‘เบญจา ก้าวไกล’ ระบุคณะทำงานยูเอ็น ชี้ คดี ‘อัญชัญ ม.112’ ละเมิดกฎหมายสิทธิฯระหว่าง ปท.ชัดแจ้ง

แคร์สถานะไทยในสายตาชาวโลกบ้าง ‘เบญจา ก้าวไกล’ เผย UN:WGAD ชี้ คดี ‘อัญชัญ’ ละเมิดกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศชัดแจ้ง ส่งต่อข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลไทย หยุดใช้ ม.112 ละเมิดสิทธิมนุษยชน

 

19 ม.ค.2565 ทีมสื่อพรรคก้าวไกล รายงานว่า เบญจา แสงจันทร์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล แสดงความเห็นต่อกรณี คณะทำงานสหประชาชาติว่าด้วยการควบคุมตัวโดยพลการ (UN Working Group on Arbitrary Detention : WGAD) เรียกร้องให้ทางการไทยปล่อยตัว อัญชัญ ปรีเลิศ ผู้ต้องขังคดีหมิ่นประมาทกษัตริย์โดยทันทีแบบไม่มีเงื่อนไข ตามที่ปรากฏในหนังสือความเห็นที่รับรองเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2564 และเผยแพร่เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2564  

เบญจา ระบุว่า กรณี อัญชัญ อายุ 65 ปี ปัจจุบันต้องโทษจําคุก 43 ปี 6 เดือน ในข้อหาฝ่าฝืนประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 (หมิ่นประมาทกษัตริย์) โดยรายงานศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ระบุว่า มีความเห็นตอบจาก WGAD ตามที่ FIDH และทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน (TLHR) ยื่นต่อหน่วยงานสหประชาชาติเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2564 โดยความเห็นของ WGAD พบว่า การลิดรอนเสรีภาพของ อัญชัญ ด้วยมาตรา 112 นั้นเป็นการคุมขัง ‘โดยพลการ’ และเรียกร้องให้รัฐบาลไทย ‘ปล่อยตัวเธอทันที’ โดยคํานึงถึงอันตรายจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ในเรือนจำและเพื่อ ‘ยอมรับสิทธิของเธอในการชดเชยและการเยียวยาอื่นๆ’ นอกจากนี้ WGAD ยังแสดงความกังวลอย่างลึกซึ้งต่อรูปแบบการคุมขังโดยพลการด้วยมาตรา 112 โดยเฉพาะผู้ที่เกี่ยวข้องกับการแสดงออกออนไลน์และผู้ตกเป็น ‘อันตรายร้ายแรงต่อสังคม’ ที่เกิดจากการบังคับใช้มาตรานี้ และ WGAD ยังเรียกร้องให้รัฐบาลไทยนําประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 มาปฏิบัติตามพันธกรณีของประเทศไทยภายใต้กฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ

“WGAD ประกาศว่า การจำคุกของอัญชัญเป็นการคุมขังโดยพลการเนื่องจากขัดต่อข้อ 3-8-9-10 และข้อ 19 ของปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (UDHR) และมาตรา 2-9-14 และ 19 ของพันธสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ซึ่งประเทศไทยเป็นรัฐภาคี บทบัญญัติอ้างอิงของ UDHR และ ICCPR รับประกันสิทธิขั้นพื้นฐานในเสรีภาพ สิทธิในการพิจารณาคดีที่เป็นธรรม และสิทธิในเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออก”

WGAD ยังพบว่า การลิดรอนเสรีภาพของอัญชัญขาดหลักการทางกฎหมาย (Legal basis) เพราะมีการจับกุมโดยไม่มีหมายจับที่ถูกต้องซึ่งออกโดยผู้มีอํานาจทางกฎหมายที่อิสระและเป็นกลาง แต่การคุมขังอัญชัญเกิดขึ้นครั้งแรกที่ค่ายทหารโดยไม่นำตัวไปขึ้นศาลและได้มีการละเมิดสิทธิของเธอในการต่อสู้ความชอบธรรมของการควบคุมตัว ซึ่งได้ถูกรับรองภายใต้มาตรา 8 และ 9 ของ UDHR และมาตรา 2 และ 9(3) ของ ICCPR นอกจากนี้ อัญชัญยังถูกควบคุมตัวด้วยมาตรา 112 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ WGAD พบว่า “ละเมิดกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศอย่างชัดแจ้ง”

WGAD ยังตัดสินว่า อัญชัญถูกควบคุมตัวอันเป็นผลมาจาก “การใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกอย่างสันติ” WGAD ยังได้พิจารณาอีกว่าคลิปเสียงเกี่ยวกับสมาชิกของราชวงศ์ไทยที่อัญชัญอัปโหลดบนโซเชียลมีเดีย “อยู่ในขอบเขตของการใช้สิทธิในเสรีภาพในการแสดงออก” ตามมาตรา 19 ของ UDHR และมาตรา 19 ของ ICCPR ในขณะเดียวกัน FIDH และ TLHR ระบุว่า ยินดีรับฟังความเห็นของ WGAD และย้ำข้อเรียกร้องให้ปล่อยตัวอัญชัญและบุคคลอื่นๆ ที่ถูกควบคุมตัวตามมาตรา 112 ทันทีโดยไม่มีเงื่อนไข 

“จากความเห็นของสหประชาชาติเกี่ยวกับกรณีของคุณอัญชัญ ตอกย้ำถึงความอยุติธรรมและการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงที่เกิดขึ้นจากการบังคับใช้มาตรา 112 ในประเทศไทย ดิฉันจึงต้องตอกย้ำและตั้งคำถามถึงรัฐบาลไทย ต่อการที่นานาชาติออกมาเรียกร้องให้ปล่อยตัวคุณอัญชัญในทันทีกรณีนี้ ว่า จะต้องให้คนในสังคมและองค์กรนานาชาติ ออกมาพูดถึงอีกกี่ครั้ง รัฐบาลไทยจึงจะแก้ไขสิ่งเหล่านี้ให้หลุดพ้นจากการถูกตั้งคำถามเรื่องสิทธิมนุษยชนที่สูญหายครั้งแล้วครั้งเล่าในเวทีต่างประเทศ ดิฉันจึงขอส่งต่อข้อเรียกร้องเหล่านี้ไปยังรัฐบาล รวมถึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลไทยฟังเสียงเรียกร้องจากทั้งในประเทศและนานาชาติต่อกรณีให้มีการปฏิรูปมาตรา 112 ด้วย” เบญจา ระบุ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท