Skip to main content
sharethis

การแต่งกาย-ล้อเลียนสถาบันกษัตริย์ทวีปยุโรปทั้งในอังกฤษ หรือเดนมาร์ก ซึ่งปกครองในระบอบประชาธิปไตย โดยมีพระมหากษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ (Constitutional Monarchy) เป็นเรื่องที่สามารถกระทำได้อย่างเสรี และไม่ถูกดำเนินคดีจากทางการ

แต่ในไทยนั้น ประชาชนที่แต่งกายเลียนแบบกษัตริย์ไทยกลับถูกดำเนินคดี ม.112 โดยระหว่างปี 63-64 ชาวไทยถูกดำเนินคดี ม.112 จำนวน 9 ราย ในจำนวนนี้เป็นเยาวชน 3 ราย จากการแต่งกายเลียนแบบกษัตริย์และพระราชินี
 
ประชาไทชวนดูกรณีประชาชนแต่งกายเลียนแบบ-ล้อเลียนสถาบันกษัตริย์ยุโรป และย้อนดูการดำเนินคดี ม.112 กับประชาชนที่แต่งกายเลียนแบบพระมหากษัตริย์และพระราชินีไทย ว่ามีใครบ้างที่ถูกดำเนินคดีเมื่อปีที่ผ่านมา

ควีนเดนมาร์กขึ้นเวทีเพื่อเป็นเกียรติแก่นักแสดงล้อเลียนพระองค์

เมื่อปีที่ผ่านมา การแต่งกายล้อเลียนสถาบันกษัตริย์ในทวีปยุโรปโดยเฉพาะในประเทศเดนมาร์ก และอังกฤษ นอกจากจะไม่ถูกดำเนินคดีแล้ว สถาบันกษัตริย์ทั้ง 2 ประเทศยังรู้สึกยินดีที่มีคนตั้งใจแต่งกายเป็นพระองค์

สำนักข่าว Voice TV รายงานเมื่อ 8 ต.ค. 64 ระบุว่าที่เวทีการแสดงของ Cirkusrevyen (Circus Revue) ซึ่งตั้งอยู่ในสวนสนุก กรุงโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก เมื่อวันที่ 3 ต.ค.ที่ผ่านมา พระราชินีมาร์เกรเธอที่ 2 แห่งประเทศเดนมาร์ก เดินขึ้นมาเซอร์ไพร์สบนเวทีหลังจบการแสดงของ ‘อูลฟ์ พิลโกด์’ (Ulf Pilgaard) นักแสดงละครวัย 80 ปี ซึ่งเขาทำการแสดงล้อเลียนและแต่งชุดเดรสสีเหลืองลายดอกไม้ เกล้าผม และแต่งตัวคล้ายราชินี

นอกจากนี้ ในวันดังกล่าวยังเป็นการแสดงครั้งสุดท้ายของพิลโกด์ หลังเดินบนเส้นทางสายอาชีพนี้มานานกว่า 40 ปี โดยเขามีชื่อเสียงจากการแสดงล้อเลียนเป็นควีนมาร์เกรเธอที่ 2 อีกด้วย 

พระราชินีแห่งเดนมาร์กขึ้นมาเป็นเกียรติเพื่ออำลาอาชีพนักแสดงละครของพิลโกด์ และนำของขวัญมามอบให้เขา เป็นที่เขี่ยบุหรี่สลักพระปรมาพิไธยย่อของพระองค์ โดยภาพพิลโกด์ล้อเลียนควีนตอนสูบบุหรี่เป็นหนึ่งในภาพจำที่ได้รับความนิยมในการแสดงของเขา และชาวเดนิชทราบกันดีว่าควีนของพวกเขาเป็นนักสูบบุหรี่ตัวยง จนเคยถูกสื่อวิจารณ์หนัก หลังเคยมีภาพเผยแพร่ออกมาว่า เธอกำลังสูบบุหรี่ขณะจูงมือพระราชนัดดาอยู่

“คงยากมากที่จะมีใครมาแทนที่เขาได้” ควีนมาร์เกรเธอที่ 2 กล่าวชมพิลโกด์

ขณะที่กระแสตอบรับของชาวเดนิชต่อเหตุการณ์นี้เป็นในทางที่ดี และชื่นชมตัวของพระราชินีมาร์เกรเธอที่เสด็จมาในวันดังกล่าว

