ลดความรุนแรง-มีส่วนร่วมทางการเมือง-กลไกปรึกษาหารือ ‘BRN’ แถลงผลเจรจาสันติภาพกับรัฐบาลไทย

หัวหน้าคณะพูดคุย ‘BRN’ แถลงผลการเจรจาสันติภาพกับรัฐบาลไทยครั้งที่ 3 หลังได้ข้อสรุปร่วมจากทั้งสองฝ่าย 3 ข้อ 1. การลดสถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ 2. การมีส่วนร่วมทางการเมือง 3. กลไกการปรึกษาหารือในพื้นที่ ด้าน 'ประยุทธ์' พอใจผลการพูดคุยเดินหน้าสร้างสันติสุขในพื้นที่

14 ม.ค. 2565 หลังจากการเจรจาสันติภาพระหว่างแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปาตานี หรือ บีอาร์เอ็น (Barisan Revolusi Nasional - BRN) กับรัฐบาลไทย (RTG, Royal Thai Government) เพื่อหาทางออกและแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในชายแดนใต้/ปาตานี ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย เมื่อวันที่ 11-12 ม.ค.ที่ผ่านมา โดยมี ตวน ศรี อับดุลราฮีม มูฮัมหมัด นูร์ (Tan Sri Abdul Rahim Mohd. Noor) จากรัฐบาลมาเลเซียเป็นผู้อำนวยความสะดวก   ส่วนคณะตัวแทนการเจรจาจากบีอาร์เอ็นนำโดยอานัส อับดุลเราะห์มาน และคณะตัวแทนการเจรจาจากรัฐบาลไทยนำโดย พล.อ.วัลลภ รักเสนาะ การเจรจาครั้งนี้มีผู้สังเกตการณ์ 2 คน คือ Jonathan Powell จากอังกฤษ และ Siri Skare จากนอร์เวย์ ซึ่งต่อมาบีอาร์เอ็นแถลงผลการเจรจาดังกล่าว โดย ฮารา ชินทาโร นักวิชาการอิสระและผู้เชี่ยวชาญด้านภาษามลายูแปลและเผยแพร่ทางเฟซบุ๊ก 'Hara Shintaro' ในลักษณะสาธารณะ มีใจความสำคัญดังนี้  

 

ในการเจรจาครั้งนี้ ตัวแทนของทั้งสองฝ่าย บีอาร์เอ็นกับรัฐบาลไทยได้บรรลุข้อตกลงบางประการดังต่อไปนี้

1. ตกลงกันที่จะพิจารณาประเด็นที่เกี่ยวข้องกับประเด็นสารัตถะ (substantive issues) ที่ได้ส่งไปยังฝ่ายผู้อำนวยความสะดวกล่วงหน้าเมื่อวันที่ 10 พ.ค. 2021 (ประเด็นเหล่านี้) เกี่ยวกับแนวทางแก้ไขทางการเมือง (political solution) การรับฟังความเห็นสาธารณะ (public consultation) และการลดการใช้ความรุนแรงของทั้งสองฝ่าย

2. ตกลงกันที่จะให้มี agreement (ข้อตกลง) เกี่ยวกับหลักการทั่วไปในการเจรจาสันติภาพระหว่างบีอาร์เอ็นกับรัฐบาลไทยเกี่ยวกับประเด็นสำคัญ

3. ตกลงที่จะกำหนดข้อกำหนด (TOR, terms of reference) และวิธีการต่าง ๆ นำมาใช้ในการปฏิบัติ (implementation) ภาคสนามในอนาคต

4. ตกลงกันที่จะสร้าง Joint Working Group (JWG, คณะทำงานร่วม) ระหว่าง บีอาร์เอ็นกับรัฐบาลไทยภายใต้การดูแลของกองเลขานุการ (secretariat) ผู้อำนวยความสะดวก

บีอาร์เอ็นคาดหวังว่า กระบวนการเจรจาครั้งนี้จะดำเนินต่อไปและนำไปสู่สันติภาพอันแท้จริงที่มีศักดิ์ศรีสำหรับประชาชนชาติมลายูปาตานีทั้งหลาย

ขอขอบคุณ ขอความสันติสุข ความเมตตา และความจำเริญจากอัลลอฮฺจงประสบแด่ท่าน

สำนักงานกองเลขานุการการเจรจาสันติภาพ บีอาร์เอ็น

'ประยุทธ์' พอใจผลการพูดคุย

ขณะที่รัฐบาลไทย จากเว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พอใจผลการพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนใต้ เมื่อวันที่ 11 และ 12 ม.ค.ที่ผ่านมา โดย ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะยึดถือ 3 ประเด็น เป็นแนวทางในการพูดคุยระยะต่อไป คือ 1) การลดความรุนแรง 2) การปรึกษาหารือกับประชาชนในพื้นที่ และ 3) การแสวงหาทางออกทางการเมือง โดยจะมีกลไกการทำงานร่วมกัน ประกอบด้วย การมีบุคคลผู้ประสานงาน และคณะทำงานร่วมของทั้งสองฝ่ายในแต่ละเรื่อง ทั้งนี้เพื่อผลักดันให้การพูดคุยเป็นไปอย่างต่อเนื่อง คล่องตัว และเกิดผลสำเร็จเป็นรูปธรรม 

“นายกรัฐมนตรี ยังได้ขอบคุณทุกภาคส่วนที่ช่วยขับเคลื่อนให้เกิดการพูดคุยในครั้งนี้ แม้สถานการณ์โรคระบาด COVID-19 จะเป็นข้อจำกัดในการเดินทางข้ามพรมแดน แต่ทั้งสองฝ่ายได้พยายามติดต่อสื่อสาร สานต่อกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุข จนสามารถผลักดันให้เกิดการพบปะพูดคุยได้จริง รัฐบาลปรารถนาที่จะสร้างบรรยากาศการพูดคุยที่ดี เพื่อนำไปสู่การลดความรุนแรง การใช้ชีวิตที่เป็นปกติสุขตามความคาดหวังของประชาชน อันจะเป็นการแสดงถึงความคืบหน้าและประโยชน์ที่เกิดจากกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขในจังหวัดชายแดนภาคใต้” รัชดา กล่าว

อนึ่ง การเจรจาสันติภาพระหว่างรัฐบาลไทยกับกลุ่มบีอาร์เอ็นในปี 2556 ขณะนั้นหัวหน้าพูดคุยฝ่ายบีอาร์เอ็นนำโดย ฮาซัน ตอยิบ และหัวหน้าพูดคุยฝ่ายรัฐบาลไทยนำโดย พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร ซึ่งมีมาเลเซียเป็นผู้อำนวยความสะดวก แต่ผลการเจรจาในครั้งนั้นกลับไม่เป็นผลสำเร็จและมีเหตุการณ์ความรุนแรงเกิดขึ้นในพื้นที่เป็นระลอก และสุดท้ายการเจรจาในครั้งระหว่างทั้งสองฝ่ายก็ต้องยุติลงจากการยุติบทบาทการเป็นหัวหน้าคณะพูดคุยฝ่ายบีอาร์เอ็นของฮาซัน ตอยิบ 

ปี 2558 มีการเจรจาสันติภาพขึ้นมาอีกครั้ง แต่ในครั้งนี้ไม่ใช่องค์กรบีอาร์เอ็นในฐานะตัวแสดงหลักที่เป็นตัวแทนในการเจรจาแต่เปลี่ยนเป็นองค์กรมาราปาตานี (MARA Patani) ที่นำโดยสุกรี ฮารี เป็นหัวหน้าคณะพูดคุย กับรัฐบาลไทยที่มีหัวหน้าคณะพูดคุยนำโดย พล.อ.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ และสุดท้ายผลของการเจรจาก็ไม่เป็นผลและต้องหยุดชะงักอีกครั้ง จากการที่กลุ่มมาราปาตานีเองไม่ใช่กลุ่มที่มีบทบาทหรือสามารถกำหนดท่าทีการปฏิบัติการทางการทหารของกองกำลังในพื้นที่ได้จริง จึงไม่ได้รับความยอมรับสถานะว่าเป็นตัวแทนในการเจรจาสันติภาพกับรัฐบาลไทย นำไปสู่การล้มเหลวในการเจรจาสันติภาพในครั้งนั้น

ทั้งนี้ ปี 2565 การเจรจาสันติภาพระหว่างบีอาร์เอ็นกับรัฐบาลไทยได้เกิดขึ้นอีกครั้ง ถือเป็นผลสืบเนื่องจากการเจรจาที่มีมาแล้วก่อนหน้านี้ระหว่างบีอาร์เอ็นที่นำโดย อานัส อับดุลเราะห์มาน และฝ่ายรัฐบาลไทยที่นำโดย พล.อ.วัลลภ รักเสนาะ ซึ่งการเจรจาระหว่างทั้งสองฝ่ายที่เกิดขึ้นครั้งที่ 1 มีเมื่อวันที่ 20 ม.ค. 2563 และมีการเจรจาครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 2-3 มี.ค. 2563 ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ซึ่งการเจรจาครั้งล่าสุดถือเป็นการนำเอาผลของการเจรจาในรอบที่ผ่านมา 2 ครั้งมาเป็นเนื้อหาหลักที่ใช้ในการพูดคุยครั้งนี้ 

ข่าวชิ้นนี้ รายงานด้วย รามูฮัมหมัดอานัส หลงเดวา นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะมนุษย์ศาสตร์และสังคมศาสตร์ สาขาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ม.อ. ปัตตานี ปัจจุบันเป็นนักศึกษาฝึกงานที่กองบรรณาธิการประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท