Skip to main content
sharethis

ตามไปดูพลังการขับเคลื่อนเรื่องสิทธิมนุษยชนแนวสันติวิธี หรือสันติเชิงบวก กรณีช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติในเชียงรายหลังจากได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 เปลี่ยนจากแรงงานข้ามชาติผู้ได้รับผลกระทบ มาเป็นอาสาสมัครช่วยเหลือกันเอง โดยมีนักวิชาการ ม.แม่ฟ้าหลวง, คณะเยสุอิตในไทย และองค์กร เครือข่ายต่างๆ เข้าไปช่วยเหลือและหาทางออกร่วมกัน ย้ำแรงงานข้ามชาติ คือพลเมืองทางวัฒนธรรม สันติวิธี เหมาะสมที่สุดในยุคสังคมที่มีความแปลกแยก จนนำไปสู่ Social Justice เครือข่ายนายจ้างสีขาว ส่งเสริมความรู้ในด้านสิทธิแก่แรงงานข้ามชาติ ซึ่งล้วนแต่เป็นประเด็นท้าทายให้ผลักดันและขับเคลื่อนกันต่อไปข้างหน้า

จากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ที่เริ่มระบาดในประเทศไทย ตั้งแต่ช่วงต้นปี 2563 ที่ผ่านมา ได้ส่งผลกระทบไปในวงกว้างทั่วประเทศ อีกทั้งยังมีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศเพื่อนบ้านอย่างเมียนมา จนทำให้ประเทศไทยต้องเฝ้าระวังแนวพรมแดนเพื่อสกัดไม่ให้การระบาดเข้ามาในประเทศ และแน่นอน ย่อมสร้างความวิตกกังวลต่อรัฐไทย ต่อประชาชนคนไทย ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดในพม่าอาจส่งผลกระทบมาถึงไทยมากน้อยเพียงไหน

ดังนั้น งานช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติในไทย จึงถือว่ามีความสำคัญอย่างยิ่ง แต่ทว่ากลับถูกภาครัฐมองข้ามและขาดการใส่ใจ ดูแล อีกทั้งนโยบายรัฐและระเบียบกฎหมายบางมาตรา ทำให้แรงงานข้ามชาติที่อาศัยอยู่ในไทยไม่ได้รับการเข้าถึงบริการระบบสาธารณสุข  มีข้อจำกัดในการตรวจวินิจฉัยคัดกรอง และไม่ได้รับการช่วยเหลือเยียวยาเรื่องปากท้อง ทั้งๆ คนกลุ่มนี้อาศัยอยู่ในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก

ในพื้นที่จังหวัดเชียงราย ก็เป็นอีกจังหวัดหนึ่งที่อยู่ติดชายแดน และมีแรงงานข้ามชาติอาศัยอยู่หลายหมื่นคน ไม่ว่าจะเป็นเมียนมา ลาว กัมพูชา เข้ามาทำงานและอาศัยอยู่รวมกัน ครอบครัว ชุมชน กระจายไปทั่วทุกมุมเมือง จากปัญหาดังกล่าว จึงทำให้เกิดการขับเคลื่อนเรื่องสิทธิมนุษยชนแนวสันติวิธี หรือสันติเชิงบวก โดยการนำของคุณพ่อวินัย บุญลือ คณะเยสุอิตในไทย และองค์กรเครือข่ายต่างๆ เข้าไปช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติในจังหวัดเชียงรายที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19

ภาพการรณรงค์ให้ความรู้และช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติในเชียงราย ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19

คุณพ่อวินัย บุญลือ คณะเยสุอิตในไทย และเป็นผู้ดูแลชุมชนการเรียนรู้เซเวียร์ เชียงราย  บอกเล่าให้ฟังว่า หลังจากเกิดเหตุการณ์โควิด-19 ประมาณช่วงเดือนมีนาคม 2563 ที่ผ่านมา คณะเยซูอิตมีการประชุมกัน  คุณพ่อสุกีโย พิตโตโย เจ้าคณะเยสุอิตในประเทศไทย บอกว่า คณะเยซูอิต เมืองไทย น่าจะทำอะไรเกี่ยวกับโควิดได้บ้าง ซึ่งตนเองก็อยู่ที่เชียงราย ก็เริ่มคิดว่าคงต้องระดมทุนหาทางช่วยเหลือพี่น้องชาวแรงงานข้ามชาติ

“เพราะเราคิดว่าผู้ที่เดือดร้อนมากที่สุด จากปัญหาเรื่องโควิด ก็คือกลุ่มแรงงานข้ามชาตินี่แหละ  โดยเริ่มต้นจากทำแผ่นพับเล็กๆ เพื่อขอความช่วยเหลือ แล้วมารู้จักกับอาจารย์สืบสกุล กิจนุกร  ม.แม่ฟ้าหลวง ซึ่งทำงานกับกลุ่มแรงงานข้ามชาติที่เชียงรายอยู่แล้ว  ก็ได้ปรึกษากันว่า เราจะออกไปช่วยแรงงานเหล่านี้ได้อย่างไร เพราะทุกคนกำลังได้รับความเดือดร้อน  จนกระทั่งในช่วงเดือนเมษายน  บอกกับตัวเองว่า ยังไงก็ต้องออกไปช่วยเหลือพวกเขาแล้ว ตอนนั้นเราก็ยังไม่รู้ว่าจะระดมทุนเข้าไปช่วยเหลือยังไง พอดีในค่ำคืนนั้น ได้เกิดพายุรุนแรง พัดที่อยู่อาศัยในแค้มป์คนงานพังกระจายระเนระนาด ไม่มีอะไรเหลือเลย เราก็ได้เข้าไปช่วยเหลือกันทันที โดยได้มีการขอระดมทุนช่วยเหลือกันหลายองค์กรหน่วยงาน โดยเฉพาะเพื่อนๆ ที่อยู่ต่างประเทศ อยู่ในเมืองไทย มีศูนย์รวบรวมทั้งที่กรุงเทพฯ เชียงใหม่ และเชียงราย ได้เริ่มระดมอาหารและสิ่งของไปแบ่งปันให้พี่น้องแรงงานข้ามชาติในจังหวัดเชียงราย ถือว่ามีกลุ่มแรงงานข้ามชาติเยอะมาก โดยเฉพาะที่มาจากเมียนมา”

คุณพ่อวินัย บุญลือ คณะเยสุอิตในไทย และผู้ดูแลชุมชนการเรียนรู้เซเวียร์ เชียงราย

สืบสกุล กิจนุกร  อาจารย์ประจำสำนักวิชานวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง บอกว่า แต่เดิมก็ให้ความสำคัญ สนใจเรื่องชายแดนเพื่อนบ้าน ลาว จีน เมียนมา ในเรื่องของการลงทุน การค้า การขนส่งสินค้าแต่ที่ผ่านมา ไม่ค่อยมีสถาบันการศึกษาที่ให้ความสำคัญกับประเด็นเรื่องแรงงานข้ามชาติมากเท่าที่ควร เราก็เลยมาจับเรื่องนี้ พอรู้ว่ามันมีปัญหาโควิด-19 ระบาดในประเทศไทยและจังหวัดเชียงราย เราจึงได้ลงไปสำรวจข้อมูลเบื้องต้น พบว่าแรงงานข้ามชาติกลุ่มนี้ประสบปัญหากันหลายรูปแบบเลย อย่างแรกก็คือ เรื่องสุขภาพ ซึ่งแรงงานกลุ่มนี้ ไม่สามารถเข้าถึงอุปกรณ์สำหรับป้องกันโควิด เช่น หน้ากากอนามัย เจลล้างมือ ซึ่งในช่วงนั้นในประเทศไทยเราก็ขาดแคลนมาก

“ที่ผ่านมา ทางหน่วยงานรัฐ ได้มีการแจกจ่ายให้กับประชาชนทั่วไป แต่สำหรับกลุ่มแรงงานข้ามชาติเหล่านี้กลับไม่ได้รับ เพราะไม่มีสิทธิ เนื่องจากว่าพวกเขาไม่ได้เป็นพลเมืองไทย เพราะตอนนั้น รัฐบาลก็ได้เน้นย้ำให้มีการแจกจ่ายเฉพาะคนไทยโดยตรง  แม้กระทั่งพวกข้าวกล่อง ข้าวสาร อาหารแห้ง ก็ไม่ได้รับการช่วยเหลือเยียวยา เรื่องที่สอง ก็คือได้รับผลกระทบโดยตรง เมื่อมีการปิดร้านค้า ร้านอาหาร โรงแรมต่างๆ ซึ่งแรงงานข้ามชาติกลุ่มนี้จะทำงานอยู่ แต่ก็ถูกสั่งปิด และต้องหยุดทำงานโดยไม่ได้มีค่าชดเชยใดๆ เลย เรื่องที่สาม ก็คือ พอไม่มีงานทำ ก็ไม่ได้เงินใช้จ่ายในครอบครัว  เงินที่จะซื้อข้าวปลาอาหารก็ไม่พอ จะส่งเงินไปจุนเจือครอบครัวที่พม่าก็ไม่มี  แม้กระทั่งค่าเช่าห้อง ก็ไม่มีเงินจ่าย ทำให้เรามองเห็นปัญหาเหล่านี้”

จึงนำมาสู่การจัดตั้งเป็น “ศูนย์ประสานงานช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติ” โดยมีเครือข่ายประมาณ 11 องค์กร เข้ามาช่วยเหลือกัน เป็นลักษณะเครือข่ายแบบหลวมๆ มีภารกิจหลัก คือ 1.สำรวจความเดือดร้อน 2.ระดมขอความช่วยเหลือ 3.ให้ความช่วยเหลือเบื้องต้น ทั้งในด้านอาหารการกินและเรื่องสุขภาพ 4.การประสานงานช่วยเหลือกลุ่มแรงงานข้ามชาติกลุ่มนี้ได้เข้าถึงสิทธิประกันสังคม 

“โดยเราได้ระดมเอาทรัพยากรมาให้กับแรงงานข้ามชาติ ไม่ว่าจะเป็นหน้ากากอนามัย เจลล้างมือ ข้าวสาร อาหารแห้ง ปลากระป๋อง เราได้เปิดพื้นที่ให้ผู้คนสมทบ โดยได้รับการสนับสนุนจากผู้ใหญ่ใจดี  ทั้งที่เป็นตัวเงินและสิ่งของต่างๆ จากประชาชนทั่วไป นอกจากนั้น เรายังได้รับการสนับสนุนจากคุณพ่อวินัย บุญลือ คณะเยซูอิต ที่ได้เข้ามาช่วยเหลือเยอะเลย โดยเฉพาะอุปกรณ์วัดไข้ ซึ่งถือว่าสำคัญมากที่จะทำให้เรารู้ว่าใครอยู่ในภาวะเสี่ยงกับโรคโควิด-19 และต้องมีการระวังป้องกันตัวเอง ด้วยตัวเอง เพราะถ้าเป็นคนไทยทั่วไป จะมี อสม.เข้าไปจัดการดูแลเรื่องนี้ แต่ในกลุ่มของแรงงานข้ามชาตินั้นจะไม่มี อสม.หรือหน่วยงานไหนเข้าไปดูแลเลย ดังนั้น พอเราเข้าไปแจกอุปกรณ์หน้ากาก เจลล้างมือ ข้าวสาร อาหารแห้งให้พี่น้องแรงงานข้ามชาติแล้ว เราก็จะมอบตัววัดไข้นี้ให้ชุมชนละหนึ่งชุด พร้อมกับทำการอบรมให้ความรู้ในการใช้เครื่องวัดไข้ วัดอุณหภูมิร่างกายและการบันทึกประจำวัน มีทั้งรายชื่อ การวัดอุณหภูมิร่างกาย เกี่ยวกับโควิด ทุกวันเลยว่ามีไข้สูงหรือไม่อย่างไร”

สืบสกุล กิจนุกร อาจารย์ประจำสำนักวิชานวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง

สืบสกุล บอกว่าแต่ละชุมชนที่แรงงานข้ามชาติอาศัยอยู่ ปกติจะมีผู้นำอยู่แล้ว จึงจัดให้มีอาสาสมัครของแต่ละชุมชน อย่างเช่น หอพัก แค้มป์คนงานก่อสร้าง  ซึ่งผู้นำที่เป็นอาสาสมัคร ก็จะเป็นผู้สำรวจข้อมูลให้เราว่า มีจำนวนแรงงานเท่าใด มีใครตกงานบ้าง จากนั้น ก็เป็นผู้ประสานงาน นำข้าวสาร อาหารแห้งไปแจกจ่ายกันแต่ละชุมชน  รวมถึงการช่วยวัดไข้ให้ด้วย  ซึ่งมันก็เป็นการดี เหมือนการได้ช่วยเหลือตนเองไปด้วย

“ปกติ ทางเจ้าหน้าที่สาธารณสุข หรือโรงพยาบาล เขาจะเข้าไปตรวจคัดกรองได้เฉพาะที่เป็นสถานผู้ประกอบการที่เป็นโรงงานใหญ่ๆ  แต่คนงานที่ทำงานอยู่ตามร้านหมูจุ่ม ไนท์บาซาร์ ร้านอาหาร โรงแรม ซึ่งในขณะนั้น ร้านอาหาร สถานประกอบการเหล่านี้ถูกสั่งให้หยุดกันหมด ทำให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุข ไม่รู้จะไปติดต่อสำรวจคัดกรองได้ที่ไหน  พอรู้ว่า เรามีการรวมกลุ่มแรงงานข้ามชาติ ก็สามารถเข้ามาจัดการสำรวจคัดกรองได้ง่ายขึ้น ทางอาสาสมัครก็สามารถช่วยเก็บน้ำลายไปส่งให้ทางเจ้าหน้าที่ โรงพยาบาลได้”

จากการสุ่มตรวจคัดกรองโควิด ที่เป็นกลุ่มแรงงานข้ามชาติ เฉพาะในเขตอำเภอเมือง ปรากฎว่าไม่พบติดเชื้อโควิด-19 สักรายเดียว

สถานการณ์โควิด-19 ทำให้เกิดอาสาสมัครแรงงานข้ามชาติ

มาหลุ๊ก นิคม เล่าให้ฟังว่า บ้านเกิดเธออยู่ที่เมืองตองจี ประเทศเมียนมา แต่เข้ามาทำงานใช้แรงงานอยู่ในพื้นที่จังหวัดเชียงรายของไทยได้ 20 กว่าปีแล้ว พอเกิดปัญหาโควิด-19 เธอจึงเข้ามาเป็นอาสาสมัครช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติในครั้งนี้

“ชอบช่วยเหลือพี่น้องชาวเมียนมาด้วยกัน พอเกิดปัญหาโควิด ก็ขอเป็นอาสาสมัครกับโครงการนี้  โดยหน้าที่หลักๆ ก็คือการลงพื้นที่ไปเก็บข้อมูลในแต่ละชุมชน ซึ่งในพื้นที่เชียงรายนี้ จะมีอยู่ประมาณ 8-9 ชุมชน ที่พี่น้องแรงงานเราอาศัยอยู่”

มาหลุ๊ก นิคม อาสาสมัครช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติ ชาวเมียนมา

อะนะ เยอสอ เป็นกลุ่มชาติพันธุ์อาข่า บอกว่า บ้านเกิดอยู่ที่ดอยแม่สลอง อำเภอแม่ฟ้าหลวง ก่อนหน้านั้นเคยทำงานยกของให้บริษัทขนส่งสินค้าแห่งหนึ่งในเชียงราย หลังจากร่างกายทรุดทำงานไม่ไหว บวกกับเจอปัญหาโควิด ตกงาน จึงมีโอกาสเข้ามาเป็นอาสาสมัคร ช่วยเหลือพี่น้องแรงงานกลุ่มนี้ด้วย

“ก็รู้สึกดีใจ และภูมิใจด้วยที่ได้มีโอกาสเข้ามาช่วยเหลือพี่น้องที่ตกทุกข์ลำบากด้วยกัน ทุกครั้ง ก่อนจะลงพื้นที่ไปแจกจ่ายสิ่งของ  เราก็จะมีการนัดประชุม รวมตัว วางแผนกันก่อนทุกครั้ง”

เช่นเดียวกับ Aye Mi San หนึ่งในทีมงานอาสาสมัครแรงงานข้ามชาติชาวเมียนมา บอกว่า เธออาศัยอยู่ในชุมชนท่าสาย ซึ่งเป็นบริเวณแค้มป์คนงานก่อสร้าง ประมาณ 3 ปีแล้ว ซึ่งถ้ามีงานที่ไหน ก็ย้ายไปเรื่อยๆ พอดีเพื่อนแนะนำมาให้รู้จักโครงการนี้ ที่ให้ความช่วยเหลือแรงงาน และเด็กในสถานการณ์โควิด ก็เลยเข้ามาเป็นอาสาสมัคร

“ในช่วงโควิด ก็ถือว่าลำบากกัน  หลายคนว่างงาน อย่างในชุมชนท่าสายนี้ มีพี่น้องเราอาศัยอยู่ประมาณ 100 กว่าคน ซึ่งจะเห็นว่าจะมีผู้หญิง แม่ลูกอ่อน เด็กทารกเพิ่งเกิดมาได้ 2-6 เดือนหลายคน ที่ต้องการความช่วยเหลือ ซึ่งทุกคนจะดีใจสุดๆ เลย ที่มีโครงการนี้เข้ามาช่วยเหลือ”

คุณพ่อวินัย พูดถึงทีมอาสาสมัครกลุ่มนี้ด้วยว่า  พวกเขามองว่าการเป็นอาสาสมัคร นี่คือการไปทำบุญ ช่วยเหลือพี่น้องแรงงานด้วยกันแบบนี้ ก็ทำให้พวกเขาได้บุญ และเป็นบุญที่ยิ่งใหญ่ของพวกเขา  โดยไม่ได้คาดหวังไปถึงขั้นที่ว่าทำบุญแล้วจะได้ไปสวรรค์ ซึ่งบุญนี้หมายถึง การเสียสละ ได้ช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน  ซึ่งการเสียสละแบบนี้ ก็มีในคำสอนของทุกๆ ศาสนากันอยู่แล้ว และนี่จึงถือว่าเป็นโอกาสในการทำบุญ การเสียสละของตนเอง ซึ่งทุกคนที่ได้รับ ก็จะสัมผัสถึงการได้รับความรัก ความเอ็นดู ความเอาใจใส่ และเมตตาซึ่งกันและกัน แม้จะเป็นสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ก็จะเป็นส่วนได้เสริมสร้างสังคมที่ดีขึ้น

แรงงานข้ามชาติ กลายเป็นชุมชนเกิดขึ้นใหม่ในเชียงราย

จากการสำรวจ พบว่า ลักษณะที่เป็นที่อยู่อาศัยของกลุ่มแรงงานข้ามชาติในจังหวัดเชียงรายในขณะนี้ จะมีอยู่ 3 แบบด้วยกัน คือ 1.อาศัยอยู่ตามหอพัก ห้องเช่า ในเขตตัวเมืองเชียงราย หรือตามย่านแหล่งธุรกิจสำคัญๆ กระจายกันไป ซึ่งในแต่หอพัก ก็จะทำงานในที่เดียวกัน บางส่วนก็ทำงานคนละแห่ง เช่น ชุมชนตลาดบ้านดู่ ฯลฯ 2.อาศัยอยู่ตามที่พักในแคมป์คนงานก่อสร้าง ส่วนใหญ่จะอาศัยอยู่ตามเขตชานเมือง เพราะว่างานก่อสร้างส่วนใหญ่จะอยู่นอกเมือง  3.อาศัยอยู่ตามพื้นที่สวนเกษตร ที่อยู่นอกเขตเมือง ตามชนบท

ปัจจุบัน จากการสำรวจกลุ่มแรงงาน ที่ได้ขึ้นทะเบียนเอาไว้ มีประมาณ 26,000 คน ซึ่งรวมไปถึงกลุ่มพี่น้องชาติพันธุ์ด้วย แต่ถ้าเฉพาะกลุ่มพี่น้องแรงงานข้ามชาติจริงๆ ที่มาจากเมียนมา ลาว กัมพูชา คาดว่าจะมีประมาณ 13,000 คนด้วยกัน ซึ่งแรงงานชาวเมียนมาจะมีจำนวนมากที่สุด  ซึ่งถ้าหากนับรวมแรงงานข้ามชาติที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียน ซึ่งเป็นสมาชิกของครอบครัว จะมีทั้งพ่อ แม่ ภรรยา เด็กๆ ที่ไม่ได้ทำงาน แต่อาศัยอยู่รวมกันเป็นครอบครัว คาดว่าน่าจะมีทั้งหมดประมาณ 30,000-40,000 คนเลยทีเดียว

ลักษณะการทำงาน จะอยู่ทั้งในภาคเกษตร ภาคการก่อสร้าง ภาคโรงงานอุตสาหกรรม และภาคบริการ ซึ่งรวมไปถึงโรงแรม รีสอร์ท ร้านอาหาร คนงานในบ้าน

สืบสกุล มองว่าแรงงานข้ามชาติ มีส่วนสร้างเศรษฐกิจให้กับเชียงรายอย่างมาก เพราะมองในแง่หนึ่ง ก็คือ พวกเขาเข้ามาเป็นแรงงาน เป็นคนทำงาน สร้างเศรษฐกิจให้มีเม็ดเงินหมุนเวียน ซึ่งมีความชัดเจนมากอยู่แล้ว  อีกด้านหนึ่ง ถือว่า แรงงานข้ามชาติกลุ่มนี้เป็นผู้บริโภคด้วย เพราะอาศัยอยู่ในพื้นที่ เป็นครอบครัว ไม่ได้ไปไหน ทำงานได้เงินมา ก็จับจ่ายซื้อของ ทำให้เศรษฐกิจหมุนเวียนอยู่ในเชียงราย ดูได้จาก พวกเขาเก็บเงินได้ ก็ไปซื้อมอเตอร์ไซค์ เสื้อผ้า อาหาร ตามร้าน ตามห้าง ซึ่งแน่นอนว่าพวกเขาก็ได้จ่ายภาษีให้อยู่แล้ว

ในส่วนการทำงานช่วยเหลือมาตรการโควิด-19 ในไทยของรัฐไทย  สืบสกุล ได้แลกเปลี่ยนมุมมองความเห็นเอาไว้อย่างน่าสนใจว่า รัฐบาลไทยคงต้องมีการปรับนโยบายในเรื่องสาธารณสุขกันใหม่ เวลาที่เกิดเหตุ

“เพราะที่ผ่านมา ตอนที่เกิดเรื่องโควิด ทางเจ้าหน้าที่สาธารณสุข หน่วยงานราชการ บอกกับเราว่าอยากเข้ามาช่วยเหลือ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องหน้ากากอนามัย หรือเจลล้างมือให้กับแรงงานข้ามชาติกลุ่มนี้ แต่ติดขัด มีข้อจำกัด ตรงระเบียบข้อกฎหมายที่ล็อคเอาไว้แจกให้เฉพาะผู้ที่เป็นคนไทยเท่านั้น  ไม่สามารถแจกให้กลุ่มแรงงานข้ามชาติได้  ซึ่งประเด็นนี้ ผมคิดว่าต้องมีการปรับเปลี่ยนนโยบายจากส่วนกลาง ระยะสั้น อาจให้มีการยกเว้น ระยะยาวก็คงมีการแก้ไขกฎหมาย ที่เกี่ยวกับส่งเสริมสุขภาพ ให้มันเอื้อต่อกลุ่มแรงงานข้ามชาติที่อยู่ในเมืองไทยนี้ด้วย เพราะเราไม่สามารถปฏิเสธสถานะของคนทำงาน แรงงานข้ามชาติกลุ่มนี้ได้เลย ทั้งที่ตอนนี้ สิทธิของแรงงานข้ามชาติกับคนไทยทุกวันนี้ถือว่าเกือบเท่ากันเลยนะ  ยกเว้นอย่างเดียว คือสิทธิในการเลือกตั้ง ที่คนแรงงานข้ามชาตินั้นไม่มี นอกนั้น ทุกคนมีสิทธิเหมือนๆ กันหมดเลย ไม่ว่าสิทธิเรื่องทำใบขับขี่ ซื้อรถมอเตอร์ไซค์ได้ ใช้สิทธิประกันสังคม สิทธิการเข้าถึงสุขภาพทั่วไป พอเกิดอุบัติเหตุ ก็ได้รับความคุ้มครองภายใต้กฎหมายจราจร จาก พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ แม้กระทั่งการส่งลูกเข้าเรียนในโรงเรียน ก็มีสิทธิเหมือนกับคนไทยทั่วๆ ไป”

ย้ำแรงงานข้ามชาติ คือพลเมืองทางวัฒนธรรม

สืบสกุล ยังย้ำอีกว่า ที่สำคัญ เจ้าหน้าที่รัฐและรัฐจะต้องปรับทัศนคติมุมมอง สถานะของแรงงานข้ามชาติกันใหม่หมด ตั้งแต่ตอนแรก ที่แรงงานกลุ่มนี้เข้ามา ก็มองพวกเขาว่า เป็นพลเมืองด้านเศรษฐกิจ มาถึงตอนนี้ เราต้องมองพวกเขาเป็นพลเมืองทางด้านวัฒนธรรมด้วย เพราะทุกวันนี้ แรงงานกลุ่มนี้ นอกจากมาใช้แรงงานแล้ว พวกเขายังเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมของคนไทย ในแง่ของการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับคนไทย เช่น ไปร่วมงานบุญ งานกฐิน เข้าพรรษา ออกพรรษา รวมไปถึงการไปจ่ายตลาด จับจ่ายเครื่องใช้ไม้สอย ส่งลูกไปโรงเรียน ซึ่งผมคิดว่ารัฐไทยต้องปรับมุมมองกันใหม่ว่า พวกเขาคือพลเมืองทางวัฒนธรรมที่อยู่ร่วมกับคนไทยกันมานานแล้ว

เช่นเดียวกับ พ่อวินัย บุญลือ ก็บอกเล่าให้ฟังอีกว่า ปัจจุบัน แรงงานข้ามชาติในเชียงราย จะมีทั้งชาวเมียนมา ลาว และกัมพูชา โดยชาวเมียนมา จะมีจำนวนมากที่สุด

“จะเห็นได้ว่า ชาวเมียนมา  เมื่อมาทำงานอาศัยอยู่ในเชียงราย ก็เริ่มมีการผสมผสานทางเชื้อชาติวัฒนธรรมกันมากขึ้น เช่น คนเมียนมาแต่งงานกับคนไทยใหญ่ สิ่งหนึ่งที่เราประทับใจก็คือ ปัจจุบัน แรงงานข้ามชาติกลุ่มนี้ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของเชียงราย เป็นคนดูแลเชียงรายจริงๆ ไม่ว่าการเข้าไปเป็นแรงงาน การเก็บขยะให้ตามตลาด ในเขตเทศบาล ก็ได้คนกลุ่มนี้ไปทำทั้งหมด ซึ่งอาชีพเหล่านี้ คนพื้นราบ คนไทยเราไม่ค่อยอยากจะทำกันแล้ว อีกอย่างหนึ่ง ที่เราสัมผัสเห็นได้ก็คือ นายจ้างซึ่งเป็นคนเชียงราย จะดูแลแรงงานข้ามชาติกลุ่มนี้ดีขึ้น ดูแลกันเหมือนพี่น้อง ช่วยเหลือกัน แต่ก็จะมีบ้างที่นายจ้างมาจากต่างถิ่น มารับเหมาก่อสร้างในพื้นที่เชียงรายชั่วคราวในระยะเวลาอันสั้น ก็อาจมีปัญหาเรื่องนายจ้างกับลูกจ้างกันบ้าง”

ที่มาภาพ: กลุ่มนายจ้างที่ใช้แรงงานต่างด้าว โครงการนายจ้างสีขาว

จนนำไปสู่ Social Justice เครือข่ายนายจ้างสีขาว ส่งเสริมความรู้ในด้านสิทธิแก่แรงงานข้ามชาติ

ซึ่งนอกจากจะเข้าไปช่วยเหลือในด้านสิ่งของอุปโภคบริโภคในเบื้องต้นแล้ว ทางศูนย์ประสานงานช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติ ก็ได้เข้าไปช่วยเหลือและส่งเสริมอบรมให้ความรู้ในด้านสิทธิ โดยมีทีมงานของ สืบสกุล กิจนุกร อาจารย์ประจำสำนักวิชานวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง และชาตรี รุ่งศรีสุขจิต ทนายความมูลนิธิชนเผ่าลุ่มน้ำโขง และกลุ่มอาสาสมัครชาวเมียนมาในเชียงราย ร่วมกันให้ความรู้แก่แรงงานข้ามชาติกลุ่มนี้

ชาตรี รุ่งศรีสุขจิต ทนายความมูลนิธิชนเผ่าลุ่มน้ำโขง บอกว่า ได้เข้ามารับผิดชอบในเรื่องของสิทธิผู้ใช้แรงงาน ตามกฎหมาย ให้ความช่วยเหลือในเรื่องของสิทธิทางกฎหมายของกลุ่มผู้ใช้แรงงานข้ามชาติ เช่น การเรียกร้องค่าจ้าง หรือไม่ได้รับค่าจ้างตามสัญญาของนายจ้าง ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นผู้รับเหมา 

“อีกส่วนหนึ่งก็คือ ประสานงานกับทางฝ่ายจัดหางานจังหวัด กรณีที่นายจ้างไม่คืนบัตร  เอกสารต่างๆ ของลูกจ้าง ที่นายจ้างได้เก็บไว้ หรือกรณีที่ลูกจ้างไม่ได้ทำงานให้กับนายจ้าง แต่นายจ้างไม่ได้แจ้งออก ซึ่งในทะเบียนจะยังคงระบุว่า ยังคงทำงานอยู่กับนายจ้างคนนี้อยู่ แม้ว่าลูกจ้างจะลาออกไปทำงานกับนายจ้างคนใหม่แล้วก็ตาม อีกกรณีหนึ่งที่เราได้เข้าไปช่วยเหลือ คือกรณีแรงงานข้ามชาติเกิดอุบัติเหตุซึ่งเกิดบ่อยมาก ในเรื่องการจราจร บางทีพี่น้องแรงงานก็ขับรถไปชน หรือไม่ก็ถูกชน ซึ่ง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ คุ้มครองเขาอยู่ ว่าหากเจออุบัติเหตุมีสิทธิที่จะเรียกร้องอย่างไรบ้าง”  

ชาตรี รุ่งศรีสุขจิต ทนายความมูลนิธิชนเผ่าลุ่มน้ำโขง

ทางด้าน สืบสกุล ก็บอกเล่าให้ฟังว่า จากประสบการณ์การทำงานของเรา พบว่า ในช่วงโควิด กรณีที่แรงงานมีประกันสังคม และมีการหยุดงาน แรงงานกลุ่มนี้สามารถมีสิทธิที่จะได้เงินคืนจากประกันสังคม 62 เปอร์เซ็นต์ของค่าจ้าง ซึ่งมันก็จะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนไปได้บ้าง

“แต่ที่เราเจอ คือ 1.กรณีนายจ้างส่วนหนึ่ง ที่ไม่เคยรู้มาก่อนว่ามีโครงการแบบนี้  คือไม่รู้มาก่อนเลย แต่พอรู้ก็เข้าไปช่วยเหลือลูกจ้างของตนเอง 2.กรณีนายจ้างรู้แต่ไม่เข้าใจ แต่พอเราเข้าไปอธิบายบอกว่าลูกจ้างมีสิทธิได้รับเงินจากประกันสังคม 62% โดยที่ลูกจ้างจะต้องกรอกแบบฟอร์ม นายจ้างก็ต้องเซ็นรับรอง และ 3.นายจ้าง รู้และเข้าใจ ว่าลูกจ้างมีสิทธิได้รับเงินประกันสังคม แต่ไม่สนใจ ไม่ได้เข้าไปช่วยเหลือลูกจ้างใดๆ เลย 4.นายจ้างที่รู้และเข้าใจ และเข้าไปช่วยเหลือลูกจ้างของตนอย่างจริงจัง จริงใจ พอรู้ว่ามีโครงการชดเชยแรงงานจากประกันสังคม ก็จะพาลูกจ้างไปขึ้นทะเบียน เซ็นรับรองให้ แถมยังพยายามช่วยเหลือคนงานของตนด้วย ยกตัวอย่าง ที่ร้านอาหารแห่งหนึ่ง นอกจากนายจ้างจะพาไปยื่นขึ้นทะเบียน และเซ็นรับรองแล้ว ในช่วงกลางวัน นายจ้างก็จะบอกให้คนงานของตน เข้าไปในครัว ทำกับข้าวทานกันเองได้เลย เพราะนายจ้างคนนี้ เขารู้และเข้าใจว่า คนงานกลุ่มนี้มีความสำคัญ ต่อกิจการของเขาเป็นอย่างมาก”

สันติวิธี เหมาะสมที่สุดในยุคสังคมที่มีความแปลกแยก

คุณพ่อวินัย คิดว่า สันติวิธีเป็นสิ่งที่เหมาะสม เพราะว่าสังคมปัจจุบัน  ตั้งแต่ผู้นำระดับโลกจนถึงผู้นำระดับท้องถิ่นนี้ เราจะพูดถึงความยุติธรรม ความเป็นธรรมกันเยอะมาก บางกลุ่มนั้นมักจะใช้วิธีตอบโต้ด้วยคำพูดรุนแรงมาก แบบไม่มีเมตตาต่อกัน ซึ่งในมุมมองของตน มองว่าความยุติธรรมมันต้องมีเมตตารวมอยู่ด้วย อโหสิกรรมซึ่งกันและกัน ซึ่งเราอาจเอาความยุติธรรมด้วยวิธีคิดแบบตะวันตกตรงๆ ก็คงไม่ได้

“ตนจะมองเห็นพี่น้องแรงงานกลุ่มนี้ด้วย ยกตัวอย่าง  ที่ร้านแห่งหนึ่ง มีลูกจ้างแรงงานข้ามชาติคนหนึ่งอยู่ที่ร้าน แล้วเจ้าของร้านอาหารคนนั้นบ่นให้เราฟังว่า ลูกน้องทำอะไรผิดสักอย่าง เนี่ย ไอ้ลูกน้องคนนี้  มันเป็นพม่ารามัญ ไม่สามารถไว้ใจได้ เพราะว่ามาทำลายกรุงศรีอยุธยา มาทำลายศาสนา ไอ้พวกนี้มันไม่มีความรับผิดชอบ แม้กระทั่งเก็บของในร้านไม่เป็น คือพยายามเหมารวม ไปถึงอดีตที่พวกเขาไม่รู้เลย พี่น้องแรงงานพม่ากลุ่มนี้เขาไม่ได้รู้เรื่องราวเหล่านี้เลย แต่มันฝังอยู่ในจิตใจของคนไทยไปแล้ว กลายเป็นความเป็นชาตินิยม เอามาอ้างกับแม่บ้าน ซึ่งทำให้เรางงมาก”

คุณพ่อวินัย บอกอีกว่า ที่จริงเราหลงลืมประวัติศาสตร์ไทย ประวัติศาสตร์ไทยที่ผ่านมา ความเป็นไทย มันไม่ใช่มีแค่คนกรุงเทพฯ แต่ความเป็นไทยนั้นมีอยู่ทั่วไป โดยเฉพาะประวัติศาสตร์ทางภาคเหนือของไทย เราจะเห็นว่ามีคนข้ามแดนอยู่ตลอดเวลา อย่างน้อยก็มีคนหลากหลายทางชาติพันธุ์ที่มาอาศัยอยู่ในประเทศไทย และการที่พวกเขาเข้ามาอยู่เมืองไทยเป็น 20-30 ปีแล้ว ในทางกฎหมาย เขาเกิดในเมืองไทยก็ย่อมมีสิทธิอะไรต่างๆ ด้วยแล้ว

“คนพื้นราบส่วนใหญ่ในหลายๆ พื้นที่ ยังมองคนพม่า คนไทยใหญ่ ด้วยมุมมองแบบเหยียดหยามกันอยู่ และดูเหมือนไม่ได้มองว่าแรงงานกลุ่มนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเขา แต่ที่เชียงรายนี้น่าสนใจมาก ก็คือ  คนเชียงรายเขาไม่ค่อยมีการดูถูกกลุ่มแรงงานข้ามชาติกันมาก  คนที่ไม่มีเอกสารสิทธิและมีเอกสารสิทธิก็สามารถใช้ชีวิตเป็นแรงงานในเขตเมืองได้ปกติ โดยใช้บัตรแรงงานต่างด้าว บัตรเลข 0 ก็สามารถอยู่ด้วยกันปกติ เพียงแต่จะออกต่างจังหวัดไม่ได้เท่านั้นเอง”

ปัจจุบัน คุณพ่อวินัย บุญลือ นอกจากยังคงพัฒนาพื้นที่ชุมชนการเรียนรู้เซเวียร์ (XLC) จังหวัดเชียงราย ให้เป็นสถาบันที่มีวิสัยทัศน์ที่เปิดต่อความหลากหลายด้านวัฒนธรรม เพื่อการพัฒนาและการส่งเสริมเยาวชน ชุมชนฯ แห่งนี้มีเป้าหมายที่จะมอบการศึกษาสำหรับเยาวชน โดยเฉพาะกลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่ทางตอนเหนือของประเทศไทย และประเทศเพื่อนบ้าน โดยมีรากฐานจากจิตตารมณ์ของคณะเยสุอิต นี่เป็นการมอบโอกาสในการพัฒนาความเชี่ยวชาญและทักษะชีวิต รวมถึงการเรียนรู้เพื่อการดำรงชีวิตอย่างดีในศตวรรษที่ 21 ชุมชนการเรียนรู้เซเวียร์ แห่งนี้มีความมุ่งมั่นที่จะอบรมและขัดเกลาเยาวชนชายหญิง เพื่อที่จะสามารถทำงานอย่างซื่อสัตย์เพื่อผู้อื่น และร่วมกับผู้อื่น จะได้สร้างโลกที่เปี่ยมไปด้วยความยุติธรรมและสันติ

ในขณะเดียวกัน ในฐานะที่เป็นผู้ร่วมก่อตั้ง ศูนย์ประสานงานช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติ ขึ้นมา ก็พยายามผลักดันให้จัดกิจกรรมให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น ซึ่งนอกจากมีโครงการอาสาสมัครช่วงโควิดแล้ว ก็พยายามจะยกระดับเป็นอาสาสมัครในเรื่องแรงงาน เรื่องสิทธิแรงงานมากขึ้น เช่น จัดอบรมเรื่องจัดหางาน เรื่องประกันสังคม เรื่องสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เรื่องสุขภาพ และเพิ่มเรื่องกฎหมายและวินัยการจราจร  รวมถึงปัญหาเรื่องภาษา การสื่อสาร เนื่องจากแรงงานพม่าส่วนใหญ่ไม่รู้ภาษาไทย  การเจรจา การคุยกับเจ้าหน้าที่จึงสำคัญ หลายคนไม่กล้าคุยกับเจ้าหน้าที่เพราะกลัว บางคนพูดได้แต่ไม่รู้จะคุยกับเขาอย่างไร ดังนั้น การจัดการอบรมหลักสูตรเรื่องการใช้ภาษาไทยเพื่อการสื่อสาร จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งในขณะนี้

ภาพกิจกรรม อบรมให้ความรู้ผู้นำแรงงาานข้ามชาติ เรื่องจัดหางาน เรื่องประกันสังคม

สอดคล้อง กับทาง สืบสกุล กิจนุกร ได้บอกว่า ในขณะนี้ ทางสำนักวิชานวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง กำลังทำโครงการนี้กันอยู่  โดยจะเริ่มเปิดคอร์สสอนภาษาไทยให้กับแรงงานข้ามชาติ ตั้งแต่อายุ 18 ปีขึ้นไป

“โดยคอร์สแรก ที่เราจะทำก็คือ การใช้ภาษาไทยในชีวิตประจำวัน  สำหรับแรงงานข้ามชาติ สำหรับคนที่แทบจะพูดภาษาไทยอะไรไม่ได้เลย ระยะเวลา 45 ชั่วโมง ให้ผู้เรียนสามารถพูดสื่อสารภาษาไทยในชีวิตประจำวันกันได้ ซึ่งมันจะดีตรงที่ว่า เวลาทำงานกับนายจ้างก็จะสามารถสื่อสารได้ ไปติดต่อโรงพยาบาล ไปติดต่อประกันสังคม สำนักงานสวัสดิการสังคม เสาะหางาน หรือเวลาไปซื้อของตามตลาด อ่านป้ายจราจร ก็จะสามารถสื่อสารกันได้ง่ายขึ้น ถูกต้องและมีความเข้าใจมากขึ้น  โดยตั้งใจไว้ว่า จะเปิดสอนหลักสูตรนี้ ในมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง จุดหนึ่ง และในพื้นที่ตัวเมืองเชียงรายอีกจุดหนึ่ง”

อีกประเด็นหนึ่ง ที่ถือว่าเป็นอุปสรรคปัญหาและอยากเสนอทางออกให้รัฐบาลไทย นั่นก็คือระเบียบของราชการไทย ไม่ได้เปิดกว้าง ให้ความช่วยเหลือพี่น้องกลุ่มแรงงานข้ามชาติได้ ยกตัวอย่างกรณีสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งทำให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุข โรงพยาบาล เทศบาล อบต.ไม่สามารถเข้าไปช่วยเหลือแจกสิ่งของเหล่านี้ให้กับกลุ่มแรงงานข้ามชาติได้  แต่ถ้ามีการปลดล็อค เรื่องข้อระเบียบการใช้งบประมาณนี้ได้ ก็จะช่วยเหลือได้อย่างเต็มที่  เพราะบางหน่วยงานที่เราเข้าไปติดต่อขอรับการช่วยเหลือ เขาก็จะบอกว่า อยากช่วยเหลือแต่มันติดที่ระเบียบ เลยช่วยเหลือได้ไม่เต็มที่  ทั้งที่แรงงานข้ามชาติกลุ่มนี้เขาก็เข้ามาทำงาน พัฒนาบ้านเมืองของเรา และจับจ่ายซื้อของ ก็เสียภาษีกันอยู่แล้ว มีส่วนทำให้เศรษฐกิจบ้านเราหมุนเวียนไปมาอยู่แล้ว

อีกปัญหาหนึ่งก็คือ เรื่องภาษา เวลาไปติดต่อสถานที่ราชการ  หน่วยงานของรัฐ ที่มีส่วนในการให้บริการแก่แรงงานข้ามชาติ เช่น สำนักงานประกันสังคม สำนักงานจัดหางาน  สวัสดิการคุ้มครองแรงงาน หรือ โรงพยาบาล ส่วนใหญ่จะใช้ภาษาไทยเป็นหลัก เวลาที่แรงงานเขาไปใช้บริการ ก็ทำให้การใช้ภาษาไทยในการสื่อสารเป็นไปไม่มีประสิทธิภาพ ดังนั้น  คิดว่าควรจะมีล่ามประจำหน่วยงานของรัฐ เพื่อให้การบริการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและมีความคล่องตัวมากยิ่งขึ้น ซึ่งปัจจุบัน มีสำนักงานสวัสดิการคุ้มครองแรงงาน ที่มีล่ามประจำ แต่หลายหน่วยงานยังไม่มี ซึ่งผมคิดว่ามันจำเป็นต้องมีทุกหน่วยงาน 

อีกทั้ง จำเป็นต้องมีสื่อ หรือแอพพลิเคชันอย่างเช่น ประกันสังคม น่าจะมีแอพพลิเคชันภาษาเมียนมาเพราะมันสามารถเข้าถึงพี่น้องแรงงานข้ามชาติได้โดยตรง สามารถเช็คดูเงินที่หักเข้าไป หรือติดตามข้อมูลความเคลื่อนไหวของสำนักงานประกันสังคมได้ ซึ่งจะแก้ปัญหากรณี คนงานให้นายจ้างหักเงินเข้าบัญชีประกันสังคม แต่นายจ้างไม่ได้นำเงินไปเข้า ทำให้คนงานไม่สามารถตรวจเช็คความเคลื่อนไหวนี้ได้เลย ทำให้เกิดปัญหาต้องไปร้องเรียน และเกิดปัญหาสังคมตามมาอีกด้วย

และทั้งหมดนี้คือแนวทางการขับเคลื่อนเรื่องสิทธิมนุษยชนแนวสันติวิธี หรือสันติเชิงบวก ของศูนย์ประสานงานช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติในสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งล้วนแต่เป็นประเด็นท้าทายให้ผลักดันและขับเคลื่อนกันต่อไปข้างหน้า และหลายคนเชื่อกันว่าสถานการณ์โควิด-19 จะยังคงอยู่กับเราไปอีกยาวนาน.

 

ที่มาและข้อมูล
1.สัมภาษณ์ สืบสกุล กิจนุกร,อาจารย์ประจำสำนักวิชานวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง
2.สัมภาษณ์ คุณพ่อวินัย บุญลือ, คณะเยสุอิตในไทย, ผู้ดูแลชุมชนการเรียนรู้เซเวียร์ เชียงราย 
3.สัมภาษณ์ ชาตรี รุ่งศรีสุขจิต,ทนายความมูลนิธิชนเผ่าลุ่มน้ำโขง จ.เชียงราย
4.สัมภาษณ์ กลุ่มแรงงานข้ามชาติในจังหวัดเชียงราย
5.องอาจ เดชา, การขับเคลื่อนเรื่องสิทธิมนุษยชนแนวสันติวิธีหรือสันติเชิงบวก ของคณะเยสุอิต กรณีช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติในจังหวัดเชียงรายที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19, วารสารผู้ไถ่ ฉบับที่ 114 กันยายน-ธันวาคม 2563

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net