Skip to main content
sharethis

จอมพล ป. หรือวีรบุรุษสมรภูมิบางเขน ถือเป็นนายกฯ ที่ได้รับความสนใจโดยเฉพาะจากแวดวงวิชาการมาอย่างยาวนาน และงานส่วนใหญ่มุ่งเน้นไปที่การวิพากษ์นโยบายของผู้นำคนนี้ 

แต่ ‘กอบเกื้อ’ นักวิชาการด้านเอเชียอาคเนย์ อยากชวนทุกคนมองจอมพลตราไก่นี้ในอีกด้าน ทั้งอิทธิพลด้านความคิด-วัฒนธรรมต่อสังคม และการเป็นผู้นำที่เดินตามกติกา รธน.มากที่สุดคนหนึ่งในประวัติศาสตร์ไทย  

อนุสาวรีย์จอมพล ป. พิบูลสงคราม โรงเรียนพิบูลอุปถัมภ์ ถ่ายเมื่อวันที่ 3 มิ.ย. 2563 เวลา 16.00 น.

เมื่อ 22 ม.ค. 65 กอบเกื้อ สุวรรณทัต-เพียร ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์เอเชียอาคเนย์ บรรยายเสวนาออนไลน์ หัวข้อ “จอมพลสีเทา” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของงานเสวนาเปิดตัวหนังสือ  “จอมพล ป. พิบูลสงคราม และท่านผู้หญิงละเอียด กับการเมืองไทยสมัยใหม่ (Phibun and La-iad in Modern Thai Politics)” จัดจำหน่ายโดย มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์

กอบเกื้อ เผยว่า เมื่อพูดถึงนายกฯ ที่ได้รับความสนใจที่สุดคนหนึ่งในประวัติศาสตร์ไทย คงหนีไม่พ้น จอมพลตราไก่ หรือ แปลก พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีคนที่ 3 และครองตำแหน่งผู้นำยาวนานที่สุดในไทย 

กอบเกื้อ ตั้งข้อสังเกตว่า สิ่งที่ทำให้จอมพลแปลก ได้รับความสนใจมีเหตุผลทั้งหมด 3 ประการ 1) เป็นนายกฯ ที่นานที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองประเทศไทย โดยในสมัยแรกคือ 6 ปี (พ.ศ. 2481-2487) และสมัยที่ 2 คือ 9 ปี (ตั้งแต่ปี 2491-2500) สิริรวม 15 ปี ขณะที่รองลงมา เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกฯ นาน 8 ปี 

ประการที่ 2 คือเป็นนายกฯ ที่ถูกวิจารณ์มากที่สุดคนหนึ่งในประเทศไทยโดยเฉพาะจากแวดวงการศึกษาและวิชาการ และประการที่ 3 จอมพล ป. เป็นผู้นำของประเทศที่มีอิทธิพลทั้งในสังคมและชีวิตของคนไทยสมัยใหม่มากที่สุดคนหนึ่ง มากกว่าผู้นำคนใดๆ ที่เคยมีมาโดยเฉพาะทางด้านสังคมวัฒนธรรม   

ดังนั้น ทั้ง 3 ข้อนี้ทำให้เรื่องราวของจอมพล ป. เป็นที่น่าสนใจอย่างมาก โดยเฉพาะข้อ 2 การเป็นผู้นำที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์เยอะที่สุดทั้งที่ผู้นำไทยมีกันหลายคน แต่ไม่มีใครได้รับความสนใจจากแวดวงนักวิชาการเท่าจอมพลตราไก่ผู้นี้ 

อย่างไรก็ตาม กอบเกื้อ มองว่า เธออยากเชิญชวนให้มองจอมพล ป. ในแง่มุมของความเป็นมนุษย์ หรือสามัญชน ซึ่งมีความปรารถนาอย่างมากที่จะทำให้ประเทศเจริญรุ่งเรือง และเป็น ‘นักปฏิบัตินิยม’ คือลงมือทำอย่างจริงจัง ซึ่งตรงนี้แตกต่างจากปรีดี พนมยงค์ เพื่อนร่วมปีกคณะราษฎร ซึ่งเป็นนักคิดมากกว่า ส่วนผลลัพธ์คงเป็นอีกเรื่องซึ่งก็มีทั้งดีและไม่ดี

หันไปทางไหนก็เจอ-จอมพลที่มีอิทธิพลในสังคมไทย

กอบเกื้อ ระบุว่า เราไม่สามารถปฏิเสธอิทธิพล หรือความเป็น “Influencer” ของจอมพล ป.ในสังคมสมัยใหม่ได้ ถ้ามองไปรอบๆ ตัวหรือในชีวิตประจำวัน เราจะเห็นว่ามันมีรากฐานมาจากนโยบายสร้างชาติของจอมพล ป.ทั้งนั้น ไม่ว่าเราจะรับหรือไม่ก็ตาม ในที่สุดเราก็ทำตามแบบนั้น  

ยกตัวอย่าง การแต่งกายตามแบบฉบับสากล ความเสมอภาค-ความเท่าเทียม เพราะจอมพล ป. พิบูลสงคราม เคยรณรงค์ให้เลิกใช้ภาษาแบ่งชนชั้น ให้เหลือแค่คำว่า ‘ฉัน’ กับ ‘เธอ’ ‘คุณ’ หรือ ‘ผม’ ซึ่งเป็นคำที่แสดงให้เห็นถึงการมีฐานะเท่าเทียมกันระหว่างบุคคล

ความมีสุขภาพที่แข็งแรง ส่วนหนึ่งมาจากรากฐานแนวคิดของจอมพลตราไก่ผู้นี้ เพราะจอมพล ป. มักสนับสนุนให้ประชาชนทานอาหารที่ถูกหลักสุขอนามัย และโภชนาการ อาหารอย่างผัดไท หรือก๋วยเตี๋ยว ก็เป็นผลพวงมาจากการผลักดันของจอมพลคนนี้อีกเช่นกัน

“ดังนั้น ถ้ามองไปที่ชีวิตประจำวันของคนไทย ก็มาจากนโยบายสร้างชาติซึ่งถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากในสมัยที่จอมพล ป. เอามาใช้” กอบเกื้อ ระบุ

สำหรับนโยบายต่างประเทศ ‘ลู่ตามลม’ ของจอมพล ป. ก็ถูกวิพากวิจารณ์อย่างมากว่าเป็นคนไม่มีหลักการ ทำอะไรตามใจชอบ อย่างไรก็ตาม กอบเกื้อ ตั้งคำถามว่า ทุกประเทศก็ทำกัน รวมถึงสมัยอื่นๆ ก็ใช้นโยบายนี้เหมือนกัน แต่ทำไมจอมพล ป. ถึงตกเป็นเป้าถูกวิจารณ์อย่างมาก โดยเฉพาะจากคนที่มีความรู้ และแวดวงวิชาการ  

จอมพล ป. เป็นผู้นำที่มีอิทธิพลในความคิดในประเทศไทย ซึ่งมีคนไม่ชอบเป็นจำนวนมาก ดังนั้น เวลามองจอมพล ป. ก็จะมองในแง่ลบมากกว่าในแง่บวก แต่กอบเกื้ออยากเน้นย้ำให้ทุกคนมอง จอมพล ป.ในมุมมองบวก หรือในมุมมองวิชาการ 

นายกฯ ที่ทำตามกติกา รธน.มากที่สุดคนหนึ่งในไทย

คนอาจจะวิจารณ์จอมพล ป.กันเยอะ แต่สิ่งหนึ่งที่จอมพล ป. ไม่มีคือปัญหาคอร์รัปชัน มีอำนาจสูงสุดขนาดไหนช่วงเป็นนายกฯ สมัยแรก ก็ไม่เคยมีเรื่องเสียหายคดีคอร์รัปชัน อันนี้เป็นลักษณะเด่นอีกอย่างของจอมพล ป. 

ต่อมา สิ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับจอมพล ป. อีกประการคือเป็นนายกฯ ที่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ ตามกฎหมาย โดยสมัยแรก ได้เป็นนายกฯ ต่อจากพระยาพหลพลพยุหเสนา โดยเอาชนะปรีดี พนมยงค์ ไปได้ หลังจากนั้นก็ลาออกตามรัฐธรรมนูญอีกเช่นกัน คือเป็นคนเล่นเกมตามกติกา กติกากำหนดอย่างไรก็เล่นแบบนั้น 

พอสมัย 2 ก็กลับมาเป็นนายกฯ เพราะสามารถคุมเสียงข้างมากในสภาหลังชนะการเลือกตั้ง และเป็นนายกฯ เรื่อยมาจนกระทั่งถูกรัฐประหารโดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัตน์ ปี 2500 จนต้องระหกระเหินออกนอกประเทศ 

“ถ้าเรามองดูตัวจอมพล ป. ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เราจะเห็นว่าจอมพล ป. ปฏิบัติตามกติกา ไม่ปฏิบัตินอกกติกาที่กำหนดไว้ในระยะนั้น ไม่มีคนมองเห็นคุณค่าตรงนี้ในสิ่งที่จอมพล ป.ทำ” กอบเกื้อ ระบุ พร้อมตั้งข้อกังขาว่า ทำไมสังคมไทยเวลากล่าวถึงจอมพล ป. ถึงกลายเป็นแพะรับบาปในหลายเรื่อง ทั้งที่วีรบุรุษสมรภูมิบางเขนคนนี้สร้างคุณูปการอีกมากในสังคมไทย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net