Skip to main content
sharethis

รายงานสัมภาษณ์ ‘นิธิวัต วรรณศิริ’ หรือ ‘จอม ไฟเย็น’ นักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยและผู้ลี้ภัยไทยในฝรั่งเศส ถึงกรณีที่เขาและ ‘อั้ม เนโกะ’ ถูกทำร้ายร่างกายกลางกรุงปารีสเมื่อ 2 ปีก่อน ตั้งแต่วันเกิดเหตุไปจนถึงกระบวนการยุติธรรมของฝรั่งเศสที่ตามล่าหาตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษข้ามประเทศได้ พร้อมเผยว่าการทำร้ายผู้ลี้ภัยเหมือนการส่งสัญญาณเตือนจากผู้มีอำนาจว่าต้องการกวาดล้าง ‘ทุกการเปลี่ยนแปลง’   

“เขาต้องการกวาดล้างฝ่ายที่เคลื่อนไหวเพื่อการ ‘เปลี่ยนระบอบ’ ทั้งหมดเพื่อกำราบคนข้างในที่กำลังคิดจะเปลี่ยนระบอบและน่าเศร้าที่เขาทำสำเร็จ”

นิธิวัต วรรณศิริ หรือที่รู้จักกันในชื่อ ‘จอม ไฟเย็น’ นักร้องนำประจำวงดนตรีที่ต่อสู้และขับขานบทเพลงเพื่อประชาธิปไตยกล่าวขณะให้สัมภาษณ์กับประชาไทในประเด็นการเคลื่อนไหวทางการเมืองในไทย รวมถึงกรณีการทำร้ายร่างกายผู้ลี้ภัยในฝรั่งเศสเมื่อ 2 ปีก่อน ซึ่งคดีเพิ่งยุติในชั้นศาลเมื่อช่วงปลายปีที่แล้ว

ขณะนี้ นิธิวัตพำนักอยู่ในประเทศฝรั่งเศส ซึ่งเวลาเดินช้ากว่าประเทศไทย 6 ชั่วโมง นิธิวัตเป็นหนึ่งในบุคคลที่ได้รับหมายเรียกในข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และตัดสินใจลี้ภัยออกจากไทยไปยังฝรั่งเศสในช่วงหลังรัฐประหารปี 2557 เขาอยู่ที่นั่นในสถานะ ‘ผู้ลี้ภัย’ และได้รับความคุ้มครองจากรัฐบาลฝรั่งเศสตามสนธิสัญญาเจนีวา ค.ศ.1951

แม้จะได้รับสถานะเป็นผู้ลี้ภัยและอยู่อาศัยในประเทศที่ได้ชื่อว่ามีประชาธิปไตยเข้มแข็งอันดับต้นๆ ของโลก แต่ชีวิตของนิธิวัตก็ไม่ได้ราบรื่น เช่นเดียวกับผู้ลี้ภัยคนอื่นๆ ที่ยังคงรู้สึกหวาดระแวงว่าจะถูกคุกคามจากอำนาจบางอย่างที่มองไม่เห็นอยู่เสมอ

ย้อนกลับไปเมื่อ พ.ศ.2562 มีข่าวว่านิธิวัตและ ‘อั้ม เนโกะ’ นักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยชาวไทยและผู้ต้องหาคดี ม.112 ตามหมายจับ คสช. ที่ลี้ภัยไปอยู่ฝรั่งเศสช่วงหลังรัฐประหาร 2557 ถูกทำร้ายร่างกายกลางกรุงปารีส เมืองหลวงของฝรั่งเศส โดยผู้ก่อเหตุเป็นชายชาวยุโรป ซึ่งทราบในภายหลังว่าชายเหล่านั้นมีอาชีพเป็นนักมวยมาจากประเทศสาธารณรัฐเช็ก

ไทม์ไลน์เหตุการณ์ทำร้ายร่างกายกลางกรุงปารีส

นิธิวัตเล่าเหตุการณ์ในวันเกิดเหตุให้ผู้สื่อข่าวประชาไทฟังว่าวันนั้นคือวันที่ 17 พ.ย. 2562 ในช่วงกลางวัน ตนพาศิลป์ชัย เชาว์เจริญรัตน์ นักศาสนวิทยาและเจ้าของเพจเฟซบุ๊ก ‘ศาสนวิทยา dr.Sinchai Chaojaroenrat’ ไปเที่ยวชมกรุงปารีส หลังจากเดินทางมาถึงฝรั่งเศสเมื่อวันก่อน ศิลป์ชัยบอกกับตนว่าต้องการพบปะกับผู้ลี้ภัยคนอื่นๆ เพื่อพูดคุยและสอบถามเรื่องการยื่นเรื่องขอลี้ภัย ซึ่งตนเป็นธุระนัดหมายให้ผู้ลี้ภัยคนอื่นๆ ได้มาพบปะกันในช่วงเย็นของวันดังกล่าว โดยช่วงบ่ายวันเดียวกัน ตนได้พาศิลป์ชัยไปพบกับ ผศ.จรัล ดิษฐาอภิชัย ประธานสมาคมนักประชาธิปไตยชาวไทยไร้พรมแดน และผู้ลี้ภัยไทยในฝรั่งเศส

“ช่วงเย็นๆ เราพาแก (ศิลป์ชัย) ไปเดินเลาะทางเดินริมแม่น้ำแซง ไปกินเครปและพาดูช่วงเปิดไฟของหอไอเฟลเพื่อรอเพื่อนคนอื่นๆ เสร็จธุระมาพบปะกัน” นิธิวัตกล่าว พร้อมเล่าว่าตนและผู้ลี้ภัยคนอื่นๆ ได้นัดหมายเจอกันที่ร้านอาหารแห่งหนึ่งในกรุงปารีส จากนั้นได้ไปดื่มกินต่อที่ร้าน Le Zinc โดยมีทั้งหมด 7 คน ได้แก่ ตน, ศิลป์ชัย, อั้ม เนโกะ, แยม ไฟเย็น, ภรณ์ทิพย์ มั่นคง (กอล์ฟ) รวมถึงฮุสเซน เพื่อนนักเขียนชาวอิหร่าน และเดเมียน อดีตแฟนของอั้ม

“ประมาณ 23:15 น. ก็ถ่ายรูปรวมตัวกัน โดย ดร.ศิลป์ชัยขอเป็นตากล้อง เราโพสต์รูปดังกล่าวลงในเฟซบุ๊ก” นิธิวัตเล่า

ภาพถ่ายเมื่อวันที่ 17 พ.ย. 2562 ที่ร้าน Le Zinc ซึ่งกลุ่มผู้ลี้ภัยไทยในฝรั่งเศสและเพื่อน พร้อมด้วยศิลป์ชัย เชาว์เจริญรัตน์ นัดพบปะพูดคุย ภาพดังกล่าวถูกถ่ายก่อนเกิดเหตุ โดยศิลป์ชัย ตามคำบอกเล่าของนิธิวัต
 

ต่อมาเวลาประมาณเที่ยงคืนครึ่ง ซึ่งเข้าสู่วันที่ 18 พ.ย. 2562 แล้ว พวกตนได้ชำระค่าอาหารและเครื่องดื่ม เตรียมตัวแยกย้ายกลับที่พัก โดยอั้มและแยมเดินออกไปรอที่นอกร้านก่อน ตนเดินตามออกมา ส่วนคนอื่นๆ ไปเข้าห้องน้ำ และทยอยเดินตามมาภายหลัง และระหว่างนั้นก็เกิดเหตุขึ้น โดยคนร้ายเป็นชาย 2 คนเดินมาทางหน้าร้านและเจาะจงพุ่งเข้ามาทำร้ายร่างกายอั้ม ซึ่งตนเห็นเหตุการณ์และเข้าไปช่วยเหลืออั้ม จนโดนทำร้ายร่างกายด้วยเช่นเดียวกัน

“เราเดินตามออกมาจากร้านได้สักแป๊บหนึ่งก็เห็นชายร่างใหญ่ 2 คนนั้นพุ่งเข้าไปรุมจ้วงหมัดใส่อั้ม จน[อั้ม]ล้มลงไปกองที่พื้นก็ยังไม่หยุดทำ ทีแรกเราคิดว่าโจรเข้ามาปล้นมือถืออั้ม เราก็โดดเข้าไปกระชากคนที่กำลังต่อยซึ่งอยู่ใกล้เราที่สุด แต่ก็ถูกชายอีกคนหนึ่งชกสวนเข้ามาที่ขมับซ้ายอย่างแรง 1 ครั้ง เราวูบไปแวบหนึ่ง หงายหลังจะล้มแต่ไม่ลงพื้น เพราะมีกระเป๋ากีต้าร์สะพายหลังค้ำอยู่ ส่วนชาย 2 คนนั้นกำลังผละออกจากอั้มเพื่อจะหนี” นิธิวัตเล่าเหตุกาณ์

“เรา พอยืนกลับขึ้นได้ก็พุ่งตัววิ่งตามไป ชาย 1 ใน 2 คนนั้นหยุดแล้วสวนหมัดเข้ามาที่ปากทางขวา เราปากแตกล้มหงายตึงลงไป แต่ก็ตั้งสติ สักพักลุกมาวิ่งตามต่อ วิ่งไปได้ 300-400 เมตรก่อนจะหมดแรง เดินกลับร้าน ส่วนอั้มสามารถวิ่งกลับเข้าไปหลบคนร้าย 2 คนนั้นในร้านตั้งแต่ตอนที่ 2 คนนั้นชุลมุนอยู่กับเรา” นิธิวัตเล่า

นิธิวัตบอกว่าเดเมียนและฮุสเซนวิ่งตามคนร้าย 2 คนนั้นไปไกลกว่า 1.5 กม. โดยเว้นระยะห่าง แต่เดเมียนโทรแจ้งตำรวจไว้ล่วงหน้า ส่วนฮุสเซนได้อัดคลิประหว่างเดินตามคนร้าย 2 คนที่กำลังหลบหนีไว้ เพื่อใช้เป็นหลักฐานอีกชิ้นให้แก่ตำรวจ

“โชคดีอย่างมากที่มีตำรวจสายตรวจของกรุงปารีสขับรถผ่านมาพอดี เดเมียนจึงขอความช่วยเหลือให้เข้าตรวจค้นและจับกุมคนร้าย 2 คนนั้นเอาไว้ได้” นิธิวัตเล่าต่อ พร้อมบอกว่าแยม ซึ่งเป็นหนึ่งในพยานผู้เห็นเหตุการณ์ที่หน้าร้าน Le Zinc ให้ปากคำกับตำรวจว่าเธอเห็นผู้ชาย 2 คนใส่เสื้อมีฮู้ดปกปิดใบหน้า ยืนสูบบุหรี่อยู่ด้านนอกของร้าน ตั้งแต่ที่เธอและอั้มเดินออกมาแล้ว

“เราเดินกลับเข้าไปที่ร้าน พนักงานกำลังช่วยกันปฐมพยาบาลเบื้องต้นให้อั้มและเอาน้ำเปล่ามาให้เราดื่ม ก่อนที่รถกู้ภัยฉุกเฉินจะมาถึงในเวลาไม่นาน และพาอั้มกับเราส่งโรงพยาบาลจอร์จปงปิดู เพื่อตรวจสภาพร่างกายและรักษาอาการบาดเจ็บ” นิธิวัตเล่า พร้อมบอกว่าหลังตรวจร่างกายเสร็จ แพทย์ระบุในใบรับรองแพทย์ว่าตนสามารถลาพักงานได้ 3 วัน ส่วนอั้มลาพักงานได้ 1 เดือนจากการบาดเจ็บ โดยจำนวนวันพักฟื้นจะนำไปใช้คำนวณเพื่อเรียกร้องค่าเสียหายทางแพ่งในศาลได้

นิธิวัตเขียนเล่าลำดับเหตุการณ์การทำร้ายร่างกายและกระบวนการไต่สวนของศาล
พร้อมโพสต์ภาพบาดแผลในวันเกิดเหตุลงในเฟซบุ๊กส่วนตัว
 

นิธิวัติบอกว่าตำรวจจับตัวคนร้ายทั้ง 2 คนได้และตรวจพบว่ามีแอลกอฮอล์ในกระแสเลือด รวมถึงได้ยึดโทรศัพท์มือถือของคนร้ายไว้เป็นของกลางเพื่อใช้เป็นพยานหลักฐาน ต่อมา ทราบว่าคนร้ายทั้ง 2 คน ชื่อดาเนียล โวคัล (Daniel Vokál) และยาคุบ โฮเช็ค (Jakub Hošek) ทั้งคู่เป็นนักมวย MMA สัญชาติสาธารณรัฐเช็ก เดินทางเข้าฝรั่งเศสเมื่อวันที่ 13 พ.ย. 2562 ด้วยวีซ่าท่องเที่ยว โดยตำรวจฝรั่งเศสทำเรื่องฝากขังคนร้ายทั้ง 2 คน พร้อมยื่นเรื่องคัดค้านประกันตัว

นิธิวัตเล่าว่าตำรวจฝ่ายสืบสวนตรวจสอบหลักฐานแวดล้อมอย่างละเอียดในภายหลัง และพบว่าในโทรศัพท์มือถือของคนร้ายมีการติดตั้งแอปพลิเคชันเฉพาะเพื่อใช้ติดต่อสื่อสารกับ “บุคคลปริศนา” อีกทั้งในโทรศัพท์มือถือของคนร้ายยังมีรูปที่ตนถ่ายคู่กับจรัลขณะไปร่วมชุมนุม แต่เป้าทำร้ายหลักในคืนนั้นกลายเป็นอั้ม ไม่ใช่ตน ซึ่งนิธิวัตก็ไม่ทราบเหตุผลในเรื่องนี้ที่แน่ชัด นอกจากนี้ ตำรวจยังพบว่าคนร้ายส่งต่อรูปดังกล่าวผ่านแอปพลิเคชัน โดยใช้ข้อความคล้ายโค้ดคำสั่งเฉพาะ ถอดความได้ว่า “Action Paris” ตำรวจจึงมั่นใจว่ากรณีลอบทำร้ายนี้มีการตระเตรียมการก่อการ ซึ่งอัตราโทษจะหนักกว่าคดีเมาแล้วทำร้ายร่างกาย

นิธิวัตบอกว่าจากการสืบสวนสอบสวนอย่างละเอียดของตำรวจปารีส พบว่ากล้องวงจรปิดของร้านอาหารฝั่งตรงข้ามที่ชื่อ Le Primrose สามารถจับภาพคนร้ายคนที่ 3 ซึ่งเป็นผู้เลี้ยงเครื่องดื่มแก่คนร้าย 2 คนแรก จำนวน 2 รอบ ก่อนที่ทั้ง 2 คนจะมาก่อเหตุ นอกจากนี้ กล้องวงจรปิดขณะเกิดเหตุได้บันทึกภาพที่แสดงให้เห็นว่าคนร้ายคนที่ 3 กำลังบันทึกวิดีโอเหตุการณ์ลอบทำร้ายตนและอั้ม จากหน้าร้าน Le Primerose ซึ่งอยู่ฝั่งตรงข้าม ก่อนจะหลบหนีไป

ตำรวจสืบสวนปารีสได้ตรวจสอบข้อมูลและรูปพรรณสัณฐานของคนร้ายคนที่ 3 จากกล้องวงจรปิดและโรงแรมที่พักอย่างละเอียด จึงได้พบว่าคนร้ายคนที่ 3 คือ เพตร์ โดนาเทค (Petr Donatek) ถือสัญชาติสาธารณรัฐเช็กและพักที่โรงแรมเดียวกันกับคนร้าย 2 คนแรกอีกด้วย แต่โดนาเทคไหวตัวทันและหนีออกนอกประเทศฝรั่งเศสไปได้

นิธิวัตบอกว่าจากการสืบสวนของตำรวจโดนาเทค ซึ่งเป็นคนร้ายคนที่ 3 เป็นคนใกล้ชิดกับโทมิโอะ โอคามูระ หัวหน้าพรรคการเมืองฝ่ายขวาจัดของสาธารณรัฐเช็กซึ่งเป็นลูกครึ่งญี่ปุ่น ตนจึงคาดว่าคดีการทำร้ายร่างกายของตนและอั้มอาจมีความเชื่อมโยงบางอย่างกับคดีการทำร้ายร่างกายของปวิน ชัชวาลย์พงศ์พันธ์ ผู้ลี้ภัยไทยในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเกิดขึ้นช่วง 3-4 เดือนก่อนหน้านี้ นอกจากนี้ โดนาเทคยังเป็นครูสอนศิลปะการต่อสู้แบบญี่ปุ่นโบราณ เช่น ฝึกสอนดาบคาตานะ และมีธุรกิจเกี่ยวกับโรงยิมฝึกมวย MMA ในกรุงปราก เมืองหลวงของสาธารณรัฐเช็ก รวมถึงทำบริษัทด้านรักษาความปลอดภัยให้บุคคล VVIP อีกด้วย

ส่วนคนร้าย 2 คนแรก คือโฮเช็ค และโวคัล เป็นนักมวย MMA ในโรงยิมเครือข่ายของโดนาเทค ซึ่งหนึ่งใน 2 คนนี้เคยเป็นนักกีฬามวยสากลโอลิมปิก

เมื่อสืบสวนสอบสวนเสร็จสิ้น อัยการและตำรวจปารีสได้ออกหมายจับตำรวจสากล (INTERPOL) ส่งไปที่สาธารณรัฐเช็กเพื่อดำเนินคดีกับคนร้ายคนที่ 3 หลังจากนั้น ตำรวจของสาธารณรัฐเช็กได้ควบคุมตัวไว้ตามหมายจับ แต่โดนาเทคยังไม่เคยมีประวัติอาชญากรรม และมีที่อยู่รวมถึงหน้าที่การงานที่เป็นหลักแหล่ง จึงสามารถยื่นประกันตัวออกไปได้ ภายใต้เงื่อนไขการรายงานต่อศาลตามนัด ส่วนคนร้าย 2 คนแรกถูกฝากขัง และตำรวจคัดค้านประกันตัวที่เรือนจำในฝรั่งเศส

การสู้คดีในศาลฝรั่งเศสตลอด 2 ปี

นิธิวัตเล่าเหตุการณ์การไต่สวนคดีทำร้ายร่างกายของตนและอั้มในชั้นศาลที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส โดยระบุว่าจำเลยที่ 1 และ 2 ให้การสารภาพว่ามีผู้ซื้อตั๋วเครื่องบินและทำวีซ่าให้ และเดินทางเข้าฝรั่งเศสเมื่อวันที่ 13 พ.ย. 2562 ด้วยวีซ่าท่องเที่ยว และมีภารกิจที่ต้องทำ ซึ่งจำเลยทั้ง 2 คนบอกว่ายังไม่ทราบรายละเอียดในขณะนั้น ทราบเพียงว่าหลังจบงานพวกเขาจะได้รับค่าตอบแทนเป็นเงินประมาณคนละ 2,000 ยูโร และต้องโหลดแอปพลิเคชันเทเลแกรมไว้ติดต่อสื่อสาร นอกจากนี้ จำเลยทั้งสองระบุว่าพวกเขารู้สึกกังวลและหวั่นวิตกว่าอาจถูกลอบทำร้ายหรือฆ่าปิดปากระหว่างถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ

ตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ก็มีการเรียกรถพยาบาลพาไปส่งตรวจร่างกาย ทุกอย่างฟรีทั้งหมด และกระบวนการแจ้งความ ตำรวจจ้างล่ามคนลาวให้ฟรีในการแปลกรณีผม

ส่วนโดนาเทค ซึ่งเป็นจำเลยที่ 3 นั้น ตำรวจปารีสได้ตรวจสอบข้อมูลเที่ยวบินและที่พัก ทำให้ทราบว่าเขาเดินทางเข้าฝรั่งเศสมาพร้อมกับจำเลยที่ 1 และ2 รวมถึงเปิดห้องพักในโรงแรมเดียวกัน แต่จำเลยที่ 3 หลบหนีออกจากฝรั่งเศสไปทันทีหลังเกิดเหตุการณ์ทำร้ายร่างกายเมื่อคืนวันที่ 18 พ.ย. 2562

ฝ่ายโจทก์ (นิธิวัตและอั้ม) ให้การในชั้นศาลโดยระบุว่าพวกเขาเชื่อว่ากลุ่มจำเลยเป็นแก๊งมาเฟียที่มีผู้มอบงานมาให้กระทำอีกทอดหนึ่ง เพราะพวกเขาไม่เคยมีประเด็นขัดแย้งหรือกรณีใดๆ กับคนจากสาธารณรัฐเช็กมาก่อน นอกจากนี้ นิธิวัตในฐานะโจทก์ที่ 2 เพิ่งลี้ภัยมาจากสถานการณ์การไล่ล่าสังหารได้เพียง 3 เดือนกว่าเท่านั้น และไม่เคยมีกรณีพิพาทกับบุคคลใดในฝรั่งเศสและสาธารณรัฐเช็ก จึงเชื่อว่าอาจมีบุคคลที่อยู่เบื้องหลังจำเลยทั้ง 3 คนนี้อีกทอดหนึ่ง

นิธิวัตเล่าต่อไปว่าหลังเกิดเหตุมาเกือบครบ 2 ปี ในเดือน ก.ย. 2564 ศาลฝรั่งเศสได้นัดวันฟังคำพิพากษาครั้งแรก โดยจำเลยที่1 และ 2 ซึ่งถูกฝากขังในฝรั่งเศสมาเกือบ 2 ปี มาขึ้นศาลตามนัด แต่จำเลยที่ 3 ซึ่งได้รับการประกันตัวในสาธารณรัฐเช็กกลับไม่มาฟังคำพิพากษาตามนัด โดยอ้างว่าติดโควิด-19 และมอบหมายให้ทนายความส่งใบรับรองแพทย์แสดงผลติดเชื้อโควิด-19 มายืนยัน ศาลจึงเลื่อนการฟังคำพิพากษาออกไปประมาณเดือนเศษ และไต่สวนจำเลยที่ 1 และ 2 เพิ่มเติมเพื่อพิจารณาคดีต่อ

นิธิวัตบอกว่าจำเลยทั้ง 2 คนรับสารภาพว่าลงมือกระทำจริง แต่ให้การปฏิเสธและกลับคำให้การกรณีมีผู้ตระเตรียมจ้างวาน โดยระบุว่าพวกตนกระทำไปเพราะฤทธิ์ยาบำบัดอาการทางจิตชนิดหนึ่ง ซึ่งพวกตนได้กินร่วมกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จึงเกิดอาการสร้างความรุนแรง ไม่ได้เตรียมการล่วงหน้า และแสดงความเสียใจต่อฝ่ายโจทก์ทั้ง 2 คนต่อหน้าศาล

หลังจากนั้น ศาลได้อ่านประวัติอาชญากรรมของจำเลยทั้ง 2 คนที่เคยก่อขึ้นในสาธารณรัฐเช็ก โดยมีคดีติดตัวคนละ 2 คดี คนหนึ่งมีคดีทะเลาะวิวาทและทำร้ายร่างกาย ส่วนอีกคนหนึ่งมีคดีเมาแล้วขับและสร้างความรบกวนต่อสาธารณะ แต่ศาลเช็กพิพากษารอลงอาญา 1 เดือนและห้ามขับรถ นอกจากนี้ ศาลยังได้อ่านผลการทดสอบทางจิตวิทยาจากนักสังคมสงเคราะห์ ซึ่งฝ่ายจำเลยนำมาใช้มาประกอบเป็นหลักฐานว่ามีอาการทางจิต และศาลยังให้จำเลยทั้ง 2 คนเล่าความรู้สึกช่วงถูกฝากขังมากว่า 2 ปี โดยจำเลยอธิบายถึงความเครียดและความกดดันในเรือนจำฝรั่งเศส พร้อมขอโอกาสประกันตัวอีกครั้ง แต่สุดท้าย ศาลมีคำสั่งฝากขังต่อ และเลื่อนฟังคำพิพากษาเป็นวันที่ 23 พ.ย.2564

วันพิพากษา

นิธิวัตเล่าว่าในวันที่ 23 พ.ย.2564 ซึ่งเป็นวันพิพากษาคดีทำร้ายร่างกายตนและอั้ม ศาลฝรั่งเศสขึ้นนั่งบัลลังก์ตั้งแต่เวลาประมาณบ่ายโมง และมีคำสั่งเบิกตัวจำเลยทั้ง 3 คนแต่ทนายของจำเลยที่ 3 แจ้งว่าจำเลยที่ 3 ไม่สามารถเดินทางจากสาธารณรัฐเช็กมาศาลได้เนื่องจากติดโควิด-19 พร้อมแนบใบรับรองแพทย์เป็นหลักฐานยืนยัน อัยการกับศาลจึงปรึกษากันว่าจำเลยที่ 3 ไม่มาฟังคำพิพากษา 2 ครั้งแล้ว จะดำเนินกระบวนการต่อหรือไม่ ซึ่งทนายของจำเลยที่ 1, 2 และ 3 ขอให้ศาลดำเนินการต่อ เพราะจำเลย 2 คนแรกถูกฝากขังมา 2 ปีแล้ว ซึ่งเป็นระยะเวลาการฝากขังที่นานเกินไป

หลังจากนั้น ศาลได้ขอพักประชุม แล้วกลับมาแจ้งว่าจะดำเนินการต่อ พร้อมเชิญทนายของจำเลยที่ 3 ออกจากที่นั่งทนาย และให้ไปนั่งในโซนผู้สังเกตการณ์แทน มิให้มีสิทธิแก้ต่างแทนจำเลยที่ 3 ซึ่งไม่มาฟังคำพิพากษาทั้ง 2 ครั้ง อย่างก็ตาม ทนายของจำเลยที่ 3 เปิดข้อกฎหมายมาตราที่ระบุว่าตนมีสิทธิ์อยู่แก้ต่างให้จำเลยที่ 3 แต่ศาลไม่รับฟัง ทนายความของจำเลยที่ 3 จึงเดินออกจากห้องพิจารณาคดีไป

ผลทางศาลยังไม่เป็นที่น่าพอใจนักสำหรับฝ่ายเรา เพราะไม่สามารถเอาตัวผู้จ้างวานมาให้การในศาลได้เนื่องจากหลบหนีกลับประเทศตนไปและอ้างต่อศาลว่าติดโควิดถึง 2 ครั้งในรอบ 2 เดือน แต่อย่างน้อยก็ยังดีที่ศาลเชื่อในน้ำหนักของคดีว่ามีกระบวนการตระเตรียมการจริง

ก่อนศาลจะอ่านคำตัดสิน จำเลยที่ 1 และ 2 ยังคงยืนยันคำสารภาพที่ว่ากระทำไปด้วยความมึนเมาฤทธิ์ยาและแอลกอฮอล์ พร้อมแสดงความเสียใจต่อเหยื่อ แต่ให้การปฏิเสธว่าไม่ได้มีการตระเตรียมการล่วงหน้า อย่างไรก็ตาม ศาลชี้มูลให้เห้นถึงประเด็นความเชื่อมโยงระหว่างจำเลยที่ 1, 2 และ 3 ตามหลักฐานเชิงประจักษ์ จำเลยที่ 1 และ 2 จึงยอมรับในความสัมพันธ์ แต่ปฏิเสธเรื่องการจ้างวานและบอกว่ายังไม่เคยได้รับค่าจ้าง ศาลถามต่อไปว่าจำเลยทั้ง 2 คนรู้สึกเหมือนเป็นเหยื่อที่ถูกหลอกมาให้กระทำการหรือไม่ แต่จำเลยทั้งสองไม่ตอบคำถามและระบุว่าไม่ขอพาดพิงถึงจำเลยที่ 3 ในทางใดๆ

หลังจากนั้น ทนายฝ่ายโจทก์ได้ยื่นคำร้องขอชดเชยเงินทางแพ่งให้แก่โจทก์ที่ 1 และ 2 ตามอาการบาดเจ็บในใบรับรองแพทย์ ขณะที่ฝ่ายอัยการเสนอบทลงโทษจำคุกจำเลยทั้ง 3 คน คนละ 5 ปีในข้อหาตั้งเป็นแก๊งร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้อื่นโดยเตรียมการไว้ก่อน และไม่อนุญาตให้เข้าประเทศฝรั่งเศสเป็นเวลา 10 ปี อย่างไรก็ตาม ทนายความฝ่ายจำเลยขอความเมตตา เพราะเหตุการณ์ทั้งหมดเกิดขึ้นเพียง 2 วินาที แต่อัยการและศาลอ้างหลักการว่า ‘เหมือนเป็นนิยายสมคบคิด’ และไม่ควรให้น้ำหนัก อีกทั้งจำเลยยังเป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ต้องได้รับความคุ้มครองสิทธิ์ทางกฎหมายเช่นกัน

หลังจากใช้เวลาพิจารณาคดีนานกว่า 9 ชั่วโมง ศาลได้อ่านคำพิพากษา โดยสั่งจำคุกจำเลยที่ 1 และ 2 คนละ 26 เดือน ซึ่งทั้ง 2 คนถูกฝากขังมาเกือบครบอัตราโทษแล้ว ส่วนจำเลยที่ 3 ต้องโทษจำคุก 30 เดือน นอกจากนี้ จำเลยทั้ง 3 คนต้องร่วมกันชดใช้ค่าธรรมเนียมศาลและค่าเสียหายทางแพ่งให้โจทก์ที่ 1 (อั้ม เนโกะ) ประมาณ 3,400 ยูโร และชดใช้ให้โจทก์ที่ 2 (นิธิวัต) เป็นเงิน 665 ยูโร โดยคำนวนจากระยะเวลาพักฟื้นตามใบรับรองแพทย์ ทั้งนี้ ศาลฝรั่งเศสจะชดเชยให้ก่อนและหักจ่ายจากเงินเดือนของจำเลยทั้ง 3 คนในภายหลัง รวมถึงมีคำสั่งห้ามจำเลยทั้ง 3 คนเข้าประเทศฝรั่งเศสเป็นเวลา 5 ปี

“ผลทางศาลยังไม่เป็นที่น่าพอใจนักสำหรับฝ่ายเรา เพราะไม่สามารถเอาตัวผู้จ้างวานมาให้การในศาลได้เนื่องจากหลบหนีกลับประเทศตนไปและอ้างต่อศาลว่าติดโควิดถึง 2 ครั้งในรอบ 2 เดือน แต่อย่างน้อยก็ยังดีที่ศาลเชื่อในน้ำหนักของคดีว่ามีกระบวนการตระเตรียมการจริง จึงสั่งจำคุกจำเลยที่ 3 หนักกว่าจำเลยที่ 1 และ 2 และกลุ่มบุคคลดังกล่าวได้มีชื่อบันทึกอยู่ในแฟ้มอาชญากรของตำรวจสากลแล้ว” นิธิวัตกล่าว

นิธิวัติบอกว่าการที่จำเลยที่ 3 มีความเชื่อมโยงทางการเมืองกับหัวหน้าพรรคฝ่ายขวาจัดของสาธารณรัฐเช็ก และเหตุทำร้ายร่างกายคชตนและอั้มเกิดขึ้นช่วงเดียวกับกรณีลอบทำร้ายปวินในบ้านพักที่ญี่ปุ่น ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวก็มีความเชื่อมโยงเครือข่ายของหัวหน้าพรรคฝ่ายขวาจัดของสาธารณรัฐเช็ก ทำให้ตนเชื่อว่าอาจจะผู้อยู่เบื้องหลังอีกที ทั้งนี้ ต้องรอความคืบหน้าในคดีของปวินก่อน เพื่อให้เห็นภาพรวมของขบวนการจ้างวานทำร้ายผู้ลี้ภัยไทยในประเทศต่างๆ

กระบวนการยุติธรรมฝรั่งเศสในทัศนะของ 'นิธิวัต'

หลังต่อสู้คดีมานานกว่า 2 ปีและได้รับความเป็นธรรมจากกระบวนการยุติธรรมของฝรั่งเศส นิธิวัตเผยว่าตนได้รับการดูแลเหมือนพลเมืองฝรั่งเศสทั่วไป หลังเกิดเหตุก็ได้ไปตรวจร่างกายฟรีที่โรงพยาบาล ไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ตั้งแต่เริ่มแจ้งความในชั้นตำรวจไปจนถึงการสู่คดีในชั้นศาล

“ตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ก็มีการเรียกรถพยาบาลพาไปส่งตรวจร่างกาย ทุกอย่างฟรีทั้งหมด และกระบวนการแจ้งความ ตำรวจจ้างล่ามคนลาวให้ฟรีในการแปลกรณีผม” นิธิวัติเล่า

นิธิวัตบอกว่าในระหว่างดำเนินคดี เมื่อตำรวจทราบว่าผู้ก่อเหตุเป็นแก๊ง ก็คัดค้านการประกันตัวมาตลอด 2 ปีจนใกล้ครบกำหนดโทษ ส่วนในชั้นศาลก็มีการจ้างล่ามแปลภาษาไทยให้ตนทุกนัด เพื่อให้สามารถเข้าใจเนื้อหาทั้งหมดที่ศาลกล่าว และหลังพิพากษาก็มีการชดเชยเยียวยาเป็นค่าสินไหม โดยศาลจะออกให้ก่อนและไปหักจากเงินเดือนจำเลยทีหลัง

“การดูแลเหมือนพลเมืองฝรั่งเศสทั่วไป ยกเว้นเรื่องการจ้างล่าม” นิธิวัตกล่าว

นิธิวัต วรรณศิริ
 

ยืนยันไม่ใช่เรื่อง 'เหยียดเอเชีย'

นิธิวัตกล่าวถึงกรณีที่บางคนตั้งข้อสังเกตว่าเหตุการณ์ที่ตนและอั้มถูกทำร้ายร่างกาย อาจเกิดจากความคิดเหยียดคนเอเชีย ที่ฝังรากลึกในกลุ่มขวาจัดของยุโรปว่า "ไม่น่าเป็นไปได้" เนื่องจากจำเลยที่ 1 และ 2 ให้การในชั้นศาลว่าไม่ได้กระทำการไปเพราะมีความคิดเหยียดคนเอเชียหรือเหยียดคนที่มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQ+)

"จำเลยที่ 1 และ 2 สู้คดีว่ากระทำด้วยความมึนเมาฤทธิ์ยาถูกกฎหมายของประเทศเขาที่กระตุ้นความรุนแรงได้เมื่อมีแอลกอฮอล์ผสม จำเลยทั้งสองยืนยันว่าไม่ได้เหยียดเอเชียหรือ LGBTQ+ ส่วนตัวคิดว่าไม่ใช่เรื่องเหยียดเอเชีย เพราะผู้จ้างวานก็เปิดโรงเรียนสอนดาบญี่ปุ่นในประเทศเช็ก และเขาจำเพาะเจาะจงเหยื่อ ทั้งๆ ที่คนที่ไปกันวันนั้นก็เป็นคนเอเชียทั้ง 5-6 คน" นิธิวัตกล่าว

ความอ่อนไหวของผู้ลี้ภัยหลังเกิดเหตุทำร้ายร่างกาย

นิธิวัตเชื่อว่ามีขบวนการผู้อยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้ลี้ภัยไทยในต่างแดน ไม่ใช่แค่การเชื่อมโยงกับกลุ่มมาเฟียในสาธารณรัฐเช็ก แต่เขาก็ยอมรับว่าหลังเกิดเหตุ ตนก็รู้สึกกังวลและหวั่นวิตกเรื่องความปลอดภัย

“ช่วงแรกก็อาจจะรู้สึกหวั่นวิตกบ้างนิดหน่อย เพราะเหมือนสัญญานเตือนอ้อมๆว่า ‘ฉันเล่นงานเธอได้ตลอดเวลานะ’ จากผู้อยู่เบื้องหลังการกระทำ แต่ก็คลายกังวลไปมาก เพราะตำรวจไม่ให้ประกันตัวและสืบคดีอย่างจริงจังจนเจอตัวจำเลยที่ 3 ซึ่งตอนแรกเราไม่ทราบว่ามี อย่างไรก็ตาม การใช้ชีวิตก็ต้องระมัดระวังเป็นเรื่องปกติ เพราะถ้าหากจำเลยทั้ง 2 คนที่ทำร้ายร่างกายเราใช้มีดในวันนั้นอาจหมายถึงความตายของพวกผม” นิธิวัตกล่าว

“ผมมองว่ากระบวนการยุติธรรมฝรั่งเศสสามารถพึ่งพาได้ในระดับหนึ่ง ในมุมมองสำหรับพลเมืองธรรมดาทั่วไป ถ้าถูกกระทำแบบเดียวกันหรือเป็นกรณีเคสเหยียดเอเชียครับ เพียงแต่เรื่องของผมมันมีการเมืองระหว่างประเทศ (ฝรั่งเศสและสาธารณรัฐเช็ก) และเรื่องการลี้ภัยค้ำอยู่อีกชั้นหนึ่ง มันเลยไปไม่สุด ไปไม่สุดเพราะจำเลยที่ 3 หนีไปได้เลยไม่สามารถนำตัวมาขึ้นศาลสืบพยานต่อว่าใครจ้างวานได้น่ะครับ” นิธิวัตอธิบายเพิ่มเติม

นิธิวัตเผยว่าเขาจะไม่ดำเนินการอุทธรณ์คดีต่อ แม้ว่าจะเคยกล่าวในเฟซบุ๊กส่วนตัวว่าหากมีความคืบหน้าทางคดีของปวินในญี่ปุ่น อาจช่วยให้เห็นภาพของเครือข่ายลอบทำร้ายผู้ลี้ภัยไทยในต่างแดนได้ชัดเจนขึ้น

“ในส่วนคดีผมคงไม่อุทธรณ์ใดๆ ต่อแล้วเพราะกระบวนการขึ้นศาล หาทนาย มันเหนื่อยมากสำหรับคนไม่รู้ภาษาฝรั่งเศสแบบผม แต่ของอั้ม (อั้ม เนโกะ) ผมไม่ทราบครับ” นิธิวัตกล่าว

สัญญาณเตือน กวาดล้างการเปลี่ยนแปลง

นิธิวัตมองว่ากรณีที่เกิดขึ้นผู้ลี้ภัยไทยในต่างแดนในช่วง 3-4 ปีมานี้ นับตั้งแต่กรณีบังคับสูญหายของสุรชัย แซ่ด่าน และผู้ลี้ภัยใน สปป.ลาว รวมถึงกรณีทำร้ายร่างกายของตน, อั้ม เนโกะ และปวิน จนมาถึงกรณีของวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ แม้จะยังตามหาตัวผู้กระทำผิดในระดับสั่งการไม่ได้ แต่เหตุการณ์เหล่านี้สะท้อนว่าผู้มีอำนาจและชนชั้นนำไทยไม่ต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลง และต้องการยับยั้งการเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยภายในประเทศ

“เขาต้องการกวาดล้างฝ่ายที่เคลื่อนไหวเพื่อการ ‘เปลี่ยนระบอบ’ ทั้งหมดเพื่อกำราบคนข้างในที่กำลังคิดจะเปลี่ยนระบอบและน่าเศร้าที่เขาทำสำเร็จ” นิธิวัตกล่าว

นิธิวัตกล่าวทิ้งท้ายว่าสถานการณ์การเมืองไทยในช่วง 1-2 ปีมานี้จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอย่างไรในอนาคตนั้น ขึ้นอยู่กับ “วิสัยทัศน์ (vision) ของฝ่ายการเมืองว่ามองเห็นปัญหาระดับไหน” เพราะในส่วนของประชาชนทั่วไปนั้น พร้อมจะ “จบ” ขอให้มีฝ่ายการเมืองเริ่ม ประชาชนก็พร้อมร่วม

สำหรับเหตุการณ์นี้ภายหลังคำตัดสินของศาล สื่อฝรั่งเศสทั้ง LE MONDELibération และ Radio Prague International ต่างรายงานรายละเอียดด้วย 

“26 เดือนและ 30 เดือนในเรือนจำ… นั่นหมายความว่าคนที่โจมตีทำร้ายฉันจะออกจากเรือนจำได้ในเดือนมกราคม หลังจากการกักขังควบคุมมาเป็นเวลาสองปี” วันที่ 24 พ.ย. 2564 อั้ม เนโกะ สตรีข้ามเพศและผู้ลี้ภัยการเมืองชาวไทย กล่าวด้วยความโกรธ ตามรายงานของ LE MONDE วันก่อน เวลาประมาณ 22.00 น. ศาลอาญาแห่งกรุงปารีสไม่ปฏิบัติตามคำร้องของผู้ฟ้องร้องที่เรียกร้องให้คุมขังเป็นระยะเวลา 5 ปีต่อยาคุบ โฮเช็ค  (Jakub Hosek) วัย 26 ปี และดาเนียล โวคัล (Daniel Vokal) วัย 28 ปี สัญชาติเช็กสองคนที่ทุบตีอย่างรุนแรง เธอในคืนของวันที่ 17 พ.ย. 2562 ในบราสเซอรี่แห่งกรุงปารีสในเขตที่ 15

วันเกิดเหตุ 

รายงานของทั้ง 3 สื่อ ระบุเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่าค่ำวันที่ 18 พ.ย. 2562 อั้ม ใช้เวลาช่วงค่ำกับชาวไทยคนอื่นๆ ที่อาศัยในฝรั่งเศส บางคนเป็นผู้ลี้ภัยทางการเมืองเหมือนกับเธอ ที่ร้านอาหารเลอแซง (Le Zinc) ในย่านลามอตปีเก้ (La Motte-Picquet) โดยหนึ่งในคนไทยถ่ายภาพช่วงเวลาดังกล่าวด้วยการเซลฟี่ที่ยิ้มแย้มแจ่มใส เมื่อเวลา 23.10 น. เขาโพสต์รูปภาพบนโปรไฟล์ Facebook ของเขา ซึ่งในรูปมีชื่อร้านดังกล่าวปรากฏอยู่เบื้องหลัง

ขณะที่อีกด้าน เวลา 23.50 น. ชาย 2 คนนั่งอยู่บนระเบียงที่ร้านพริมเมอโรส (Primerose) บนทางเท้าฝั่งตรงข้าม และสั่งเบียร์มาดื่ม พวกเขามีลักษณะเป็นนักกีฬา รอยสัก ผมสั้น ก่อนหน้านี้ 5 วัน พวกเขาเดินทางจากกรุงปราก เมืองหลวงของสาธารณรัฐเช็กมาถึงกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ชายคนที่ 3 อายุราว 50 ปี เป็นคนจองเครื่องบินและโรงแรม ชายคนที่สามนั่งที่โต๊ะอื่นในบาร์เดียวกัน เขาได้จ่ายค่าเครื่องดื่มของทั้งสามคนด้วยบัตรเครดิตของเขาเอง

เวลาเที่ยงคืนครึ่งหลังจากออกมาจากร้านอาหารเลอแซง (Le Zinc) ในย่านลามอตปีเก้ (La Motte-Picquet) ทันใดนั้น ชาย 2 คนซึ่งมีน้ำหนัก 100 กิโลกรัม พวกเขาสวมถุงมือและเสื้อฮู้ดคลุมศรีษะ ปรี่เข้ามาทุบตี อั้ม ซึ่งสูง 155 ซม. เธอทรุดตัวลงและถูกชกเข้าที่ใบหน้า และเพื่อนคนหนึ่งของเธอที่เป็นนักดนตรี คือ นิธิวัต วรรณศิริ หรือ "จอม ไฟเย็น" ผู้ลี้ภัยทางการเมืองชาวไทยอีกคน ที่รูปร่างผอมบาง ผมยาว สะพายกีตาร์ ถูกชกเข้าที่ใบหน้าด้วยเช่นกัน ขณะที่ อั้ม นอนขดตัวอยู่บนพื้น เธอถูกทุบตีอย่างรุนแรง การโจมตีใช้เวลาเพียง 50 วินาที เพื่อนคนหนึ่งเข้ามาช่วยขวางจึงโดนลูกหลงไปด้วย ต่อมาคนร้ายหลบหนีไป แต่ถูกเพื่อนของอั้ม ไล่ตามพร้อมกับเรียกตำรวจ ไม่กี่นาทีต่อมา พวกเขาถูกจับโดยหน่วย BAC (หน่วยต่อต้านอาชญากรรม) ในขณะที่พวกเขากำลังพยายามขโมยสกูตเตอร์

การดำเนินคดี

การสอบสวนนั้นแสดงให้เห็นว่าการโจมตีนั้นได้ไตร่ตรองไว้ล่วงหน้าแล้ว นอกจากนี้ยังแสดงให้เห็นด้วยว่าชายทั้งสองนี้แต่ละคนมีน้ำหนักตัวถึง 100 กิโลกรัมและชำนาญในด้าน MMA หรือ Mixed martial art (ศิลปะการต่อสู้แบบผสมผสาน) ส่วนชาวเช็กคนที่สามคือ นายเพท โดนาเทค (Petr Donatek) ได้จัดการการโจมตีในครั้งนี้  ผู้เชี่ยวชาญด้านดาบญี่ปุ่นคนนี้เข้าเป็นส่วนหนึ่งใน “ภารดรภาพแห่งการปกป้องพระราชโองการ” (confrérie héraldique de protection de l’ordre royal) ซึ่งทำให้เห็นได้ว่าเส้นทางการเมืองกำลังปรากฏขึ้น

2 ปีต่อมา โวคัลและโฮเช็ค ถูกศาลเรียกตัวไปที่ห้องเล็กๆ ณ สำนักงานศาลกรุงปารีส ถูกพิจารณาคดีให้จำคุกเป็นเวลา 2 ปีเพื่อเป็นมาตรการป้องกัน พวกเขาถูกกล่าวหาว่า "จงใจใช้ความรุนแรงในสถานที่นัดพบกันโดยมีการไตร่ตรองล่วงหน้าหรือซุ่มโจมตี"

ชายคนที่ 3 และเครือข่ายที่น่าสงสัย

เดือนส.ค. 2562 ก่อนการโจมตีอั้มในครั้งนี้ ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธุ์ นักวิชาการและผู้ลี้ภัยในเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น ถูกโจมตีในตอนกลางคืนในห้องของเขาโดยบุคคลที่ไม่รู้จัก คนร้ายได้ฉีดพ่นสารพิษใส่เขา การสอบสวนไม่ประสบผลสำเร็จ แต่ตำรวจท้องที่แจ้งว่าสามารถระบุตัวชาวญี่ปุ่นที่ติดตามเขาในรถไฟใต้ดิน “พวกเขายังถามฉันด้วยว่าฉันมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับ…สาธารณรัฐเช็กหรือไม่” ปวินกล่าวไว้

LE MONDE ยังให้ความสนใจกับ ชายคนที่สาม เพตร์ โดนาเทค (Petr Donatek) วัยประมาณ 50 ปี ซึ่งออกจากกรุงปารีสไปเมืองปรากหลังจากเกิดเหตุ เขาเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านดาบญี่ปุ่นคนนี้เข้าเป็นส่วนหนึ่งใน “ภารดรภาพแห่งการปกป้องพระราชโองการ” (confrérie héraldique de protection de l’ordre royal)

วันเกิดเหตุ โดนาเทคพบปะกันกับ 2 คนที่ลงมืออยู่หลายครั้งในช่วงค่ำและมีการจ่ายค่าเครื่องดื่มให้ ในช่วงเวลาของการโจมตี เขายัง "บันทึกภาพหรือถ่ายภาพที่เกิดเหตุ" การสืบสวนเผยไว้ก่อนที่เขาจะหายตัวไป 

ทั้งนี้ โฮเช็ค หนึ่งในจำเลยพบกับเจ้าหน้าที่สอบสวนยังให้การยอมรับว่าโดนาเทคได้จัดการการเดินทางให้เขาเข้ามายังกรุงปารีสและ "เฝ้าติดตามว่าเราได้ทำตามคำสั่งหรือไม่" โฮเช็คจะได้รับเงินจำนวน 50,000 โครูนาเช็ก (ประมาณ 2,000 ยูโร) อย่างไรก็ตาม เขาถอนคำให้การในการพิจารณาคดีภายหลังเช่นเดียวกับโวคัล พร้อมกล่าวว่าพวกเขาเป็นแค่ "นักท่องเที่ยว" ธรรมดาๆ และได้กระทำการ "ภายใต้อิทธิพลของแอลกอฮอล์ ยาเสพติด และสารสเตียรอยด์" จึงทำให้เกิดเรื่องชกต่อย "โดยบังเอิญ"

ตามรายงานของ LE MONDE ระบุด้วยว่าโดนาเทคเปิดกิจการ Kasumi Dojo "โรงเรียนสอนซามูไร" ในกรุงปราก เขาถูกเรียกให้ไปรายงานตัวในวันที่ 23 พ.ย. 2564 แต่กลับอ้างว่าได้รับการวินิจฉัยว่าติดเชื้อโควิด-19 แม้ว่าเขาจะไม่มารายงานตัวต่อศาล แต่ศาลตัดสินจำคุกเขาเป็นเวลา 30 เดือน เนื่องจากวางแผนโจมตี โดยที่เขายืนยันกับนักข่าวจากวิทยุสาธารณะของสาธารณรัฐเช็กว่าจะยื่นอุทธรณ์ พร้อมปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา

ขณะที่เมื่อวันที่ 23 พ.ย. ที่ผ่านมา โดนาเทคโพสต์วิดีโอบน Facebook ของตัวเองในชุดฮากามะ กางเกงขากว้างของซามูไร เขากำลังฝึกตัดเสื่อม้วนอยู่ นอกจากนี้ เขาอ้างว่าได้จัดการแข่งขัน La Bagration Cup เมื่อวันที่ 17 ก.ย. 2564 ณ กรุงปราก การแข่งขันตัดดาบในนามของนกอินทรีแห่งจอร์เจีย คำสั่งของอัศวินแห่งราชวงศ์ Bagratid อดีตกษัตริย์แห่งจอร์เจียและอาร์เมเนีย ซึ่งประเด็นนี้ในรายงานของ LE MONDE ทิ้งท้ายเป็นคำถามในรายงานไว้ด้วยว่า ทั้งหมดทั้งมวลยังคงเชื่อมโยงไปยังคนไทยของเครือข่ายที่น่าสงสัยนี้  ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับกลุ่มเล็กๆ ที่ให้ความเคารพนับถือเหล่าราชวงศ์เป็นพิเศษ หรือมีการสนับสนุนอยู่เบื้องหลัง

หมายเหตุ : ทั้งนี้เมื่อเวลา 15.59 น. วันที่ 28 ม.ค. 2564 ประชาไท เพิ่มเนื้อหาส่วนล้อมกรอบ เนื่องด้วยมีการร้องเรียนมายังกองบรรณาธิการ 2 ประเด็นคือ 1. ความรอบด้านของข้อมูล และ 2. ความไม่ประสงค์ให้ข้อมูลตัวเองอยู่ในรายงานข่าวของประชาไท โดยในข้อ 1 นั้นเราดำเนินการแปลความจากสื่อต่างประเทศลงเพิ่มเติม ส่วนข้อ 2 นั้นเนื่องจากเป็นประเด็นสาธารณะและข้อมูลส่วนนั้นถูกเผยแพร่ในสื่อต่างประเทศแล้ว

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง:

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net