'ติช นัท ฮันห์' ภิกษุนิกายเซนชาวเวียดนามมรณภาพแล้ว

'ติช นัท ฮันห์' ภิกษุในศาสนาพุทธนิกายเซน กวี และนักเคลื่อนไหวเพื่อสันติภาพและยังเป็นหนึ่งในผู้นำทางจิตวิญญาณที่ทรงอิทธิพลที่สุดคนหนึ่งของโลก และผู้บุกเบิกการฝึกสมาธิภาวนาสมัยใหม่ มรณภาพแล้วขณะที่มีอายุ 95 ปี


ติช นัท ฮันห์ (Thich Nhat Hanh) ภิกษุในศาสนาพุทธนิกายเซน กวี และนักเคลื่อนไหวเพื่อสันติภาพและยังเป็นหนึ่งในผู้นำทางจิตวิญญาณที่ทรงอิทธิพลที่สุดคนหนึ่งของโลก และผู้บุกเบิกการฝึกสมาธิภาวนาสมัยใหม่ | ที่มาภาพ: Duc (CC BY-SA 2.0)

22 ม.ค. 2565 สำนักข่าวไทย รายงานว่าชุมชนหมู่บ้านพลัมนานาชาติ ศูนย์ปฏิบัติธรรมในประเทศฝรั่งเศส ที่ก่อตั้งโดยติช นัท ฮันห์ ออกแถลงการณ์ผ่านทางทวิตเตอร์ ว่า ติช นัท ฮันห์ ซึ่งเป็นครูผู้เป็นที่รักศิษยานุศิษย์ มรณภาพอย่างสงบเมื่อเวลา 00.00 น. ของวันที่ 22 ม.ค.ที่วัดตื่อเฮี้ยว เมืองเว้ ประเทศเวียดนาม สถานที่บรรพชาเป็นสามเณรเมื่อ 80 ปีก่อน เมื่อปี 2014 ติช นัท ฮันห์ เคยเกิดภาวะเส้นเลือดในสมองแตก ทำให้ไม่สามารถพูดได้และได้เดินทางกลับมาพำนักในเวียดนามในปี 2018 ในช่วงสุดท้ายของชีวิตที่เมืองเว้ ทางภาคกลางของเวียดนาม ซึ่งเป็นทั้งสถานที่เกิด หลังจากที่ต้องถูกเนรเทศไปอาศัยอยู่ในต่างประเทศเป็นระยะเวลายาวนานหลายสิบปี

ติช นัท ฮันห์ เป็นผู้บุกเบิกการเผยแผ่ศาสนาพุทธในประเทศตะวันตก โดยในปี 1961 ท่านเดินทางไปศึกษาต่อในสหรัฐ หลังจากนั้นได้ก่อตั้งหมู่บ้านพลัม ขึ้นในฝรั่งเศสและเป็นพระอาจารย์ผู้สอนการฝึกสมาธิภาวนา โดยได้รับการยกย่องให้เป็น “บิดาแห่งการมีสติตื่นรู้” (the father of mindfulness) เป็นผู้ปฏิวัติวงการเจริญสติ

ติช นัท ฮันห์ มีชื่อเดิมว่า เหวียน ซวน เป๋า (Nguyen Xuan Bao) เกิดที่จังหวัดกวางสี ตอนกลางของเวียดนาม เมื่อ 11 ต.ค. 1926 จากนั้นได้บรรพชาเป็นสามเณรขณะมีอายุ 16 ปี ติช นัท ฮันห์ พูดได้ 7 ภาษาและเคยเป็นอาจารย์บรรยายเรื่องศาสนาเปรียบเทียบที่มหาวิทยาลัยปรินซ์ตันและมหาวิทยาลัยโคลัมเบียในสหรัฐในช่วงต้นของทศวรรษหลังปี 1960 ติช นัท ฮันห์ เดินทางกลับมาเวียดนามในปี 1963 เพื่อร่วมการรณรงค์ต่อต้านสงครามเวียดนาม ขณะที่ท่านเดินทางอยู่ต่างประเทศ รัฐบาลเวียดนามได้สั่งห้ามติช นัท ฮันห์ กลับประทเศ ทำให้พระมหาเถระนิกายเซนรายนี้ ต้องลี้ภัยสงครามเวียดนามไปใช้ชีวิตในต่างแดนนานถึง 39 ปี ก่อนมีโอกาสกลับบ้านเกิดในปี 2018

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท