จากพระคุณที่สาม ถึง คศ.3 : พลวัตวิชาชีพครู ว่าด้วยอำนาจและสถานภาพทางสังคมในสังคมไทย [คลิป]

[ชุดเสวนาวิชาการ สังคมศึกษา : จากพระคุณที่สาม ถึง คศ.3 : พลวัตวิชาชีพครู ว่าด้วยอำนาจและสถานภาพทางสังคมในสังคมไทย]

เนื่องในโอกาสวันครูปี 2565 สาขาวิชาสังคมศึกษา ม.ราชภัฏลำปาง เชิญรับชมการนำเสนอรายงานการวิจัย เรื่อง "จากพระคุณที่สาม ถึง คศ.3 : พลวัตวิชาชีพครู ว่าด้วยอำนาจและสถานภาพทางสังคมในสังคมไทย" โดย ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาสังคมศึกษา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.ราชภัฏลำปาง

วันอาทิตย์ที่ 16 มกราคม 2565 เวลา 9.00 น.

วิจารณ์งานวิจัยโดย
ผศ.ดร.เจนสมุทร แสงพันธ์ คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ดร.ทิชานนท์ ชุมแวงวาปี ครูโรงเรียนเพ็ญพิทยาคม จังหวัดอุดรธานี
คุณเอกภพ พรหมสุทธิรักษ์ ศึกษานิเทศก์ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา จังหวัดนนทบุรี

จากพระคุณที่สาม ถึง คศ.3 : 
พลวัตวิชาชีพครู ว่าด้วยอำนาจและสถานภาพทางสังคมในสังคมไทย
ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์

บทคัดย่อ
.
งานวิจัย จากพระคุณที่สาม ถึง คศ.3 : พลวัตวิชาชีพครู ว่าด้วยอำนาจและสถานภาพทางสังคมในสังคมไทย มีวัตถุประสงค์อยู่ 2 ประการคือ ประการแรก เพื่อแสดงให้เห็นพลวัตของการผลิตครูในสังคมไทย ประการที่สองก็เพื่อนำเสนอบทบาทและสถานภาพของครูภายใต้โครงสร้างทางการเมือง สังคมและเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลง ความเป็นครูได้พัฒนาการมาตามประวัติศาสตร์ สถานภาพของพวกเขามักจะยืนอยู่ข้างเดียวกับผู้มีอำนาจและสัมพันธ์กับมิติทางศาสนาและความเชื่อ 

ในยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่เป็นจุดเริ่มต้นของการศึกษาแผนใหม่ทำให้การผลิตครูเป็นไปเพื่อตอบสนองโจทย์ของรัฐในการผลิตบุคลากรป้อนระบบราชการและการสร้างพลเมืองของชาติที่เชื่อฟังรัฐ ท่ามกลางความอ่อนแอทางเสรีภาพการแสดงออก และความรู้ที่แหลมคม ทำให้ครูและการเรียนการสอนมิได้มุ่งไปที่การวิพากษ์วิจารณ์ จนกระทั่งเกิดการปฏิวัติสยาม 2475 ที่ระบบการศึกษาได้ให้ความสำคัญกับอำนาจอธิปไตยประชาชน และการศึกษาที่สอดคล้องกับความเป็นพลเมืองที่เป็นใจกลางอำนาจแบบใหม่ที่ไม่ได้ขึ้นกับกษัตริย์ 

อย่างไรก็ตาม ระบบการศึกษาและการผลิตครูก็ไม่สามารถดำรงอยู่กับประชาธิปไตยได้นาน เช่นเดียวกับระบบการปกครองของประเทศที่รัฐบาลถูกยึดอำนาจและแทนที่ด้วยคณะรัฐประหารบ่อยครั้ง ตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา ความเป็นครูได้รับการยกย่องผ่านความศักดิ์สิทธิ์ อย่างที่รู้จักกันในนาม “พระคุณที่สาม” ไม่เพียงเท่านั้น ยังได้ผนึกอยู่กับระบบราชการที่รวมศูนย์อย่างแนบแน่น ในช่วงแรกข้าราชการครูมีเงินเดือนที่ต่ำเช่นเดียวกับข้าราชการทั่วไป แต่ได้รับการชดเชยด้วยสวัสดิการที่ครอบคลุมไปถึงครอบครัว 

ต่อมาหลังการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษ 2540 วิชาชีพครูได้ถูกยกระดับขึ้นมาไม่ว่าจะเป็นเงินเดือน และช่องทางการเติบโตผ่านระบบ “วิทยฐานะ” ที่ทำให้พวกเขามีเงินที่เพิ่มขึ้น การอยู่ภายใต้กระทรวงศึกษาธิการและยึดติดกับระบบราชการทำให้ครูถูกแยกขาดออกจากขบวนการแรงงาน เนื่องจากว่า ในสังคมข้าราชการนั้นการรวมตัว หรือเรียกร้องต่อรองต่อผู้บริหารซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชานั้นอาจนำไปสู่ปัญหาด้านการงานได้เนื่องจากเป็นการเผชิญหน้าให้กับผู้ให้คุณให้โทษโดยตรงได้ และทำให้ข้าราชการครูจำนวนมากต้องแก้ไขปัญหาในนามปัจเจก 

ในทางเดียวกัน ครูและบุคลากรอื่นที่อยู่ในโรงเรียนแต่อยู่นอกระบบราชการ กลับถูกเลือกปฏิบัติ เช่นการได้รับเงินเดือนที่ต่ำกว่าค่าแรงขั้นต่ำ หรือการได้รับการปฏิบัติอย่างไม่เท่าเทียมกับข้าราชการ การรวมตัวของครูที่เข้มแข็งเป็นอย่างยิ่งอยู่ในรูปของสหกรณ์ออมทรัพย์ครูในจังหวัดต่างๆ ที่ดำเนินการมาอย่างยาวนานและมีความเข้มแข็งทางการเงิน ในระยะหลังเสียงเรียกร้องถึงการรวมตัวในฐานะสหภาพครูดังขึ้นเรื่อยๆ แสดงให้เห็นถึงความกระตือรือร้นทางการเมืองของคนในวิชาชีพครูที่สอดคล้องกับความเคลื่อนไหวทางการเมืองในระดับชาติไปด้วย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท