Skip to main content
sharethis

อบจ.สระบุรี ผนึกกำลังระดับจังหวัด ตั้ง “ศูนย์ร่วมสุข” จำนวน 72 แห่ง ครอบคลุม 13 อำเภอ ดูแลผู้ป่วยที่ต้องได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพ ดึงนักกายภาพให้บริการผู้ป่วยในชุมชน-ให้ยืมอุปกรณ์ไปใช้ที่บ้าน-ตั้งศูนย์ซ่อมแซม-ฟื้นฟูที่อยู่ให้คุณภาพชีวิตผู้ป่วยดีขึ้น  

25 ม.ค.2565 ทีมสื่อ สปสช. รายงานว่า เมื่อเร็วๆ นี้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) นำโดย นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สปสช. พร้อมด้วย นพ.อภิชาติ รอดสม รองเลขาธิการ สปสช. นพ.ชลอ ศานติวรางคณา ผอ.สปสช.เขต 4 สระบุรี ลงพื้นที่ “ศูนย์ร่วมสุข” ภายใต้กองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพที่จำเป็นต่อสุขภาพ จ.สระบุรี ณ สถานีอนามัยห้วยบง ต. ห้วยบง อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.สระบุรี เพื่อเยี่ยมชมการดำเนินงานฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วยระยะกลางที่ต้องได้รับการฟื้นฟูให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น 

สำหรับ “ศูนย์ร่วมสุข” เป็นศูนย์ที่ตั้งขึ้นเพื่อทำหน้าที่ฟื้นฟูสมรรถภาพของผู้ป่วยในชุมชน โดยมีนักกายภาพบำบัดและเจ้าหน้าที่ฟื้นฟูฯ เป็นผู้ให้บริการ ซึ่งช่วยให้ผู้ป่วยที่จำเป็นต้องได้รับการฟื้นฟูฯ เข้าถึงบริการและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น 

นพ.ประสิทธิชัย มั่งจิตร์ รองนายแพทย์สาธารณสุข จ.สระบุรี กล่าวว่า จากข้อมูลพบว่าอัตราการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) หรือผู้ป่วยที่ต้องได้รับการฟื้นฟูต่อวัน อยู่ที่ 1:100,000 ดังนั้นใน 1 วันจะมีผู้ป่วย 6-7 คน โดยผู้ป่วย 1 คนต้องใช้ระยะเวลาดูแลประมาณ 6-7 เดือน ซึ่งการจัดตั้งศูนย์ร่วมสุขนี้ทำให้ผู้ป่วยที่ต้องได้รับการฟื้นฟูไม่จำเป็นต้องเดินทางไปโรงพยาบาล เพราะภายในศูนย์ฯ จะมีนักกายภาพบำบัดลงมาดูแลอย่างน้อยอาทิตย์ละ 1 ครั้ง  

“ทั้งจังหวัดสระบุรีมีนักกายภาพบำบัดประมาณ 50 คน แต่ละอำเภอก็จะมีศูนย์ประมาณ 5-6 ที่ เราก็พยายามดูแลให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ เพราะประเด็นสำคัญคือคนที่ต้องฟื้นฟูเดินทางยาก ถ้ายิ่งไกลก็จะยิ่งเดินทางลำบาก ยิ่งอยู่ใกล้เท่าไหร่ ก็จะช่วยเขาได้มากเท่านั้น” นพ.ประสิทธิชัย กล่าว 

นพ.ประสิทธิชัย กล่าวต่อไปว่า สำหรับศูนย์ร่วมสุขเป็นความร่วมมือจาก อบจ. ที่ดูแลเรื่องอุปกรณ์-เครื่องมือ กระทรวงสาธารณสุขที่ดูแลเรื่องระบบบริการ และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ในท้องถิ่นเข้ามาช่วย ซึ่งทั้งจังหวัดมีผู้ที่ต้องได้รับการดูแลฟื้นฟูหลายร้อยคนต่อปี แต่ในภาพรวมผู้ป่วยดีขึ้นประมาณ 80% ของผู้ป่วยทั้งหมดสามารถเดิน นอน นั่ง รับประทานอาหารด้วยตนเองได้ ซึ่งตรงนี้ก็จะเรียกว่าเปลี่ยนภาระให้เป็นพลัง  

นายธนกฤต อัตถะสัมปุณณะ รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) สระบุรี กล่าวว่า ขณะนี้ จ.สระบุรี มีศูนย์ร่วมสุขอยู่ จำนวน 72 แห่ง ครอบคลุมพื้นที่ 13 อำเภอ เป็นการบูรณาการระหว่าง อบจ.สระบุรี สสจ.สระบุรี และ สปสช. เพื่อที่จะสามารถให้บริการประชาชนได้อย่างทั่วถึง เพราะการตั้งศูนย์ที่ อบจ. แห่งเดียวไม่สามารถดูแลประชาชนอย่างใกล้ชิดได้ ฉะนั้นจึงจำเป็นต้องอาศัย อปท. ในพื้นที่เข้ามาช่วย 

สำหรับศูนย์ร่วมสุขใน จ.สระบุรี จะมีการจัดสรรอุปกรณ์ให้ผู้ป่วยยืมนำไปใช้ฟื้นฟูสมรรถภาพที่บ้านโดยไม่กำหนดระยะเวลาคืน รวมไปถึงมีการจัดตั้งศูนย์ซ่อมอุปกรณ์ที่ชำรุด หรือซ่อมแซมอุปกรณ์ โดยภายในปี 2565 อบจ.สระบุรี จะปรับพื้นที่ใหม่ด้วยการสร้างอาคารเป็นศูนย์ซ่อม และปรับโรงเก็บอุปกรณ์ให้มีขนาดใหญ่ขึ้น คาดว่าน่าจะเป็นศูนย์ที่พร้อมทั้งอุปกรณ์และศูนย์ซ่อมแซม ซึ่งก็จะช่วยลดค่าใช้จ่ายลงได้ นอกจากนี้ยังมีการจัดประกวดทำอุปกรณ์เช่น ขวดน้ำ กะลามะพร้าว เชือก เป็นต้น ที่ใช้ดูแล-ฟื้นฟูสุขภาพผู้ป่วยจากวัสดุที่มีอยู่แล้วอีกด้วย 

ด้าน นพ.จเด็จ กล่าวว่า สปสช. เป็นหน่วยงานที่สนับสนุนให้เกิดบริการ โดยในปีงบประมาณ 2565 สปสช. ได้จัดสรรงบประมาณกองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพระดับจังหวัดเป็นเงิน รวมกว่า 150 ล้านบาท โดยจัดสรรให้กับองค์การบริหารส่วนจังหวัด จำนวน  58 แห่ง ที่ได้เข้าร่วมดำเนินงานกองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพฯ สำหรับพื้นที่องค์การบริหารส่วนจังหวัดสระบุรี สปสช.จัดสรรงบประมาณเป็นจำนวนเงิน 2,199,070 บาท และองค์การบริหารส่วนจังหวัดสระบุรี สมทบงบประมาณ เป็นจำนวนเงิน 4,000,000 บาท 

นพ.จเด็จ กล่าวว่า จากการลงพื้นที่เยี่ยมศูนย์ร่วมสุขในครั้งนี้ พบว่ามีจุดที่สามารถดำเนินการเพิ่มเติมเพื่อยกระดับการให้บริการได้อีก ตั้งแต่เรื่องบุคลากร นักกายภาพบำบัด นักบริบาล เจ้าหน้าที่ฟื้นฟู เป็นต้น ส่วนตัวเชื่อว่าในอนาคตอาจจะยกระดับศูนย์ร่วมสุขให้เป็นหน่วยบริการในระบบหลักประกันสุขภาพเพื่อที่จะสามารถสนับสนุนงบประมาณเข้าไปได้ ซึ่งก็เชื่อว่าการร่วมมือกันตั้งแต่จังหวัด อำเภอ ตำบล น่าจะเป็นรูปแบบที่ขับเคลื่อนงานตรงนี้ให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนได้  

“นักกายภาพบำบัดมีความสำคัญมาก แพทย์ที่อยู่โรงพยาบาลก็จะทำงานคู่กัน โรงพยาบาลเองก็มีนักกายภาพบำบัดหลายสิบคน และก็กระจายลงมาดูแลในชุมชนก็คิดว่าการให้เจ้าหน้าที่ผู้ให้บริการลงมาใกล้ชุมชนก็น่าจะเป็นกลวิธีในการที่จะทำให้บริการดีขึ้น เพราะบางทีผู้ป่วยอาจจะไม่สะดวกไปโรงพยาบาลจังหวัด” นพ.จเด็จ กล่าว  

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net