ทวงคืนคุรุสภา: จุดกำเนิดเริ่มต้น “วันครู” ของไทย จาก “คุรุสภา”

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

วันครูได้จัดให้มีขึ้น ครั้งแรกเมื่อวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2500 สืบเนื่องมาจากการประกาศพระราชบัญญัติครูในราชกิจจานุเบกษาเมื่อปี พ.ศ. 2488 ซึ่งระบุให้มีสภาในกระทรวงศึกษาธิการเรียกว่า"คุรุสภา" ซึ่งมีสถานะเป็นนิติบุคคลและให้ครูทุกคนเป็นสมาชิกคุรุสภา ซึ่งต่อมาคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2499 ให้วันที่ 16 มกราคม ของทุกปีเป็น "วันครู" โดยถือเอาวันที่ประกาศพระราชบัญญัติครูในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2488 เป็นวันครู

เกือบ 7 ปีแล้วที่คุรุสภาไม่ใช่สภาวิชาชีพ 

หลายท่านคงเคยได้ยินคำกล่าวที่ว่า “ครูคือผู้ทำงานทางการเมือง” หรือ “ครูคือนักประชาธิปไตย” นั่นก็คงเป็นเพราะประชาชนทุกคนล้วนแต่เกี่ยวข้องกับการเมือง แม้กระทั่งการทำงานเป็นครูยังเป็นการทำงานทางการเมือง และการเมืองที่ว่าก็ควรเป็นการเมืองในระบอบประชาธิปไตย 

นับตั้งแต่การประกาศใช้พระราชบัญญัติสภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2546 ส่งผลให้ “คุรุสภา” เป็นสภาวิชาชีพทางการศึกษาอย่างแท้จริง เพราะการดำเนินงานของคุรุสภาเป็นองค์กรที่มีอำนาจหน้าที่ในการกำหนดมาตรฐานวิชาชีพ ออกและเพิกถอนใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ กำกับดูแลการปฏิบัติตามมาตรฐานและจรรยาบรรณของวิชาชีพ และการพัฒนาวิชาชีพ รวมถึงการได้มาซึ่งกรรมการคุรุสภาส่วนใหญ่มาจากการเลือกตั้งของผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา 

ซึ่งสอดคล้องกับหลักการสำคัญของผู้ประกอบวิชาชีพ นั่นคือ “หลักการปกครองตนเอง” หลักการนี้ยึดถือว่า “ไม่มีผู้ใดจะรักและหวงแหนวิชาชีพได้เท่ากับผู้ประกอบวิชาชีพนั้นอีกแล้ว” การกำหนดให้ผู้ประกอบวิชาชีพควบคุมดูแลกันเองย่อมทำให้ผู้ประกอบวิชาชีพร่วมกันสร้างเกียรติศักดิ์แห่งวิชาชีพร่วมกันกีดกันคนที่ไม่เหมาะสมที่เข้ามาสู่วิชาชีพและร่วมกันพัฒนาวิชาชีพให้เจริญก้าวหน้าอันเป็นการสร้างความมั่นคงให้แก่วิชาชีพ หากกำหนดให้ผู้อื่นมาควบคุมดูแลการประกอบวิชาชีพบุคคลเหล่านั้นมักจะใช้อำนาจที่มีอยู่ในการควบคุมผู้ประกอบวิชาชีพเพื่อทำให้ผู้ประกอบวิชาชีพมีภาระรับใช้องค์กรของผู้มีอำนาจนั้นมากกว่าที่จะดำเนินการส่งเสริมและพัฒนาวิชาชีพ (สภาวิชาชีพบัญชี) และสอดคล้องกับสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ ที่กำหนดให้สภาวิชาชีพเป็นหน่วยงานที่มิใช่หน่วยงานของรัฐแต่ใช้อำนาจรัฐในการดำเนินกิจกรรม จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติวิชาชีพเฉพาะเพื่อจัดตั้งสภาวิชาชีพ มีฐานะเป็นนิติบุคคล ทำหน้าที่ควบคุมการประกอบวิชาชีพให้ถูกต้องตามจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพ การขึ้นทะเบียนและออกใบอนุญาต สั่งพักใช้ใบอนุญาตหรือเพิกถอนใบอนุญาต และรับรองวิทยฐานะของสถาบันที่ทำการสอน รับรองปริญญา ประกาศนียบัตรในวิชาชีพนั้น ๆ มีการบริหารงานในรูปคณะกรรมการ ประกอบด้วยกรรมการที่ได้รับการแต่งตั้งจากรัฐในสัดส่วนที่น้อยกว่ากรรมการได้รับการเลือกตั้งจากสมาชิก รัฐมีบทบาทน้อย ในการแต่งตั้งนายกสภา และเลขาธิการสภา คณะกรรมการมีหน้าที่ในการบริหารกิจการของสภาวิชาชีพตามวัตถุประสงค์การจัดตั้ง การดำเนินงานของสภาใช้ระบบสัญญาของกฎหมายทั่วไป เฉพาะในกรณีที่เกี่ยวข้องกับเรื่องจริยธรรมของวิชาชีพเท่านั้นที่ใช้กฎหมายปกครอง มีรายได้ส่วนใหญ่จากการเก็บค่าธรรมเนียมต่าง ๆ จากสมาชิก แต่อาจได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐ เจ้าหน้าที่ของสภามิใช่ข้าราชการ มีเลขาธิการเป็นผู้บังคับบัญชาเจ้าหน้าที่ของสภาทุกระดับ

ในยุคเผด็จการที่หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติมีอำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 หลักการปกครองตนเองของผู้ประกอบวิชาชีพและหลักการประชาธิปไตยในสภาวิชาชีพก็จบสิ้นลงเมื่อมีคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 7/2558 ให้คณะกรรมการคุรุสภาที่ดำรงตำแหน่งอยู่พ้นจากตำแหน่ง และให้คณะกรรมการคุรุสภาประกอบด้วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเป็นประธานกรรมการคุรุสภา และกรรมการคุรุสภาเป็นข้าราชการระดับสูงเพียงไม่กี่คน ไม่มีผู้ทรงคุณวุฒิ ไม่มีผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษาแม้แต่คนเดียวเป็นกรรมการคุรุสภา และยังเป็นแบบนี้มาจนถึงปัจจุบัน

การดำเนินงานของคุรุสภาจึงไม่อาจเรียกได้ว่าเป็นสภาวิชาชีพได้ และขาดการมีส่วนร่วมของผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา แม้ว่าวันนี้ประเทศไทยจะไม่มีคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ที่กล่าวอ้างกันว่าเป็นการปกครองในระบอบประชาธิปไตยแล้ว แต่ก็ยังไม่มีการแก้ไขให้ผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษาได้เลือกตั้งตัวแทนไปเป็นกรรมการคุรุสภา เพื่อผู้ประกอบวิชาชีพจะได้ควบคุมดูแลกันเอง เพื่อร่วมกันสร้างเกียรติศักดิ์แห่งวิชาชีพ และพัฒนาวิชาชีพทางการศึกษาให้เจริญก้าวหน้าอย่างแท้จริง

 

เผยแพร่ครั้งแรกใน: เฟสบุ๊คแฟนเพจ ครูขอสอน 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท