ชำนาญ จันทร์เรือง: วิเคราะห์ผลการเลือกตั้งซ่อมชุมพรและสงขลา

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ผลการเลือกตั้งซ่อมที่ชุมพรและสงขลาในวันที่ 16 มกราคมที่ผ่านมาอย่างไม่เป็นทางการออกมาเป็นที่ทราบกันทั่วไปแล้วว่าพรรคประชาธิปัตย์เป็นฝ่ายได้รับชัยชนะทั้ง 2 แห่ง ซึ่งจากการติดตามการเลือกตั้งอย่างใกล้ชิดทั้งก่อนและหลังการลงคะแนน ได้มีผู้วิเคราะห์ไว้อย่างมากมาย แต่ในครั้งนี้แนวในการวิเคราะห์แตกออกไปในหลายทิศทาง ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับข้อมูล ประสบการณ์ ทัศนคติและความเชี่ยวชาญของผู้วิเคราะห์เอง 

ผลคะแนนอย่างไม่เป็นทางการ

จ.ชุมพร เขต 1 

อันดับ 1 พรรคประชาธิปัตย์ ได้ 48,981 คะแนน/ คะแนนเดิม ปี 62 คือ 42,683 /เพิ่ม 6,298 คะแนน

อันดับ 2 พรรคพลังประชารัฐ ได้ 32,229 คะแนน/ คะแนนเดิม ปี 62 คือ 32,219 / เพิ่ม 10 คะแนน

อันดับ 3 พรรคกล้า ได้ 7,591 คะแนน/ ปี 62 ยังไม่ได้ส่งเพราะเพิ่งก่อตั้งพรรค

อันดับ 4 พรรคก้าวไกล ได้ 3,520 คะแนน /คะแนนเดิม ปี 62 ในนาม อนค. คือ 10,347/ลด 7,097 คะแนน

อันดับ 5 พรรคไทยศรีวิไลย์ ได้ 507 คะแนน/คะแนนเดิม ปี 62 คือ 297 คะแนน

จ.สงขลา เขต 6 

อันดับ 1 พรรคประชาธิปัตย์ ได้ 45,576 คะแนน /คะแนนเดิม ปี 62 คือ 28,465/เพิ่ม 17,111 คะแนน

อันดับ 2 พรรคพลังประชารัฐ ได้ 40,531 คะแนน /คะแนนเดิม ปี 62 คือ 19,317/เพิ่ม 21,214 คะแนน

อันดับ 3 พรรคก้าวไกล ได้ 5,427 คะแนน /คะแนนเดิม ปี 62 ในนาม อนค. คือ 11,966/ลด 6,539 คะแนน

อันดับ 4 พรรคกล้า ได้ 1,350 คะแนน /ปี 62 ยังไม่ได้ส่งเพราะเพิ่งก่อตั้งพรรค

อันดับ 5 พรรคพลังสังคม ได้ 123 คะแนน/ปี 62 ไม่ได้ส่งผู้สมัครฯ

วิเคราะห์รายพรรค

พรรคประชาธิปัตย์

จากคะแนนที่เพิ่มขึ้นทั้ง 2 จังหวัด แสดงให้เห็นว่าการเปลี่ยนนโยบายหาเสียงจากเดิมที่มีนายอภิสิทธิ์อดีตหัวหน้าพรรคที่ไม่เอา พล.อ.ประยุทธ์ แต่มาสนับสนุนการร่วมรัฐบาลแทนและอ้างนโยบายประชานิยมว่าเป็นของรัฐบาลไม่ใช่ของพรรคพลังประชารัฐนั้นได้ผล กอปรกับมีการระดมสรรพกำลังผู้อาวุโสของพรรครุ่นลายครามมาช่วยหาเสียงก็ส่งผลไม่น้อยต่อคะแนนที่เพิ่มขึ้น อีกทั้งยังมีนายนิพนธ์ บุญญามณี (ผู้มีอิทธิพลในพรรคตัวจริง) ซึ่งนั่งอยู่ในตำแหน่งรมช.มหาดไทยเป็นแกนหลักในการรณรงค์อีกด้วย แต่พรรคประชาธิปัตย์ก็สูญเสียอัตตลักษณ์การเมืองของตนลงไป กลายเป็นพรรคสนับสนุนประชานิยมที่ตนเองเคยโจมตีและไม่เหลือการเป็นพรรคต้านเผด็จการแบบที่เคยยกมาอ้างเสมอในอดีต ซึ่งในการเลือกตั้งทั่วไปครั้งหน้าก็ยังมีพรรคสไตล์เดียวกันรออยู่เป็นคู่แข่งคือพรรคภมิใจไทยและพลังประชารัฐนั่นเอง มิหนำซ้ำในคราวนี้ยังมีการจับกุมผู้ที่ทุจริตการเลือกตั้งโดยการถ่ายรูปที่ จ.ชุมพรอีกถึง 5 ราย ซึ่งอาจจะต้องมีการเลือกตั้งใหม่อีกครั้งหากมีการแจกใบเหลือง*และจะแย่กว่านั้นหากเป็นใบส้ม** (เพราะมีถึง 5 กรณี)

พรรคพลังประชารัฐ

หลายคนมองว่าที่พรรคพลังประชารัฐแพ้ในคราวนี้เป็นเพราะถูกลงโทษโดยผู้เลือกตั้ง (Voters punish) เพราะคุณธรรมธรรมนัสไปปราศรัยดูถูกว่าต้องเลือกคนมีตังค์เป็น ส.ส.จึงจะเป็นที่พึ่งได้ (ซึ่งเขาก็เลยไปเลือกคนที่มีตังค์กว่าไง หุ หุ) แต่ผมกลับไม่มองเช่นนั้นเพราะจากคะแนนที่ออกมาพรรคพลังประชารัฐไม่ขี้เหร่เลยล่ะครับ ที่สงขลาเพิ่มถึง เพิ่ม 21,214 คะแนน เพิ่มขึ้นกว่า 100 เปอร์เซ็นต์ ที่ถึงแม้ว่าจะไม่ได้ชู พล.อ.ประยุทธ์เป็นจุดขายยังเพิ่มขนาดนี้ และคะแนนที่ชุมพรก็ไม่ลดลงแต่อย่างใดอีกด้วย ซึ่งก็แสดงให้เห็นอำนาจบารมีของคุณธรรมนัสยังมีอยู่ แม้ว่าจะไม่ชนะการเลือกตั้งก็ตาม งานนี้ย่อมทำให้ พล.อ.ประยุทธ์คิดหนักว่าจะเดินเกมการเมืองต่อไปอย่างไร แต่จุดพลาดของคุณธรรมนัสก็มีคือการออกมาโวยวายว่าไม่เคยพบเห็นการทุจริตการเลือกตั้งขนาดนี้มาก่อน ซึ่งก็ทำให้คนฟังได้แต่อมยิ้มไปตามๆ กัน

พรรคก้าวไกล

จากคะแนนที่ออกมามองได้ 2 มุม แน่นอนว่าคะแนนลดลงจากที่เคยเป็นพรรคอนาคตใหม่นั้นเกิดอะไรขึ้น ซึ่งอาจวิเคราะห์ได้หลายสาเหตุ เช่น การถูกกระแสโจมตีเรื่องสถาบัน การเป็นพรรคฝ่ายค้าน การเตรียมการณ์ยังไม่ดีพอ ฯลฯ แต่ในทางกลับกันคะแนนที่พรรคก้าวไกลได้มาจากเขตอำเภอสะเดากว่าห้าพันคะแนนท่ามกลางห่ากระสุนย่อมแสดงให้เห็นว่าสามารถปักธงทางความคิดทำได้สำเร็จ อนึ่ง ในเขตเลือกตั้งทั้งสองนี้ พรรคเพื่อไทยไม่ได้ส่งผู้สมัครลงแข่งขัน แต่ก็ไม่มีผลทำให้คะแนนถ่ายไปยังพรรคก้าวไกลแต่อย่างใด ซึ่งแสดงให้เห็นว่าฐานคะแนนของพรรคก้าวไกลกับพรรคเพื่อไทยนั้นเป็นคนละกลุ่มกัน ประเด็นที่จะต้องวิเคราะห์กันก็คือแล้วคะแนนของก้าวไกลที่หายไปนั้นไปที่พรรคไหนนั่นเอง

