Skip to main content
sharethis

'นพ.ชลน่าน' หัวหน้าพรรคเพื่อไทย นำทัพพรรคร่วมฝ่ายค้านยื่นญัตติอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติตามมาตรา 152 ต่อ 'ชวน หลีกภัย' ประธานสภาผู้แทนราษฎร ขอเวลาไม่น้อยกว่า 36 ชม. คาดได้วันอภิปราย 16-18 ก.พ. นี้ ชี้ การเมืองอาจไม่เปลี่ยนแปลง แต่การอภิปรายครั้งนี้จะช่วยให้ประชาชนรับรู้ข้อเท็จจริงเรื่องความล้มเหลวในการบริหารประเทศของรัฐบาลมากขึ้น สำหรับประเด็นการอภิปรายมี 4 หัวข้อหลัก คือ วิกฤติเศรษฐกิจ วิกฤติการเมือง วิกฤติโควิด-19 และความล้มเหลวในการบริหารประเทศของรัฐบาลประยุทธ์

21 ม.ค. 2565 สำนักข่าววิทยุและโทรทัศน์รัฐสภาThe Reporters, วอยซ์ออนไลน์, ข่าวสดออนไลน์ และประชาชาติธุรกิจ รายงานตรงกันว่าวันนี้ (21 ก.พ. 2565) เวลาประมาณ 12.30 น. ที่อาคารรัฐสภา 7 พรรคร่วมฝ่ายค้าน นำโดย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ผู้นำฝ่ายค้านและหัวหน้าพรรคเพื่อไทย พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย มงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ หัวหน้าพรรคไทยศรีวิไลย์ พร้อมด้วยผู้แทนจากพรรคประชาชาติ พรรคเพื่อชาติ และพรรคพลังปวงชนไทย ยื่นญัตติอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติ ตามมาตรา 152 ต่อชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ญัตติอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมตินี้มี ส.ส.พรรคร่วมฝ่ายค้านเข้าชื่อร่วมกันจำนวน 173 รายชื่อ ไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งมีประเด็นโดยสรุป 4 เรื่องใหญ่ ได้แก่

  1. กรณีวิกฤติเศรษฐกิจ ที่สินค้ามีราคาแพง ค่าแรงถูก
  2. วิกฤติการระบาดของโรคโควิด-19 และโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (African swine fever : ASF) ถึงแม้ว่าจะมีการตั้งญัตติด่วนด้วยวาจา แต่ยังมีประเด็นที่ต้องการตรวจสอบข้อเท็จจริง
  3. วิกฤติด้านการเมืองที่ล้มเหลว ซึ่งเป็นยุคที่ใช้เงินเป็นหลัก
  4. การบริหารที่ไร้ประสิทธิภาพของรัฐบาลชุดนี้ เช่น ยาเสพติด การคอรัปต์ชัน ฝุ่นละอง PM2.5 การบริหารราชการแผ่นดินที่ทำให้เสียโอกาสในการค้าระหว่างประเทศ

นพ.ชลน่าน กล่าวว่า สุทิน คลังแสง รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทยและประธานวิปฝ่ายค้าน ใช้แนวทางการอภิปรายในปีที่ผ่านมาเป็นหลัก แต่ครั้งนี้มีเนื้อหาสาระที่ต้องการอภิปรายค่อนข้างมากจึงจะขอเวลาไม่น้อยกว่า 36 ชั่วโมง เพื่อให้ผู้อธิบายได้ใช้เวลาอย่างเต็มที่ ส่วนวันเปิดอภิปรายนั้นคาดว่าน่าจะเป็นช่วงวันที่ 16-18 ก.พ. 2565 ทั้งนี้ พรรคร่วมฝ่ายค้านมองว่าการอภิปรายทั่วไปครั้งนี้คงเป็นเรื่องยากที่จะทำให้การเมืองเปลี่ยนแปลง แต่การอภิปรายทั้งหมดของฝ่ายค้านจะเป็นการแสดงข้อเท็จจริงให้ประชาชนได้รับรู้ และเพื่อให้รัฐบาลรับฟังเสียงเรียกร้องจากความเดือดร้อนของประชาชน

ด้วนชวนกล่าวว่าตนได้หารือเบื้องต้นเมื่อวันที่ 19 ม.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งญัตติตามมาตรา 152 สามารถเสนอได้ในช่วงนี้ และสามารถขอเสนอญัตติได้เพียงปีละ 1 ครั้งเท่านั้น และคาดว่าจะอภิปรายในช่วงกลางเดือน ก.พ. นี้ ส่วนระยะเวลาที่จะใช้อภิปราย ตนให้ตัวแทนวิปฝ่ายค้านและวิปรัฐบาลได้หารือกันต่อไป ชวนกล่าวว่าการเสนอญัตตินี้เป็นไปเพื่อสอบถามและให้คำแนะนำ ไม่ถึงขั้นไม่ไว้วางใจในทางนิตินัย แต่ทางพฤตินัยนั้นเป็นอีกเรื่อง หลังจากนี้ ตนจะนำญัตติดังกล่าวไปตรวจสอบรายชื่อตามวิธีการให้ครบและถูกต้องตามข้อบังคับ

หนังสือขอเสนอยื่นญัตติอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติตรามมาตรา 152

สภาผู้แทนราษฎร ถนนสามเสน

                                                                                 แขวงถนนนครไชยศรี เขตดุสิต

                                                                                     กรุงเทพมหานคร

วันที่ 20 มกราคม 2565

เรื่อง  ขอเสนอญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อซักถามข้อเท็จจริงหรือเสนอแนะปัญหาต่อคณะรัฐมนตรี

กราบเรียน ประธานสภาผู้แทนราษฎร 

ด้วยปรากฏข้อเท็จจริงว่าสถานการณ์ด้านเศรษฐกิจของประเทศขณะนี้ได้ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชนอย่างรุนแรงเข้าทำนอง “ข้าวของแพง ค่าแรงถูก” อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากการบริหารราชการแผ่นดินที่ล้มเหลวผิดพลาดในทุกด้านของรัฐบาลนี้ โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจที่ตกต่ำและทรุดตัวมาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่มีการยึดอำนาจจนถึงการบริหารของรัฐบาลปัจจุบันซึ่งเป็นรัฐบาลเดียวกัน มีการก่อหนี้สาธารณะสูงสุดเป็นประวัติการณ์จนต้องขยายเพดานหนี้สาธารณะ ขณะที่หนี้ครัวเรือนของประชาชนและอัตราการว่างงานของนักศึกษาจบใหม่ก็สูงขึ้น เมื่อเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ส่งผลให้มีผู้ติดเชื้อกว่าสองล้านคนและเสียชีวิตกว่าสองหมื่นคน ขณะที่มาตรการป้องกันและแก้ปัญหาก็ไม่มีความชัดเจนแน่นอนกลับไปกลับมายิ่งทำให้เศรษฐกิจของประเทศดิ่งเหว การท่องเที่ยวได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง ขณะที่รัฐบาลไม่มีมาตรการเยียวยาที่เหมาะสม ประชาชนทุกสาขาอาชีพได้รับความเดือดร้อนอย่างถ้วนหน้า การจัดหาวัคซีนเพื่อนำมาฉีดให้ประชาชนก็ล่าช้าไร้ประสิทธิภาพ ต่อมาก็เกิดการแพร่ระบาดของโรคระบาดในสัตว์รวมทั้งเชื้ออหิวาต์แอฟริกาในสุกรด้วย ทำให้สุกรขาดตลาดและเนื้อสุกรมีราคาสูงขึ้นมากอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน แต่รัฐบาลกลับปกปิดข้อมูลการระบาดของโรคจนทำให้การแพร่ระบาดกระจายไปทั่วประเทศ เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรได้รับความเสียหายและเดือดร้อนในวงกว้าง ภายใต้สถานการณ์ดังกล่าวกลับมีข้อมูลว่ามีการเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มทุนรายใหญ่อันเป็นการซ้ำเติมปัญหาให้กับประชาชน การแก้ปัญหาโรคระบาดทั้งในคนและสัตว์ขาดองค์ความรู้และภูมิปัญญา เน้นแก้ปัญหารายวัน

ขณะเดียวกันสินค้าอุปโภคบริโภคอื่นๆ ก็ปรับตัวสูงขึ้นตามไปด้วย ส่งผลกระทบและความเดือดร้อนให้กับประชาชนทั่วประเทศ ซึ่งรัฐบาลยังไม่มีมาตรการที่จะควบคุมและแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างมีประสิทธิภาพ ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมนับวันยิ่งทวีความรุนแรงขึ้น โดยเฉพาะปัญหา PM2.5 ที่ส่งผลต่อสุขภาพอนามัยของประชาชนและเกิดขึ้นซ้ำซากทุกปี โดยที่รัฐบาลไม่มีมาตรการในการแก้ปัญหาที่เหมาะสม มีการนำทรัพยากรทางธรรมชาติและเงินแผ่นดินไปแลกเปลี่ยนและใช้จ่ายเพื่อแก้ปัญหาการกระทำที่ผิดพลาดของนายกรัฐมนตรี กรณีเหมืองทองอัครา การแก้ปัญหาประมงล้มเหลวส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการนับแสนราย การปฏิรูปการเมืองตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญและยุทธศาสตร์ชาติก็ไม่มีความคืบหน้าแม้แต่เรื่องเดียว เหตุเพราะรัฐบาลขาดความจริงใจที่จะปฏิรูปการเมือง เช่น เรื่องการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญและการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทำให้ระบบการเมืองไทยถอยหลังไปกว่า 40 ปี ด้วยวิสัยทัศน์ของผู้นำที่ไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกทำให้ไทยต้องสูญเสียโอกาสทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาลจากการไม่เตรียมพร้อมต่อการพัฒนาเส้นทางรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมต่อรถไฟความเร็วสูงสาย ลาว-จีน และสูญเสียโอกาสที่จะได้จากกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจในเอเชียแปซิฟิก (APEC) การเลือกตั้งย้อนยุคไปสู่ระบบอุปถัมภ์และการใช้เงินเป็นหลัก การบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลยังส่อไปในทางทุจริตหลายเรื่องที่ส่งผลกระทบต่องบประมาณแผ่นดิน

จากรายงานของคณะกรรมาธิการวุฒิสภาและผลวิจัยจากภายนอกพบว่ารัฐบาลนี้มีการทุจริตสูงมาก ส่งผลทำให้อันดับการทุจริตคอรัปชั่นโลกของไทยสูงขึ้นซ้ำเติมปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหายาเสพติดที่แพร่ระบาดในประเทศอย่างกว้างขวางทุกพื้นที่และยังเป็นแหล่งส่งออกยาเสพติดรายใหญ่ไปยังหลายประเทศจนทำให้ชื่อเสียงและภาพลักษณ์ของประเทศเสียหายไปทั่วโลก จึงถือได้ว่าสถานการณ์ขณะนี้เป็นวิกฤติของประเทศที่จะต้องมีการระดมความคิดเห็นและหามาตรการเพื่อจะแก้ปัญหาดังกล่าวให้ลุล่วงไปอย่างรวดเร็ว รวมถึงมาตรการการชดเชยเยียวยาเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรและประชาชนผู้บริโภคที่ต้องรับภาระค่าครองชีพที่สูงขึ้นจากการปรับขึ้นราคาสินค้า

จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นข้างต้นจึงเป็นกรณีที่มีความจำเป็นที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในฐานะผู้แทนปวงชนชาวไทยจะได้ซักถามข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสภาพปัญหาและหาแนวทางแก้ปัญหาของคณะรัฐมนตรีในเรื่องดังกล่าว และร่วมกันหาข้อสรุปเพื่อเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อจะทำให้การบริหารราชการแผ่นดินของคณะรัฐมนตรีเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และแก้ไขปัญหาได้อย่างตรงเป้าหมาย อันจะยังประโยชน์และลดผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของประชาชนต่อไป

ข้าพเจ้า สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้มีรายชื่อท้ายญัตตินี้ ซึ่งมีจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎรจึงขอเสนอญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อซักถามข้อเท็จจริงหรือเสนอแนะปัญหาดังกล่าวต่อคณะรัฐมนตรีโดยไม่มีการลงมติ ตามมาตรา 152 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

จึงกราบเรียนมาเพื่อโปรดบรรจุญัตตินี้ให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาโดยด่วน ส่วนเหตุผลและรายละเอียดต่างๆ จะได้แถลงและชี้แจงในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรต่อไป

 

ขอแสดงความนับถืออย่างยิ่ง

นายชลน่าน ศรีแก้ว (ผู้เสนอ)

สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคเพื่อไทย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net