หัวหน้าเรือนจำในศรีลังกาถูกตัดสินประหารชีวิต หลังสังหารหมู่นักโทษกว่า 27 ราย

'อีมิล ลามาเฮเวจ' เจ้าหน้าที่ระดับสูงในเรือนจำของประเทศศรีลังกาถูกตัดสินประหารชีวิตแล้ว จากเหตุการณ์สังหารหมู่นักโทษ ทำให้มีผู้เสียชีวิตไปกว่า 27 ราย และนำไปสู่การประนามจากประชาคมโลกเมื่อปี 2555 

16 ม.ค. 2565 สำนักข่าวอัลจาซีรา รายงานว่าศาลสูงเมืองโคลัมโบ ซึ่งเป็นเมืองศูนย์กลางทางการค้าและเมืองที่มีประชากรอยู่อาศัยมากที่สุดในศรีลังกา ได้ตัดสินลงโทษเจ้าหน้าที่ระดับสูงคนดังกล่าวเมื่อวันพุธที่ผ่านมา (12 ม.ค. 2565) อย่างไรก็ตาม โมเซส รังกาจีวะ เจ้าหน้าที่ตำรวจคอมมานโดที่ถูกฟ้องด้วยถูกตัดสินว่าไม่มีความผิด

ศาลรับฟ้องเจ้าหน้าที่ทั้ง 2 รายเมื่อ ก.ค. 2562 หลังเหตุการณ์ผ่านไปแล้วกว่า 7 ปี สำหรับเหตุการณ์สังหารหมู่สะเทือนขวัญนี้เกิดขึ้นที่เรือนจำกลางเวลิคะดา ในเมืองโคลัมโบ ส่งผลให้มีผู้ชีวิตทั้งหมด 27 ราย แต่การฟ้องคดีนี้รวบรวมหลักฐานจากผู้เสียชีวิตเพียง 8 ราย

เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นหลังตำรวจคอมมานโดถูกเรียกให้มาปราบปรามการจราจลที่เรือนจำกลางเวลิคะดาและปลดอาวุธนักโทษที่ถูกกล่าวหาว่าขโมยอาวุธมาจากคลังสรรพาวุธ 

จากข้อมูลของอัยการพบว่า นักโทษ 8 คนถูกเรียกชื่อให้ออกมาโดนฆ่าแบบเดียวกับลานประหาร คนอื่นๆ ถูกยิงเสียชีวิตเช่นเดียวกัน เอกสารของศาลยังระบุด้วยว่า เจ้าหน้าที่นำอาวุธเข้ามาเพื่อทำให้เหยื่อดูเหมือนกำลังจะยิงผู้คุมเรือนจำ

อย่างไรก็ตาม อัยการและเอกสารไม่ได้การระบุว่าใครเป็นคนสั่งฆ่า 

เหตุการณ์สังหารหมู่ดังกล่าวก่อให้เกิดกระแสการประนามจากทั่วโลกต่อรัฐบาลของมหินทรา ราชปักษา ซึ่งเป็นประธานาบดีในขณะนั้น และเป็นนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันที่เผชิญกับกระแสการประนามจากการละเมิดสิทธิมนุษชนในช่วงปีท้ายๆ ของการสู้รบกันระหว่างรัฐบาลศรีลังกากับกลุ่มพยัคฆ์ทมิฬอีแลมที่จบลงในปี 2552 

ความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลศรีลังลากับกลุ่มพยัคฆ์ทมิฬอีแลมกินเวลากว่า 26 ปีส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 80,000 - 100,000 คน ในจำนวนนี้พลเมืองชาวทมิฬกว่า 40,000 คนเสียชีวิตในช่วงเดือนท้ายๆ ของสงคราม โดยพบทั้งการฆาตกรรม การข่มขืน และบังคับสูญเสีย

เดือน มี.ค. 2021 คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติมีมติให้เก็บและรักษาหลักฐานพยานเกี่ยวกับอาชญากรรมสงครามและฮาชญากรรมต่อมนุษยชาติที่เกิดขึ้นจากทั้งสองฝ่าย หลังกระบวนการศาลภายในประกาศและระหว่างประเทศยังไม่สามารถเอาผิดบุคคลที่มีส่วนร่วมในอาชญากรรมสงครามและอาชญากรรมต่อมนุษยชาติครั้งดังกล่าวได้ 

สำหรับการสังหารหมู่ในปี 2555 เป็นหนึ่งในเหตุความรุนแรงในเรือนจำที่สะเทือนขวัญที่สุดในประเทศศรีลังกา รองจากเหตุการณ์จราจลในปี 2526 ที่ทำให้มีนักโทษถูกทุบตีจนเสียชีวิตไปกว่า 50 คน   

 

แปลและเรียบเรียงจาก
Sri Lanka prison chief gets death penalty for 2012 massacre (Al Jazeera, 13 January 2022)
UN to collect evidence of alleged Sri Lanka war crimes (BBC, 23 March 2021)

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท