Skip to main content
sharethis

เทียบ 9 มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูและอุตสาหกรรมเนื้อหมูในไทยและสหรัฐฯ แบบชัดๆ

รัฐบาลโจ ไบเดน เน้นปล่อยราคาไปตามกลไกตลาด แต่อัดฉีดเงินกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์ช่วยเหลือเกษตรกรและผู้ประกอบกิจการแปรรูปเนื้อสัตว์รายย่อยทั้งระบบให้สามารถฟื้นตัวและเพิ่มกำลังการผลิตจนสามารถแข่งขันกับพ่อค้าคนกลางรายใหญ่ได้อย่างมีประสิทธิภาพในระยะยาว ส่วนรัฐบาลประยุทธ์ เน้นตรึงราคาชั่วคราว ห้ามส่งออกหมู และขายหมูธงฟ้า ส่วนมาตรการระยะยาวเรื่องแหล่งทุนสำหรับเกษตรกรมีให้ในโครงการสินเชื่อสานฝันสร้างอาชีพ วงเงินสูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท

 

เมื่อวันที่ 3 ม.ค. 2565 รัฐบาลกลางของสหรัฐอเมริกา นำโดยประธานาธิบดีโจ ไบเดน ประกาศมาตรการช่วยเหลือ “อุตสาหกรรมการผลิตและแปรรูปเนื้อสัตว์” ซึ่งหมายรวมถึงเนื้อวัว เนื้อหมู และเนื้อไก่ โดยมาตรการดังกล่าวเป็นการขยายผลเพิ่มเติมจากนโยบายสนับสนุนการแข่งขันทางธุรกิจเพื่อเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ซึ่งมุ่งเน้นช่วยเหลืออุตสาหกรรมหลายประเภทที่มีผู้เล่นในตลาดเพียงไม่กี่เจ้า ซึ่งไบเดนลงนามรับรองนโยบายนี้ไปตั้งแต่เดือน ก.ค. ปีที่แล้ว รัฐบาลของไบเดนระบุว่ามาตรการนี้จะช่วยสร้างเศรษฐกิจที่มีความเป็นธรรมและยืดหยุ่นมากขึ้น รวมถึงช่วยให้เศรษฐกิจของสหรัฐฯ กลับมาเคลื่อนไหวอย่างเป็นพลวัตมากขึ้น

รัฐบาลไบเดนกล่าวว่าในช่วง 2-3 ทศวรรษมานี้ อุตสาหกรรมหลายประเภทในสหรัฐฯ ถูกครอบงำโดยบริษัทใหญ่ๆ เพียงไม่กี่ราย ซึ่งบริษัทเหล่านั้นเป็นผู้ควบคุมโอกาสทางธุรกิจส่วนใหญ่ เช่น การเพิ่มราคาสินค้า หรือการลดทางเลือกในการบริโภคของครอบครัวชาวอเมริกัน ขณะเดียวกัน บริษัทยักษ์ใหญ่เหล่านั้นก็กำลังบีบคั้นให้กลุ่มธุรกิจขนาดเล็กและผู้ประกอบการรายย่อยต้องออกจากระบบไป

นโยบายสนับสนุนการแข่งขันทางธุรกิจเพื่อเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ของรัฐบาลไบเดนนั้น มอบเงินช่วยเหลือและมีมาตรการหลายอย่างเพื่อช่วยเหลืออุตสาหกรรมและธุรกิจการบริการหลากหลายประเภท ได้แก่ ภาคการเกษตร ภาคสาธารณสุข ภาคแรงงาน ภาคการเงิน ภาคเทคโนโลยี และภาคการขนส่ง รวมถึงการต่อต้านการควบรวมกิจการซึ่งจะทำให้เกิดการผูกขาดทางการค้าและบริการ รัฐบาลไบเดนระบุว่ากลุ่มอุตสาหกรรมผลิตและแปรรูปเนื้อสัตว์ของสหรัฐฯ เป็นตัวอย่างหนึ่งที่ต้องได้รับการช่วยเหลือตามมาตรการดังกล่าว เพราะอุตสาหกรรมประเภทนี้มีผู้เล่นในตลาดเพียงไม่กี่ราย ซึ่งผู้ที่ได้รับผลกระทบคือผู้บริโภค ผู้ผลิต และเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ในภาพรวม

