Skip to main content
sharethis

เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของเยอรมนีที่มีการแต่งตั้งกรรมาธิการด้านความหลากหลายทางเพศ ได้รับการตอบรับที่ดีจากกลุ่มนักกิจกรรมที่พร้อมสนับสนุนแผนการอื่นๆ ของรัฐบาลฝ่ายซ้ายกลางที่ต้องการลดการกีดกันและคำนึงถึงสิทธิในการกำหนดชีวิตตนเองของคนข้ามเพศและนอนไบนารีด้วย

9 ม.ค. 2565 รัฐบาลพรรคฝ่ายซ้ายกลางของเยอรมนีที่เพิ่งเป็นรัฐบาลมาได้หนึ่งเดือนได้แต่งตั้ง "กรรมาธิการรัฐบาลกลางด้านการยอมรับความหลากหลายทางเพศสภาพและเพศวิถี" ซึ่งนับเป็นตำแหน่งใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อนในเยอรมนี ผู้ที่ได้รับตำแหน่งนี้คือ Sven Lehmann นักการเมืองพรรคกรีนของเยอรมนีที่เป็นหนึ่งในพรรคแนวร่วมรัฐบาล

Lehmann กล่าวในการรับตำแหน่งเมื่อวันที่ 5 ม.ค. 2565 ที่ผ่านมาว่า "ทุกคนควรจะสามารถใช้ชีวิตได้อย่างอิสระ, ปลอดภัย และมีสิทธิความเท่าเทียม"

โดยที่ตำแหน่ง Lehmann มีความรับผิดชอบในด้านการทำงานร่วมกับกระทรวงต่างๆ ของรัฐบาลเยอรมนีในการดำเนินโครงการนโยบายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องส่งผลต่อชุมชน LGBTQ+ นอกจากนี้ Lehmann ยังจะเป็นหัวหอกของแผนปฏิบัติการแห่งชาติเพื่อความหลากหลายทางเพศสภาพและเพศวิถีด้วย

รัฐบาลปัจจุบันของเยอรมนีมีผู้นำรัฐบาลเป็นพรรคซ้ายกลางคือพรรคสังคมนิยมประชาธิปไตย (SPD) และมีพรรคแนวร่วมรัฐบาลเป็นพรรคฝ่ายซ้ายอีกพรรคหนึ่งคือพรรคกรีนกับพรรคฟรีเดโมแครต (FDP) ซึ่งเป็นพรรคสายเสรีนิยมใหม่ ซึ่งพรรคแนวร่วมรัฐบาลเหล่านี้เคยมีแผนการข้อตกลงร่วมกันในกลุ่มพรรคแนวร่วมฯ ว่า "เยอรมนีควรจะเป็นผู้ริเริ่มในการต่อสู้กับการกีดกันเลือกปฏิบัติ"

Lehmann กล่าวในการเข้ารับตำแหน่งของเขาอีกว่าควรจะมีการคุ้มครองบุคคลตามหลักการกฎหมายรัฐธรรมนูญไม่ว่าพวกเขาจะมีตัวตนทางเพศสภาพหรือเพศวิถีแบบใดก็ตาม และควรทำให้มีการรองรับสิทธิขั้นพื้นฐานของคนข้ามเพศ อินเตอร์เซ็กส์ และนอนไบนารี อย่างเต็มที่

"พวกเราควรจะมียุทธศาสตร์กว้างๆ ในการต่อต้านความเกลียดชังต่อกลุ่มอัตลักษณ์เหล่านี้ โดยเฉพาะความเกลียดกลัวต่อกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ" Lehmann กล่าว

Lehmann เป็นผู้แทนพรรคกรีนที่ดำรงตำแหน่ง ส.ส. ในสภาเยอรมนีมาตั้งแต่ปี 2560 ระหว่างปี 2561-2564 เขาเคยดำรงตำแหน่งเป็นโฆษกเพื่อนโยบายความหลากหลายทางเพศและนโยบายทางสังคมภายในกลุ่ม ส.ส. พรรคกรีนร่วมกับ Ulle Schauws

Schauws กล่าวว่า Lehmann มีแรงผลักดันที่จะทำงานเกี่ยวกับประเด็นด้านความเป็นธรรมในสังคม นั่นทำให้การต่อสู้เพื่อให้ผู้คนหลุดพ้นจากการถูกกีดกันเลือกปฏิบัติ เพื่อการยอมรับตัวตนที่แตกต่าง และเพื่อความหลากหลาย เป็นสิ่งที่ขับดัน Lehmann อีกทั้งการที่ Lehmann มีความใกล้ชิดกับกลุ่มสิทธิมนุษยชนและกลุ่มนักกิจกรรมยังทำให้เขาเข้าใจว่ามีประเด็นอะไรที่ส่งผลกระทบต่อผู้ความหลากหลายทางเพศ รวมถึงพร้อมจะเปิดใจรับฟังปัญหาและเรื่องที่ว่าอะไรคือสิ่งสำคัญ

สมาคมเกย์และเลสเบียนเยอรมนี (LSVD) กล่าวว่าการที่รัฐบาลเยอรมนีเปิดหน่วยงานใหม่ในเรื่องความหลากหลายทางเพศถือเป็นการส่งสัญญาณอย่างมีนัยสำคัญต่อความเข้าใจเรื่องความหลากหลายทางเพศซึ่งพรรคแนวร่วมรัฐบาลเคยให้สัญญาไว้

Henny Engels หนึ่งในกรรมการบอร์ด LSVD กล่าวว่าเรื่องสำคัญเร่งด่วนในตอนนี้คือการที่ทำให้กลุ่ม LGBTQ+ ได้รับการคำนึงถึงอย่างครอบคลุมในโครงการรับผู้ลี้ภัยชาวอัฟกานิสถาน โดยที่อัฟกานิสถานเพิ่งจะเกิดเหตุยึดอำนาจโดยกลุ่มตาลีบันเมื่อกลางปีที่ผ่านมา และส่งผลให้กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศเสี่ยงต่อการถูกคุกคามจากรัฐบาลตาลีบัน ซึ่งในเดือน ธ.ค. ที่ผ่านมา Annalena Baerbock รัฐมนตรีต่างประเทศของเยอรมนีก็เคยบอกว่าพวกเขาจะมีแผนการปรับลดกระบวนการที่ชักช้าแบบระบบราชการเพื่อให้กระบวนการขอลี้ภัยชาวอัฟกานิสถานเร็วขึ้น

อีกองค์กรหนึ่งคือสมาคมเพื่ออัตลักษณ์คนข้ามเพศและอินเตอร์เซ็กส์เยอรมนี (DGTI) กล่าวว่าพวกเขาคาดหวังว่าจะได้ทำงานร่วมกับ Lehmann เพื่อนำไปสู่โลกที่ดีขึ้นสำหรับคนข้ามเพศ อินเตอร์เซ็กส์ และนอนไบนารี ประเด็นที่กลุ่ม DGTI ผลักดันมาเป็นเวลาหลายปีอาจจะได้เป็นจริงเช่นการยกเลิกกฎหมายคนข้ามเพศแบบเดิมแล้วหันมาแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายที่จะส่งเสริมการยอมรับอัตลักษณ์ทางเพศสภาพตามที่บุคคลแต่ละบุคคลตัดสินใจได้ด้วยตัวเองที่เรียกว่า "self-determination"

สำหรับในเยอรมนีนั้นพวกเขาเป็นหนึ่งในประเทศแรกๆ ของโลกที่ยอมรับเพศสภาพมากกว่า 2 เพศ ซึ่งจะเป็นการคำนึงถึงอย่างครอบคลุมต่อนอนไบนารีด้วย จากการที่ในปี 2561 มีการระบุถึง "เพศหลากหลาย" เพิ่มขึ้นมาจาก "เพศชาย" และ "เพศหญิง"

พรรคร่วมรัฐบาลที่นำโดยพรรคซ้ายกลางของเยอรมนียังได้ให้สัญญาว่าจะให้มีการปฏิรูปพัฒนาสิทธิ LGBTQ+ ตั้งแต่การยกเลิกข้อจำกัดการบริจาคเลือดของชายชาวเกย์ อนุญาตให้มีการเปลี่ยนเพศทางกฎหมายของคนข้ามเพศโดยอาศัยการตัดสินใจของคนข้ามเพศนั้นๆ เอง นอกจากนี้ยังจะทำให้ระบบประกันสุขภาพภาคบังคับครอบคลุมถึงบริการสุขภาพด้านการข้ามเพศ และมีแผนการตั้งกองทุนชดเชยเพื่อคนข้ามเพศและอินเตอร์เซ็กส์ที่เคยถูกกระทำจากกฎหมายก่อนหน้านี้ของเยอรมนีเช่นการถูกบังคับให้ทำหมัน

ก่อนหน้าการเปลี่ยนแปลงกฎหมายในปี 2554 คนข้ามเพศในเยอรมนีถูกบังคับให้ต้องทำหมันด้วยถ้าหากต้องการได้รับการเปลี่ยนเพศทางกฎหมาย บางคนก็ถูกบังคับให้ต้องผ่าตัดแปลงเพศก่อนถึงจะสามารถเปลี่ยนเพศทางกฎหมายได้ ซึ่งทางกลุ่ม DGTI มองว่าควรจะมีการชดเชยให้กับคนข้ามเพศที่ถูกบังคับในเรื่องเหล่านี้ด้วย

การตั้งกองทุนชดเชยในแง่นี้จะเป็นการที่เยอรมนีเดินรอยตามประเทศสวีเดนและเนเธอร์แลนด์ในแง่พัฒนาการในประเด็นความหลากหลายทางเพศ

Volker Beck นักการเมืองพรรคกรีนอดีตส.ส.กล่าวชื่นชมที่รัฐบาลตั้งหน่วยงานในเรื่องความหลากหลายทางเพศถึงแม้เขาจะมองว่า "มันออกจะมาช้าไปสักหน่อย" ซึ่ง Schauws ก็เห็นตรงกันว่ามันออกจะมาช้าไปสักหน่อยเมื่อเทียบกับพัฒนาการของประเทศอื่นๆ

Schauws บอกว่านอกจากประเด็นการเมืองเรื่องความหลากหลายทางเพศแล้ว ความเป็นธรรมทางสังคมสำหรับเขายังครอบคลุมถึงการต่อต้านการกีดกันเลือกปฏิบัติและต่อต้านความเกลียดชังเชิงอัตลักษณ์ในรูปแบบอื่นๆ ด้วย จากการที่เยอรมนีก็เริ่มมีพวกกลุ่มฝ่ายขวาที่กระทำในเรื่องการเหยียดและเลือกปฏิบัติเช่นนี้มากขึ้นแบบในหลายประเทศ Schauws บอกว่าพวกเขาต้องคอยจับตามองฝ่ายขวาเหล่านี้และบอกว่า "อย่าทำแบบนี้ อย่าทำในประเทศของพวกเรา"


เรียบเรียงจาก
LGBTQ+ rights: Germany appoints first 'commissioner for queer affairs', DW, 06-01-2022

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net