'Story from 9 %' นิทรรศการจากชีวิตประชากร 9% ในเชียงใหม่

“Story from 9 %” หรือ เรื่องเล่าจากประชากร 9 % ในเชียงใหม่ คือนิทรรศการภาพถ่ายและงานเขียนจากผู้เข้าร่วม “โครงการพัฒนาศักยภาพอาสาสมัครในวิกฤติ COVID-19” ที่ชวนผู้เข้าร่วมมาเรียนรู้ปัญหาของแรงงานข้ามชาติในจังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 21 – 22 มกราคมที่ผ่านมา กลางลานท่าแพแลนด์มาร์คของเชียงใหม่

ข้อมูลของกระทรวงแรงงานปี 2563 รายงานว่า จังหวัดเชียงใหม่มีแรงงานข้ามชาติอยู่อาศัยทั้งหมด 145,253 คนนับเป็นจำนวน 9 % ของประชากรทั้งหมด 1,640,479 คนในเชียงใหม่ แม้จะเป็นประชากรส่วนน้อยของเมือง แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าแรงงานข้ามชาติคือหนึ่งคนสำคัญที่มีส่วนในการร่วมพัฒนาและขับเคลื่อนเชียงใหม่ให้กลายเป็นเมืองศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของภาคเหนือตอนบน

นิทรรศการ “Story from 9 %” พยายามถ่ายทอดเรื่องราวชีวิตของประชากร 9 % ผ่านหลายแง่มุมทั้งภาพถ่าย “ทางเข้าบ้าน” ในแคมป์คนงานชั่วคราวของแรงงานข้ามชาติที่อยู่กันมาเกือบ 20 ปี โดย กฤตเมธ สงวนพงษ์, ปรัชญา ไชยแก้ว และอภิชญา ศรีม่วง ที่พยายามบอกเล่าถึงความปลอดภัยในที่อยู่อาศัยของแรงงานข้ามชาติผ่านประตูหน้าบ้าน (ชั่วคราว) ที่แปลกตาของแรงงานในแคมป์

ผลงาน “สิทธิมนุษย (บาง) ชน” โดย ณัฐพล รอดภัย ภาพถ่ายจากการลงพื้นที่ชุมชนแรงงานข้ามชาติในเชียงใหม่ที่เขาพยายามตั้งคำถามถึงสิทธิที่คนคนหนึ่งควรจะได้รับในชีวิต “คนบางคนเกิดมาเพื่อเป็นได้แค่คน แต่ไม่ได้เกิดมาเพื่อเป็นคนที่ควรได้รับสิทธิเพียงเพราะสิทธิมนุษยชนในประเทศที่กำลังพัฒนานั้นมีให้แค่คนที่มีสัญชาติของเขาเท่านั้น”

“ไทใหญ่ก็ไทยเหมือนกัน” เรื่องเล่าจากการตั้งคำถามของ พรนัชชา จิ๋วกาย ที่พยายามบอกถึงการถูกเลือกปฎิบัติและทัศนคติด้านลบต่อแรงงานข้ามชาติในไทย ทั้งที่แรงงานข้ามชาติเป็นกลุ่มคนที่มีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย แต่พวกเขากลับไม่ได้รับความเท่าเทียมหรือสิทธิที่มนุษย์คนหนึ่งควรจะมีในชีวิต

“โอกาสและความหวัง” โดย จิราภรณ์ ไพรเถื่อน เรื่องเล่าจากการทำงานแรงงานหญิงชาวไทใหญ่ 2 คนที่แสดงให้เห็นถึงการต่อสู้เพื่อมีชีวิตรอดอยู่ในประเทศไทยในฐานะแรงงานข้ามชาติ

ภาพถ่ายท้องฟ้าจาก “ท้องฟ้า” จาก ซันมินเฮง เยาวชนจากชุมชนมุสลิมพม่าในแม่สอด เขาเป็นคนหนึ่งที่ต้องทำงานหารายได้ช่วยเหลือครอบครัวตั้งแต่เด็ก ท้องฟ้าเป็นสิ่งที่เขาชอบมากและถ่ายรูปเก็บไว้มากที่สุด “เพราะสำหรับเขาแล้ว เวลาที่ดูบนฟ้าจะช่วยทำให้เขาหายเหนื่อย”

“ชุดประจำฉัน” โดย ณัฐชยา ภักดี และอาทิตย์ แก้วม่วง งานภาพถ่ายที่เล่าเรื่องจากเสื้อผ้าและเครื่องประดับของแรงงานข้ามชาติ ซึ่งเป็นเศษเสี้ยวหนึ่งของความสุขในวันที่เหนื่อยล้าของแรงงาน

เรื่องเล่า “พอนึกถึงตอนนั้นก็สนุกดี ออกเสียง ร.เรือ ผิดตลอด” จาก ส่วยอิง ลูกคนที่ 3 จากพี่น้อง 4 คนในครอบครัวไทใหญ่ที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยมานานกว่า 7 ปี ความยากลำบากในรัฐฉานบ้านเกิดผลักไสให้ครอบครัวของเธอต้องข้ามมาเป็นแรงงานในประเทศไทยทั้งที่ไม่รู้ภาษาไทย ส่วยอิงตระหนักถึงความสำคัญของการศึกษาจากถูกเอารัดเอาเปรียบจากดินแดนที่แรงงานข้ามชาติอย่างเธอไม่สามารถอ่านและเขียนภาษาของเจ้าของประเทศได้ สิ่งนี้ผลักดันให้ส่วยอิงที่เคยคิดว่า “การเรียนนั้นไม่สำคัญมีแต่เงินเท่านั้นแหละที่สำคัญ” เข้าสู่การศึกษาในระบบ กศน. การรู้หนังสือทำให้เธอไม่ถูกเอาเปรียบเมื่อแต่ก่อนและสามารถทำอะไรได้ด้วยตัวเองมากขึ้น ภาษายังทำให้เธอมีเพื่อนใหม่ สังคมใหญ่ และเลือกงานที่ทำได้มากขึ้น

“รัฐฉานบ้านฉัน” เรื่องเล่าจากสายตาของ ยุ่น โมกขธัม การเดินทางกลับบ้านเกิดในรัฐฉานอีกครั้งของพระหนุ่มชาวไทใหญ่ที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย เขามองเห็นอำนาจของศาสนาที่ทำงานในพื้นที่ของความขัดแย้งในเมียนมา

อนึ่ง นิทรรศการ “Story from 9 %” เรื่องเล่าจากประชากร 9 % ในเชียงใหม่ จัดโดยเครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพเยาวชนภาคเหนือ, มูลนิธิเสมสิกขาลัย, เพจ In Chiang Mai และ Lanna Project

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท