Skip to main content
sharethis

สมาชิกกลุ่มโกงกาง อย่างน้อย 9 ราย ถูก ตร.ติดตาม-เช็กข้อมูล ก่อนงานรับปริญญา ม.บูรพา ด้านไอลอว์เผย ระหว่าง 10-15 ม.ค. 65 มีสื่ออิสระ-นักกิจกรรม ถูก ตร.ติดตาม และบุกบ้านไม่ต่ำกว่า 18 ครั้ง 

ภาพเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบ 4 นาย เข้าติดตามที่บ้านของไอซ์ในช่วงเวลาเริ่มมืดแล้ว ภาพโดย 'ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน'

18 ม.ค. 65 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานวานนี้ (17 ม.ค.) ระบุว่าเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา (10-14 ม.ค.) นักศึกษาและนักกิจกรรมโดยเฉพาะจากกลุ่มโกงกางถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่ต่างๆ ติดตามถึงบ้าน หรือถูกโทรศัพท์สอบถามความเคลื่อนไหวไม่ต่ำกว่า 9 ราย ก่อนมหาวิทยาลัยบูรพาจะมีกำหนดการจัดพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาประจำปี 2561 และ 2562 ระหว่างวันที่ 19-20 ม.ค. 65

ศูนย์ทนายฯ กล่าวต่อว่า ผู้ที่ถูกเจ้าหน้าที่ติดตามคุกคาม พบว่ามีทั้งนักศึกษาปัจจุบัน และอดีตนักศึกษาซึ่งจบการศึกษาไปแล้ว แต่มีประวัติเคยทำกิจกรรมกับกลุ่มโกงกางมาก่อน และบางคนไม่มีบทบาทเคลื่อนไหวด้านกิจกรรมการเมืองแล้วก็ตาม 

ดอย (นามสมมติ) บัณฑิตที่เรียนจบไปแล้วราว 2 ปี เขาเคยทำกิจกรรมกับกลุ่มโกงกางในช่วงการเรียกร้องไม่ให้เลื่อนการเลือกตั้งในช่วงปลายของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อปี 2561 หรือช่วงชุมนุม “คนอยากเลือกตั้ง” แต่หลังจากจบการศึกษา เขาแทบไม่ได้ทำกิจกรรมทางการเมือง

ดอย เปิดเผยว่า ตนอาศัยอยู่จังหวัดใกล้เคียงกับจังหวัดชลบุรี โดยเมื่อวันที่ 12 ม.ค. 65 เขากลับมาจากการทำงานตามปกติ พบว่าได้มีผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านโทรศัพท์ติดต่อมาที่มารดา เพื่อเล่าให้ฟังว่ามีเจ้าหน้าที่ตำรวจมาหาที่บ้าน จำนวน 3 นาย โดยเป็นเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบทั้งหมด ระบุว่ามาจากพื้นที่จังหวัดชลบุรี แต่ไม่ได้ระบุหน่วยหรือสังกัดแน่ชัด ทั้งที่พื้นที่บ้านของดอย ไม่ใช่พื้นที่จังหวัดชลบุรี

เจ้าหน้าที่บอกกับผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านว่า พวกตนมาสอบถามหาดอย และต้องการพบเพื่อตรวจเช็กสถานะของเขา โดยพยายามสอบถามข้อมูลว่าเขาทำอะไรอยู่ ทำงานที่ไหน ยังเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับเรื่องการเมืองหรือไม่ หรือได้ทำกิจกรรมอะไรหรือไม่ แต่ไม่ได้สอบถามชัดเจนเกี่ยวกับการรับปริญญาที่จะมีขึ้นของ ม.บูรพา

นอกจากนั้น ครอบครัวเขายังพบว่าล็อกประตูบ้านมีลักษณะผิดไปจากเดิม จึงไม่แน่ใจว่าเจ้าหน้าที่ได้มีความพยายามจะเปิดประตูบ้านเข้ามาในขณะที่ไม่มีใครอยู่หรือไม่ โดยหลังจากวันนั้น ก็ยังไม่มีการติดต่อมาจากเจ้าหน้าที่เพิ่มเติม

ดอยระบุว่า เหตุการณที่เกิดขึ้น ทำให้เขาโดนครอบครัวต่อว่านิดหน่อย เนื่องจากที่บ้านไม่ทราบว่าไปทำอะไรมา และเกรงว่าอาจจะส่งผลกระทบต่อการทำงาน ทั้งยังทำให้เขาเกิดความกังวล ว่าเจ้าหน้าที่รัฐรู้ตำแหน่งแห่งหนของตนทั้งหมด ซึ่งไม่ทราบว่าเจ้าหน้าที่ต้องการอะไร และจะนำไปสู่การดำเนินการเช่นใดต่อไป.

ตร. 4 นาย ไปถามข้อมูล นศ.ม.บูรพา ถึงที่บ้าน แม้เป็นเวลาเริ่มค่ำแล้ว

อีกกรณีหนึ่ง ได้แก่ กรณีของไอซ นักศึกษาชั้นปีที่ 3 มหาวิทยาลัยบูรพา และเป็นสมาชิกของกลุ่มโกงกาง เปิดเผยว่าเมื่อวันที่ 14 ม.ค. 65 เวลาประมาณ 18.00 น. ซึ่งเป็นช่วงเริ่มมืดแล้ว ได้มีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบรวม 4 นาย เดินทางเข้ามาที่บ้านของตนในตำบลบ่อวิน ก่อนได้เรียกไอซ์ และคุณพ่อไปพูดคุยด้วยที่ลานหน้าบ้าน

ไอซ์ ระบุว่า ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่เขาถูกตำรวจมาพบที่บ้านโดยตรง ก่อนหน้านี้อาจมีเจ้าหน้าที่ไปติดตามถ่ายรูปที่บ้านกิจกรรมกลุ่มโกงกางบ้าง แต่ไม่เคยมาที่บ้านเพื่อพบตนโดยตรงมาก่อน

ตำรวจได้พยายามสอบถามเกี่ยวกับการทำกิจกรรม และงานของกลุ่มโกงกาง สอบถามถึงเพื่อนที่เคยจัดการชุมนุมด้วยกัน สอบถามว่าจะไปงานรับปริญญาของมหาวิทยาลัยที่กำลังจะถึงนี้หรือไม่ และสอบถามว่าจะมีแผนทำกิจกรรมอะไรหรือไม่ แต่ไม่ได้มีการห้ามปรามการทำกิจกรรมใดๆ เพียงแต่พูดคุยในลักษณะสอบถามทำข้อมูล

ตำรวจยังได้ขอถ่ายรูปไอซ์ กับพ่อ โดยให้เจ้าหน้าที่ 3 นายไปยืนร่วมถ่ายรูปด้วย และนายหนึ่งคอยถ่ายรูปให้ การพูดคุยใช้เวลาสั้นๆ ประมาณ 10 นาที เจ้าหน้าที่จึงเดินทางกลับไป

ไอซ์ ระบุว่า เขารู้สึกโกรธและหงุดหงิดกับการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่เช่นนี้ เพราะรู้สึกว่าตัวเองโดนคุกคาม เจ้าหน้าที่ยังแสดงออกในลักษณะว่ารู้ข้อมูลส่วนตัวของเขาอย่างละเอียดอยู่แล้ว ทราบสถานที่อยู่ต่างๆ ซึ่งละเมิดต่อสิทธิส่วนบุคคล ทำให้เขารู้สึกไม่ปลอดภัย  

รูปแบบการติดตามมีทั้งโทรศัพท์สอบถาม ขับรถตาม ส่งข้อความหา

ขณะเดียวกันทางเพจของกลุ่มโกงกาง ยังสรุปสถานการณ์การติดตามสมาชิกของกลุ่มในช่วงก่อนงานรับปริญญาของมหาวิทยาลัย ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ราววันที่ 10 มกราคม 2565 ที่ผ่านมา โดยมีผู้ถูกติดตามไม่ต่ำกว่า 9 คน รวมทั้งทราบว่ายังมีการติดตามไปสอดส่องและถามข้อมูลที่บ้านกิจกรรมของกลุ่มโกงกางอีกด้วย

รูปแบบการติดตาม มีทั้งกรณีที่เจ้าหน้าที่กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) หรือเจ้าหน้าที่ตำรวจจาก สภ.แสนสุข ได้โทรศัพท์ไปสอบถามสมาชิกกลุ่ม ว่าจะไปงานรับปริญญาหรือไม่ และจะมีกิจกรรมหรือการแสดงสัญลักษณ์อะไรหรือไม่ รวมทั้งบางรายถูกขอข้อมูลสมาชิกกลุ่มโกงกางทั้งหมด

สมาชิกบางรายยังพบว่ามี “รถปริศนา” มาจอดอยู่ข้างล่างหอพัก และได้ “ขับติดตาม” ไปยังที่ต่างๆ จนสมาชิกรายดังกล่าวลองขับรถเลี้ยวเข้าไปในทางที่มีซอยตัน ก็พบว่ารถดังกล่าวยังขับติตตามมาอีก แม้จะขับวนออก ก็ยังติดตามต่อมา

นอกจากนั้น ยังมีเพื่อนนักกิจกรรมคนอื่นๆ ในพื้นที่ชลบุรี ที่ไม่ได้เป็นสมาชิกกลุ่มโกงกาง ถูกติดตามในลักษณะเดียวกัน อาทิ กรณีที่ถูกตำรวจ สภ.บางละมุง โทรมาสอบถามสถานที่อยู่ และสอบถามว่าจะไปงานรับปริญญาหรือไม่ มีแผนทำกิจกรรมอะไรหรือไม่เช่นกัน  ขณะที่มีอีกรายหนึ่ง ได้ถูกตำรวจ สภ.แสนสุข ส่งข้อความทางแชท มาสอบถามข้อมูลในลักษณะเดียวกัน

สื่ออิสระ-นักกิจกรรมแจ้งความ สน.ทุ่งสองห้อง หลังถูก ตร.บุกบ้าน

นอกจากกลุ่ม ‘โกงกาง’ แล้ว ก่อนหน้านี้ ตำรวจมีการติดตามนักกิจกรรม และสื่ออิสระอื่นๆ สืบเนื่องจากเมื่อ 15 ม.ค.ที่ผ่านมา แอดมินนินจา จากเพจ LIVE REAL ซึ่งเป็นสื่ออิสระ โพสต์ข้อความบนหน้าเพจเฟซบุ๊กของตัวเองเมื่อ 15 ม.ค. 65 แจ้งว่ามีตำรวจไปหาตามที่อยู่ที่ได้แจ้งไว้ในประวัติตอนถูกดำเนินคดีเมื่อ 6 ต.ค. 64 จึงทำให้ประวัติส่วนตัวได้เข้าสู่ระบบราชการ กระจายไปตามหน่วยงานต่างๆ ในวันนี้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจมายังที่อยู่ตามที่ได้แจ้งไว้ในประวัติ แต่ตัวนินจาไม่ได้อยู่ที่บ้าน และไม่ได้พักอาศัยตามทะเบียนบ้าน   

อย่างไรก็ตาม แอดมินเพจ LIVE REAL ไม่ใช่คนเดียวที่ถูกเจ้าหน้าที่บุกรุกบ้าน โดยเมื่อเวลา 18.11 น. สุรเมธ น้อยอุบล หรือโบ๊ท แอดมินเพจ Friend’s Talk โพสต์ข้อความบนหน้าเฟซบุ๊กแจ้งว่ามีกลุ่มบุคคลอ้างว่าเป็นตำรวจสืบสวน สน.ทุ่งสองห้อง ไม่แสดงบัตรเจ้าหน้าที่ ไม่มีหมาย ไม่มีเอกสารใดๆ ไปหาที่บ้านพ่อแม่ อ้างว่าแอดมิน Friend’s Talk มีส่วนเกี่ยวข้องกับกลุ่มทะลุแก๊ซ ขณะเดียวกัน แอดมินยืนยันว่าได้ทำหน้าที่นำเสนอรายงานเหตุการณ์ที่ดินแดงโดยไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ 

แอดมินเพจ Friend’s Talk ระบุด้วยว่าจากการตรวจสอบเพิ่มเติม พบว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้ง 2 นายนี้เคยไปปฏิบัติการลักษณะนี้กับหนึ่งในทีมงานของคนรุ่นใหม่นนทบุรี ซึ่งแอดมิน Friends Talk ยังระบุจะเดินทางไปเเจ้งความในเร็วๆ นี้ และหากพบว่าไม่มีความคืบหน้าใดๆ ตนก็จะไปจัดรายการ talk กับนักเคลื่อนไหวอีกหลายๆคนที่บริเวณหน้าหน่วยงานรับผิดชอบ จนกว่าจะได้รับความชัดเจน

ในเวลาไล่เลี่ยกัน ศิโรตน์ คล้ามไพบูลย์ พิธีกรสำนักข่าว Voice TV โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊ก เมื่อเวลา 19.15 น. ระบุว่า มีตำรวจบุกไปที่บ้านเมื่อ 15 ม.ค. 65 ซึ่งนับเป็นเดือนที่ 2 เป็นการจงใจสร้างความหวาดกลัวให้คุณแม่อายุ 90 ปี ซึ่งท่านชรามากแล้ว นอกจากนั้น ทราบว่ามีคนอื่นในเขตดุสิตที่อยู่ในลิสต์เกือบ 20 ราย โดยมีอาจารย์จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 2 ราย พร้อมกับตั้งข้อกังขาว่า รัฐบาลเตรียมกวาดล้างประชาชนหรือไม่ เตรียมจับประชาชนยัดคดีหรือไม่  
.
เมื่อเวลา 20.27 น. เพจ DemAll สมาพันธ์สื่อไทยเพื่อประชาธิปไตย โพสต์เฟซบุ๊ก ขอให้สังคมร่วมกันจับตาพฤติกรรมของเจ้าหน้าที่ต่อเหตุการณ์นี้ เพราะว่านี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่มีเจ้าหน้าที่ตำรวจไปเยี่ยมสื่อ โดยเฉพาะสื่อภาคประชาชนโดยไม่แสดงเจตนา 

18 ม.ค. 65 สื่อหลายแห่งรายงานวานนี้ (17 ม.ค.) สุรเมธ น้อยอุบล หรือโบ๊ท แอดมินเพจ Friend’s Talk สื่ออิสระ และเจษฎา ศรีปลั่ง จากเครือข่ายคนรุ่นใหม่นนทบุรี เข้าร้องทุกข์กล่าวโทษ สน.ทุ่งสองห้อง หลังมีตำรวจบุกไปที่บ้านโดยไม่มีหมายหรือเอกสารใดๆ 

สุรเมธ โพสต์ข้อความอัปเดตความคืบหน้าการแจ้งความว่า วันนี้ได้มาตามหาความจริงที่ สน.ทุ่งสองห้อง จากกรณีที่มีคนอ้างตัวเป็นเจ้าหน้าที่สืบสวน สน.ทุ่งสองห้องมาที่บ้าน ปรากฏว่า ทางผู้บังคับบัญชาขอโทษกับสิ่งที่เกิดขึ้น และยอมรับว่า 2 คนดังกล่าวที่มาที่บ้านเป็นเจ้าหน้าที่สืบสวน สน.ทุ่งสองห้องจริง แต่มีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนระหว่างผู้บังคับบัญชา กับเจ้าหน้าที่ จึงทำให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้น

นอกจากนี้ ได้แจ้งทางผู้บังคับบัญชาให้กำชับเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการทุกคน ให้ทำตามขั้นตอนที่ถูกต้อง โดยเฉพาะขั้นตอนการแสดงตัวด้วยบัตรประจำตัวตำรวจที่มียศ ชื่อ และหน่วยงานที่ชัดเจนก่อนการทำหน้าที่ 

ตร.ติดตามบ้านนักกิจกรรมและสื่ออิสระไม่ต่ำกว่า 18 ครั้ง

ไอลอว์ (iLaw) เป็นองค์กรภาคประชาชนที่รณรงค์ให้ประชาชนมาใช้เครื่องมือตามสิทธิเสรีภาพรัฐธรรมนูญเพื่อเรียกร้องด้านกฎหมาย และประเด็นการเมืองอื่นๆ รวบรวมข้อมูลว่า ระหว่าง 10-15 ม.ค. 65 เจ้าหน้าที่ตำรวจมีปฎิบัติการ ‘ติดตามและเยี่ยมบ้าน’ บรรดานักกิจกรรมและสื่อมวลชน อย่างน้อย 18 ครั้ง ซึ่งปฏิบัติการดังกล่าว ในทางกฎหมาย ไม่มีกฎหมายใดให้อำนาจแก่เจ้าพนักงานของรัฐสามารถติดตามหรือเข้าไปเยี่ยมบ้านประชาชนที่ไม่ได้กระทำความผิด และไม่มีกฎหมายใด ให้ตำรวจเข้าไปนั่งคุยในบ้านของประชาชนเพื่อสอบถามข้อมูลต่างๆ ถ้าไม่มีเหตุสงสัยว่า บุคคลนั้นกระทำความผิดต่อกฎหมาย  

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net