Skip to main content
sharethis

วิธีทำบุญให้เงินไหลมาเทมา ร่ำรวย

ผลบุญบารมีแบบต่างๆ ของการทำบุญ สร้างสมไว้ก่อนตาย

6 วิธี ทำบุญให้เทวดาประจำตัว ยิ่งทำยิ่งรวย

เป็นถ้อยคำเชิญชวนให้ทำบุญกับวัดและพระที่เห็นได้จนชินหูชินตา
แม้โดยทั่วไปจะไม่มีการการันตีผลและระบุว่าจะรวยชาตินี้หรือชาติหน้าและเงินทุกบาททุกสตางค์ที่ทำบุญไปจะตอบแทนกลับมาในรูปวัตถุคิดเป็นมูลค่าเท่าไหร่ แต่สมมติให้เราเชื่อก่อนว่าคำสอนนี้เป็นจริง ยิ่งทำบุญมากแค่ไหนก็ยิ่งรวยมากขึ้นแค่นั้น
มาดูกันว่าใครจะทำบุญแล้วรวยกว่ากัน

10 อันดับ ‘อภิมหาเศรษฐี’ ของไทยโดยการจัดอันดับของนิตยสาร Forbes THAILAND ปี 2564 มีดังนี้

  • อันดับ 1 พี่น้องเจียรวนนท์ มูลค่าทรัพย์สิน 9.48 แสนล้านบาท
  • อันดับ 2 เฉลิม อยู่วิทยา และครอบครัว มูลค่าทรัพย์สิน 7.69 แสนล้านบาท
  • อันดับ 3 เจริญ สิริวัฒนภักดี มูลค่าทรัพย์สิน 3.98 แสนล้านบาท
  • อันดับ 4 ตระกูลจิราธิวัฒน์ มูลค่าทรัพย์สิน 3.64 แสนล้านบาท
  • อันดับ 5 สารัชถ์ รัตนาวะดี มูลค่าทรัพย์สิน 2.79 แสนล้านบาท
  • อันดับ 6 ตระกูลโอสถานุเคราะห์ มูลค่าทรัพย์สิน 1.09 แสนล้านบาท
  • อันดับ 7 สมโภชน์ อาหุนัย และครอบครัว มูลค่าทรัพย์สิน 1.03 แสนล้านบาท
  • อันดับ 8 ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ มูลค่าทรัพย์สิน 1.02 แสนล้านบาท
  • อันดับ 9 ประจักษ์ ตั้งคารวคุณ และครอบครัว มูลค่าทรัพย์สิน 1 แสนล้านบาท
  • อันดับ 10 ชูชาติ เพ็ชรอำไพ และ ดาวนภา เพชรอำไพ มูลค่าทรัพย์สิน 9.42 หมื่นล้านบาท

เศรษฐีไทยได้ชื่อในเรื่องการทำบุญ ถ้า ‘อภิมหาเศรษฐี’ (ตามคำที่ถูกเรียก) เหล่านี้เจียดเงินมาทำบุญกันคนละหรือตระกูลละ 1 เปอร์เซ็นต์ จะได้ ‘ขนาดบุญ’ คิดเป็นเงินเท่าไหร่

  • พี่น้องเจียรวนนท์ ทำบุญ 1 เปอร์เซ็นต์ ขนาดบุญเท่ากับ 9,480 ล้านบาท 
  • เฉลิม อยู่วิทยา และครอบครัว ทำบุญ 1 เปอร์เซ็นต์ ขนาดบุญเท่ากับ 7,690 ล้านบาท
  • เจริญ สิริวัฒนภักดี ทำบุญ 1 เปอร์เซ็นต์ ขนาดบุญเท่ากับ 3,980 ล้านบาท
  • ตระกูลจิราธิวัฒน์ ทำบุญ 1 เปอร์เซ็นต์ ขนาดบุญเท่ากับ 3,640 ล้านบาท
  • สารัชถ์ รัตนาวะดี ทำบุญ 1 เปอร์เซ็นต์ ขนาดบุญเท่ากับ 2,790 ล้านบาท
  • ตระกูลโอสถานุเคราะห์ ทำบุญ 1 เปอร์เซ็นต์ ขนาดบุญเท่ากับ 1,090 ล้านบาท
  • สมโภชน์ อาหุนัย และครอบครัว ทำบุญ 1 เปอร์เซ็นต์ ขนาดบุญเท่ากับ 1,030 ล้านบาท
  • ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ ทำบุญ 1 เปอร์เซ็นต์ ขนาดบุญเท่ากับ 1,020 ล้านบาท
  • ประจักษ์ ตั้งคารวคุณ และครอบครัว ทำบุญ 1 เปอร์เซ็นต์ ขนาดบุญเท่ากับ 1,000 ล้านบาท
  • ชูชาติ เพ็ชรอำไพ และ ดาวนภา เพชรอำไพ ทำบุญ 1 เปอร์เซ็นต์ ขนาดบุญเท่ากับ 942 ล้านบาท

แต่คนไทยก็ชอบทำบุญเหมือนกัน การสำรวจทรัพย์สินของครอบครัวทั่วประเทศไทยของสำนักงานสถิติแห่งชาติปี 2560 พบว่า ‘ครอบครัวทั่วประเทศไทย’ มีทรัพย์สินคิดเป็นเงิน 36,540,927 ล้านบาท จาก 25,723,807 ครัวเรือน หารเฉลี่ยออกมา 1 ครัวเรือนจะมีทรัพย์สิน 1,420,510 บาท
พุทธเถรวาทไทยๆ ประสบความสำเร็จในการสั่งสอนให้คนจนขยันทำบุญ ลองสมมติว่าครอบครัว ‘คนปกติ’ ทำบุญเต็มที่ 10 เปอร์เซ็นต์ของสินทรัพย์ที่มี
แต่ละครอบครัวจะมีขนาดบุญ 142,051 บาท
มัดรวมทุกครอบครัวรวมกันจะมีขนาดบุญ 3,654,093 บาท

คิดเล่นๆ ว่าขนาดบุญของ ‘อภิมหาเศรษฐี’ จะได้บุญวัตถุกลับมา 2 เท่า เท่ากับว่า

  • พี่น้องเจียรวนนท์ ได้บุญวัตถุเท่ากับ 18,960 ล้านบาท 
  • เฉลิม อยู่วิทยา และครอบครัว ได้บุญวัตถุเท่ากับ 15,380 ล้านบาท
  • เจริญ สิริวัฒนภักดี ได้บุญวัตถุเท่ากับ 7,960 ล้านบาท
  • ตระกูลจิราธิวัฒน์ ได้บุญวัตถุเท่ากับ 7,280 ล้านบาท
  • สารัชถ์ รัตนาวะดี ได้บุญวัตถุเท่ากับ 5,580 ล้านบาท
  • ตระกูลโอสถานุเคราะห์ ได้บุญวัตถุเท่ากับ 2,180 ล้านบาท
  • สมโภชน์ อาหุนัย และครอบครัว ได้บุญวัตถุเท่ากับ 2,060 ล้านบาท
  • ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ ได้บุญวัตถุเท่ากับ 2,040 ล้านบาท
  • ประจักษ์ ตั้งคารวคุณ และครอบครัว ได้บุญวัตถุเท่ากับ 2,000 ล้านบาท
  • ชูชาติ เพ็ชรอำไพ และ ดาวนภา เพชรอำไพ ได้บุญวัตถุเท่ากับ 1,884 ล้านบาท

พุทธเถรวาทไทยๆ ขึ้นชื่อเรื่องความมีเมตตา สมมติอีกทีว่าคนจนทำบุญจะได้ขนาดบุญกลับมา 10 เท่าหรือ 100 เท่า เท่ากับว่า

ในกรณี 10 เท่า แต่ละครอบครัวจะได้บุญวัตถุเท่ากับ 1,420,510 บาท

ในกรณี 100 เท่า แต่ละครอบครัวจะได้บุญวัตถุเท่ากับ 14,205,100 บาท

ถือเป็นตัวเลขที่ไม่ขี้เหร่ แต่การทำบุญของ ‘คนปกติ’ ก็ยังได้ ‘ขนาดบุญ’ ห่างจาก ‘อภิมหาเศรษฐี’ อันดับ 10 มากโข

อาจสรุปได้ว่าการทำบุญเพื่อหวังร่ำรวยไม่ใช่การลงทุนที่ดีนัก นอกจากเรื่องขนาดของเงินต้นที่ใช้ลงทุนของ ‘คนปกติ’ กับ ‘อภิมหาเศรษฐี’ จะต่างกันมากแล้ว ยังไม่สามารถการันตีผลตอบแทนใดๆ ได้ทั้งในชาตินี้และชาติหน้า และต่อให้ได้วัตถุกลับมา 10 เท่า 100 เท่า ช่องว่างระหว่าง ‘คนปกติ’ กับ ‘อภิมหาเศรษฐี’ ก็ยังห่างราวฟ้ากับเหว
ยิ่งทำบุญ คนรวยจะรวยยิ่งขึ้น คนจนไม่มีวันไล่ทัน

เมื่อผลของบุญมีพระเป็นตัวกลาง

ชาญณรงค์ บุญหนุน จากสาขาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร แสดงทัศนะต่อเรื่องการทำบุญในสังคมไทยไว้ว่า

“คำว่าบุญถ้าแปลตามคำดั้งเดิมหมายถึงผลที่ได้จากการกระทำกิจกรรม 3 อย่างที่เรียกว่าการทำบุญก็คือทาน ศีล และเจริญภาวนาซึ่งหมายถึงการเจริญเมตตาจิตต่อมนุษย์ด้วยกันในสังคม

“การให้ทานมีหลายอย่าง เช่น การให้ด้วยวัตถุสิ่งของ การให้ด้วยธรรมะ การให้อภัยหรือการให้ของที่ไม่มีโทษ แต่ว่าบางทีเวลาพูดถึงอานิสงส์บุญในพุทธศาสนามันไปเน้นตัววัตถุที่เป็นผลจากการทำบุญ เช่น มีนิทานในอรรถกถาธรรมบทซึ่งเป็นคัมภีร์ชั้นรองที่เล่าว่ามีคนสองคนที่ทำบุญคนหนึ่งเป็นเศรษฐีอีกคนเป็นคนไม่มีอะไรเลย แต่คนที่ไม่มีอะไรเลยมีจิตศรัทธาและทุ่มเต็มที่ขนาดว่ามีผ้าแค่ผืนเดียวก็เอาไปถวาย ในวันเดียวกันนั้นบุญก็สำเร็จกลายเป็นคนมีเงินขึ้นมา มันมักจะมีนิทานแบบนี้เพื่อสนับสนุนการให้ทานด้วยวัตถุ พอยุคสมัยเปลี่ยน เงินเป็นปัจจัยสำหรับแลกเปลี่ยนได้ทุกสิ่งที่เป็นวัตถุ มันก็เริ่มมาสู่การให้ทานด้วยเงิน

“ยิ่งทำยิ่งรวยก็เป็นการตีความมาจากอรรถกถาธรรมบท ประเด็นที่ว่าทำกับปุถุชน ทำกับพระสงฆ์ ทำกับพระพุทธเจ้า ก็อธิบายว่าทำกับคนไม่มีศีลก็ได้ประมาณหนึ่งเมื่อเทียบกับคนที่มีศีลจะได้มากกว่า ทำบุญกับพระได้มากกว่า แต่ถ้าให้พระในฐานะที่เป็นชุมชนสงฆ์ก็ได้ไม่ส่งมากกว่า การให้ทานกับพระพุทธเจ้าก็จะได้มากกว่าการให้กับพระอรหันต์ทั่วไป

“พระชอบเอาเรื่องนี้มาอ้าง ผมคิดว่ามันเป็นปัญหา คือวิธีคิดเรื่องทานว่าให้แล้วเกิดพลานุภาพบางอย่าง มีผลย้อนกลับมาเป็นวัตถุ ผมเข้าใจว่าการตีความแบบเถรวาทถึงที่สุดแล้วมันเป็นเน้นความศักดิ์สิทธิ์ของทาน คิดว่าทำแล้วเป็นเกราะป้องกันภัยบางอย่างสำหรับตัวเอง

“พวกเศรษฐีอยากทำบุญก็เพราะตัวเองจะได้รวยยิ่งๆ ขึ้นไป เพราะมันมีการสอนว่ายิ่งให้มากก็จะได้มาก ให้น้อยก็จะได้น้อย ซึ่งธรรมกายเน้นเรื่องนี้มาก แต่แนวคิดทั่วไปในพุทธไม่สำคัญว่ามีมากให้มาก มีน้อยให้น้อย แต่สำคัญที่เจตนารมณ์ของผู้ที่ให้มีมากแค่ไหน ออกมาจากความรู้สึกที่เป็นอิสระมากน้อยแค่ไหน หมายความว่าคุณปรารถนาจะทำหรือเปล่า ถ้าคุณปรารถนาจะทำและพอใจที่จะทำก็จะบอกว่ามีอานิสงส์มากเหมือนมีที่ยกตัวอย่างไป พอจิตศรัทธาแรงก็จะมีผลย้อนกลับแรง มันถูกเข้าใจในลักษณะตำนานโบราณ อานิสงส์หมายถึงสิ่งที่สะท้อนกลับมาหาตัวเขาในแง่ของวัตถุ เกียรติยศชื่อเสียง ไม่ได้คิดถึงผลที่เกิดขึ้นในแง่สังคม

“ผมไม่เห็นด้วยกับที่บอกว่าทำบุญต้องไม่หวังผลตอบแทน ผมคิดว่าในศาสนาก็ไม่ได้พูดว่าไม่ต้องหวังผลตอบแทน มันมีคำสอนแค่ว่าก่อนที่คุณจะทำ ข้อหนึ่งคือสิ่งที่คุณได้มามันบริสุทธิ์สุจริต และคุณให้กับคนที่สุจริตหรือเปล่า ถ้าเจตนาคุณได้คุณตั้งใจจะให้แต่แรก ของที่จะให้ได้มาด้วยความชอบธรรม และให้กับคนที่มีความสุจริต และเมื่อทำไปแล้วสิ่งที่จะต้องพิจารณาก็คือคุณจะต้องสบายใจ ในตำราพูดแค่ว่าให้ทำด้วยใจเบิกบานทั้งก่อนให้ ขณะให้ และหลังให้ แต่ไม่ได้พูดถึงว่าไม่หวังผลตอบแทน ยกเว้นแต่จะตีความว่าเจตนาก่อนให้คือไม่หวังผลจะได้อะไร

“คำอธิบายของเถรวาทเป็นยุคเก่าจึงใช้ตัวศาสนาเป็นศูนย์กลางของการอธิบายทุกอย่าง คือทำบุญก็เพื่อศาสนากลายเป็นว่าเวลาเทศน์ก็ต้องทำบุญกับพระสงฆ์หรือเกี่ยวกับศาสนาจะได้บุญเยอะ การทำบุญกับผลของบุญก็มีพระเป็นตัวกลาง ในอรรถกถาการทำบุญถูกตีความให้เป็นเรื่องของศาสนาอย่างเดียวทั้งที่ในแง่หนึ่งการทำบุญเป็นเรื่องของชุมชนที่คนอยู่ร่วมกันและต้องแบ่งปันทรัพยากร ต้องมีมาตรฐานศีลธรรมขั้นพื้นฐาน มีความรู้สึกที่ดีต่อกัน ความหมายมันต่างกันเลยกับการบอกว่าเวลาทำบุญต้องไปวัด ผมคิดว่าการอธิบายแบบนี้ตกทอดมาจากจารีตโบราณ

“มีวิธีคิดเกี่ยวกับการทำนุบำรุงพุทธศาสนาของพระสงฆ์ อันที่สำคัญมากอย่างหนึ่งคือการปฏิสังขรณ์ซึ่งหมายถึงการสร้างสิ่งต่างๆ ในวัด ซึ่งโยงกับเรื่องการขอสมณศักดิ์ สิ่งที่พระแสดงได้มากที่สุดก็คือการสร้างวัตถุซึ่งการสร้างวัตถุต้องมีเงินเป็นตัวบ่งชี้ด้วย ก็สามารถขอตำแหน่งทางคณะสงฆ์ได้ง่ายขึ้น พอถึงยุคที่การปกครองสงฆ์แพร่กระจายไปในชนบท ชนบทก็เปลี่ยนวิธีคิดแบบนี้ด้วย แล้วพอใครที่ทำบุญมากๆ คุณก็แสดงความเป็นผู้มีบารมี ซึ่งความเป็นผู้มีบารมีในสังคมไทยมันเป็นสิทธิอำนาจอันหนึ่งที่คุณจะไปทำนั่นทำนี่ มันก็คือการที่คุณใช้บุญเป็นช่องทางหนึ่งในการหาผลประโยชน์”

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net