Skip to main content
sharethis

ก.แรงงาน สอบกรณีเครนหล่นทับวิศวกรดับ จ่อเอาผิดนายจ้างฐานไม่แจ้งเกิดอุบัติเหตุ

14 ม.ค. 2565 นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า จากกรณีโซเชียลมีเดีย เผยเหตุวิศวกรหนุ่มได้รับอุบัติเหตุ สายสลิงขาด เครนหล่นทับเสียชีวิต และมีการปิดข่าวนั้น ได้สั่งการให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานเข้าตรวจสอบข้อเท็จจริงพบว่า นายอภินันท์ นิชพรกุล ลูกจ้างตำแหน่งวิศวกร ได้รับอุบัติเหตุ สายสลิงขาด และเครนหล่นทับเสียชีวิต เมื่อวันที่ 7 ม.ค. 2565 ซึ่งเป็นสถานที่ก่อสร้าง โครงการอาคารศูนย์การค้ามาร์เก็ตเพลส ทองหล่อ เป็นลักษณะอาคารคอนกรีตสูง 18 ชั้น ตั้งอยู่ถนนสุขุมวิท แขวงคลองตันเหนือเขตวัฒนา กรุงเทพมหานคร บริษัท สยามฟิวเจอร์ดีเวลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) เป็นเจ้าของโครงการ มีสำนักงานตั้งอยู่เลขที่ อาคารศูนย์การค้า เอสพลานาด รัชดาภิเษก เลขที่ 99 ถนนรัชดาภิเษก แขวงดินแดง เขตดินแดง กรุงเทพมหานคร ประกอบกิจการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์

โดยโครงการดังกล่าวมีระยะเวลาการก่อสร้าง ตั้งแต่ 1 ก.พ. 2564 สิ้นสุด 30 พ.ย. 2565 ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการก่อสร้างอาคารชั้นที่ 4 โดยมีบริษัท วิศวภัทร์ จำกัด เป็นผู้ดำเนินการก่อสร้าง มีสำนักงานตั้งอยู่เลขที่ 9 ถ.สุขาภิบาล 5 ซอย 24 แขวงท่าแร้ง เขตบางเขน กรุงเทพมหานคร ประกอบกิจการ รับเหมาก่อสร้าง ในส่วนของโครงการ รับผิดชอบในส่วนของโครงสร้างอาคาร ระบบสาธารณูปโภค เมื่อวันที่ 7 ม.ค. 2565 เวลาประมาณ 08.45 น. ลูกจ้างอยู่ระหว่างการควบคุมงานก่อสร้าง เกิดเหตุสายสลิงที่ยึดแขนของเครน (BOOM) ขาด ส่งผลให้แขนเครนพับลงมากระแทกกับพื้นนั่งร้าน ในบริเวณที่ผู้เสียชีวิตยืนอยู่และทำให้ลูกจ้างตกลงจากพื้นชั้นที่ 4 ลงสู่ชั้นที่ 3 จนได้รับบาดเจ็บเพื่อนร่วมงานจึงได้รีบนำส่งผู้บาดเจ็บเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล และผู้บาดเจ็บได้เสียชีวิตในเวลาต่อมา ซึ่งผู้เสียชีวิต เป็นลูกจ้างของ บริษัท วิศวภัทร์ จำกัด ตำแหน่งวิศวกรควบคุมการก่อสร้าง มีอายุงาน 7 เดือน บริษัท วิศวภัทร์ จำกัด ได้ประสานญาติผู้เสียชีวิตช่วยเหลือเบื้องต้นด้านค่ารักษาพยาบาล และค่าทำศพ ทั้งนี้ได้มอบให้สำนักงานประกันสังคมดำเนินการตรวจสอบสิทธิและนำเงินทดแทนไปมอบให้ญาติผู้เสียชีวิต โดยมีสิทธิได้รับค่ารักษาพยาบาล 50,000 บาท ค่าทำศพ 50,000 บาท และเงินทดแทนกรณีเสียชีวิต 1,680,000 บาท

นายนิยม สองแก้ว อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กล่าวว่า พระราชบัญญัติความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. 2554 กำหนดให้นายจ้างต้องแจ้งต่อพนักงานตรวจความปลอดภัยทราบในทันทีกรณีที่เกิดอุบัติเหตุร้ายแรง หรือลูกจ้างประสบอันตรายจากการทำงานจนเป็นเหตุให้ลูกจ้างเสียชีวิต โดยจะแจ้งโทรศัพท์ โทรสาร หรือวิธีอื่นใดที่มีรายละเอียดพอสมควรก็ได้ จะต้องแจ้งรายละเอียดและสาเหตุเป็นหนังสือภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ลูกจ้างเสียชีวิต หากนายจ้างไม่ปฏิบัติตามจะมีความผิดโดยมีโทษปรับไม่เกิน 5 หมื่นบาท ซึ่งกรณีนี้พนักงานตรวจความปลอดภัยสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 3 ยังไม่ได้รับแจ้งการเกิดอุบัติเหตุจากนายจ้างแต่อย่างใด

นอกจากนี้ความผิดตาม พ.ร.บ.ความปลอดภัยฯ ที่พบบ่อยครั้งเมื่อเกิดอุบัติเหตุจากการทำงานคือ นายจ้างไม่ได้จัดทำและแจกคู่มือปฏิบัติงานให้ลูกจ้างทุกคนก่อนที่จะเข้าทำงาน เปลี่ยนงาน หรือเปลี่ยนสถานที่ทำงาน และไม่ได้จัดให้ลูกจ้างได้รับการฝึกอบรมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน ซึ่งความผิดดังกล่าวจะมีโทษปรับไม่เกิน 50,000 บาท ถึงปรับไม่เกิน 2 แสนบาท จำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือทั้งจำทั้งปรับ โดยขึ้นอยู่กับฐานความผิดนั้น ๆ ซึ่งจะต้องดำเนินการสอบข้อเท็จจริงต่อไป

ที่มา: PPTV36, 14/1/2565

ร้องนายกฯ ทบทวนหั่นงบฯ ทส. เลิกจ้าง "ผู้พิทักษ์ป่า" 50%

นายภาณุเดช เกิดมะลิ เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร กล่าวถึงการยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้พิจารณาทบทวนการจัดสรรงบประมาณกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หลังเจ้าหน้าที่ผู้พิทักษ์ป่าอาจได้รับผลกระทบถูกเลิกจ้างถึง 50% ว่า เตรียมสอบถามเพิ่มเติมจากสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีในสัปดาห์หน้าว่าจะมีขั้นตอนอย่างไรต่อไปหลังได้ยื่นหนังสือแล้ว คาดหวังว่ารัฐบาลจะจัดสรรงบกลาง ประมาณ 70-100 ล้านบาท มาอุดช่องโหว่ในส่วนนี้ ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า

“อยากให้มีกันการพูดคุยกันว่าหลังจากนี้จะเป็นอย่างไร ทั้งสำนักปลัดฯ และกระทรวงทรัพย์ฯ ถึงแนวทางแก้ปัญหา”

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 12 ม.ค.ที่ผ่านมา มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี พิจารณาทบทวนการจัดสรรงบฯ ดังกล่าว กระทบพนักงานจ้างเหมาของอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช โดยเนื้อหาหนังสือได้เรียนถึง พล.อ.ประยุทธ์ เรื่องโปรดพิจารณาทบทวนการจัดสรรงบประมาณในการจัดจ้างพนักงานพิทักษ์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช โดยมีรายเอียดดังนี้

เนื่องจากกรณีการปรับลดงบประมาณของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในปีงบประมาณ พ.ศ.2565 เหลือเพียง 8,534 ล้านบาท จากเดิมในปี 2564 ได้งบประมาณ 16,143 ล้านบาท หรือลดลงกว่า 47% ประกอบกับการจัดเก็บเงินรายได้อุทยานแห่งชาติจำนวน 155 แห่ง จากค่าธรรมเนียมเข้าอุทยานฯ ในปี 2564 นั้นลดลงกว่า 975 ล้านบาท

มีเงินรายได้จากค่าธรรมเนียมเข้าอุทยานฯ จำนวน 390,862,987 ล้านบาท ลดลงจากปีงบประมาณ พ.ศ.2563 ที่จัดเก็บเงินรายได้รวมกว่า 1,366,711,004 ล้านบาทนั้น ส่งผลกระทบต่อกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ต่อการจัดจ้างพนักงานพิทักษ์ป่า (พนักงานจ้างเหมา) ในการดูแลและคุ้มครองผืนป่าและสัตว์ป่าในพื้นที่อนุรักษ์ ซึ่งถูกเลิกจ้างถึง 50%

พนักงานพิทักษ์ป่า คือ บุคลากรสำคัญของการดูแลปกป้องทรัพยากรธรรมชาติจากการใช้ระบบการลาดตระเวนเชิงคุณภาพ (SMART Patrol) ที่ต้องใช้บุคลากรในการเดินลาดตระเวน พร้อมเก็บข้อมูลเชิงนิเวศ เพื่อนำไปสู่การบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่ การขาดบุคลากรเหล่านี้มีผลโดยตรงต่อการปกป้องทรัพยากรธรรมชาติ ผืนป่า และสัตว์ป่าของประเทศ

มูลนิธิสืบนาคะเสถียร เป็นองค์กรที่ทำงานด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ผืนป่า และสัตว์ป่า ซึ่งได้สนับสนุนและทำงานร่วมกับกรมอุทยานฯ มาอย่างต่อเนื่องจนเกิดรูปธรรมด้านการดูแลทรัพยากรธรรมชาติ ผ่านการลาดตระเวนเชิงคุณภาพอย่างชัดเจน โดยเฉพาะในกลุ่มป่าตะวันตก

ทั้งนี้ ทรัพยากรธรรมชาติคงอยู่ได้ สัตว์ป่าที่ใกล้สูญพันธุ์สามารถฟื้นฟูจำนวนประชากร เป็นผลมาจากการทำงานอย่างหนักของพนักงานพิทักษ์ป่า โดยการเลิกจ้างพนักงานพิทักษ์ป่าจะทำให้เกิดผลกระทบต่อการบริหารจัดการพื้นที่ และป้องปรามภัยคุกคามต่าง ๆ และยังกระทบต่อสวัสดิภาพ สวัสดิการ และคุณภาพชีวิตของคนทำงานระดับล่าง

มูลนิธิฯ จึงขอให้นายกรัฐมนตรี พิจารณาทบทวนการจัดสรรงบประมาณด้านสิ่งแวดล้อม ปีงบประมาณ 2565 อีกครั้ง และหารือแนวทางแก้ไขสภาพปัญหาดังกล่าว เพื่อให้งานดูแลทรัพยากรธรรมชาติ ผืนป่า และสัตว์ป่า ซึ่งเป็นฐานแห่งความมั่นคงของประเทศ และเป็นตัวแปรสำคัญของการต่อสู้กับวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เป็นปัญหาระดับโลก ให้คงอยู่และยังประโยชน์สืบต่อไป

ที่มา: Thai PBS, 14/1/2565

เผยกรณี 'ว่างงาน-หารายได้เสริมร่วมกิจกรรมเพื่อรับเงินแสนกับกรมการจัดหางาน' เป็นข่าวปลอม

ตามที่มีการส่งต่อข้อความในประเด็นเรื่อง "กรมการจัดหางาน" จัดให้คนว่างงาน หรือหารายได้เสริม เข้าร่วมกิจกรรมเพื่อรับเงินแสน ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน พบว่าประเด็นดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลเท็จ

กรณีที่มีการส่งต่อเชิญชวนคนว่างงาน โดยระบุว่าคนที่ว่างงานหรือมองหารายได้เสริมสามารถเข้าร่วมกิจกรรม เพื่อรับเงินแสน เงินสงเคราะห์ + เงินสนับสนุน รับเงิน 1,400 บาท รับเงินทันทีหลังจากทำงานและลงทะเบียนเสร็จและผู้ที่แสดงความคิดว่ามีความสนใจจะได้รับการติดต่อเพื่อรับรายละเอียดทางอินบ็อกเท่านั้น เข้าร่วมกิจกรรมเพื่อรับเงินแสนนั้น

ทาง กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน ได้ตรวจสอบและชี้แจงว่า ข้อความดังกล่าวเป็นข้อมูลเท็จ และมีการใช้ตราสัญลักษณ์ของกรมการจัดหางานโดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่าข้อความดังกล่าวมิได้มาจากส่วนราชการของกรมการจัดหางานทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค

ดังนั้น ขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อ และขอความร่วมมือไม่ส่ง หรือแชร์ข้อมูลดังกล่าวต่อในช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ และเพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารจากกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน สามารถติดตามได้ที่เว็บไซต์ https://www.doe.go.th/prd/main หรือสายด่วนกรมการจัดหางาน โทร. 1694

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 13/1/2565

กสม. ร่อนหนังสือถึงนายกฯ เร่งแก้ปัญหาแรงงานข้ามชาติลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมาย เสนอแนวทางทั้งมาตรการระยะสั้น-ระยะยาว

13 ม.ค. 2565 ที่สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) นายสุชาติ เศรษฐมาลินี กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) แถลงว่า ตามที่ กสม.เฝ้าระวังติดตามประเด็นแรงงานข้ามชาติช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 พบรายงานการลักลอบนำเข้าแรงงานผิดกฎหมายผ่านช่องทางธรรมชาติตามแนวชายแดนที่ติดกับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งอาจเกี่ยวข้องกับปัญหาการค้ามนุษย์ และการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบจากแรงงานโดยกลุ่มบุคคลต่างๆ กสม. จึงได้มีหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี เกี่ยวกับข้องเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน โดยข้อเสนอแนะระยะสั้น ให้กระทรวงแรงงาน พิจารณาดำเนินการสำรวจความต้องการแรงงานข้ามชาติของผู้ประกอบการในทุกประเภทกิจการเพื่อเป็นฐานข้อมูลกลางสำหรับการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติทั้งระบบ และร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทบทวนขั้นตอนการนำเข้าแรงงานข้ามชาติ 3 สัญชาติตาม MOU พร้อมหารือกับประเทศต้นทางเพื่อปรับลดขั้นตอนการดำเนินการให้มีความสะดวก รวดเร็วยิ่งขึ้น และปรับลดค่าใช้จ่ายหรือค่าธรรมเนียมเพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบธุรกิจรายย่อยสามารถนำเข้าแรงงานได้

นายสุชาติกล่าวว่า นอกจากนี้ ควรแก้ไขเพิ่มเติม MOU การจ้างงานระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม เพื่อเพิ่มโอกาสให้แรงงานเวียดนามสามารถทำงานได้ในประเภทกิจการอื่น (นอกเหนือจากกิจการประมงทะเลและก่อสร้าง) ได้เช่นเดียวกับแรงงานกัมพูชา ลาว และเมียนมา ทั้งนี้ ควรเร่งจัดทำยุทธศาสตร์การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวฉบับใหม่ เพื่อใช้แทนยุทธศาสตร์ฯ พ.ศ. 2560-2564 เพื่อจัดหาแรงงานข้ามชาติให้เพียงพอต่อความต้องการทางเศรษฐกิจ และลดจำนวนแรงงานข้ามชาติผิดกฎหมายที่นำไปสู่ผลกระทบอื่น เช่น โรคระบาด ปัญหาสังคม การค้ามนุษย์ เป็นต้น โดยที่แนวทางการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติตามมติคณะรัฐมนตรีฉบับต่างๆ ควรรวบรวมให้เป็นแนวทางเดียวกัน พร้อมจัดทำเป็นเอกสารเผยแพร่ด้วยภาษาราชการของประเทศต้นทางด้วย

นายสุชาติกล่าวต่อว่า ให้สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ร่วมกับกระทรวงกลาโหม กระทรวงมหาดไทย และสำนักงานตำรวจแห่งชาติโดยสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง พิจารณาเปิดจุดผ่านแดนถาวรที่มีความพร้อมเพิ่มเติม เพื่อให้แรงงานข้ามชาติที่เข้าเมืองถูกต้องตามกฎหมายสามารถเดินทางเข้ามาได้รวดเร็วขึ้น ให้กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการกักตัวแรงงานข้ามชาติตามมาตรการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ตรวจสอบและจัดหาสถานที่สำหรับการกักตัวแรงงานข้ามชาติที่มีมาตรฐานและเพียงพอ ให้กระทรวงแรงงานร่วมกับกระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง จัดทำฐานข้อมูลแรงงานข้ามชาติให้เป็นระบบเดียวกัน รวมถึงการพัฒนาแอพพลิเคชั่นสำหรับยืนยันตัวตนเพื่อความสะดวก รวดเร็ว และลดค่าใช้จ่ายการขึ้นทะเบียนแรงงาน

นายสุชาติกล่าวอีกว่า ส่วนข้อเสนอแนะระยะยาว ให้กระทรวงแรงงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พิจารณาดำเนินการ นำปัญหาการลักลอบนำเข้าแรงงานผิดกฎหมายไปหารือและเจรจาหาข้อตกลงร่วมกับประเทศในภูมิภาคอาเซียน เพื่อแก้ไขป้องกันการลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมายและคุ้มครองสิทธิของแรงงานย้ายถิ่น นอกจากนี้ควรสำรวจ ทบทวน และแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมาย หรือขั้นตอนการดำเนินการเกี่ยวกับการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติที่อาจไม่สอดคล้องหรือเป็นอุปสรรคต่อการคุ้มครองแรงงาน

ที่มา: มติชนออนไลน์, 13/1/2565

กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานขานรับนโยบายลดปัญหาการเลิกจ้าง และข้อพิพาทแรงงาน ในช่วงภาวะวิกฤติ COVID-19

นายนิยม สองแก้ว อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) เปิดเผยว่า ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และการปรับตัวของภาคอุตสาหกรรมในยุคที่มีการเปลี่ยนแปลงด้านนวัตกรรม เทคโนโลยีสมัยใหม่ (Disruptive Technology) ส่งผลทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการจ้างงานตามโลกยุคดิจิทัล ที่ใช้เทคโนโลยีเป็นหลักในการทำงาน ซึ่งกระทบต่อการบริหารกิจการของนายจ้าง ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างของลูกจ้างอย่างรุนแรง มีการเลิกจ้างลูกจ้างเพิ่มขึ้น รวมทั้งการจ้างงานที่มีแนวโน้มมีความขัดแย้งระหว่างนายจ้าง ลูกจ้าง ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจไทยภายใต้บริบทใหม่ (New Normal) ที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้เล็งเห็นถึงการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว โดยมอบนโยบายส่งเสริมแรงงานสัมพันธ์เชิงรุกในภาวะวิกฤตภายใต้บริบทใหม่ (New Normal) ให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานดำเนินการสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างนายจ้าง ลูกจ้าง เพื่อลดปัญหาการเลิกจ้าง โดยใช้มาตรการและแนวทางบรรเทาปัญหาการเลิกจ้าง ให้การเลิกจ้างลูกจ้างเป็นหนทางสุดท้าย รวมทั้งเพื่อลดปัญหาข้อขัดแย้ง ข้อพิพาทแรงงาน ทำให้เกิดความร่วมมือแก้ไขปัญหาในสถานประกอบกิจการด้วยระบบทวิภาคี โดยใช้หลักสุจริตใจในการปรึกษาหารือร่วมกัน รวมถึงการช่วยเหลือเยียวยาได้อย่างรวดเร็วและทั่วถึงหากเกิดผลกระทบจากปัญหาข้อขัดแย้งและการเลิกจ้าง

อธิบดี กสร. กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานได้จัดประชุมศูนย์ปฏิบัติการแรงงานสัมพันธ์ระดับภูมิภาค เพื่อให้เป็นกลไกในการสร้างภาคีเครือข่ายแรงงานสัมพันธ์เข้าสู่นิคมอุตสาหกรรมและสถานประกอบกิจการในแต่ละพื้นที่ทั่วประเทศ โดยส่งเสริมและสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างนายจ้าง ลูกจ้าง และองค์กรแรงงานในสถานประกอบกิจการให้รับฟังความคิดเห็นข้อเสนอแนะและร่วมกันหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในสถานประกอบกิจการ พร้อมทั้งแสดงความมุ่งมั่นนำการบริหารแรงงานสัมพันธ์ที่ดีด้วยระบบทวิภาคี เพื่ออยู่ร่วมกันแบบสมานฉันท์ มีความรับผิดชอบบนพื้นฐานของการทำงานร่วมกันภายใต้กฎหมายซึ่งจะทำให้ทั้งสองฝ่ายสามารถอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศสืบไป

ที่มา: กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน, 13/1/2565

เร่งประสานกระทรวงแรงงาน-สถานทูตช่วยคนไทยในเกาหลีป่วยติดเชื้อในสมองกลับบ้าน

นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า สำนักงานยุติธรรมจังหวัดสุโขทัย ได้รับการร้องขอความช่วยเหลือจากญาติของ นายสุทน คำเถิน ชาว อ.บ้านด่านลานหอย จ.สุโขทัย ที่เดินทางไปทำงานที่เกาหลีใต้ 5 ปี ไม่มีงานประจำ รับจ้างทั่วไป และได้ป่วยติดเชื้อไวรัสทางสมอง อยากให้ช่วยประสานนำตัวกลับประเทศ ซึ่งทางยุติธรรมจังหวัดได้ประสานกับกระทรวงแรงงาน และสถานทูตให้แล้ว

เบื้องต้นทราบว่า ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลขณะนี้เป็นจำนวนเงิน 80 ล้านวอน หรือเงินไทยประมาณ 2.2 ล้านบาท ทางสถานทูตไทยได้เปิดรับการบริจาคมาได้ 8 ล้านวอน ขณะนี้ผู้ป่วยอาการยังทรงตัวแต่หมอยังไม่อนุญาตให้ขึ้นเครื่องบิน ยังต้องรอดูอาการอีกสักระยะ โดยทางกระทรวงแรงงานและกระทรวงต่างประเทศกำลังประสานและให้การช่วยเหลืออยู่ ซึ่งจากนี้ไปเป็นหน้าที่การดำเนินงานของกระทรวงการต่างประเทศ

โดย นายสมศักดิ์ ยังกล่าวต่อว่า ตนต้องขอชื่นชมสำนักงานยุติธรรมจังหวัด ที่แม้เรื่องนี้จะไม่ใช่เรื่องโดยตรงที่มีหน้าที่รับผิดชอบ แต่เมื่อมีชาวบ้านที่เดือดร้อนมาขอความช่วยเหลือ ก็ได้จัดการประสานภาคส่วนต่างๆได้เป็นอย่างดี ซึ่งตรงกับความตั้งใจของตนที่อยากให้ทุกหน่วยงานในกระทรวงยุติธรรมทำงานเชิงรุกและบูรณาการร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งในและนอกกระทรวงเพื่อประโยชน์ของชาวบ้าน และต้องขอขอบคุณสำนักงานแรงงานจังหวัดสุโขทัย กระทรวงแรงงานและกระทรวงการต่างประเทศที่ให้ความร่วมมือในการช่วยเหลือชาวบ้าน สำหรับการทำงานของกระทรวงยุติธรรมในปีนี้ จะมุ่งเน้นการช่วยเหลือประชาชนเป็นหลัก นำความยุติธรรมใส่มือประชาชน และเป็นที่พึ่งสำหรับประชาชนที่ต้องการความยุติธรรมและการช่วยเหลือ

ด้าน น.ส.ศุภกานต์ คำเถิน พี่สาวนายสุทน กล่าวว่า ต้องขอขอบคุณกระทรวงยุติธรรม สำนักงานยุติธรรมจังหวัดสุโขทัย สำนักงานแรงงานจังหวัดสุโขทัย กระทรวงการต่างประเทศที่ช่วยประสานกับหน่วยงานต่างๆให้ รวมทั้งกระทรวงแรงงานและสถานทูตที่เร่งดำเนินการช่วยเหลือ เพราะครอบครัวของเราลำบากไม่ได้ร่ำรวย มีอาชีพทำไร่ทำนา ถ้าเราไม่ได้รับการช่วยเหลือเราก็ไม่รู้จะต้องทำยังไงแล้ว ขอบคุณทุกหน่วยงานที่ช่วยครอบครัวของเราอย่างเต็มที่

ที่มา: สยามรัฐ, 12/1/2565

สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือกังวลปัญหาขาดแคลนแรงงานอาจกระทบส่งออกปี 2565

นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เปิดเผยว่า การค้าระหว่างประเทศของไทยเดือนพฤศจิกายน 2564 พบว่า การส่งออกมีมูลค่า 23,647.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 24.7 ส่วนภาพรวมในช่วง 11 เดือนแรกของปี ส่งออกรวมมูลค่า 246,243.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 16.4 โดยสรท.คาดการณ์การส่งออกไทยในปี 2564 จะเติบโตได้ถึงร้อยละ 15-16 และคาดการณ์ปี 2565 เติบโตร้อยละ 5-8

นายสุภาพ สุวรรณพิมลกุล รองประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปัญหาสำคัญที่คาดว่าจะกระทบภาคส่งออกไทยปี 2565 คือ การขาดแคลนแรงงาน โดยเฉพาะแรงงานต่างด้าวที่จะต้องใช้ในภาคการผลิต ซึ่งในภาพรวมไทยต้องการแรงงานอยู่ที่ 200,000-400,000 คน จึงจะเพียงพอ ดังนั้นจึงขอให้กระทรวงแรงงาน เร่งช่วยเหลือเรื่องการนำเข้าแรงงานต่างด้าวในภาคการผลิต

รวมทั้งกำหนดพื้นที่บริหารจัดการส่วนกลาง หรือ ศูนย์การบริการเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียว (วัน สต็อป เซอร์วิส) สำหรับบริหารจัดการแรงงานต่างด้าว อาทิ จุดคัดกรองด้านสาธารณสุขและอุปกรณ์เวชภัณฑ์ที่จำเป็นในการตรวจสอบ รวมถึงให้สามารถดำเนินการด้านเอกสารที่เกี่ยวข้องทั้งหมดในจุดเดียว อำนวยความสะดวกพื้นที่ในการกักตัว โดยอาจนำสถานที่ราชการที่เหมาะสมมาปรับใช้ระหว่างรอผลตรวจและการดำเนินเอกสาร

ที่มา: TNN, 12/1/2565

ไทย-เมียนมา เปิดศูนย์ออกเอกสารบุคคลแรงงานต่างด้าว 5 แห่ง ให้บริการถึง 1 ส.ค. 2565

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า รัฐบาลไทยโดยกระทรวงแรงงาน และสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) ร่วมกับทางการเมียนมา จัดตั้งศูนย์พิจารณาอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักร อนุญาตให้ทำงาน และออกเอกสารรับรองบุคคล (Certificate of identity: CI) จำนวน 5 แห่ง กระจายในพื้นที่ จ.ชลบุรี จ.เชียงใหม่ จ.ระนอง จ.สมุทรปราการ และ จ.สมุทรสาคร ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2564 โดยเริ่มให้บริการตั้งแต่วันที่ 10 มกราคม-วันที่ 1 สิงหาคม 2565 เปิดทำการในวันจันทร์-วันเสาร์ และหยุดทำการในวันอาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ (ของฝ่ายไทย) โดยกำหนดจำนวนผู้ใช้บริการประมาณ 450-500 คนต่อวัน หรือเป็นไปตามมาตรการควบคุมโรคของแต่ละจังหวัด

นายสุชาติกล่าวว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้านที่มีแรงงานเข้ามาทำงานในประเทศไทย ประกาศใช้มาตรการด้านสาธารณสุข และมาตรการควบคุมโรค ซึ่งต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด ทำให้การเดินทางกลับประเทศต้นทางเพื่อขอหนังสือเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทางของคนต่างด้าว มีขั้นตอนปฏิบัติและค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงกับนายจ้าง/สถานประกอบการที่ใช้แรงงานต่างด้าว การร่วมมือระหว่างทางการไทยและเมียนมาในครั้งนี้ จะทำให้แรงงานเมียนมามีเอกสารรับรองบุคคล หรือ CI เพื่อดำเนินการขอตรวจลงตราอนุญาตให้อยู่และทำงานในประเทศไทยต่อไปได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย

“เกี่ยวกับเรื่องนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ซึ่งกำกับดูแลกระทรวงแรงงาน ให้ความสำคัญและติดตามความคืบหน้ามาโดยตลอด เนื่องจากเกี่ยวข้องกับปัญหาการขาดแคลนแรงงาน จนถึงปัญหาการลักลอบเข้าเมืองเพื่อทำงานอย่างผิดกฎหมาย” นายสุชาติกล่าว

ด้าน นายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน (กกจ.) กล่าวถึงขั้นตอนการดำเนินการ ดังนี้

1.แรงงานเมียนมาชำระค่าธรรมเนียม จำนวน 310 บาท ที่เคาน์เตอร์เซอร์วิส เพื่อลงทะเบียนนัดหมายล่วงหน้า โดยกำหนดจำนวนผู้มาใช้บริการต่อวัน จำนวน 450-500 คน หรือขึ้นอยู่กับมาตรการควบคุมโรคของแต่ละจังหวัด

2.แรงงานเมียนมาขอรับดำเนินการตามวันและเวลาที่ระบุ ซึ่งแรงงานเมียนมาต้องได้รับการตรวจคัดกรองโรคโควิด-19 (ศูนย์ฯมีบริการตรวจคัดกรองโรคโควิด-19 ด้วย ATK)

3.แรงงานเมียนมา ขอรับเอกสาร CI ฉบับใหม่ โดยทางการเมียนมาจะมีหน่วยงาน ประกอบด้วย ตม. กระทรวงมหาดไทย (มท.) และกระทรวงแรงงานของทางการเมียนมา เพื่อดำเนินการเกี่ยวกับเอกสารของแรงงานเมียนมา ซึ่งจะมีเคาน์เตอร์ให้บริการ จำนวน 5 จุด ได้แก่ จุดตรวจสอบประวัติการจัดทำเอกสาร CI และการยืนยันตัวตน โดยการถ่ายรูปและเก็บประวัติลายนิ้วมือ จุดปรับปรุงประวัติข้อมูลของแรงงานเมียนมา จุดออกเอกสารรับรองบุคคล CI จุดออกบัตรประจำตัวแรงงานในต่างประเทศ (Overseas Worker Identification Card: OWIC) และจุดตรวจสอบข้อมูลในกรณีที่เอกสารขัดข้อง

4.แรงงานเมียนมาที่ได้รับเอกสาร CI ฉบับใหม่แล้ว ให้เข้ารับการตรวจสอบเอกสาร โดยเจ้าหน้าที่ของ กกจ.แบ่งเป็น 3 กรณี ดังนี้

-กรณีที่ได้รับอนุญาตทำงานถึงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2566 แล้วให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบใบอนุญาตทำงาน รวมถึงข้อมูลอื่นๆ เช่น การขึ้นทะเบียนผู้ประกันตน หรือการทำประกันสุขภาพ

-กรณีที่ยังไม่ได้ดำเนินการขออนุญาตทำงาน ให้แรงงานเมียนมาดำเนินการขอต่ออายุใบอนุญาตทำงาน ณ ศูนย์ฯ โดยยื่นคำขอตามแบบ บต.50 ภายในวันที่ 31 มีนาคม 2565 และให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบข้อมูลอื่นๆ เช่น การขึ้นทะเบียนผู้ประกันตน หรือการทำประกันสุขภาพ

-กรณีแรงงานเมียนมาประสงค์เปลี่ยนแปลงรายการในใบอนุญาตทำงาน อาทิ เปลี่ยนนายจ้าง เปลี่ยนแปลงที่อยู่ สามารถยื่นคำขอเปลี่ยนรายการในใบอนุญาตทำงานตามแบบ บต.44 ณ ศูนย์ฯได้

5.ตม.ของทางการไทย พิจารณาตรวจลงตราหรือย้ายรอยตราประทับการอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวให้กับแรงงานมียนมา ที่ขอรับเอกสารรับรองบุคคล CI ฉบับใหม่

เมื่อแรงงานเมียนมาดำเนินการครบทั้ง 5 ขั้นตอน การอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักร อนุญาตให้ทำงาน และออกเอกสารรับรองบุคคล CI จึงจะครบถ้วนสมบูรณ์

นายไพโรจน์กล่าวต่อไปว่า ศูนย์พิจารณาอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักร อนุญาตให้ทำงาน และออกเอกสารรับรองบุคคล CI จะให้บริการและอำนวยความสะดวกให้กับแรงงานเมียนมาที่จะเดินทางเข้าไปดำเนินการจัดทำเอกสารรับรองบุคคล CI ณ ศูนย์ฯ สอดคล้องกับแนวทางการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ของจังหวัด โดยศูนย์ทั้ง 5 แห่ง มีสถานที่ตั้ง ดังนี้

จ.ชลบุรี ที่ตั้ง ตลาดสยามนินจา ทางหลวงชนบทหมายเลข ชบ.3023 ต.หนองหงษ์ อ.พานทอง

จ.เชียงใหม่ ที่ตั้ง เลขที่ 138 หมู่ 4 ต.ท่าศาลา อ.เมืองเชียงใหม่

จ.ระนอง ที่ตั้ง เลขที่ 89/296 หมู่ 1 ต.ปากน้ำ อ.เมืองระนอง

จ.สมุทรปราการ ที่ตั้ง เลขที่ 339/2 หมู่ 9 ซอยสุขสวัสดิ์ 74 อ.พระประแดง

จ.สมุทรสาคร ที่ตั้ง บริษัท มหาชัย ออโต้ เพ้นท์ จำกัด เลขที่ 32/8 ถนนเศรษฐกิจ 1 ต.ท่าทราย อ.เมืองสมุทรสาคร

ที่มา: มติชนออนไลน์, 11/1/2565

ครม.ขยายเวลาข้าราชการลาคลอดได้ 98 วัน ลาต่อ-ได้เงินเดือน 50% ส่วนข้าราชการชาย ลาช่วยดูลูกได้ 15 วัน ไม่ต้องติดต่อกัน

น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ที่ประชุมเห็นชอบหลักการร่างมาตรการสนับสนุนสตรีให้เป็นพลังสำคัญทางเศรษฐกิจ ตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เสนอ เพื่อเป็นมาตรการคุ้มครอง สนับสนุน และอำนวยความสะดวกให้ผู้หญิงเข้ามามีบทบาททางด้านเศรษฐกิจ ช่วยสร้างการมีส่วนร่วมของผู้ชายในการเลี้ยงดูบุตร และสร้างกลไกการพัฒนาเด็ก เพื่อลดภาระให้กับผู้หญิงที่ทำงาน สอดดคล้องกับหลักการตามรัฐธรรมนูญและอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ (CEDAW) ที่ไทยเข้าร่วมเป็นรัฐภาคี ซึ่งมาตรการนี้ครอบคลุม 3 กลุ่มเป้าหมาย คือ 1. กลุ่มแรงงานหญิงทั้งในระบบและนอกระบบ จำนวน 17,366,400 คน 2. กลุ่มแม่เลี้ยงเดี่ยว จำนวน 1,061,082 คน และ 3. กลุ่มผู้หญิงสูงอายุที่เป็นผู้เลี้ยงดูเด็ก จำนวน 379,347 คน

รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า สำหรับมาตรการสนับสนุนให้สตรีเป็นพลังสำคัญทางเศรษฐกิจ ประกอบด้วย 3 มาตรการย่อย ดังนี้ 1.จัดบริการศูนย์พัฒนาเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 3 ปี โดยขยายบริการของศูนย์พัฒนาเด็กเล็กหรือสถานรับเลี้ยงเด็กให้รับอายุ 0 – 3 ปี และขยายเวลาเปิด – ปิดศูนย์พัฒนาเด็กเล็กหรือสถานรับเลี้ยงเด็กให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตคนทำงานตามบริบทของพื้นที่ 2. ส่งเสริมการลาของสามี (ข้าราชการชาย) เพื่อช่วยภรรยาดูแลบุตรหลังคลอด โดยให้ข้าราชการชายมีสิทธิลาได้ 15 วันทำการ เป็นช่วงๆ ไม่ติดต่อกันจนครบวันลา (จากเดิมที่ให้ลาครั้งหนึ่งติดต่อกันได้ ไม่เกิน 15 วันทำการ)

“3. ขยายวันลาคลอดของแม่ (ข้าราชการหญิง) โดยได้รับค่าจ้าง ซึ่งระเบียบเดิมข้าราชการหญิงสามารถลาคลอดบุตรได้ไม่เกิน 90 วัน และข้าราชการหญิงที่ลาคลอดบุตรแล้ว หากประสงค์ลากิจส่วนตัวเพื่อเลี้ยงดูบุตร ให้มีสิทธิลาต่อเนื่องจากการลาคลอดบุตรได้ไม่เกิน 150 วันทำการ โดยไม่ได้รับเงินเดือน ซึ่งมาตรการใหม่นี้ ข้าราชการหญิงสามารถลาคลอดบุตรได้ 98 วัน (เพิ่มขึ้นจากเดิม 8 วัน) โดยได้รับค่าจ้าง และเมื่อครบ 98 วันแล้ว สามารถลาเพิ่มได้อีกไม่เกิน 90 วัน โดยได้รับเงินเดือนร้อยละ 50 ของเงินเดือน รวมวันลาคลอดทั้งสิ้น 188 วัน หรือประมาณ 6 เดือน ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางที่องค์การอนามัยโลกและกองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติระบุว่า ควรให้บุตรได้รับนมแม่เพียงอย่างเดียวในช่วง 6 เดือนแรกหลังคลอด” น.ส.รัชดา กล่าว

รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมครม.เห็นชอบในหลักการเบื้องต้นของมาตรการและให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์รับข้อเสนอแนะจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปพิจารณาหาข้อสรุปที่ชัดเจน ก่อนเสนอให้สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนและหน่วยงานกลางบริหารทรัพยากรบุคลลในส่วนราชการต่าง ๆ ดำเนินการปรับแก้ระเบียบต่อไป

ที่มา: สำนักข่าวไทย, 11/1/2564

องค์กรผู้บริโภคเสนอประกันสังคม เปิดโอกาสให้ผู้ประกันตนมีสิทธิเลือกรับบำนาญชราภาพที่อายุ 55 หรือ 60 ปี

จากกรณีที่สำนักงานประกันสังคม (สปส.) ปฏิรูปประกันสังคมระบบกองทุนชราภาพเพื่อเพิ่มเสถียรภาพในอนาคต การปรับเพิ่มเพดานค่าจ้าง เสนอปรับเพิ่มเพดานค่าจ้างเป็น 20,000 แต่ยังชะลอการดำเนินการจากสถานการณ์โควิด ส่วนการขยายอายุเกิดสิทธิรับบำนาญขั้นต่ำปรับแก้จาก 55 ปี เป็น 60 ปี ผ่านการประชาพิจารณ์แล้ว โดยการเปลี่ยนแปลงจะค่อยเป็นค่อยไปนั้น

นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค ให้ความเห็นกับนิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคว่าการที่ประกันสังคมจะยกเลิกการจ่ายบำนาญชราภาพให้กับผู้ประกันตนที่อายุ 55 ปี แล้วเลื่อนการจ่ายบำนาญชราภาพเมื่ออายุ 60 ปีแทนนั้น สปส.ควรจะเปิดโอกาสให้ผู้ประกันตนเป็นผู้มีสิทธิในการเลือกว่าจะรับบำนาญที่อายุ 55 ปี หรือ 60 ปี ซึ่งควรเป็นการตัดสินใจของผู้ประกันตนที่จะเลือกสิทธิของผู้ประกันตนนั้นด้วยตัวเอง แต่หากประกันสังคมจะปรับให้จ่ายคืนบำนาญที่อายุ 60 ปี ก็ควรดำเนินการกับผู้ประกันตนใหม่หรืออาจจะดำเนินการอย่างเป็นระบบสอบถามความสมัครใจในการที่จะเลือกสำหรับผู้ประกันตนรายเดิม ส่วนรายใหม่ก็จัดการปรับแก้กฎหมายให้ชัดเจน ให้จ่ายเงินบำนาญชราภาพที่ 60 ปี ซึ่งอาจจะส่งผลดีก็คือทำให้บริษัทเอกชนทั้งหลายอาจจะต้องยืดระยะเวลาการจ้างงานจาก 55 ปี เป็น 60 ปี แทนที่ในปัจจุบันบริษัทเอกชนใช้วิธียุติการจ้างเมื่อครบอายุ 55 ปีแล้วให้ลูกจ้างไปรับเงินประกันสังคมแล้วอาจจะทำสัญญาจ้างใหม่อีกรอบซึ่งทำให้ลูกจ้างเสียสิทธิต่างๆ อีกหลายอย่าง แต่ไม่ว่าจะดำเนินการอย่างไร สปส.ควรจะสอบถามผู้ประกันตนอย่างเป็นระบบ เพราะผู้ประกันควรมีสิทธิเลือกและช่วยสนับสนุนการตัดสินใจ ในขณะเดียวกัน สิ่งที่สปส.ควรจะดำเนินการซึ่งทุกฝ่ายเห็นด้วยก็คือ การขยายเพดานวงเงินสูงสุดของผู้ประกันตนที่สมทบจาก 15,000 บาท เป็น 20,000 บาท

นอกจากนี้ สิ่งสำคัญในการปฏิรูปประกันสังคมอีกส่วน คือ การปรับลดสิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตน เรื่องการรักษาพยาบาล เพราะในปัจจุบันรัฐบาลได้สนับสนุนงบประมาณในการดำเนินการ เช่น งบประมาณในการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค สปส.ควรเร่งพัฒนาเพิ่มเติมสิทธิประโยชน์และลดการจ่ายเงินในส่วนบริการสุขภาพหรือยุติการจ่ายเงินในส่วนสุขภาพในที่สุด เพราะรัฐบาลควรรับผิดชอบผู้ประกันตนเช่นเดียวกับผู้ป่วยในระบบบัตรทองหรือระบบสวัสดิการข้าราชการ ซึ่งจะทำให้ผู้ประกันตนมีโอกาสได้รับสิทธิประโยชน์ในส่วนชราภาพเพิ่มขึ้นได้มากกว่าในปัจจุบัน

ด้าน นางนฤมล เมฆบริสุทธิ์ รองผู้อำนวยการฝ่ายพิทักษ์สิทธิ์ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า สปส.ควรเปิดรับฟังความเห็นของผู้ประกันตน เพราะการกำหนดหลักเกณฑ์หรือเปลี่ยนเงื่อนไขใดๆ ที่เกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตนนั้น ควรรับฟังความเห็นก่อนที่จะปรับเปลี่ยน เนื่องจากผู้ประกันตนเป็นผู้จ่ายเบี้ยประกัน การกำหนดหลักเกณฑ์ต่างๆ ประชาชนจึงควรมีส่วนร่วมในการออกความคิดเห็น ไม่ใช่การที่สปส.เป็นผู้กำหนดเอง อีกประเด็นที่สังเกต คือ เรื่องนี้ยังไม่เปิดรับฟังความเห็น จึงไม่เห็นด้วยที่จะปรับเปลี่ยนหลักเกณฑ์

ที่มา: มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค, 11/1/2565

กสร.จัดทำคู่มือแนวปฏิบัติมุ่งป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์

นายนิยม สองแก้ว อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) เปิดเผยว่าจากการที่กระทรวง การต่างประเทศสหรัฐอเมริกาได้เผยแพร่รายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ ประจำปี 2564 โดยจัดให้ประเทศไทยอยู่ในระดับเทียร์ 2 ซึ่งต้องจับตามอง (Tier 2 Watch List) โดยให้เหตุผลว่าประเทศไทยมิได้ปฏิบัติตามมาตรฐานขั้นต่ำในการขจัดการค้ามนุษย์อย่างเต็มที่ เจ้าหน้าที่ขาดความเข้าใจในเรื่องการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน และขาดขั้นตอนที่เป็นมาตรฐานสำหรับพนักงานตรวจแรงงานในการส่งต่อกรณีการค้ามนุษย์ไปยังหน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย

กระทรวงแรงงานภายใต้การกำกับดูแลของ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ที่ดูแลในเรื่องการป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์โดยตรง และนายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ต่างมีความมุ่งมั่นที่จะขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านป้องกันและปราบปราม การค้ามนุษย์ของประเทศไทยสู่เป้าหมายในระดับเทียร์ 1 (Tier 1) ให้ได้

กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จึงได้ส่งพนักงานตรวจแรงงานในสังกัดเข้าร่วมสัมมนาเชิงปฏิบัติการเพื่อทดสอบร่างคู่มือขั้นตอนการปฏิบัติงานในการดำเนินคดีการใช้แรงงานเด็ก และการบังคับใช้แรงงาน ที่ทางองค์การวินร็อค อินเตอร์เนชั่นแนล ภายใต้การสนับสนุนทางด้านวิชาการและงบประมาณจากกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริการ่วมกับสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาการสอบสวนและการดำเนินคดี ในสังกัดสำนักงานอัยการสูงสุดได้จัดขึ้น เพื่อแสดงถึงความมุ่งมั่นและตั้งใจของรัฐบาลไทยในการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ของประเทศไทย

ด้วยการร่วมมือกันพัฒนาคู่มือขั้นตอนการปฏิบัติงานในการดำเนินคดีการใช้แรงงานเด็ก และการบังคับใช้แรงงานโดยมุ่งหวังให้คู่มือดังกล่าวจะเป็นแนวทางการปฏิบัติให้สามารถป้องกันและแก้ไขปัญหาการใช้แรงงานเด็ก การบังคับใช้แรงงาน และการค้ามนุษย์ของประเทศไทย นำไปสู่การยกระดับการป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ของประเทศไทยให้สามารถปลดล็อคจากTier 2 Watch Lis สู่ Tier 1 ให้จงได้

อธิบดี กสร. กล่าวเพิ่มเติมว่า การสัมมนาในครั้งนี้จะมีการทดสอบการใช้งานร่างคู่มือฯ โดยจะนำมาปรับใช้ผ่านกรณีศึกษาตัวอย่าง และร่วมกันพิจารณาคู่มือฯ ฉบับร่างเพื่อให้สามารถนำมาใช้ปฏิบัติงานได้จริงในอนาคต การจัดสัมมนาจัดขึ้นในวันที่ 11 – 12 มกราคม 2564 ณ โรงแรมอีสตินแกรนด์ สาทร กรุงเทพมหานคร

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 11/1/2565

เผยแรงงานสถานบันเทิงรับเงินเยียวยา 5,000 บาท แล้วเกือบ 100%

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงความคืบหน้าการโอนเงินเยียวยาช่วยเหลือผู้ประกอบอาชีพอิสระ คนทำงานกลางคืนในกิจการสถานบันเทิง คลับ ผับ บาร์ คาราโอเกะ ที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการของรัฐว่า ล่าสุดได้รับรายงานผลการโอนเงินจากสำนักงานประกันสังคม เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2565 ว่า ขณะนี้ได้โอนเงินให้ผู้ประกันตน ทั้งมาตรา 33 มาตรา 39 และมาตรา 40 ไปแล้วรวมทั้งสิ้นจำนวน 74,780 ราย รวมเป็นเงิน 373,900,000 บาท คิดเป็นร้อยละ 97.02 ในจำนวนนี้ยังพบปัญหากลุ่มตกหล่นโอนไม่สำเร็จจากสาเหตุต่างๆ อีก 2,194 ราย ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากปัญหายังไม่ผูกพร้อมเพย์เลขบัตรประชาชน รองลงมา บัญชีปิด และไม่มีบัญชี ทำให้ผู้ประกันตนยังไม่ได้รับเงินช่วยเหลือเยียวยาดังกล่าว จึงขอย้ำให้ผู้ประกันตนที่ได้รับสิทธิเงินเยียวยา ให้เร่งตรวจสอบบัญชีธนาคารว่าได้ผูกพร้อมเพย์เลขบัตรประชาชนไว้หรือไม่ หากยังให้เร่งดำเนินการโดยด่วน! เพื่อให้ได้รับสิทธิเยียวยาอย่างครบถ้วน ทั่วถึง

นายสุชาติ กล่าวต่อว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และกระทรวงแรงงาน ภายใต้การกำกับดูแลของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้ฝากความห่วงใยมายังกลุ่มคนทำงานกลางคืนในกิจการสถานบันเทิง คลับ ผับ บาร์ คาราโอเกะ ที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการของรัฐ และสั่งการให้กระทรวงแรงงาน โดยสำนักงานประกันสังคม เร่งช่วยเหลือเยียวยาตามมาตรการดังกล่าว ซึ่งสำนักงานประกันสังคมเริ่มโอนเงินเยียวยารอบแรก ตั้งแต่วันที่ 29 ธันวาคมที่ผ่านมา เข้าบัญชีพร้อมเพย์ที่ผูกกับเลขบัตรประชาชน คนละ 5,000 บาท เป็นระยะเวลา 1 เดือน ให้กับผู้ประกันตนที่มีสัญชาติไทย ทั้งมาตรา 33 ที่ทำงานในกิจการสถานบันเทิง ผับ บาร์ คาราโอเกะ ผู้ประกันตนตามมาตรา 39 และมาตรา 40 และได้รับการรับรองจากสมาคมดนตรีแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมถ์ หรือสมาพันธ์เครือข่ายคนบันเทิง ที่จดทะเบียนกับกระทรวงมหาดไทย หรือกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ว่าทำงานในสถานบันเทิงกลางคืนจริง

ด้านนายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กล่าวว่า ผู้ประกอบอาชีพอิสระคนบันเทิงกลางคืนที่ยังไม่ได้สมัครเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 40 ให้รีบสมัครพร้อมชำระเงินสมทบให้ทัน ภายในวันที่ 14 มกราคม 2565 นี้ และให้ทางสมาคมฯ ดังกล่าวข้างต้น รับรองภายในวันที่ 28 มกราคม 2565 เท่านั้น โดยสามารถสอบถามได้ที่เพจกลุ่มสมาคมศิลปินกลางแจ้ง ทั้งนี้ ท่านสามารถตรวจสอบสิทธิโครงการเยียวยาผู้ประกันตนในกิจการสถานบันเทิง และผู้ประกอบการอาชีพอิสระที่ทำงานเกี่ยวข้องกับสถานบันเทิงที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการของรัฐ ได้ที่หน้าเว็บไซต์ สปส. https://www.sso.go.th/eform_news/ หรือหากมีข้อสงสัย ติดต่อสอบถามได้ที่สายด่วนสำนักงานประกันสังคม 1506 ทุกวัน ตลอด 24 ชั่วโมง

ที่มา: สำนักข่าวไทย, 9/1/2565

ฉีดวัคซีนเข็ม 3 ให้ผู้ประกันตนมาตรา 33 นำร่อง 10 จังหวัด เริ่ม 17 ม.ค. 2565 นี้

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน (Omicron) ว่ารัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีการดำเนินการ "ฉีดวัคซีนโควิด" ให้แก่พี่น้องประชาชนทั่วประเทศรวมทั้งภาคแรงงานไทยและต่างด้าวไปแล้วกว่า 100 ล้านโดส จึงทำให้มีภูมิคุ้มกัน รวมถึงการตรวจคัดกรองเพื่อคัดแยกผู้ติดเชื้อเข้าสู่รักษาตามมาตรการที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด และในวันที่ 17 มกราคม 2565 กระทรวงแรงงาน โดยสำนักงานประกันสังคม จะมีการดำเนินการฉีดวัคซีนให้ผู้ประกันตนมาตรา 33 เข็มที่ 3 ต่อไป

สำหรับ 10 จังหวัดนำร่อง "ฉีดวัคซีนเข็ม 3" ให้ผู้ประกันตนมาตรา 33 ที่ลงทะเบียนในระบบ e-Service ประกอบด้วย กรุงเทพมหานคร ฉะเชิงเทรา นนทบุรี พระนครศรีอยุธยา ชลบุรี สมุทรปราการ นครปฐม สงขลา ระยอง ปทุมธานี และสมุทรสาคร

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 9/1/2565

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net