COVID-19: 15 ม.ค. 65 ไทยติดเชื้อเพิ่ม 7,793 ราย เสียชีวิต 18 ราย

ศบค. รายงานสถานการณ์ COVID-19 ในไทย ผู้ป่วยใหม่ 7,793 ราย สะสม 2,316,408 ราย รักษาหาย 5,202 ราย สะสม 2,217,124 ราย เสียชีวิต 18 ราย สะสม 21,916 ราย วัคซีนสะสม (14 ม.ค. 2565) 108,981,156 โดส

15 ม.ค. 2565 ศบค. รายงานสถานการณ์ COVID-19 ในไทย ผู้ป่วยใหม่ 7,793 ราย สะสม 2,316,408 ราย รักษาหาย 5,202 ราย สะสม 2,217,124 ราย เสียชีวิต 18 ราย สะสม 21,916 ราย วัคซีนสะสม (14 ม.ค. 2565) 108,981,156 โดส

โควิดเริ่มทรงตัว 'อนุทิน' เล็งเสนอ ศบค.คลายล็อกมาตรการ

Thai PBS รายงานเมื่อวันที่ 14 ม.ค. 2565 ว่านายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุข แถลงสถาน การณ์โรคโควิด 19 และมาตรการของกระทรวงสาธารณสุข ว่า ตั้งแต่ปีใหม่ 2565 จนถึงวันนี้ มีสายพันธุ์โอมิครอนเข้ามาระบาดในประเทศ พบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น แต่ความรุนแรงของโรคลดลง ส่วนผู้ป่วยอาการหนัก ใส่เครื่องช่วยหายใจ เข้าไอซียูไม่ได้เพิ่มขึ้น ผู้เสียชีวิตอยู่ในช่วงขาลงไม่เกิน 20 คนต่อวัน

ข้อมูลจากสถาบันการแพทย์ต่างๆ สอดคล้องกันว่า เชื้อสายพันธุ์โอมิครอนติดง่าย แต่รุนแรงไม่เท่าเดลตา ทั้งนี้ รัฐบาลพร้อมสนับสนุนข้อเสนอจากคณะแพทย์ สถาบันการแพทย์ต่างๆ ที่ให้มีมาตรการที่ประชาชนจะสามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติสุขมากที่สุด

“เมื่อสถานการณ์มีแนวโน้มดีขึ้น กระทรวงสาธารณสุขจะเสนอ ศบค.ผ่อนคลายมาตรการให้มากที่สุดและเร็วที่สุด และพร้อมเสนอมาตรการเพิ่มหากมีสถานการณ์ที่สุ่มเสี่ยงต่อความปลอดภัยของประชาชน”

นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า วันนี้ไทยมีผู้ติดเชื้อภายในประเทศ 7,916 คน มาจากต่างประเทศ 242 คน เสียชีวิต 15 คน ส่วนผู้ป่วยปอดอักเสบพบ 510 ราย และใส่ท่อช่วยหายใจ 105 ราย แนวโน้มลดลง

“ช่วงแรกของเดือน ม.ค.พบการติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่ขณะนี้ผ่านมา 14 วัน สถานการณ์การติดเชื้อเริ่มทรงตัวและอาจลดลงได้”

ส่วนสถานการณ์เสียชีวิตต่ำกว่าที่คาดการณ์ เนื่องจากการฉีดวัคซีนมีความครอบคลุม และเชื้อลดความรุนแรงลง หากสถานการณ์ยังคงดีขึ้นจะมีการพิจารณาลดระดับการเตือนภัยประชาชน จากปัจจุบันที่อยู่ระดับ 4 โดยขอให้ประชาชนป้องกันตนเองสูงสุดตลอดเวลา งดเข้าสถานที่เสี่ยง ชะลอการเดินทาง

สำหรับการฉีดวัคซีนโควิด 19 ขณะนี้ฉีดสะสม 108.5 ล้านโดส เป็นเข็มแรก 51.6 ล้านคน ครอบคลุมประชากร 76.92% เข็มสอง 47.2 ล้านคน ครอบคลุม 70.32% และเข็มสาม 9.15 ล้านคน ครอบ คลุม 13.63% จะพยายามเร่งฉีดเข็ม 3 ในพื้นที่แซนด์บ็อกซ์ให้ถึง 50% ภายใน 1-2 เดือนนี้ ซึ่งจะทำให้ประเทศมีความปลอดภัยเพิ่มขึ้นอีกระดับ

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า กรมควบคุมโรคติดตามประเมินประสิทธิผลวัคซีนโควิด 19 ในพื้นที่จริง ตั้งแต่ช่วงส.ค.-ธ.ค.2564 จากการฉีดวัคซีนสูตรต่างๆ ที่สธ.กำหนดใน 4 พื้นที่ ซึ่งแต่ละช่วงเวลามีการระบาดของสายพันธุ์ที่แตกต่างกัน ดังนี้ ภูเก็ต ช่วงเดือน ส.ค.มีสายพันธุ์อัลฟา ส่วน กทม. ช่วง ก.ย.-ต.ค.มีทั้งอัลฟาและเดลตา ส่วน จ.เชียงใหม่ ช่วงธ.ค. มีสายพันธุ์เดลตา และ จ.กาฬสินธุ์ ช่วง ธ.ค.มีสายพันธุ์โอมิครอน

“จากการวิเคราะห์ พบว่าวัคซีนทุกสูตร มีประสิทธิผลป้องกันอาการป่วยรุนแรงและเสียชีวิตสูง  90-100% ส่วนการป้องกันการติดเชื้อมีประสิทธิผลสูงพอสมควร”

นพ.โอภาส กล่าวอีกว่า เมื่อได้รับการฉีดเข็มกระตุ้น หรือการฉีดสูตรไขว้ จะเพิ่มประสิทธิผลการป้องกันการติดเชื้อให้สูงขึ้น จึงช่วยควบคุมการระบาดได้ดี สำหรับผู้ที่ฉีดวัคซีนเชื้อตายและรับเข็ม 3 ด้วยแอส ตราเซเนกา หรือไฟเซอร์ พบว่ามีประสิทธิผลป้องกันการติดเชื้อ ป้องกันการเสียชีวิตสูงไม่แตกต่างกัน

“ส่วนการรับเข็ม 3 ด้วยแอสตราเซนเนกา หรือไฟเซอร์ สามารถป้องกันโอมิครอนได้ 80-90% ทั้งนี้ยืนยันว่าขณะนี้วัคซีนมีเพียงพอ”

ด้านนพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า การดูแลผู้ติดเชื้อโควิด 19 ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขเน้นการดูแลที่บ้านและชุมชน (HI & CI first) เนื่องจากผู้ติดเชื้อสายพันธุ์โอมิครอนครึ่งหนึ่งไม่มีอาการ และอีก 30% มีอาการไม่มาก แต่หากประเมินพบว่ามีอาการเปลี่ยนแปลงจะส่งไปยังฮอสปิเทล โรงพยาบาลสนามหรือโรงพยาบาลหลักต่อไป

สำหรับข้อกังวลเรื่องสถานการณ์เตียง จากข้อมูลเตียงโรงพยาบาลและฮอสพิเทล เปรียบเทียบระหว่างวันที่ 9 ม.ค.ที่เริ่มพบจำนวนผู้ติดเชื้อโอมิครอนมากขึ้น และวันที่ 13 ม.ค. พบว่าการใช้เตียงสีแดง สำหรับผู้ป่วยอาการหนักลดลง

นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า ขณะนี้ทั่วประเทศจาก 213 เตียง เหลือ 182 เตียง ส่วน กทม.คงเดิม คือ 25 เตียง เตียงสีเหลืองมีการใช้เพิ่มขึ้นทั่วประเทศจาก 1,681 เตียง เป็น 3,095 เตียง กทม.จาก 513 เตียง เป็น 1,246 เตียง เนื่องจากแพทย์ต้องการเฝ้าระวังสังเกตอาการกลุ่มเสี่ยง และเตียงสีเขียวทั่วประเทศใช้เพิ่มขึ้น10,000 เตียง ส่วนกทม.ใช้เพิ่ม 3,000 เตียง ยังยืนยันว่าเตียงยังมีเพียงรองรับได้

“เน้น HI/CI First เพื่อลดจำนวนการครองเตียงในโรงพยาบาล โดยในส่วนของ CI กทม.เตรียมไว้ 5,000-6,000 เตียง ขณะนี้มีผู้ป่วยเข้ารับการดูแลไม่ถึง 1,000 ราย ขอย้ำว่าผู้ที่มีผลตรวจ ATK เป็นบวก ให้ติดต่อสายด่วน 1330 โดยขอให้โรงพยาบาลที่ได้รับการประสานติดต่อผู้ป่วยโดยเร็วที่สุด”

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท