'ปริญญา' ให้สัมภาษณ์ 'สภาที่ 3' ชี้ความขัดแย้งรอบใหม่ เกี่ยวพันกระทบถึง 'สถาบันพระมหากษัตริย์'

'ปริญญา' ให้สัมภาษณ์ 'สภาที่ 3' ชี้ความขัดแย้งรอบใหม่ เกี่ยวพันกระทบถึง 'สถาบันพระมหากษัตริย์' หวังมีประชาธิปไตยโดยคนประเทศไม่เข่นฆ่าสูญเสียอีก ยก 30 ปี 'พฤษภาประชาธรรม' เป็นบทเรียนป้องกันไม่ให้ประชาธิปไตยต้องนองเลือด

23 ม.ค. 2565 สภาที่ 3 แจ้งข่าวต่อสื่อมวลชนว่า ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล กรรมการมูลนิธิพฤษภาประชาธรรม อาจารย์ประจำภาควิชากฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อดีตเลขาธิการสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) ให้สัมภาษณ์ ช่องยูทูปสภาที่ 3 ถึงการจัดงาน 30 ปี พฤษภาประชาธรรม ปี 2565 ว่าจะครบรอบ 30 ปี ในเดือนพฤษภาคมเหตุการณ์ที่เป็นความสูญเสียแม้ว่าเราจะได้มาซึ่งประชาธิปไตย แต่ก็แลกด้วยความสูญเสีย และจำนวนคนเสียชีวิตก็ไม่ได้มีเพียงแค่ 44 คน ที่พบศพ แต่ยังมีคนหายอีกหลาย 100 คน เชื่อว่าศพได้ถูกเอาไปซ่อนหรือทำลายทั้งหมดอีกหลาย 100 คน เหตุการณ์ที่จะต้องนองเลือดหรือสูญเสียกันอีกไม่ควรจะมีอีกแล้ว ดังนั้นโอกาสที่ครบ 30 ปีและในวาระที่ญาติของวีรชนยังมีชีวิตอยู่ จะเป็นคนที่สูญเสียคนในครอบครัว สูญเสียลูก พ่อแม่หรือสามีภรรยา ญาติพี่น้อง 30 ปีผ่านไปเราเห็นว่าทำอย่างไร ให้ความสูญเสียแบบนี้ไม่เกิดขึ้นอีก ความจริงก็เป็นคอนเซปต์ ของทุกปีว่าเราจัดรำลึกก็เพื่อสิ่งนี้ 

กรรมการมูลนิธิพฤษภาประชาธรรม กล่าวว่าแต่ที่ผ่านมาหลังเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 ก็ยังมีเหตุการณ์สูญเสียเกิดขึ้นอีกหลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็นพฤษภา 53 ของ กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ที่ถูกสลายการชุมนุม หรือชัตดาวแบงค็อก ของ คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กกปส.) ที่ปิดกรุงเทพ 6 เดือน จำนวนคนที่ตายรวมกันในช่วง 6 เดือนก็ต้อง 30 คน 

“ขณะนี้โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความขัดแย้งรอบใหม่เริ่มมาอีกแล้ว เป็นความขัดแย้งที่เกี่ยวพันหรือกระทบไปถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ อย่างที่ไม่เคยมีประเด็นแบบนี้มาก่อน ทำอย่างไรให้เราจะกลับสู่ประชาธิปไตย โดยไม่สูญเสียและท่ามกลางความเห็นต่างในสังคม ทำอย่างไรให้เราไม่ต้องมาเข่นฆ่ากันอีก คือสิ่งที่เราตั้งใจจัดงาน ซึ่งเป็นเป้าหมายของเราในช่วง 30 ปี ของเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 และแน่นอน ก็ต้องพูดไปถึงเรื่องของการเห็นต่างกัน ในขอบเขตของระบอบประชาธิปไตยและเป็นระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ที่ทำอย่างไรให้ความเห็นต่าง ภายในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระกษัตริย์ทรงเป็นประมุข ไม่นำไปสู่ความรุนแรง หรือเหตุการณ์นองเลือดอีก การปฏิวัติรัฐประหารจะต้องหมดไป ผมคิดว่าข้อนี้เป็นข้อที่จะต้องควรเรียนรู้กันในวาระ 30 ปีโดยนำเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อ 30 ปี ที่แล้วเป็นอุทาหรณ์” ดร.ปริญญา กล่าว

อดีตเลขาธิการ สนนท. กล่าวต่อว่าเข้าใจว่าเรื่องคนหาย 30 ปี นี้ก็ต้องพูดกันอย่างจริงจัง ว่าศพอยู่ไหน ส่วนอีกข้อหนึ่งปีนี้เป็นปีที่เรามีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง มาเป็นระบอบประชาธิปไตยครบ 90 ปี ทั้งนี้วันที่ 24 มิถุนายน 2475 เป็นวันเปลี่ยนแปลงการปกครอง แต่วันที่เริ่มต้นนับว่าเป็นระบอบประชาธิปไตย คือวันที่มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับแรก ซึ่งประกาศใช้ 3 วันหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง คือ 27 มิถุนายน 2475 เป็นฉบับที่บัญญัติไว้ในมาตราหนึ่งว่า อำนาจสูงสุดของประเทศนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลายนั่นคือการกำเนิดของระบอบประชาธิปไตย และเป็นประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงอยู่ใต้รัฐธรรมนูญ โดยระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

“เพราะฉะนั้นปีนี้เราจึงคิดว่าเราจะไม่จบแค่ 17 พฤษภาคมแต่เราจะไปจบถึงเดือนมิถุนายน ในวาระ 30 ปีเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 และ 90 ปีประชาธิปไตย ทำอย่างไรประชาธิปไตยที่ล้มลุกคุกคลาน มีเหตุการณ์นองเลือดมีการปฏิวัติรัฐประหาร รัฐธรรมนูญ 20 ฉบับมันจะผ่านไปสักทีหนึ่ง ทำอย่างไรจะกลับสู่ประชาธิปไตยโดยไม่มีการนองเลือดอีก และไม่ให้ล้มเหลวอีกนั่นคือสิ่งที่เราคุยกันว่าให้วาระ 30 ปี นี้ให้เราเรียนรู้เรื่องพวกนี้”

สำหรับการจัดงานโดยใช้ชื่อ ชื่อพฤษภาประชาธรรมนั้น กรรมการมูลนิธิพฤษภาประชาธรรม กล่าวว่า เริ่มแรกมีการเรียกชื่อว่าเป็นพฤษภาทมิฬ ซึ่งคำว่าทมิฬเป็นชื่อชนเชื้อชาติหนึ่งในศรีลังกาจึงมีการรณรงค์กันว่าไม่ควรนำชื่อ ของชนชาติหรือเชื้อชาติหนึ่งในศรีลังกา มาเป็นคำที่ติดลบ จึงมีการเปลี่ยนเป็นชื่อที่ดีกว่าและทางญาติก็เห็นว่าควรนำชื่อในทางบวกดีกว่า จึงเป็นพฤษภาประชาธรรมแต่คนก็ยังติดปากอยู่ว่าเป็นพฤษภาทมิฬ

สำหรับบริบทการชุมนุมเหตุการณ์เดือนตุลาคน และเหตุการณ์เดือนพฤษภาคมในช่วงที่มีการเคลื่อนไหวเรียกร้องของประชาชนและนิสิตนักศึกษานั้น ดร.ปริญญา กล่าวว่าถ้ากล่าวโดยสรุปเป็นเหตุการณ์ของการเรียกร้องประชาธิปไตย ซึ่งแลกมาด้วยเลือดเนื้อและชีวิต ประเด็นคือประชาธิปไตยนั้นเป็นของดี แต่ทำอย่างไรถึงจะไม่มีการนองเลือดอีก มันเป็นบทเรียนเดียวกันที่เราควรจะเรียนรู้ เรายกย่องผู้สูญเสียเพราะเป็นวีรชนของพวกเราทุกคน ที่ทำให้มีประชาธิปไตยแต่เราไม่ควรมีวีรชนอีกแล้วที่ต้องมาตายเพราะเรื่องต่อสู้กับเผด็จการอีก

