Skip to main content
sharethis
  • 'เพื่อไทย' ห่วง ก๊าซขึ้น น้ำมันขึ้น ไฟฟ้าขึ้น เงินเฟ้อขึ้น ดอกเบี้ยขึ้น ราคาหมู ไก่ ปลา ขึ้น แต่ตกงาน ไม่มีเงิน ย้ำ ปี 65 จะเป็น 'ปีแห่งความทรุดโทรมเสื่อมถอย' จี้ต้องใช้ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ในการแก้ปัญหา ไม่ใช่ปล่อยตามยถากรรม แนะ ช่วยเหลือประชาชนคือความมั่นคงของประเทศที่แท้จริง
  • อัดยุค 'ของแพงค่าแรงถูก' คนไทยเจอวิกฤติซ้อนวิกฤติทั้งโควิด ปากท้อง ของแพง วอนประยุทธ์-จุรินทร์ ช่วยประชาชนด่วน
  • ส.ส. ก้าวไกล หดหู่จรรยาบรรณ 'สัตวแพทย์' กรมปศุสัตว์ ปกปิด ASF ทำ 'หมูแพง' ซ้ำเติมปากท้องประชาชน กังขา เจตนา 'เอื้อทุนใหญ่' ปล่อยเกษตรกรรายย่อยสูญพันธุ์

 

10 ม.ค.2565 ทีมสื่อพรรคเพื่อไทยรายงานต่อสื่อมวลชนว่า พชร นริพทะพันธุ์ กรรมการบริหาร และ คณะทำงานเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า รัฐบาลประกาศจะปรับราคาก๊าซขึ้นแบบขั้นบันไดเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ ซึ่งจะเป็นการเพิ่มภาระค่าครองชีพซ้ำเติมให้กับประชาชนอย่างมาก หลังจากราคาน้ำมันที่พุ่งขึ้นไปก่อนหน้านี้ และ จะเริ่มขึ้นค่าไฟฟ้าตั้งแต่เดือนมกราคมนี้เช่นกัน ทั้งนี้รัฐบาลอ้างว่า ปัจจุบันกองทุนน้ำมันต้องสนับสนุนราคาน้ำมันดีเซลและก๊าซ โดยกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงในเดือน ธ.ค. 64 มีรายจ่ายเฉลี่ยติดลบเดือนละ 5,963 ล้านบาท แบ่งเป็นน้ำมัน 4,276 ล้านบาท LPG 1,687 ล้านบาท อีกทั้งราคาน้ำมันในตลาดโลกได้ทะลุ $81 แล้ว และ ราคา LPG ในตลาดโลกทะลุ $900 ซึ่งจะทำให้กองทุนน้ำมันมีภาระแบกรับภาระการพยุงราคาน้ำมันดีเซลของก๊าซ และจะมีภาระเพิ่มขึ้นอีกถ้าราคาน้ำมันและก๊าซยังคงเพิ่มขึ้น จึงเป็นสาเหตุที่รัฐบาลแบกต่อไม่ไหว

นอกจากราคาพลังงานจะสูงขึ้นแล้ว ราคาอาหารเช่น ราคาหมู ราคาไก่ ราคาปลา ราคาไข่ไก่ ได้ปรับสูงขึ้นตาม รวมถึงราคาค่าขนส่ง และ ราคาสินค้าหลายชนิดทยอยสูงขึ้น ซึ่งจะส่งผลทำให้อัตราเงินเฟ้อของไทยในปีนี้สูงขึ้นมาก ประชาชนส่วนใหญ่ที่รายได้ไม่เพิ่ม และ คนตกงานจำนวนหลายล้านคน จะลำบากกันอย่างมากจากค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น ขนาดสินค้าราคาปกติยังจะลำบากที่จะหาเงินมาซื้อกันอยู่แล้ว แต่ที่น่ากังวลคือ ธนาคารกลางสหรัฐ ส่งสัญญาณจะขึ้นดอกเบี้ยเร็วขึ้น โดยอาจจะขึ้นในเดือนมีนาคมนี้ จากภาวะเงินเฟ้อสูงในสหรัฐ ซึ่งจะทำให้ไทยต้องขึ้นดอกเบี้ยตาม มิเช่นนั้นเงินตราต่างประเทศอาจจะไหลออกได้ ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจไทยที่หนักหนาสาหัสอยู่แล้วต้องถูกซ้ำเติมมากขึ้น บริษัทห้างร้านต่างๆที่ติดหนี้ธนาคารอย่างมากจากภาวะเศรษฐกิจที่ย่ำแย่มาตลอดหลายปี ต้องมาจ่ายดอกเบี้ยที่สูงขึ้น ซึ่งจะแบกรับกันไม่ไหวและอาจจะต้องปิดตัวกันมาก ซึ่งจะทำให้คนตกงานอีกมาก

ทำให้เห็นว่า ตลอด 7 ปีที่ผ่านมาในช่วงภาวะที่เศรษฐกิจโลกดี เงินเฟ้อต่ำ ดอกเบี้ยต่ำ น้ำมันราคาถูก หนี้ประเทศต่ำ พลเอกประยุทธ์ยังบริหารประเทศล้มเหลว จากนี้ไปพลเอกประยุทธ์จะต้องเผชิญกับ น้ำมันแพง ก๊าซแพง ไฟฟ้าขึ้น ค่าครองชีพพุ่ง อาหารแพง เงินเฟ้อสูง ดอกเบี้ยขึ้น หนี้ท่วมทั้งภาครัฐและเอกชน พลเอกประยุทธ์จะบริหารประเทศให้สำเร็จได้อย่างไร ปีที่แล้วไทยต้องนำเข้าน้ำมันเพิ่มขึ้นกว่า 4 แสนล้านบาทจากราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้น ปีนี้ราคาน้ำมันที่นำเข้าก็คงจะสูงขึ้นอีกเช่นกัน แสดงถึงว่า ตลอด 7 ปีที่น้ำมันราคาถูก พลเอกประยุทธ์ยังไม่สามารถทำเศรษฐกิจให้ดีได้ เศรษฐกิจไทยขยายตัวเฉลี่ยยังขยายไม่เท่ากับราคาน้ำมันที่ประเทศลดการจ่ายลงเลย เป็นความล้มเหลวที่วัดได้ง่ายๆ ดังนั้นในปี 2565 นี้จะเป็น “ปีแห่งความทรุดโทรมและเสื่อมถอย” ซึ่งเป็นผลมาจากความล้มเหลวของพลเอกประยุทธ์ที่สะสมมาตลอด 7 ปี ทั้งนี้ ยิ่งไม่ต้องพูดถึงอนาคตว่าประเทศไทยจะพัฒนาต่อไปอย่างไร

ทั้งนี้ หากพลเอกประยุทธ์ยอมลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลแต่แรกตามที่คณะทำงานเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทยเสนอ กองทุนน้ำมันก็ไม่ต้องมาแบกภาระหนักขนาดนี้ และยังสามารถนำกองทุนน้ำมันไปแบกภาระค่าก๊าซที่สูงขึ้น เพื่อช่วยเหลือประชาชนในยามลำบากนี้ได้ อีกทั้งพลเอกประยุทธ์ควรจะต้องนำเงิน 20,087.42 ล้านบาทที่โอนจากกองทุนพลังงานมาคืนเพื่อช่วยสนับสนุนราคาน้ำมันและราคาก๊าซที่แพงขึ้น เพื่อให้ประชาชนประคองชีวิตให้รอดก่อน ซึ่งน่าจะเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด เพราะคนจะตายกันหมดแล้วจากผลงานบริหารที่ล้มเหลวของพลเอกประยุทธ์

ตั้งแต่นี้ต่อไป การบริหารประเทศของพลเอกประยุทธ์จะเป็นไปด้วยความยากลำบาก โดยเฉพาะปัญหาเศรษฐกิจที่เป็นจุดอ่อนของพลเอกประยุทธ์มาตลอด การที่จะฟื้นฟูประเทศต่อไปนี้ ต้องใช้ความแม่นยำ ทฤษฎีที่ถูกต้อง และ ต้องพลิกฟื้นเปลี่ยนวิธีการบริหาร ไม่เช่นนั้นประเทศจะอ่อนแอ และ ความมั่นคงของประเทศก็จะสั่นคลอน เพราะประชาชนสูญเสียความสามารถในการใช้ชีวิตขั้นพื้นฐานไป

ประยุทธ์ยุค 'ของแพงค่าแรงถูก' คนไทยเจอวิกฤติซ้อนวิกฤติทั้งโควิด ปากท้อง ของแพง วอนประยุทธ์-จุรินทร์ ช่วยประชาชนด่วน

ชญาภา สินธุไพร รองโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า สัญญาณอันตรายเกี่ยวกับปากท้องของคนไทยได้เริ่มขึ้นแล้วในทุกมิติ ตั้งแต่ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคมีการปรับราคาสูงขึ้น พี่น้องประชาชนต้องแบกรับภาระค่าครองชีพที่สูงลิ่วสวนทางกับรายรับ ทั้งวิกฤติการระบาดของไวรัสโควิด-19 และวิกฤติเศรษฐกิจที่รุมเร้า ราคาสินค้าหลายรายการมีราคาแพงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้ง ผักแพง น้ำมันแพง ค่าไฟฟ้าแพง ค่าก๊าซหุงต้มแพง ค่าทางด่วนแพง หมูแพง ล่าสุดไข่แพง เรียกว่าเป็นวิกฤติ "ของแพงทั้งแผ่นดิน" คนไทยต้องทนอยู่กับภาวะ “ของแพงค่าแรงถูก” ค่าแรงขั้นต่ำที่พรรคพลังประชารัฐให้คำมั่นสัญญาในตอนหาเสียงเมื่อปี 2562 ว่าจะปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำที่ 400-425 บาท แต่จวบจนถึงทุกวันนี้ค่าแรงยังไม่ขึ้น แต่มาขึ้นค่าครองชีพแทน นอกจากจะไร้วี่แววไม่ทำตามสัญญาแล้ว การแก้ไขปัญหาของผู้รับผิดชอบในรัฐบาลสุดแสนจะสิ้นหวัง โดยเฉพาะปัญหาราคาเนื้อหมูแพงเป็นประวัติการณ์ รัฐบาลปกปิดความจริงมาตลอด 2-3 ปี และบอกให้ประชาชนหันไปรับประทานเนื้อไก่หรืออาหารทะเลแทนเพื่อเพิ่มโปรตีน ซึ่งไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ตรงจุด ซ้ำยังทำให้เนื้อสัตว์อื่นๆ ปรับราคาขึ้นไปเรียบร้อยแล้ว ขณะที่ราคาไข่ไก่คละไซส์ขอปรับราคาขึ้นจากฟองละ 2.80 บาทมาเป็น 3.00 บาท ซึ่งรัฐบาลยังเงียบไม่มีเสียงตอบรับใดๆ จากพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่ากระทรวงกลาโหม

ชญาภา กล่าวว่า ขณะนี้ได้ใกล้เข้าสู่ช่วงเทศกาลวันตรุษจีน ซึ่งเป็นหนึ่งในเทศกาลสำคัญที่พี่น้องประชาชนจะจับจ่ายใช้สอยซื้ออาหารเพื่อนำไปไหว้บรรพบุรุษ หากราคาสินค้ามีแนวโน้มแพงต่อเนื่อง ต้องฝากไปยังรัฐบาลและกระทรวงพาณิชย์ ให้ดูแลควบคุมราคาสินค้าให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม ป้องกันการฉวยโอกาสขึ้นราคาสินค้าเอาเปรียบประชาชน ดูแลค่าครองชีพเพื่อไม่ให้เป็นการซ้ำเติมพี่น้องประชาชนอีก ซ้ำเติมจากที่ก่อนหน้านี้ต้องเผชิญทั้งวิกฤติโรคระบาดไวรัสโควิด-19 โรคลัมปีสกิน โรคอหิวาต์แอฟริกาในหมู และวิกฤติเศรษฐกิจที่รุมเร้า จนแทบจะไม่เหลืออะไรแล้ว ยังต้องมาเผชิญกับวิกฤติของแพงทั้งแผ่นดินอีก จึงไม่เข้าใจว่าเหตุใดพลเอกประยุทธ์ จึงเวิร์กฟอร์มโฮมได้ทุกวัน นอนหลับสบายได้ทุกคืน

“โรคระบาดไม่ได้สร้างความเสียหายเฉพาะชีวิตของประชาชนเท่านั้น ยังได้สร้างความยากจนระบาดไปทุกหย่อมหญ้าทั่วประเทศ ที่ผ่านมารัฐบาลพลเอกประยุทธ์ได้พิสูจน์จนสิ้นข้อสงสัยแล้วว่าบริหารประเทศล้มเหลวทุกด้านอย่างสิ้นเชิง จนเกิดวิกฤติซ้อนวิกฤติ นอกจากประชาชนต้องแบกรับภาระค่าครองชีพที่สูงลิ่วแล้ว ประชาชนเริ่มรู้สึกว่ารัฐบาลไม่ใช่ที่พึ่งที่หวัง แต่กลับมาเป็นภาระให้ประชาชนเสียเอง” ชญาภากล่าว

ก้าวไกล หดหู่จรรยาบรรณ 'สัตวแพทย์' กรมปศุสัตว์  ปกปิด ASF ทำ 'หมูแพง' ซ้ำเติมปากท้องประชาชน กังขา เจตนา 'เอื้อทุนใหญ่' ปล่อยเกษตรกรรายย่อยสูญพันธุ์

วันเดียวกัน (10 ม.ค.65) ทีมสื่อพรรคก้าวไกล รายงานต่อสื่อมวลชนด้วยว่า ปดิพัทธิ์ สันติภาดา ส.ส.จังหวัดพิษณุโลก พรรคก้าวไกล ให้ความเห็นต่อสถานการณ์หมูแพงในขณะนี้ว่า ในฐานะอดีตสัตวแพทย์ที่เคยทำงานในอุตสาหกรรมสัตว์มาก่อน ตนทราบดีถึงปัญหาในแวดวงสัตวแพทย์และปศุสัตว์ แต่ไม่เคยรู้สึกหดหู่ใจกับการปกปิดความจริงการระบาดของเชื้ออหิวาต์หมูอาฟริกา หรือ Afican Swine Fever : ASFของกรมปศุสัตว์ขนาดนี้ เพราะความไม่ยึดมั่นในจรรยาบรรณของสัตวแพทย์ได้สร้างผลกระทบต่อทุกภาคส่วนมหาศาล ไม่ว่าจะเป็นปากท้องของพี่น้องประชาชน ที่เศรษฐกิจไม่ดีอยู่แล้ว หลายคนรายได้ลดลงมากจากสถานการณ์โควิด-19 แต่กลับต้องมาเจอรายจ่ายที่สูงขึ้นจากค่าครองชีพ ส่วนผู้ประกอบการร้านอาหารเองก็ต้องแบกรับต้นทุน มีจำนวนมากที่ไม่ไหวก็ต้องขอปรับขึ้นราคาทำให้การค้าขายยากไปอีก 

“บางคนอาจบอกว่า หมูแพง พ่อค้าแม่ค้าเขียงหมูได้กำไร ความจริงไม่เป็นเช่นนั้นเลย ทุกเช้าที่ผมไปเดินสำรวจตลาดสดในจังหวัดพิษณุโลก แผงหมูหลายแห่งหยุดขายแล้วเพราะทนสภาวะขาดทุนไม่ไหวหรือหาหมูมาขายไม่ได้ หมูที่หาได้มีแต่หมูเจ้าสัวที่คุณภาพแย่คนไม่ซื้อ ส่วนหมูฟาร์มที่ยังรอดราคาสูงมากตั้งแต่หน้าฟาร์ม ทำให้มีพ่อค้าแม่ค้ามีต้นทุนสูง แค่ขายตามต้นทุนยังขายออกยาก เพราะคนเลี่ยงไปซื้ออย่างอื่น แต่ถ้ายอมแบกราคาไว้เองก็มีแต่เจ๊งกับเจ๊ง 

“บางคนกลั้นใจลองไปซื้อหมูเป็นจากเจ้าสัวมาขายก็จริงเหมือนที่เผยแพร่กันในโซเชี่ยลว่า ราคาไม่เป็นมิตร บาทเดียวก็ไม่ลด แต่แม่ค้าไม่ได้เห็นหมูก่อนเลย พอได้รับมาก็เป็นหมูมีแต่มันขายไม่ออก ส่วนหมูคุณภาพดีเขาส่งเข้าห้างตัวเองหมด  ส่วนฝั่งเกษตรกรผู้เลี้ยงหมู ไม่ต้องพูดถึง ต้นทุนแพงมาตั้งแต่ค่าอาหารสัตว์ แต่พอหมูตายตัวหนึ่งแล้วปศุสัตว์บอกว่า ไม่ใช่ ASF แต่เป็น PRRS จะทำลายหมูทั้งหมดก็กลัวไม่ได้ชดเชย ต้องรีบเอาหมูเป็นชำแหละขายราคาถูกๆ น้ำตาตกในยอมขาดทุนดีกว่าหมูตายยกฟาร์มโดยไม่ได้เงินเลย พอไม่ได้ควบคุมทำลาย เชื้อก็กระจายไปทั่วประเทศ ส่งผลให้มีหมูตายและหายจากระบบไปกว่า 5- 6 ล้านตัวต่อปี ตัวเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูเองก็ท้อใจ หากรัฐยังไม่ยอมรับว่ามี ASF ระบาดในประเทศ ต่อให้มีเงินกู้สนับสนุนให้กลับมาเลี้ยงดังที่กระทรวงเกษตรฯประกาศ เขาก็ไม่กลับมาเลี้ยงเพราะเหมือนหลอกให้เจ๊งรอบ 2 เลี้ยงไปก็ตาย แต่ไม่มีคนรับผิดชอบทั้งยังเป็นหนี้ต้องแบกเพิ่ม ตอนนี้เกษตรกรผู้เลี้ยงหมูจาก 2 แสนราย จึงลดลงเหลืออยู่เพียงเพียง 8 หมื่นราย ปัญหานี้จะไม่มีทางแก้ได้เลย ถ้าไม่เริ่มจากการที่ภาครัฐยอมรับความจริง” 

ปดิพัทธ์ กล่าวต่อไปว่า ถ้ารัฐบาลยืนยันว่า ไม่มี ASF ระบาด แต่ทำไมจึงมีมติ ครม.อนุมัติให้ใช้งบกลางเพื่อให้ทำลายสุกรและจ่ายเงินชดเชย แต่กลับไม่มีเอกสารชี้ชัดว่าเป็นโรคอะไร ส่วนการรายงานว่าเป็นโรค PRRS ก็ไม่น่าเชื่อว่าจะต้องถึงกับทำลายสุกรทั้งฟาร์ม ตนติดตามเรื่องนี้มาอย่างต่อเนื่องและเคยสะท้อนปัญหานี้ผ่านสภาผู้แทนราษฎรในญัตติด่วนด้วยวาจา กรณีการแก้ปัญหาโรคลัมปีสกินที่ระบาดในวัว ตั้งแต่วันที่ 17 มิ.ย.64 เพราะหัวใจที่แท้จริงของปัญหานี้ คือความบกพร่องในการควบคุมกักกันสัตว์ทั้งระบบ ซึ่งข้อสังเกตและข้อเสนอต่างๆจากสภาผู้แทนราษฎรในวันนั้นจะต้องทำรายงานส่งไปยังรัฐบาลเพื่อแก้ปัญหา ดังนั้น จะโกหกปิดหูปิดตาประชาชนอ้างว่าไม่รู้มาก่อนไม่ได้ และสถานการณ์นี้เกิดขึ้นมาแล้ว 2-3 ปี ตั้งแต่เริ่มพบการตายไม่ปกติของหมูในจังหวัดชายแดน ซึ่งเพื่อนบ้านพบการระบาดของ ASF ทั้งเมียนมา ลาว และกัมพูชา โดยที่เราเองกำลังเจอปัญหาโรคอุบัติบัติใหม่ในสัตว์จากม้า ตามมาด้วยวัว ต่อมาคือหมู ซึ่งเป็นเชื้อในอาฟริกาทั้งสิ้น ทำให้เกิดคำถามว่า มาตรการการนำเข้า กักกันและควบคุมโรคระบาดในสัตว์ของประเทศไทย โดยกรมปศุสัตว์ ยังมีความรูโหว่มากจนทำให้ประเทศไทยได้ชื่อว่าเป็นฮับของเชื้อระบาดในสัตว์จากอาฟริกาหรือไม่ 

“ความน่ากังขาในการทำหน้าที่ของกรมปศุสัตว์ ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ ตลอด 2-3 ปีมานี้ สร้างความเสียหายอย่างมากต่ออุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับสัตว์ในประเทศไทย และกำลังส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างครั้งใหญ่ที่จะทำให้เกษตรกรรายย่อยสูญพันธุ์และเหมือนมีความตั้งใจให้เกิดขึ้นเพื่อเอื้อให้เกิดสถานการณ์แบบนี้ โดยทุนใหญ่เสียหายน้อย ได้ประโยชน์มาก 

“การปกปิดการระบาดของ ASF ในหมู ทำให้ฟาร์มหรือเกษตรกรรายย่อยเลิกเลี้ยงหมู และต้องขายหมูที่รอดออกไปด้วยราคาขาดทุน แต่ทุนใหญ่ไม่เจอปัญหานี้เพราะมีตู้แช่แข็ง สามารถชำแหละหมูแช่เอาไว้เพื่อปล่อยสู่ตลาด เป็นเจ้าหลักเจ้าเดียวในวันที่ไม่มีหมูเจ้าอื่นในตลาดได้ ได้ประโยชน์ทั้งราคาและไม่มีคู่แข่ง อีกทั้งการไม่มีรายงานการติดเชื้อ ASF ในไทยอย่างเป็นทางการตลอด 2-3 ปีที่ผ่านมาก็ทำให้ยังส่งออกหมูได้โดยไม่มีผลกระทบ เรื่องนี้เกษตรกรรู้ โรงเชือดรู้ และสัตวแพทย์ก็รู้ ภาคีคณบดีสัตวแพทย์ศาสตร์แห่งประเทศไทย 14 สถาบัน จึงต้องทำหนังสือถึง อธิบดีกรมปศุสัตว์ ตั้งแต่วันที่ 7 ธ.ค. 64 เพื่อแสดงห่วงใยต่อสถานการณ์โรคระบาดและการควบคุมโรค โดยในหนังสือยืนยันการพบ เชื้อ ASF ในซากสุกรที่ส่งชันสูตรโรค และระบุว่าได้รายงานการตรวจพบโรคต่อกรมปศุสัตว์ตามข้อกำหนดของพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 พร้อมทั้งขอให้กรมปศุสัตว์ควบคุมโรคอย่างเร่งด่วน เพื่อมีให้เกิดความเสียหายที่รุนแรงมากยิ่งขึ้นแก่เกษตรกรและอุตสาหกรรมการเลี้ยงสุกรในประเทศไทย ข้อเท็จจริงเป็นที่ประจักษ์ขนาดนี้ แต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและรัฐบาลยังยืนกรานว่า ไม่พบ ASF แบบนี้ จึงไม่รู้ว่าทำไปเพื่อปกป้องผลประโยชน์ให้ใครกันแน่ แต่เท่าที่รู้ไม่ใช่เพื่อผลประโยชน์ของประชาชนอย่างแน่นอน” ปดิพัทธ์ ระบุ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net