Skip to main content
sharethis

เจ้าหน้าที่คาซัคสถานเปิดฉากยิงใส่ประชาชนจนมีผู้เสียชีวิตอย่างน้อยหลายสิบราย หลังจากที่ประชาชนทำการชุมนุมประท้วงการขึ้นราคาก๊าซเกือบสองเท่ารวมถึงความเจ็บแค้นจากสภาวะความเป็นอยู่ที่ยากจนในบางพื้นที่ นอกจากนี้ยังมีผู้บาดเจ็บอีกมากกว่า 1,000 ราย และมีผู้ถูกจับกุมประมาณ 2,000 ราย

ภาพที่ถูกอัพโหลดไว้ในเว็บไซต์วิกิมีเดีย ระบุชื่อผู้ถ่ายคือ Esetok ถ่ายไว้เมื่อ 4 ม.ค.2565

เมื่อวันที่ 6 ม.ค. ที่ผ่านมามีเหตุการณ์ที่เจ้าหน้าที่ของคาซัคสถานเปิดฉากยิงใส่ผู้ชุมนุมประท้วงในเมืองอัลมาเตอ ทำให้มีผู้ประท้วงหลายสิบรายเสียชีวิตโดยยังไม่มีตัวเลขระบุจำนวนที่ชัดเจน หลังจากที่ชาวคาซัคสถานชุมนุมประท้วงอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่วันที่ 2 ม.ค.

ผู้ประท้วงในคาซัคสถานชุมนุมในครั้งนี้เพื่อแสดงความไม่พอใจที่รัฐบาลขึ้นราคาก๊าซเกือบสองเท่าอีกทั้งยังมีความไม่พอใจอื่นๆ เช่นสภาวะความเป็นอยู่ที่ยากจนในบางพื้นที่ รวมถึงการที่ต้องทนอยู่ภายใต้การปกครองของคนกลุ่มเดิมมาเป็นเวลายาวนาน 30 ปี

เหตุการณ์กราดยิงผู้ชุมนุมที่เกิดขึ้นยังทำให้มีผู้บาดเจ็บอีกมากกว่า 1,000 ราย และมีผู้ถูกจับกุมประมาณ 2,000 ราย จากข้อมูลของสื่อช่องรัฐบาล สื่อระบุอีกว่ามีฝ่ายเจ้าหน้าที่เสียชีวิต 18 รายและได้รับบาดเจ็บ 748 รายจากเหตุรุนแรงที่เกิดขึ้น

ฝ่ายรัฐบาลอ้างว่าที่พวกเขาใช้ความรุนแรงเพราะต้องการ "ปราบปรามผู้ก่อการร้าย" นอกจากนี้ประธานาธิบดี Kassym-Jomart Tokayev ของคาซัคสถานยังได้เรียกร้องให้รัสเซียและกลุ่มประเทศที่เป็นพันธมิตรของพวกเขาช่วยกัน "ปราบปรามภัยก่อการร้าย" โดยกลุ่มประเทศพันธมิตรของพวกเขา คือ องค์การสนธิสัญญาความมั่นคงร่วมกัน หรือ CSTO ซึ่งประกอบด้วย คาซัคสถาน, รัสเซีย, เบลารุส และประเทศอื่นๆ รวม 6 ประเทศ

ในวันที่ 6 ม.ค. Nikol Pashinyan นายกรัฐมนตรีอาร์มีเนียและประธานของ CSTO ก็ตอบสนองข้อเรียกร้องและแถลงว่าพวกเขาจะส่งกองกำลังเข้าไปในคาซัคสถาน อีกทั้งยังอ้างว่ามี "การแทรกแซงจากต่างชาติ" ที่จะ "เป็นภัยต่อความมั่นคง" และอธิปไตยของคาซัคสถาน ทั้งๆ ที่การประท้วงนี้มีขึ้นหลังจากที่ประชาชนไม่พอใจสภาพชีวิตความเป็นอยู่และการขึ้นราคาปัจจัยดำรงชีพของพวกเขา

ขณะที่ทางการรัสเซียได้ส่งกองกำลังของตัวเองเข้าไปในคาซัคสถานแล้วในวันที่ 6 ม.ค. ที่ผ่านมา โดยที่กระทรวงกลาโหมของรัสเซียอ้างว่าเป็นเพราะคาซัคสถานซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศอดีตสหภาพโซเวียตขอความช่วยเหลือจากพวกเขา

การใช้ความรุนแรงต่อผู้ชุมนุมเกิดขึ้นหลังจากที่มีเหตุการณ์กลุ่มผู้ชุมนุมบุกเข้าไปในอาคารสถานที่ทำการของรัฐบาลหลายแห่ง ซึ่งทางรัฐบาลคาซัคสถานระบุว่ามีกลุ่มผู้ชุมนุมส่วนหนึ่งที่ติดอาวุธและต่อสู้กับรัฐบาลมาเป็นเวลานานแล้ว และมีการเปิดเผยว่าเจ้าหน้าที่ทางการที่เสียชีวิต 18 ราย มีอยู่ 2 รายที่ถูกตัดศีรษะ อีกทั้งประธานาธิบดี Tokayav ยังอ้างอีกว่ากลุ่มที่ติดอาวุธ "ได้รับการฝึกฝนอย่างจริงจังในต่างประเทศ"

สื่อยาฮูรายงานถึงสภาพความเสียหายในเมืองอัลมาเตอว่ามีรถถูกเผาทำลายไปทั่วท้องถนน และมีสถานที่ทำการรัฐบาลหลายแห่งได้รับความเสียหาย มีปลอกกระสุนกระจายอยู่ตามพื้น

อย่างไรก็ตามสภาพความโกลาหลและความรุนแรงที่เกิดขึ้นนั้นยังมีลักษณะไม่ชัดเจนเพราะมีการตัดสัญญาณโทรศัพท์มือถือและอินเทอร์เน็ตก็ถูกปิดกั้นใช้การไม่ได้เป็นเวลาหลายชั่วโมง การที่อินเทอร์เน็ตล่มทำให้ไม่สามารถเข้าถึงสื่ออิสระในคาซัคสถานได้

ในคาซัคสถานมีการปกครองยาวนานภายใต้ประธานาธิบดี Nursultan Nazarbayev ที่ลงจากตำแหน่งในปี 2562 แต่ก็คัดเลือกให้ Tokayev มารับสืบทอดตำแหน่งต่อ ซึ่ง Tokayev ได้ประกาศลาออกเมื่อวันที่ 5 ม.ค. ที่ผ่านมาแล้วแต่การประท้วงก็ยังคงดำเนินต่อไป ทางการคาซัคสถานยังได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินไปจนถึงวันที่ 19 ม.ค. จำกัดการเดินทางและห้ามการชุมนุมรวมถึงกำหนดให้มีเคอร์ฟิว

ชาติอื่นๆ นอกจากกลุ่ม CSTO ก็มีการโต้ตอบเกี่ยวกับเหตุรุนแรงที่เกิดขึ้น โดยที่ทางการสหรัฐฯ แถลงว่าพวกเขากำลัง "ติดตามอย่างใกล้ชิด" เกี่ยวกับสถานการณ์ในคาซัคสถาน รวมถึงประณามความรุนแรงและการทำลายทรัพย์สิน เรียกร้องให้ทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายผู้ชุมนุมมีความอดกลั้น รวมถึงขอให้ทุกฝ่ายเคารพในหลักการรัฐธรรมนูญ สิทธิมนุษยชน และเสรีภาพสื่อ รวมถึงเรียกร้องให้มีการยกเลิกปิดกั้นอินเทอร์เน็ตด้วย

ทางการรัสเซียเรียกร้องให้มีการเจรจาหารือกันในขณะเดียวกับที่พวกเขาส่งกองกำลังเข้าไปในคาซัคสถาน โดยที่ยูโรนิวส์ระบุว่าคาซัคสถานเป็นประเทศพันธมิตรทางเศรษฐกิจที่สำคัญกับรัสเซียและอดีตประธานาธิบดีก็มีความใกล้ชิดกับผู้นำรัสเซียวลาดิเมียร์ ปูติน

ทางการอังกฤษและฝรั่งเศส แถลงเรียกร้องให้มีการใช้วิธีเจรจาหารือเช่นกัน และแสดงความเป็นห่วงต่อสถานการณ์ที่มีการปะทะกัน

Josep Borrell ผู้แทนระดับสูงของสหภาพยุโรปด้านการต่างประเทศและนโยบายความมั่นคงแถลงเน้นย้ำให้ต้องมีการเคารพสิทธิและคำนึงถึงความปลอดภัยของพลเรือน อีกทั้งยังบอกว่า "การที่ภายนอกให้ความช่วยเหลือทางการทหารชวนให้นึกถึงสถานการณ์ที่ควรจะหลีกเลี่ยงได้" และบอกว่าทางสหภาพยุโรปพร้อมที่จะสนับสนุนการแก้ไขวิกฤตการณ์

 

เรียบเรียงจาก

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net