ส่วนที่หลายฝ่ายมีความเห็นเรื่องความปรองดองนั้น ดร.ปริญญา กล่าวว่า ความปรองดองไม่ใช่ในแบบเดิมแล้ว ที่ผ่านมาก็เป็นความขัดแย้งระหว่างคนเสื้อเหลืองเสื้อแดง พูดถึงความปรองดองในตอนนี้มันไม่ใช่เรื่องนั้น ตอนนี้ตั้งแต่มีการเปิดประเด็น ข้อเสนอเรื่องของการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ จากปัญหาของรัฐบาลเอง ไปทำให้ความขัดแย้งลุกลามไปถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ เมื่อมีประเด็นนี้ขึ้นมาจึงกลายเป็นประเด็นที่ เป็นความขัดแย้งของคนระหว่างรุ่น คนรุ่นใหม่ซึ่งมีที่มาที่เราต้องเข้าใจว่าจุดเริ่มต้น เกิดจากการไปยุบพรรคการเมืองซึ่งคนรุ่นใหม่เขาเลือก

“ความจริงถ้าหากให้ทะเลาะหรือเห็นต่างกันอยู่ในสภา ก็คงไม่ต้องลงถนนกันถึงขนาดนี้ คิดว่ามันเกิดการไปเชื่อมโยงไปถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ ทำให้เกิดข้อเรียกร้องในเรื่องการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ ความจริงเราเป็นระบอบประชาธิปไตย ที่พระมหากษัตริย์ทรงอยู่ใต้รัฐธรรมนูญ มาตั้งแต่วันที่ 27 มิถุนายน 2475 แล้ว แต่สิ่งนี้คนจำนวนมากในประเทศไทยก็ยังไม่เข้าใจ หลักที่ว่าพระมหากษัตริย์ทรงอยู่ใต้รัฐธรรมนูญแต่อยู่เหนือความขัดแย้งทางการเมือง แม้กระทั่งศาลรัฐธรรมนูญก็ยังไม่เข้าใจ ดูจากคดีล้มล้างการปกครองไปวินิจฉัยและพิพากษาว่า ข้อเสนอเรื่องการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ เป็นการล้มล้างระบบการปกครอง ตรงนี้แทนที่จะใช้โอกาสนี้ให้คนเข้าใจว่าระบบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข คือระบอบอะไรเราควรจะขัดแย้งกัน ในขอบเขตของระบบนี้หรือไม่”

อาจารย์ประจำภาควิชากฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ กล่าวด้วยว่า ศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้ได้ทำให้คนเข้าใจมากขึ้น ก็เข้าใจว่าศาลรัฐธรรมนูญเองก็คงจะไม่เข้าใจ นี่คือสิ่งที่คิดว่าเราจำเป็นที่จะต้องเข้าใจเรื่องนี้กันให้มากขึ้น ว่าหลักการที่พระมหากษัตริย์ทรงอยู่ใต้รัฐธรรมนูญ แต่อยู่เหนือการเมืองคือหลักการของระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

“เหตุการณ์พฤษภาคม 2535 เป็นเหตุการณ์ที่เป็นประวัติศาสตร์อยู่ในการเมืองไทย คือเหตุการณ์ที่ต่อมาจาก 14 ตุลาคม 2516 และ 6 ตุลาคม 2519 และพฤษภาคม 2535 เป็นเหตุการณ์ที่นำมาสู่การเกิดรัฐธรรมนูญ 2540 ในเวลาต่อมา จะว่าไปแล้วก็มีผลมาถึงปัจจุบันเพราะรัฐธรรมนูญปี 2540 เมื่อเกิดปัญหาขึ้น เราไปแก้ผิดจุดด้วยการยึดอำนาจ 19 กันยายน 2549 และผลของ 19 กันยายน 2549 ก็มีผลมาถึงปัจจุบัน ดังนั้นสิ่งที่มันเกิดขึ้นเมื่อ 30 ปี ที่แล้ว มีผลมาถึงปัจจุบัน ซึ่งเราควรที่จะได้รู้เรียนรู้เรื่องนี้กันให้มากกว่าเดิม ไม่ใช่เพียงแค่การรำลึกถึงการไว้อาลัย หรือวางพวงหรีดแต่รำลึกถึงในฐานะที่เป็นบทเรียน รำลึกถึงเพื่อจะเรียนรู้และช่วยกันป้องกันไม่ให้ประชาธิปไตย ต้องมีการนองเลือดหรือสูญเสียกันอีก” ดร.ปริญญา กล่าว
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท