Skip to main content
sharethis

กลุ่มแฮกเกอร์และนักเคลื่อนไหวในเบลารุสเปิดเผยเมื่อวันที่ 24 ม.ค. ที่ผ่านมาว่าพวกเขาได้เจาะระบบโครงข่ายรถไฟของประเทศตนเอง เพื่อประท้วงอเล็กซานเดอร์ ลูกาเชงโก ประธานาธิบดีจอมเผด็จการ และต่อรองรัฐบาลเบลารุสไม่ให้ความช่วยเหลือกองทัพรัสเซียเดินทางผ่านประเทศเพื่อบุกยูเครน พร้อมเรียกร้องให้รัฐบาลเบลารุสปล่อยตัวนักโทษการเมือง

26 ม.ค. 2565 กลุ่มแฮกทิวิสต์ (Hactivist) ที่เกิดจากการรวมตัวของแฮกเกอร์ (Hacker) และนักเคลื่อนไหว (Activist) ในประเทศเบลารุสที่เรียกตัวเองว่า "ไซเบอร์พาร์ทิซานส์" (Cyber-Partisans) ส่งมัลแวร์เรียกค่าไถ่ (Ransomware) เข้าไปในระบบของรางรถไฟของประเทศ ทำให้รัฐบาลเบลารุสเข้าถึงระบบไม่ได้จนกว่าจะได้รับกุญแจถอดรหัส โดยกลุ่มแฮกทิวิสต์ประกาศวางเงื่อนไขว่าพวกเขาจะมอบกุญแจถอดรหัสให้ก็ต่อเมื่ออเล็กซานเดอร์ ลูกาเชงโก ประธานาธิบดีจอมเผด็จการของเบลารุส ยอมยกเลิกการให้ความช่วยเหลือกองทัพรัสเซียที่ตรึงกำลังเตรียมบุกยูเครน

กลุ่มไซเบอร์พาร์ทิซานส์แถลงการณ์ผ่านเทเลแกรมและทวิตเตอร์ว่าทางกลุ่มมีเป้าหมายโจมตีการรถไฟเบลารุส (BelZhD) และเรียกประธานาธิบดีลูกาเชงโกว่าเป็นผู้ก่อการร้ายที่อนุญาตให้กองทัพรัสเซียเข้ามาอยู่ในประเทศเบลารุส กลุ่มไซเบอร์พาร์ทิซานส์จึงเจาะระบบรางรถไฟ เข้ารหัสเซอร์เวอร์ ฐานข้อมูล และหน่วยปฏิบัติการ เพื่อชะลอและขัดขวางปฏิบัติการเคลื่อนย้าย แต่การเจาระบบของพวกเขาไม่ได้ตั้งเป้าไปที่ระบบอัตโนมัติและระบบความปลอดภัย เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน

 

กลุ่มไซเบอร์พาร์ทิซานส์ระบุว่าการเจาะระบบรางรถไฟเป็นส่วนหนึ่งของปฏิบัติการ Peklo ที่พุ่งเป้าเล่นงานหน่วยงานบางแห่ง รวมถึงหน่วยงานรัฐวิสาหกิจของเบลารุส เพื่อกดดันให้รัฐบาลเบลารุสปล่อยตัวนักโทษการเมืองและหยุดยั้งไม่ให้กองทัพรัสเซียเข้าสู่ประเทศและใช้เบลารุสเป็นฐานปฏิบัติการโจมตียูเครน

ตัวแทนกลุ่มไซเบอร์พาร์ทิซานส์ระบุว่า "รัฐบาลยังคงกดขี่ลิดรอนเจตจำนงเสรีของชาวเบลารุสอย่างต่อเนื่องและคุมขังคนบริสุทธิ์ รัฐบาลยังคงกักขังนักโทษการเมืองหลายพันคนอย่างไม่เป็นไปตามกฎหมาย ... เป้าหมายใหญ่ของพวกเราคือการโค่นล้มระบอบลูกาเชงโก รักษาอธิปไตย และสร้างรัฐที่เป็นประชาธิปไตยที่มีหลักนิติธรรม มีสถาบันอิสระ และมีการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน"

การโจมตีทางไซเบอร์ของกลุ่มไซเบอร์พาร์ทิซานส์ในครั้งนี้ส่งผลให้การขายตั๋วรถไฟออนไลน์และการขนส่งลำเลียงทางรถไฟหยุดชะงักลง

จากรายงานของกลุ่มคนทำงานการรถไฟเบลารุสระบุว่าทางการรัสเซียได้ส่งทหารและยุทโธปกรณ์ผ่านทางรถไฟไปยังเบลารุส ซึ่งมีพรมแดนติดกับยูเครน โดยเมื่อวันที่ 22 ม.ค. ที่ผ่านมา มีรถไฟของกองทัพรัสเซียมากกว่า 33 ขบวนบรรทุกยุทโธปกรณ์และกองกำลังทหารเข้ามายังเบลารุสเพื่อร่วมการซ้อมทางยุทธศาสตร์

สำนักข่าวเดอะวอชิงตันโพสต์ของสหรัฐฯ รายงานโดยอ้างอิงข้อมูลจากกระทรวงกลาโหมของเบลารุสว่ากองทัพรัสเซียยังคงทยอยเข้าไปในเบลารุสในวันที่ 24 ม.ค. 2565 ก่อนที่จะมีการซ้อมรบใหญ่ในเดือนหน้า นอกจากนี้ยังมีวิดีโอที่เผยแพร่ผ่านทางโซเชียลมีเดียแสดงให้เห็นว่าขบวนรถไฟลำเลียงพลของกองทัพรัสเซียเคลื่อนผ่านทางตอนใต้ของรัสเซียและเบลารุส ซึ่งทางตอนใต้ของทั้ง 2 ประเทศมีพรมแดนติดกับประเทศยูเครน

ในช่วงไม่นานนี้ กลุ่มชาติตะวันตกเริ่มแสดงท่าทีโต้ตอบรัสเซียมากขึ้น หลังจากที่เห็นท่าทีของวลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย และการเคลื่อนไหวของกองทัพรัสเซีย ซึ่งเป็นไปในเชิงแสดงเจตจำนงต้องการรุกรานยูเครน โดยที่ในวันที่ 24 ม.ค. ที่ผ่านมา ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ ได้ประชุมหารือทางวิดีโอคอนเฟอเรนซ์กับองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ หรือนาโต (NATO) และยอมรับร่วมกัน "อย่างเป็นเอกฉันท์" ว่ากองกำลังรัสเซียที่ซ่องสุมอยู่ตามชายแดนของยูเครนนั้นนับเป็นภัยคุกคาม

หลังจากการประชุมดังกล่าว ทำให้ประเทศในยุโรปหลายประเทศประกาศส่งกองกำลังของตนเองเข้าไปเตรียมพร้อมช่วยเหลือยูเครน

ฆวน อันเดรส เกร์เรโร-ซาเด (Juan Andrés Guerrero-Saade) นักวิจัยด้านภัยคุกคามจาก SentinelOne บริษัทที่ดูแลด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ กล่าวว่าเขายืนยันไม่ได้ว่ามีการใช้มัลแวร์เรียกค่าไถ่ในการโจมตีจริงหรือไม่ แต่จากภาพที่กลุ่มแฮกเกอร์แสดงให้เห็น ทำให้ทราบว่ามีบางคนสามารถเจาะเข้าไปในระบบโครงข่ายรางรถไฟของเบลารุสได้ เกร์เรโร-ซาเดระบุเพิ่มเติมว่าประเด็นนี้น่าสนใจ เพราะโดยทั่วไป มัลแวร์เรียกค่าไถ่มักจะนำมาใช้เพื่อเรียกค่าไถ่แก่บริษัทเอกชนต่างๆ ทำให้บริษัทเหล่านั้นมีข้อกังวลเรื่องการเงิน แต่ในครั้งนี้กลับถูกนำมาใช้สำหรับกลุ่มคนที่เสียเปรียบเพื่อใช้ในการต่อสู้ต่อรองกับอำนาจ

เรียบเรียงจาก:

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net