Skip to main content
sharethis

ประกาศสำนักนายกฯ ตั้งอดีตเลขา สมช. เป็นคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลด้านการรักษาผลประโยชน์ของชาติ

18 ม.ค.2565 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 8(1) และ 8(4) แห่ง พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 คณะรัฐมนตรีมีมติแต่งตั้งบุคคลดังต่อไปนี้

1) เธียรชัย ณ นคร ประธานกรรมการ

2) นวนรรน ธีระอัมพรพันธุ์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ด้านการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

3) พ.ต.ท. เธียรรัตน์ วิเชียรสรรค์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค

4) พันธ์ศักดิ์ ศิริรัชตพงษ์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร

5) ผศ. ทศพล ทรรศนกุลพันธ์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ด้านสังคมศาสตร์

6) ศ.ศุภลักษณ์ พินิจภูวดล กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ด้านกฎหมาย

7) ศ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ด้านสุขภาพ

8 ) รื่นวดี สุวรรณมงคล กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ด้านการเงิน

9) เมธินี เทพมณี กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ด้านอื่น (การบริหารจัดการข้อมูลภาครัฐ)

10) อนุสิษฐ คุณากร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ด้านอื่น (การรักษาผลประโยชน์ของชาติ)

ประกาศแต่งตั้งครั้งนี้สืบเนื่องมาจากเมื่อวันที่ 11 ม.ค.2565 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติให้แต่งตั้ง อนุสิษฐ คุณากร อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ(สมช.) ช่วงปี 2557-2558 เป็นกรรมการด้านการรักษาผลประโยชน์ของชาติแทนฐิติรัตน์ ทิพย์สัมฤทธิ์กุล ที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฎหมายเมื่อ 19 พ.ค.2563 ได้ขอถอนตัวจากการเป็นกรรมการ ทั้งนี้ประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิอีก 9 คนที่เหลือยังคงเป็นชุดที่ได้รับการแต่งตั้งเมื่อวันที่ 19 พ.ค.2563

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังคงไม่มีการบังคับใช้ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 กับหน่วยงานและกิจการรวม 22 ประเภทที่อยู่ภายใต้กฎหมายฉบับนี้เนื่องจากเมื่อ 8 พ.ค.2564 มีพระราชกฤษฎีกาออกมาให้ยกเว้นการบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้กับบางหน่วยงานและบางกิจการเป็นเวลา 1 ปีคือตั้งแต่ 31 พ.ค.2565 ซึ่งการยกเว้นการบังคับใช้นี้เป็นครั้งที่สองแล้วหลังจากถูกยกเว้นมาแล้วครั้งหนึ่งตั้งแต่พฤษภาคม 2563 ทำให้การบังคับใช้ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลฯ ถูกเลื่อนมารวมเป็นเวลา 2 ปีแล้ว

โดยเหตุผลที่กฎหมายฉบับนี้ถูกเลื่อนการบังคับใช้นั้น ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 5 พ.ค.2564 ระบุว่าเนื่องจากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ที่ต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2563 และยังคงมีความรุนแรง ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมโดยรวมอย่างมากการบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้จะทำให้ทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ประชาชนทั่วไปต้องเก็บรวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลตามกฎหมายและต้องใช้เทคโนโลยีขั้นสูงเพื่อให้การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลมีประสิทธิภาพ อีกทั้งโทษตามกฎหมายก็สร้างภาระและความยากลำบากให้กับคนทุกกลุ่มภายใต้สถานการณ์โควิด-19 จึงให้เลื่อนบังคับใช้ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562ออกไปอีก

ทั้งนี้หน่วยงานและกิจการ 22 ประเภทที่อยู่ภายใต้การบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้แต่ได้รับการยกเว้นในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาตามที่ถูกระบุไว้ในพระราชกฤษฎีกาที่ออกมาเมื่อ 21 พ.ค.2563ได้แก่

1. หน่วยงานของรัฐ

2. หน่วยงานของรัฐต่างประเทศและองค์การระหว่างประเทศ

3. มูลนิธิ สมาคม องค์กรศาสนา และองค์กรไม่แสวงหากำไร

4. กิจการด้านเกษตรกรรม

5. กิจการด้านอุตสาหกรรม

6. กิจการด้านพาณิชยกรรม

7. กิจการด้านการแพทย์และสาธารณสุข

8. กิจการด้านพลังงาน ไอน้ำ น้ำ และการกำจัดของเสีย รวมทั้งกิจการที่เกี่ยวข้อง

9. กิจการด้านการก่อสร้าง

10. กิจการด้านการซ่อมและการบำรุงรักษา

11. กิจการด้านการคมนาคม ขนส่ง และการเก็บสินค้า

12. กิจการด้านการท่องเที่ยว

13. กิจการด้านการสื่อสาร โทรคมนาคม คอมพิวเตอร์ และดิจิทัล

14. กิจการด้านการเงิน การธนาคาร และการประกันภัย

15. กิจการด้านอสังหาริมทรัพย์

16. กิจการด้านการประกอบวิชาชีพ

17. กิจการด้านการบริหารและบริการสนับสนุน

18. กิจการด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี วิชาการ สังคมสงเคราะห์ และศิลปะ

19. กิจการด้านการศึกษา

20. กิจการด้านความบันเทิงและนันทนาการ

21. กิจการด้านการรักษาความปลอดภัย

22. กิจการในครัวเรือนและวิสาหกิจชุมชน ซึ่งไม่สามารถจำแนกกิจกรรมได้อย่างชัดเจน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net