พรรคกล้า

จริงๆ แล้วพรรคกล้าก็คือส่วนหนึ่งของพรรคประชาธิปัตย์ที่ไม่เอา พล.อ.ประยุทธ์ที่แยกออกมาตั้งพรรคใหม่นั่นเอง คะแนนที่พรรคกล้าได้ที่สงขลา 7 พันกว่าคะแนนกับที่ชุมพรพันกว่าคะแนน (ซึ่งมีผู้เชื่อว่าบางส่วนมาจากพรรคอนาคตใหม่เดิม) นั้น ผมมองว่าหนทางยังอีกยาวไกล เพราะตราบใดที่ยังมีประชาธิปัตย์อยู่พรรคกล้าเกิดยาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคใต้ ต้องไปรอดูคะแนนพรรคกล้าในการเลือกตั้งซ่อมที่เขตจตุจักร์/หลักสี่ ที่ไม่มีพรรคประชาธิปัตย์ลงแข่งว่าจะได้คะแนนมากน้อยแค่ไหนอย่างไร

ที่น่าสังเกตคือพรรคภูมิใจไทยซึ่งเป็นพรรคคู่แข่งสำคัญในภาคใต้ แต่ในคราวนี้ไม่ส่งผู้สมัครลงแข่งขัน คิดว่าคงประเมินแล้วว่าได้มาอีกหนึ่งก็ไม่มีผลอะไรมากมาย (ขนาดมีงูเห่ามาเพิ่มตั้งเยอะ โควตารัฐมนตรียังไม่เพิ่มเลย) หากแพ้ก็จะเปลืองตัวเสียเปล่าๆ ค่อยไปกวาดต้อนเอาตอนยุบสภาฯ มีเลือกตั้งใหม่คราวหน้าดีกว่า ส่วนพรรคเพื่อไทยเป็นพรรคที่มี ส.ส.มากที่สุดในสภาฯ แต่ไม่ประสพความสำเร็จในภาคใต้ งวดนี้จึงไม่แปลกอะไรที่จะไม่ส่งผู้สมัคร

กล่าวโดยสรุป หลายคนอาจมองว่าก็เหมือนเดิมที่ประชาธิปัตย์ยังครองใจคนภาคใต้อยู่ แต่ผมกลับมองว่า “คนใต้ไม่เหมือนเดิม”แล้ว พฤติกรรมการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งเปลี่ยนไปมาก (ที่แน่ๆ คือ มูลค่าต่อเสียงพุ่งกระฉูดกว่าตอนเลือกตั้งใหญ่หลายเท่าตัว) และผลการเลือกตั้งซ่อมคราวนี้ไม่สามารถส่งผลต่อการเลือกตั้งทั่วไปแต่อย่างใด เพราะการเลือกตั้งซ่อมคราวนี้พรรคการเมืองหลักๆ ที่สำคัญไม่ได้ลงแข่งขัน และในการเลือกตั้งทั่วไปจะต้องมีการเสนอชื่อตัวบุคคลที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นจุดขายอีกด้วย 

 

หมายเหตุ: 
*ใบเหลือง – เลือกตั้งใหม่ ผู้ได้ใบเหลืองยังลงแข่งขันได้
**ใบส้ม – เลือกตั้งใหม่ ผู้ใด้ใบส้มไม่สามารถลงแข่งขัน (ภายใน 1ปี) และพรรคไม่สามารถส่งผู้สมัครอื่นลงแทนได้
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท