Skip to main content
sharethis

“ธนาธร” ชี้กรณีภาพประมูล NFT1 ไม่ใช่การ #ลอกผลงาน ระบุชัดมาจากศิลปินคนไหน-วงการศิลปินร่วมชี้ศิลปะไม่ได้จำกัดอยู่กับใคร-“ทัศนัย” ฟาดยับ “สลิ่ม” ไร้หัวใจตามโลกไม่ทัน

3 ภาพที่ธนาธร ประมูลผ่าน NFT1

19 ม.ค. 65 ทีมสื่อคณะก้าวหน้า รายงานวันนี้ (19 ม.ค. 65) สืบเนื่องจากกรณีการปั่นกระแส #ลอกผลงาน บนโลกโซเชียลมีเดีย กล่าวหานายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า ว่ามีการลอกผลงานศิลปินต่างประเทศ ในงานภาพเขียนที่เพิ่งทำการประมูลไปในรูปแบบ NFT เมื่อไม่นานนี้ ซึ่งมีภาพหนึ่งที่ชนะการประมูลไปด้วยราคาถึง 3.12 ล้านบาท

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'ธนาธร' จับมือ 'NFT1' เปิดประมูลศิลปะดิจิทัล มอบรายได้ศูนย์ทนายฯ iLaw แนะรัฐทบทวนเก็บภาษีคริปโต

ล่าสุด นายธนาธร ออกมาชี้แจงข้อกล่าวหาดังกล่าวทางเพจเฟซบุ๊ก ‘Thanathorn Juangroongruangkit - ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ’ โดยระบุว่า ตนรู้สึกประหลาดใจอย่างมากที่มีการปั่นกระแสกล่าวหาว่า ผลงาน When She Opens the Door และ Silence ของตนเป็นการลอกเลียนแบบ ซึ่งเป็นข้อหาที่ร้ายแรง และไม่เป็นธรรมต่อตนอย่างมาก

ธนาธร กล่าวต่อไป ว่าตนเป็นนักวาดภาพมือสมัครเล่น คนเรียนวาดเขียนส่วนใหญ่ในโลก ก็ฝึกวาดจากงานศิลปะชั้นครู หรืองานที่ตัวเองชื่นชอบ ภาพทุกภาพที่ตนวาด เดิมไม่ได้คิดว่าจะเปิดเผยต่อสาธารณะ เป็นงานอดิเรกส่วนตัวของตน แต่เมื่อตัดสินใจนำภาพมาประมูลแล้ว จึงได้ระบุชัดว่า ภาพแต่ละชิ้นได้รับแรงบันดาลใจมาจากผลงานชิ้นใด

“ผมทำอย่างเปิดเผย โปร่งใส ตรงไปตรงมาที่สุด จนไม่อาจเข้าใจได้เลยว่าเกิดการปั่นกระแสว่าผมลอกผลงานคนอื่นได้อย่างไร” ธนาธร ระบุ

นายธนาธร ระบุเพิ่มเติมด้วย ว่าภาพ When She Opens the Door นั้น ตนระบุอย่างชัดเจนตั้งแต่ตอนโพสต์ถึงการประมูลผลงาน ว่าได้รับแรงบันดาลใจจากภาพของ Damian Lechoszest ซึ่งตนยังได้เขียนอีเมลไปเล่าให้ศิลปินคนดังกล่าวฟังถึงเรื่องราวของเบนจา และแรงบันดาลใจในการการวาดภาพนี้ เพื่อนำเงินที่ได้จากการประมูลไปมอบให้กับองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยด้วย

ส่วนภาพ Silence ตนได้ระบุไว้ชัดเจนแล้วเช่นกันว่าได้รับแรงบันดาลใจจาก @colorbyfeliks ซึ่งเจ้าตัวระบุไว้ว่าใครนำภาพของเขาไปสร้างสรรค์ต่อก็ได้ แค่ให้เครดิตชื่อไว้ก็เพียงพอ

“ถือว่าเป็นธรรมชาติของวงการ digital art ที่จะมีการทำซ้ำ เผยแพร่ ส่งต่อผลงาน โดยเจ้าของผลงานไม่ได้หวงห้าม เพียงแต่ต้องระบุว่าภาพนั้นต้นฉบับเป็นของใคร เป็นอีกครั้งที่ผมต้องออกมาชี้แจงในประเด็นข้อกล่าวหาที่เป็น “เรื่องไม่เป็นเรื่อง” อันเกิดจากกระบวนการทำลายชื่อเสียงของผมอย่างเป็นระบบผ่านปฏิบัติการ IO และสื่อบางสำนัก” ประธานคณะก้าวหน้ากล่าวเพิ่ม

ขณะเดียวกัน ในแวดวงศิลปะเอง ก็มีการออกมาแสดงความคิดเห็นต่อกรณีการปั่นกระแสดังกล่าวด้วยเช่นกัน อาทิ นายอาจิณโจนาธาน อาจิณกิจ ศิลปินและอาจารย์ประจำสาขาศิลปกรรม คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ จ.ฉะเชิงเทรา เจ้าของแกลอรี “Many Cuts Art Space” ซึ่งได้โพสต์ลงบนเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า

“ผมก็ไม่เคยเห็นศิลปินที่ไหนในโลกฟ้องร้องกันเรื่องการลอกงานศิลปะ มือสมัครเล่นแบบธนาธรและคนอื่นๆ ก็สร้างงานจากแรงบันดาลใจจากผลงานคนอื่นทั้งนั้น ใครจะเอาภาพโมนาลิซ่ามาดัดแปลง รอยแปรงของแวนโก๊ะห์มาระบาย มันเป็นเรื่องของเขา ใครวาดอะไร สร้างสรรค์ผลงานไหน เขาก็เป็นเจ้าของผลงานนั้นๆ โลกเรามีสิ่งที่เรียกว่า appreciation arts มากกว่านั้น ศิลปะมันไม่ได้จำกัดอยู่กับใครคนใดคนนึง จะเป็นศิลปิน คนธรรมดา หรือนักการเมืองก็มีสิทธิ์วาดรูปทั้งนั้น”

ขณะเดียวกัน ผศ.ดร.ทัศนัย เศรษฐเสรี อาจารย์สาขาสื่อศิลปะและการออกแบบสื่อ คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ออกมาโพสต์เฟซบุ๊กแสดงความเห็นเช่นกัน โดยระบุว่า

“เพราะความโหดเหี้ยมผิดมนุษย์มนา สลิ่มจึงไร้หัวใจและไม่เห็นความเป็นคนในผลงานศิลปะ ยิ่งไปกว่านั้นไม่เห็นความเป็นคนในกิจกรรมทางสังคมในทุกเรื่อง สิ่งมีชีวิตที่ไร้หัวใจจำพวกนี้จึงไม่สามารถเรียนรู้โลกวิชาการและความคิดมากมายที่เปลี่ยนไปในปัจจุบันด้วย”

สำหรับการประมูลภาพของนายธนาธรครั้งนี้ มีจำนวนทั้งหมด 3 ภาพ โดยเป็นความร่วมมือระหว่างนายธนาธร กับ NFT1 ซึ่งเป็นธุรกิจสตาร์ทอัปเกี่ยวกับการประมูลภาพศิลปะดิจิทัลในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และประเทศไทย ซึ่งเริ่มเปิดประมูลตั้งแต่เมื่อวันที่ 12 ม.ค. 65 ก่อนที่จะสิ้นสุดลงเมื่อคืนวันที่ 17 ม.ค.ที่ผ่านมา มูลค่ามากกว่า 3 ล้านบาท รายได้ทั้งหมดมอบให้มูลนิธิคณะก้าวหน้า ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน และ iLaw 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net