Skip to main content
sharethis

ราชกิจจาฯ เผยแพร่ประกาศ "ประมวลจริยธรรมพนักงานส่วนท้องถิ่น"

21 ม.ค. 2565 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ ประกาศคณะกรรมการมาตรฐานการบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่นเรื่อง ประมวลจริยธรรมพนักงานส่วนท้องถิ่น

โดยที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 76 วรรคสาม บัญญัติให้รัฐพึงจัดให้มีมาตรฐานทางจริยธรรม เพื่อให้หน่วยงานของรัฐใช้เป็นหลักในการกำหนดประมวลจริยธรรมสำหรับเจ้าหน้าที่ของรัฐในหน่วยงานนั้น ๆ ซึ่งต้องไม่ต่ำกว่ามาตรฐานทางจริยธรรมดังกล่าว และพระราชบัญญัติมาตรฐานทางจริยธรรม พ.ศ. 2562 มาตรา 5 ได้กำหนดมาตรฐานทางจริยธรรมซึ่งเป็นหลักเกณฑ์การประพฤติปฏิบัติอย่างมีคุณธรรมของเจ้าหน้าที่ของรัฐ เพื่อใช้เป็นหลักสำคัญในการจัดทำประมวลจริยธรรมของหน่วยงานของรัฐ

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 33 (1) (7) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2542 มาตรา 6 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติมาตรฐานทางจริยธรรมพ.ศ. 2562 ประกอบกับระเบียบคณะกรรมการมาตรฐานทางจริยธรรม ว่าด้วยหลักเกณฑ์การจัดทำประมวลจริยธรรม ข้อกำหนดจริยธรรม และกระบวนการรักษาจริยธรรมของหน่วยงานและเจ้าหน้าที่ของรัฐพ.ศ.2563 คณะกรรมการมาตรฐานการบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น ในการประชุมครั้งที่ 1/2564เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2564 โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการมาตรฐานทางจริยธรรมในการประชุมครั้งที่ 7/2564 เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2564 จึงกำหนดให้มีประมวลจริยธรรมพนักงานส่วนท้องถิ่น เพื่อใช้เป็นหลักเกณฑ์ในการประพฤติปฏิบัติตน ดังต่อไปนี้

ข้อ 1 ประกาศนี้เรียกว่า “ประกาศคณะกรรมการมาตรฐานการบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่นเรื่อง ประมวลจริยธรรมพนักงานส่วนท้องถิ่น”

ข้อ 2 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

ข้อ 3 ประกาศนี้

“พนักงานส่วนท้องถิ่น” หมายความว่า ข้าราชการองค์การบริหารส่วนจังหวัด พนักงานเทศบาล

พนักงานส่วนตำบล พนักงานเมืองพัทยา และข้าราชการหรือพนักงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่นที่มีกฎหมายจัดตั้ง ให้หมายความรวมถึงพนักงานจ้าง ลูกจ้าง หรือผู้ปฏิบัติงานอื่นในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แต่ไม่รวมถึงข้าราชการกรุงเทพมหานคร บุคลากรกรุงเทพมหานครและผู้ปฏิบัติงานอื่นในกรุงเทพมหานครตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการกรุงเทพมหานครและบุคลากรกรุงเทพมหานครและกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร

“องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น” หมายความว่า องค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล เมืองพัทยา และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่นที่มีกฎหมายจัดตั้ง แต่ไม่รวมถึง กรุงเทพมหานคร

“กรรมการ” หมายความว่า กรรมการในคณะกรรมการมาตรฐานการบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น คณะกรรมการกลางข้าราชการองค์การบริหารส่วนจังหวัด คณะกรรมการกลางพนักงานเทศบาลคณะกรรมการกลางพนักงานส่วนตำบล คณะกรรมการข้าราชการองค์การบริหารส่วนจังหวัด คณะกรรมการพนักงานเทศบาล คณะกรรมการพนักงานส่วนตำบล คณะกรรมการพนักงานเมืองพัทยา และคณะกรรมการข้าราชการหรือพนักงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่นที่มีกฎหมายจัดตั้ง ให้หมายความรวมถึงอนุกรรมการที่แต่งตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น แต่ไม่รวมถึงคณะกรรมการและคณะอนุกรรมการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการกรุงเทพมหานครและบุคลากรกรุงเทพมหานคร และกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร

ข้อ 4 พนักงานส่วนท้องถิ่นพึงปฏิบัติตนเพื่อรักษาจริยธรรม ดังต่อไปนี้ ก. จริยธรรมหลัก

(1) ยึดมั่นในสถาบันหลักของประเทศ อันได้แก่ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์และการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยยึดถือผลประโยชน์ของประเทศชาติเป็นสำคัญ ประพฤติ ปฏิบัติตนอยู่ในกรอบศีลธรรมอันดีและเทิดทูนรักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์

(2) ซื่อสัตย์สุจริต รับผิดชอบต่อหน้าที่ ปฏิบัติหน้าที่อย่างตรงไปตรงมาตามกฎหมายและตามทำนองคลองธรรม โปร่งใส และมีจิตสำนึกที่ดี

(3) กล้าตัดสินใจ และกระทำในสิ่งที่ถูกต้องชอบธรรม และกล้าแสดงความคิดเห็นคัดค้าน หรือเสนอให้มีการลงโทษผู้ที่ทำสิ่งไม่ถูกต้อง

(4) คิดถึงประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนตัว และมีจิตสาธารณะ

(5) มุ่งผลสัมฤทธิ์ของงานและภารกิจขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

(6) ปฏิบัติหน้าที่อย่างเป็นธรรม ปราศจากอคติ และไม่เลือกปฏิบัติ โดยการใช้ความรู้สึกหรือความสัมพันธ์ส่วนตัวหรือเหตุผลของความแตกต่างทางเชื้อชาติ ศาสนา เพศ อายุสภาพร่างกาย สถานะของบุคคลหรือฐานะทางเศรษฐกิจสังคม

(7) ด ารงตนเป็นแบบอย่างที่ดีและรักษาภาพลักษณ์ของทางราชการ ด้วยการรักษาเกียรติศักดิ์ของความเป็นพนักงานส่วนท้องถิ่น รวมทั้งปฏิบัติตนเป็นพลเมืองดีและดำเนินชีวิตตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

ข. จริยธรรมทั่วไป

(1) ยึดมั่นธรรมาภิบาลและอุทิศตนเพื่อประโยชน์สุขแก่ประชาชน

(2) ดูแลรักษาและใช้ทรัพย์สินของทางราชการอย่างประหยัด คุ้มค่า และระมัดระวังไม่ให้เกิดความเสียหาย

(3) ต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความสุภาพ เรียบร้อย และมีอัธยาศัยที่ดี

(4) มุ่งบริการประชาชน และแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน ด้วยความเป็นธรรม รวดเร็ว เสมอภาค และเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

(5) จัดทำบริการสาธารณะ และกิจกรรมสาธารณะ ต้องคำนึงถึงคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

(6) ให้ข้อมูลข่าวสารตามข้อเท็จจริงแก่ประชาชนอันอยู่ในความรับผิดชอบของตนอย่างถูกต้องครบถ้วนและไม่บิดเบือน

(7) เรียนรู้และพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มขีดความสามารถให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอย่างยั่งยืน

(8) ไม่กระทำการอันมีลักษณะเป็นการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลกับประโยชน์ส่วนรวม

(9) ต้องปฏิบัติตามประมวลจริยธรรมอย่างตรงไปตรงมา และไม่กระทำการเลี่ยงประมวลจริยธรรมนี้

ข้อ 5 หากพนักงานส่วนท้องถิ่นผู้ใดจะต้องยึดถือหรือปฏิบัติตามจรรยาบรรณวิชาชีพตามกฎหมายหรือข้อบังคับอื่นใดที่กำหนดไว้โดยเฉพาะ นอกจากจะต้องรักษาจริยธรรมตามประกาศนี้แล้วจะต้องยึดมั่นในจรรยาบรรณวิชาชีพนั้นด้วย

ข้อ 6 การจัดทำกระบวนการรักษาจริยธรรม แนวทางการจัดทำข้อกำหนดจริยธรรม เพิ่มเติมจากประมวลจริยธรรมให้สอดคล้องเหมาะสมแก่บทบาทภารกิจที่มีลักษณะเฉพาะของแต่ละองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และแนวทางการประพฤติปฏิบัติตนตามประมวลจริยธรรมพนักงานส่วนท้องถิ่นรวมทั้งหลักเกณฑ์การนำพฤติกรรมทางจริยธรรมไปใช้ในกระบวนการบริหารงานบุคคล ให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการมาตรฐานการบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่นกำหนด

ข้อ 7 ให้กรรมการยึดถือปฏิบัติตามประกาศนี้ด้วย

ข้อ 8 ให้คณะกรรมการมาตรฐานการบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น รักษาการตามประกาศนี้และมีอำนาจตีความและวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับการปฏิบัติตามประกาศนี้

ประกาศ ณ วันที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ.2564

พงศ์โพยม วาศภูติ ประธานกรรมการมาตรฐานการบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น

ที่มา: สยามรัฐ, 21/1/2565

เผยโครงการส่งเสริมการจ้างงานคนพิการเชิงสังคมปี 2565 เกินเป้า 40%

นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม และพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งกำกับดูแลกระทรวงแรงงาน ให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนประเทศอย่าง "มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน" ตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี โดยกระทรวงแรงงานพร้อมสนองต่อนโยบายรัฐบาล โดยเฉพาะยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ และด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม โดยเน้นสร้างโอกาสแก่ประชาชนที่เป็นกลุ่มเปราะบาง คนพิการ เพื่อให้มีหลักประกันทางสังคม ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนกลุ่มเปราะบาง ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สามารถพึ่งพาตนเองได้ ลดความเหลื่อมล้ำ และไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

ทั้งนี้ในฐานะ รมว.แรงงานได้มอบหมายให้กรมการจัดหางานจัดทำโครงการส่งเสริมการจ้างงานคนพิการเชิงสังคม ประเภทจ้างเหมาบริการ เพื่อเชิญชวนนายจ้าง สถานประกอบการที่ส่งเงินเข้ากองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการตามมาตรา 34 ให้ดำเนินการให้สิทธิแก่คนพิการหรือผู้ดูแลคนพิการตามมาตรา 35 โดยจ้างงานคนพิการเป็นพนักงานเพื่อปฏิบัติงานสนับสนุนในหน่วยบริการสาธารณประโยชน์ในพื้นที่ชุมชนใกล้บ้าน เช่น โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล โรงเรียน/ศูนย์เด็กเล็ก ศูนย์ฟื้นฟูอาชีพคนพิการ ศูนย์บริการคนพิการของเทศบาลและองค์การบริหารส่วนตำบล ซึ่งช่วยให้คนพิการในพื้นที่ห่างไกล ได้รับโอกาสมีอาชีพ มีงานทำอย่างทั่วถึง สามารถพึ่งพาตนเองได้ทัดเทียมคนทั่วไป โดยมีการกำหนดเป้าหมายการจ้างงานคนพิการเชิงสังคม ปี 2565 ไว้ จำนวน 1,000 คน และเตรียมขยายการมีงานทำให้คนพิการมีงานและรายได้เพิ่มขึ้นปีละ 20% ภายใน 4 ปี

อย่างไรก็ดีต้องขอบคุณความร่วมมือของสถานประกอบการภาคเอกชน จำนวน 181 แห่ง อาทิ บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนท์ บมจ.แคล - คอมพ์ อีเล็คโทรนิคส์ (ประเทศไทย) สาขาเพชรบุรีและสาขาสมุทรสาคร กลุ่มบริษัท อเด็กโก้ ประเทศไทย และบริษัท รักษาความปลอดภัย การ์ดฟอร์ซ (ประเทศไทย) จำกัด ที่ได้ให้สิทธิคนพิการฯ ตามโครงการส่งเสริมจ้างงานคนพิการเชิงสังคมในปีนี้ ถึง 1,400 คน เพิ่มจากเป้าหมายร้อยละ 40 ก่อให้เกิดรายได้ 159,943,425 บาทต่อปี

นายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า กรมการจัดหางาน มีภารกิจในการส่งเสริมการมีงานทำให้แก่ประชาชนทุกกลุ่มที่ต้องการมีงานทำทั้งนักเรียน นักศึกษา ผู้สูงอายุ ผู้พ้นโทษ และคนพิการ โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19 การส่งเสริมให้กลุ่มคนพิการที่มีทั้งศักยภาพ และความต้องการที่จะทำงานเป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญ ซึ่งกรมการจัดหางานรับข้อสั่งการรมว.แรงงาน มอบหมายให้ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่กรมการจัดหางานลงพื้นที่โน้มน้าวนายจ้าง สถานประกอบการ ที่ใช้สิทธิตามมาตรา 34 ในการส่งเงินเข้ากองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ เปลี่ยนมาให้สิทธิตามมาตรา 35 ประเภท จ้างเหมาบริการ เพื่อสร้างโอกาสให้คนพิการมีงานทำ และได้รับรายได้จากการทำงานโดยตรง

ทั้งนี้มีผู้พิการที่เข้าร่วมโครงการทั้งสิ้น 1,400 คน ส่วนใหญ่ เป็นผู้พิการทางการเคลื่อนไหวหรือทางร่างกาย การได้ยินหรือสื่อความหมาย ทางสติปัญญา ทางการมองเห็น และทางการเรียนรู้ ตามลำดับ ทำงานในตำแหน่ง พนักงานธุรการทั่วไป พนักงานทำความสะอาด คนสวน เป็นต้น โดยหน่วยบริการสาธารณะ 3 อันดับแรกที่มีความพร้อมรับคนพิการเข้าปฏิบัติงาน ได้แก่ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล องค์การบริหารส่วนตำบล และโรงเรียนตามลำดับ

ที่มา: สยามรัฐ, 21/1/2565

ก.แรงงาน สั่งสอบด่วนปม นายจ้างทำร้ายร่างกาย รปภ.

20 ม.ค. 2565 นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน กล่าวถึง กรณีสื่อสังคมออนไลน์นำเสนอข่าวลูกจ้างพนักงานรักษาความปลอดภัย (รปภ.) ถูกนายจ้างทุบตี ทำร้ายร่างกาย หลังเข้าทวงถามเงินค่าจ้างค้างจ่ายจากนายจ้างว่า ได้รับรายงานในเบื้องต้นว่า นายชินวัตร สมศรีงาม อายุ 26 ปี พนักงานรักษาความปลอดภัยของบริษัท รักษาความปลอดภัย ฟินิกซ์ ซิเคียวริตี้ เซอร์วิส จำกัด ตั้งอยู่ในพื้นที่อำเภอบางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี ปฏิบัติงานในตำแหน่งหัวหน้าชุดรักษาความปลอดภัยที่หมู่บ้านพฤกษา 73 อำเภอเมืองสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสาคร ถูกนายจ้างทำร้ายร่างกายหลังจากไปพบนายจ้างเพื่อทวงถามเงินค่าจ้างค้างจ่าย เหตุเกิดเมื่อวันที่ 12 ม.ค.2565 ที่ผ่านมา ซึ่งทั้ง 2 ฝ่าย ได้แจ้งความไว้ที่สถานีตำรวจนครบาลพระโขนง ซึ่งฝ่ายนายจ้างให้ปากคำว่าสาเหตุที่ไม่จ่ายค่าจ้างเพราะลูกจ้างได้ลงข้อความประจานทางเฟซบุ๊ก ในเพจของ รปภ. ทำให้ได้รับความเสียหาย โดยต้องการเคลียร์เรื่องลงประจานและลูกจ้างทิ้งงานไปให้จบก่อนแต่ลูกจ้างได้เข้ามาทำร้ายร่างกายจึงเกิดการต่อสู้กัน ซึ่งนายจ้างได้ใช้ท่อนเหล็กตีไปยังตัวลูกจ้างจนได้รับบาดเจ็บ ซึ่งเรื่องของการทำร้ายร่างกายตำรวจจะดำเนินการทางกฎหมายต่อไป ส่วนเรื่องคดีค้างจ่ายค่าจ้างได้มอบหมายให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานตรวจสอบข้อเท็จจริง และดำเนินการช่วยเหลือดูแลสิทธิประโยชน์ของลูกจ้างโดยเร็ว

นายนิยม สองแก้ว อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กล่าวเพิ่มเติมว่า นายชินวัตร สมศรีงามได้ยื่นคำร้องผ่านระบบ E-service กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เมื่อวันที่ 14 ม.ค. 2565 ขอรับค่าจ้างค้างจ่ายตั้งแต่วันที่ 26 ต.ค. ถึงวันที่ 6 ธ.ค. 2564 เป็นเงิน 20,500 บาท และค่าทำงานในวันหยุดประจำสัปดาห์ เป็นเงิน 1,986 บาท และเมื่อวันที่ 20 ม.ค.2565 นางสาวลักขณา กัญญานก ภรรยาของนายชินวัตร ได้ใช้สิทธิยื่นคำร้องผ่านระบบ E-service กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เรียกค่าจ้างของการทำงานตั้งแต่วันที่ 26 ต.ค.ถึงวันที่ 6 ธ.ค. 2564 จากนายจ้างรายเดียวกัน เป็นเงิน 17,750 บาท ค่าทำงานในวันหยุด เป็นเงิน 1,986 บาท ซึ่งพนักงานตรวจแรงงานได้มีหนังสือเชิญนายจ้างมาให้ข้อเท็จจริงแล้ว และจะดำเนินการสอบข้อเท็จจริงและเรียกร้องสิทธิประโยชน์ให้กับลูกจ้างโดยเร็ว

ที่มา: เดลินิวส์, 20/1/2565

‘สมัชชาแรงงานฯ’ ยื่นหนังสือ กมธ.แรงงาน จี้รัฐขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ-คุมราคา

ที่รัฐสภา สมัชชาแรงงานแห่งชาติ นำโดย นายอมรฤทธิ์ แสงยะรักษ์ เลขาธิการสมัชชาแรงงานแห่งชาติ ยื่นหนังสือต่อนายสุเทพ อู่อ้น ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร เรื่องขอปรับขึ้นค่าแรงงานขั้นต่ำทั้งประเทศ

นายอมรฤทธิ์ กล่าวว่า เนื่องจากสถานการณ์ปัจจุบันมีการปรับขึ้นราคาสินค้าอุปโภค บริโภค อย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน โดยเฉพาะกลุ่มพี่น้องผู้ใช้แรงงาน ที่ต้องแบกรับค่าครองชีพที่สูงขึ้นกับค่าแรงขั้นต่ำเฉลี่ยวันละ 320 บาท ซึ่งรัฐบาลเคยใช้เป็นนโยบายไว้เมื่อปี 62 ว่าจะต้องปรับค่าแรงขั้นต่ำเป็น 425 บาท แต่ก็เป็นเพียงนโยบายขายฝันเท่านั้น ดังนั้นทางสมัชชาแรงงานฯ ขอเรียกร้องให้รัฐมีนโยบายควบคุมราคาสินค้าอุปโภค บริโภค ที่จำเป็นในชีวิตประจำวัน และเสนอให้รัฐปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ เพื่อเป็นมาตรฐานเดียวกันให้แรงงานทุกคนเท่ากันทั้งประเทศอย่างเร่งด่วน

ด้าน นายสุเทพ กล่าวว่า วันนี้ช่วงบ่ายคณะกมธ.การแรงงาน ได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจากกระทรวงแรงงาน กระทรวงพาณิชย์ นายจ้าง ลูกจ้าง เข้ามาพูดคุยผลกระทบที่เกิดขึ้น เพื่อรวบรวมข้อมูลส่งให้ฝ่ายรัฐ แต่ถ้ารัฐคิดว่าแก้ไขไม่ไหว ตนเสนอว่าเปลี่ยนผู้บริหารประเทศจะดีกว่า

ที่มา: เดลินิวส์, 20/1/2565

ศธ.-แรงงาน พัฒนาทักษะผู้เรียน แรงงาน ส่งเสริมมีงานทำ สร้างรายได้

น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และนายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานร่วมเป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือว่าด้วยการส่งเสริมการศึกษาและการมีงานทำให้แก่นักเรียน นักศึกษา และแรงงานทุกระดับ ณ ห้องประชุมราชวัลลภ อาคารราชวัลลภ กระทรวงศึกษาธิการ กรุงเทพมหานคร

น.ส.ตรีนุช กล่าวว่า ศธ. เป็นหน่วยงานรัฐที่กำกับดูแลการศึกษาของชาติเพื่อการพัฒนาคุณภาพของประชาชน ได้กำหนดนโยบายการจัดการศึกษา ซึ่งมีเป้าหมาย คือ มีผู้เรียนเป็นเป้าหมายแห่งการพัฒนา โดยให้ผู้เรียนมีวิธีคิดและทักษะที่เป็นสากลสอดคล้องกับพลวัตในศตวรรษที่ 21 ควบคู่ไปกับสำนึกและความเข้าใจในความเป็นไทย ผ่านการมีความพร้อมด้านเทคโนโลยี

ทั้งในเชิงโครงสร้างและเชิงการเรียนรู้ สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในการขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านการศึกษาให้มีคุณภาพ ประสิทธิภาพในทุกมิติ ให้กับผู้เรียนทุกช่วงวัย การศึกษา เพื่ออาชีพ และสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ เพื่อให้ผู้จบการศึกษา ระดับปริญญาและอาชีวศึกษามีอาชีพ และรายได้ที่เหมาะสมกับการดำรงชีพและคุณภาพชีวิตที่ดี มีส่วนช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในเวทีโลกได้

"เป็นความมุ่งมั่น ของรัฐบาล ภายใต้การนำของท่านพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ต้องการยกระดับคุณภาพการศึกษา โดยให้ความสำคัญต่อเด็กนักเรียนอาชีวะ ให้เป็นผู้ที่มีความรู้และทักษะอาชีพ ที่สามารถแข่งขันได้ในระดับสากล ซึ่งจะนำไปสู่การมีงานทำ มีอาชีพ และรายได้ที่เหมาะสม มีคุณภาพชีวิตที่ดี” น.ส.ตรีนุช กล่าว

นอกจากนี้ การพัฒนาหลักสูตรฐานสมรรถนะ การพัฒนาการจัดทำฐานข้อมูลอย่างเป็นระบบ (Big Data) ยังเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินงานนโยบายที่เป็นวาระเร่งด่วน ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายของการลงนามความร่วมมือในครั้งนี้ที่จะบูรณาการภารกิจการทำงานร่วมกัน

นายสุชาติ กล่าวว่า รัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมพัฒนาทักษะอาชีพและส่งเสริมการมีงานทำ และให้ความสำคัญในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ทุกช่วงวัยโดยเฉพาะในวัยแรงงานที่จะต้องได้รับการพัฒนาทักษะฝีมือให้สูงขึ้นสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีลดปัญหาการขาดแคลนแรงงานที่มีความรู้ ความสามารถ และทักษะฝีมือที่ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงานทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ ทั้งสองหน่วยงานจึงขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าวโดยใช้แนวทางประชารัฐในการสร้างความร่วมมือ

นายสุชาติ กล่าวต่อว่าการลงนามในวันนี้ ทั้งสองหน่วยงานจะร่วมกันพัฒนาระบบฐานข้อมูล (Big Data) ด้านอุปสงค์อุปทานของตลาดแรงงานเพื่อส่งเสริมการจัดการศึกษาพัฒนาทักษะทางอาชีพและการมีงานทำ จัดฝึกอบรมด้านเทคโนโลยีสมัยใหม่ให้แก่บุคลากรและครูผู้สอนเพื่อนำความรู้ไปขยายผลให้แก่นักเรียน นักศึกษาในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ และแรงงานทุกระดับ พัฒนาหลักสูตรฝึกอบรมฝีมือแรงงานไปสู่การทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติและการประเมินความรู้ความสามารถ

ร่วมกันจัดการแข่งทักษะฝีมือระดับภูมิภาค ระดับประเทศ ระดับอาเซียน และระดับนานาชาติ เผยแพร่ความรู้ทางกฎหมายและระเบียบต่างๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการมีงานทำ การคุ้มครองแรงงาน และด้านประกันสังคม เป็นต้น

ทั้งนี้ ในช่วงปี 2562-2564 ที่ผ่านมากรมพัฒนาฝีมือแรงงานจัดฝึกอบรมและทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติให้นักศึกษาอาชีวะปีสุดท้ายในหลักสูตร เช่น ช่างเขียนแบบเครื่องกลด้วยคอมพิวเตอร์ ช่างซ่อมรถจักรยานยนต์รุ่นใหม่ ช่างไฟฟ้าภายในอาคาร ช่างเครื่องปรับอากาศในบ้านและการพาณิชย์ขนาดเล็ก ช่างเชื่อม พนักงานการใช้คอมพิวเตอร์ เป็นต้น มีผู้ผ่านการฝึกอบรมและทดสอบฯ ทั้งสิ้น 23,891 คน

รวมทั้งส่งเสริมให้สถานศึกษาเป็นศูนย์ทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน 114 แห่ง และศูนย์ประเมินความรู้ความสามารถอีก 16 แห่ง นอกจากนี้ยังได้ดำเนินโครงการเพิ่มทักษะด้านอาชีพแก่นักเรียนที่ไม่ได้เรียนต่อหลังจบการศึกษาภาคบังคับ โดยมีผู้ผ่านการฝึกอบรม 1,178 คน ความร่วมมือในครั้งนี้จะมีส่วนสนับสนุนให้ภารกิจที่จะดำเนินการในปี 2565 และปีต่อๆ ไป บรรลุเป้าหมายอย่างเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น และสามารถแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงานคุณภาพทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพได้อย่างแท้จริง

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 19/1/2565

นายหน้าแสบลอยแพแรงงานต่างด้าว หลอกพามานั่งรอสมัครงานหน้าโรงงานสมุทรสาคร

เมื่อวันที่ 18 ม.ค. 2565 18 นายณรงค์ รักร้อย ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร พร้อม พ.อ.วินัย บุตรรักษ์ รอง ผอ.กอ.รมน.นายวุฒิพงษ์ สุภัควนิช หัวหน้าสำนักงานจังหวัดสมุทรสาคร พร้อมกำลังเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่บริเวณหน้าโรงงานไทยยูเนียน คลองครุ ตำบลท่าทราย จังหวัดสมุทรสาคร หลังจากได้รับร้องเรียนมาจากประชาชนว่ามีกลุ่มแรงงานต่างด้าวกว่า 300 คน จับกลุ่มอยู่บริเวณหน้าโรงงานเมื่อกำลังเจ้าหน้าที่ไปถึงกลุ่มแรงงานต่าวด้าวที่นั่งรออยู่หน้าโรงงานเห็นเจ้าหน้าที่ต่างแตกฮือ วิ่งหลบหนี ออกจากบริเวณดังกล่าว ไปคนละทิศละทาง

ทางเจ้าหน้าที่สามารถจับกุมตัวแรงงานต่างด้าวได้มาจำนวนหนึ่งทำกาารตรวจสอบแล้วพบว่าไม่มีหนังสือเดินทาง หรือหลักฐานการเข้าเมืองที่ถูกกฎหมาย ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ จึงได้จับกุมตัวส่งพนักงานสอบสวน สภ.เมืองสมุทรสาคร เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป

ทางเจ้าหน้าที่ได้มีการสอบถามทางโรงงานว่าแรงงานดังกล่าวที่มาจับกลุ่มที่หน้าโรงงานจำนวนมากมีที่มาที่ไปอย่างไร ทางโรงงานแจ้งว่าแรงงานดังกล่าวถูกนายหน้าหลอกพามาโดยหลอกว่าทางโรงงานเปิดรับสมัครงานและจะพามาสมัครงานแต่ทางโรงานไม่ได้มีการรับสมัครพนักงานแต่อย่างใด

ทางเจ้าหน้าที่ได้มีการสอบถามทางโรงงานว่าแรงงานดังกล่าวที่มาจับกลุ่มที่หน้าโรงงานจำนวนมากมีที่มาที่ไปอย่างไร ทางโรงงานแจ้งว่าแรงงานดังกล่าวถูกนายหน้าหลอกพามาโดยหลอกว่าทางโรงงานเปิดรับสมัครงานและจะพามาสมัครงานแต่ทางโรงานไม่ได้มีการรับสมัครพนักงานแต่อย่างใด

นายณรงค์ รักร้อย ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาครได้มีการกำชับให้ทางโรงงานมีมาตรการในการป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิค-19 และต้องแจ้งพนักงานเจ้าหน้าที่ทราบในการดำเนินการรับสมัครงานให้เป็นไปตามคำสั่งของทางจังหวัดสมุทรสาครด้วยอย่างเคร่งครัด

ที่มา: แนวหน้า, 19/1/2565

แมนพาวเวอร์กรุ๊ป จัดอันดับสายงานและอาชีพมาแรงปี 2565 และทิศทางตลาดงานไทยยุคดิจิทัลดิสรัปชั่นถึงโควิดดิสรัปชั่น

19 ม.ค. 2565 แมนพาวเวอร์กรุ๊ป ประเทศไทย เปิดผลวิเคราะห์ทิศทางตลาดงานไทยในปี 2565 โดยครอบคลุมถึงการคาดการณ์ธุรกิจที่มีความต้องการแรงงานสูง พร้อมจัดอันดับสายงานมาแรงแห่งปีด้านตลาดงาน หลังจากที่แต่ละธุรกิจได้รับผลกระทบจากดิจิทัลดิสรัปชั่นมาจนถึงโควิด-19 ดิสรัปชั่น จนทำให้มีการเปลี่ยนแปลงหลากหลาย ซึ่งนับเป็นความท้าทายของทั้งภาคธุรกิจและภาคอุตสาหกรรม ที่ต้องรับมือกับการพลิกฟื้นเศรษฐกิจ

นางสาวลิลลี่ งามตระกูลพานิช ผู้จัดการประจำประเทศไทย แมนพาวเวอร์กรุ๊ป เปิดเผยว่า ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยเผชิญกับความท้าทายสำคัญ ๆ ทั้งดิจิทัลดิสรัปชั่นและโควิดดิสรัปชั่น ซึ่งส่งผลกระทบต่อวิถีการใช้ชีวิต การทำงาน และการดำเนินธุรกิจของทั้งภาคธุรกิจและภาคอุตสาหกรรม

ดังนั้น ทิศทางของตลาดงานและแรงงานมีแนวโน้มปรับตัวไปสู่รูปแบบของธุรกิจใหม่ (new economy) ซึ่งทุกกลุ่มธุรกิจจะต้องมีการวางแผนด้านกำลังคน การสรรหาบุคลากร รวมถึงพัฒนาบุคลากรเพื่อให้ตอบโจทย์การทำงานปัจจุบันสู่อนาคต และสร้างความสำเร็จร่วมกันท่ามกลางโลกของการเปลี่ยนแปลง

สายงานที่ตลาดงานต้องการ

แมนพาวเวอร์กรุ๊ปได้ดำเนินการสำรวจและจัดอันดับตลาดแรงงานประเทศไทย ประจำปี 2565 สายงานที่ตลาดงานต้องการ 10 อันดับ มีดังนี้

อันดับ 1 สายงานขายและการตลาด 20.16%

อันดับ 2 สายงานการผลิต 19.03%

อันดับ 3 งานระยะสั้นต่าง ๆ 12.74%

อันดับ 4 สายงานไอที 11.29%

อันดับ 5 สายงานวิศวกร 9.19%

อันดับ 6 สายงานบัญชีและการเงิน 8.71%

อันดับ 7 สายงานโลจิสติกส์และซัพพลายเชน 7.10%

อันดับ 8 สายงานบริการลูกค้า 5.48%

อันดับ 9 สายงานบริการทางการแพทย์และสุขภาพ 3.71%

อันดับ 10 สายงานทรัพยากรบุคคล 2.26%

“อย่างไรก็ตาม สายงานขายและการตลาดนับว่ามีความสำคัญและมีความต้องการสูงต่อเนื่อง 5 ปีติดต่อกัน และจากผลกระทบของสถานการณ์โควิด-19 ยิ่งทำให้บทบาทของการขายและการตลาดมีส่วนสำคัญต่อการตัดสินใจของผู้บริโภค

สินค้าเพื่อการอุปโภค/บริโภค และงานการผลิตมีความต้องการสูงเพราแผนการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ โดยการเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีและการส่งออกที่มีแนวโน้มเติบโตขึ้น รวมถึงงานระยะสั้น งานชั่วคราว และงานสัญญาจ้างมีความต้องการแรงงานสูงขึ้น จากการลดความเสี่ยงด้านบุคลากรในช่วงวิกฤตโควิด-19

ทางด้านสายงานด้านไอทียังมีการเติบโตและมีความต้องการสูงมากสอดคล้องทิศทางยุคดิจิทัลดิสรัปชั่นและโควิดดิสรัปชั่น ที่ใช้อุปกรณ์ไอทีและนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการทำงาน และตั้งแต่ที่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ต้องการรักษาระยะห่างทางกายภาพส่งผลให้มีตำแหน่งงานทางด้านไอทีเกิดขึ้นและเติบโตสูงมากในปัจจุบัน

งานวิศวกรมีความต้องการแปรผันตาม ทิศทางของภาคการผลิตในหลากหลายสายเพื่อให้การทำงานทั้งในส่วนกระบวนการทำงานและการผลิตดำเนินต่อไปได้อย่างไม่มีสะดุดในสถานการณ์ต่างๆ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายทางธุรกิจของแต่ละองค์กร

จากผลการสำรวจ 10 อันดับ อาชีพมาแรงแห่งปีของประเทศไทย ปี 2565 แบ่งเป็น

– สายงานขายและการตลาด ได้แก่ งานขาย, งานพัฒนาธุรกิจ, งานการตลาดดิจิทัล, งานอีคอมเมิร์ซ และงานการตลาด

– สายงานการผลิต ได้แก่ งานฝ่ายผลิต และช่างเทคนิค งานระยะสั้นต่าง ๆ ได้แก่ งานฝ่ายผลิต, งานขาย, งานไอที, งานวิศวกร, งานโลจิสติกส์, งานบริการลูกค้า และงานก่อสร้าง

– สายงานไอที ได้แก่ Programmer & Developer, Big Data, Project Management, IT – Technique, IT Infrastructure, IT Support, Blockchain, IT Management, Software Tester และ Robotics

– สายงานวิศวกร ได้แก่ งานวิศวกรประกันและตรวจสอบคุณภาพ, งานวิศวกรการผลิต, งานวิศวกรรมการวัดคุม, งานวิศวกรโครงการ, งานวิศวกรวิจัยและพัฒนา

– สายงานบัญชีและการเงิน ได้แก่ งานผู้ตรวจสอบบัญชี และงานที่ปรึกษาทางการเงิน

– สายงานโลจิสติกส์และซัพพลายเชน ได้แก่ งานจัดเรียงสินค้า, งานส่งพัสดุ, งานคลังสินค้า, งานจัดซื้อในและต่างประเทศ

– สายงานบริการลูกค้า ได้แก่ งานบริการให้ข้อมูลทางโทรศัพท์, งานแนะนำสินค้า, งานบริการลูกค้าทางโทรศัพท์, งานขายทางโทรศัพท์ และงานที่ปรึกษาด้านความคุ้มครอง

– สายงานบริการทางการแพทย์และสุขภาพ ได้แก่ พยาบาล, แพทย์, เภสัชกร, ทันตแพทย์ และงานบริการทางด้านสุขภาพ

– สายงานทรัพยากรบุคคล ได้แก่ งานบริหารบุคคลและวางแผนกำลังคน, งานสรรหาบุคลากร, งานบริหารค่าตอบแทนและสวัสดิการ, งานพัฒนาบุคลากร และงานระบบสารสนเทศ

ทางด้านอาชีพมาแรงในกลุ่มงานระยะสั้น ทั้งงานสัญญาจ้างและงานชั่วคราว ซึ่งมีตำแหน่งงานที่มีความต้องการหลากหลาย ดังนี้

– สายงานการผลิต ซึ่งเป็นกลุ่มอาชีพมาแรง ได้แก่ งานฝ่ายผลิต และช่างเทคนิค

– สายงานขาย ได้แก่ งานขาย และงานประจำพื้นที่/อีเว้นท์

– สายงานไอที ได้แก่ programmer & developer, IT support, project management และ software tester

– สายงานวิศวกร ได้แก่ งานวิศวกรประกันและตรวจสอบคุณภาพ งานวิศวกรระบบ งานวิศวกรผลิตภัณฑ์ และงานวิศวกรโยธา

– สายงานโลจิสติกส์และซัพพลายเชน ได้แก่ งานคลังสินค้า งานแพ็คสินค้า และงานจัดเรียงสินค้า

– สายงานบริการลูกค้า ได้แก่ งานแคชเชียร์ งานแนะนำสินค้า และงานติดตามหนี้สินทางโทรศัพท์

– สายงานก่อสร้าง ได้แก่ งานก่อสร้าง

กลุ่มธุรกิจที่มีความต้องการแรงงานสูง และน่าจับตา 3 กลุ่มหลัก ได้แก่

– ธุรกิจบริการ ในกลุ่มขนส่งโลจิสติกส์, การแพทย์ และพาณิชย์

– ธุรกิจสินค้าอุตสาหกรรม ในกลุ่มยานยนต์, วัสดุอุตสาหกรรมและเครื่องจักร, ปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์

– ธุรกิจเทคโนโลยี ในกลุ่มเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร รวมถึงชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ตามลำดับ

ทั้งนี้ มีการคาดการณ์แนวโน้มธุรกิจสำหรับปี 2565 ยังคงเป็นกลุ่มธุรกิจบริการ, เทคโนโลยี และสินค้าอุตสาหกรรม ตามทิศทางเศรษฐกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศที่อยู่ในช่วงฟื้นตัว

ภาพรวมความต้องการแรงงานมีทิศทางเติบโตขึ้นจากสถานการณ์โควิดรอบที่ 1 ในปี 2563 องค์กรและผู้ประกอบการเดินหน้าทำการลงทุนประกอบธุรกิจและดำเนินกิจกรรมในส่วนของการผลิตได้ต่อเนื่อง และให้ได้ตามแผนงานที่วางไว้

ทางด้านความต้องการของนายจ้างส่วนใหญ่อยู่ในกรุงเทพฯ และจังหวัดที่เป็นหัวเมืองใหญ่ๆ ในแต่ละภูมิภาค อาทิ สมุทรปราการ, ปทุมธานี, ระยอง, ชลบุรี, อยุธยา, ฉะเชิงเทรา, เชียงใหม่, นครราชสีมา และสงขลา เป็นต้น

พร้อมกันนี้ยังทำการสำรวจ 10 อันดับสายงานที่เป็นที่ต้องการของแรงงาน ดังนี้

อันดับ 1 สายงานขายและการตลาด 27.26%

อันดับ 2 สายงานวิศวกร 17.31%

อันดับ 3 สายงานบริการลูกค้า 11.05%

อันดับ 4 สายงานบัญชีและการเงิน 7.39%

อันดับ 5 สายงานไอที 7.36%

อันดับ 6 สายงานโลจิสติกส์และซัพพลายเชน 6.35%

อันดับ 7 สายงานทรัพยากรบุคคล 5.94%

อันดับ 8 สายงานธุรการ 5.45%

อันดับ 9 สายงานการผลิต 4.34%

อันดับ 10 งานระยะสั้นต่างๆ 3.97%

นอกจากนี้ ผลสำรวจยังระบุว่าแรงงานส่วนใหญ่มีความสนใจทำงานในกรุงเทพฯ และหมุนเวียนตามพื้นที่ในประเทศไทยโดยเฉพาะพื้นที่ในกลุ่มเศรษฐกิจพิเศษ EEC ได้แก่ จังหวัดระยอง, จังหวัดชลบุรี และจังหวัดฉะเชิงเทรา อย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งจากการสำรวจมุมมองผู้ประกอบการในพื้นที่ มีการรับมือและปรับเพื่อขับเคลื่อนธุรกิจให้พลิกฟื้น ซึ่งสถานการณ์ปัจจุบันค่อนข้างดี สามารถรับมือได้ทันกับการเปลี่ยนแปลง

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 19/1/2565

"CP ALL" คว้ารางวัล สุดยอดนายจ้างยอดเยี่ยม ปี 2022 จากองค์กรระดับโลก

"CP ALL" บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ดำเนินธุรกิจร้านสะดวกซื้อที่ได้รับความนิยมอย่างมากในประเทศไทย โดยเมื่อวันที่ 14 ม.ค. 2565 ที่ผ่านมา ทางด้านเพจเฟซบุ๊ก CPALL ก็ได้ประกาศข่าวดีว่า CP ALL คว้ารางวัล สุดยอดนายจ้าง ปี 2022 จากองค์กรระดับโลก World HRD Congress

World HRD Congress องค์กรอิสระไม่แสวงหากำไร ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของผู้เชี่ยวชาญในแวดวงการบริหารทรัพยากรบุคคล เพื่อให้คำแนะนำในการสร้างความแตกต่าง และเสริมสร้างความแข็งแกร่งในงานทรัพยากรบุคคลและธุรกิจ ได้ร่วมกับ Stars of the Industry Group จัดงานประกาศผล Thailand Best Employer Brand Awards 2022 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ EMPLOYER BRANDING AWARDS ครั้งที่ 16

โดยครั้งนี้ "CP ALL" ได้รับรางวัล Best Employer Brand Awards หรือสุดยอดนายจ้างยอดเยี่ยม รางวัลดังกล่าวเป็นความสำเร็จในการบริหารทรัพยากรบุคคล โดยให้ความสำคัญกับความสุขของพนักงาน เสมือนทุกคนเป็นคนในครอบครัวเดียวกัน บริษัทมุ่งมั่นพัฒนาบุคลากรให้เป็น คนดี คนเก่ง และมีความสุข มีทัศนคติที่พร้อมปรับตัวให้เท่าทันความเปลี่ยนแปลงในยุคดิจิทัล

ที่มา: คมชัดลึก, 18/1/2565

เตือนแรงงาน 3 สัญชาติ ขอเอกสารรับรองบุคคล ณ ศูนย์ CI ภายใน 1 ส.ค. 2565

วันที่ 18 ม.ค. 2565 กระทรวงแรงงานแนะนายจ้างกำชับแรงงาน 3 สัญชาติ (เมียนมา กัมพูชา และลาว) โดยเฉพาะแรงงานสัญชาติเมียนมาที่เป็นกลุ่มแรงงานจำนวนมากที่สุดในไทย ที่ได้รับการผ่อนผันให้อยู่ในราชอาณาจักรตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 13 ก.ค. 2564 ให้วางแผนเข้ารับบริการ ณ ศูนย์ CI โดยเร็ว เพื่อหลีกเลี่ยงความแออัดจากการใช้บริการพร้อมกันช่วงใกล้สิ้นสุดระยะเวลาดำเนินการ

โดยมติ ครม.วันที่ 13 ก.ค. 2564 มีการเห็นชอบผ่อนผันแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ จากกลุ่มมติ ครม. 20 ส.ค. 2562 กลุ่มมติ ครม. 4 ส.ค. 2563 กลุ่มมติ ครม. 10 พ.ย. 2563 และกลุ่มที่ใบอนุญาตทำงานของคนต่างด้าวสิ้นสุดลงเพราะผลของกฎหมาย สามารถอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษถึง 27 ก.ค. 2565 โดยเมื่อดำเนินการตามขั้นตอนที่กำหนดแล้วเสร็จ จะได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเพื่อทำงานถึง 13 ก.พ. 2566 รวมทั้งปรับเปลี่ยนระยะเวลาการหานายจ้างรายใหม่ของแรงงานต่างด้าวจาก 30 วัน เป็น 60 วัน

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ได้ส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของประชาชน สังคม และสภาพเศรษฐกิจ รวมถึงการดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ (เมียนมา กัมพูชา และลาว) จำนวนมาก ที่เป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมในประเทศไทย

เพราะไม่สามารถเดินทางกลับประเทศต้นทางเพื่อจัดทำเอกสารประจำตัวฉบับใหม่ได้ นับเป็นปัญหาเร่งด่วนที่จำเป็นต้องแก้ไข เนื่องจากจะส่งผลให้การอนุญาตอยู่ในราชอาณาจักรและอนุญาตให้ทำงานสิ้นสุดลงตามผลของกฎหมาย หากแรงงานต่างด้าวไม่มีเอกสารรับรองบุคคล (Certificate of Identity: CI) ฉบับใหม่ เพื่อขอตรวจลงตราอยู่ต่อในราชอาณาจักรกับสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองภายในกำหนดเวลา

“พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งกำกับดูแลกระทรวงแรงงานให้ความสำคัญการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว และการป้องกันไม่ให้นายจ้าง/สถานประกอบการที่ใช้แรงงาน 3 สัญชาติ ประสบปัญหาขาดแคลนแรงงาน โดยเฉพาะแรงงานสัญชาติเมียนมาที่เป็นกลุ่มแรงงานจำนวนมากที่สุดในประเทศไทย

จึงจัดตั้งศูนย์พิจารณาอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักร อนุญาตให้ทำงาน และออกเอกสารรับรองบุคคล (Certificate of Identity: CI) หรือศูนย์ CI ตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 13 ก.ค. 2564 ในประเทศไทย ทั้ง 5 แห่ง ในพื้นที่จังหวัดชลบุรี เชียงใหม่ ระนอง สมุทรปราการ และสมุทรสาครนั้น เพื่อทำให้แรงงานเมียนมาสามารถขอรับเอกสารรับรองบุคคล (CI) ฉบับใหม่โดยไม่ต้องเดินทางกลับประเทศของตน หลีกเลี่ยงความยุ่งยากและค่าใช้จ่ายจากการกักตัว ตามมาตรการด้านสาธารณสุขที่จะเกิดกับนายจ้างได้”

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานกล่าวด้วยว่า ขอความร่วมมือแรงงานสัญชาติเมียนมาตามมติ ครม. วันที่ 13 กรกฎาคม 2564 มาดำเนินการตามขั้นตอนภายในวันที่ 1 ส.ค. 2565 ณ ศูนย์ CI ที่ตั้งอยู่ใกล้กับสถานที่ทำงานของแรงงานเมียนมา หรือศูนย์ CI ที่สามารถเดินทางได้สะดวก เพื่อให้มีเอกสารประจำตัวฉบับใหม่ในการขออยู่ต่อและทำงานในราชอาณาจักรต่อไปได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 18/1/2565

"เครือข่ายแรงงานฯ" จี้ "รัฐบาล" แก้ของแพง ทวง ค่าแรงขั้นต่ำ 425 บ.

ที่หน้าทำเนียบรัฐบาล เครือข่ายเครือข่ายเเรงงานเพื่อสิทธิประชาชน พร้อมด้วยเครือข่าย 24 มิถุนาเพื่อประชาธิปไตย รวมตัวกันที่หน้าทำเนียบรัฐบาล ฝั่งตรงข้ามกับสำนักงานข้าราชการพลเรือน นำโดยสุวรรณา ตาลเหล็ก นายสมยศ พฤกษา เกษมสุข เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลเเก้ปัญหาราคาสินค้าแพง โดยนำข้อเรียกร้องต่างเพื่อมายื่นหนังสือ ทั้งราคาหมูแพง แต่ค่าแรงต่ำยังเท่าเดิม เรียกร้องมาตรการเร่งด่วน ลดค่าใช้จ่าย ลดภาษีมูลค่าเพิ่ม ลดภาษีสรรพสามิตน้ำมัน ลดค่าเทอม 50 เปอร์เซ็นต์ เพิ่มเบี้ยคนชราเดือนละ 3,000 บาท เพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำวันละ425 บาท เพิ่มค่าสงเคราะห์บุตรเดือนละ 1,200 บาท เเละตรวจสอบการปกปิดข้อมูล โรคระบาดหมูและกักตุนสินค้าลดราคาสินค้า แก้ปัญหาผูกขาดเยียวยาความเสียหายให้เกษตรกร

หนึ่งในเครือข่ายเเรงงาน ระบุว่าต้องการให้รัฐบาลเเก้ปัญหาให้กับประชาชน อย่างเร่งด่วนควบคุมราคาสินค้า เเละ มีความจริงใจในการเเก้ปัญหา เนื่องจากที่ผ่านมาสินค้าขึ้นราคาเเล้ว 80% ไม่สอดคล้องกับรายได้ ที่ได้รับ

นอกจากนี้กลุ่มผู้ชุมนุมยังนำป้ายนโยบายการหาเสียงของพรรคพลังประชารัฐ ที่เป็นเเกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล เเต่ปัจจุบันยังไม่สามารถทำได้ตามสัญญา อาทิ ค่าเเรงขั้นต่ำ 400-425 บาทจบปริญญาตรีเงินเดือน 2 หมื่นบาท

นอกจากจากนี้กลุ่มเเนวร่วมทะลุฟ้า นำรถปราศรัยมาสมทบ ทำให้ตำรวจนำรถ เเละ แผงเหล็กมาดไม่ให้เคลื่อนขบวนเข้ามาประชิดเเนวทำเนียบ ตำรวจต้องเจรจาต่อรอง เเละ นำรถยกมาขวางไว้ โดยผู้ชุมนุมเรียกร้อง คณะรัฐมนตรีให้ออกมารับหนังสือ รวมถึงนายจุรินทร์ ลักษณะวิศิษฐ์ รองนายกฯ เเละ รมว.พาณิชย์ให้ออกมารับหนังสือข้อเรียกร้อง

จากนั้นผู้ชุมนุมปราศรัยในพื้นที่ที่กำหนด ผู้ชุมนุมสลับกันขึ้นปราศรัยถึงปัญหาค่าครองชีพ ขณะที่นักศึกษาเปิดเผยถึงผลกระทบต่อค่าเทอมบำรุงการศึกษา ที่จ่ายค่าเทอมเเต่ต้องเรียนออนไลน์

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 18/1/2565

รัฐบาล ออกแพ็กเกจ ชวน สมัครเป็นผู้ประกันตน ม.40 ออมเงิน คู่ กอช.

18 ม.ค. 2565 นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลเชิญชวนผู้ประกอบอาชีพอิสระ และผู้ประกันตนตามมาตรา 40 (1) สมัครออมเงินควบคู่ไปกับ กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) เพื่อเติมเต็มเงินออมและสร้างความมั่นคงทางการเงิน สอดคล้องกับเป้าหมายของรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่มุ่งมั่นลดความเหลื่อมล้ำในสังคม สร้างหลักประกันที่มั่นคงในชีวิตของประชากร ตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2561 - 2580)

โดย กอช. ร่วมกับสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน จัดคู่หูสวัสดิการเพื่อประชาชน เชิญชวนผู้ที่มีสิทธิสมัคร อายุ 15 – 60 ปี และเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 40(1) วางแผนเงินออมหลังอายุ 60 ปี ควบคู่กับ กอช. เพียงออมเงินขั้นต่ำ 50 บาท สูงสุด 13,200 บาทต่อปี ทั้งนี้ สมาชิกจะได้สวัสดิการจาก 2 หน่วยงานรวมกัน โดยจะได้รับเงินสมทบจากรัฐบาลเพิ่มตามช่วงอายุสมาชิก สูงสุด 100% ไม่เกิน 1,200 บาทต่อปี นอกจากนี้ยังมีผลตอบแทนเพิ่มเติมจากการลงทุน ซึ่งได้รับความค้ำประกันผลตอบแทน รวมถึงสามารถลดหย่อนภาษีเงินได้ประจำปีได้เต็มจำนวนเงินออมสะสม และในระหว่างการทำงาน สมาชิกจะได้เงินทดแทนรายได้กรณีประสบอุบัติเหตุหรือเจ็บป่วย เงินทดแทนการขาดรายได้กรณีทุพพลภาพ ค่าทำศพจากสำนักงานประกันสังคม และเมื่ออายุหลังอายุ 60 ปี จะได้บำนาญรายเดือนจาก กอช. และได้เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุตามเกณฑ์อีกด้วย โดยผู้ที่สนใจสามารถสมัครสมาชิก กอช. มีอายุตั้งแต่ 15 – 60 ปี ได้แก่ นักเรียน นิสิตและนักศึกษา พ่อค้าแม่ค้า เกษตรกร ผู้ที่ขับรถรับจ้างทั่วไป ผู้ประกอบอาชีพอิสระ เป็นต้น ซึ่งสามารถตรวจสอบสิทธิได้ที่แอปพลิเคชัน “กอช.” หรือ เว็บไซต์ กอช. www.nsf.or.th หรือสอบถาม สายด่วนเงินออม โทร. 02-049-9000

นางสาวรัชดาฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า รัฐบาลให้ความสำคัญในการดูแลและคุ้มครองแรงงานทั้งในระบบและนอกระบบ ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีและมีหลักประกันความมั่นคง โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2564 ที่ประชุม ครม. อนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตและคุ้มครองแรงงานนอกระบบ พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ เพื่อส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตและคุ้มครองแรงงานนอกระบบกว่า 19.6 ล้านคน ให้สามารถเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานในการประกอบอาชีพ ความปลอดภัยในการทำงาน หลักประกันทางสังคม ตลอดจนการรวมกลุ่ม รวมตัวในการจัดตั้งองค์กรเพื่อสร้างอำนาจต่อรองให้เกิดความเป็นธรรมในการจ้างงานได้

ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์, 18/1/2565

สั่ง 'เดอะวันประกันภัย' จ่าย 82.6 ล้าน กรณีเลิกจ้างลูกจ้าง 354 คน

นายนิยม สองแก้ว อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) เปิดเผยว่า จากกรณีที่ระหว่างวันที่ 16 - 27 ธ.ค. 2564 นายอเนก โพธิ์ศรี กับพวกรวม 354 คน ได้ยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงาน กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ว่าบริษัท "เดอะวัน" ประกันภัย จำกัด (มหาชน) นายจ้างเลิกจ้าง โดยค้างจ่ายค่าจ้างของการทำงานวันที่ 11 – 13 ธ.ค. 2564 ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีในปีที่เลิกจ้าง ค่าชดเชย และเงินแทนการบอกกล่าวล่วงหน้านั้น

พนักงานตรวจแรงงาน สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 5 ได้สอบสวนข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานที่ปรากฏแล้ว มีคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน ที่ 2/2565 ลงวันที่ 13 ม.ค. พ.ศ. 2565 สั่งให้บริษัท "เดอะวัน" ประกันภัย จำกัด (มหาชน) โดยกองทุนประกันวินาศภัย ในฐานะผู้ชำระบัญชี นายจ้าง จ่ายค่าจ้างของการทำงานวันที่ 11 - 13 ธ.ค. 2564 เป็นเงิน 1,012,446.90 บาท ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีในปีที่เลิกจ้าง เป็นเงิน 1,770,327.46 บาท ค่าชดเชย 64,715,348 บาท และเงินแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 15,186,703.50 บาท ให้กับลูกจ้าง 354 คน รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 82,684,825.86 บาท

อธิบดี กสร. กล่าวอีกว่า วันที่ 14 ม.ค. 2565 พนักงานตรวจแรงงาน ได้นำคำสั่งฯ ไปปิดที่สำนักงานใหญ่ของบริษัท "เดอะวัน" ประกันภัย จำกัด (มหาชน) และนำคำสั่งฯ ไปส่งมอบให้กองทุนประกันวินาศภัย ในฐานะผู้ชำระบัญชี โดยจะครบกำหนดระยะเวลาตามกฎหมายให้นายจ้างปฏิบัติตามคำสั่งฯ ในวันที่ 28 ก.พ. 2565 หากเมื่อครบกำหนดระยะเวลาตามกฎหมาย นายจ้างไม่ปฏิบัติตามคำสั่งและไม่นำคดีไปสู่ศาล (เพิกถอนคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน) ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ทราบหรือถือว่าได้ทราบคำสั่ง

กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จะเป็นทนายความแทนนายอเนก โพธิ์ศรี กับพวก ฟ้องคดีกับนายจ้างเพื่อบังคับให้ปฏิบัติตามคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานต่อศาลแรงงานกลาง และให้ลูกจ้างมายื่นคำร้องเพื่อขอรับเงินสงเคราะห์จากกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนก่อน พร้อมทั้งดำเนินคดีอาญานายจ้างฐานไม่ปฏิบัติตามคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน

ที่มา: คมชัดลึก, 17/1/2565

ก.แรงงาน เปิด 20 จุดฉีดวัคซีนผู้ประกันตนทั่ว กทม. เฉพาะดินแดงต้องการกว่า 1.7 แสนราย

17 ม.ค. 2565 นางธิวัลรัตน์ อังกินันทน์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นางเธียรรัตน์ นะวะมะวัฒน์ โฆษกกระทรวงแรงงาน (ฝ่ายการเมือง) ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมและให้กำลังใจผู้ประกันตนมาตรา 33 ที่มาฉีดวัคซีนโควิด-19 เข็ม 3 (Booster Dose) ณ อาคารกีฬาเวสน์ 1 ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร (ไทย – ญี่ปุ่น) ดินแดง กรุงเทพมหานคร

นางธิวัลรัตน์ กล่าวว่า รัฐบาลภายใต้การนำของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม และพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ มีความห่วงใยต่อผู้ใช้แรงงาน ผู้ประกันตน จึงได้มีนโยบายเข้มข้นเพื่อป้องกันโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน รวมถึงการฉีดวัคซีนกระตุ้นเข็ม 3 เพื่อสร้างภูมิคุมกันและลดความรุนแรงของโรค และในวันนี้นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน ได้มอบหมายให้ตนและโฆษกกระทรวงแรงงาน (ฝ่ายการเมือง) ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการให้บริการฉีดวัคซีน เข็ม 3 ที่อาคารกีฬาเวสน์ 1 สนามไทย – ญี่ปุ่น ดินแดง ซึ่งมีผู้ประกันตนต้องการฉีดวัคซีน 175,086 คน ซึ่งจะมีแพทย์และพยาบาลจากรพ.วิชัยเวช สมุทรสาคร อินเตอร์ เป็นผู้ให้บริการฉีดวัคซีนวันละ 1,200 คน เริ่มตั้งแต่วันที่ 17 ม.ค.-31 มี.ค.นี้เว้นวันหยุดเสาร์ อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์

นางธิวัลรัตน์ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้กระทรวงแรงงานยังได้จัดตั้งจุดฉีดวัคซีนให้ผู้ประกันตนใน กทม.ถึง 20 จุด พื้นที่เศรษฐกิจที่สำคัญ 10 จังหวัด (สงขลา ชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา สมุทรปราการ นนทบุรี ปทุมธานี นครปฐม สมุทรสาคร และพระนครศรีอยุธยา) 13 จุดฉีด ทั้งนี้ผู้ประกันตนมาตรา 33 หากได้รับนัดหมายแล้วขอให้เตรียมตัวให้พร้อมรับการฉีดวัคซีน โดย นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ งดการออกกำลังกายหนัก สวมเสื้อที่สะดวกในการฉีด เช่น เสื้อแขนสั้น และที่สำคัญคือ เตรียมบัตรประจำตัวประชาชนตัวจริงและมาตามเวลานัดหมาย หากมีข้อสงสัยสอบถามได้ที่สายด่วน 1506 กด 6 และ กด 7 ตั้งแต่เวลา 08.00 – 18.00 น.ทุกวัน ไม่เว้นวันหยุดราชการ

ที่มา: เดลินิวส์, 17/1/2565

ทส.ยื่นของบกลาง ช่วย "ผู้พิทักษ์ป่า" ไม่ต้องถูกเลิกจ้าง 50%

นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กล่าวถึงกรณีการตัดลดงบประมาณจ้างงานของเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า ประจำปี 2565 ลง จนอาจกระทบการจ้างงานพนักงานจ้างเหมาของกรมอุทยานแห่งชาติทั่วประเทศ และเสี่ยงถูกเลิกจ้างสูงถึงร้อยละ 50 ว่า กระทรวงทรัพย์ฯ ไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้ทำหนังสือยื่นขอจัดสรรงบประมาณจากงบกลางให้สำนักงบประมาณพิจารณาถึงความจำเป็นในการจ้างเจ้าหน้าที่ผู้พิทักษ์ป่า เพื่อปกป้องรักษาผืนป่าของประเทศ โดยอยู่ระหว่างรอเข้าชี้แจงถึงความจำเป็นในการของบดังกล่าวไปใช้ในการปฏิบัติหน้าที่อย่างไร เชื่อว่าสำนักงบประมาณจะเห็นถึงความจำเป็นและอนุมัติงบประมาณ หากเป็นไปตามคำขอจะสามารถจ้างงานเจ้าหน้าที่พิทักษ์ได้ทั้งหมด ไม่ถูกเลิกจ้างหรือตัดเงินเดือน

“เราขอไปเหมือนปกติทุกปี แต่ปีนี้รู้สึกว่ามีดของสำนักงบฯ คมเป็นพิเศษ หั่นโชะหายหมดเลย คุณตัดผมก็ขอใหม่ ถ้าไม่ให้ก็จะขออีกจนกว่าเราจะได้”

รมว.ทส. ยืนยันว่าไม่หมดกำลังใจ และเห็นใจทุกฝ่ายที่ถูกตัดลดงบประมาณ สิ่งที่เกิดขึ้นทุกกระทรวงก็มีภารกิจที่จำเป็นที่ต้องใช้จ่าย อีกทั้งรายได้ลดลงในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาด COIVD-19 แต่ที่ผ่านมาการปฏิบัติงานเจ้าหน้าที่มีไม่เพียงพออยู่แล้ว เมื่อเฉลี่ยการดูแลผืนป่าต่อเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า 1 คน ต้องดูแลมากถึง 10,000 ไร่

ขณะเดียวกันจากกรณีการบุกรุกตัดไม้ทำลายป่าและล่าสัตว์ป่า ก็เป็นจุดที่บ่งชี้ว่ากำลังพลของเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่านั้นมีความจำเป็นที่ต้องช่วยกันปกป้องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

นอกจากนี้ เครือข่ายของประชาชนที่เข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลผืนป่าก็จะเป็น 1 ในกำลังสำคัญที่จะช่วยลดภาระการทำงานของเจ้าหน้าที่ และช่วยเป็นหูเป็นตาในการเฝ้าระวังของผู้พิทักษ์ป่าได้ด้วย

สำหรับปีนี้ มีเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่ายอมลดเงินเดือนลงจากเฉลี่ย 9,000 บาท เหลือเพียงเดือนละ 7,500 บาท ขณะที่ปี 2565 ถูกตัดงบประมาณ ทำให้เจ้าหน้าที่จะถูกเลิกจ้างร้อยละ 50 กระทบเลิกจ้าง 1,731 คน ซึ่งการปกป้องผืนป่าและสัตว์ป่าของประเทศเป็น 1 ในยุทธศาสตร์ชาติที่รัฐบาลให้ความสำคัญ

ที่มา: Thai PBS, 15/1/2565

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net