Skip to main content
sharethis

ILO ปรับลดคาดการณ์การฟื้นตัวของตลาดแรงงานในปี 2565 โดยคาดว่าการจ้างงานเต็มเวลาจะลดลง 52 ล้านตำแหน่ง เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 4/2562 ซึ่งตัวเลขนี้เพิ่มขึ้น 2 เท่าจากการคาดการณ์เดิมเมื่อปี 2564 ที่คาดว่าการจ้างงานเต็มเวลาจะลดลง 26 ล้านตำแหน่ง


ที่มาภาพประกอบ: ILO Asia-Pacific (CC BY-NC-ND 2.0)

เมื่อช่วงเดือน ม.ค. 2565 องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ได้เผยแพร่รายงาน Employment and Social Outlook – Trends 2022  (WESO Trends) โดยได้ปรับลดคาดการณ์การฟื้นตัวของตลาดแรงงานในปี 2565 ที่คาดว่าการจ้างงานเต็มเวลาจะลดลง 52 ล้านตำแหน่ง เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 4/2562 ตัวเลขนี้เพิ่มขึ้น 2 เท่าจากการคาดการณ์เมื่อช่วงเดือน พ.ค. 2564 ที่คาดว่าการจ้างงานเต็มเวลาจะลดลง 26 ล้านตำแหน่ง

ILO ประเมินว่าการว่างงานทั่วโลกจะยังคงสูงกว่าระดับก่อนเกิด COVID-19 อย่างน้อยจนถึงปี 2566 โดยคาดว่าในปี 2565 ทั่วโลกจะมีผู้ว่างงานอยู่ที่ 207 ล้านคน เทียบกับ 186 ล้านคน เมื่อปี 2562 

โดยจากคาดการณ์ผู้ว่างงานที่ 207 ล้านคน นั้นเมื่อพิจารณาตามรายได้ของกลุ่มประเทศ รายงานของ ILO คาดว่าในปี 2565 กลุ่มประเทศรายได้สูง (High income) จะมีคนว่างงานประมาณ 31 ล้านคน, กลุ่มประเทศรายได้ปานกลางระดับบน (Upper-middle income) 88 ล้านคน, กลุ่มประเทศรายได้ปานกลางระดับล่าง (Lower-middle income) 72 ล้านคน, ส่วนกลุ่มประเทศรายได้ต่ำ (Low income) จะมีคนว่างงานประมาณ 16 ล้านคน

เมื่อพิจารณาตามรายภูมิภาค ภูมิภาคยุโรปและอเมริกาเหนือมีสัญญาณการฟื้นตัวเชิงบวกมากที่สุด ในขณะที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ละตินอเมริกา และแคริบเบียนมีแนวโน้มเชิงลบมากที่สุด 

รายงานของ ILO ยังระบุว่าผลกระทบต่อการจ้างงานของผู้หญิงจะคงอยู่อีกหลายปี ในขณะที่การปิดโรงเรียนและสถาบันการศึกษา จะมีผลกระทบระยะยาวต่อคนหนุ่มสาวด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะผู้ที่ไม่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้

การปรับการคาดการณ์ปี 2022 นี้สะท้อนให้เห็นถึงผลกระทบจากการระบาดของ COVID-19 สายพันธุ์ Delta และ Omicron ที่มีต่อโลกแห่งการทำงาน รวมถึงความไม่แน่นอนว่าจะมีการระบาดของสายพันธุ์ใหม่ๆ ในอนาคตอีกหรือไม่

รายงานของ ILO ยังเตือนถึงผลกระทบที่แตกต่างกันทั้งต่อกลุ่มคนทำงาน รวมทั้งประเทศต่างๆ โดยความแตกต่างเหล่านี้จะยิ่งสร้างความเหลื่อมล้ำในระดับประเทศและระดับนานาชาติ โครงสร้างทางเศรษฐกิจ การเงิน และสังคมของเกือบทุกประเทศอ่อนแอลง ความเสียหายนี้น่าจะต้องใช้เวลาหลายปีในการฟื้นตัว ซึ่งอาจส่งผลกระทบในระยะยาวต่อการมีส่วนร่วมของแรงงาน รายได้ของครัวเรือน และสร้างผลกระทบเชิงลบต่อสังคม

"เรายังจะไม่สามารถฟื้นตัวได้อย่างแท้จริงจากการระบาดใหญ่นี้ หากปราศจากการฟื้นตัวของตลาดแรงงานในวงกว้าง และเพื่อความยั่งยืน การฟื้นตัวนี้จะต้องอยู่บนหลักการของการทำงานที่ดี – รวมถึงสุขภาพและความปลอดภัย ความเท่าเทียม การคุ้มครองทางสังคม และการเจรจาทางสังคม" ไรเดอร์ กล่าว

ที่มา
Employment and Social Outlook – Trends 2022 (ILO, 17 January 2022)
ILO downgrades labour market recovery forecast for 2022 (ILO, 17 January 2022)

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net