เสวนา Clubhouse ‘NGOรับเงินใคร? ทำประโยชน์อะไรให้ประเทศชาติบ้าง?’

เสวนา Clubhouse ‘NGOรับเงินใคร? ทำประโยชน์อะไรให้ประเทศชาติบ้าง?’ ชี้หากรัฐออกกฎหมายคุม NGO องค์กรเล็กๆ ที่ทำงานเพื่อมนุษยธรรมจะได้รับผลกระทบ ความน่าเชื่อถือระหว่างประเทศของไทยจะลดลง เป็นผลเสียมากกว่าผลดี

คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) แจ้งข่าวต่อสื่อมวลชนว่าเมื่อ 22 ม.ค. 2565 คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) ร่วมกับสถาบันสังคมประชาธิปไตย ได้จัดกิจกรรมสนทนาบนแอปพลิเคชั่น Clubhouse “ครป.house(พิเศษ) ‘NGOรับเงินใคร? ทำประโยชน์อะไรให้ประเทศชาติบ้าง?’” โดยมีผู้สนทนาประกอบด้วย ปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย, โรยทราย วงศ์สุบรรณ ผู้เชี่ยวชาญด้านต่อต้านการค้ามนุษย์, สุภัทรา นาคะผิว ผู้อำนวยการมูลนิธิศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ ดำเนินการสนทนาโดย วรภัทร วีรพัฒนคุปต์ กรรมการ คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.)


วรภัทร วีรพัฒนคุปต์ (แฟ้มภาพ)

วรภัทร วีรพัฒนคุปต์ กรรมการ ครป. กล่าวว่า การสนทนาในวันนี้ สืบเนื่องมาจากความพยายามของรัฐบาลที่จะออกร่างพระราชบัญญัติการดำเนินกิจกรรมขององค์กรไม่แสวงหากำไร เพื่อมาแทนที่ร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาองค์กรภาคประชาสังคม ที่เครือข่ายภาคประชาชนได้พยายามขับเคลื่อน ซึ่งที่ผ่านมาเราได้เรียกร่างกฎหมายของรัฐบาลที่พวกเราคัดค้านนี้ว่า “ร่างกฎหมายควบคุมการรวมกลุ่มของประชาชน” แต่วันนี้ที่ทาง ครป. จัดการสนทนานี้ขึ้น ก็เพื่อต้องการให้สังคมได้รับรู้เกี่ยวกับการทำงาน บทบาทความสำคัญ ตลอดจนถึงแหล่งทุนในการทำงานขององค์กรพัฒนาเอกชน หรือที่เราเรียกว่า “เอ็นจีโอ” (Non-Government Organization – NGO) ซึ่งมักถูกตั้งข้อครหามาโดยตลอดว่า รับเงินต่างชาติเพื่อมาขัดขวางการพัฒนาประเทศ ก่อความไม่สงบทางการเมือง 


สุภัทรา นาคะผิว (แฟ้มภาพ)

สุภัทรา นาคะผิว ผู้อำนวยการมูลนิธิศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ เล่าว่าตนทำงานในภาคขององค์กรไม่แสวงกำไรมา 35 ปี โดยเริ่มต้นในฐานะอาสาสมัครของโครงการอาสาสมัครเพื่อสังคม (ปัจจุบันคือมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม) ซึ่งขณะนั้นมีอาจารย์จอน อึ๊งภากรณ์ เป็นผู้อำนวยการโครงการฯ ตนก็ทำงานเป็นอาสาสมัครนักกฎหมายให้กับกลุ่มเพื่อนหญิง (มูลนิธิเพื่อนหญิงในปัจจุบัน) อยู่ 2 ปี ทำงานช่วยเหลือเด็กและผู้หญิงที่ถูกกระทำความรุนแรงทางเพศ ถูกล่อลวงไปค้าประเวณี รวมไปถึงความรุนแรงในครอบครัว ภายใต้การสนับสนุนทุนจากรัฐบาลเนเธอร์แลนด์ ต่อมาก็ได้รับการทาบทามให้เป็นเจ้าหน้าที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิสตรี ก่อนที่จะลาออกแล้วมาเริ่มงานด้านเอดส์ในปี 2536 โดยการชักชวนของสมยศ พฤกษาเกษมสุข ให้มาทำงานเรื่องเอชไอวี/เอดส์ในกลุ่มผู้ใช้แรงงานช่วงยุคโรคเอดส์กำลังระบาดหนักมาก แล้วก็ไปทำงานโครงการกรุงเทพสู้เอดส์ภายใต้การสนับสนุนของ USAID สมัยนั้นประเทศไทย ซึ่งถูกเรียกว่าเป็นประเทศด้อยพัฒนา ก็ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากต่างประเทศในการทำงานเพื่อสังคมพอสมควร แต่ก็ไม่ได้ง่ายดายนักโดยหลายเหตุปัจจัย ซึ่งระยะแรกของการทำงานด้านเอดส์ เราก็เริ่มที่งานเชิงป้องกัน โดยทำกับประชากรทุกกลุ่มที่ขาดโอกาสในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่จะทำให้พวกเขาปลอดภัยจากการติดเชื้อเอชไอวี และต้องคิดค้นกระบวนการสร้างความรู้ความเข้าใจในการปฏิบัติตนโดยเฉพาะเรื่องพฤติกรรมทางเพศ จนตอนนี้เราก็ทำงานกับ 10 กลุ่มประชากร เช่นแรงงานข้ามชาติ ผู้มีความหลากหลายทางเพศ ผู้สูงอายุ เป็นต้น 
    
เรื่องทุนเราก็รับมาหลากหลาย ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ถ้าปัจจุบันหลักๆก็ได้จากกองทุนโลกด้านเอดส์ วัณโรค และมาลาเรีย ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อปี ค.ศ.2001 จากการประชุมเรื่องเอชไอวี/เอดส์ของสหประชาชาติ ด้วยที่ประชุมเห็นว่าการแก้ปัญหาเอดส์นั้นต้องร่วมมือกันทั้งโลก จนตกผลึกว่าจะต้องตั้งกองทุนขึ้นมา โดยการบริจาคของประเทศต่างๆ รวมถึงไทยที่ได้ร่วมบริจาคปีละ 1 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งก็จะมีประเทศต่างๆเข้ามาขอทุนจากกองทุนนี้ในนามของประเทศโดยมีเงื่อนไขว่าจะต้องมีเรื่องความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการพัฒนาโครงการ ที่ผ่านมาประเทศไทยก็จะมีตัวแทนผู้รับทุนทั้งภาครัฐและภาคประชาสังคม ซึ่งก็ต้องทำงานร่วมกัน โดยหาแนวทางการจัดการ เพราะอย่างที่เรารู้กันว่าโครงสร้างของรัฐบ้านเรานั้นยังขาดความคล่องตัว เราก็ต้องนำทุนมาจัดสรร แบ่งงานกันทำตามความถนัด อย่างที่เราก็ทราบกันว่าการแก้ปัญหา ไม่สามารถทำได้ด้วยฝ่ายรัฐเพียงฝ่ายเดียว ซึ่งงานด้านเอดส์ก็ได้สะท้อนความเป็นจริง การที่เราสามารถลดอัตราการติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ จากจุดวิกฤตสุดคือ ปีละ 130,000 คน ปัจจุบันยอดผู้ติดเชื้อรายใหม่เหลือเพียงปีละประมาณ 6,000 คน 

เหล่านี้ก็ต้องยกเครดิตให้ภาคประชาสังคม ทั้งเอ็นจีโอ องค์กรชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมถึงเครือข่ายของผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่ออกมาช่วยกันขับเคลื่อนให้เราสามารถช่วยเหลือคนติดเชื้อเอชไอวีให้ไม่ต้องเสียชีวิตเพราะไม่ได้รับการรักษา ทำงานป้องกันเพื่อลดจำนวนผู้ติดเชื้อ มาจนถึงสิทธิมนุษยชนของผู้ติดเชื้อที่จะสามารถดำเนินชีวิตได้อย่างคนที่ไม่ได้ติดเชื้อ ทั้งหมดนี้ก็เกิดจากการร่วมมือกันระหว่างรัฐกับประชาสังคม ซึ่งภาครัฐเองก็ยืนยันเช่นนี้ แต่ก็มีความย้อนแย้งเกิดขึ้นมากับความพยายามที่จะออกกฎหมายการดำเนินกิจกรรมขององค์กรไม่แสวงหากำไร เพื่อควบคุมภาคประชาสังคมอันเป็นการกระทำที่เราไม่สามารถยอมได้ ทั้งเป็นการกระทำขัดต่อรัฐธรรมนูญอันเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ ขัดต่อหลักการการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (SDGs) ด้วย 


โรยทราย วงศ์สุบรรณ (แฟ้มภาพ)

โรยทราย วงศ์สุบรรณ ผู้เชี่ยวชาญด้านต่อต้านการค้ามนุษย์ ปัจจุบันทำงานในองค์กร Freedom Fund ซึ่งเป็นองค์กรที่ให้ทุนแก่องค์กรเอ็นจีโอในการทำงานเรื่องการต่อต้านการค้ามนุษย์ในอุตสาหกรรมอาหารทะเล ก็เล่าว่าแม้องค์กรที่ตนทำงานอยู่จะเป็นแหล่งทุน แต่องค์กรก็ได้รับทุนมาจาก Humanity United ซึ่งเกิดขึ้นมาจากการระดมทุนของภาคเอกชน เป็นองค์กรจดทะเบียนในสหรัฐอเมริกา มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่ซานฟรานซิสโก ดังนั้นเวลาเขาให้เงินมาที่เรา ก็ต้องมีการปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการจดทะเบียนเป็นมูลนิธิในอเมริกา แล้ว Freedom Fund ก็จดทะเบียนเป็นมูลนิธิทั้งในอังกฤษและอเมริกาด้วย 
    
หลักการให้ทุนของ Freedom Fund นั้นก็มีหลักการ ไม่ใช่ใครนึกจะขอก็ขอได้ อย่างในไทยก็มีหลักการข้อแรกคือ การให้ทุนแก่องค์กรขนาดเล็ก องค์กรที่อาจจะประสบปัญหาในการหาทุนจากภาครัฐ (เช่น สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ-สสส. ฯลฯ) ที่มีเงื่อนไขว่าคุณต้องเป็นองค์กรจดทะเบียน ทำงานอะไร มีมาตรฐานการทำงานอย่างไร ซึ่งเรามองว่าองค์กรประชาสังคมที่ทำงานเรื่องแรงงานข้ามชาติ หลายกลุ่มก็เกิดจากการรวมตัวของแรงงานข้ามชาติเองเพื่อช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติด้วยกันเอง อย่างในวิกฤติโรคโควิด-19 ที่ผ่านมา เราจะพบการรวมกลุ่มของคนเพื่อช่วยเหลือกันเองเยอะมาก 

อันที่สอง เราก็มีเรื่องการตรวจสอบทางการเงินตั้งแต่ก่อนที่จะให้ทุน ว่าองค์กรมีโครงสร้างการบริหารอย่างไร มีเจ้าหน้าทีการเงินที่มีความรู้เพียงพอที่จะบริหารเงินอย่างโปร่งใสหรือไม่ มีหลักการถ่วงดุลอำนาจในองค์กรหรือเปล่าในการรับเงิน บริหารเงิน ซึ่งในประเทศไทย ตนก็ถูกจ้างโดย Freedom Fund มาเพื่อดูแลเรื่องเหล่านี้ ต้องคอยติดตาม คอยเยี่ยมพบองค์กรที่รับทุนจาก Freedom Fund ทุก 3 เดือน เพื่อตรวจสอบการใช้เงินขององค์กรที่มาขอทุน องค์กรที่รับทุนต้องส่งรายงานให้เราทุก 3 เดือน เพื่อรายงานเรื่องการเงินและการทำกิจกรรมขององค์กร โดยตนก็จะต้องไปสัมภาษณ์แรงงานข้ามชาติ ที่องค์กรผู้รับทุนบอกว่าได้เข้าไปช่วยเหลือด้วยซึ่งก็จะไปสัมภาษณ์โดยที่องค์กรผู้รับทุนไม่อยู่ในเหตุการณ์ เพื่อตรวจสอบเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงว่าเขาเข้าใจว่าอย่างไร เพื่อป้องกันว่าเวลาที่คนเข้าไปช่วยเหลือผู้อื่น บางทีก็อาจจะกลับนำไปสู่การเอารัดเอาเปรียบได้ เช่นอาสาสมัครที่เข้าไปช่วยเหลือ แอบถ่ายภาพผู้รับบริการโดยไม่ได้ขออนุญาต ซึ่งเราต้องระมัดระวัง และเรามีการจัดประเมินโครงการ ซึ่งที่ผ่านมาเราก็ร่วมมือกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเพื่อประเมินกิจกรรมที่เราสนับสนุนว่าเป็นอย่างไรบ้าง และมีการประเมินภายในจากคนของ Freedom Fund มาติดตามประเมินเองอีกด้วย พร้อมกับทำวิจัยเพื่อดูความคืบหน้าของงานที่ได้ทำ 
    
การที่ Freedom Fund มีเจ้าหน้าที่ที่เมืองไทย ก็เนื่องด้วยบริบทขององค์กรพัฒนาเอกชนขนาดเล็ก ก็อาจทำให้ไม่มีผู้บริหาร หรือฝ่ายการเงินที่เก่งที่สุด เพราะเรากำลังพูดถึงกลุ่มแรงงานข้ามชาติที่ในอดีตเคยเป็นลูกเรือประมง ฉะนั้นเราก็มองว่านี่คือสิ่งที่เราต้องช่วยให้องค์กรเล็กๆเหล่านี้อยู่ได้ มีมาตรฐาน และรับผิดชอบต่อแหล่งทุน ผู้ได้รับความช่วยเหลือต้องไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบ ทั้งนี้เราได้เริ่มงานในประเทศไทยมาตั้งแต่ ค.ศ.2016 ซึ่งเป็นช่วงที่มีสื่อมวลชนจำนวนมากไปที่อินโดนีเซีย แล้วไปพบว่ามีคนไทยและแรงงานข้ามชาติที่เคยอยู่ในไทยถูกหลอกให้ไปเป็นลูกเรือประมง ถูกทิ้งอยู่ที่อินโดนีเซีย สิ่งที่ตามมาคือเรื่องของผู้บริโภคที่ซื้อผลิตภัณฑ์ทูน่ากระป๋องในอเมริกา อังกฤษ สหภาพยุโรป ได้เห็นภาพว่าสิ่งที่ตนซื้อทานนั้น มาจากแรงงานในอุตสาหกรรมประมงที่ถูกปฏิบัติอย่างไม่ใช่มนุษย์ ถูกทุบตี ถูกทอดทิ้ง ก็เหมือนพวกเขากินเลือด กินเหงื่อของเพื่อนมนุษย์เข้าไป ยังไม่พูดไปถึงเรื่องการทำประมงผิดกฎหมาย การทำประมงที่ไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอีก ผู้บริโภคในประเทศที่นำเข้าสินค้าของเราก็แสดงความไม่พอใจ เกิดการแบนสินค้าเหล่านี้จนทำให้เกิดเหตุการณ์อย่างที่สหภาพยุโรปมีการให้ใบเหลืองประมงของไทยฐานที่ทำประมงผิดกฎหมาย ไม่มีการควบคุม ไม่มีการรายงานที่ถูกต้อง ซึ่งระยะยาวสินค้าของเราอาจถูกแบนได้ รวมถึงทางสหรัฐฯ ได้ปรับลำดับ Tier ของเราลงซึ่งนำไปสู่การแบนสินค้าพวกนี้ได้เช่นกัน ภาคอุตสาหกรรมจึงเริ่มรู้สึกว่า เราจะปล่อยให้ผู้บริโภคมีภาพจำที่ไม่ดีว่าเราเอารัดเอาเปรียบแรงงานมันไม่ได้ เราจึงเห็นบรรยากาศที่บริษัทแปรรูปอาหารทะเลรายใหญ่ๆของไทย มีการรายงานบนหน้าเว็บไซต์องค์กรว่า ได้มีมาตรการในการจัดการแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนในอุตสาหกรรมประมงกันอย่างไร ได้ทำงานร่วมกับองค์กรเอ็นจีโออย่างไรบ้าง ก็ช่วยให้สินค้าประเทศไทยไม่โดนใบเหลืองจากสหภาพยุโรป การประเมินสถานการณ์การค้ามนุษย์โดยทางสหรัฐฯ ก็ถูกยกระดับขึ้นไปเป็น Tier 2 ใน ค.ศ.2018 (ก่อนจะตกชั้นมาเป็น Tier 2 Watch List ในปีที่ผ่านมา)
     
แล้วประเทศไทยก็เริ่มมีการปฏิรูปกฎหมายแล้วมาทำงานร่วมกับองค์กรพัฒนาเอกชนเยอะมากไม่ใช่แค่ Freedom Fund เกี่ยวกับเรื่องการค้ามนุษย์ การสร้างความรู้ให้แรงงาน การช่วยเหลือต่างๆ การให้แรงงานสามารถรวมกลุ่มและเจรจาต่อรองได้ ทั้งนี้ส่วนตนก็มองว่าประเทศไทยก็ยังไม่ได้เปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นนัก ส่วนหนึ่งก็เป็นเรื่องของประชาธิปไตยในประเทศ ที่ประเทศยังไม่ได้เป็นเสรีนิยมประชาธิปไตย ต่อให้เราแก้กฎหมายลูก แต่มันก็ยังมีโครงสร้างของความไม่เท่าเทียมกันอยู่ และรวมถึงการพยายามให้มีกฎหมายควบคุมการรวมกลุ่มของประชาชน ที่จะส่งผลกระทบต่อการรวมกลุ่มของแรงงานข้ามชาติที่โดยกฎหมายของไทยก็ไม่เปิดช่องให้พวกเขาจัดตั้งสหภาพแรงงานได้อยู่แล้วด้วย


ปิยนุช โคตรสาร (แฟ้มภาพ)

ปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย อธิบายว่า แอมเนสตี้ฯ เป็นองค์กรที่มีความเป็นสากล อยู่มาถึง 60 ปี เราก็ยืนหยัดหลักการเรื่องความเป็นอิสระ คืออิสระจากการเมือง อิสระจากศาสนา ความเชื่อ แต่อยู่บนลักสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะกฎกติการะหว่างประเทศฉบับต่างๆที่เกี่ยวกับเรื่องสิทธิมนุษยชนเป็นหลักทั้งสิ้น โดยไม่มีความเห็นว่าต้องอยู่ภายใต้ระบบการเมืองแบบไหน ศาสนาอะไร แม้ในภาวะสงคราม เราก็จะอยู่เคียงข้างผู้ที่โดนละเมิดสิทธิ และประณามผู้ที่ละเมิดสิทธิไม่ว่าคุณจะเป็นใครก็ตาม ฉะนั้นที่ผ่านมาไม่ว่าใครจะมาเป็นรัฐบาล มาด้วยวิธีการใด หากมีประเด็นเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชน เราก็จะมีการตั้งคำถาม มีการเรียกร้องตรวจสอบตลอด เช่นในช่วงรัฐบาล คุณทักษิณ ชินวัตร ที่มีประเด็นเรื่องสงครามยาเสพติด ก็โดนเราตั้งคำถามออกสื่อเช่นเดียวกัน นี่คือสิ่งที่เราอยากให้ทุกคนเข้าใจว่าอย่างการตรวจสอบ เรียกร้องกับรัฐบาลชุดนี้ ก็เป็นไปโดยเรื่องหลักการสิทธิมนุษยชน ไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องที่ว่าเป็นรัฐบาลหลังการรัฐประหารแต่อย่างใด ซึ่งตรงนี้ทุกคนย้อนกลับไปตรวจสอบดูได้เลย และทุกเรื่องที่เราเรียกร้อง ก็ทำบนพื้นฐานของการทำวิจัย การหาข้อมูลทั้งสิ้น 
    
และเรื่องการรับเงินทุนของเรา หลักๆ เราก็มีรายได้มาจากค่าสมาชิกและการบริจาคเงินของสมาชิกทั่วโลกเป็นหลัก เพราะถ้ารับเงินรัฐบาล เดี๋ยวเราจะวิพากษ์วิจารณ์เขาไม่ได้ ถ้าจะรับเงินจากรัฐมา ที่ทำได้ก็มีเพียงในการทำงาน สิทธิมนุษยชนศึกษา ซึ่งเป็นงานด้านเดียวที่เรารับงบประมาณจากรัฐบาล สถานทูตประเทศอื่นๆได้ แต่กว่าเราจะยอมรับเงินมาได้ เราก็ต้องขอตรวจสอบจากสำนักงานแอมเนสตี้ฯ ในประเทศนั้นๆ เช่นถ้าจะรับเงินรัฐบาลฟินแลนด์ รัฐบาลอังกฤษมาทำเรื่องสิทธิมนุษยชนศึกษา เราก็ต้องไปถามความเห็นจากแอมเนสตี้ฯในประเทศนั้นๆด้วยว่าเขาคิดว่าอย่างไร สถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศที่จะให้ทุนเรามาทำสิทธิมนุษยชนศึกษาเป็นอย่างไรบ้าง หรืออย่างบริษัทใหญ่ๆอยากจะมาบริจาคหรือทำงาน CSR ร่วมกับพวกเรา แต่ถ้าเขามีประวัติเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชน เราก็รับเงินเขาไม่ได้ ทั้งนี้ก็เพื่อความเป็นอิสระในการรณรงค์ วิพากษ์วิจารณ์     
    
ตอนนี้เราก็มีช่องทางให้มี “ผู้สนับสนุน” ก็คือถ้าคุณมีเงิน แต่ไม่มีเวลาที่จะมาทำกิจกรรม หรือประชุมออกเสียงในที่ประชุมสมาชิก คุณก็บริจาคเงิน หรือคุณจะมาเป็นนักกิจกรรม เป็นอาสาสมัคร ก็แล้วแต่ที่คุณจะสนับสนุน ซึ่งที่ผู้ดำเนินการสนทนาบอกว่าแอมเนสตี้ฯมีสมาชิก 10 ล้านคนทั่วโลก อันนี้คือรวมนักกิจกรรม อาสาสมัครด้วย ซึ่งส่วนของประเทศไทย แอมเนสตี้ฯในไทยมีสมาชิกพันกว่าคน ค่าสมาชิกต่อปีที่เก็บได้ก็ถือว่าน้อยจนไม่พอกับการดำเนินงานในประเทศไทย แต่ระบบสมาชิกนั้นมีความสำคัญกับเรามาก แล้วเราก็เลยมีผู้บริจาครายเดือนด้วย 
    
สมัยสิบกว่าปีก่อนตอนที่คุณต้อง (วรภัทร ผู้ดำเนินการสนทนา) เป็นกรรมการแอมเนสตี้ฯ ประเทศไทยด้วย เราก็มีประเด็นรณรงค์ประเด็นหลักประเด็นเดียว สำนักงานมีเจ้าหน้าที่กันไม่กี่คน แต่ตอนนี้เนื่องจากสถานการณ์สิทธิมนุษยชนที่น่าเป็นห่วงมากขึ้น กอปรกับเรามีสมาชิก อาสาสมัคร มีเจ้าหน้าที่มากขึ้น งานที่ทำก็ไม่ได้มีแค่ประเด็นเดียว เราพยายามทำงานครอบคลุมกลุ่มประเด็นที่หลากหลายมากขึ้น อย่างที่เราเห็น ไม่ว่าจะนักศึกษา ชาวบ้านที่มาลงถนนจัดการชุมนุม อย่างกรณีชาวบ้านจะนะ (จากจังหวัดสงขลา) หรือการชุมนุมทางการเมืองของนักศึกษา เราก็ต้องสนับสนุนให้เขาได้ใช้สิทธิเสรีภาพในการชุมนุม แสดงออกเรียกร้องในปัญหาของพวกเขา ก็กลายเป็นเรื่องที่ทำให้เราถูกกล่าวหาว่ามาแทรกแซงทางการเมือง ซึ่งความจริงคือเราพูดกันในเรื่องสิทธิมนุษยชน คือไม่ว่าคุณจะเป็นใคร มีความเชื่อทางการเมืองแบบใด คุณก็ต้องแสดงออกได้ และหากคุณถูกลิดรอนสิทธิ เราก็ต้องเรียกร้องสิทธิให้คุณ ขอเพียงแค่ให้เป็นการใช้สิทธิแสดงออกที่ไม่ได้นำไปสู่ความเกลียดชังหรือการฆ่าล้างเผ้าพันธุ์
    
ทีนี้อย่างเรื่องเงินที่เราถูกกล่าวหาว่ารับเงินอเมริกามา ก็แปลกใจว่าไปเอาข่าวแบบนี้มาจากไหนกัน มีการเช็คที่มาของข่าวหรือมีหลักฐานกันไหม ซึ่งในข้อเท็จจริง การที่แอมเนสตี้ฯประเทศไทยเป็นองค์กรขนาดเล็ก สมาชิกแค่หลักพัน ในขณะที่ทั่วโลกมีสมาชิกรวมกัน 10 ล้านคน ก็จะมีประเทศใหญ่ๆ ในยุโรป หรืออย่างออสเครเลีย ที่แอมเนสตี้ฯ ในประเทศเหล่านั้นมีสมาชิกหลักหมื่นหลักแสน เงินที่ได้จากการสนับสนุนของสมาชิกก็เยอะ ก็จะมีการแบ่งเงินลงขั้นมาที่สำนักงานเลขาธิการใหญ่ของแอมเนสตี้ฯ เพื่อแบ่งส่วนช่วยเหลือสำนักงานแอมเนสตี้ฯในประเทศที่ไม่ได้มีสมาชิก ผู้บริจาคมากนัก แต่มีปัญหาเรื่องสิทธิมนุษยชน ให้เราได้เอาใช้ทำงาน ดังนั้นจึงถือได้ว่าเราแหล่งทุนของเราก็คือมาจากสมาชิกที่เป็นประชาชนทั่วโลกประเทศต่างๆนั่นเอง 
    
การที่รัฐพยายามออกกฎหมายการดำเนินกิจกรรมขององค์กรไม่แสวงหากำไร เพื่อมาควบคุมองค์กรแบบเรา ควบคุมการรวมกลุ่มของประชาชนที่ต้องการทำอะไรสักอย่างเพื่อช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ มันก็จะส่งผลเสียต่อรัฐเอง สมาคมอาสาสมัครต่างๆ ก็จะได้รับผลกระทบความยากลำบากในการดำเนินงาน องค์กรเอ็นจีโอเล็กๆ ที่ทำงานเพื่อมนุษยธรรมก็ได้รับผลกระทบไปหมด ความน่าเชื่อถือระหว่างประเทศของไทยเราก็จะลดลง เป็นผลเสียมากกว่าผลดี รัฐควรมองว่าพวกเราองค์กรไม่แสวงหากำไร เป็นภาคส่วนหนึ่งที่ช่วยให้ประชาชนเข้าถึงสิทธิ มีชีวิตความเป็นอยู่ตามที่สมควรจะได้รับ 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท