Skip to main content
sharethis

ประธานาธิบดี โจ ไบเดน ของสหรัฐฯ แต่งตั้ง Nusrat Jahan Choudhury เป็นผู้พิพากษารัฐบาลกลางสหรัฐฯ ทำให้เธอเป็นหญิงชาวมุสลิมคนแรกในสหรัฐฯ ที่ได้รับตำแหน่งนี้ ทำให้กลุ่มมุสลิมในสหรัฐฯ แสดงความยินดีว่าเป็น "การแต่งตั้งครั้งประวัติศาสตร์"

Nusrat Jahan Choudhury เป็นทนายความด้านสิทธิพลเมืองชาวอเมริกันเชื้อสายบังกลาเทศ เธอได้รับการแต่งตั้งจากประธานาธิบดี โจ ไบเดน ให้ดำรงตำแหน่งเป็นผู้พิพากษาศาลแขวงรัฐบาลกลางสหรัฐฯ ประจำรัฐนิวยอร์ก

คำแถลงจากทำเนียบขาวระบุว่าการแต่งตั้งนี้ทำให้ Choudhury กลายเป็นชาวอเมริกันเขื้อสายบังกลาเทศคนแรก และผู้หญิงชาวมุสลิมคนแรก รวมถึงเป็นชาวมุสลิมคนที่สองที่ได้รับตำแหน่งในศาลรัฐบาลกลางสหรัฐฯ

Choudhury กำลังทำงานเป็นผู้อำนวยการด้านกฎหมายของสหภาพเสรีภาพพลเมืองอเมริกัน (ACLU) ในสาขาอิลลินอยส์ นอกจากนี้เธอยังเคยมีประสบการณ์ทำงานในหลายตำแหน่งของ ACLU เช่น รองผู้อำนวยการโครงการความเป็นธรรมทางเชื้อชาติสีผิวของ ACLU ในนิวยอร์ก นอกจากนี้เธอยังเคยมีส่วนร่วมกับคดีด้านสิทธิพลเมืองหลายคดี เช่นการยื่นฟ้องร้องต่อต้านการขึ้นบัญชีห้ามบินชาวมุสลิมในประเทศเพื่อกดดันพวกเขาให้ทำงานเป็นสายให้เอฟบีไอ และอีกคดีหนึ่งคือการฟ้องคัดค้านโครงการสอดแนมกลุ่มชุมชนชาวมุสลิมโดยกรมตำรวจนิวยอร์ก

ในเดือน ก.ย. 2564 Chuck Schumer ประธานวุฒิสภาเสียงข้างมากพรรคเดโมแครตเคยเสนอชื่อ Choudhury ให้ดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาในนิวยอร์กโดยบอกว่าเธอ "มีความเชี่ยวชาญด้านสิทธิและเสรีภาพพลเมือง"

ก่อนหน้านี้องค์กรมุสลิมแอดโวเคทซึ่งทำงานเกี่ยวกับการรณรงค์ประเด็นชาวมุสลิมอเมริกันได้เรียกร้องผลักดันให้เสนอชื่อ Schumer เป็นผู้พิพากษา และทางกลุ่มมุสลิมแอดโวเคทก็แถลงขอบคุณไบเดนและ Schumer ที่ "ทำให้การแต่งตั้งครั้งประวัติศาสตร์เกิดขึ้นได้"

มุสลิมแอดโวเคทแถลงว่า ในช่วงเวลาที่มีความเหลื่อมล้ำในกระบวนการยุติธรรมเกิดขึ้นอย่างเห็นได้ชัด Choudhury ผู้ที่อุทิศตนให้กับการคุ้มครองสิทธิพลเมืองของชาวมุสลิมและชุมชนชายขอบอื่นๆ จะเป็นผู้ที่นำมาซึ่งความชอบธรรมในระบบตุลาการด้วยการผลักดันไปสู่เส้นทางที่เป็นความยุติธรรม

ACLU สาขารัฐอิลลินอยส์ก็แถลงว่าการแต่งตั้ง Choudhury เป็นปรากฏการณ์ระดับ "ประวัติศาสตร์" เช่นกัน แต่ก็แถลงยืนยันว่าทางองค์กรไม่ได้เป็นผู้เสนอชื่อหรือส่งเสริมทางการเมืองในเรื่องนี้อย่างเป็นทางการ ACLU ระบุอีกว่า Choudhury ยังเคยทำงานคุ้มครองผู้ต้องขังที่มีความเสี่ยงติดโรคที่ถูกคุมขังในข้อหาเกี่ยวกับคนเข้าเมืองในช่วง COVID-19 ระบาดในเรือนจำอิลลินอยส์เคาน์ตีด้วย

อำนาจหน้าที่ของศาลรัฐบาลกลางสหรัฐฯ นั้นคือการคอยกำกับดูแลเรื่องกระบวนการทางกฎหมายเวลาที่มีการละเมิดกฎหมายระดับรัฐบาลกลางและคดีแพ่ง นอกจากนี้ยังมีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาทางตุลาการหรือสั่งห้ามกฎหมายระดับรัฐหรือระดับประเทศที่ฝ่าฝืนบัญญัติรัฐธรรมนูญสหรัฐฯ ด้วย

ในสหรัฐฯ คดีความที่เกี่ยวกับรัฐบาลกลางจะเริ่มต้นพิจารณาในศาลแขวงของรัฐบาลกลางก่อนเสมอ ต่อมาสามารถยื่นอุทธรณ์ต่อได้ในชั้นศาลอุทธรณ์ และสุดท้ายจะสามารถยื่นให้พิจารณาต่อในชั้นศาลสูงสุดซึ่งเป็นขั้นตอนสุดท้ายที่จะสามารถอุทธรณ์ได้ในระบบศาลสหรัฐฯ

ประธานาธิบดีสหรัฐฯ มีอำนาจในการแต่งตั้งผู้พิพากษาศาลรัฐบาลกลาง แต่การคัดสรรผู้แทนในการแต่งตั้งจะต้องได้รับการอนุมัติเสียงข้างมากจากวุฒิสภาสหรัฐฯ


เรียบเรียงจาก :
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net