“เราต้องการยืนยันสิทธิความมีตัวตน” เสียงจากชาติพันธุ์ในไทย ที่มีต่อร่าง พ.ร.บ.สภาชนเผ่าพื้นเมืองฯ

เป็นที่รับรู้กันดีว่า ประเทศไทย เรามีชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทย ที่หลากหลายกลุ่มชาติพันธุ์และกระจายตัวอยู่ทั่วทุกภูมิภาค จากข้อมูลของเครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย (คชท.) ในประเทศไทย ในปี 2564 ได้มีการสำรวจจำนวนประชากรที่ยอมรับว่าตนเองเป็นชนเผ่าพื้นเมืองประมาณจำนวน 43 กลุ่มชาติพันธุ์ มีจำนวนประชากรทั้งหมดประมาณ 4 ล้านกว่าคน กระจายอยู่ในทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทย อาทิ กลุ่มชาติพันธุ์ ม้ง, เย้า, กะเหรี่ยง, ลีซู, ลาหู่, คะฉิ่น, ไทใหญ่, ดาระอั้ง ซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่แถบภาคเหนือ นอกจากนั้น จะมีกลุ่ม มอญ อยู่ในแถบภาคกลาง ตะวันออก หรือ ลาวโซ่ง, กูย ที่อยู่ทางภาคอีสาน หรือกลุ่มชาวเล ชนเผ่าพื้นเมือง มอแกลน อุรักลาโว้ย อยู่ทางภาคใต้ ในแถบจังหวัดภูเก็ต พังงา และระนอง เป็นต้น

ที่มาภาพ IMN เครือข่ายสื่อชนเผ่าพื้นเมือง

แน่นอนว่า ชนเผ่าพื้นเมืองกลุ่มเหล่านี้ ยังคงประสบปัญหาและสถานการณ์ความขัดแย้ง ความไม่เป็นธรรมอยู่มากมาย ทั้งในเรื่องนโยบาย กฎหมายและมาตรการที่ถูกนำไปปฏิบัติแบบไม่สอดคล้องกับวิถีวัฒนธรรมชุมชนและขัดกับหลักเจตนารมณ์ของปฏิญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิชนเผ่าพื้นเมืองที่รัฐบาลไทยร่วมรับรองไปเมื่อปี พ.ศ.2550 จนทำให้เกิดการเลือกปฏิบัติ มีการข่มขู่ จับกุม คุมขัง และปรับไหม่อยู่บ่อยครั้ง

นอกจากนี้ชนเผ่าพื้นเมืองส่วนใหญ่อยู่ในสภาวะสูญเสียอัตลักษณ์ ภาษา และวัฒนธรรมท้องถิ่นตนเองไปอย่างรวดเร็ว อีกทั้งกระแสโลกาภิวัฒน์และกระบวนการพัฒนาประเทศที่มีพลังดึงดูดเยาวชนและคนวัยทำงานออกจากชุมชนไปสู่เมืองมากขึ้น เพื่อให้มีมาตรการขจัดการเลือกปฏิบัติ มีการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิชนเผ่าพื้นเมือง พร้อมทั้งสร้างหลักประกันการยอมรับการมีตัวตนของชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทย และมีกลไกหนุนเสริมการพัฒนาศักยภาพแกนนำทั้งหญิง ชาย และเยาวชนของชนเผ่าพื้นเมืองให้สามารถแก้ไขปัญหาของตนเอง ตลอดจนให้ชนเผ่าพื้นเมืองได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนและประเทศชาติที่ยั่งยืน และสามารถกำหนดวิถีชีวิตตนเองได้จริง

วิไลลักษณ์ เยอเบาะ ตัวแทนชนเผ่าพื้นเมืองอ่าข่า ปัจจุบันเป็นรองผู้อำนวยการสมาคมศูนย์รวมการศึกษาและวัฒนธรรมของชาวไทยภูเขาในประเทศไทย (ศ.ว.ท./IMPECT) และกองเลขานุการเครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย (คชท.) บอกเล่าให้ฟังในฐานะที่เป็นตัวแทนพี่น้องชนพื้นเมืองอาข่า มองว่า ปัญหาหลักๆ จะเป็นเรื่อง ป่าไม้ที่ดิน และสัญชาติ ซึ่งเรื่องป่าไม้ที่ดิน ก็จะคล้ายกับพี่น้องกลุ่มอื่นๆ คือ ชุมชนที่อยู่ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติ หรือป่าสงวน อะไรประเภทนั้น ก็มีปัญหาในเรื่องสิทธิในการทำกินและอยู่อาศัย อย่างมั่นคง และมีข้อจำกัดในการใช้ที่ดินและทรัพยากรต่างๆ ด้วย

วิไลลักษณ์ เยอเบาะ

“ส่วนเรื่องสัญชาติ ชาวอาข่ายังมีคนตกหล่นไม่ได้สัญชาติอยู่หลายหมื่นคน ทำให้พวกเขาไม่ได้รับและเข้าไม่ถึงสวัสดิการต่าง ๆ จากรัฐ โดยเฉพาะกลุ่มที่มีปัญหาซ้ำซ้อน เช่น พิการหรือป่วยเป็นโรคร้ายแรง พอไม่มีสัญชาติก็ไม่สามารถใช้สิทธิบัตรทองได้ ทำให้มีภาระค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลสูง อยู่อย่างยากลำบาก ยิ่งช่วงนี้สถานการณ์โควิด ทำให้พวกเขามีงานลดลง แต่มีรายจ่ายที่สูง และไม่ได้รับการเยียวยาใดๆ ทำให้ใช้ชีวิตอย่างยากลำบากพอสมควร”

วิไลลักษณ์ ยังพูดถึงเรื่องทัศนคติของรัฐไทยที่มีต่อชนเผ่าพื้นเมือง ด้วยว่า อยากให้รัฐ มองพลเมืองชนเผ่าพื้นเมืองใหม่ ไม่อยากให้มองว่าเป็นกลุ่มที่สร้างภาระให้กับรัฐ หรือเป็นกลุ่มที่มีแต่ปัญหา แต่อยากให้มองว่าเป็นพลเมืองไทยกลุ่มหนึ่งที่ควรต้องได้รับการพัฒนาหรือยกระดับศักยภาพ เพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี และเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศกลุ่มหนึ่ง โดยเฉพาะในภาคการเกษตร ชนเผ่าพื้นเมืองถือเป็นกลุ่มที่มีการผลิตพืชผลการเกษตรที่ใหญ่และเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยเป็นอย่างมาก เพียงแต่พวกเขาขาดการสนับสนุนอย่างเป็นองค์รวม เช่น ไม่มีสัญชาติ ก็ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งทุนในการที่จะมาลงทุนได้ หรือบางชุมชนอยู่ห่างไกลทำให้ไม่มีถนน ไม่มีไฟฟ้า ไม่มีสัญญาณมือถือหรืออินเทอร์เน็ต ทำให้ยากต่อการค้าขายหรือขนส่งสินค้าต่างๆ เป็นต้น

“เรื่องความเป็นพลเมือง อยากให้รัฐรีบแก้ไขระเบียบ นโยบาย หรือกฎหมายที่เกี่ยวกับสถานะบุคคล ให้เอื้อหรือพิจารณาการให้สัญชาติได้อย่างรวดเร็ว และครอบคลุมมากขึ้นสำหรับบุคคลที่รอพิสูจน์สถานะบุคคลอยู่ โดยเน้นการทำงานอย่างเป็นระบบ และเป็นรูปธรรมร่วมกับหน่วยงานในระดับพื้นที่ ส่วนเรื่องการศึกษา ดิฉันมองว่าการศึกษานั้นเป็นฐานสำคัญในการพัฒนาคน การศึกษาควรจะสร้างคนให้สมบูรณ์ในทุก ๆ ด้าน แต่ปัจจุบันต้องยอมรับว่า การศึกษากำลังพรากคนออกจากครอบครัว ออกจากถิ่น และองค์ความรู้ภูมิปัญญาดีงามของท้องถิ่น ขณะนี้ เรามีชนเผ่าพื้นเมืองหลายกลุ่มชาติพันธุ์ กำลังอยู่ในยุคล่มสลายทางภาษาและวัฒนธรรม ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าเป็นหวง และต้องรีบฟื้นฟูหรืออนุรักษ์อย่างเร่งด่วนเลย”

เช่นเดียวกับ เดียว ทะเลลึก ตัวแทนพี่น้องชาวเล อูรักลาโว้ย เกาะลันตา และเป็นผู้ประสานงาน เครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองภาคใต้ ได้เล่าถึงปัญหาของพี่น้องชาวเล ชนเผ่าพื้นเมืองอุรักลาโว้ย เอาไว้ในวงเสวนาออนไลน์ “ฟังเสียงชาวเล เมื่อพื้นที่จิตวิญญาณถูกคุกคาม” ที่ทางเครือข่ายสื่อชนเผ่าพื้นเมืองฯ ได้จัดขึ้นเมื่อวันที่ 23 ตุลาคม 2564 ที่ผ่านมา

เดียว เล่าให้ฟังว่า ประวัติศาสตร์ดั้งเดิมของพี่น้องชาวเล อุรักลาโว้ย นั้นมาทำมาหากินตามหมู่เกาะต่างๆ ในแถบทะเลอันดามัน พี่น้องเราอยู่กันมานานนับร้อยปี จนถึงในช่วงยุคสงครามโลกครั้งที่สอง ได้มีการปักปักเขตแดนกัน แถบมะริด ทวาย ตะนาวศรี เมื่อก่อนนั้นเป็นของไทย แต่ต่อมามีการแบ่งดินแดนกลายเป็นของพม่า แล้วฝั่งอันดามันทางใต้ ก็ไปขึ้นกับมาเลเซีย ซึ่งตอนนั้น เกาะหลีเป๊ะจะต้องประกาศเป็นของมาเลเซีย แต่ว่า ร.5 ได้มีการอพยพโยกย้ายพี่น้องชาวเลจากเกาะหลีเป๊ะ เกาะบุหลน มาที่เกาะลันตา เพื่อให้เป็นแนวเขตให้รู้ว่านี่เป็นแนวเขตของแผ่นดินสยาม สรุปก็คือว่า พี่น้องชาวเลจากเกาะต่างๆ นั้น เลือกที่จะอาศัยอยู่ในแผ่นดินสยาม และยังได้มีส่วนช่วยทำให้พื้นที่อาณาเขตสยาม ในแถบทะเลอันดามัน มีแนวเขตที่ขยายกว้างออกไปจนถึงทุกวันนี้

“สิ่งเหล่านี้ ไม่ได้มีการบอกเล่าให้คนไทยส่วนใหญ่ได้รู้เลยว่า เรานั้นมีส่วนร่วมในการสร้างชาติ สร้างสยามในสมัยนั้น แต่พอมาถึงสมัยนี้ พี่น้องชาวเลที่เคยอาศัยอยู่บนเกาะในแถบอันดามัน และเคยทำมาหากินตามทะเลแถบนี้ กลับถูกปิดกั้นการทำมาหากิน รวมทั้งมีการจำกัดสิทธิในการอยู่อาศัย โดยมีการประกาศเป็นเขตอุทยานแห่งชาติขึ้นมา ซึ่งทำให้พี่น้องชาวเลถูกห้ามออกไปทำมาหากินตามเกาะต่างๆ แล้วยังเป็นการปิดกั้นการเดินทางไปยังพื้นที่ทางจิตวิญญาณของพวกเราด้วย หนำซ้ำทุกวันนี้ พื้นที่ฝังศพของบรรพบุรุษเรา ซึ่งเป็นพื้นที่ทางจิตวิญญาณยังถูกบุกรุก มีนายทุนเข้ามาครอบครอง ทำให้พี่น้องชาวเลของเรานั้นถูกคุกคามไปทั่วทุกพื้นที่ทางแถบอันดามัน ซึ่งคุณค่าเหล่านี้ ถ้ามองดูแล้ว กลายเป็นว่า สิ่งที่เราเคยมีคุณค่ามีส่วนร่วมในการสร้างสยามมานั้น ตอนนี้กลับไม่มีค่าอะไรเลย ในสายตาของรัฐไทยในขณะนี้ ไม่ได้มองเราในฐานะที่เป็นคนสร้างชาติ สร้างสยามใดๆ เลย” เดียว ทะเลลึก ตัวแทนชนเผ่าพื้นเมืองอูรักลาโว้ย สะท้อนความรู้สึกออกมาให้ฟัง

“เขาไม่เคยถามเราเลยว่าต้องการอะไร”สถานการณ์สิทธิฯ ในช่วงวิกฤตมนุษยธรรมของชาวมอแกน

นารี วงศาชล ตัวแทนพี่น้องชนเผ่าอุรักลาโว้ย บ้านเกาะจำ อำเภอเหนือคลอง จังหวัดกระบี่ ก็ได้บอกย้ำว่า พี่น้องเรามีวัฒนธรรม ด้านความเชื่อ และศาสนาที่หลากหลาย ผสมกลมกลืน อยู่ร่วมกันด้วยความสงบสันติมาโดยตลอด แต่ต่อมา ก็มีกฎหมายอุทยานฯ เข้ามา ซึ่งมันไม่สอดคล้องกับวิถีชุมชนของพี่น้องชาวเลเลย

“เราไม่รู้หรอกเรื่องกฎหมาย เพราะจริงๆ แล้วกฎหมายนั้นเพิ่งมาทีหลัง ซึ่งเรานั้นอยู่มาก่อน เราไม่รู้เรื่องกฎหมาย แต่เรารู้จักกฎธรรมชาติ และเคารพต่อธรรมชาติ เราอาศัยอยู่กับทะเลอันดามัน และบนเกาะนั้นอย่างสงบ สันติ มานาน จู่ๆ ก็มีกฎหมายอุทยานฯ ประกาศออกมา ซึ่งมันแปลกมาก แล้วมาบอกว่าเราไม่ใช่คนที่นี่ และก็กลายเป็นคนบุกรุกไปเลย จากคนบุกเบิก กลายเป็นคนบุกรุก โดยการออกกฎหมายที่ไปรุกรานคุณค่าของชาวเล”

นารี ยังบอกเล่าถึงปัญหาที่ตามมาจนถึงปัจจุบัน นั่นคือ นโยบายการพัฒนาประเทศ ที่มุ่งเน้นการท่องเที่ยว โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดกระบี่ แถวเกาะจำ เกาะพีพี

เธอบอกอีกว่า ในขณะที่รัฐมีนโยบายพัฒนาประเทศ เน้นการท่องเที่ยว แต่กลับพี่น้องชาวเล กลับไม่ได้รับการใส่ใจ และเข้ามาแก้ไขปัญหา

“เพราะรัฐมองว่าที่นี่มีธรรมชาติเยอะ ซึ่งพี่น้องชาวเลเราก็อาศัยอยู่ตรงนี้กันมานาน แต่กลายเป็นว่า ตอนนี้มีกลุ่มทุน มีนักท่องเที่ยวเข้ามาอยู่มะรุมมะตุ้มกันเต็มไปหมด แต่ไม่ใส่ใจพวกเราเลย ขนาดแพลงตอนตัวเล็กๆ เขาล่องเรือยังมองเห็น แต่พี่น้องอุรักลาโว้ยตัวเป็นๆ พวกเขากลับมองไม่เห็นเรา” เธอบอกเล่าด้วยน้ำเสียงปนน้อยใจ

เช่นเดียวกับ จุฑามาส เรืองนุ่น แกนนำเยาวชน ชนเผ่าพื้นเมืองมอแกลน ก็ได้บอกเล่าถึงปัญหาที่ยังเผชิญกันอยู่ ว่าตอนนี้ พวกเขาเอาป่าช้าบรรพบุรุษของเรามาเป็นที่จอดรถ ซึ่งทุกวันนี้ก็พยายามเรียนรู้ วิถีวัฒนธรรมชุมชนของเราเอาไว้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของภาษา ประเพณี การทำมาหากินของพี่น้องเรา

“ซึ่งถ้าถามความฝันของหนู ก็คงเหมือนกับความฝันของเด็กๆ ชาวเลทุกคนนั่นแหละ คืออยากมีบ้าน มีที่ดินเป็นของตัวเอง โดยไม่ต้องไปเช่าอาศัยอยู่ นอกจากนั้น อยากมีการศึกษาที่ดี มีทุนช่วยเหลือให้พวกเราได้มีโอกาสเรียนหนังสือ เพื่อกลับมาพัฒนาชุมชนของตนเอง”

สั่งปิดเกาะพีพีหลังพบผู้ติดโควิด-เครือข่ายชาวเลโวยอุทยานฯ ประกาศรื้อ "บาฆัด" ขัด MOU ที่ทำกับ 'วราวุธ'

ทั้งนี้ หาดราไวย์และเกาะลันตา มีกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลอันเป็นชนเผ่าพื้นเมืองดั้งเดิมสามชนเผ่า ได้แก่ มอแกน (มอเก็น) มอแกลน และอุรักลาโว้ย ซึ่งต่างยังดำรงวิถีชีวิต และรักษาวัฒนธรรมมาอย่างต่อเนื่อง ไม่น้อยกว่า 200 ปี หรือราวๆ 7 รุ่น โดยมีหลักฐานทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีว่า เป็นผู้บุกเบิกพื้นที่ตั้งถิ่นที่อยู่อาศัย มีการขุดค้นพบโครงกระดูกมนุษย์โบราณ ที่มีการตรวจสอบอายุการฝังว่า เป็นระยะเวลานานนับร้อยปีมาแล้ว

สอดคล้องกับที่ มานพ คีรีภูวดล ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อสัดส่วนกลุ่มชาติพันธุ์ พรรคก้าวไกล และเป็นตัวแทนพี่น้องชนเผ่าพื้นเมืองกะเหรี่ยง หรือปกาเกอะญอ ก็บอกเล่าให้ฟังว่า ปัญหาเรื่องชาติพันธุ์ในประเทศไทย ปัญหาเดิมนั้นก็ยังไม่ถูกแก้ นั่นคือปัญหาที่จะให้ชนเผ่าพื้นเมืองนั้นมีตัวตน มีสถานะเหมือนกับพลเมืองไทยทั่วไป เนื่องจากในความรู้สึกหรือในทัศนคติของสังคมส่วนใหญ่ รวมไปถึงหน่วยงานของราชการหรือผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ยังไม่พังทลายหรือว่ายังไม่ได้สร้างทัศนคติที่ดีแก่คนชาติพันธุ์นี้มากเท่าไหร่ สังคมส่วนใหญ่มักจะมองพี่น้องกลุ่มชนเผ่าพื้นเมืองที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย นั้นเป็นชนกลุ่มน้อย คนที่มาอาศัยในประเทศไทย เป็นผู้ทำลายทรัพยากร เป็นคนที่ไม่มีการศึกษา เป็นคนที่ไม่มีรากเหง้า ซึ่งจริงๆ แล้ว เราไม่ได้มองความจริง ว่าพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์นั้นอยู่กันมาก่อนนานแล้ว

มานพ คีรีภูวดล แฟ้มภาพ

“ผมยกตัวอย่างพี่น้องชาวเล ชาวมอแกน ชาวอุรักลาโว้ย ก็ดี พวกเขาอยู่ก่อนที่จะเกิดรัฐไทยด้วยซ้ำไป แม้กระทั่งชาวมานิ ที่อยู่ในป่าหรือที่คนไทยเมื่อก่อนเรียกว่าซาไก หรือเงาะป่า พวกเขาอยู่มาก่อนประวัติศาสตร์ในภูมิภาคเอเชียด้วยซ้ำไป เช่นเดียวกับพี่น้องชาวลัวะ ก็เป็นชนพื้นเมืองที่ในประวัติศาสตร์นั้น เคยเป็นผู้ปกครองอาณาจักรในล้านนา ในแถบภาคกลาง และตะวันตก ค่อนข้างเยอะ ชนกลุ่มนี้ก็ถูกมองถูกทำให้เป็นคนชาวเขา เป็นคนกลุ่มน้อย ทั้งๆ ที่พวกเขานั้นตั้งถิ่นฐานอยู่มาก่อนประวัติศาสตร์ประเทศไทยด้วยซ้ำ หรือแม้กระทั่งพี่น้องกะเหรี่ยง ปกาเกอะญอ ก็มีประวัติศาสตร์มานานแล้ว ในประวัติศาสตร์ก็บันทึกเอาไว้ว่า ครั้งหนึ่งพี่น้องกะเหรี่ยง เคยรับราชการมาตั้งแต่สมัยอยุธยา สมัยรัตนโกสินทร์ โดยดูจาก ศาลเจ้าพ่อพะวอ ที่จังหวัดตาก ซึ่งครั้งหนึ่งพะวอ เป็นชนกะเหรี่ยง เคยเป็นนายทหารของพระเจ้าตาก เป็นนักรบชาวกะเหรี่ยง ปกาเกอะญอ และเป็นนายด่านแม่ละเมาเมืองหน้าด่านของไทยในสมัยของ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ซึ่งเคยร่วมสู้รบเคียงไหล่กันมา”

มานพ ยังอธิบายถึงทัศนคติของรัฐไทย ตั้งแต่อดีตจนถึงทุกวันนี้ ก็ยังมองชนเผ่าพื้นเมืองเป็นตัวปัญหา เป็นชนกลุ่มน้อยเหมือนเดิม ทัศนคติเหล่านี้ ที่รัฐไทยมอง มันเป็นทัศนคติของความมั่นคงในช่วงสงครามคอมมิวนิสต์ แล้วมันถูกสร้างไว้ในระบบการศึกษา มันก็เลยทำให้ทัศนคติของคนส่วนใหญ่ในสังคมฝังอยู่ในหัว กลายเป็นการด้อยค่า มองว่าชนเผ่า ไม่ใช่คนไทย

“ซึ่งแท้จริงแล้ว สยามประเทศ หรือประเทศไทย นั้นประกอบด้วยผู้คนที่หลากหลายชาติพันธุ์ ไม่ว่าจะเป็น คนไทย ไทยญวน คนไทยที่มีเชื้อสายมาจากเอเชียกลางก็มี เช่นตระกูลบุญนาค ก็มาจากเชื้อสายชาวเปอร์เซีย นอกจากนั้น ยังมีคนไทยมลายู คนไทยกะเหรี่ยง คนไทยมอญ คนไทยจีน ไทยลัวะ มันมีหลายเชื้อชาติเลยนะ แต่ว่าตอนนั้นยังเรียกสยามประเทศ มันไม่มีคำว่าคนไทย พอกลายมาเป็นรัฐไทย โดยเฉพาะมีนโยบายสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม ที่พูดถึงเรื่องชาติ ความเป็นหนึ่งเดียว มันก็เลยทัศนคติคือคนที่พูดภาษาไทยไม่ได้ พูดไม่ชัด ก็ถือว่าไม่ใช่คนไทย สุดท้าย ทัศนคติที่ไม่ดีต่อกลุ่มชนพื้นเมืองต่างๆ มันเริ่มขยายเป็นวงกว้าง ขนาดใหญ่ กลายเป็นการไม่ยอมรับการมีตัวตนของความเป็น พหุวัฒนธรรม พหุสังคม ผมคิดว่ารัฐยังทำหน้าที่ไม่ดีพอ รัฐยังคงสร้างทัศนคติแบบเดิมๆ นี้ทิ้งไว้อยู่จนกลายมาเป็นปัญหายืดเยื้อมาถึงจนทุกวันนี้”

นี่คือบางส่วนของปัญหาพี่น้องชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทย ที่พยายามสะท้อนออกมา ซึ่งล้วนเป็นปัญหาที่หมักหมม สะสมมาอย่างต่อเนื่องและยาวนาน จึงเป็นที่มา ทำให้เครือข่ายสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย และอีกหลายกลุ่มหลายองค์กร ได้มีความพยายามผลักดัน ร่าง พ.ร.บ.สภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย นี้ขึ้นมา

ร่าง พ.ร.บ.ชนเผ่าพื้นเมืองฯ คือทางออกของปัญหาให้รัฐยอมรับว่ามีตัวตน จัดการตนเอง ผ่านกลไก “สภาชนเผ่าพื้นเมือง”

ศักดิ์ดา แสนมี่ เลขาธิการสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย พยายามอธิบายแนวคิดหลักที่กลุ่มชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทยรวมตัวกันเพื่อเสนอร่างกฎหมายขึ้นมา โดยใช้ชื่อว่า “ร่างพระราชบัญญัติสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย” ซึ่งถูกยื่นเข้าสู่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ที่ตั้งขึ้นมาโดย คสช.ตั้งแต่ปี 2557 แต่ยังไม่ได้ถูกหยิบยกขึ้นมาพิจารณาเลย จนกระทั่งมีรัฐบาลใหม่ที่มาจากการเลือกตั้ง กลุ่มชนเผ่าพื้นเมือง จึงไปรวบรวมรายชื่อผู้สนับสนุนร่างกฎหมายนี้มาได้ 13,020 รายชื่อ และนำมายื่นต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2564 โดยเนื้อหาหลักในร่างกฎหมายฉบับนี้ คือ ขอให้รัฐ ยอมรับการมีอยู่ของชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทย

“ข้อแรก เราต้องการให้รัฐยอมรับว่า พวกเรามีตัวตน มีวีถีชีวิต มีรูปแบบการทำมาหากินเป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง ดังนั้นเราจึงควรได้รับความคุ้มครองสิทธิของเรา ด้วยการได้โอกาสเพื่อดูแลจัดการตนเองอย่างเป็นรูปธรรม ผ่านกลไกที่เรียกว่า สภาชนเผ่าพื้นเมือง” ศักดิ์ดา กล่าว

เลขาธิการสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย อธิบายเพิ่มว่า หากมองในเชิงการจัดการเพื่อดูแลปกป้องคนบางกลุ่มที่มีลักษณะต่างออกไป เช่น เด็ก สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ ต่างก็ต้องมีแนวทางการดูแลและจัดการตามบริบทเฉพาะของปัญหา ซึ่งกลุ่มชนเผ่นพื้นเมือง ก็เป็นกลุ่มที่มี “บริบทเฉพาะ” เช่นเดียวกัน โดยเฉพาะรูปแบบการดำรงชีวิตร่วมกับธรรมชาติ การหาอยู่หากินในธรรมชาติ ซึ่งปัจจุบันล้วนแต่ประกาศเป็นเขตป่าอนุรักษ์ ส่วนกฎหมายป่าไม้และที่ดินที่มีอยู่ ก็ล้วนออกมาโดยพิจารณาจากรูปแบบการทำเกษตรกรรมของคนในพื้นที่ราบลุ่ม

ดังนั้น สิทธิที่กำลังพูดถึง จึงไม่ใช่แค่การมีบัตรประชาชน มีสิทธิเลือกตั้ง มีสิทธิรับการศึกษาหรือเข้าถึงระบบสุขภาพ แต่เรากำลังพูดถึง สิทธิที่จะถูกยอมรับในฐานะคนที่มีรูปแบบการใช้ชีวิต “แตกต่างออกไป” จากพื้นฐานที่คนส่วนใหญ่ปฏิบัติกัน และไม่ใช่สิทธิพิเศษใดๆ เป็นเพียงการขอให้มีกฎหมายรองรับกลไกการจัดการตัวเองในรูปแบบ “สภาชนเผ่าพื้นเมือง” ที่จะไปเชื่อมโยงกับกลไกทางราชการของรัฐส่วนกลางอยู่ดี

“ยกตัวอย่างรูปแบบการทำมาหากินของพวกเรา คือ ไร่หมุนเวียน ซึ่งปัจจุบัน รัฐประกาศเป็นเขตป่าอนุรักษ์ทับไปหมดแล้ว หากจะเข้าสู่กระบวนการพิสูจน์สิทธิ์ตามกฎหมายที่ใช้กัน พี่น้องชนเผ่าก็ไม่มีทางได้สิทธิ์ในที่ดินทำกิน เพราะกฎหมายระบุว่า ต้องเห็นร่องรอยสิ่งปลูกสร้างหรือร่องรอยการทำการเกษตรแบบไร่หรือสวน ต้องเห็นการปลูกพืชเป็นแถวเป็นแนว เป็นคันนา เป็นบ่อน้ำ มีร่องรอยเหล่านี้มาก่อนที่จะประกาศเป็นเขตป่าอนุรักษ์ ซึ่งทั้งหมดนั้นไม่ใช่รูปแบบการทำไร่หมุนเวียนของชนเผ่า พวกเราไม่มีอาคารปลูกสร้าง ไม่มีแปลงนา ไม่ขุดบ่อ ไม่ปลูกต้นไม้เป็นแถวเป็นแนว”

“เราก็ยอมรับนะครับว่า เรื่องแบบนี้คุยกันยากมาก เพราะหน่วยงานรัฐก็ยึดตามกฎหมาย ดังนั้นเราจึงต้องเรียกร้องให้รัฐ ยอมรับการมีตัวตันของเราก่อน ต้องให้รัฐยอมรับก่อนว่า มีกลุ่มคนที่ต่างออกไป แต่เป็นคนไทยเหมือนกัน ใช้ชีวิตอยู่บนแผ่นดินไทย”

จับตามอง 4 ร่างกฎหมายเกี่ยวกับชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง

ปัจจุบันมีร่างกฎหมาย 4 ฉบับที่อยู่ระหว่างการผลักดันภายใต้แนวคิดคล้ายๆ กัน แต่เนื้อหาเน้นหนักแตกต่างกันไป คือ

1.ร่าง พ.ร.บ.สภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย ซึ่งเกิดจากการรวมตัวกันของ 17 ชาติพันธุ์เป็นเครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย ตั้งแต่ปี 2550 และเพิ่มมาจนมีประมาณ 38-39 กลุ่มชาติพันธุ์ ร่วมพิจารณายกร่างกฎหมายในปี 2555 ก่อนจะส่งต่อให้คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายแก้ไขในเชิงเทคนิค และเสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ในปี 2557

สรุปสาระร่าง พ.ร.บ.สภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทยจาก iLaw

2.ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ เสนอโดย ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร

3.ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมและคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์ พ.ศ. …. เสนอโดย คณะอนุกรรมาธิการเพื่อพิจารณาศึกษาด้านผู้สูงอายุ ผู้พิการ และกลุ่มชาติพันธุ์ ในคณะกรรมาธิการกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ กลุ่มชาติพันธุ์ และผู้มีความหลากหลายทางเพศ สภาผู้แทนราษฎร

4.ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมและคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์ ฉบับพรรคก้าวไกล

ซึ่งเมื่อเราพิจารณาดูเนื้อหาของร่างกฎหมายทั้ง 4 ฉบับนี้แล้ว ดูคล้ายๆ กัน แต่ไม่ได้ขัดแย้งกัน เพียงแต่ว่าจะมีเนื้อหาบางส่วนแตกต่างกันไปบ้าง แต่ไม่ว่าจะพิจารณาร่างกฎหมายฉบับไหน ประเด็นสำคัญที่กลุ่มชนเผ่าพื้นเมืองต้องผลักดันให้สำเร็จ คือหลักการที่รัฐต้องยอมรับการมีตัวตนของชนเผ่าพื้นเมืองต่างๆ ยอมรับวิถีชีวิตที่แตกต่าง และเปิดโอกาสให้จัดการตัวเองผ่านกลไกที่เรียกว่า “สภาชนเผ่าพื้นเมือง”

ทั้งนี้ 9 มิถุนายน 2564 ที่ผ่านมา ณัฐวุฒิ บัวประทุม รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ณัฐพงษ์ สืบศักดิ์วงศ์ และ มานพ คีรีภูวดล ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อสัดส่วนกลุ่มชาติพันธุ์ พรรคก้าวไกล ได้ยื่นร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมและคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์ฉบับก้าวไกล ถึงชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร และสุกิจ อัถโถปกรณ์ ที่ปรึกษาประธานสภาผู้แทนราษฎร

สืบเนื่องมาจากประเทศไทยมีร่างกฎหมาย พ.ร.บ.ชาติพันธุ์ ทั้งหมด 3 ฉบับ ร่าง พ.ร.บ. สภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย จัดทำโดยสภาชนเผ่าพื้นเมืองฯ ร่าง พ.ร.บ. คุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ โดยศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมและคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์ ยกร่างโดยคณะกรรมาธิการกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ กลุ่มชาติพันธุ์ และผู้มีความหลากหลายทางเพศ ซึ่งทั้ง 3 ฉบับ ได้เสนอยื่นเรื่องไปก่อนหน้านั้น และยังอยู่ในขั้นตอนการเสนอและเตรียมรับฟังความคิดเห็น

พรรคก้าวไกล จึงได้มีมติเอกฉันท์ เสนอร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมและคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์ ด้วยเหตุผล “เพื่อส่งเสริมความเท่าเทียม คืนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ให้กลุ่มพี่น้องชาติพันธุ์ ส่งเสริมความแตกต่างหลากหลายและการเคารพในวิถีชีวิต ภาษา ภูมิปัญญา และวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์” และ สถานการณ์ปัจจุบันที่ยังไม่มีกฎหมายส่งเสริมและคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์โดยตรง ส่งผลให้กลุ่มชาติพันธุ์ต้องเผชิญปัญหาด้านต่างๆ โดยเฉพาะปัญหาการขาดสิทธิทางวัฒนธรรม ขาดสิทธิทางทรัพยากร และปัญหาอคติทางสังคมต่อกลุ่มชาติพันธุ์

สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมและคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์ ได้แก่

1.ร่างขึ้นภายใต้หลักการในรัฐธรรมนูญที่รับรองสิทธิความหลากหลายของกลุ่มคนบนและภายใต้พื้นฐานเเนวคิดเรื่องพหุวัฒนธรรม ซึ่งเป็นพื้นฐานของสังคมไทยที่ประกอบด้วยกลุ่มคนหลากหลายไม่ต่ำกว่า 60 ชาติพันธุ์ เพื่อให้มีพื้นที่ มีที่ยืน มีตัวตนเเละมีศักดิ์ศรี และมีกฎหมายเพื่อเป็นเครื่องมือในการคุ้มครองศักดิ์ศรีและสิทธิเหล่านี้ 2.ให้มีคณะกรรมการที่มีองค์ประกอบจากกลุ่มชาติพันธ์ุเเละหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อจัดทำยุทธศาสตร์ 3.ให้มี ‘สภาชาติพันธุ์’ เพื่อที่จะเป็นกลไกในการประสานงานกับหน่วยราชการหรือเอกชนที่เกี่ยวข้อง โดยมีหน้าที่กำหนดทิศทางเเละอัตลักษณ์ตัวตน หรือวิถีชีวิตที่สอดคล้องตามพื้นที่ตามความเชื่อ 4.ร่างกฎหมายฉบับนี้จะไม่มีบทลงโทษทางอาญาในกรณีที่มีการกระทำตามพระราชบัญญัติ เนื่องจากต้องการมุ่งเน้นที่การส่งเสริมเเละสร้างความเข้าใจในสังคม

มานพ คีรีภูวดล ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อสัดส่วนกลุ่มชาติพันธุ์ พรรคก้าวไกล ได้กล่าวถึง ร่าง พ.ร.บ.ทั้ง 4 ร่างนี้ว่า ร่าง พ.รบ ที่กำลังขับเคลื่อนกันอยู่นี้ ต้องยอมว่า เรามีองค์กรที่เคลื่อนไหวและผลักดันมาอย่างต่อเนื่องและยาวนานนี้ก็คือ สภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย และสมาคมศูนย์รวมการศึกษาและวัฒนธรรมของชาวไทยภูเขาในประเทศไทย (ศ.ว.ท./IMPECT) ซึ่งต้องขอชื่นชมและขอขอบคุณมากๆ ที่เป็นฝ่ายริเริ่ม

“ซึ่งความสำคัญของ ร่าง พ.ร.บ.ทั้งหมดนี้ ผมคิดว่ามันมีประเด็นสำคัญนั่นคือ เป็นการรับรองตัวตนของความเป็นชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทยว่ามีจริง มีตัวตนจริง เพราะว่าในรัฐธรรมนูญมาตรา 70 ก็พูดถึงเรื่องชาติพันธุ์นะครับ ซึ่งในการแถลงนโยบายรัฐบาลก็พูดแถลงเรื่องของเรื่องชาติพันธุ์ตรงนี้ เพราะฉะนั้น มันเป็นกฎหมายที่ฝ่ายบริหารจะต้องผลักดันออกมา เพราะผมคิดว่า มันสำคัญ ถ้ามีกฎหมายฉบับนี้ มันจะไปแก้ไขปัญหาก็คือเรื่องของการยอมรับการมีตัวตน บนพหุสังคม พหุวัฒนธรรม ที่มีอยู่ในประเทศไทยซึ่งจะนำไปสู่การบริหารจัดการและส่งเสริมเขตวัฒนธรรมพิเศษ เช่น การจัดการวัฒนธรรม วิถีชีวิต ประเพณีวัฒนธรรม รวมไปถึงเรื่องที่ดินและป่าไม้”

ในส่วนของ ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมและคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์ ฉบับพรรคก้าวไกล มานพ กล่าวว่า จะมุ่งเน้นในเรื่องของเขตวัฒนธรรมพิเศษ ยกตัวอย่าง ไปจัดเขตวัฒนธรรมพิเศษ ที่อำเภอเชียงดาว เพราะมีหลายชนเผ่า มีวัฒนธรรม มีชุมชน ก็สามารถกำหนดเป็นเขตวัฒนธรรมพิเศษ มีการใช้ชีวิต การใช้ทรัพยากร การใช้ที่ดิน การดำรงชีวิตและต้องรับรองภายใต้วิถีและวัฒนธรรมและจารีตประเพณีของกลุ่มคนนั้นๆ ซึ่งคิดว่านี่คือความสำคัญ ที่มีอยู่และมันจะไปแก้ไขปัญหาเรื่องของที่ดินด้วย ไปแก้ปัญหาเรื่องของการมีตัวตนด้วย ก็ต้องมีแผนบริหารจัดการเขตวัฒนธรรมพิเศษออกมาให้ชัดเจน และต่อเนื่อง

“จากนั้น ก็จะมีอีกกลไกหนึ่งคือ เขาเรียกว่ากลไกลสภา ในระดับประเทศ ก็ต้องมีสภาชนเผ่าพื้นเมือง บางร่างใช้คำว่าสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย บางร่างใช้คำว่า คณะกรรมการด้านชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง บางร่างจะใช้คำว่า “สภาชนเผ่าพื้นเมือง” เพราะฉะนั้น จะใช้ชื่ออะไรก็ได้ แต่มันต้องถูกยอมรับและถูกแต่งตั้งโดยชอบด้วยกฎหมายว่าต้องมีกลไกในระดับประเทศ มีการทำงานทั้งในระดับนโยบาย บริหาร ในสภาชนเผ่า และเข้าไปเชื่อมประสานกับการบริหารงาน หน่วยงาน ข้าราชการต่างๆ และองค์กรที่ทำงานด้านชาติพันธุ์ต่างๆ ซึ่งโดยเนื้อหาแล้วในแต่ละร่าง คิดว่าไม่ห่างกันเยอะ แต่ว่าในรายมาตราจะมีรายละเอียด แตกต่างกันออกไปเล็กน้อย อย่างเช่น ร่าง พ.ร.บ.สภาชนเผ่าพื้นเมืองฯ กับร่าง พ.ร.บ. ของพรรคก้าวไกล ก็จะนำเข้าสู่สภา ถ้าเข้าสู่สภาแล้ว ก็คงให้แต่ละร่างนั้นเข้าไปหารือกันในชั้นของกรรมาธิการกันต่อไป”

ตัวแทน ส.ส.พรรคก้าวไกล บอกอีกว่า เราต้องบอกว่า ทุกร่างแต่ละร่าง นั้นมีความหมายมาก เพราะแต่ละร่าง มันถูกออกแบบ ถูกสกัด กลั่นกรอง ถูกทำมาจากกระบวนการมีส่วนร่วมจากในพื้นที่ อย่างของสภาชนเผ่าพื้นเมืองฯ นั้นจะมีพี่น้องประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมจัดเวที ลงรายชื่อเสนอกฎหมายประมาณ 130,000กว่ารายชื่อด้วย ซึ่งตนคิดว่า หลังจากนี้ ทางกรรมาธิการ สภา จะต้องดำเนินการพิจารณาผลักดันให้ร่าง พ.ร.บ.นี้ออกมาโดยเร็วที่สุด

ภาพกิจกรรมประเพณีปีใหม่ม้ง อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่  | ที่มาภาพ : องอาจ เดชา

ชี้ข้อดี ร่าง พ.ร.บ.เป็นประโยชน์ต่อกลุ่มชาติพันธุ์ และรัฐไทย สังคมไทย

ทางด้าน สุวิชาน พัฒนาไพรวัลย์ หรือ “ชิ สุวิชาน” นักวิชาการ โรงเรียนสาธิตชุมชนสมเด็จย่า วิทยาลัยโพธิวิชชาลัย มศว.แม่แจ่ม และศิลปินปกาเกอะญอ ก็ออกมากล่าวว่า การที่เราเสนอร่าง พ.ร.บ.นี้ขึ้นมา เราไม่ได้ต้องการสิทธิพิเศษมากไปกว่าผู้อื่น เราไม่ต้องการการปกครองพิเศษของตัวเอง ไม่ได้ต้องการแบ่งแยกแยกดินแดน เหมือนกับที่คนบางกลุ่มเข้าใจกัน วิตกกังวลกัน แต่เราต้องการจะปกป้องปกป้องคุ้มครองความหลากหลายทางชาติพันธุ์ที่เรามีอยู่ และตนคิดว่ามันจะเป็นผลดีต่อรัฐไทย สังคมไทยต่อไปอย่างยั่งยืนด้วยซ้ำไป หมายความว่า ร่าง พ.ร.บ.นี้ มันจะเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ กับกลุ่มคนอย่างน้อยๆ สองกลุ่ม กลุ่มแรก ก็จะเป็นประโยชน์ต่อกลุ่มคนชาติพันธุ์ ไม่ว่าจะอยู่เหนือ กลาง อีสาน ตะวันออก ตะวันตก ใต้ กลุ่มที่สองก็จะเกิดประโยชน์ต่อสังคมไทย ประโยชน์ต่อรัฐไทย ประเทศไทยไปด้วย

“ในส่วนของพี่น้องกลุ่มชนพื้นเมือง ชาติพันธุ์ ก็คือจะได้รับการยอมรับในฐานะที่เป็นพลเมืองของชาติ มีความเสมอภาคและไม่ถูกเลือกปฏิบัติ เพราะฉะนั้นกฎหมายมันเกิดขึ้นมาเพื่อที่จะลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำ ไม่ใช่มาสร้างความพิเศษให้กับกลุ่มชาติพันธุ์ แต่จะเป็นการดึงศักดิ์ศรีคุณค่าของความเป็นมนุษย์ของคนชาติพันธุ์ ให้เทียบเท่ากับวัฒนธรรมหลักของชาติหรืออัตลักษณ์หลักของชาติ เพื่อที่จะไม่เป็นอัตลักษณ์รองต่อไป แต่จะเป็นอัตลักษณ์ วัฒนธรรมหนึ่งของไทยต่อไป อันที่สอง คือมรดกทางวัฒธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ จะได้รับการปกป้อง คุ้มครอง ส่งเสริม และใช้ประโยชน์ได้อย่างยั่งยืนเพราะถ้าไม่อย่างนั้น ถ้าจะใช้แต่ประโยชน์อย่างเดียว แต่ไม่มีการปกป้อง คุ้มครอง ไม่มีการส่งเสริม มันก็จะทำให้ความเป็นชาติพันธุ์นั้นทรุดโทรมและสูญหายไป ซึ่งจะช่วยทำให้พี่น้องคนชาติพันธุ์จะได้นำศักยภาพที่ตนมี เข้ามามีส่วนช่วยเหลือหรือตอบแทนบุญคุณของแผ่นดิน ของประเทศไทยได้อย่างเต็มภาคภูมิและมีศักดิ์ศรีในความเป็นพลเมือง และสามารถดำรงชีวิตอยู่ร่วมและอยู่รอดในสังคมไทยนี้ได้อย่างสันติสุข”

สุวิชาน บอกอีกว่า ในส่วนของรัฐไทย และสังคมไทย ที่จะได้ประโยชน์จากกฎหมายตัวนี้ ก็คือ สามารถนำเอาทุนทางวัฒนธรรมของพี่น้องชาติพันธุ์ที่มีคุณค่า มีอัตลักษณ์ มาแปลงเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจ ภาษาอังกฤษเรียกว่า ทรานสฟอร์ม (Transform) คือไปแปลงวัฒนธรรมให้เป็นทุนทางเศรษฐกิจได้ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของเศรษฐกิจสร้างสรรค์ การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ เชิงวัฒนธรรม หรือผลิตภัณฑ์ชนพื้นเมืองต่างๆ เช่น ลายผ้า การแต่งกาย หรือผลผลิตทางการเกษตรของพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งล้วนนำเอาทุนทางวัฒนธรรมของพี่น้องชาติพันธุ์ที่มีความหลากหลายนี้มาเป็นทุนเศรษฐกิจในระดับประเทศได้เลย

“ร่าง พ.ร.บ.นี้ ยังจะช่วยทำให้เกิดกระบวนการมีส่วนร่วมของที่น้องชาติพันธุ์ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของมิติเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นมิติการจัดการทรัพยากรต่างๆ ก็จะทำให้เกิดแนวร่วมในการพัฒนาของภาคประชาชนมากขึ้น ซึ่งจะทำให้รัฐเองสามารถลดภาระ ลดค่าใช้จ่ายในการในการดูแลจัดการทรัพยากรได้มากยิ่งขึ้น อีกทั้งจะทำให้เกิดองค์ความรู้ในการจัดการท้องถิ่น การจัดการชุมชนและการจัดการไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความรู้ วัฒนธรรมที่มีความหลากหลาย ซึ่งเป็นองค์ความรู้ ที่ประเทศสามารถนำไปต่อยอดได้”

รัฐต้องเปลี่ยนทัศนคติใหม่ : ความมั่นคงของชาติพันธุ์ คือความมั่นคงของชาติ

สุวิชาน อธิบายต่อถึงเรื่องของความมั่นคงของชาติ ซึ่งในความหมายของความมั่นคงของชาติของตนนั้น คือ แทนที่จะมองกลุ่มชาติพันธุ์ว่าเป็นภัยเป็นปัญหาความมั่นคงของชาติ ก็ปรับเปลี่ยนทัศนคติมุมมองเสียใหม่ ว่าเราจะทำให้กลุ่มพี่น้องชาติพันธุ์นี้พลิกโอกาส มาช่วยกันส่งเสริมสร้างความมั่นคงของประเทศแทน

“เพราะตราบใด ที่ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มพี่น้องชาติพันธุ์ตามแนวตะเข็บชายแดน หรือในเมือง ถ้าหากว่ายังไม่ได้รับการยอมรับเป็นพลเมืองของไทย และได้รับสิทธิ์เท่าเทียมคนไทย ได้รับสนับสนุน ส่งเสริมให้เท่าเทียมกับคนไทยทุกคน ผมคิดว่า ทุกวันนี้ พี่น้องชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทยนั้น มีความรักชาติ รักประเทศไทยไม่แตกต่างกับพี่น้องคนไทยทั่วไปหรอก เพราะความผูกพัน ความรัก สำนึกที่มีต่อแผ่นดินไทยที่มีต่อประเทศ ที่มีต่อสถาบันมาช้านาน นั้นเอาออกไม่ได้หรอกครับ มันอยู่ในใจ นี่แหละคือความมั่นคงของประเทศ ผ่านความมั่นคงของมนุษย์และสังคมไทยอย่างแท้จริง”

การชุมนุมเครือข่ายคนไร้สัญชาติ กลุ่มชาติพันธุ์ และชนเผ่าพื้นเมือง เรียกร้องนโยบายเขตสังคมวัฒนธรรมพิเศษของกลุ่มชาติพันธ์ุและชนเผ่าพื้นเมือง เมื่อ 29 มี.ค.2555 โดย: มูลนิธิ ชุมชนไท

การยอมรับความมีตัวตนของชาติพันธุ์ คือการยอมรับในเรื่องสิทธิมนุษยชนในระดับนานาชาติ

สุวิชาน กล่าวในตอนท้ายอีกว่า ถ้า ร่าง พ.ร.บ.นี้ผ่าน สุดท้าย ประเทศไทยเองก็จะได้รับการยอมรับจากในระดับภูมิภาคและอาเซียนในระดับนานาชาติ ว่าประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งที่มีความเป็นประชาธิปไตย หรือมีความเสมอภาค นึกถึงในเรื่องของสิทธิมนุษยชน

“แล้วมันก็จะช่วยทำให้ดึงดูดชาวต่างชาติที่จะเข้ามาลงทุนก็ดี ดึงดูดความเชื่อมั่นของประเทศไทยในสายตาของนานาประเทศว่านี่คือประเทศที่มีเสรีภาพ ประเทศที่ให้คุณค่าของความเป็นมนุษย์ ที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม ไม่มีการเลือกปฏิบัติ ไม่มีการแบ่งแยก อันนี้คือในสายตาของนานาประเทศใน ประเทศไทยก็ได้ภาพพจน์ดีๆ แบบนี้ไปเต็มๆ เลย ซึ่งผมขอย้ำอีกครั้งว่า ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว จะเป็นผลดีต่อคนชาติพันธุ์ และยังเป็นผลดีที่จะเกิดกับประเทศไทยหรือสังคมไทยเองด้วย”

……….

ที่มาและข้อมูล

1.ร่าง พ.ร.บ สภาชนเผ่าพื้นเมืองฯ เราต้องการยืนยันสิทธิความมีตัวตนของคนชาติพันธุ์ในไทย,วารสารผู้ไถ่ ฉบับที่ 117 กันยายน-ธันวาคม 2564

2.ร่าง พ.ร.บ สภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย,เครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย (คชท.)

3.สิทธิชนเผ่าพื้นเมือง : เราไม่ได้ขอสิทธิพิเศษ เราแค่เรียกร้องสิทธิที่จะเป็นตัวเอง, สถาพร พงษ์พิพัฒน์วัฒนา, IMN เครือข่ายสื่อชนเผ่าพื้นเมือง, 06/กันยายน/2564

4. วงเสวนาออนไลน์ “ฟังเสียงชาวเล เมื่อพื้นที่จิตวิญญาณถูกคุกคาม, IMN เครือข่ายสื่อชนเผ่าพื้นเมือง,23 ตุลาคม 2564

5.ส่องสาระ “ร่าง พรบ.ชาติพันธุ์ ก้าวไกล” ฉบับยื่นประธานสภาฯ,จรัสรวี ไชยธรรม,สำนักข่าวสิ่งแวดล้อม GreenNews. 11/มิถุนายน/2564

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท