ชี้กระบวนการของอนุฯ อาจยิ่งทำให้ล่าช้า ปม 'อาลีฟ' ร้องถูกตร.ทำร้ายร่างกาย ระหว่างจับกุมใน #ม็อบ29ตุลา

ทนายความสิทธิฯ ชี้กระบวนการของอนุฯ อาจยิ่งทำให้ล่าช้าและซับซ้อนมากขึ้น เหตุ 'อาลีฟ' เข้าให้ถ้อยคำต่อ อนุกรรมการคัดกรองฯ และ DSI หลังยื่นหนังสือร้องทุกข์ 2 เดือน แต่ไม่มีความคืบหน้าในการหาพยานหลักฐาน กรณีถูกตร.ทำร้ายร่างกาย

 

24 ม.ค.2565 มูลนิธิผสานวัฒนธรรม แจ้งต่อสื่อมวลชนว่า เมื่อวันที่ 21 ม.ค. ที่ผ่านมาเวลา 13.00 น. วีรภาพ วงษ์สมาน (อาลีฟ) พร้อมด้วยทนายความมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ในนามภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน เข้าให้ถ้อยคำต่อคณะอนุกรรมการคัดกรองกรณีถูกกระทำทรมานและถูกบังคับให้สูญหาย ประกอบด้วย ผู้แทนจากกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ และกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) สืบเนื่องจากที่นายอาลีฟได้ร้องทุกข์กล่าวโทษต่อ DSI กรณีถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ดินแดง ทำร้ายร่างกายในระหว่างที่ถูกควบคุมตัว โดยได้ขอให้คณะอนุกรรมการคัดกรองฯ และ DSI เร่งรัดสอบสวนและรับเป็นคดีพิเศษ ในประเด็นเดียวกับที่นายอรรถสิทธิ์ได้เรียกร้องไปแล้วในการให้ถ้อยคำเมื่อวันที่ 12 ม.ค. ที่ผ่านมา

ระหว่างการให้ถ้อยคำ คณะอนุกรรมการคัดกรองคดีฯ ได้ชี้แจงว่า คณะอนุกรรมการคัดกรองกรณีถูกกระทำทรมานและถูกบังคับให้สูญหาย เป็นชุดเฉพาะกิจซึ่งตั้งขึ้นตามคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 338/2562 และสังกัดอยู่ในสำนักนายกรัฐมนตรี เมื่อคดีของ อรรถสิทธิ์และอาลีฟเป็นคดีซ้อมทรมาน จึงจำเป็นจะต้องมีการดำเนินการผ่านอนุกรรมการคัดกรองฯ โดยจะสืบสวนและรวบรวมพยานหลักฐานคู่ขนานไปกับ DSI จึงขอให้มั่นใจว่าจะไม่ล่าช้าไปกว่ากระบวนการปกติ ทั้งนี้ อธิบดี DSI ได้ทราบเกี่ยวกับคดีนี้แล้ว และรับปากว่าจะหาช่องทางเร่งรัดคดีให้มีความคืบหน้าโดยเร็วที่สุด

ภายหลังการเข้าให้ถ้อยคำของ อาลีฟ แล้วนั้น พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม กล่าวว่า สำหรับคดีทรมานที่สน.ดินแดง ใจกลางกรุงเทพฯ สำนักงานของ DSI ก็อยู่กรุงเทพฯ แต่ขณะนี้คดีก็ยังไม่เป็นคดีอาญา กระบวนการนี้สร้างให้เกิดความล่าช้า จนอาจไม่สามารถรวบรวมพยานหลักฐานที่สำคัญ เช่น กล้องวงจรปิด บาดแผลทางร่ายกาย เป็นต้น ได้ทันท่วงทีหรือไม่ ซ้ำยังไม่สามารถขอรายงานการพิสูจน์บาดแผลจากแพทย์ได้ รวมทั้งตำรวจ 2-3 รายที่ทำร้ายประชาชนอย่างน้อย 2 คน ภายในสน.ดินแดงก็ยังปฏิบัติหน้าที่อยู่ ไม่ถูกดำเนินการทางวินัยและอาญาใดๆ

ปรีดา นาคผิว ทนายความมูลนิธิผสานวัฒนธรรม กล่าวว่า ตอนนี้ DSI ควรจะดำเนินการต่อได้อย่างรวดเร็ว เนื่องจากได้ยื่นข้อมูลคดีไปในหนังสือร้องทุกข์ต่อ DSI ไปนานกว่า 2 เดือนแล้ว และได้ตั้งข้อสังเกตถึงการให้ดำเนินงานผ่านคณะอนุกรรมการคัดกรองฯ ว่า เป็นกลไกที่ทำให้กระบวนการยุ่งยากซับซ้อนมากขึ้น จึงอยากฝากให้สื่อมวลชนและประชาชน ติดตามการทำงานของคณะอนุกรรมการคัดกรองฯ และ DSI ให้เป็นไปด้วยความรวดเร็ว และเป็นไปตามหลักสากลที่บัญญัติว่า การซ้อมทรมานประชาชนถือเป็นเรื่องร้ายแรงที่ต้องมีการนำผู้กระทำผิดมาลงโทษโดยเร็ว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท