Skip to main content
sharethis

รัฐบาลญี่ปุ่นตั้งเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนให้พนักงานชายใช้สิทธิ์ 'ลางานเพื่อดูแลบุตร' ทั่วประเทศให้ได้ 30% ภายในปี 2568 แก้ไขกฎหมายเพื่อกระตุ้นให้ผู้ชายลางานเพื่อเลี้ยงดูบุตรมากขึ้น


ที่มาภาพประกอบ: depokom (Pixabay License)

9 ม.ค. 2565 ในอดีตวัฒนธรรมการทำงานอย่างเอาจริงเอาจัง ทำให้ผู้ชายญี่ปุ่นมักไม่ค่อยลางานเพื่อเลี้ยงดูบุตร โดยมีฐานคิดที่ว่าเพื่อไม่ให้เป็นภาระกับเพื่อนร่วมงานขณะที่พวกเขาไม่อยู่ แต่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาแนวคิดนี้กลับเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง ด้วยวิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไป

จากการสำรวจ Asahi Shimbun ในปีงบประมาณ 2563 พบว่าพนักงานชายใน 42 บริษัท จากบริษัทชั้นนำ 100 แห่งของประเทศ มีอัตราส่วนใช้สิทธิ์ลางานเพื่อดูแลบุตรเกิน ร้อยละ 30 แล้ว และสัดส่วนนี้ยิ่งเพิ่มขึ้นไปอีกในบริษัทชั้นนำ 20 แห่ง ที่มีอัตราส่วนสูงถึงร้อยละ 70 เลยทีเดียว

ทั้งนี้รัฐบาลญี่ปุ่นได้ตั้งเป้าหมายที่จะเพิ่มสัดส่วนนี้ให้สอดคล้องกันทั่วประเทศ จากเพียง ร้อยละ 12.65 ในการสำรวจกระทรวงแรงงานเมื่อปี 2563 ให้เพิ่มขึ้นเป็น ร้อยละ 30 ภายในปี 2568

อย่างไรก็ตาม ธุรกิจชั้นนำกลับให้ระยะเวลาเฉลี่ยของการลางานเพื่อเลี้ยงดูบุตรรวมได้เพียง 2-3 วัน ในแต่ละกรณีเท่านั้น แม้ว่าจะมีพนักงานชายที่เข้าเกณฑ์ในสัดส่วนที่สูงที่จะใช้ประโยชน์จากสวัสดิการนี้

ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับปัญหาด้านแรงงานตั้งข้อสังเกตว่านายจ้างจะอยู่ในสถานการณ์ที่ทั้ง 2 ฝ่ายได้ประโยชน์ หากอนุญาตให้พนักงานชายลางานเพื่อเลี้ยงดูบุตรได้อย่างน้อย 2 สัปดาห์ขึ้นไป

ในการสำรวจเมื่อเดือน พ.ย. 2564 Asahi Shimbun ได้สอบถามบริษัทจำนวนหนึ่งว่าพนักงานชายมีสิทธิ์ลางานเพื่อดูแลบุตรสัดส่วนในเท่าไร และให้เวลาโดยเฉลี่ยกี่วัน มีบริษัท 6 แห่ง ระบุว่าพนักงานชายของพวกเขาทุกคนมีสิทธิ์ลาเพื่อเลี้ยงดูบุตร

Sekisui House Ltd. บริษัทที่อยู่อาศัยในโอซาก้า เป็น 1 ใน 6 ของบริษัทที่กล่าวไป บริษัทฯ ระบุว่าเวลามีวันลาให้พนักงานชายดูแลบุตรทั้งหมด 31 วัน และเรียกร้องให้พนักงานชายลางานเพื่อใช้สิทธิ์นี้อย่างเต็มที่

โยชิฮิโร นาคาอิ ประธาน Sekisui House Ltd. กล่าวว่า "เป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งที่พวกเขาต้องเผชิญหน้ากับสถานการณ์ครอบครัวที่เปลี่ยนแปลงไปเมื่อลูก ๆ ของพวกเขาเกิดมา .. ความหวังของผมคือการลางานเพื่อเลี้ยงดูบุตรจะไม่จบลงเพียงชั่วคราว"

ส่วนที่ Nippon Telegraph and Telephone Corp. ยักษ์ใหญ่ด้านโทรคมนาคมของญี่ปุ่น มีพนักงานชายใช้สิทธิ์ลางานเพื่อดูแลบุตรมากถึงร้อยละ 80 โดยเฉลี่ย 51 วัน เลยทีเดียว นอกจากนี้บริษัทฯ ยังจัดให้มีการฝึกอบรมแก่พนักงานชายที่ลางานดังกล่าว

ธุรกิจภาคการเงินประสบความสำเร็จอย่างน่าทึ่งในการประกันว่าพนักงานชายจะใช้สิทธิ์ลางานเพื่อดูแลบุตร โดยมีตัวเลขเกิน ร้อยละ 90 เป็นส่วนใหญ่ บริษัท Nippon Life Insurance Co. ประกาศว่าพนักงานชายที่มีบุตรได้ใช้สิทธิ์ลางานเพื่อเลี้ยงดูบุตรครบทุกคนเป็นเวลา 8 ปี ติดต่อกันจนถึงปีงบประมาณ 2563 ที่ผ่านมา

ซาโตชิ อาซาชิ ผู้จัดการอาวุโสของบริษัทฯ กล่าวว่า "เราสนับสนุนให้พนักงานชายของเราลาเพื่อดูแลบุตรได้ โดยพนักงานใหม่จะสามารถลาได้ 1 สัปดาห์ เพื่อส่งเสริมวัฒนธรรมองค์กรที่ไม่ทำให้พวกเขารู้สึกเฉยเมยหรือกังวลเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์จากสวัสดิการนี้" 

แต่กระนั้นหลายบริษัทในภาคการเงิน มีระยะเวลาการลางานของพนักงานชายเพื่อเลี้ยงดูบุตรโดยเฉลี่ยไม่ถึง 10 วัน และในกรณีของ Nippon Life ก็ลาได้แค่เพียง 8 วันเท่านั้น

ส่วนบริษัทในภาคการผลิต พนักงานชายมักจะได้วันลาเพื่อดูแลเด็กนานขึ้น มากกว่าครึ่งของบริษัท 30 แห่งที่ Asahi Shimbun สำรวจนั้นมีระยะเวลาการลาเฉลี่ย 30 วันขึ้นไป แต่ในทางกลับกันพนักงานชายในภาคการผลิตมีอัตราการใช้สิทธิ์ลางานเพื่อดูแลบุตรที่ต่ำมาก หลายบริษัทใช้สิทธิ์ต่ำกว่า ร้อยละ 20 และบางบริษัทตัวเลขเป็นเพียงหลักเดียว

การสำรวจของ Asahi Shimbun ยังพบว่าบริษัทในภาคส่วนต่าง ๆ ระบุว่าพวกเขามีสวัสดิการอื่น ๆ นอกเหนือจากที่รัฐบาลกำหนด เพื่อช่วยให้พนักงานชายลางานเพื่อการดูแลบุตรได้ง่ายขึ้น

ทั้งนี้การแก้ไขกฎหมายว่าด้วยการดูแลบุตรและการลาเพื่อดูครอบครัวในญี่ปุ่นจะมีผลบังคับใช้เป็นระยะ ๆ โดยจะเริ่มตั้งแต่ปี 2565 เพื่อกระตุ้นให้ผู้ชายลาเพื่อเลี้ยงดูบุตรมากขึ้น

โดยตั้งแต่เดือน เม.ย. 2565 เป็นต้นไป ธุรกิจต่าง ๆ จะต้องขอให้พนักงานทั้งชายและหญิงแจ้งเรื่องการคลอดบุตรหรือการตั้งครรภ์ (ของคู่สมรส) ไม่ว่าพวกเขาจะตั้งใจลาเพื่อดูแลบุตรหรือไม่ก็ตาม โดยจะทำเป็นกรณี ๆ ไป และตั้งแต่เดือน ต.ค. 2565 เป็นต้นไป พนักงานชายสามารถลางานเพื่อเลี้ยงดูบุตรได้ทันทีถึง 4 สัปดาห์ หลังภรรยาคลอดบุตร

"ภายใต้กฎหมายที่แก้ไขเพิ่มเติมนี้ ผู้ชายจะได้ลางานเพื่อดูแลเด็กมากขึ้นและเป็นเวลาที่นานขึ้นด้วย" มานาบุ สึคาโกชิ ผู้อำนวยการของ Fathering Japan ซึ่งเป็นกลุ่มไม่แสวงหาผลกำไรที่ให้ความช่วยเหลือผู้ชายที่ลางานเพื่อดูแลบุตร กล่าว "ทั้งผู้บังคับบัญชาและนายจ้างต้องบังคับใช้กฎหมายที่แก้ไขเพิ่มเติมอย่างตรงไปตรงมา เพื่อที่จะไม่ส่งผลให้เกิดการล่วงละเมิดและผลเสียอื่น ๆ ตามมา"

สึคาโกชิ เชื่อว่าพนักงานชายควรลาเพื่อเลี้ยงดูบุตรอย่างน้อย 2 สัปดาห์ "เมื่อการลางานนั้นมีค่ามาก การบังคับให้ภาคธุรกิจต้องหาวิธีต่าง ๆ ในฐานะองค์กร ในการตรวจสอบขั้นตอนการทำงาน ปฏิรูปรูปแบบการทำงาน และส่งเสริมการทำงานเป็นทีม" เขากล่าว "การทำเช่นนี้จะช่วยยกระดับความแข็งแกร่งขององค์กรโดยรวม"


ที่มาข่าว
More than 30% of dads now choose to take parental leave (SHIMPEI DOI, The Asahi Shimbun, 8 January 2022)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net