Skip to main content
sharethis

ศาลอุธรณ์พิพากษา "ยกฟ้อง" ยืนตามศาลชั้นต้นให้กองทัพบกไม่ต้องจ่ายเงินเยียวยาให้ครอบครัว 'ชัยภูมิ ป่าแส' กรณีวิสามัญฆาตกรรม ขณะที่ทีมทนายเห็นต่างหลายประเด็น ทั้งการไม่หยิบกล้องวงจรปิดซึ่งเป็นพยานวัตถุชิ้นสำคัญมาใช้เป็นพยานพิจารณาในชั้นศาล รวมถึงการพิสูจน์ DNA ทั้งในระเบิดและยาเสพติด ซึ่งตรวจสอบแล้วไม่พบ DNA ของชัยภูมิ พร้อมกังวลคดีอื่นที่เกิดขึ้นกับประชาชนทั่วไปจะถูกพิจารณาในแบบเดียวกัน ขณะที่ครอบครัวเดินหน้าสู้ต่อเตรียมฎีกาเพื่อความยุติธรรม

26 ม.ค. 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่าวันนี้ (26 มี.ค. 2565) ที่ศาลแพ่ง ถ.รัชดาภิเษก รัษฎา มนูรัษฎา และจันทร์จิรา จันทร์แผ้ว ทีมทนายความ พร้อมด้วยอังคณา นีละไพจิตร อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ในฐานะตัวแทนของครอบครัวชัยภูมิ ป่าแส เยาวชนนักปกป้องสิทธิมนุษยชนและนักกิจกรรมชาติพันธุ์ลาหู่ ผู้ถูกทหารด่านรินหลวง ต.เมืองนะ อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ วิสามัญฆาตกรรมเมื่อวันที่ 17 มี.ค. 2560 เดินทางเข้ารับฟังการอ่านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ ในกรณีที่ครอบครัวของชัยภูมิยื่นฟ้องต่อศาลเพื่อเรียกร้องค่าเสียหายจากกองทัพบกซึ่งเป็นหน่วยงานบังคับบัญชาของทหารที่วิสามัญฆาตกรรม

(ซ้ายไปขวา) อังคณา นีละไพจิตร, รัษฎา มนูรัษฎา และจันทร์จิรา จันทร์แผ้ว
 

หลังเข้ารับฟังคำพิพากษาของศาล รัษฎาเปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่าศาลมีคำสั่ง "ยกฟ้อง" และให้กองทัพบกไม่ต้องรับผิดชอบค่าเสียหายให้กับครอบครัวของชัยภูมิ ซึ่งเป็นการยืนตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น โดยให้เหตุผลว่าการวิสามัญฆาตกรรมชัยภูมิเป็นการกระทำโดยชอบ เจ้าหน้าที่ทหารจึงไม่ต้องรับผิดชอบ ซึ่งตนและทีมทนายความเคารพการตัดสินของศาลแต่ก็ยังมีประเด็นเห็นต่างอยู่หลายประเด็น โดยเฉพาะประเด็นสำคัญ คือ วัตถุพยานจากกล้องวงจรปิด ซึ่งทีมทนายความได้ให้ข้อมูลกับศาลอุทธรณ์ไปแล้วว่าเจ้าหน้าที่ทหารทำสำเนากล้องไว้แล้วว่ามีหลักฐาน ซึ่งยืนยันได้ว่าทหารคนหนึ่งยศร้อยโทกล่าวยืนยันว่าผู้บัญชาการสั่งให้ทำสำเนาไว้ การบอกว่าภาพจากกล้องวงจรปิดขัดข้องเลยเปิดดูไม่ได้ จึงเป็นประเด็นที่ฝ่ายทนายความเห็นแย้ง

"หลักฐานการทำสำเนามันมีอยู่ เราได้ชี้แจงไปแล้ว แต่ศาลอุทธรณ์ก็ยังมีความเห็นว่ายังมีพยานหลักฐานอื่น คือคำเบิกความของพยาน โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ทหาร 3 คน และศาลหยิบยกประเด็นที่ยิงเข้าตรงต้นแขนซ้าย หมายความว่าเป็นการยิงโดยที่ไม่ได้เจตนาจะประสงค์ต่อชีวิต แต่ความจริงแล้ว การตายของชัยภูมิเมื่อกระสุนทะลุแขนซ้ายแล้วก็เข้าทีสีข้างซ้ายจนทำให้ชัยภูมิเสียชีวิต นอกจากนี้ยังมีประเด็นพยานโจทก์ที่อยู่ในเหตุการได้ยินเสียงปืนแล้วหันไปมองที่ทหารกดตัวชัยภูมิลงกับพื้น ก็ยังยืนยันในเรื่องของการมีการทำร้ายร่างกาย" รัษฎากล่าว พร้อมระบุเพิ่มเติมว่าตอนนี้ขึ้นอยู่กับว่าบุคลากรของหน่วยงานที่เป็นกลางมีความละเอียดเพียงพอหรือไม่ที่จะทำบันทึกรายงานกรณีเบื้องต้น

ขณะเดียวกัน จันทร์จิรา ในฐานะทนายความระบุว่ามีความกังวลเรื่องการตรวจสอบการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่รัฐ ทั้งตำรวจและทหารในคดีนี้ โดยตนตั้งข้อสังเกตว่าถ้ากล้องวงจรปิดที่เป็นหลักฐานที่ไม่ต้องเถียงกันและเป็นหลักฐานที่น่าเชื่อถือมากที่สุด เหตุใดกลับถูกปกปิดและไม่นำเข้าสู่กระบวนการพิจารณา

"ในรายงานที่ระบุว่ามีการทำสำเนากล้องวงจรปิดไว้แล้วก่อนที่จะส่งให้กับพนักงานสอบสวน เราเชื่อว่าต้นฉบับมีที่กองทัพแต่ไม่ได้ถูกนำมาเปิดเผย เราก็รู้สึกว่าในอนาคตถ้าเกิดคดีความการปฏิบัติหน้าที่ทีผิดพลาดแบบนี้แล้วทำให้ประชาชนเสียชีวิต มันจะมีการดำเนินการอย่างไรบ้าง จะมีการดำเนินการในลักษณะเดียวกับครอบครัวของชัยภูมิหรือเปล่า ซึ่งก่อนหน้านี้คดีของ 'อะเบ แซ่หมู่' ก็โดนเจ้าหน้าที่ทหารยิง ก็มีพบวัตถุระเบิดซึ่งคดีนั้นศาลก็ไม่เชื่อว่ามีระเบิดแต่คดีของชัยภูมิมีลักษณะเดียวกัน ดังนั้น เราจึงเป็นห่วงว่าในคดีถัดไปถ้ามีการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ได้คำนึงถึงความปลอดภัยในชีวิตของประชาชนแบบนี้อีก ลักษณะคดีมันจะมาในรูปแบบเดียวกันหรือเปล่า" จันทร์จิรากล่าว

ด้านอังคณากล่าวว่าเมื่อครั้งที่ลงพื้นที่ในฐานะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้มีชาวบ้านที่ต้องการเป็นพยานในชั้นศาลให้กับชัยภูมิแต่พอถึงครั้งที่ต้องขึ้นเบิกความก็ไม่สามารถติดต่อชาวบ้านคนดังกล่าวได้ ทำให้เห็นบรรยากาศของความหวาดกลัว นอกจากนี้ ในเรื่องของพยานหลักฐานสำคัญเช่นกล้องวงจรปิดที่มีอยู่หลายตัวในจุดเกิดเหตุ เจ้าหน้าที่ทหารระดับสูงออกมาบอกว่าได้ดูกล้องแล้วหลังเกิดเหตุ แสดงว่ามีภาพจากกล้อง แต่สุดท้ายเจ้าหน้าที่กลับอ้างว่ากล้องใช้การไม่ได้ ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่น่าเสียดาย

"เราเคารพการตัดสินของศาลและมีหลายประเด็นที่ไม่อาจจะเห็นด้วยได้ เช่น ศาลไม่ได้พิจารณาในเรื่องของดีเอ็นเอที่อยู่ในระเบิด เพราะระเบิดที่พบข้างตัวชัยภูมิเป็นระเบิดมือ ซึ่งนำไปตรวจพิสูจน์แล้วก็ไม่มีดีเอ็นเอของชัยภูมิเลย นอกจากนี้การฟ้องเยียวยาในครั้งนี้เนื่องจากครอบครัวยากจนแม่อยู่ในภาวะยากลำบากเขาก็ขอให้มีการชดใช้เยียวยาที่เกิดขึ้นก็เสียดายที่ศาลอุทธรณ์เห็นฟ้องกับศาลชั้นต้นยกฟ้องและไม่จ่ายเยียวยาให้กับครอบครัวของชัยภูมิ" อังคณากล่าว

ขณะที่นาปอย ป่าแส มารดาของชัยภูมิ กล่าวว่า ตนรู้สึกเสียใจ เสียใจในทุกๆ ครั้งที่ฟังคำพิพากษา ชัยภูมิเป็นกำลังหลักสำคัญของครอบครัว และเป็นลูกของเรา ลูกที่เรารัก เราจะไม่อยมแพ้ก็ต้องสู้จนถึงที่สุด จะสู่ต่อไปจนถึงชั้นของศาลฎีกา

นาปอย ป่าแส (มารดาของชัยภูมิ ป่าแส)
 

ด้านมูลนิธิผสานวัฒนธรรมรายงานเพิ่มเติมว่าคดีนี้ ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้วเห็นด้วยตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ด้วยเหตุผลว่า พยานหลักฐานของจำเลยมีน้ำหนักมากกว่า ทำให้เชื่อได้ว่าการฆาตกรรมนายชัยภูมิเป็นเพียงการปฏิบัติหน้าที่ของพลทหาร เป็นการกระทำเพื่อป้องกันสิทธิของตัวเองให้พ้นจากภยันตรายอันละเมิดต่อกฎหมายและภยันตรายที่ใกล้จะถึงตัว ทั้งได้กระทำไปพอสมควรแก่เหตุ การกระทำดังกล่าวจึงชอบด้วยกฎหมาย และไม่เป็นการละเมิดต่อมารดาของนายชัยภูมิ ศาลอุทธรณ์จึงพิพากษายกฟ้อง

ประเด็นสำคัญที่ศาลอุทธรณ์ได้ยกขึ้นมาประกอบคำวินิจฉัยในคำพิพากษา ได้แก่

  1. การที่พลทหารใช้อาวุธปืน M16 ยิงไปที่ผู้ตายในระยะ 10 เมตร แม้เป็นอาวุธสงครามที่ทำอันตรายต่อชีวิต แต่พลทหารยิงเพียง 1 นัด เข้าที่บริเวณต้นแขนซ้าย ซึ่งไม่ใช่อวัยวะสำคัญในภาวะเช่นนั้น จึงเป็นการกระทำเพื่อป้องกันให้พ้นจากอันตราย สมควรแก่เหตุ
  2. ศาลเห็นว่าคำเบิกความของ นายอะซือ แซ่เฉิน พยานผู้เห็นเหตุการณ์ ไม่มีน้ำหนักเพียงต่อเท่าพยานซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ทหาร 3 นาย ที่อยู่ในเหตุการณ์ รวมถึงพยานผู้เป็นเพื่อนของชัยภูมิและนั่งมาในรถด้วยกันในวันเกิดเหตุ
  3. โจทก์โต้แย้งว่า จำเลยมีเจตนาปกปิดข้อมูลหรือหลักฐานภาพถ่ายจากกล้องวงจรปิดในที่เกิดเหตุ ศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า แม้กล้องวงจรปิดจะไม่ปรากฏภาพในวันเกิดเหตุ แต่เมื่อได้พิจารณาจากพยานบุคคลประกอบบาดแผลของผู้ตายและพยานหลักฐานอื่น ก็ไม่ปรากฏข้อพิรุธเพียงพอที่จะทำให้พยานหลักฐานจำเลยมีน้ำหนักน้อยกว่าพยานหลักฐานของโจทก์

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง:

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net