ทั้งนี้ แม้ว่าประเทศเดนมาร์ก จะมีกฎหมายคุ้มครองสถาบันกษัตริย์จากการหมิ่นประมาทโดยเฉพาะ ซึ่งมีโทษเป็น 2 เท่าจากการหมิ่นประมาทบุคคลทั่วไป แต่ก็ยังไม่พบข้อมูลการฟ้องคดีด้วยมาตรานี้ในปัจจุบัน

พระราชินีอยู่บนเวทีละครพร้อมกัน 2 คน โดย อูลฟ์ พิลโกด์ (ซ้าย) และ พระราชินีมาร์เกรเธอที่ 2 แห่งเดนมาร์ก (ขวา) (ภาพจาก เฟซบุ๊ก Cirkusrevyen)

ควีนเอลิซาเบธส่ง จม.ยินดีแก่หนูน้อยที่แต่งกายเลียนแบบพระองค์

เมื่อต้นปี 2565 หนังสือพิมพ์แท็บลอยด์ชื่อดังจากเกาะอังกฤษ ‘เดอะ ซัน’ รายงานว่า เจเลน ซูเธอร์แลนด์ หนูน้อยวัย 1 ขวบ จากรัฐโอไฮโอ ประเทศสหรัฐฯ ได้รับจดหมายส่งตรงจากพระราชวังวินเซอร์ หลังจากพระราชินีเอลิซาเบธที่ 2 แห่งอังกฤษรู้สึกยินดี ที่ได้เห็นภาพของเจ้าหนูแต่งชุดเลียนแบบพระองค์ในวันฮาโลวีน 

เจเลน ซูเธอร์แลนด์ หนูน้อย 1 ขวบ จากสหรัฐฯ ขณะแต่งกายเลียนแบบพระราชินีเอลิซาเบธที่ 2

สำหรับชุดที่เจเลนแต่งนั้นเป็นเสื้อคลุมสีฟ้า หมวกสีฟ้า วิกผมสีขาว และสร้อยไข่มุข ซึ่งเป็นแบบเดียวกับที่พระราชินีอลิซาเบธชอบใส่เวลาเสด็จไปปฏิบัติภารกิจ นอกจากแต่งชุดเหมือนพระองค์แล้ว ในรูปภาพ เจเลนยืนคู่กับสุนัขคอร์กี 2 ตัว ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่พระราชินีจากเมืองผู้ดีทรงโปรดอีกด้วย

แคเทอรีน ซูเธอร์แลนด์ แม่ของหนูน้อยเจเลน จากแดนลุงแซม ได้ถ่ายรูปลูกสาวของเธอและส่งภาพดังกล่าวไปให้พระราชินีของอังกฤษ โดยไม่คาดคิดมาก่อนว่าจะได้รับจดหมายตอบกลับโดยตรงจากพระราชวังวินเซอร์ 

มารดาของเจเลน ระบุว่า แรงบันดาลใจสำหรับการแต่งชุดดังกล่าวมาจากสุนัขพันธุ์คอร์กีของครอบครัว ซึ่งเป็นเพื่อนซี้ที่สุดของเจเลน นอกจากนี้ ครอบครัวซูเธอร์แลนด์ ยังเป็นแฟนคลับของราชวงศ์อังกฤษ

สำหรับกรณีนี้ ครอบครัวซูเธอร์แลนด์อาศัยอยู่ในสหรัฐฯ ซึ่งอยู่นอกเขตอำนาจศาลของสหราชอาณาจักร หากรัฐบาลอังกฤษจะดำเนินคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ก็คงจะต้องพบกับอุปสรรคนานัปการ หรือเรียกได้ว่าแทบเป็นไปไม่ได้เลย โดยเฉพาะหากครอบครัวซูเธอร์แลนด์ไม่ใช่พลเมืองของสหราชอาณาจักร

แต่อย่างไรก็ตาม ต่อให้พลเมืองของอังกฤษแต่งกายล้อเลียน หรือวิจารณ์สถาบันกษัตริย์อย่างเปิดเผยในที่สาธารณะ พวกเขาก็ไม่ถูกดำเนินคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพอีกเช่นกัน เพราะการวิพากษ์วิจารณ์เจ้าในสหราชอาณาจักรโดยส่วนใหญ่แล้วสามารถกระทำได้อย่างเสรี

ปัจจุบัน เมื่อมีการฟ้องร้องที่เกี่ยวข้องกับการวิจารณ์สมาชิกเชื้อพระวงศ์ของอังกฤษ ศาลจะใช้เพียงกฎหมายหมิ่นประมาททั่วไปหรือกฎหมายคุ้มครองความเป็นส่วนตัวเช่นเดียวกับพลเมืองคนอื่นๆ ดังจะเห็นได้จากกรณีของความขัดแย้งระหว่างเจ้าชายแฮรี และเมแกน แมร์เคิล กับเชื้อพระวงศ์คนอื่นๆ และสื่อที่รายงานเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว

สำหรับกฎหมายของสหราชอาณาจักรที่พอเทียบเคียงได้กับการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพของไทยนั้น ได้แก่ พระราชบัญญัติความผิดอาญาฐานกบฎ ค.ศ. 1848 (Treason Felony Act) ที่ถือให้การโค่นล้มสถาบันกษัตริย์เป็นความผิดทางอาญา แม้จะยังมีผลบังคับอยู่บางส่วน แต่กฎหมายฉบับนี้ไม่เคยถูกใช้จริงมาเป็นศตวรรษแล้ว

ส.ส.พรรคแรงงาน ของอังกฤษ ล้อราชินีในพิธีเปิดสภามา 38 ปี จนแทบจะกลายเป็นประเพณีใหม่ไปแล้ว

เดนนิส สกินเนอร์ ในปี 1990 และ 2011 ที่มา: (1) VICE (2) Duncan Harris/Flickr

นอกจากนี้ เดนนิส สกินเนอร์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) พรรคแรงงาน อายุ 89 ปี (เกิดปี ค.ศ. 1932 ปีที่รายงานข่าว ค.ศ. 2019) ผู้พยายามเรียกร้องให้อังกฤษเป็นสาธารณะรัฐมาทั้งชีวิต เขายังวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ของอังกฤษได้อย่างอิสระ และล้อเลียนพระราชินีในพิธีเปิดสภามาได้ตลอด 38 ปี จนความริเริ่มของเขาแทบจะกลายเป็นประเพณีใหม่ไปแล้ว โดยไม่ถูกดำเนินคดี  

ตัวอย่างการพูดล้อเลียนในพิธีเปิดสภาของเดนนิส สกินเนอร์ ใน ค.ศ. 2016 ตะโกนว่า "อย่ายุ่งกับบีบีซี" หลังจากมีรายงานเปิดเผยว่าบีบีซีใช้จ่ายฟุ่มเฟือย และมีข้อเสนอให้แปรรูปบีบีซีเป็นเอกชน ที่มา: บีบีซี

ทั้งนี้ สกินเนอร์ เป็น ส.ส. 13 สมัยซ้อน แต่ปัจจุบันไม่ได้เป็น ส.ส. แล้ว หลังจากแพ้การเลือกตั้งให้กับตัวแทนจากพรรคอนุรักษ์นิยม เมื่อปลายปี 2562 ที่ผ่านมา

อีกคนที่มักปรากฎการแสดงล้อเลียนของเขาคือ โรแวน แอตคินสัน นักแสดงนำละครตลก "มิสเตอร์บีน" ของอังกฤษ เมื่อกลางเดือนตุลาปี 2012 เขาได้เข้าร่วมกล่าวสุนทรพจน์ในแคมเปญรณรงค์ของ "คณะแก้ไขมาตรา 5" ของกฎหมายความเรียบร้อยสาธารณะของอังกฤษ โดยพวกเขาเรียกร้องให้ยกเลิก "การดูหมิ่น" "การวิพากษ์วิจารณ์ และ "การเสียดสี" จากการเป็นอาชญากรรม ด้วย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

แต่งกายตามกษัตริย์-พระราชินีไทยถูกดำเนินคดี 

แม้ว่าการแต่งกายเลียนแบบสถาบันกษัตริย์ในยุโรปจะไม่ถูกดำเนินคดี แต่ไม่ใช่ในดินแดนสยาม ข้อมูลจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ระบุว่า เมื่อปี 2563-2564 มีประชาชนถูกดำเนินคดีจากการแต่งกายเลียนแบบรัชกาลที่ 10 และพระราชินี ถึง 9 คนด้วยกัน โดยในจำนวนนี้เป็นเยาวชนด้วยกัน 3 ราย 

‘นิว จตุพร’-‘สายน้ำ’ ถูกดำเนินคดี 112 กิจกรรมแคตวอล์กราษฎร

‘นิว’ จตุพร แซ่อึง วัย 24 ปี ชาวจังหวัดบุรีรัมย์ และสายน้ำ เยาวชนอายุ 17 ปี ถูกดำเนินคดี ม.112 จากการแต่งชุดไทยในกิจกรรม ‘แคตวอล์กราษฎร’ บริเวณหน้าวัดแขก ถนนสีลม นัดรวมตัวโดยแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม เมื่อวันที่ 23 ต.ค. 63 โดยมี น.ส. วริษนันท์ ศรีบวรธนกิตติ์ แอดมินเพจเฟซบุ๊ก "เชียร์ลุง" เป็นผู้กล่าวหา 

จตุพร แซ่อึง ในชุดไทยสีชมพูรวมเดินแคตวอล์คเมื่อ 29 ต.ค. 2563 ภาพจากเพจ จตุพร แซ่อึง

ข้อมูลจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ระบุว่า เมื่อ 15 ก.ค. 64 อัยการมีความเห็นสั่งฟ้อง ‘นิว’ จตุพร และ สายน้ำ โดยอ้างว่าล้อเลียนพระราชินี-พระมหากษัตริย์ จากการแสดงกิริยาและการแต่งกายในกิจกรรมดังกล่าว 

ในคำฟ้องบรรยายพฤติการณ์ของ 'นิว' จตุพร แซ่อึง ว่าแต่งการด้วยผ้าไหมสีชมพู ถือกระเป๋าสีชมพู เดินก้าวช้าๆ บนพรมแดง ฝั่งถนนสีลมขาเข้า นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ยังกล่าวหาว่า ทางจตุพร มีการแสดงท่าทางลักษณะเจตนาล้อเลียนราชินี โดยระบุไว้ดังนี้ ขณะที่เธอเดินมีพวกเขาจำเลย ซึ่งชายแต่งชุดจงกระเบน ถือร่มให้ ส่วนพวกของจำเลยคนอื่นๆ ซึ่งเป็นผู้หญิง ถือพานสีทอง เดินตามหลังในระหว่างเดินบนพรมแดง และพวกของจําเลยอีกคนหนึ่งซึ่งเป็นหญิงที่ยังไม่ได้ตัวมาฟ้องก็ได้ก้มลงมาหมอบกราบที่เท้าของจําเลย จําเลยจึงหยุดเดิน และจําเลยได้ยื่นมือมาให้ผู้ชุมนุมได้จับ

ในระหว่างนั้นประชาชนซึ่งไม่ทราบว่าเป็นใครกล่าวคําว่า “พระราชินี” และเปิดเพลงมาร์ชราชวัลลภ ซึ่งเป็นเพลงประกอบทั้งยังมีผู้ชุมนุมตะโกนขึ้นว่า “ทรงพระเจริญ” และ คําว่า “พระราชินี” ซึ่งเป็นการแสดงออกหรือสื่อความหมายให้แก่ผู้ชุมนุมหรือประชาชนทั่วไปซึ่งเป็นบุคคลเข้าใจว่า จําเลยนี้เป็นพระราชินีองค์ปัจจุบัน จึงได้ถวายพระพรชัยมงคลให้พระองค์

ขณะที่ 'สายน้ำ' พวกของจําเลยซึ่งเป็นเยาวชนแยกดําเนินคดีต่างหาก ได้ร่วมเดินบนพรมแดงฝั่งถนนสีลมขาออกโดยแต่งกายด้วยชุดครอปท็อปสีดํา (เสื้อกล้ามเอวลอย) สวมกางเกงยีนส์ขายาวใส่รองเท้าแตะ และเขียนข้อความที่ร่างกายบริเวณแผ่นหลังลงมาถึงเอวว่า “พ่อกูชื่อมานะ ไม่ใช่ (ชื่อพระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบัน)” โดยก่อนที่สายน้ำจะเดินออกมา พวกของจําเลยซึ่งไม่ทราบว่าเป็นใครซึ่งทําหน้าที่พิธีกรได้ประกาศว่า “เตรียมตัวหมอบกราบ” แล้วเมื่อสายน้ำเดินผ่านกลุ่มผู้ชุมนุม มีผู้ชุมนุมได้ตะโกนคําว่า “ทรงพระเจริญ” และ “ในหลวงสู้ๆ” ซึ่งเป็นการแสดงออกหรือสื่อความหมายว่าเยาวชนรายนี้ พวกของจําเลย เป็นพระมหากษัตริย์ จึงได้ถวายพระพรชัยมงคลและกําลังใจให้พระองค์ และการเขียนข้อความพระนามของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในบริเวณร่างกาย 

การแสดงออกของทั้งสองเป็นการแสดงเนื้อหาความหมายให้ปรากฏแก่ผู้ชุมนุมและประชาชนทั่วไปให้เข้าใจว่าจําเลยนี้เป็นพระราชินีและพวกของจําเลยเป็นรัชกาลที่ 10 และจําเลยกับพวกสามารถล้อเลียนกษัตริย์และราชินีได้โดยมิหวั่นเกรงใดๆ เป็นการจาบจ้วง ล่วงเกิน ดูหมิ่น ใส่ความ หมิ่นประมาท หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ โดยประการที่น่าจะทำให้รัชกาลที่ 10 และพระราชินี ได้รับความเสื่อมเสีย ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง ทำให้ประชาชนเสื่อมศรัทธา ไม่เคารพ

สำหรับนิว จตุพร เมื่อ 15 ก.ค. 64 ศาลอาญากรุงเทพใต้มีคำสั่งปล่อยตัวชั่วคราวโดยวางเงิน 2 แสนบาท พร้อมเงื่อนไขห้ามมิให้จำเลยกระทำ หรือเข้าร่วมกิจกรรมอันก่อให้เกิดความเสียหายต่อสถาบันฯ หรือทำในลักษณะที่จะถูกฟ้องร้องอีก และห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักร ขณะที่ สายน้ำ (นามสมมติ) ศาลเยาวชนและครอบครัวกลางกำหนดวันนัดตรวจพยานหลักฐานวันที่ 14 มี.ค. 65

สายน้ำ (เยาวชน) ขณะร่วมกิจกรรมเมื่อ 29 ต.ค.2563

ล่าสุดสำหรับคดีของ 'นิว' จตุพร แซ่อึง เมื่อ 12 ก.ย. 2565 ศาลอาญากรุงเทพใต้ มีคำพิพากษาจำคุกเป็นเวลา 3 ปีในข้อหาตาม ม. 112 และปรับ 1,500 บาท จากข้อหาตาม พ.ร.บ.ชุมนุมฯ แต่ให้การเป็นประโยชน์ให้ลดโทษ 1 ใน 3 เหลือจำคุก 2 ปี ปรับ 1,000 บาท โดยมี วัฒนพล ไชยมณี ผู้พิพากษาศาลอาญากรุงเทพใต้ เป็นผู้ลงนามในคำพิพากษา

วีรนันท์ ฮวดศรี ทนายความของจตุพรให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมว่า เหตุผลที่ศาลใช้ลงโทษเนื่องจากมองว่าการกระทำของจตุพร และ 'สายน้ำ' ซึ่งถูกดำเนินคดีเดียวกันนี้จากการสวมเสื้อครอปท็อป แต่ขณะเกิดเหตุเป็นเยาวชน และคดีอยู่ในศาลเยาวชนมีการซักซ้อมเตรียมการกันมาก่อนที่จะมาเดินแบบ จึงมีเจตนาร่วมกันแสดงล้อเลียนเสียดสีทำให้ในหลวงและพระราชินี เป็นที่ตลกขบขันทำให้เสื่อมเสียพระเกียรติ ส่วนข้อหาชุมนุม เนื่องจากเกิดขึ้นในช่วงรัฐบาลประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ฉบับที่ 13 เมื่อ 1 ส.ค. 2563 ซึ่งมีการนำข้อกำหนด พ.ร.บ.ชุมนุมฯ มาใช้ในการพิจารณาโทษด้วย แต่ข้อหาอื่นๆ ศาลให้ยกฟ้อง  

ทนายความแจ้งต่อว่าได้ยื่นประกันตัวจตุพรระหว่างอุทธรณ์คดีโดยวางเงินประกันตัวไว้ที่ 300,000 บาท โดยคำร้องขอประกันตัว 'นิว' จตุพร ถูกส่งให้ศาลอุทธรณ์พิจารณา คาดว่ามีคำสั่งภายใน 3 วัน (15 ก.ย.) ว่าจะให้ประกันตัวหรือไม่ ทำให้จตุพรจะถูกนำตัวไปขังที่ทัณฑสถานหญิงกลางระหว่างรอผล 

ทั้งนี้ กิจกรรมแคตวอล์กราษฎร เป็นกิจกรรมสืบเนื่องจากการเปิดเผยเรื่องงบประมาณที่เกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์ ที่มีส่วนหนึ่งเป็นงบประมาณรายจ่ายโดยตรงของกระทรวงพาณิชย์ จำนวน 13 ล้านบาท ภายใต้การดำเนินการของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ สำหรับโครงการจัดแสดงสินค้าแนวใหม่ในต่างประเทศ สำหรับแบรนด์ SIRIVANNAVARI นำไปสู่การจัดกิจกรรมเดินแบบและจัดแสดงศิลปะของประชาชน และเพื่อแสดงออกถึงข้อเสนอปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ของผู้ชุมนุม

ส่วนตัวกิจกรรมแคตวอล์กราษฎรนี้ยังจัดตรงกับวันที่แบรนด์ SIRIVANNAVARI เปิดตัวคอลเลกชันล่าสุดที่โรงแรมแมนดาริน โอเรียนเต็ล ซึ่งอยู่ในย่านเดียวกัน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

ปชช. 7 ราย ถูกดำเนินคดี 112 จากกิจกรรม #ใครๆ ก็ใส่ครอปท็อป

ประชาชน 7 ราย ประกอบด้วย เบนจา อะปัญ ‘รุ้ง’ ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล และ ‘เพนกวิน’ พริษฐ์ ชิวารักษ์ จากแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ‘ไมค์’ ภาณุพงษ์ จาดนอก และ  ‘ป๊อกกี้’ ภวัต หิรัณย์ภณ และในจำนวนนี้เป็นเยาวชน 2 คน คือ ณัฐ (นามสมมติ) และธนกร (นามสมมติ) ถูกดำเนินคดีข้อหา ม. 112 จากกิจกรรม #ใครๆก็ใส่ครอปท็อป เดินห้างสยามพารากอน เมื่อ 20 ธ.ค. 63 โดยมี ร.ต.นรินทร์ ศักดิ์เจริญชัยกุล สมาชิกกลุ่มไทยภักดี เป็นผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษ

กิจกรรม #ใครๆก็ใส่ครอปท็อป ไปเดินสยามพารากอน เมื่อวันที่ 20 ธ.ค. 63

เมื่อปีที่แล้ว (2564) อัยการพิเศษศาลอาญากรุงเทพใต้ และศาลเยาวชนฯ มีความเห็นสั่งฟ้อง โดยระบุเหตุผลว่า การร่วมกันแต่งกายด้วยชุดครอปท็อป และเขียนข้อความตามร่างกาย เดินในห้างสรรพสินค้า ถือว่ามีเจตนาแสดงออกให้ประชาชนเข้าใจว่าล้อเลียนดูหมิ่นสถาบันกษัตริย์รัชกาลที่ 10 และพระราชินี เพื่อให้เสื่อมศรัทธา 

เบนจา อะปัญ ปัจจุบันถูกคุมขังจากคดีปราศรัยหน้าตึกชิโนทัย คาร์ม็อบเมื่อ 10 ส.ค. 64 และ ‘ป็อกกี้’ ภวัต ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวในคดีนี้ โดยวางเงิน 2 แสนบาท พร้อมเงื่อนไข ห้ามจำเลยกระทำการใดในลักษณะเช่นเดียวกันกับที่ถูกกล่าวหาตามฟ้อง อันเป็นที่เสื่อมเสียแก่สถาบันพระมหากษัตริย์ หรือเข้าร่วมกิจกรรมใดที่อาจก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง และห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักร พร้อมทั้งต้องมาศาลตามกำหนดโดยเคร่งครัด ขณะที่เพนกวิน และไมค์ ปัจจุบัน ยังไม่ได้นำตัวผู้ต้องหามาฟ้อง แต่จะมีการออกหมายนัดต่อไป

สำหรับกรณีของรุ้ง ปนัสยา เมื่อ 16 พ.ย. 64 ศาลอาญากรุงเทพใต้ไม่อนุญาตให้ประกันตัว โดยให้เหตุผลว่า รุ้งเคยกระทำในลักษณะทำนองเดียวกันกับคดีนี้มาแล้วหลายคดี’ หวั่นกระทำผิดซ้ำอีก ทำให้รุ้งต้องถูกคุมขังที่ทัณฑสถานหญิงกลาง ก่อนที่เมื่อ 30 พ.ย. 64 รุ้ง ปนัสยา ได้ประกันตัวจนถึง 12 ม.ค. 65 ใน 2 คดีแรก คือ การชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎรเมื่อ 19-20 ก.ย.2563 และ #2ธันวาไปห้าแยกลาดพร้าว เมื่อ 2 ธ.ค.2563 เพื่อไปสอบปลายภาคของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สถาบันที่เธอร่ำเรียนอยู่ และเมื่อ 1 ธ.ค. 64 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า ปนัสยาได้ประกันตัวในอีก 2 คดี โดยหนึ่งในนั้นคือ #แต่งครอปท็อปเดินห้างสยามพารากอน 

ทั้งนี้ ความคืบหน้าล่าสุดเมื่อ 13 ม.ค. 65 รุ้ง ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล ได้รับการประกันตัวในคดี ใครๆก็ใส่ครอปท็อป อีกครั้ง จำนวน 155 วัน จนถึงวันที่ 25 พ.ค. 65 โดยลดเงื่อนไข ไม่ต้องติดกำไร EM ลดเวลากักบริเวณเหลือแค่ในเวลากลางคืน ตั้งแต่ 18.00-6.00 น.

สำหรับธนกร (นามสมมติ) และณัฐ (นามสมมติ) อัยการพิเศษฝ่ายคดีเยาวชนและครอบครัว 3 ยื่นฟ้องทั้ง 2 คน ข้อหา ม.112 เมื่อ 15 ธ.ค. 64 ก่อนศาลเยาวชนฯ ให้ประกันตัวทั้งสอง โดยวางหลักประกันเป็นเงินสดคนละ 2 หมื่นบาท และศาลนัดถามคำให้การอีกครั้งภายหลัง

สำหรับ กิจกรรม #ใครๆก็ใส่ครอปท็อป ไปเดินสยามพารากอน จัดขึ้นโดยกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม เมื่อวันที่ 20 ธ.ค. 63 เพื่อรณรงค์ยกเลิกมาตรา 112 โดยนักกิจกรรมร่วมกันใส่เสื้อครอปท็อปเดินบริเวณห้างสยามพารากอน เพื่อยืนยันว่าการสวมชุดครอปท็อปไม่ใช่เรื่องผิดกฎหมาย หลังสายน้ำ เยาวชนอายุ 17 ปี ถูกดำเนินคดี ม. 112 เพราะใส่ชุดครอปท็อป และเขียนข้อความบนร่างกาย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

หมายเหตุ มีการอัปเดตความคืบหน้าคดี ใครๆก็ใส่ครอปท็อปของรุ้ง ปนัสยา เมื่อวันที่ 13 ม.ค. 2565 - อัปเดตคดี 'นิว' จตุพร แซ่อึง ชาวบุรีรัมย์ เมื่อ 12 ก.ย. 2565 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net