Skip to main content
sharethis

ตัวแทนของคณะรัฐประหารพม่าจะเดินทางไปสู้คดีกวาดล้างชาวโรฮิงญาที่ศาลโลกในเดือน ก.พ. นี้ โดยจะตั้งกระทู้ถามว่าศาลโลกมีอำนาจในการพิจารณาคดีนี้หรือไม่ คดีนี้ ‘ออง ซาน ซู จี’ เคยเป็นตัวแทนของรัฐบาลพม่าในการต่อสู้คดี แต่แทนที่หลังการรัฐประหารเมื่อปีที่แล้ว ด้านรัฐบาลฝ่าย ปชต. เคยประกาศเป็นตัวแทนอันชอบธรรมในการร่วมมือกับศาลโลก แต่ยังไม่ได้รับการขานรับจากนานาชาติ ล่าสุด รัฐบาล ปชต. ประกาศว่ากองทัพพม่าผิดฐานก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ หลังพลเรือนถูกโจมตีด้วยขีปนาวุธและการจู่โจมทางอากาศ

ภาพพื้นที่หมู่บ้านชาวโรฮิงญาที่ถูกเพลิงไหม้เมื่อปี 2560 ภาพจาก แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย

ข้อมูลเกี่ยวกับวันไต่สวนคดีที่กรุงเฮก ซึ่งคาดว่าจะเกิดขึ้นในวัน 21 ก.พ. 65 นี้ เป็นคำบอกเล่าจาก ดาวดา จาลโลว อัยการสูงสุดของรัฐบาลแกมเบีย โดยรัฐบาลแกมเบียเป็นผู้ฟ้องรัฐบาลพม่าเมื่อ พ.ย. 2562 หลังกองทัพพม่าเข้าโจมตีตอนเหนือของรัฐยะไข่ เกิดการสังหารหมู่ เผาคนในบ้าน และข่มขืนชาวมุสลิมโรฮิงญา ส่งผลให้เกิดการหลบหนีข้ามชายแดนไปยังบังกลาเทศกว่า 700,000 คนในปี 2560

อัยการสูงสุดของรัฐบาลแกมเกียระบุเพิ่มเติมว่า กระบวนการพิจารณาคดีจะทำผ่านวิธีผสมโดยผู้เข้าร่วมบางส่วนจะเดินทางมาที่กรุงเฮกด้วยตนเอง แต่บางส่วนจะเข้าร่วมผ่านระบบออนไลน์ตามมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 แม้ดาวดา จาลโลว ให้ข้อมูลว่าจะมีการไต่สวนในวันดังกล่าว แต่โฆษกของศาลโลกที่กรุงเฮกยังปฏิเสธที่จะยืนยันวันและเวลาของการไต่สวน

ออง ซาน ซู จี ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ เคยเป็นตัวแทนของรัฐบาลพม่าในการเดินทางมาต่อสู้คดีด้วยตนเองในปี 2562 และขอให้ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศยุติการดำเนินคดีดังกล่าว อย่างไรก็ตาม รัฐบาลพลเรือนของเธอถูกโค่นล้มลงเมื่อต้นปีที่แล้ว ปัจจุบัน ออง ซาน ซู จี ถูกสั่งจำคุก 6 ปีในข้อหาโกงการเลือกตั้งและทุจริตคอรัปชั่น และถูกดำเนินคดีเพิ่มเติมอีก 5 คดี โดยผู้สังเกตการณ์เห็นว่าเป็นการยัดข้อหาเพื่อทำลายความน่าเชื่อถือของผู้นำฝ่ายพลเรือน

ก่อนการรัฐประหารเล็กน้อย รัฐบาลแกมเบียได้ขอให้ศาลโลกออก “มาตรการเฉพาะหน้า” เพื่อป้องกันการกระทำผิด เนื่องจากปกติแล้วคดีใช้เวลายาวนานในการไต่สวน ศาลโลกตอบรับด้วยการสั่งให้รัฐบาลพลเรือนพม่าในขณะนั้นต้องรายงานสถานการณ์ภายใน 4 เดือนแรกและทุกๆ 6 เดือนหลังจากนั้น แหล่งข่าวที่ติดตามคดีนี้อย่างใกล้ชิดระบุว่ารัฐบาลทหารพม่ายังคงส่งรายงานสถานการณ์ให้ทุกๆ 6 เดือน แต่รายงานดังกล่าวไม่ถูกเปิดเผยต่อสาธารณะ

สำนักข่าวต่างประเทศวิเคราะห์ว่าคณะรัฐประหารของพม่ากำลังต่อสู้เพื่อให้ได้รับการยอมรับของนานาชาติ และพยายามใช้โอกาสนี้ในการแสดงตนว่าเป็นรัฐบาลที่ชอบธรรมของพม่าในศาลระดับสูงขององค์การสหประชาติ  หลังจากต่อสู้ในประเด็นว่าศาลโลกมีอำนาจในการพิจารณาคดีนี้หรือไม่แล้ว ขั้นต่อไปจะเป็นการไต่สวนโดนพิจารณาหลักฐานว่ามีการกวาดล้างเผ่าพันธุ์ขึ้นในพม่าจริงหรือไม่

เมื่อ พ.ค. 2564 รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติของพม่า หรือ NUG เคยประกาศว่าพร้อมให้ความร่วมมือกับศาลโลกในคดีฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮิงญาในฐานะรัฐบาลอันชอบธรรมของประชาชนชาวพม่า และเรียกร้องให้ศาลอาญาระหว่างประเทศดำเนินคดีกับกองทัพและคณะรัฐประหารของพม่าที่เข่นฆ่าและทารุณกรรมประชาชนผู้บริสุทธิ์ แต่ยังไม่มีความคืบหน้าว่าหลังประกาศดังกล่าวมีฝ่ายใดขานรับหรือไม่

เมื่อ 14 ม.ค. 65 รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติพม่าประกาศว่าคณะรัฐประหารพม่ากำลังกระทำการที่เป็นอาชญากรรมต่อมนุษยชาติตามอนุสัญญาเจนีวา หลังกองทัพพม่าโจมตีพลเรือนด้วยขีปนาวุธและการโจมตีทางอากาศ ส่งผลให้ประชาชนหลายพันคนเสียชีวิต บาดเจ็บ และพลัดถิ่นในรัฐคะฉิ่น กะเหรี่ยง คะยาห์ ฉิ่น และฉาน รวมถึงในเขตซะไกง์และเขตมะกเว ขณะนี้รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติพม่ามอบความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมแก่ผู้ได้รับผลกระทบ และจะดำเนินมาตรการต่อคณะรัฐประหารภายใต้กรอบของกฎหมายระหว่างประเทศต่อไป

แปลและเรียบเรียงจาก : 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net