‘หมอเก่ง ก้าวไกล’ โต้ 'อนุทิน' ชี้ ข้อมูลวัคซีนเป็นความลับ รัฐมีหน้าที่ป้องกันเข้มงวด

‘วาโย’ จากพรรคก้าวไกลโต้ ‘อนุทิน’ ข้อมูลวัคซีนและเลขบัตรประจำตัวประชาชนเป็นความลับ ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย รัฐไม่ควรปล่อยให้ใครก็ได้เข้าถึงข้อมูลส่วนตัวของประชาชน หลัง รมว.สธ. ให้สัมภาษณ์สื่อ ระบุ 'ธนาธร' ฉีดวัคซีนตามระบบปกติ แต่แค่กรอกเลขบัตรประชาชน 13 หลัก ก็เจอข้อมูลในหมอพร้อมแล้ว

13 ม.ค. 2565 ทีมสื่อพรรคก้าวไกล รายงานว่า จากกรณีที่อนุทิน ชาญวีรกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ชี้แจงว่า 'ข้อมูลของประชาชนที่ฉีดวัคซีนไม่ได้รั่ว และข้อมูลดังกล่าวไม่ได้ถือว่าเป็นความลับ เมื่อกรอกหมายเลข 13 หลักในหมอพร้อมก็จะพบข้อมูลนี้' นพ.วาโย อัศวรุ่งเรือง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ออกมาแสดงความเห็นว่า ตนรู้สึกตกใจมากที่เจ้ากระทรวงที่ดูแลข้อมูลส่วนตัวของประชาชนทั้งประเทศ ไม่ให้ความสำคัญกับปกป้องข้อมูลของประชาชน

“ปัจจุบัน ข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลเป็นทรัพย์สินที่มีมูลค่ามาก เพราะสามารถนำข้อมูลไปวิเคราะห์และคาดการณ์อะไรได้อีกมาก หลายประเทศที่เขาตระหนักเรื่องนี้ ตนถือว่ามันเป็นความมั่นคงของประชาชนเลยด้วยซ้ำ ทีนี้ของประเทศไทย ควรจะต้องมี พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคล หรือ PDPA ออกมาใช้ตั้งนานแล้ว แต่มันก็ยังไม่มีผลบังคับใช้สักที แล้วพอผู้มีอำนาจออกมาบอกว่าข้อมูลเหล่านี้ไม่ได้เป็นความลับอะไร มันก็แสดงให้เห็นว่ารัฐไทยไม่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้แบบสุดๆ ไปเลย” วาโย กล่าว

นพ.วาโย กล่าวต่อว่า แม้ PDPA จะยังไม่มีผลบังคับใช้ แต่ปัจจุบันก็มีกฎหมายเฉพาะคุ้มครองข้อมูลสุขภาพของประชาชนบังคับใช้อยู่แล้ว เขาชวนให้ทุกคนคิดตามโจทย์ทางกฎหมายว่า มาตรา 7 ของพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 ระบุว่า ข้อมูลด้านสุขภาพของบุคคลเป็นความลับส่วนบุคคล ใครจะนำไปเปิดเผยในลักษณะที่จะทำให้บุคคลนั้นเสียหายไม่ได้ เว้นแต่คนนั้นจะยินดีเปิดเผยเอง

“แล้วข้อมูลวัคซีนถือเป็นข้อมูลสุขภาพหรือไม่ ก็ต้องย้อนไปดู พ.ร.บ.วิชาชีพเวชกรรม พ.ศ.2525 มาตรา 4 ระบุว่า การประกอบวิชาชีพเวชกรรมมีการรักษา บำบัด หรือป้องกันโรค ดังนั้น การฉีดวัคซีนเพื่อการป้องกันโรค ก็ถือว่าเป็นข้อมูลการรักษา เป็นข้อมูลสุขภาพ ซึ่งเป็นข้อมูลส่วนบุคคลที่ผู้ใดจะเปิดเผยไม่ได้” วาโย กล่าว

ดังนั้น การบอกว่า ใครก็เข้าถึงข้อมูลวัคซีนได้ เพียงแค่ใส่เลขบัตรประชาชนลงไปในแอปพลิเคชัน ‘หมอพร้อม’ จึงยิ่งแสดงให้เห็นถึงความหละหลวมในการเก็บข้อมูลส่วนบุคคลของประชาชนทั้งประเทศ เป็นรัฐที่ไม่ให้ค่ากับข้อมูล ทำให้ประชาชนยิ่งไม่เชื่อมั่นว่ารัฐจะสามารปกป้องข้อมูลของประชาชนได้ ดังที่เคยเห็นมาแล้วว่า ประชาชนเคยไม่กล้าเช็คอินในแอปพลิเคชั่นของรัฐ เพราะกลัวว่ารัฐจะนำข้อมูลตัวเองไปทำอะไร

นพ.วาโยยังตั้งคำถามต่อว่า เมื่อข้อมูลสุขภาพที่เป็นข้อมูลส่วนบุคคล ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายแล้ว เจ้าหน้าที่รัฐที่มีหน้าที่ปกป้องข้อมูลลับเหล่านี้ แต่กลับทำแอปพลิเคชันให้ใครก็ได้สามารถเข้าถึงข้อมูลนี้ จะถือว่ามีความผิดหรือไม่ ตนมองว่าน่าจะเข้าประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 323 เขียนว่า ผู้ใดล่วงรู้หรือได้มาซึ่งความลับของผู้อื่นโดยเหตุที่เป็นเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ แล้วเปิดเผยความลับนั้นในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

“ผมขอย้ำว่านี่ไม่ใช่แค่เรื่องของข้อมูลนักการเมือง แต่เป็นเรื่องของข้อมูลประชาชนทั้งประเทศ จริงๆ แล้ว เราน่าจะสามารถฟ้องศาลปกครอง ให้มีการปรับเปลี่ยนวิธีการปกปิดข้อมูลของประชาชนได้เลยนะว่าการใส่แค่เลขบัตรประชาชนก็สามารถเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลของเราได้เลยนี่มันไม่ถูกต้องเลย นี่อาจไม่ใช่เป็นเพียงการละเลย แต่น่าจะเป็นการละเมิดกฎหมาย แล้วเรื่องนี้ก็ได้รับการรับรองในรัฐธรรมนูญปี 60 มาตรา 32 ด้วยว่า บุคคลย่อมมีสิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัว เกียรติยศ ชื่อเสียงและครอบครัว” วาโย กล่าว

'อนุทิน' พูดว่าอย่างไร

วานนี้ (12 ม.ค. 2565) ไทยรัฐออนไลน์ รายงานว่าอนุทิน ชาญวีรกูล ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวเรื่องการระบาดของโรคโควิด-19 และแผนการฉีดวัคซีนเพื่อรับมือการระบาดระลอกใหม่ พร้อมบอกว่าขณะนี้ ภาครัฐทยอยเปิดให้ฉีดวัคซีนแบบวอล์กอิน (walk-in) หากใครได้รับวัคซีนเข็ม 2 ครบ 3-4 เดือนแล้ว ให้มารับวัคซีนเข็มกระตุ้นได้ตามจุดฉีดที่กำหนด นอกจากนี้ อนุทินยังได้ตอบคำถามผู้สื่อข่าวกรณีการฉีดวัคซีนของธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า ว่าเป็นวัคซีน VIP หรือไม่ ซึ่งอนุทินตอบว่าธนาธรมาฉีดวัคซีนตามคิวปกติ และรู้สึกยินดีที่มารับวัคซีน เพราะไม่ว่าจะเป็นใคร หากรับวัคซีนแล้วก็ถือว่าช่วยลดความเสี่ยงในการแพร่เชื้อ

"เรื่องวัคซีน VIP ตามนโยบายของกระทรวงฯ ในยุคของผมคือ รักษาทุกที่ VIP ทุกคน เท่ากับประชาชนทุกคนเป็น VIP และประเด็นที่กำลังเป็นเรื่องดราม่า ขอชี้แจงว่า นักการเมืองท่านนั้น ตามข่าว (คธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ) ก็มาตามกำหนด ไม่มีอะไรผิดปกติ ท่านมารับเดือนกรกฎาคม แต่คนไทยก็ทยอยรับกันตั้งแต่เดือนพฤษภาคมแล้ว อันที่จริงยินดีมากที่มารับวัคซีน การฉีดให้กับใครก็ตาม เป็นเรื่องน่าดีใจ เพราะฉีดแล้ว ก็ลดความเสี่ยงในการแพร่เชื้อ ลดโอกาสป่วย เสียชีวิต ฉีดกันได้แล้ว ดีใจทุกคน ท่านก็เพิ่งติดโควิด ไม่ทราบว่า ฉีดเข็ม 3 หรือยัง ถ้ายังท่านก็มารับได้ เข็ม 3 เข็ม 4 ทางกระทรวงฯ พร้อมให้บริการ" อนุทินตอบคำถามผู้สื่อข่าว ตามการรายงานของไทยรัฐออนไลน์

