Skip to main content
sharethis

ผ่านมาแล้ว 20 ปีหลังจากที่สหรัฐฯ ก่อตั้งเรือนจำ "กวนตานาโม" สื่อต่างๆ ได้รายงานเรื่องราวเกี่ยวกับเรือนจำแห่งนี้ซึ่งมีการทารุณกรรมนักโทษและมีระบบการดำเนินคดีที่ยืดยาวจนทำให้นักโทษบางคนถูกขังอย่างยาวนานจนเรียกได้ว่าเป็น "นักโทษชั่วนิรันดร์" และถึงแม้ว่าผู้นำบางคนจะพูดถึงการปิดคุกนี้แต่จนถึงตอนนี้กวนตานาโมก็ยังคงดำเนินการอยู่

13 ม.ค. 2565 Mohamedou Ould Slahi ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำกวนตานาโมของสหรัฐฯ มาเป็นเวลา 14 ปี เขาถูกทารุณกรรมมาเป็นเวลา 70 วัน และถูกไต่สวน 18 ชั่วโมงต่อวันติดต่อกันมาเป็นเวลา 3 ปี

ก่อนหน้าที่ Slahi จะถูกจับกุมตัวเขาอาศัยอยู่ในประเทศเยอรมนี เขาถูกจับเพราะต้องสงสัยว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการระดับสูงของกลุ่มก่อการร้ายอัลกออิดะฮ์ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการโจมตีสหรัฐฯ 11 ก.ย. 2544 หรือที่เรียกว่าเหตุการณ์ 911 แต่จนถึงตอนนี้ก็ไม่มีอะไรพิสูจน์ว่าเขาผิดตามข้อกล่าวหานี้จริง และตลอดช่วง 14 ปีที่ผ่านมาจนถึงตอนนี้เขาไม่เคยถูกดำเนินคดีหรือตัดสินว่ามีความผิดใดๆ เลย แต่ก็ต้องอยู่ในเรือนจำมาตลอด

ถึงแม้ว่าในที่สุดแล้ว Slahi ผู้เป็นชาว Mauritania จะได้รับการปล่อยตัวในวันครบรอบ 20 ปี คุกกวนตานาโมเมื่อวันที่ 11 ม.ค. ที่ผ่านมา พร้อมกับนักโทษคนอื่นๆ อีก 5 ราย แต่ Slahi ก็ถูกจำคุกยาวนานมาจนถึงอายุ 50 ปี ไม่การชดเชยใดๆ ต่อช่วงเวลาชีวิตของเขาที่ถูกช่วงชิงไป

สำหรับ Nancy Hollander ทนายความที่ว่าความให้กับ Slahi นี่เป็นคดีที่มีชื่อเสียงที่ยังคงติดตามหลอกหลอนเธอมาจนถึงทุกวันนี้ เรื่องราวของ Stahi ถูกสร้างเป็นภาพยนตร์ชื่อ "The Mauritanian" ออกเผยแพร่ในปี 2564 ซึ่งภาพยนตร์นี้สร้างมาจากหนังสือ "กวนตานาโมไดอารี" ของ Slahi เอง

Slahi ถูกกล่าวหาว่าเขามีส่วนเกี่ยวข้องกับค่ายซ้อมรบผู้ก่อการร้ายในอัฟกานิสถานและเป็นคนที่รับโทรศัพท์ของ โอซามา บิน ลาเดน เรื่องนี้ทำให้ Slahi ดูไม่ดีนักแต่ก็ไม่มากพอที่จะตัดสินเอาผิดเขา

เรื่องราวของ Slahi เป็นเรื่องราวแบบเดียวกับที่เกิดขึ้นกับนักโทษรายอื่นๆ ทั่วไปในกวนตานาโม Hollander กล่าวว่า คุกกวนตานาโมเป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นว่าสหรัฐฯ เป็นประเทศที่ "ไม่เคารพในหลักนิติธรรม" และบอกว่าคุกกวนตานาโมนับเป็น "สถานการณ์หายนะ"

เรื่องนี้ไม่เพียงแต่เกิดขึ้นกับผู้ต้องขัง 13 รายที่ถูกคุมขังโดยไม่มีข้อหาและรอการปล่อยตัวยาวนานเป็นเวลาหลายปีเท่านั้น แต่ยังเกิดขึ้นต่อกลุ่มคนที่ถูกกล่าวหาแต่ยังไม่ได้รับการพิสูจน์ว่าก่อเหตุ 9/11 พวกเขาเหล่านี้กลายเป็นกลุ่มคนที่ถูกเรียกว่า "นักโทษชั่วนิรันดร์" พวกเขาต้องรอคอยการดำเนินคดียาวนานเป็นเวลา 20 ปีหลังจากเหตุการณ์พ้นไปแล้ว

คุกกวนตานาโมเป็นคุกทหารที่ตั้งขึ้นในสมัยรัฐบาลจอร์จ ดับเบิลยู บุช ในปี 2545 ช่วงที่พวกเขามีปฏิบัติการ "สงครามต่อต้านการก่อการร้าย" หลังเกิดเหตุ 9/11 เมื่อปีก่อนหน้านี้ อย่างไรก็ตามคุกแห่งนี้ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากกลุ่มสิทธิมนุษยชนนานาชาติ รวมถึงแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล อีกทั้งยังถูกวิจารณ์จากกลุ่มด้านกฎหมายอย่างศูนย์เพื่อสิทธิรัฐธรรมนูญ (CCR) ที่มีสำนักงานในสหรัฐฯ ซึ่งวิจารณ์คุกกวนตานาโมว่าเป็นคุกที่ละเมิดกระบวนการทางกฎหมายตามที่ระบุรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญสหรัฐฯ

Daphne Eviatar ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับประเด็นกวนตานาโมของแอมเนสตีกล่าวว่าเรื่องการละเมิดหลักนิติธรรมนี้เป็นสิ่งที่รัฐบาลบุชจงใจจะให้เกิดขึ้น พวกเขาจงใจตั้งเรือนจำนี้ในกวนตานาโมซึ่งเป็นพื้นที่ของประเทศคิวบาเพื่อหลีกเลี่ยงระบบกฎหมายของสหรัฐฯ

Eviatar ยังได้ประณามการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่กวนตานาโมในรายงานของแอมเนสตี้ ทั้งในเรื่องการคุมขังอย่างไม่มีข้อกล่าวหาและไม่มีกำหนด การทารุณกรรมผู้ต้องขัง Eviatar กล่าวว่ามีการสืบสวนสอบสวนจากหลายส่วนรวมถึงจากคณะกรรมการข่าวกรองของวุฒิสภาสหรัฐฯ เองที่ระบุถึงเรื่องการทารุณกรรมนักโทษหลายสิบรายในกวนตานาโม

ทนายความอีกรายหนึ่งคือ Anthony Natale ที่ว่าความให้กับ Abd al-Rahim al-Nashiri ผู้ถูกกล่าวหาว่าเป็นหน่วยปฏิบัติการของกลุ่มอัลกออิดะฮ์ Natale กล่าวว่าเขาอับอายที่สหรัฐฯ ซึ่งบอกว่าประเทศตัวเองมีเสรีภาพและสิทธิความเท่าเทียมกันแต่ทุกอย่างนี้ก็ถูกโยนทิ้งหมดเมื่อเป็นกรณีกวนตานาโม

นอกเหนือจาก Slahi แล้วนักโทษคนอื่นๆ ที่ได้รับการปล่อยตัวได้แก่ Moath Hamza Ahmed al-Alwi, Omar Mohammed Ali Al-Rammah และ Suhayl Abdul Anam al Sharabi ซึ่งเป็นชาวเยเมน Mohammed Abdul Malik Bajabu ซึ่งเป็นชาวเคนยา และ Guled Hassan Duran ซึ่งเป็นชาวโซมาเลีย

ทั้ง 5 คนนี้ได้รับการพิจารณาว่าไม่มีความผิด จากคณะกรรมการพิจารณาที่ตั้งขึ้นโดยรัฐบาลบารัค โอบามา แต่พวกเขาก็ถูกคุมขังโดยไม่มีข้อกล่าวหามาเป็นเวลายาวนาน ทำให้ในตอนนี้มีนักโทษที่ได้รับการปล่อยตัวจากกวนตานาโมรวมแล้ว 18 ราย และยังมีคนที่ยังถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ 39 ราย อย่างไรก็ตามนักโทษที่ได้รับการปล่อยตัวจะยังไม่ได้ออกจากเรือนจำทันทีแต่จะต้องผ่านกระบวนการนัดหมายทางการทูตอื่นๆ กับประเทศปลายทางที่จะปล่อยตัวนักโทษเหล่านี้เข้าไป

ปัญหาของกวนตานาโมอีกเรื่องหนึ่งคือความโปร่งใส กระบวนการสื่อหรือกลุ่มอื่นๆ ที่ต้องการเข้าถึงกวนตานาโมนั้นเป็นไปได้ยาก จากการที่มีกระบวนการห้ามบินผ่านน่านฟ้าคิวบาโดยตรง สื่อที่ต้องการทำข่าวต้องขออนุญาตและผ่านกระบวนการตรวจเช็กทางด้านความปลอดภัยเป็นเวลาหลายสัปดาห์ ต้องมีการลงชื่อยอมรับ "กฎข้อตกลงพื้นฐาน" ในการเข้าสู่กวนตานาโม อีกทั้งนักข่าวที่เข้าไปในกวนตานาโมจะไม่ได้รับเสรีภาพในการเดินทางและเสรีภาพสื่อ พวกเขาถูกห้ามไม่ให้เห็นเรือนจำจากข้างนอก และข้อมูลทั้งหลายภายในเรือนจำจะถูกจำกัดเป็นความลับอย่างเข้มงวด เรื่องนี้ทำให้ทนายความของนักโทษไม่พอใจอย่างมาก

จากแผนภาพสถิติของเว็บอัลจาซีราระบุว่ามีผู้ถูกส่งตัวเข้าเรือนจำกวนตานาโม 732 ราย ส่วนใหญ่เป็นชาวอัฟกานิสถานและซาอุดิอาระเบีย มีคนเสียชีวิต 9 ราย ขณะอยู่ในเรือนจำ

เรื่องเหล่านี้ทำให้มีการตั้งคำถามว่า ผ่านมาแล้ว 20 ปี ทั้งเหตุการณ์ละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นในเรือนจำและจากการที่มีการถอนทัพสหรัฐฯ จากอัฟกานิสถาน ส่งสัญญาณว่าสงครามอัฟกานิสถานจบลงแล้ว ทั้งที่เรือนจำแห่งนี้ตั้งขึ้นบนฐานเรื่องข้ออ้างสงครามต่อต้านการก่อการร้ายซึ่งส่วนหนึ่งคือสงครามในอัฟกานิสถาน

มีการสัญญาไว้หลายครั้งว่าจะปิดเรือนจำแห่งนี้ลง ครั้งแรกสุดคือหลังจากสิ้นสุดยุคสมัยของผู้นำบุช ในเวลาต่อมาบารัค โอบามา ซึ่งเป็นประธานาธิบดีถัดจากบุชก็สัญญาไว้หลายครั้งว่าจะให้มีการปิดกวนตานาโมลง แต่พวกเขาก็ไม่ชนะการโหวตในสภาคองเกรสจากเสียงคัดค้านของพรรครีพับลิกัน ไม่เพียงเท่านั้นรีพับลิกันยังเสนอกฎหมายใหม่ทับถมลงไปอีกว่า "ใครก็ตามที่เคยเข้าคุกกวนตานาโมไม่สามารถเดินทางเข้ามาที่สหรัฐฯ ได้อีก ไม่ว่าจะด้วยจุดประสงค์ใดก็ตาม ไม้เว้นแม้แต่เหตุผลเรื่องการดำเนินคดีหรือเหตุผลทางการแพทย์ และเหตุผลอื่นๆ" นั่นทำให้การเคลื่อนย้ายนักโทษจากกวนตานาโมเข้าสู่สหรัฐฯ กลายเป็นเรื่องผิดกฎหมาย

และพอมาถึงยุคสมัยของโดนัลด์ ทรัมป์ เขาก็เสนอกลับตาลปัตรจากผู้นำคนอื่นๆ ด้วยการบอกว่ากวนตานาโมจะยังคงเปิดทำการต่อไป กลุ่มนักการเมืองพรรครีพับลิกันอ้างว่ากวนตานาโมจะป้องกันไม่ให้เกิดการก่อการร้ายและการเคลื่อนย้ายนักโทษเข้ามาในสหรัฐฯ นั้นอันตรายเกินไป อย่างไรก็ตามกลุ่มผู้ต่อต้านกวนตานาโมบอกว่าการมีอยู่ของเรือนจำแห่งนี้เองก็กลายเป็นสิ่งที่ปลุกให้กลุ่มมุสลิมคนรุ่นเยาว์กลายเป็นสายหัวรุนแรง

มาถึงยุคสมัยของ โจ ไบเดน ประธานาธิบดีไบเดนเคประกาศผ่านโฆษกของตัวเองว่ามีแผนการจะปิดคุกกวนตานาโมแห่งนี้ในช่วงที่เขายังคงดำรงตำแหน่งอยู่ แต่ในการประชุมเมื่อไม่นานนี้ของคณะกรรมการข่าวกรองวุฒิสภาก็พบว่าไม่มีใครเลยในรัฐบาลไบเดนที่ดูแลในเรื่องนี้ ซึ่งทำให้ Hollander มองว่ามันแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลไบเดนไม่ได้ให้ความสำคัญเรื่องนี้มาก่อนเรื่องอื่นๆ

หลังจากความล้มเหลวเรื่องโครงการโครงสร้างพื้นฐานและการเลือกตั้งกลางเทอมสหรัฐฯ ที่กำลังใกล้เข้ามาท่ามกลางคะแนนนิยมที่ลดลง รัฐบาลไบเดนมีปัญหาอื่นที่ใหญ่กว่าที่พวกเขาต้องให้ความสนใจเทียบกับกวนตานาโม แต่การที่นักโทษบางส่วนได้รับการปล่อยตัวในที่สุดและบางส่วนสามารถกลับสู่ภูมิลำเนาตัวเองได้ก็อาจจะส่งสัญญาณถึงเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดี ซึ่งสำหรับทนาย Eviatar เธอบอกว่าเธอมองในแง่บวกถึงอนาคตในเรื่องนี้

"เมื่อจำนวนตัวเลข(ผู้ต้องขัง) ลดลงเรื่อยๆ มันก็แสดงให้เห็นชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ ว่าเรื่องนี้มันไร้เหตุผลยังไง เหลวไหลแค่ไหน" Eviatar กล่าว

นอกจากเรื่องศีลธรรมในทางสิทธิมนุษยชนแล้ว ยังมีการประเมินในแง้เศรษฐศาสตร์ว่าการที่สหรัฐฯ ต้องใช้เงินจากภาษีของประชาชน 13 ล้านดอลลาร์ต่อปีไปกับเรือนจำแห่งนี้โดยเฉลี่ยต่อนักโทษหนึ่งราย

Hollander มองว่าต่อให้การนำนักโทษจะคุมขังในสหรัฐฯ จะใช้งบประมาณน้อยลงแต่นั่นก็ไม่ใช่เรื่องที่ควรทำอยู่ดี เพราะไม่มีใครควรจะถูกคุมขังโดยไม่มีข้อกล่าวหา สหรัฐฯ คุมขังพวกเขาถึงแม้จะไม่มีหลักฐานตั้งข้อกล่าวหาแต่ก็กลับมองว่าพวกเขาอันตราย

อนาคตของคุกกวนตานาโมไม่ใช่สิ่งที่จะสามารถให้คำตอบได้แบบเป็นเหตุเป็นผล เช่นเดียวกับอะไรหลายอย่างจำนวนมากในสหรัฐฯ เรือนจำแห่งนี้กลายเป็นเบี้ยหมากทางการเมืองตัวหนึ่งที่คอยแอบซ่อน "นักโทษชั่วนิรันดร์" เอาไว้ นักโทษผู้ที่ต้องรอคอยการดำเนินคดีเป็นเวลา 20 ปี

เรียบเรียงจาก


ข้อมูลเพิ่มเติมจาก 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net