Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ทฤษฎีที่พูดถึงกันมากในวงวิชาการบ้านเราที่ศึกษาเรื่อง “รัฐกับศาสนา” บางครั้งก็พูดเสมือนว่า “เรื่องนี้ใครๆ ก็รู้กันดีอยู่แล้ว” หรือพูดเสมือนว่าเป็น “ความจริงอย่างปราศจากข้อสงสัย” ไปเลย คือทฤษฎีที่ว่า “ชนชั้นปกครองใช้พุทธศาสนาเป็นเครื่องมือทางการเมือง” ซึ่งถูก แต่นอกจากจะ “ถูกเพียงบางส่วน” แล้ว ยังอาจทำให้เข้าใจคลาดเคลื่อน และ “ไขว้เขว” ได้มากๆ ด้วย ดังผมจะเสนอ “ข้อโต้แย้งเล็กๆ” ต่อไปนี้

1. ในทางประวัติศาสตร์ ศาสนาหลักๆ เกิดในยุคที่ไม่แยกศาสนาจากรัฐ และศาสนานั้นๆ ต่างหากที่เป็นฝ่ายสถาปนาระบบการเมืองตามหลักความเชื่อทางศาสนา หรือสร้าง “รัฐศาสนา” ขึ้นมา 

เช่น ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู สถาปนาระบบสังคมการเมืองแบบวรรณะ 4, รัฐฮินดู พุทธศาสนาเสนออุดมการณ์แบบรัฐพุทธศาสนาที่กษัตริย์ปกครองโดยธรรมและคณะสงฆ์สอนราษฎรให้มีศีลธรรมไว้ในคัมภีร์ และนำมาปรับใช้ตั้งแต่ยุคอโศกเป็นต้นมา โมเสสเป็นทั้งผู้นำศาสนาและการเมือง เยซูก็เช่นกัน ต่อมาในยุคกลางก็เกิดระบบการเมืองภายใต้อำนาจ “เทวสิทธิ์” ของศาสนจักรคริสต์ควบคู่กับระบบกษัตริย์คริสเตียน หรือรัฐคริสเตียน ส่วนมูฮัมหมัดเป็นศาสดาและผู้นำทางการเมืองชัดเจนที่สุด และรัฐอิสลามก็เป็นรัฐศาสนาชัดเจนที่สุด

ดังนั้น จึงไม่จริงว่าในยุคราชาธิปไตย, สมบูรณาญาสิทธิราชย์ โดยทั่วไปแล้ว อยู่ๆ พวกกษัตริย์จะเป็นฝ่ายที่เอาศาสนาไปใช้เป็น “เครื่องมือ” ทางการเมืองตามความต้องการของตนเองได้เลย ที่จริงแล้วในยุคที่ศาสนามีอิทธิพลสูงมาก ถ้าพวกกษัตริย์ประกาศตนเป็น “คนไม่มีศาสนา” เขาจะเป็นกษัตริย์ได้ไหม ไม่ได้เลย หากไม่ถูกสถาปนาโดยหลักการปกครองและพิธีกรรมทางศาสนาแบบใดแบบหนึ่งหรือผสมผสาน และไม่ยอม “เป็นเครื่องมือ” ให้ฝ่ายศาสนาในระดับที่แน่นอนหนึ่ง

2. เฉพาะในสยามไทย “ชนชั้นปกครอง” คือใคร ก็คือกษัตริย์, เครือญาติกษัตริย์, ขุนนาง และพระสงฆ์ ชนชั้นผู้ใต้ปกครองก็คือไพร่, ทาส ดังนั้น ที่ว่าชนชั้นปกครองใช้ศาสนาเป็นเครื่องมือทางการเมือง ย่อมไม่ใช่เฉพาะกษัตริย์แน่ๆ พระสงฆ์ก็ด้วย การที่กษัตริย์เป็นธรรมราชา สมมติเทพ โพธิสัตว์ พระพุทธเจ้าอยู่หัว ไม่ใช่พระสงฆ์ถูกบังคับขืนใจให้สถาปนากษัตริย์เป็นเช่นนั้น แต่เป็น “ความเต็มใจ” ของพระสงฆ์แน่ๆ

คณะสงฆ์เองจึงเป็นทั้งเครือข่ายชนชั้นปกครองที่ใช้พุทธศาสนาเป็นเครื่องมือทางการเมืองการปกครอง ตัวคำสอนพุทธศาสนาเองในคัมภีร์ก็มีแนวคิด อุดมการณ์ว่าด้วยการปกครองโดยธรรม หน้าที่ของผู้ปกครองในการอุปถัมภ์พุทธศาสนา และหน้าที่ของคณะสงฆ์ต่อผู้ปกครองและผู้ใต้ปกครองชัดเจนอยู่แล้ว และที่แน่ๆ คณะสงฆ์เองก็ต้องการใช้รัฐเป็น “เครื่องมือ” ในการอุปถัมภ์คุ้มครองพุทธศาสนา และการสนับสนุนการเผยแพร่พุทธศาสนาด้วยเช่นกัน

3. ในประวัติศาสตร์รัฐพุทธศาสนาไทยยุคราชาธิปไตยที่สถานะชอบธรรมของกษัตริย์ถูกสถาปนาขึ้นตามคติพุทธผสมพราหมณ์ กษัตริย์มีอำนาจเด็ดขาดปกครองทั้งฝ่ายอาณาจักรและศาสนจักร มีอำนาจแต่งตั้ง-ถอดถอนสมณศักดิ์ศักดิ์ฐานันดรพระ ให้ที่ดิน เบี้ยหวัด เงินเดือน ข้าทาสแก่วัด มี “พระอารามหลวง” ชั้นต่างๆ ออกฎหมายปกครองพระ ควบคุมวัตรปฏิบัติ และมีบทลงโทษตามกฎหมายแก่การกระทำผิดวินัยสงฆ์ของพระ เป็นต้น 

4. ยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มีการสถาปนา “มหาเถรสมาคม” รวบอำนาจปกครองพระสงฆ์ทั่วราชอาณาจักร และจัดระบบการปกครองสงฆ์เลียนแบบส่วนราชการจากส่วนกลางลงไปสู๋ส่วนภูมิภาค จังหวัด อำเภอ ตำบล หมู่บ้าน โดยคณะสงฆ์ในระบบมหาเถรฯ ทั้งมีสมณศักดิ์ มีอำนาจทางกฎหมาย มีงบฯ สนับสนุนจากภาษีประชาชน แต่อำนาจของมหาเถรฯ ขึ้นตรงต่ออำนาจของกษัตริย์อีกที เพราะกษัตริย์เป็นประมุขของระบบนี้โดยตรง โครงสร้างแบบนี้อาจเรียกได้ว่าเป็น “ศาสนจักร” แบบหนึ่ง ไม่ใช่แบบ “ศาสนจักรคาทอลิกยุคกลาง” แต่เป็นแบบศาสนจักรหลังยุคปฏิรูปศาสนาคริสต์ที่เป็นศาสนจักรของรัฐขึ้นต่ออำนาจของกษัตริย์ เช่น ศาสนจักรนิกายอังกลิคันในอังกฤษเป็นต้น แม้จะไม่เหมือนเป๊ะ แต่พอเทียบเทียงกันได้

5. การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ไม่มีการคิดเรื่อง “แยกศาสนาจากรัฐ” (secularization) คงรักษาระบบมหาเถรฯ ไว้ทั้งกระบิ แม้จะเปลี่ยนแปลงบ้างในปี 2484 แต่ก็ไม่ใช่การแยกศาสนาจากรัฐ เพราะรัฐยังคมควบคุมศาสนจักร แม้ภายในศาสนจักรเองจะมีการกระจายอำนาจกว่าเดิมก็ตาม แต่ปี 2505 ก็นำระบบมหาเถรฯ กลับมาใช้ และการแก้ไขกฎหมายสงฆ์ล่าสุด 2561 ก็ทำให้กษัตริย์มีอำนาจปกครองศาสนจักรได้แบบยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์เลยทีเดียว 

ส่วนหน่วยงานราชการที่ทำหน้าที่สนับสนุนกิจการของศาสนจักร สมัยก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครองคือ กรมสังฆการี สังกัดกระทรวงธรรมการ หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง ก็มีกรมการศาสนา สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ต่อมาก็มีสำนักงานพระพุธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) สำนักงานพระพุทธศาสนาประจำจังหวัด ขณะที่กรมการศาสนาก็ยังคงอยู่ เพิ่มขึ้นอีกคือมีการบัญญัติในรัฐธรมนูญให้รัฐมี “หน้าที่” อุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนาและศาสนาอื่นๆ ที่รัฐรับรองใน รธน.2540 ท้ายสุดคือ รธน.2560 ได้เน้นการอุปถัมภ์พุทธนิกายเถรวาท ให้รัฐส่งเสริมการนำหลักจริยธรรมธรรมพุทธไปพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชน และวางระบบกลไกป้องกันและขจัดภัยหรือการบ่อนทำลายพุทธศาสนา และรัฐยังบังคับเรียนวิชาพระพุทธศาสนาในหลักสูตรการศึกษาของชาติอีกด้วย 

แปลว่าหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 รัฐควบคุมพระมากขึ้นๆ พุทธศาสนาผูกกับรัฐมากขึ้นๆ อันเป็นผลมาจากอิทธิพลทางความคิดของปราชญ์พุทธศาสนา ขบวนการเคลื่อนไหวของพระสงฆ์และชาวพุทธที่เรียกร้อง “กระทรวงพุทธศาสนา” แต่ได้สำนักพุทธฯ แทน เรียกร้องการบัญญัติพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ การอุปถัมภ์จากรัฐเพิ่มขึ้นๆ และอื่นๆ ซึ่งเป็นผลส่วนหนึ่งของสิ่งเรียกกันว่า “พลวัตในพุทธไทย” นั่นเอง

6. แม้ศาสนจักรพุทธที่ขึ้นตรงต่ออำนาจกษัตริย์จะไม่มีอำนาจมากเหมือนศาสนจักรยุคกลางที่เอา “พวกนอกรีต” ไปเผาทั้งเป็นหรือแขวนคอ แต่อำนาจที่กำหนดให้พระมีหน้าที่สอนประชาชนให้จงรักภักดีชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ห้ามสนับสนุนการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของประชาชน อำนาจรัฐที่ใช้กองกำลังมหาศาลปิดล้อมวัดพระธรรมกาย (เป็นต้น) อำนาจกีดกันการบวชภิกษุณีในไทย แม้แต่นิมนต์พระจากศรีลังกามาทำพิธีบวชก็ไม่ได้ และอำนาจอื่นๆ เช่น กระแสฝ่ายอนุรักษ์นิยมและกรรมาธิการศาสนาเรียก “สอง พส.” ไปตรวจสอบหรือปรับทัศนคติ เป็นต้น ก็ล้วนแต่เป็นอำนาจที่ขัดหลักการพื้นฐานของระบอบเสรีประชาธิปไตย และหลักการโลกวิสัย

7. พลวัตในพุทธไทยมีทุกยุค ไม่ว่าเรื่องเล่ากบฏผีบุญ, ครูบาศรีวิชัย, พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจันโท) พระพิมลธรรม (อาจ อาสโภ), พุทธทาส, ป.อ. ปยุตฺโต, สันติอโศก, ธรรมกาย ฯลฯ แต่ในที่สุดถ้าบุคคลหรือกลุ่มพวกนั้นไม่ถูกปราบ กูกปรับทัศนคติให้สยบยอมต่ออำนาจรัฐ ก็ถูกรัฐดึงกลับมาเป็นพวกด้วยอุบายวิธีต่างๆ อย่างแยบยลผ่านชนชั้นนำฝ่ายอนุรักษ์นิยม เช่น สัญญา ธรรมศักดิ์, ประเวศ วะสีดึงพุทธทาสมารับใช้รัฐ สุเทพทำให้ภาพสวนโมกข์เป็นเนื้อเดียวกับ กปปส. เป็นต้น 

ดังนั้น ถ้าระบบโครงสร้างหลักไม่เปลี่ยน ไม่แยกศาสนาจากรัฐ พลวัตอะไรเกิดขึ้นมันก็วนลูปกลับไปที่เดิมซ้ำๆ แบบที่เป็นมา

ขอแถมท้ายว่า จำเป็นต้องช่วยกันคิดเรื่องปฏิรูปศาสนา ต้องมีระบบตรวจสอบรายได้ การจ่ายภาษีของทุกองค์กรศาสนา พระสงฆ์ที่ดำรงตำแหน่งสูงๆ หรือพระดังๆ และผู้นำองค์กรศาสนาที่อาจมีรายได้จากตลาดศรัทธาเป็นสิบล้าน ร้อยล้าน เป็นต้น 

แต่เมื่อ “ยังไม่มีระบบตรวจสอบ” เช่นนั้น แล้วทำไมจึงมีคำถามกับ "สอง พส."ล่ะ คำตอบก็คือ ในเมื่อสองทิดถูกมองเป็น "ฝ่ายประชาธิปไตย" ตั้งแต่เป็นพระ พูดเรื่องปฏิรูปคณะสงฆ์ สึกปุ๊บก็ย้ำอีกว่าต้องปฏิรูป ก็ต้องมีคนที่อยากรู้ว่า "สมปอง" ซึ่งเป็นพระดังมีรายได้ (และหนี้สิน) จากตอนเป็นพระกี่สิบกี่ร้อยล้าน ถ้าเขาซึ่งถูกมองว่าเป็นฝ่ายประชาธิปไตยแสดงสปิริต "ริเริ่ม" เปิดเผยตรงไปตรงมาก่อน ก็จะเป็นจุดเริ่มต้นการสร้าง “บทสนทนา” ว่าจะปฏิรูปทั้งระบบอย่างไรต่อไป ก็ไม่ทราบว่าการเรียกร้องสปิริตคือการเรียกร้องเกินไปหรือไม่ แต่ที่ผมเรียกร้องเพราะเห็นเขากล้าพูดแม้แต่เรื่อง "เทคแคร์กลางดึก" ตอนเป็นพระ จึงคิดว่าเรื่องที่เกิดประโยชน์สาธารณะเขาก็น่าจะแสดงสปิริตได้เช่นกัน

ที่พูดเช่นนี้ เพราะ “ปรากฏการณ์สอง พส.” ก็เป็นส่วนหนึ่งของสิ่งที่เรียกกันว่า “พลวัตในพุทธไทย” ถ้าเชื่อกันว่า เป็นปรากฏการณ์พลวัตเชิงก้าวหน้า โดยบทบาทของพระที่ก้าวหน้านั้นเป็น “พระฝ่ายประชาธิปไตย” เข้าถึงคนรุ่นใหม่ กลุ่มคนหลากหลายทางเพศ และอื่นๆ เราก็สามารถอ้างหลักการสมัยใหม่คือ การมี “สปิริต” บนหลักการที่ “แฟร์” ต่อประชาชนผู้ศรัทธา เพื่อตั้งคำถามเรื่อง “รายได้จากพระ” ในตลาดศรัทธาศาสนาภายใต้ระบบผูกขาดของพุทธราชาชาตินิยมกับสอง พศ. ที่ยืนยัน “การปฏิรูปคณะสงฆ์” ได้อย่างสมเหตุสมผลเช่นกัน เหมือนที่เราตั้งคำถามบนหลักการที่ฟรีและแฟร์กับนักการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยทุกพรรค เป็นต้น

ซึ่งการตั้งคำถาม วิจารณ์ เรียกร้องให้แสดง “สปิริต” อย่างสอดคล้องกับหลักการที่ตนเองเสนอต่อสาธารณะ ก็ไม่ใช่การบังคับขืนใจให้ใครต้องทำตามแต่อย่างใด!

ถึงที่สุดแล้ว ทฤษฎี “ชนชั้นปกครองใช้ศาสนาเป็นเครื่องมือทางการเมือง” และทฤษฎี “พลวัตพุทธไทยมีมิติก้าวหน้าและหลากหลาย” ก็ไม่ได้ช่วยให้เราเข้าใจปัญหาซับซ้อนเชิงอุดมการณ์และเชิงโครงสร้างอย่างครอบคลุม และไม่ทำให้เราเข้าใจได้ว่าทำไมพลวัตในพุทธศาสนาไทยที่ดูเหมือนก้าวหน้าและหลากหลายจึงไม่สามารถคลี่คลายไปสู่การสร้าง “ตลาดเสรีทางความเชื่อ” ได้เสียที 

ตราบที่ไม่ยอมพูดถึง หรือ “หลีกเลี่ยง” ที่จะพูดถึงกระบวนการทำให้เป็นโลกวิสัย หรือการแยกศาสนาจากรัฐ (secularization) อย่างจริงจัง! 
   

 

ที่มาภาพ: https://prachatai.com/journal/2021/12/96224

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net