สุรพศ ทวีศักดิ์: ปรัชญากับการ(ไม่)รับปริญญาจากเจ้า

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

กระแสรณรงค์ไม่รับพระราชทานปริญญาบัตร หรือกระแส “แบนการรับปริญญาจากเจ้า” ในกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ต่อสู้เพื่อเสรีภาพและประชาธิปไตยมีมาเป็นระยะๆ ล่าสุดเมื่อวันที่ 13 มกราคมที่ผ่านมา ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) โดยงานนโยบาย สโมสรนักศึกษา มช. ทำโพลสำรวจความคิดเห็นพี่บัณฑิตรอบ มช. เรื่อง “คุณอยากรับปริญญากับใคร ?” พ่อแม่ เพื่อน แฟน อาจารย์ หรือราชวงศ์ พร้อมทั้งมีการแจกใบปลิวรณรงค์ “ปฏิเสธและหยุดผลิตซ้ำพิธีกรรมศักดินา” แก่ประชาชนที่สนใจ

ประเด็น “การปฏิเสธและหยุดผลิตซ้ำพิธีกรรมศักดินา” ในเชิงปรัชญาการเมือง มีแง่มุมชวนคิดบางประการ เช่น ปัญหาของการนิยามตัวตนว่าเราคือใคร ซึ่งอาจแยกได้ 2 แบบหลักๆ คือ ตัวตนของเราในฐานะผู้ซึ่งมี “สถานภาพ” ที่ถูกยอมรับจากสังคมที่เราสังกัด กับตัวตนของเราในฐานะ “ปัจเจกบุคคล” ผู้เป็นเจ้าของอำนาจและเสรีภาพในการเลือก

นิยามตัวตนแบบแรกมองว่า การดำรงอยู่ของตัวตนของเราไม่ได้เป็นอิสระจากสังคม ตรงกันข้ามความรู้สึกนึกคิด ความเชื่อ ความหมายของชีวิต ความสุข ความสำเร็จและอื่นๆ ที่ประกอบขึ้นเป็นตัวเราย่อมสะท้อนออกมาจากความรู้สึกนึกคิด ความเชื่อ ค่านิยม ความคาดหวัง การยอมรับของสังคม ดังนั้น การมีตัวตนที่มีสถานภาพถูกยอมรับจากครอบครัว ชนชั้น สังคม รัฐหรือชาติ จึงเป็นสิ่งจำเป็น และจำเป็นมากยิ่งกว่าการมีเสรีภาพของปัจเจกบุคคลและเสรีภาพทางการเมืองเสียอีก

เช่น หากคิดแบบปัจเจกบุคคลผู้เป็นเจ้าของอำนาจและเสรีภาพในการเลือก เราอาจคิดว่าการเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรไม่ใช่เรื่องสลักสำคัญอะไร เพราะคุณค่าของการศึกษา ปริญญาบัตรไม่เกี่ยวใดๆ กับพิธีกรรมเช่นนั้น การมีความรู้ความสามารถและการใช้ความรู้ความสามารถที่ได้มาจากการศึกษาให้เกิดประโยชน์แก่ชีวิตและสังคมต่างหากคือคุณค่าที่สำคัญกว่า ดังนั้น การรับปริญญาจากเจ้าจึงไม่มีความจำเป็นใดๆ แต่เมื่อถูกครอบครัว ญาติมิตร และเพื่อนๆ แย้งว่าการรับปริญญาถือเป็นเกียรติประวัติครั้งหนึ่งในชีวิต เป็นความภาคภูมิใจของตนเอง และครอบครัว เป็นความมีหน้ามีตาทางสังคม ข้อโต้แย้งทำนองนี้มักทำให้คนจำนวนไม่น้อยหวั่นไหว และในที่สุดก็ต้องตัดสินใจรับปริญญาตามความปรารถนาของครอบครัว และค่านิยมทางสังคม

ในโลกของความเป็นจริง ตัวตนของเราที่ถูกยอมรับจากสังคม หรือตัวตนที่มีสถานภาพ ชนชั้น มีเกียรติ มีความสำเร็จเป็นที่ยอมรับของสังคม ย่อมมีความสำคัญมากกับเราทุกคน แต่ปัญหาคือ “ตัวตนทางสังคม” ของเราถูกสร้างขึ้นมาภายใต้ระบบสังคมการเมืองแบบไหน

ในยุคอาณาณานิคม ชาวเอเชียนิยามตัวตนของตนเองเข้ากับอัตลักษณ์ทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และศาสนาของตนเองเพื่อต่อต้านอารยธรรมตะวันตก ซึ่งที่จริงประเทศเจ้าอาณานิคมตะวันตกก็ไม่ได้ปกครองชาวเอเชียด้วยหลักการอารยะจริงๆ ดังนั้น การมีชีวิตอยู่กับระบบการเมือง วัฒนธรรม ศาสนาของตนเอง แม้ว่าชนชั้นปกครองและพวกเราจะกดขี่กันเอง ก็ยังดีกว่าที่จะถูกกดขี่จากชาวตะวันตก

สยามยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ก็มีแนวคิดทำนองนี้ โดยชนชั้นปกครองได้สร้างตัวตนทางสังคมของเราว่า เราคือพสกนิกรผู้จงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และควรสละชีวิตเพื่อปกป้องสามสถาบันหลักนี้ เพราะสามสถาบันหลักคือศูนย์รวมความสามัคคีและความมั่นคงของบ้านเมือง โดยเฉพาะสถาบันกษัตริย์คือสิ่งสำคัญสูงสุดที่เคยนำพาชาติบ้านเมืองให้เจริญมาในอดีต และจะเจริญรุ่งเรืองต่อไปในภายภาคหน้า

ครั้นเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ประกาศคณะราษฎร ฉบับที่ 1 คือการ “ประกาศอิสรภาพ” ของราษฎรจากการตกอยู่ใต้อำนาจเด็ดขาดของกษัตริย์ เพื่อให้เรามีสถานะเป็น “พลเมืองเสรีและเสมอภาค” ตามระบอบประชาธิปไตย และให้สถาบันกษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ แต่ก็เป็นได้เพียงในเชิงอุดมการณ์มากกว่า เพราะการต่อสู้ทางการเมืองระหว่างคณะราษฎรกับฝ่ายกษัตริย์นิยมหลังจากนั้น ทำให้เกิดประเพณีบริหารอำนาจรัฐด้วย “วิธีรัฐประหาร” สืบมาจนถึงยุคสมัยของเรา ซึ่งทำให้สถานะของตัวตนของเราคลุมเครือว่าแท้จริงแล้ว เราคือ “พสกนิกรผู้จงรักภักดี” หรือเป็น “พลเมืองเสรีและเสมอภาค” กันแน่

ตามนิยามความเป็นพสกนิกรผู้จงรักภักดี สิทธิและเสรีภาพของเราย่อมถูกกำหนดนิยามจากสถานะและอำนาจของสถาบันกษัตริย์ นั่นคือ สถานะและอำนาจที่แตะต้องไม่ได้ของกษัตริย์เป็นสิ่งกำหนดว่าเราควรมีสิทธิและเสรีภาพทางการเมือง เสรีภาพทางความคิดเห็น การพูด การแดงออกได้แค่ไหน เพียงใด ขณะที่ตามนิยามความเป็นพลเมืองเสรีและเสมอภาค สิทธิและเสรีภาพทางการเมือง เสรีภาพทางความคิดเห็น การพูด การแดงออกของเราถูกกำหนดขึ้นมาจากความเป็นปัจเจกบุคคลผู้เป็นเจ้าของอำนาจและเสรีภาพในการเลือก 

อย่างไรก็ตาม นิยามตัวตนของเราในฐานะปัจเจกบุคคลผู้เป็นเจ้าของอำนาจและเสรีภาพ มักจะถูกโจมตีว่า เป็นการนิยามตัวตนที่ตัดขาดจากสังคม ซึ่งข้อโจมตีนี้มีเหตุผล หากยึดถือนิยามปัจเจกบุคคลแบบเคร่งครัดสุดโต่ง แต่ผมเห็นด้วยกับไอเซยา เบอร์ลินว่า นิยามของกรอบคิด (concept) ทางการเมืองควรมี “ความยืดหยุ่น” ดังนั้น นิยามตัวตนของเราในฐานะปัจเจกบุคคลไม่จำเป็นต้องมีความหมายอย่างเคร่งครัดว่าเป็นตัวตนที่หมกมุ่นครุ่นคิดแต่เรื่องสิทธิและเสรีภาพส่วนบุคคลของตนเองอย่างตัดขาดจากความรับผิดชอบทางสังคมและการตระหนักถึงความยุติธรรมทางการเมือง

หากพิจารณาจากความคิดปรัชญาของอิมมานูเอล คานท์, จอห์น รอลส์, เจอร์เกน ฮาเบอร์มาส, ชาร์ลส์ เทย์เลอร์ จะเห็นว่าการนึกถึงตัวตนของเราในฐานะปัจเจกบุคคลผู้มีอิสรภาพในการปกครองตนเองทางศีลธรรมและการเมือง ถือเป็นความคิดพื้นฐานที่เชื่อมโยงกับการเป็นพลเมืองเสรีและเสมอภาคที่นิยามของสิทธิและเสรีภาพปัจเจกบุคคลและสิทธิและเสรีภาพทางการเมืองถูกกำหนดนิยามขึ้นมาจากความเป็นปัจเจกบุคคลและความเป็นพลเมืองของเราทุกคน ไม่ใช่ถูกกำหนดมาจากอำนาจเบื้องบน

ดังนั้น “การปฏิเสธและหยุดผลิตซ้ำพิธีกรรมศักดินา” ก็คือการปะทะระหว่างอำนาจในการนิยามตัวตนของเราตามกรอบคิดเก่าที่ตัวตนทางสังคมของเราถูกผลิตสร้างโดยชนชั้นปกครองให้เรามีสำนึกร่วมกันว่า เราคือ “พสกนิกรผู้จงรักภักดี” และสำหรับการเป็นพสกนิกรผู้จงรักภักดี เสรีภาพปัจเจกบุคคลแบะเสรีภาพทางการเมืองในฐานะพลเมืองเสรีและเสมอภาคย่อมสำคัญน้อยกว่าการรู้รักสามัคคี ไม่แตกแยกภายใต้ความจงรักภักดีต่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์ที่เป็นศูนย์รวมความมั่นคง กับอำนาจนิยามตัวตนของเราตามกรอบคิดสมัยใหม่ที่ถือว่า เสรีภาพปัจเจกบุคคลกับเสรีภาพทางการเมืองในฐานะพลเมืองเสรีและเสมอภาคเป็นสิ่งสำคัญสูงสุด 

แน่นอนว่าเสรีภาพของปัจเจกบุคคลกับเสรีภาพทางการเมืองของพลเมืองเสรีและเสมอภาค ย่อมเป็นไปได้จริงในระบอบเสรีประชาธิปไตยที่ประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยและมีเสรีภาพวิจารณ์ตรวจสอบทุกสถาบันสาธารณะทางการเมืองได้จริงเท่านั้น การรณรงค์แบนการรับปริญญาจากเจ้า จึงเป็นส่วนหนึ่งของการต่อสู้เพื่อการสร้างตัวตนของเราที่มีเสรีภาพปัจเจกบุคคล และเสรีภาพทางการเมืองในความหมายดังกล่าวให้เป็นจริง 

 

ที่มาภาพ: https://prachatai.com/journal/2022/01/96800

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท