Skip to main content
sharethis

ประธานสภานิสิตจุฬาฯ และตัวแทนสภานิสิตนักศึกษาจาก 14 สถาบันยื่นหนังสือต่อผู้นำฝ่ายค้านในสภา และ รมว.กระทรวงอุดมศึกษาฯ (อว.) เรียกร้องให้มหาวิทยาลัยคืนค่าเทอมหรือปรับลดค่าเทอมให้แก่ผู้เรียนเหมือนปีการศึกษา 2564 พร้อมจัดสวัสดิการด้านการป้องกันและรักษาโรคโควิด-19 เช่น จัดหาวัคซีนเข็มกระตุ้นและชุดตรวจ ATK เพื่ออำนวยความสะดวกให้สามารถกลับเข้าไปเรียน on site ได้ เพิ่มสัปดาห์พักผ่อนและจัดบริการจิตแพทย์เพื่อลดความตึงเครียดที่เกิดขึ้นในช่วงเรียนออนไลน์

26 ม.ค. 2565 เฟซบุ๊กสภานิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย I Student Council of Chulalongkorn University โพสต์ข้อความระบุว่าวันนี้ (26 ม.ค. 2565) ฐิติ ชิวชรัตน์ ประธานสภานิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ธันยธรณ์ โรจน์มหามงคล ประธานฝ่ายพัฒนาสังคมฯ องค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และตัวแทนจากสภานิสิตจุฬาฯ พร้อมด้วยผู้แทนจากสภานิสิตนักศึกษาจาก 14 สถาบันทั่วประเทศไทย เดินทางมาที่อาคารรัฐสภาเพื่อยื่นหนังสือแก่ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทยและผู้นำฝ่ายค้าน รวมถึงยื่นหนังสือแก่ ศ.พิเศษ เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ผ่านทางดนุช ตันเทอดทิตย์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวง อว. โดยหนังสือดังกล่าวเป็นการเสนอแนวทางให้มหาวิทยาลัยคืนค่าเทอมแก่นิสิตนักศึกษาในระดับอุดมศึกษา การปรับรูปแบบการเรียนการสอนในภาคเรียนที่สอง และแนวการดูแลสุขภาพจิตให้กับนิสิตนักศึกษาในช่วงสถานการณ์โควิด-19

สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภารายงานเพิ่มเติมว่าหลังการยื่นหนังสือ ประธานสภานิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้กล่าวต่อสื่อมวลชนว่าตนขอเรียกร้องไปยังกระทรวง อว. ใน 3 ประเด็น ได้แก่ ประเด็นที่หนึ่ง เรื่องการลดค่าเทอม โดยขอให้ทบทวนมาตรการลดค่าเทอมของมหาวิทยาลัยรัฐและในกำกับของรัฐให้เป็นอย่างน้อยร้อยละ 20 และในกรณีที่ไม่สามารถเข้าไปใช้พื้นที่ในมหาวิทยาลัยได้ ขอให้ลดค่าเทอมเป็นอย่างน้อยร้อยละ 50 รวมถึงขอให้พิจารณามาตรการในการลดค่าเทอมของมหาวิทยาลัยเอกชนเพิ่มเติม โดยขอให้มีการพิจารณาโครงการให้ความช่วยเหลือบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 เหมือนในภาคปีการศึกษา 2564 เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายของนิสิตและนักศึกษา เนื่องจากนิสิตและนักศึกษาต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายที่มากขึ้น ทั้งจากการเรียนในรูปแบบออนไลน์และจากค่าครองชีพที่ปรับตัวสูงมากขึ้น ตลอดจนขอให้มีการขยายเวลาการช่วยเหลือบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาจนกว่าการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จะหมดลง

ประเด็นที่สอง ขอให้จัดมาตรการด้านสาธารณสุขที่เหมาะสมให้แก่นิสิตและนักศึกษา เช่น เร่งฉีดวัคซีนสำหรับนิสิตและนักศึกษาที่ยังได้รับวัคซีนไม่ครบโดส และวัคซีนเข็มกระตุ้นสำหรับนิสิตและนักศึกษาที่ได้รับวัคชีนครบโดสมามากกว่า 16 สัปดาห์ขึ้นไป สนับสนุนชุดตรวจโควิดด้วยตนเอง (ATK) ให้แก่นิสิตและนักศึกษาเพื่อทำการตรวจก่อนใช้พื้นที่มหาวิทยาลัย รวมทั้งเปิดพื้นที่ในมหาวิทยาลัยบางส่วนให้นิสิตและนักศึกษาใช้เรียนและจัดกิจกรรมโดยมีการเว้นระยะห่างทางสังคม เป็นต้น

ประเด็นที่สาม ขอให้จัดให้มีสัปดาห์พักผ่อน (Relax Week) ในปฏิทินการศึกษา โดยจัดทั้งสิ้น 2 ครั้งต่อภาคการศึกษาในช่วงก่อนการสอบกลางภาคครั้งหนึ่ง และก่อนการสอบปลายภาคอีกครั้งหนึ่ง เพื่อให้นิสิตและนักศึกษาได้มีสัปดาห์ว่าง สำหรับการผ่อนคลายจากภาระการเรียน และทบทวนบทเรียนก่อนการสอบ นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยต้องดูแลเรื่องสุขภาพจิตของนิสิตและนักศึกษาอย่างใกล้ชิด โดยต้องมีนักจิตวิทยาประจำมหาวิทยาลัยอย่างน้อย 1 คนต่อนิสิตและนักศึกษา 1,500 คน ซึ่งเป็นอัตราส่วนที่เหมาะสมตามงานวิจัยด้านจิตวิทยา

ด้าน นพ.ชลน่าน กล่าวภายหลังรับหนังสือว่ารัฐบาลควรพิจารณาในประเด็นที่นิสิตนักศึกษาได้เสนอ เนื่องจากที่ผ่านมาได้รับความเดือดร้อนเป็นอย่างมาก ทั้งนี้ พรรคเพื่อไทยจะนำเรื่องดังกล่าวเข้าสู่คณะกรรมาธิการที่เกี่ยวข้อง โดยจะเชิญให้ตัวแทนนิสิต นักศึกษามาให้ข้อมูล เพื่อนำไปสู่การดำเนินแก้ไข พร้อมผลักดันเข้าสู่สภาฯ ต่อไป

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net