว่าจะมีการจัดตั้งสำนักงานบริหารกองทุน และให้ผู้อำนวยการกองบริหารการคลัง สำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน ทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยการสำนักงานบริหารกองทุน จนกว่าจะมีการแต่งตั้งผู้อำนวยการสำนักงานบริหารกองทุน

- กำหนดให้คณะอนุกรรมการส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตและคุ้มครองแรงงานนอกระบบจังหวัดประกอบด้วยกรรมการโดยตำแหน่ง ปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ไปพลางก่อนจนกว่าจะมีการแต่งตั้งอนุกรรมการ ทั้งนี้ ต้องไม่เกินหนึ่งร้อยยี่สิบวัน นับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ

และ กำหนดให้โอนบรรดาทรัพย์สิน สิทธิ หนี้ เงินงบประมาณ และรายได้ที่ประกอบเป็นกองทุนเพื่อผู้รับงานไปทำที่บ้านไปเป็นของกองทุนส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตและคุ้มครองแรงงานนอกระบบตามพระราชบัญญัตินี้

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 2/1/2565

ก.แรงงาน ส่งของขวัญปีใหม่ให้ลูกจ้าง กู้เงินผ่านสหกรณ์ออมทรัพย์ดอกเบี้ยต่ำวงเงิน 50 ล้าน

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า เทศกาลปีใหม่เป็นเทศกาลแห่งความสุขของพี่น้องแรงงานทุกคน และถือเป็นนิมิตรหมายอันดีในการส่งต่อความสุขให้ผู้ใช้แรงงาน รัฐบาลโดยการนำของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พร้อมทั้ง พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ที่กำกับดูแลกระทรวงแรงงาน ได้เห็นชอบให้กระทรวงแรงงานจัดหาของขวัญปีใหม่เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนและเป็นกำลังใจให้กับพี่น้องผู้ใช้แรงงาน โดยกระทรวงแรงงานได้มอบให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานออกประกาศคณะกรรมการบริหารกองทุนเพื่อผู้ใช้แรงงาน เรื่อง โครงการเงินกู้เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงาน เพื่อช่วยเหลือให้ผู้ใช้แรงงานที่เป็นสมาชิกสหกรณ์ออมทรัพย์ในสถานประกอบกิจการ และรัฐวิสาหกิจสามารถเข้าถึงการบริการเงินกู้ของกองทุนเพื่อผู้ใช้แรงานในการนำไปลงทุนประกอบอาชีพเสริม เพื่อพัฒนารายได้แก่ตนเองและครอบครัว โดยประกาศนี้บังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2565 เป็นต้นไป โครงการนี้มีวงเงินในการดำเนินโครงการ 50 ล้านบาท มีระยะเวลาในการยื่นคำขอกู้ตามโครงการ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – วันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2565 หรือจนกว่าจะมีสหกรณ์ออมทรัพย์ใช้บริการครบตามวงเงินที่กำหนด ซึ่งสหกรณ์ออมทรัพย์ในสถานประกอบกิจการหรือในรัฐวิสาหกิจ สามารถยื่นคำขอกู้เงินจากกองทุนเพื่อผู้ใช้แรงงานตามโครงการนี้ เพื่อนำไปให้บริการเงินกู้แก่ผู้ใช้แรงงานที่เป็นสมาชิกสหกรณ์ออมทรัพย์ ได้ไม่เกินแห่งละ 10 ล้านบาท ในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0.50 ต่อปี ระยะเวลาการส่งชำระคืนสูงสุดไม่เกิน 3 ปี โดยผ่อนส่งเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยเงินกู้เป็นงวดรายเดือน พร้อมกันนี้ผู้ใช้แรงงานที่เป็นสมาชิกสหกรณ์ออมทรัพย์กู้ได้ไม่เกินคนละ 100,000 บาท

นายนิยม สองแก้ว อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กล่าวเพิ่มเติมว่า สหกรณ์ออมทรัพย์ที่ประสงค์เข้าร่วมโครงการ สามารถยื่นคำขอกู้เงินต่อกองทุนเพื่อผู้ใช้แรงงาน โดยมีคณะกรรมการดำเนินงานสหกรณ์ทั้งคณะและผู้ปฏิบัติหน้าที่ผู้จัดการสหกรณ์เป็นผู้ค้ำประกันการกู้เงิน ในส่วนของอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ สหกรณ์ออมทรัพย์ที่เข้าร่วมโครงการ ต้องให้บริการเงินกู้กับสมาชิกโดยกำหนดอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยประเภทเงินกู้สามัญที่เรียกเก็บจากสมาชิกไม่น้อยกว่าร้อยละ 2.25 ต่อปี และในกรณีที่มีปัญหาในการดำเนินการตามประกาศนี้ ให้นำเสนอคณะกรรมการบริหารกองทุนเพื่อผู้ใช้แรงงานพิจารณาเป็นกรณีไป ผลการพิจารณาของคณะกรรมการบริหารกองทุนเพื่อผู้ใช้แรงงานให้ถือเป็นที่สุด ทั้งนี้ หากมีข้อสงสัยเพิ่มเติมสามารถติดต่อ กองสวัสดิการแรงงาน กลุ่มงานกองทุนเพื่อผู้ใช้แรงงาน โทร 0 2660 2180

ที่มา: มติชนออนไลน์, 1/1/2565

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท