Skip to main content
sharethis

บริษัทที่ครอบครองโดยอดีตเจ้าหน้าที่ทหาร ซึ่งมีภรรยาเป็นญาติของภรรยาของพลเอกอาวุโส มิน อ่อง ลาย ชนะสัมปทานจากกระทรวงแรงงานของคณะรัฐประหารพม่า โดยได้รับสิทธิในการเปิดศูนย์ออกสมุดประจำตัวให้กับแรงงานพม่าที่ยังไม่มีใบอนุญาตในจังหวัดสมุทรสาคร สมุทรปราการ เชียงใหม่ ชลบุรี และระนอง ของไทย แรงงานพม่าจำนวนหนึ่งตัดสินใจไม่ต่ออายุสมุดประจำตัวเพื่อต่อต้านเผด็จการทหารที่ไร้ความชอบธรรม

ศูนย์ให้บริการออกสมุดประจำตัวที่เปิดจุดให้บริการในสมุทรสาคร สมุทรปราการ เชียงใหม่ ชลบุรี และระนอง ภาพของ Myawady

สำนักข่าวอิรวดีรายงานเมื่อวันที่ 24 ม.ค. 65 ว่าที่ผ่านมามีบริษัทเข้าสมัครประมูลเพื่อชิงสิทธิในการออกสมุดประจำตัวกับกระทรวงแรงงานของคณะรัฐประหารพม่าทั้งหมด 6 แห่ง บริษัทที่ชนะประมูลได้แก่บริษัท United KMK ซึ่งผู้อำนวยการฝ่ายบริหารของบริษัทได้แก่ อู คิน มอง คยาว์ อดีตเจ้าหน้าที่ทหาร ซึ่งมีภรรยาเป็นญาติของ ดอว์ คยู คยู หละ ภรรยาของผู้นำคณะรัฐประหาร พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง ลาย

อู คิน มอง คยาว์ มีรายงานว่ามีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับ อู วิน เชน รัฐมนตรีกระทรวงแรงงานของคณะรัฐประหารพม่า สำหรับบริษัท United KMK นั้นเป็นผู้ผลิตเบียร์ยี่ห้อ Mandalay Beer และมีความสนใจในธุรกิจประมงและการแช่แข็งในเมืองมะยิด ซึ่งตั้งอยู่ในภาคตะนาวศรี บริษัทที่ว่านี้ได้รับรางวัลธุรกิจดีเด่นภายใต้รัฐบาลประชาธิปไตยครึ่งใบในสมัยที่อู เต็ง เส่ง เป็นผู้นำ ก่อนที่พรรคสันนิบาตชาติเพื่อประชาธิปไตยจะชนะการเลือกตั้งในเวลาต่อมา

สำหรับสมุดประจำตัวของแรงงานพม่า ซึ่งมีชื่อเรียกเป็นทางการว่าบัตรยืนยันอัตลักษณ์ หรือ Certificates of Identity (CI) เริ่มออกให้กับแรงงานพม่าที่ยังไม่มีใบอนุญาติมาตั้งแต่ช่วงประมาณ พ.ศ.2560-2561 โดยบัตรดังกล่าวมีอายุ 4 ปี และจะต้องทำการต่ออายุอย่างสม่ำเสมอ ในการสมัครหรือต่ออายุ แรงงานข้ามชาติจะต้องจ่ายค่าธรรมเนียม 300 บาท อย่างไรก็ตาม แรงงานพม่ามักร้องเรียนว่าในทางปฏิบัติแล้วค่าธรรมเนียมอาจสูงถึง 1,000-2,000 บาท เนื่องจากกระบวนการมักยืดเยื้อและยังขาดความโปร่งใส

“ค่าธรรมเนียมบริการอย่างเป็นทางการจะอยู่ที่ 300 บาท เงินจำนวนนี้มักจะเป็นค่าแรงต่อวันของแรงงานต่างด้าว และหลายๆ คนสามารถจ่ายได้ แต่กระบวนการมักจะยืดเยื้อและไม่โปร่งใส ทำให้พวกเขาต้องจ่ายเงินสูงถึง 2,000 บาท ทำให้มีคนจ่ายไหวน้อยกว่ามากๆ” อู ออง คยาว์ ประธานเครือข่ายเพื่อสิทธิแรงงานข้ามชาติ ทำงานเกี่ยวกับการคุ้มครองสิทธิแรงงานพม่า มีสำนักงานอยู่ในกรุงเทพมหานคร ระบุ

สำนักข่าวอิรวดีให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ขณะที่กระบวนการขอสมุดประจำตัวมีปัญหา แต่แรงงานข้ามชาติบางคนเลือกที่จะไม่ต่ออายุสมุดประจำตัวเพราะความไม่ชอบธรรมของรัฐบาลทหารด้วย โดยแรงงานข้ามชาติคนหนึ่งระบุว่า “เพราะความอยุติธรรมในพม่า แรงงานข้ามชาติหลายคนจึงตัดสินใจคว่ำบาตรบริการดังกล่าวของรัฐบาลที่ไม่ชอบธรรม แต่บางคนก็รู้สึกหวาดกลัวและต่ออายุสมุดประจำตัว”

อู ออง คยาว์ระบุว่าเครือข่ายเพื่อสิทธิแรงงานข้ามชาติ ยังไม่ประสบความสำเร็จในการเจรจาประสานงานเพื่อทำให้กระบวนการที่เกี่ยวกับการขอสมุดประจำตัวง่ายขึ้น “ชีวิตของแรงงานข้ามชาติยังยากและเต็มไปด้วยอุปสรรค พวกเขาถูกขูดรีดด้วยการบังคับให้จ่ายเงินเป็นปริมาณมากๆ เพื่อขอสมุดประจำตัว” อู ออง คยาว์ กล่าว

เจ้าหน้าที่ทูตฝ่ายแรงงานของพม่าในจังหวัดระนองระบุว่า “มีแรงงานข้ามชาติไม่กี่คนเท่านั้นที่เข้ามาต่ออายุสมุดประจำตัวในขณะนี้ ตั้งแต่วันที่ 10 ม.ค. ที่ผ่านมามีคนเข้ามาต่ออายุประมาณ 70 คนเท่านั้น เราคิดค่าบริการตามที่ระบุโดยทางการและไม่มีการเปลี่ยนแปลงค่าบริการแต่อย่างใด”

สำหรับบริการต่ออายุสมุดประจำตัวนั้นจะเปิดจนถึงวันที่ 1 ส.ค. 2565 ปัจจุบัน แรงงานข้ามชาติจากพม่าที่ทำงานอยู่ในประเทศไทยอย่างถูกกฎหมายมีอยู่ประมาณ 1.5 ล้านคน ขณะที่แรงงานที่ไม่ลงทะเบียนในประเทศไทยมีอยู่ประมาณ 1 ล้านคน

เรียบเรียงจาก

Junta Insider Wins Myanmar Migrant Contract in Thailand

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net