ประกาศของทำเนียบขาวระบุต่อไปว่าบริษัทแปรรูปและส่งออกเนื้อสัตว์ขนาดใหญ่จำนวน 4 รายควบคุมตลาดเนื้อวัวในประเทศสูงถึง 85% ขณะเดียวกันกลุ่มบริษัทดังกล่าวก็มีส่วนแบ่งตลาดเนื้อหมูอยู่ประมาณ 70% ส่วนตลาดเนื้อไก่นั้นมีส่วนแบ่งอยู่ที่ 54% ซึ่งกลุ่มบริษัทแปรรูปเนื้อสัตว์รายใหญ่เหล่านี้ล้วนซื้อเนื้อสัตว์มาจากฟาร์มของเกษตรกรรายย่อยนำมาแปรรูปและขายต่อให้พ่อค้าคนกลางหรือกลุ่มธุรกิจขายปลีก ทำให้พวกเขาเป็น ‘กลุ่มคอขวด’ ก่อนที่สินค้าจะกระจายต่อไปในห่วงโซ่อุปทาน

เมื่อกลุ่มพ่อค้าคนกลางที่มีอำนาจครอบงำตลาดควบคุมห่วงโซ่อุปทานส่วนใหญ่ พวกเขาจึงสามารถเพิ่มผลกำไรให้ตนเองได้ด้วยการผลักดันค่าใช้จ่ายต่างๆ ให้กลุ่มเกษตรกรที่ทำรายได้น้อยกว่า และกลุ่มผู้บริโภคที่ต้องจ่ายมากกว่า เกษตรกรส่วนใหญ่ ‘แทบจะไม่มี’ หรือ ‘ไม่มี’ ทางเลือกซื้อสินค้าที่พวกเขาผลิตเอง และแทบจะไร้ซึ่งอำนาจต่อรอง ซึ่งทำให้พวกเขาต้องเสียส่วนแบ่งรายได้จากการบริโภคเหล่านั้น ย้อนกลับไปเมื่อ 50 กว่าปีก่อน เกษตรกรผู้เลี้ยงวัวได้รับส่วนแบ่งเป็นเงินกว่า 60 เซนต์ในทุกๆ 1 ดอลลาร์ที่ผู้บริโภคจ่ายเพื่อซื้อเนื้อวัว แต่ทุกวันนี้ ส่วนแบ่งลดเหลือเพียง 39 เซนต์เท่านั้น ในทางเดียวกัน เกษตรกรผู้เลี้ยงหมูได้รับส่วนแบ่งอยู่ที่ประมาณ 40-60 เซนต์ในทุกๆ 1 ดอลลาร์เมื่อ 50 ปีก่อน แต่ปัจจุบันกลับได้รับส่วนแบ่งเพียง 19 เซนต์เท่านั้น

แม้ว่าเกษตรกรจะได้รับส่วนแบ่งรายได้ลดลง แต่ผู้บริโภคชาวอเมริกันกลับจ่ายเงินซื้อสินค้าในราคาที่สูงขึ้นเรื่อยๆ เพราะผู้จัดจำหน่ายและกระจายสินค้ารายใหญ่ที่สุดเพียงหนึ่งเดียวเป็นผุ้กำหนดราคาเนื้อสัตว์ในตลาด ทำให้ผู้บริโภคต้องจ่ายเงินค่าอาหารเพิ่มขึ้น (แม้จะซื้อของสดมาทำอาหารที่บ้าน)

และเมื่อมีบริษัทเพียงไม่กี่เจ้าควบคุมส่วนแบ่งตลาดที่ใหญ่ขนาดนี้ ห่วงโซ่อุปทานด้านอาหารของชาวอเมริกันจึงได้รับผลกระทบอย่างใหญ่หลวง เมื่อโรงงานต่างๆ ต้องปิดเพราะโควิด-19 หรือภัยพิบัติอื่นๆ เช่น ไฟป่า หรือการโจมตีทางไซเบอร์ กลุ่มเกษตรกรก็ไม่สามารถขายส่งเนื้อสัตว์ไปยังโรงงานเหล่านั้นได้ การพึ่งพิงกลุ่มบริษัทแปรรูปและจัดจำหน่ายเนื้อสัตว์เพียงไม่กี่รายทำให้กลุ่มเกษตรกรไม่มั่นคง รัฐบาลจึงออกมาตรการเพื่อสกัดกั้นและเปลี่ยนแปลง (disruption) ‘กลุ่มคอขวด’ ในอุตสาหกรรมอาหาร

ด้วยเหตุนี้ ประธานาธิบดีไบเดนจะเข้าพบกับกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์และกลุ่มธุรกิจแปรรูปเนื้อสัตว์รายย่อยทั่วประเทศ เพื่อรับฟังปัญหาและความต้องการของพวกเขา และจะประกาศแผนการช่วยเหลืออย่างเต็มรูปแบบเพื่อให้เกิดการแข่งขันทางการค้าที่เป็นธรรม และยืดหยุ่น ในห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมการผลิตและแปรรูปเนื้อสัตว์ โดยแผนดังกล่าวประกอบด้วยมาตรการแกนหลัก 4 ข้อ ซึ่งนอกจากจะทำให้เกิดความเป็นธรรม ยืดหยุ่น และแข่งขันได้แล้ว ยังช่วยให้กลุ่มเกษตรกรผู้ผลิตมีรายได้เพิ่มขึ้น และช่วยเพิ่มทางเลือกการบริโภค รวมถึงทางเลือกด้านราคาที่เหมาะสมให้แก่ผู้บริโภค

รัฐบาลสหรัฐฯ ภายใต้การนำของประธานาธิบดีไบเดน และรองประธานาธิบดีกมลา แฮร์ริส จะทุ่มงบประมาณ 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อขยายศักยภาพให้ผู้ผลิตและแปรรูปเนื้อสัตว์รายย่อย โดยงบประมาณจำนวนนี้มาจากแผนฟื้นฟูหลังโควิด-19 จำนวน 350,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ รัฐบาลกลางสหรัฐฯ มอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (USDA) เป็นผู้รับผิดชอบจัดสรรงบประมาณและโครงการช่วยเหลือต่างๆ ตามการวิเคราะห์และประเมินความคิดเห็นของกลุ่มเกษตรกรรายย่อยกว่า 450 ความคิดเห็น ซึ่ง USDA มีความเห็นว่าต้องดำเนินเร่งด่วนใน 8 ด้าน ดังนี้

  • ขยายและเพิ่มความหลากหลายศักยภาพการแปรรูปเนื้อสัตว์
  • เพิ่มรายได้ให้แก่กลุ่มเกษตรผู้ผลิตเนื้อสัตว์
  • ให้โอกาสกลุ่มเกษตรกรผู้ผลิตเนื้อสัตว์ได้เป็นเจ้าของสิ่งอำนวยความสะดวกในกระบวนการแปรรูปเนื้อสัตว์
  • สร้างการจ้างงานที่มีรายได้ดีและมั่นคงในพื้นที่ชนบท
  • ยกระดับมาตรฐานด้านสุขภาพผู้ปฏิบัติงาน ความปลอดภัยในการทำงาน การฝึกฝนทักษะ และค่าแรงในธุรกิจแปรรูปเนื้อสัตว์
  • สร้างความร่วมมือระหว่างกลุ่มผู้ผลิตและลูกจ้าง
  • กระตุ้นให้ภาครัฐ ภาคเอกชน และคนในท้องถิ่น ลงทุนร่วมกัน
  • สร้างทางเลือกที่หลากหลายให้แก่ผู้บริโภค

จากความเห็นของ USDA ที่เสนอให้แก้ปัญหา 8 ด้านอย่างเร่งด่วน ทำให้รัฐบาลสหรัฐ ออกมาตรการแก้ไขปัญหาราคาเนื้อสัตว์แพง โดยมุ่งเน้นไปที่การเพิ่มกำลังการผลิตและช่องทางการจัดจำหน่ายเนื้อสัตว์แก่กลุ่มผู้ประกอบการรายย่อย เพื่อให้สามารถแข่งขันในตลาดได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน โดยเฉพาะกับผู้ประกอบการรายใหญ่ นอกจากนี้ยังช่วยสร้างทางเลือกที่หลากหลายให้แก่ผู้บริโภคในระยะยาว โดยมีทั้งหมด 9 มาตรการ ดังนี้

  1. อัดฉีดเงิน 375 ล้านดอลลาร์แก่ผู้ประกอบการโรงฆ่าสัตว์รายย่อย
  2. โครงการเงินกู้ 275 ล้านดอลลาร์แก่ผู้ประกอบกิจการแปรรูปเนื้อสัตว์รายย่อย
  3. สนับสนุนกลุ่มสินเชื่อเอกชนที่ลงทุนในกิจการแปรรูปและจัดจำหน่ายเนื้อสัตว์รายย่อย
  4. อัดฉีดเงิน 100 ล้านดอลลาร์เพื่อพัฒนาฝีมือแรงงานในอุตสาหกรรมปศุสัตว์
  5. สนับสนุนเทคโนโลยีและนวัตกรรมแก่ผู้ประกอบการปศุสัตว์
  6. อุดหนุนเงินค่าจ้างทำงานล่วงเวลา/ทำงานวันหยุด 30-75% ให้แก่แรงงานในภาคปศุสัตว์ 
  7. จัดสรรงบ 32 ล้านดอลลาร์เป็นเงินช่วยเหลือผู้ประกอบการด้านปศุสัตว์ 167 แห่งเพื่อขยายตลาด
  8. แก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับการค้าเนื้อสัตว์และการทำปศุสัตว์ให้เข้มงวด รัดกุม และป้องกันการผูกขาดหรือกีดกันทางการค้า
  9. ออกฉลาก “Product of USA” สร้างความเชื่อมั่นให้ผู้บริโภคเนื้อสัตว์

รัฐบาลไทยชง 9 มาตรการแก้ไขปัญหา “หมูแพง”

เมื่อวันที่ 6 ม.ค. 2565 สำนักข่าวหลายแห่ง เช่น ประชาชาติธุรกิจ มติชนออนไลน์ และกรุงเทพธุรกิจ รายงานตรงกันว่ารัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงแนวทางการแก้ปัญหาเนื้อหมูราคาแพง สืบเนื่องจากปริมาณสุกรที่ลดลง ต้นทุนการเลี้ยงสุกรปรับสูงขึ้น ส่งผลให้เนื้อหมูปัจจุบันมีราคาสูงมาก กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้หารือร่วมกัน และได้ข้อสรุปเป้นมาตรการเร่งด่วน มาตรการระยะสั้น และมาตรการระยะยาว ดังนี้

มาตรการเร่งด่วน ได้แก่

  1. ห้ามส่งออกหมูมีชีวิตเป็นเวลา 3 เดือน ตั้งแต่วันที่ 6 ม.ค.-5 เม.ย. 2565 เพื่อเพิ่มปริมาณเนื้อหมูภายในประเทศ และกระทรวงพาณิชย์จะพิจารณาตามสถานการณ์ว่าควรให้มีการต่ออายุหรือไม่ โดยจะมีการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ตัวเลขเบื้องต้นในปี 2564 มีการเลี้ยงหมูป้อนเข้าสู่ตลาด ประมาณ 19 ล้านตัว บริโภคในประเทศ 18 ล้านตัว ส่งออกไปต่างประเทศประมาณ 1 ล้านตัว
  2. ช่วยเหลือด้านราคาอาหารสัตว์ โดยเฉพาะส่วนที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ เช่น การงดเว้นการเก็บค่าธรรมเนียมหรือภาษี การจัดสินเชื่อพิเศษของ ธ.ก.ส. เพื่อให้เกษตรกรที่สามารถปฏิบัติตามหลักเกณฑ์เงื่อนไขได้กลับมาเลี้ยงใหม่ในพื้นที่ความเสี่ยงต่อโรคระบาดต่ำ การตรึงราคาจำหน่ายที่เหมาะสมและสอดคล้องกับต้นทุนที่เกิดขึ้น
  3. เร่งสำรวจภาพรวมสถานการณ์การผลิตสุกร เพื่อกำหนดพื้นที่เป้าหมายและมาตรการที่เหมาะสม พร้อมเพิ่มกำลังการผลิตแม่สุกรทดแทน โดยให้เกษตรกรใช้สุกรขุนตัวเมียมาใช้ทำพันธุ์ชั่วคราว เร่งรัดเจรจาฟาร์มรายใหญ่ในการกระจายพันธุ์และลูกสุกรขุนให้กับรายย่อยและเล็กที่ต้องการกลับเข้ามาสู่ระบบใหม่ กำหนดโซนเลี้ยงและออกมาตรการบังคับใช้อย่างเหมาะสมเพื่อควบคุมโรค และเร่งรัดการวิจัยพัฒนาวัคซีนป้องกันโรค

มาตรการระยะสั้น ได้แก่

  1. ส่งเสริมการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เพื่อทดแทนการนำเข้าจากต่างประเทศ
  2. ขยายกำลังผลิตแม่สุกร สนับสนุนศูนย์วิจัยและบำรุงสัตว์ ในสังกัดกรมปศุสัตว์และเครือข่ายคู่ขนานกับฟาร์มเกษตรกรและภาคเอกชน
  3. เดินหน้าการศึกษาวิจัยยาและสารกระตุ้นภูมิคุ้มกันเพื่อลดความสูญเสียจากโรคระบาด

มาตรการระยะยาว ได้แก่

  1. กระทรวงเกษตรฯ จะผลักดันการยกระดับมาตรฐานฟาร์มของเกษตรกรเพื่อป้องกันโรคระบาด
  2. ส่งเสริมให้ปรับปรุงเป็นฟาร์มที่มีระบบการป้องกันโรคและการเลี้ยงสัตว์ที่เหมาะสม (GFM) มีค่าใช้จ่ายต่ำกว่ามาตรฐานฟาร์ม GAP ซึ่งจะเป็นแรงจูงใจให้เกษตรกรกลับมาเลี้ยงสุกรใหม่และเพิ่มปริมาณการผลิตหมูให้เพียงพอต่อความต้องการบริโภค
  3. สนับสนุนการเลี้ยงสุกรโดยจะมีสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้กู้ยืมจาก ธ.ก.ส. ในโครงการสานฝันสร้างอาชีพ ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้กรมปศุสัตว์ เร่งขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรรายย่อยเพื่อช่วยเหลือให้เข้าถึงแหล่งสินเชื่อได้ง่ายและสะดวกรวดเร็ว รวมทั้งการรวมกลุ่ม สนับสนุน และหาตลาดในราคาที่เกษตรกรอยู่ได้อย่างดี

สำหรับโครงการสานฝันสร้างอาชีพ มีประกาศแนวทางการขอกู้ยืมเงินจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ คือ ต้องเป็นลูกค้าของธนาคาร ต้องไม่เป็นบุคคลล้มละลาย และไม่ผิดเงื่อนไขการรับสินเชื่อจากทางธนาคาร ต้องมีแผนในการประกอบอาชีพการเกษตร หรือนอกภาคการเกษตร โดยธนาคารให้กู้ได้สูงสุดรายละไม่เกิน 100,000 บาท แต่ต้องไม่เกินค่าใช้จ่ายและหรือค่าลงทุนจริง ทั้งนี้ เมื่อรวมวงเงินกู้ที่เป็นค่าใช้จ่ายและค่าลงทุนแล้วต้องไม่เกิน 100,000 บาท/ราย กำหนดชำระคืนไม่เกิน 5 ปี ปลอดต้นได้ไม่เกิน 2 ปี แต่ไม่ปลอดดอกเบี้ย สามารถยื่นขอสินเชื่อได้ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. 2564 และสิ้นสุดการจ่ายเงินกู้วันที่ 31 มี.ค. 2567

ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 1 ม.ค. 2565 ประชาชาติธุรกิจรายงานว่ากรมการค้าภายประกาศขอความร่วมมือผู้ประกอบการห้างสรรพสินค้าโมเดิร์นเทรดให้ตรึงราคาหมูเนื้อแดงอยู่ที่ 150 บาท/กก. จนถึงวันที่ 15 ม.ค. 2565 จากเดิมที่จะสิ้นสุดลงในวันที่ 1 ม.ค. 2565 นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์เตรียมเปิดจุดขายหมูธงฟ้าราคา 150 บาท/กก. กว่า 600 จุดทั่วประเทศ พร้อมประสานกระทรวงเกษตรฯ เร่งเพิ่มจำนวนหมู

ต่อมา วันที่ 10 ม.ค. 2565 มติชนออนไลน์รายงานว่าสมาคมการค้าผู้เลี้ยงสุกรภาคใต้ประกาศว่าจะตรึงราคาหมูขุนมีชีวิตหน้าฟาร์มในราคา 110 บาท/กก. ไปอีกระยะหนึ่ง และคัดค้านการนำเข้าเนื้อหมูจากต่างประเทศ เพราะจะส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่การผลิตในอุตสาหกรรมเนื้อหมูของประเทศ โดยปรีชา กิจถาวร นายกสมาคมการค้าผู้เลี้ยงสุกรภาคใต้ กล่าวว่า สมาคมเห็นด้วยกับมาตรการ 9 ข้อของรัฐบาล แต่ขอให้รัฐบาลช่วยสนับสนุนเรื่องเงินทุนหรือเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ ซึ่งจะช่วยกระตุ้นและฟื้นฟูเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูให้กลับมาเลี้ยงหมูเพื่อป้อนเข้าสู่ตลาดมากขึ้น เพราะผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้ผู้เลี้ยงหมูต้องหลุดออกจากระบบไปกว่า 50%

ส่วนการช่วยเหลือผู้บริโภคเบื้องต้นนั้น มติชนออนไลน์รายงานเมื่อวันที่ 11 ม.ค. 2565 ว่าจากกระแสข่าวที่มีผู้ค้าไข่ไก่และเนื้อไก่ทยอยขึ้นราคาสินค้าดังกล่าวในบางพื้นที่ จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์กล่าวถึงประเด็นนี้ว่าห้ามขึ้นราคาไข่ไก่และเนื้อไก่ ถ้ามีการฉวยขึ้นราคาก็จะดำเนินคดีอย่างเคร่งครัด เพื่อไม่ให้เอารัดเอาเปรียบผู้บริโภค

ต่อมาในวันที่ 17 ม.ค. 2565 ข่าวสดออนไลน์รายงานว่าวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายในประกาศอย่างเป็นทางการว่ากระทรวงพาณิชย์จะตรึงราคาเนื้อไก่จำหน่ายปลีก ณ ห้างค้าปลีกค้างส่ง (บิ๊กซี แม็คโคร โลตัส) ไก่สดรวมเครื่องใน และไก่สดไม่รวมเครื่องใน ราคา 60-65 บาท/กก. น่องติดสะโพก ราคา 60-65 บาท/กก. น่องและสะโพก ราคา 65-70 บาท/กก. เนื้ออก ราคา 70-75 บาท/กก. เริ่มตั้งแต่วันที่ 18 ม.ค. 2565 ไปจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย ทั้งนี้ ราคาขายปลีกในตลาดต่างๆ ก็ต้องมีราคาที่สอดคล้องกับราคาดังกล่าว โดยกระทรวงพาณิชย์ระยุว่าเนื่องจากราคาสินค้าปศุสัตว์ โดยเฉพาะหมูมีราคาสูงขึ้นและหากประชาชนหันมาบริโภคไก่ทดแทนหมูมากขึ้นก็อาจทำให้ราคาไก่สูงขึ้น

สถานการณ์ “เนื้อสัตว์แพง” ทั่วโลกและไทย

สำหรับสถานการณ์เนื้อสัตว์และสินค้าอุปโภคบริโภคอื่นๆ ทั่วโลกที่ปรับตัวสูงขึ้นตั้งแต่ช่วงปลายปีที่แล้ว เกิดจากการที่หลายประเทศทั่วโลกเริ่มกลับมาดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ซึ่งภาคการบริโภคนั้นฟื้นตัวเร็วกว่าภาคการผลิต ส่งผลให้ค่าครองชีพสูงขึ้นและเกิดสภาวะเงินเฟ้อ สำนักข่าว CBS ของสหรัฐฯ รายงานเมื่อเดือน พ.ย. ปีที่แล้วว่าราคาเนื้อวัว เนื้อหมู เนื้อไก่ และเนื้อปลาในสหรัฐฯ ค่อยๆ เพิ่มสูงขึ้นมาตั้งแต่เดือน ต.ค. 2563 ดัชนีราคาสินค้าอุปโภคบริโภคของรัฐบาลสหรัฐฯ ระบุว่าราคาสินค้าประเภทเนื้อสัตว์สูงขึ้นเกือบ 12% โดยราคาเนื้อวัวเพิ่มขึ้นมากกว่า 20% เนื้อหมูเพิ่มขึ้น 14% ส่วนเนื้อไก่เพิ่มขึ้น 7.5%

EconoFact สำนักพิมพ์อิสระที่เป็นกลาง ซึ่งเผยแพร่ผลงานการศึกษาวิจัยให้ศูนย์เอ็ดเวิร์ด อาร์ เมอร์โรว ในวิทยาลัยกิจการระหว่างประเทศเฟลตเชอร์ของมหาวิทยาลัยทัฟส์ ในรัฐแมสซาชูเซตส์ของสหรัฐฯ ระบุว่าช่วงต้นปี 2563 ก่อนเกิดการระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19 ในสหรัฐฯ ราคาเนื้อวัว หมู และไก่ เพิ่มสูงขึ้น 26% 19% และ 15% ตามลำดับ

“สาเหตุเบื้องต้นที่ทำให้ราคาเนื้อสัตว์ปรับตัวสูงขึ้นเกิดจากการสกัดกั้นและเปลี่ยนแปลง (disrupt) ในกลุ่มผู้ผลิตตอนที่โรงงานแปรรูปต้องปิดตัวลงเพราะคนงานติดโควิด-19 แต่ตอนนี้ธุรกิจเหล่านั้นกลับมาเปิดทำการเต็มรูปแบบแล้ว แต่ผู้ประกอบการยังต้องรับภาระทางต้นทุนที่สูงขึ้นจากมารตรการทำงานแบบรักษาระยะห่างทางสังคม รวมถึงต้องจ่ายค่าอุปกรณ์ป้องกันเชื้อ” เจย์สัน ลูแซก นักเศรษฐศาสตร์การเกษตรประจำมหาวิทยาลัยเพอร์ดูในรัฐอินเดียนาระบุใน EconoFact

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ราคาเนื้อสัตว์ โดยเฉพาะเนื้อหมูในไทยที่ดีดตัวสูงขึ้นนั้น นอกจากจะมีปัจจัยร่วมด้านเศรษฐกิจโลกแล้ว ยังมีปัจจัยภายในคือเรื่องโรคระบาดอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) เข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งทำให้เนื้อหมูขาดตลาด เนื่องจากเกษตรต้องทำลายหมูที่ติดเชื้อ และไม่สามารถขายหมูให้กับโรงฆ่าสัตว์และโรงงานแปรรูปได้ 

ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมามีกระแสข่าวว่าโรงงานแปรรูปเนื้อหมูบางแห่งกักตุนเนื้อหมูไว้กว่า 200,000 กิโลกรัม ทำให้วันนี้ (20 ม.ค. 2565) เจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์และตำรวจเข้าตรวจค้นโรงงานแปรรูปเนื้อหมูหลายแห่ง เช่น ที่ จ.นนทบุรี สมุทรปราการ และสงขลา ซึ่ง 2 แห่งแรกตรวจค้นแล้วไม่พบการกักตุนเนื้อหมู แต่ที่ จ.สงขลาพบว่าโรงงานที่เข้าตรวจค้นมีการกักตุนเนื้อหมูกว่า 200,000 กิโลกรัมโดยไม่สามารถระบุที่มา ปศุสัตว์จังหวักจึงยึดเนื้อหมูดังกล่าวไว้เพื่อตรวจสอบต่อไป ทั้งนี้ ผู้ประกอบการที่ครอบครองหมูในพื้นที่เกินจาก 5 ตัน จะต้องแจ้งปริมาณครอบครองให้ทางกระทรวงพาณิชย์ทราบทุกวันจันทร์ของสัปดาห์ ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่สัปดาห์ที่ผ่านมา จนกว่าคำสั่งจะยกเลิก หากประชาชนต้องการข้อมูลเพิ่มเติม หรือพบเห็นการกระทำผิดด้านปศุสัตว์ โปรดติดต่อเจ้าหน้าที่เพื่อขอรับข้อมูล หรือแจ้งเบาะแสการกระทำความผิดเพื่อดำเนินการตามกฎหมาย โดยแจ้งผ่านแอปพลิเคชัน DLD 4.0 หรือสายด่วนกรมปศุสัตว์ 063-225 -6888 ได้ตลอดเวลา 24 ชั่วโมง

ที่มา:

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net