ขณะเดียวกัน โพสต์ทูเดย์ รายงานเพิ่มเติมว่าอนุทินตอบคำถามผู้สื่อข่าวถึงกรณีที่ธนาธรประกาศว่าจะฟ้องร้องเอาผิดหน่วยงานรัฐ หรือผู้ที่เปิดเผยข้อมูลการฉีดวัคซีนของตน โดยอนุทินยืนยันว่า "ข้อมูลของประชาชนที่ฉีดวัคซีนไม่ได้รั่ว และข้อมูลดังกล่าวไม่ได้ถือว่าเป็นความลับ" เพราะเมื่อกรอกหมายเลข 13 หลักในหมอพร้อมก็จะพบข้อมูลนี้ และไม่ควรมองว่าธนาธรเป็นบุคคล VIP หรือคนพิเศษกว่าคนอื่น

นอกจากนี้ อนุทิน ยังเน้นย้ำว่ากระทรวงสาธารณสุขในยุคของตน มีสโลแกน "รักษาทุกที่ VIP ทุกคน" สำหรับกระทรวงสาธารณสุขแล้ว ประชาชนคนไทยทุกคน คือ บุคคล VIP พร้อมขอร้องว่าอย่าเอาประเด็นนี้มาเป็นเรื่องสำคัญ

การฉีดวัคซีนของ 'ธนาธร'

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 4 ม.ค. ที่ผ่านมา ธนาธรเปิดเผยผ่านทวิตเตอร์ว่าตนติดเชื้อโควิด-19 ระหว่างกักตัวหลังเดินทางกลับมาจากต่างประเทศ และกำลังรักษาตัว พร้อมปฏิบัติตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด

 

 

ต่อมา วันที่ 10 ม.ค. 2565 ผู้จัดการออนไลน์ และไทยโพสต์ รายงานว่า ผศ.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ อาจารย์ประจำคณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) โพสต์ข้อความผ่านทางเพซบุ๊ก เปิดเผยข้อมูลการฉีดวัคซีนของธนาธร ที่พบว่า ฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 แอสตราเซเนกา ลอตที่ A10062 ซึ่งผลิตจากโรงงานสยามไบโอไซเอนซ์ เมื่อวันที่ 1 ก.ค. 2564 เวลา 19.15 น. ที่โรงพยาบาลพระสมุทรเจดีย์ จ.สมุทรปราการ จากนั้นได้ฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 โมเดอร์นา เมื่อวันที่ 22 ธ.ค. 64 เวลา 10.42 น. ที่โรงพยาบาลรามคำแหง พร้อมกันนี้ อานนท์ ได้ทวงถามไปยังโรงพยาบาลพระสมุทรเจดีย์ว่าการฉีดวัคซีนเข็มแรกให้ประชาชนที่มีอายุต่ำกว่า 60 ปี และไม่ได้เป็นบุคคลใน 7 โรคกลุ่มเสี่ยงนั้น หมายความอย่างอย่างไร

นพ.จอมเทพ หวังสันติตระกูล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลพระสมุทรเจดีย์สวาทยานนท์ ได้ออกมายืนยันภายหลังว่าธนาธรฉีดวัคซีนแอสตราเซเนกาเข็มแรกที่โรงพยาบาลจริง เพราะโรงพยาบาลได้รับนโยบายจากกระทรวงสาธารณสุขว่าต้องฉีดวัคซีนให้กับประชาชนในพื้นที่ จ.สมุทรปราการ ให้ได้มากที่สุด และโรงพยาบาลได้ฝากผู้ที่ฉีดวัคซีนแบบวอล์กอินให้ช่วยประชาสัมพันธ์ต่อว่าสามารถมารับวัคซีนแบบวอล์กอินได้ แต่ไม่อาจทราบได้ว่าใครเป็นผู้บอกข่าวแก่ธนาธร นพ.จอมเทพระบุว่าในวันนัดหมายฉีดวัคซีน เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลได้โทรศัพท์ตามบุคคลที่มีชื่อในคิวรับวัคซีน ซึ่งจากการตรวจสอบก็มีชื่อธนาธรรวมอยู่ด้วย ส่วนที่ต้องฉีดในช่วงค่ำ ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะต้องโทรตามผู้ที่มีรายชื่อ ซึ่งผู้ที่มีรายชื่อที่มาฉีดอาจจะใช้เวลาในการเดินทาง โดยในวันนั้นไม่ใช่มีแค่ธนาธรเพียงคนเดียว แต่มีประชาชนอีกหลายคนที่มาฉีดในช่วงเวลาดังกล่าว

ด้าน ข่าวสดออนไลน์ รายงานว่าในวันเดียวกันนั้น พรรณิการ์ วานิช โฆษกและกรรมการบริหารคณะก้าวหน้า ให้สัมภาษณ์ชี้แจงกรณีดราม่าวัคซีน VIP โดยพรรณิการ์ระบุว่าย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 7 มิ.ย. 2564 รัฐบาลกำหนดให้วันดังกล่าวเป็นวันเริ่มต้นฉีดวัคซีนแห่งชาติ และเปิดให้ลงทะเบียนออนไลน์หลายช่องทางล่วงหน้า หลังจากนั้นจึงเริ่มต้นฉีดวัคซีนให้กับชาวไทยทุกคนที่มีอายุมากกว่า 18 ปีขึ้นไปในวันที่ 7 มิ.ย. 2564 โดยเฉพาะในพื้นที่ระบาดสูง ได้แก่ กรทม. และปริมณฑล เพราะฉะนั้น ข้อกล่าวหาที่บอกว่า ตนและธนาธรแย่งวัคซีนคนแก่ จึงไม่เป็นความจริงอย่างสิ้นเชิง

พร้อมกันนี้ พรรณิการ์ได้นำหลักฐานที่เป็นข้อมูลสถิติซึ่งรวบรวมโดยกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) ณ วันที่ 15 ก.ค. 2564 มาแสดง โดยข้อมูลดังกล่าวระบุว่าในจำนวนประชาชนทั้งหมดที่ได้รับวัคซีน 50% เป็นประชาชนทั่วไปในพื้นที่เสี่ยง ตามด้วยผู้สูงอายุ 20% และคนกลุ่ม 7 โรคเสี่ยง 7% ส่วนสถิติรายจังหวัด ประชาชนในกรุงเทพฯ ได้รับวัคซีนเข็มแรกไปแล้ว 45% ขณะที่สมุทรปราการฉีดไป 24% เพราะฉะนั้น คนที่ฉีดวัคซีนในเดือนกรกฎาคมจึงเป็นส่วนหนึ่งของประชาชนกลุ่มใหญ่ที่รับวัคซีนตามนโยบายของรัฐบาล จะเรียกว่าเป็นวีไอพี หรือ แซงคิวใครไม่ได้

ต่อมา วันที่ 11 ม.ค. 2565 ธนาธรได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กเพจ Thanathorn Juangroongruangkit - ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ระบุว่าตนจะเดินหน้าฟ้องร้องหน่วยงานรัฐที่นำข้อมูลส่วนบุคคลของตนมาเปิดเผย รวมถึงฟ้องร้องกลุ่มบุคคลที่กล่าวหาว่าตนลัดคิวและใช้สิทธิพิเศษในการเข้ารับวัคซีน ซึ่งทำให้ชื่อเสียงของตนเสียหาย

ประเด็นการฉีดวัคซีนของธนาธร ทำให้เกิดการถกเถียงอย่างมากในสื่อสังคมออนไลน์ ทั้งประเด็นการนำข้อมูลส่วนตัวและข้อมูลการรักษาทางการแพทย์มาเปิดเผยโดยไม่ได้รับอนุญาต รวมถึงประเด็นการตรวจสอบบุคคลสาธารณะ

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 5 มิ.ย. 2564 สำนักข่าว Hfocus รายงานว่า นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงการลงทะเบียนรับวัคซีนสำหรับประชาชนทั่วไปว่า วัคซีนสำหรับประชาชนทั่วไปในต่างจังหวัด (76 จังหวัด ไม่รวมกทม.) มีหลากหลายช่องทาง เริ่มลงทะเบียนวันที่ 14 มิ.ย. 2564 เป็นต้นไป ได้แก่ ไลน์ แอปพลิเคชันหมอพร้อม แอปพลิเคชันของจังหวัด หรือลงทะเบียนผ่าน อสม. และ รพ.สต. หรือติดต่อโรงพยาบาลใกล้บ้าน เมื่อได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว ข้อมูลทั้งหมดจะสู่ระบบฐานข้อมูล MOHP IC และหมอพร้อม จะติดตามอาการ นัดหมายฉีดครั้งที่ 2 รวมทั้งออกเอกสารการฉีดวัคซีนครบ 2 เข็ม

ส่วนการกระจายวัคซีนแอสตราเซเนกา นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า ทาง ศบค.จะเป็นผู้กำหนดในการจัดส่งให้แต่ละจังหวัด กระทรวงสาธารณสุขจึงจัดส่งวัคซีนไปตามนั้น คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดจะเป็นผู้พิจารณาการฉีดในกลุ่มเป้าหมายต่างๆ โดยพิจารณาทั้งจากจำนวนประชากร, สถานการณ์การระบาด, กลุ่มเป้าหมาย และพื้นที่นโยบายฟื้นฟูเศรษฐกิจการท่องเที่ยว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท