โฆษก ปชป. จวก 'บางพรรค' หาเสียงเข้าข่ายผิด กม.ชัดเจน จี้ กกต.เร่งสอบ-'ศรีตรัง' แจง ไม่เกี่ยว 'อนุกูล พปชร.'

ราเมศ รัตนะเชวง โฆษกและผู้อำนวยการการเลือกตั้งประสานงานส่วนกลางของพรรคประชาธิปัตย์ จี้ กกต. ให้เร่งตรวจสอบการปราศรัยหาเสียงของสมาชิกพรรคการเมือง "บางพรรค" ที่มีหลักฐานชัดเจนว่าเข้าข่ายผิดกฎหมายเลือกตั้ง ลั่น "ฝากความหวัง ไว้กับ กกต. การได้มาซึ่งประชาธิปไตยสุจริตทุกคนต้องช่วยกัน" ด้านบริษัทถุงมือยางที่ถูกพาดพิงระบุ 'อนุกูล พปชร.' ไม่มีตำแหน่งใดๆ ในบริษัท แต่ผู้สื่อข่าวตรวจสอบพบ 'บิดาของอนุกูล' นั่งเก้าอี้กรรมการบริษัท

13 ม.ค. 2565 มติชนออนไลน์, กรุงเทพธุรกิจ และแนวหน้า รายงานตรงกันว่า ราเมศ รัตนะเชวง โฆษกและผู้อำนวยการการเลือกตั้งประสานงานส่วนกลางของพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการเลือกตั้งซ่อม จ.ชุมพร เขต 1 และ จ.สงขลา เขต 6 ว่าขณะนี้อยู่ในช่วงโค้งสุดท้ายของการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งซ่อมในทั้ง 2 เขต ผู้สมัครในพื้นที่จะเน้นการเดินพบปะประชาชนควบคู่ไปกับการจัดเวทีปราศรัยพร้อมกันทั้ง 2 เขตในวันพรุ่งนี้ (14 ม.ค. 2565) ซึ่งจะมีแกนนำพรรคไปร่วม เช่น จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรค, บัญญัติ บรรทัดฐาน อดีตหัวหน้าพรรค, ไตรรงค์ สุวรรณคีรี อดีตรัฐมนตรี เป็นต้น

ราเมศ กล่าวถึงประเด็นการปราศรัยจากพรรคการเมืองบางพรรคในการเลือกตั้งซ่อมของภาคใต้ โดยระบุว่าพรรคการเมืองบางพรรคยังใช้อำนาจในการแทรกแซงเจ้าหน้าที่ของรัฐในพื้นที่ เพื่อบังคับข่มขู่ทั้งตัวเจ้าหน้าที่รัฐและครอบครัวให้มีการเลือกผู้สมัครของพรรคตน ทั้ง 2 เขตกำลังจับตามองอย่างใกล้ชิด ส่วนกรณีที่มี ส.ส. ซึ่งเป็น กรรมการบริหารพรรคขึ้นปราศรัยที่ จ.สงขลา แล้วมีการปราศรัยในลักษณะสัญญาว่าจะให้อย่างชัดเจนนั้น ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2561 มาตรา 73 เขียนไว้ชัดเจนว่า "ห้ามมิให้ผู้สมัครหรือผู้ใด จูงใจให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนน ด้วยวิธีการ สัญญาว่าจะให้ เพราะมีการพูดชัดว่าหากเลือกผู้สมัครในวันข้างหน้าจะมีการดูแลประชาชนในเรื่องเงินทองเพราะมีเงิน" คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) สามารถสอบสวนเรื่องนี้ได้ทันทีเพราะมีข่าวปรากฏอยู่ทั่วไป และวินิจฉัยไม่ยากเพราะผิดกฎหมายชัดเจน หากไม่ผิดนั่นแสดงว่าต่อไปก็สามารถพูดจาในลักษณะว่าจะให้เงินในวันข้างหน้าได้เพื่อจูงใจผู้มีสิทธิ์ ก็ต้องฝากความหวัง ไว้กับ กกต. การได้มาซึ่งประชาธิปไตยสุจริตทุกคนต้องช่วยกัน

ราเมศ กล่าวด้วยว่า ที่มีคนปราศรัยว่าให้เลือกชาติตระกูลดีและมีเงิน ต้องยอมรับว่าประชาชนในพื้นที่เขตเลือกตั้งที่ 6 จ.สงขลา มีความรู้สึกกับเรื่องนี้มาก การใช้เรื่องชาติตระกูลและความร่ำรวยมาพูดเสมือนเป็นการดูถูกประชาชน แบ่งชนชั้น นี่คือความปวดใจของประชาชน หากเป็นแบบนั้น เชื่อว่าลูกชาวบ้านอย่าง 'ชวน หลีกภัย' ไม่มีทางได้เป็น ส.ส. ไม่มีทางได้เป็นนายกรัฐมนตรี คนรวยที่บอกว่าเข้ามาจะไม่โกง มีมากมายที่เข้ามาแล้วโกงสุดท้ายแม้แผ่นดินก็ไม่มีอยู่ พรรคมีความมั่นใจในเขตเลือกตั้งที่ 6 จ.สงขลา รวมถึงเขตเลือกตั้งที่ 1 จ.ชุมพร ช่วงสุดท้ายของการรณรงค์หาเสียงบุคลากรของพรรคลุยเต็มที่จนถึงเวลา 18.00 น ของ วันที่ 15 ม.ค. 2565

แม้ว่าราเมศจะไม่ได้เอ่ยชื่อพรรคการเมืองที่มีประเด็นดังกล่าว แต่เมื่อวานนี้ (12 ม.ค. 2565) ธิวัชร์ ดำแก้ว ผู้สมัครลงเลือกตั้งซ่อม ส.ส. เขต 6 จ.สงขลา จากพรรคกล้าวไกล เดินทางเข้ายื่นหนังสือต่อ กกต. จ.สงขลา เพื่อให้ตรวจสอบการกระทำของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ ว่าปราศรัยเข้าข่ายผิดกฎหมายเลือกตั้งหรือไม่ พร้อมนำคลิปวิดีโอการปราศรัยบนเวทีของ ร.อ.ธรรมนัส ในระหว่างการช่วยอนุกูล พฤกษานุศักดิ์ ผู้สมัคร ส.ส. เขต 6 จ.สงขลา พรรคพลังประชารัฐ ที่เป็นประเด็นอยู่ในสื่อสังคมออนไลน์มาเปิดเผยต่อสื่อมวลชน นอกจากนี้ ข้อความตอนหนึ่งในคลิปปราศรัยหาเสียงของ ร.อ.ธรรมนัส ยังมีการกล่าวพาดพิงถึงบริษัท ศรีตรังโกลฟส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทผลิตและจัดจำหน่ายถุงมือยาง รวมถึงอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ทำจากยางพารา

ต่อมา ช่วงบ่ายวานนี้ (12 ม.ค. 2565) ประชาชาติธุรกิจ รายงานโดยอ้างอิงแถลงการณ์ของบริษัท ศรีตรังโกลฟส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) เมื่อวันที่ 20 ธ.ค. 2564 ที่ชี้แจงข้อเท็จจริงกรณีที่มีการนำเสนอข่าวจากหลายสำนักว่าพรรคพลังประชารัฐเตรียมส่งอนุกูล พฤกษานุศักดิ์ ลงสมัครรับเลือกตั้งในเขตพื้นที่จังหวัดสงขลา โดยมีการระบุว่านายอนุกูล พฤกษานุศักดิ์ เป็นทายาทเจ้าของบริษัทนั้น

“ทางบริษัทขอเรียนชี้แจงว่า อนุกูล พฤกษานุศักดิ์ ไม่ได้มีตำแหน่งเป็นกรรมการ ผู้บริหาร พนักงานหรือเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทฯ แต่อย่างใด นอกจากนี้ บริษัทมีนโยบายและแนวปฏิบัติการมีส่วนร่วมทางการเมืองที่โปร่งใสในการไม่ยุ่งเกี่ยวหรือทำกิจกรรมใดๆ เพื่อเป็นการให้ความช่วยเหลือหรือเอื้อประโยชน์ทางการเมืองแก่พรรคใดหรือบุคคลใดเป็นการเฉพาะเจาะจง”

ประชาไทตรวจสอบเพิ่มเติมถึงแถลงการณ์ดังกล่าว พบว่าสื่อหลายสำนัก เช่น ผู้จัดการออนไลน์, ไทยรัฐออนไลน์, ท็อปนิวส์ และสยามรัฐ เคยรายงานไปแล้วก่อนหน้านี้

ประชาชาติธุรกิจ รายงานเพิ่มเติมว่ารายชื่อคณะกรรมการบริหารบริษัท ศรีตรังโกลฟส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) จดทะเบียนไว้ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ประกอบด้วยวีรกร อ่องสกุล เป็นประธานกรรมการบริษัท กรรมการอิสระ ประธานกรรมการตรวจสอบ, ไวยวุฒิ สินเจริญกุล เป็นประธานกรรมการบริหาร กรรมการ, กิตติชัย สินเจริญกุล เป็นรองประธานกรรมการ, จริญญา จิโรจน์กุล เป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่

ส่วนคณะกรรมการบริษัท ประกอบด้วยวีรสิทธิ์ สินเจริญกุล, ธนวรรณ เสงี่ยมศักดิ์, วิทย์นาถ สินเจริญกุล, ชี ปิง เฉีย และอนันต์ พฤกษานุศักดิ์ ซึ่งเป็น “บิดา” ของอนุกูล นอกจากนี้ยังมีสรณ บุญใบชัยพฤกษ์ เป็นกรรมการอิสระ, อุณากร พฤฒิธาดา กรรมการอิสระ กรรมการตรวจสอบ และ พล.อ.บัณฑิตย์ บุณยะปาน กรรมการอิสระ กรรมการตรวจสอบ

จากรายงานดังกล่าว ประชาไทตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติมในฐานข้อมูลนิติบุคคลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ซึ่งเป็นฐานข้อมูลเปิดที่ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าไปตรวจสอบข้อมูลการจดทะเบียนธุรกิจในประเทศไทยได้ พบว่าบริษัท ศรีตรังโกลฟส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ซึ่งจดทะเบียนในปี 2562 เกิดจากการควบรวมกิจการเดิมของบริษัท ศรีตรังโกลฟส์ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งจดทะเบียนเมื่อปี 2532 และแปรสภาพเป็นบริษัทจำกัด (มหาชน) เพื่อเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ โดยปรากฏรายนามคณะกรรมการบริษัทตามที่ประชาชาติธุรกิจรายงานข้างต้น

ข้อมูลของบริษัท ศรีตรังโกลฟส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ในเว็บไซต์ของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า
ซึ่งเป็นฐานข้อมูลเปิดที่ประชาชนทั่วไปสามารถสืบค้นได้ (https://datawarehouse.dbd.go.th/)
บันทึกภาพเมื่อวันที่ 13 ม.ค. 2565

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท